เนื้อหาวันที่ : 2006-02-15 18:05:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4027 views

เอกชนเชื่อนโยบายกระตุ้นการส่งออกส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ

ภาคเอกชนเชื่อมั่นนโยบายเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ และการขยายการส่งออกจะส่งผลดีต่อการเศรษฐกิจ แต่ระบุยังไม่แน่ใจว่ามาตรการภาษีเพื่อจูงใจ

 

 

ภาคเอกชนเชื่อมั่นนโยบายเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ และการขยายการส่งออกจะส่งผลดีต่อการเศรษฐกิจ แต่ระบุยังไม่แน่ใจว่ามาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการอบรมทักษะแรงงาน และเบี้ยยังชีพจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ  

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คงจะต้องรอดูหลังมาตรการออกมา 1 - 2 เดือน จึงจะวิจารณ์ได้ว่า มาตรการเหล่านี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมามีข้อดีหลายมาตรการ เช่น เร่งการใช้งบประมาณที่ล่าช้ากว่า 300,000 ล้านบาท เพราะหากใช้ได้เพียงครึ่งหนึ่งก็จะดีมาก เนื่องจากการใช้งบฯ เพื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก็จะหมุนไปได้ 4 - 5 รอบ ก็จะกระตุ้นได้มาก

เมื่อได้ฟังนโยบายจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ทุกคนเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง โดยการส่งออกยังไปได้ดี เช่น  ในเครือฯ สหพัฒน์ มียอดส่งออกต่อเนื่อง แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ เรื่องเศรษฐกิจในประเทศ อาจจะกระทบกำลังซื้อของประชาชน จากการลอยตัวดีเซล ต้นทุนค่าขนส่งจะเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคก็จะระวังตัวลดการใช้จ่ายไปบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งในมาตรการเพิ่มรายได้ของรัฐก็คงจะทำให้ประชาชนมีเงินมาใช้จ่ายในระบบ 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  แม้หลายมาตรการจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน คือ มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจให้เอกชนพัฒนาบุคลากร หรือเพิ่มเบี้ยยังชีพต่อพนักงานที่มีรายได้น้อย เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศ เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่อาจจะมีกำไรน้อย หรือไม่สามารถตั้งงบประเภทนี้ได้ ซึ่งหากจะเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร ทางภาครัฐก็จะน่าใช้นโยบายเหมือนกับในต่างประเทศ คือ มีการจัดเก็บภาษีซึ่งอาจจะเป็น ร้อยละ 2 - 3 ของผลกำไรของบริษัทต่าง ๆ แล้วนำภาษีนั้นมาพัฒนาบุคลากรก็น่าจะได้ผลดีกว่า

ส่วนมาตรการด้านการส่งออก นายพรศิลป์ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการส่งออกน่าจะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีระบุประมาณร้อยละ 15 - 20 โดยน่าพอใจที่นายกรัฐมนตรีเร่งเจรจากับต่างประเทศเพื่อเพิ่มการส่งออกในหลายด้าน เช่น เรื่องกุ้ง ที่จะเจรากับสหรัฐและสหภาพยุโรปให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ จีเอสพี ในเดือน กันยายนนี้

ทั้งนี้ รัฐบาลประกาศกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการใช้มาตรการภาษีด้วยการจูงใจให้เจ้าของกิจการฝึกอบรมพนักงาน เพิ่มทักษะจะได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่า การให้ลดหย่อนภาษีจาก 1 เท่าเป็น 1.5 เท่าสำหรับการเพิ่มเบี้ยยังชีพของพนักงานที่มีเงินเดือนต่ำ ซึ่งจะทำให้เงินเดือนรวมเบี้ยชีพแล้วจะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทต่อเดือน และตั้งเป้าหมายการส่งออกปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 20 การขาดดุลการค้าจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 - 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2,500ล้านดอลลาร์ หรือไม่เกินร้อยละ 2 ของจีดีพี