เนื้อหาวันที่ : 2009-12-09 13:51:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1392 views

คณะทำงานเพื่อโลกเย็นยื่นข้อเสนอประชาชนก่อนประชุม COP15 มาร์คเชียร์ไม่เอานิวเคลียร์

คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม เข้าพบนายกฯ ยื่นข้อเสนอของภาคประชาชาสังคมไทยก่อนร่วมประชุม COP15 "อภิสิทธิ์" เห็นด้วยกับแนวทางใช้พลังงานทดแทน ไม่เอานิวเคลียร์

.

คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม เข้าพบนายกฯ ยื่นข้อเสนอของภาคประชาชาสังคมไทยก่อนร่วมประชุม COP15 "อภิสิทธิ์" เห็นด้วยกับแนวทางใช้พลังงานทดแทน ไม่เอานิวเคลียร์

.

คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรมเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อยื่นข้อเสนอของภาคประชาสังคมไทยต่อการเจรจาภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 15 (COP 15)

.

วันอังคารที่ 8 ธันวาคมนี้ เวลา 7.30 – 8.00 น. คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอของภาคประชาชาสังคมไทย เพื่อประกอบการเจรจาในการประชุม COP 15 ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ขณะที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เห็นด้วยกับแนวทางการใช้พลังงานทดแทน ไม่สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ และเห็นว่ากลไกลดโลกร้อนภาคป่าไม้ ไม่น่าจะกระทบกับประชาชน หากรักษาป่าได้ 

.

นายจักรชัย โฉมทองดี จากคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม พร้อมคณะเข้ายื่นข้อเสนอภาคประชาสังคมไทยต่อนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมนี้ โดยชี้แจงว่า ข้อเสนอดังกล่าวเกิดขึ้นจากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีหลายประการที่มีความคล้ายคลึงกับทางภาครัฐ

.

แต่ก็มีหลายประการที่ภาคประชาสังคมเป็นห่วง โดยเฉพาะภาคป่าไม้ที่จะเป็นกลไกยืดหยุ่นในการลดปัญหาโลกร้อน ที่เรียกว่า REDD โดยเฉพาะการยืนยันสิทธิของคนที่อาศัยอยู่กับป่า ที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ นโยบายพลังงานในเรื่องพลังงานหมุนเวียน และพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องโลกร้อน 

.

ทั้งนี้ ข้อเสนอจากภาคประชาสังคมต่อประเด็นพลังงานและโลกร้อนนั้น นายศุภกิจ นันทวรการ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ เสนอนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ที่เน้นพลังงานหมุนเวียน สะอาด ควบคุมผลกระทบได้ และเป็นลักษณะกระจายศูนย์ ทั้งในส่วนของการตัดสินใจและการจัดการพลังงาน และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน สำหรับการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศโดยชุมชนและภาคเอกชน เช่น การตั้งเป้าหมายการใช้น้ำมันทอดซ้ำมาผลิตไบโอดีเซล ร้อยละ 20 ภายในปี 2555”

.

ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นส่วนตัวว่ายังไม่เห็นด้วยกับโครงการพลังงานนิวเคลียร์ในขณะนี้ และเห็นว่าการใช้พลังทดแทนสามารถบรรลุเป้าหมายเร็วกว่าที่ตั้งไว้

.

“ในเรื่องพลังงาน ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งไม่สนับสนุนเรื่องนิวเคลียร์ ยกเว้นจะไม่มีทางออกจริงๆ แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น กระทรวงพลังงานทำเรื่องนี้มานาน แต่ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ และค่าใช้จ่ายสูงเกินประมาณการณ์หลายเท่า แต่ถ้าในอนาคตอีกรุ่นหนึ่งก็อาจต้องมาทบทวนกันอีกที ส่วนเรื่องพลังงานทดแทนที่ตั้งไว้ร้อยละ 20 น่าจะทำได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้”

.

สำหรับในเรื่องกลไกการลดโลกร้อนในภาคป่าไม้ ที่เรียกว่า REDD (Reducing Emissions from Deforestation and Degradation) หรือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่านั้น นายณัฐวุฒิ อุปปะ เครือข่ายนักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ กล่าวว่าประชาชนในเขตป่า วิตกกังวลว่าจะกระทบต่อสิทธิการใช้ที่ดินและป่าไม้ หากยังไม่มีการดำเนินการพิสูจน์และรับรองสิทธิของประชาชนให้ชัดเจนเสียก่อน

.

“ในพื้นที่มีความห่วงใยในเรื่องการจัดการป่าในเขตอนุรักษ์ ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่จำนวนมาก ขณะนี้กำลังดำเนินการพิสูจน์สิทธิการใช้ที่ดินในโครงการโฉนดชุมชน หากโครงการ REDD เข้ามาแล้ว จะเกิดการหยุดชะงักนโยบายดังกล่าวหรือไม่ และอีกด้านหนึ่งอาจเกิดปัญหาความขัดแย้งกับคนที่อยู่ในเขตป่าขึ้นได้ หากคนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ แต่อีกกลุ่มได้รับผลกระทบ”  

.

ทั้งนี้ เสนอให้รัฐบาลรับฟังความเห็นของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในประเด็นนี้ และต้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งรับปรับตัว และรายละเอียดต่างๆ ของโครงการอย่างเปิดเผย

.

ต่อประเด็นนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ข้อห่วงใยในเรื่อง REDD นั้น คงต้องดูเรื่องรายละเอียดอีกที ในเรื่องคนอยู่กับป่านั้น ถ้าประชาชนสามารถรักษาป่าไม้ไว้ได้ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร 

.

“เรื่องคนอยู่กับป่า ผมคิดว่าในเมื่อฝ่ายที่ยืนยันว่าคนและชุมชนอยู่กับป่าได้ หมายความว่า อยู่แล้วไม่ทำลาย ก็มองไม่เห็นว่าจะกระทบอย่างไร ถ้าเรารักษาป่าได้ เราก็สามารถยืนยันได้” 

.

ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยังได้พูดถึงประเด็นเรื่องการเกษตรที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อต่อรองให้ประเทศกำลังพัฒนารับผิดชอบต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น โดยให้ความเห็นไว้ว่าประเทศพัฒนาแล้วต้องการลบล้างปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปล่อยมาก่อนหน้ามาแล้วนับร้อยปี 

.

อนึ่ง ผู้แทนองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ร่วมคณะเพื่อยื่นข้อเสนอจากเวทีเสวนาสามฝ่าย อันได้แก่ องค์การสหประชาชติ, ภาครัฐ, และภาคประชาชน ในประเด็นการเจรจาและแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่จัดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อีกฉบับหนึ่งด้วย

.
ที่มา : เว็บไซต์ประชาไท