เนื้อหาวันที่ : 2009-12-23 09:47:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1082 views

อภิสิทธิ์ แนะเอกชน 19 โครงการยื่นคำร้องต่อศาลขอเดินหน้าโครงการ

นายกฯ เผยคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเร่งผลักดันทุกโครงการที่ถูกศาลสั่งระงับเข้ากระบวนการตามม.67 วรรคสอง คาดสัปดาห์หน้า ครม. จะทบทวนประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ

นายกฯ เผยคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเร่งผลักดันทุกโครงการที่ถูกศาลสั่งระงับเข้ากระบวนการตามม.67 วรรคสอง คาดสัปดาห์หน้า ครม. จะทบทวนประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ

.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

.

เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล  ตึกนารีสโมสร  ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวทางการแก้ปัญหา 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า

.

ครม.ได้เชิญคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง มาให้ข้อมูลความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งคณะกรรมการฯ กำลังเร่งกระบวนการที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่ายเพื่อดำเนินการให้ทุกโครงการเข้ากระบวนการตามมาตรา 67 วรรคสอง

.

คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า ครม.น่าจะได้พิจารณาทบทวนประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กระบวนการจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  ไปจนถึงผลกระทบกับประชาชนสามารถเดินไปได้  โดยคณะกรรมการฯ ได้รายงานสถานะของโครงการที่แท้จริงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

.

ซึ่งใน 65 โครงการจะมี 23 โครงการที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการก่อสร้างหรือขออนุญาตดำเนินการใด ๆ  ทั้งสิ้น ดังนั้น  ทั้ง 23 โครงการก็ถือว่าอยู่ในขั้นตอนของการขออนุญาตตามปกติ กระบวนการอนุญาตก็อาจจะใช้เวลามากขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องปกติตามมาตรฐานกฎหมายใหม่ ซึ่งโครงการเหล่านี้จะได้รับผลกระทบเล็กน้อยหรือไม่กระทบเลย

.

นายกรัฐมนตรี   กล่าวอีกว่า  ส่วนอีก 42 โครงการที่เหลือนั้นมีการดำเนินการและเปิดประกอบกิจการแล้ว  11 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ  9  โครงการและอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอีก 22 โครงการ ซึ่งหลังจากเอกชนไปดูคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดปล่อย 11 โครงการให้ดำเนินการได้  

.

โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ต่างๆ เมื่อนำไปเปรียบเทียบดูแล้วคิดว่าจะสามารถทำเรื่องขอเสนอข้อเท็จจริงไปยังศาลว่าอยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกับ 11 โครงการนั้นอีกจำนวน 19 โครงการ แบ่งเป็นที่ดำเนินการอยู่ 4 โครงการ ก่อสร้างเสร็จแล้ว 8 โครงการและอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 7 โครงการ ซึ่งเอกชนจะนำเสนอต่อศาล แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาล         

.

นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  สำหรับที่เหลืออีก 23 โครงการ มี 15 โครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง  1 โครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้วและ 7 โครงการที่ดำเนินการอยู่ ในส่วน 15 โครงการหากมีการนำเสนอว่าการก่อสร้างที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยที่ยอมรับความเสี่ยงว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วจะได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการหรือไม่ก็จะขอให้ศาลอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างต่อ 

.

และในทุกกรณีโครงการเหล่านี้ก็พร้อมที่จะทำตามกระบวนการของมาตรา 67 วรรคสอง ตามที่คณะกรรมการ 4  ฝ่ายตกลงกัน ก็คงเหลือเพียง 8 โครงการที่ไม่เห็นว่ามีช่องทางที่จะไปดำเนินการให้เข้าหลักเกณฑ์ ซึ่งมีมูลค่าประมาณหมื่นกว่าล้านบาท แต่หากรวมทั้งหมด 42 โครงการก็มีมูลค่าประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท                

.

“หลังจากภาคเอกชนไปศึกษาคำวินิจัยและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็อาจแสวงหาลู่ทางในการแก้ปัญหาชั่วคราว แต่ทุกกรณีก็จะเข้าสู่มาตรา 67 วรรคสอง และตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอมา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะช่วยเอกชนที่มีโอกาสอุทธรณ์ได้ดำเนินการอุทธรณ์คำสั่งศาลหรือไม่ นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ในส่วนของ 19 โครงการที่คิดว่าอยู่ในสถานะเดียวกับ 11 โครงการที่หลุดออกมาได้ก็ต้องไปเสนอข้อเท็จจริงกับศาลเอง โดยให้เหตุผลกับศาลว่าภายใต้เหตุผลที่ศาลให้กรณีที่ให้ 11 โครงการดำเนินการต่อ

.

หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเช่นนั้นก็อาจจะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งชั่วคราวในกรณีของบางโครงการ ซึ่งเอกชนควรจะยื่นคำร้องต่อศาลเอง และควรดำเนินการเป็นรายกรณี  ซึ่งไม่ควรไปดำเนินการแบบเหมารวม เพราะศาลจะดูตามข้อเท็จจริงของแต่ละโครงการ

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการถอนการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด  นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า หากโครงการเหล่านี้จัดทำข้อเท็จจริงไปเสนอต่อศาล หากมีการอนุญาตให้เดินหน้าในอีกบางส่วนหรือทั้งหมดปัญหาจะเบาลงไปเยอะ เนื่องจากที่หนักจริงๆ คือ 7 รายที่ถูกระงับการดำเนินการไปแล้ว  ซึ่งกำลังไล่ดูว่าจะดำเนินการเรื่องความเสียหายอย่างไร                

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า  7 โครงการนี้มีแนวโน้มที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า  ตัวเลขความเสียหายที่ไม่แน่นอนจะกระทบกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจปี 2553 หรือไม่ นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ความล่าช้าของโครงการอาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่ควรไปเหมารวมทั้งหมด                

.

แต่ที่สำคัญคือเราต้องเร่งทำกติกาของเราให้ชัดเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในแง่ของการลงทุนในอนาคตมากกว่า และยังไม่จำเป็นจะต้องมีการปรับเป้าหมายทางเศรษฐกิจใหม่  เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจยังมีทั้งบวกและลบ เราจึงจำเป็นต้องประเมินตามสถานการณ์ความเป็นจริงไปเป็นระยะๆ  

.

นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  การที่ตนต้องการให้แยกแยะสถานะโครงการต่างๆ  ก่อนเพราะว่าวันนี้มีคนพูดกันไปเรื่อยว่ามูลค่าความเสียหาย 60-70 โครงการกว่าหลายแสนล้านบาท แต่ถ้าเราทำงานละเอียดและพร้อมรับภาระในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงปัญหาก็จะคลี่คลายลง              

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า 15 โครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างแต่ยังไม่มีเหตุผลในการไปขอผ่อนผันกับศาลจะดำเนินการอย่างไร  นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า จะมีเหตุผลเดียวที่จะผ่อนผันได้คือขอก่อสร้าง โดยที่การก่อสร้างจะไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเอกชนจะต้องตัดสินใจว่าระหว่างการอยู่เฉยๆ กับการก่อสร้างต่อโดยต้องยอมรับความเสี่ยงนั้นจะดำเนินการอย่างไร           

.

ผู้สื่อข่าวถามว่า  7 รายที่ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้เลยรัฐจะต้องเข้าไปเยียวยาด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  กำลังพิจารณาอยู่ เพราะส่วนหนึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงพลังงาน อีกส่วนอยู่ในความดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม  แต่ขณะนี้กำลังเร่งพิจารณาในส่วนของ 30 โครงการที่มีเหตุผลอาจจะไปร้องขอต่อศาลก่อน

.
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย