เนื้อหาวันที่ : 2009-12-11 09:41:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4592 views

เม็กซิโก การกลับมาของเศรษฐีจังโก้

ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองไทยตลอดช่วงเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมเศรษฐกิจไทยที่มีผลพวงมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโตของภาคเมืองใหญ่เพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังละเลยปัญหาเรื่อง “ความยากจน” และ “การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม”

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองไทยตลอดช่วงเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมเศรษฐกิจไทยที่มีผลพวงมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโตของภาคเมืองใหญ่เพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังละเลยปัญหาเรื่อง “ความยากจน” และ “การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม” 

.

ขณะเดียวกันการจะฝากความหวังในการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทยไว้กับภาคการเมืองก็ดูจะเป็นความหวังที่เลือนรางยิ่งนัก ด้วยเหตุที่นักการเมืองและพรรคการเมืองไทยมักเกิดขึ้นโดย “เฉพาะกาล” มากกว่ามาจาก “อุดมการณ์” ที่ต้องการจะพัฒนาประเทศอย่างจริงใจ

.

ขออนุญาต “บ่น” ก่อนนะครับ เพราะช่วงนี้ผู้เขียนรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเรา ทั้งนี้หากหันมองดูประเทศรอบข้างในภูมิภาคอาเซียนนั้น เราจะพบว่าประเทศเหล่านี้กำลังพัฒนาตัวเองกันอย่างขะมักเขม้นโดยไม่ต้องมานั่งสนใจปัญหาความขัดแย้งส่วนตัวของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่างประเทศที่กำลังสปีดตัวเองในช่วงห้าหกปีที่ผ่านมา คือ “เวียดนาม” ไงล่ะครับ

.

ทุกวันนี้เวียดนามกำลังจะกลายเป็นสวรรค์ของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้รัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามใช้แผนการ “โด๋เหม่ย” (Doi Moi) ในการปฏิรูปเศรษฐกิจจนทุกวันนี้เวียดนามกำลังจะมีรถไฟความเร็วสูงโดยอิมพอร์ตเทคโนโลยีมาจากญี่ปุ่น   

.

ซึ่งหากเวียดนามสามารถพัฒนาสาธารณูปโภคได้ทันสมัยมากขึ้นสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น “ผลกระทบเชิงบวก” หรือ Positive Externality ทางเศรษฐกิจของเวียดนามในการที่จะเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันภายใต้การประหยัดทรัพยากรของประเทศ

.

อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่าโลกเราทุกวันนี้แข่งกันที่ประเทศใดอยู่ดีกินดีกว่ากัน คำว่า “อยู่ดีกินดีกว่ากัน” นั้นหมายรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนภายในประเทศด้วยครับ จริง ๆ แล้วการพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นไม่ใช่แค่มาอวดอ้างตัวเลขอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจกันหรอกครับเพราะตัวเลขเหล่านี้วัดเพียงแค่ “ปริมาณ” ของการเจริญเติบโตแต่ไม่ได้วัด “คุณภาพ” ของการเจริญเติบโต

.

การพัฒนาเศรษฐกิจที่แท้จริง คือ การที่รัฐบาลสามารถสร้าง “โอกาส” ให้คนในสังคมนั้นเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐตลอดจนทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมกัน

.

ทั้งหมดที่กล่าวมาดูเหมือนจะเป็นโลกของ “อุดมคติ”นะครับ เพราะจริง ๆ แล้วทุกประเทศล้วนมีปัญหาด้วยกันทั้งนั้นแต่มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะสามารถเรียงลำดับปัญหาและจัดการกับปัญหาที่ว่านั้นได้ดีกว่ากัน

.

สำหรับซีรีส์ “ริมหน้าต่างเศรษฐกิจ” ฉบับนี้ ผู้เขียนขอพาท่านผู้อ่านไปเกาะริมหน้าต่างดูเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งที่อยู่ในทวีปอเมริกาซึ่งประเทศที่ว่านี้คือ “เม็กซิโก” ครับ ว่ากันว่าเม็กซิโกได้รับการจัดอันดับจากนักลงทุนทั่วโลกว่ามีบรรยากาศน่าลงทุนเป็นอันดับสองของโลกครับ

.
เม็กซิโก: การกลับมาของเศรษฐีจังโก้

เม็กซิโกเป็นประเทศที่อยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา ในอดีตนั้นเม็กซิโกเคยเป็นอาณานิคมของสเปนครับ อย่างไรก็ดีเม็กซิโกมีความผูกพันกับสหรัฐอเมริกามากทั้งในด้านภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนอยู่ติดกัน รวมไปถึงการเป็นคู่ค้าสำคัญและเป็นแหล่งลงทุนของนักลงทุนชาวอเมริกัน

.

ในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบนั้น “เม็กซิโก” เคยได้รับการจับตามองในแง่ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วคล้าย ๆ กับอาร์เจนติน่าและอุรุกวัย ทั้งนี้เหตุผลสำคัญมาจากทรัพยากรของประเทศแถบนี้ยังค่อนข้างสมบูรณ์อยู่ประกอบกับการอพยพเข้ามาตั้งรกรากของชาวยุโรปทำให้ดินแดนทางตอนใต้นี้กลายเป็นแหล่งที่น่าลงทุนอย่างยิ่ง

.

อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในดินแดนอาณานิคมแถบทวีปอเมริกา คือ ปัญหาการกระจายที่ดินทำกินซึ่งต่อมาได้กลายเป็นชนวนในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชและนำไปสู่การปลดปล่อยและการปฏิวัติในที่สุดครับ

.

ในอดีตนั้นเหล่าพ่อค้านักลงทุนจากประเทศเจ้าอาณานิคมมักจะกว้านซื้อที่ดินจากเกษตรกรชาวไร่ชาวนาในราคาถูกแล้วก็จ้างชาวนาเหล่านี้ทำนาในลักษณะ “เช่า” ในราคาแพงซึ่งชาวเม็กซิกันเรียกระบบนี้ว่า Latifundios ครับ และนี่เองที่ทำให้ชาวเม็กซิกันลุกขึ้นมาปฏิวัติจนเกิดสงครามกลางเมืองในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1910-1917 ซึ่งได้สร้างความเสียหายกับเม็กซิโกเป็นอย่างมาก

.

อย่างไรก็ตามเม็กซิโกเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงทศวรรษที่ 30 ครับโดยเม็กซิโกเริ่มพัฒนาประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองก่อนด้วยการใช้กลยุทธ์การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าหรือ Import Substitution Industrialization (ISI) มีการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ นอกจากนี้เม็กซิโกยังทำการปฏิรูปที่ดินโดยกระจายที่ดินไปให้ชาวไร่ชาวนาที่ยากจนภายใต้นโยบายที่เรียกว่า Ejido ครับ

.

ช่วงทศวรรษที่ 30-70 นับเป็นยุคทองของเม็กซิโกก็ว่าได้ครับ เพราะเศรษฐกิจของเม็กซิโกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมีการลงทุนพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมหนักตลอดจนขยายสาธารณูปโภคต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังพัฒนาบางเมืองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่าง “อคาพูโค” (Acapulco) จนเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็น “Mexican Miracle” ครับ 

.

การพัฒนาเศรษฐกิจของเม็กซิโกนั้นเน้นบทบาทภาครัฐเป็นตัวนำในการพัฒนาครับโดยช่วงปลายทศวรรษที่ 70 ในสมัยของรัฐบาลนายโจเซ่ โลเปซ พอร์ตติลโล่ (José López Portillo) นั้นได้ลงทุนขุดเจาะน้ำมันในบริเวณรัฐเวราครูซ (Veracruz) ภายใต้ความรับผิดชอบของบริษัทน้ำมันแห่งชาติหรือ Petróleos Mexicanos (PEMEX)

.

ซึ่งปัจจุบัน PEMEX ติดอันดับหนึ่งในสิบของบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจเม็กซิโกอย่างมาก นอกจากนี้เม็กซิโกได้กลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับหกของโลกด้วยครับ

.

Petróleos Mexicanos (PEMEX)
บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโกที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของเม็กซิโกในปัจจุบัน

.

แม้ว่าเม็กซิโกจะพัฒนาประเทศภายใต้กลยุทธ์การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าแต่รัฐบาลเม็กซิโกต้องใช้วิธีการ “อุ้ม” อุตสาหกรรมภายในประเทศตลอดจนกีดกันผู้ผลิตจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาแข่งขันกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของเม็กซิโกได้ ซึ่งท้ายที่สุดกลยุทธ์นี้กลับส่งผลเสียต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเม็กซิโกเอง  

.

เนื่องจากนโยบายปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศส่งผลให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมที่รัฐอุ้มนั้นกลายเป็น “อุตสาหกรรมเฒ่าทารก” ที่ไม่รู้จักปรับตัวให้ทันกับการแข่งขันเพราะรอการช่วยเหลือจากรัฐอยู่เพียงอย่างเดียว

.

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 80 เม็กซิโกเริ่มเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจหลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกตกต่ำลงรวมทั้งปัญหา “หนี้สาธารณะ” ที่กลายมาเป็นปัญหาหนักอกจนทำให้เม็กซิโกต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ.1982 ครับ

.

หลังวิกฤตเศรษฐกิจ เม็กซิโกเริ่มอยู่ในสภาพเปรียบเหมือนคนป่วยที่เพิ่งฟื้นไข้ และยังต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่รุมเร้าอีกมากมายโดยเฉพาะปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งสูงถึง 160% เมื่อปี ค.ศ. 1987 

.

ด้วยเหตุนี้เองเม็กซิโกจึงเริ่มปรับกลยุทธ์การพัฒนาประเทศใหม่ด้วยการยึดแนวทางการปฏิรูปแบบ “เสรีนิยม” (Neoliberal Reform) โดยเริ่มลดบทบาททางเศรษฐกิจของรัฐลงเรื่อย ๆ เช่นมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ไม่ทำกำไร               

.

ขณะเดียวกันรัฐบาลเม็กซิโกได้ลงนามในการเปิดเสรีการค้าตามข้อตกลง GATT ในปี ค.ศ.1986 และในเวลาต่อมาเม็กซิโกได้ลงนามในการเปิดเสรีการค้าตามข้อตกลงของ NAFTA ซึ่งเป็นการเจรจาร่วมกันของคู่ค้าอีกสองประเทศในทวีปอเมริกา คือ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา

.

อย่างไรก็ตามเม็กซิโกต้องกลับมาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งในปี ค.ศ.1994 ครับ สาเหตุสำคัญมาจากการไม่สามารถจัดการกับปัญหาการอ่อนค่าของเงินเปโซ (Mexican Peso) ได้โดยช่วงเวลาดังกล่าวเม็กซิโกใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate) ซึ่งไม่ได้สะท้อนค่าเงินเปโซที่แท้จริงได้      

.

การประกาศลดค่าเงินของเม็กซิโกอย่างฉับพลันทำให้เกิดเศรษฐกิจเม็กซิโกช็อคอย่างกะทันหันประกอบกับปัญหาอื่น ๆ ที่รุมเร้า เช่น ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลอีกทั้งเกิดปัญหาความไม่เสถียรภาพทางการเมืองมีการลอบสังหารผู้นำอยู่หลายครั้งทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจเม็กซิโกเหมือนยืนอยู่บนปากเหว

.

ความวุ่นวายต่าง ๆ เหล่านี้เปรียบเสมือนสัญญาณที่ส่งออกไปยังนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มไม่มั่นใจจะลงทุนในเม็กซิโก ทำให้นักลงทุนเริ่มถอนการลงทุนและเงินทุนเริ่มไหลออก (Capital Flight) จากเม็กซิโกทั้งหมดนี้ยิ่งซ้ำเติมปัญหาค่าเงินเปโซที่อ่อนอยู่แล้วยิ่งอ่อนลงไปอีก ท้ายที่สุดส่งผลต่อปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงในเม็กซิโกอีกครั้งหนึ่ง

.

วิกฤตการณ์เศรษฐกิจของเม็กซิโกทำให้รัฐบาลของนายเออร์เนสโต เซลลิโด (Ernesto Zellido) ต้องประกาศยกเลิกการใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ แต่อย่างไรก็ตามสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของรัฐบาลนายบิล คลินตัน (Bill Clinton) พร้อมกับไอเอ็มเอฟได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเม็กซิโกให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโดยให้เงินกู้กว่าห้าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐเพื่อฟื้นฟูวิกฤตทางการเงินของเม็กซิโก

.

ทุกวันนี้รัฐบาลเม็กซิโกเน้นนโยบายเปิดการค้าเสรี (Trade Liberalization) ครับโดยปัจจุบันเม็กซิโกเซ็นสัญญาการเปิดเสรีทางการค้าหรือ FTA กับหลายประเทศในลาตินอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และอิสราเอล กล่าวกันว่าเม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดเสรีทางการค้ามากที่สุดในโลกประเทศหนึ่งครับ

.

ผู้เขียนมีข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจเกี่ยวกับเม็กซิโก นอกจากจะเป็นประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่าน่าลงทุนเป็นอันดับสองแล้ว เม็กซิโกยังเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ OECD ด้วยครับนอกจากนี้เม็กซิโกมีผลผลิตมวลรวมภายในประเทศรายหัวหรือ GDP per capita กว่า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐซึ่งนับว่าไม่น้อยทีเดียว

.

ประธานาธิบดีฟิลิเป้ กัลเดลล่อน (Felipe Calderón)
ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเม็กซิโกผู้พยายามนำเม็กซิโกกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

.

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเม็กซิโกครับ ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าทุกประเทศล้วนแล้วแต่เคยผ่านวิกฤตมาด้วยกันทั้งนั้นซึ่งมันก็เป็นธรรมดาของโลกแหละครับที่มี “รุ่งเรือง” ก็ย่อมมี “ร่วงโรย” สำหรับประเทศของเรานั้นการจะก้าวพ้นผ่านวิกฤตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ได้นั้นเราคงต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจและความสามัคคีของคนในชาตินะครับ…พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.

เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1.
www.wikipedia.org