เนื้อหาวันที่ : 2009-11-23 14:58:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3887 views

หลุมพรางความคิดในการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

ความรู้และความเข้าใจในแนวคิดของระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของธุรกิจนั้น ๆ การพัฒนาและสร้างระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นโครงการการจัดการการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ดังนั้นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือแผนกใดแผนกหนึ่งคงไม่สามารถผลักดันโครงการให้เกิดผลสำเร็จได้ บุคคลที่เป็นผู้นำองค์กรจะต้องเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) โดยการทำความเข้าใจว่าธุรกิจนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและธุรกิจ

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

.

.

จากการที่ผมได้มีโอกาสได้ร่วมงานกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการสร้างความเข้าใจและพัฒนาระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในหลากหลายธุรกิจอุตสาหกรรม พบประเด็นของโอกาสในความสำเร็จและล้มเหลวของการดำเนินการการพัฒนาระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานดังนี้

.

ความรู้และความเข้าใจในแนวคิดของระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานของธุรกิจนั้น ๆ การพัฒนาและสร้างระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นโครงการการจัดการการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ดังนั้นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือแผนกใดแผนกหนึ่งคงไม่สามารถผลักดันโครงการให้เกิดผลสำเร็จได้

.

บุคคลที่เป็นผู้นำองค์กรจะต้องเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) โดยการทำความเข้าใจว่าธุรกิจนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมและธุรกิจ การที่ผู้นำองค์กรจะตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใด ๆ ได้นั้นจะต้องมีความเข้าใจอย่างดีพอสมควร อย่างน้อยจะต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่าง ๆ นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินงานที่ดีกว่า และผู้นำจะต้องเข้าใจว่าการได้มาในสิ่งที่ดีกว่านั้นจะต้องเป็นการลงทุนหรือเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์

.

การพัฒนาระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจึงเป็นการลงทุนในการเปลี่ยนระบบการดำเนินงานของทั้งองค์กรที่มีบุคคลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการขับเคลื่อน ถ้าผู้นำองค์กรไม่มีเข้าใจในประเด็นเบื้องต้นเหล่านี้แล้ว

.

การขาดแนวคิดในการจัดการกระบวนการธุรกิจ (Business Process Management) พื้นฐานของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาจากการจัดการกระบวนการธุรกิจ ซึ่งเป็นการรวบรวมเอาขั้นตอนการทำงานหรือบูรณาการกิจกรรมธุรกิจมาเข้าไว้ด้วยกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ กระบวนการธุรกิจนั้น จะมีลักษณะพลวัตร มีทั้งการขยายตัว การหดตัว และการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของธุรกิจ 

.

ดังนั้นการจัดการกระบวนการธุรกิจ (Business Process Management) ในระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจะเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่เกี่ยวโยงกับการจัดการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระต่อกันให้มาเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ (Seamless)

.

และยังมีการนำเอา IT มาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกระบวนการธุรกิจนี้ซึ่งจะทำให้ธุรกิจนั้นสร้างความแตกต่างหรือการได้เปรียบเชิงการแข่งขันขึ้นมาได้ การจัดการกระบวนการธุรกิจนี้จะมีกรอบการทำงาน (Framework) เช่น 1) การวิเคราะห์กระบวนการ และสร้างความเข้าใจในกระบวนการพยายามปรับปรุงกระบวนการให้ดีกว่าเก่า

.

2) ทำกระบวนการใหม่ให้มีความรวดเร็วถูกต้อง ในการสร้างคุณค่าทางธุรกิจทั้งทางด้านคุณภาพ และความสม่ำเสมอ จากนั้นก็บูรณาการซอฟต์แวร์ประยุกต์ต่าง ๆ พร้อมทั้งใช้ข้อมูลขององค์กรที่มีอยู่ 3) สร้างหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์เชิงธุรกิจ เพื่อที่จะขยายผลหรือทดแทนซอฟต์แวร์ที่ใช้อยู่ 

.

กิจกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน คือ การวาดแผนผังกระบวนการธุรกิจ (Business Process Map) หรือแผนผังการไหลของกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานทำให้ผู้ออกแบบกระบวนการธุรกิจสามารถประเมิน ปรับปรุง และออกแบบกระบวนการธุรกิจให้ดีกว่าเก่า

.

สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และมากขึ้น แผนผังกระบวนการธุรกิจสามารถใช้สื่อสารกับทุกคนที่มีส่วนร่วมในกระบวนการธุรกิจนั้นและสื่อสารได้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในองค์กรด้วย

.

การวาดแผนผังกระบวนการธุรกิจในลักษณะเช่นนี้เปรียบเสมือนกับการสร้างแบบจำลองของกระบวนการธุรกิจหรือระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความสามารถของการใช้ IT ในการสร้างแบบจำลอง จึงทำให้เราสามารถจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกระบวนการธุรกิจ เพื่อการตัดสินใจในการออกแบบหรือปรับปรุงกระบวนการธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้า และภาวะแวดล้อมของธุรกิจ  

.

แผนผังกระบวนการธุรกิจเป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน ไม่ใช่เฉพาะแต่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่ใช้ได้สำหรับทุกธุรกิจ ดังนั้นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบในธุรกิจใด ๆ นี้ คือการมีแผนผังกระบวนการธุรกิจที่แสดงให้เห็นถึงการไหลของกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

.

คิดว่าเทคโนโลยีสารเทศ (IT) คือ คำตอบสุดท้าย ความคิดนี้น่าจะเป็นความคิดยอดนิยมของวงการธุรกิจส่วนใหญ่และเหมือนกับปัญหาอื่น ๆ ในธุรกิจที่มีเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะ IT ที่เข้าไปแทรกอยู่ในทุกกระบวนการธุรกิจสำหรับระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้น IT จะต้องเข้ามามีบทบาทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้บริษัทผู้ขายซอฟต์แวร์ต่าง ๆ นำเอาประเด็นของการจัดการโซ่อุปทานมาเป็นจุดขายของผลิตภัณฑ์ตัวเอง

.

ผู้สนใจในแนวคิดการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจึงถูกบิดเบือนความคิดว่าการจัดการโซ่อุปทานจะต้องใช้ IT เป็นกิจกรรมเบื้องต้นและการดำเนินงานพัฒนาระบบเป็นการลงทุนของด้าน IT นั่นเป็นเพราะการนำเสนอแนวคิดที่จะขายซอฟต์แวร์แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการนำเอาแนวคิดหลักหรือแก่นของลอจิสติกส์หรือโซ่อุปทานมาใช้ในการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหา

.

มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ผู้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ควรระลึกถึง คือ เทคโนโลยีไม่ใช่คำตอบ (Solutions) หรือวิธีการ แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของคำตอบหรือวิธีการ เทคโนโลยีจึงมีฐานะเป็นแค่เครื่องมือ (Tools) ที่ช่วยให้ผู้ใช้ได้ไปถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นได้ดีกว่า ถูกต้องกว่า และมีต้นทุนที่ต่ำกว่า   

.

กิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการตัดสินใจ (Decision Making) ที่จำเป็นจะต้องใช้ข้อมูลในตัดสินใจ แล้วควรจะเป็นข้อมูลประเภทไหนบ้าง ? ถึงแม้ธุรกิจต่างที่มีโครงการกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจะมีการใช้ IT อย่างเต็มรูปแบบก็ตาม แต่ก็มีการนำเอาข้อมูลจากระบบ IT มาใช้ในการตัดสินใจเชิงลอจิสติกส์และโซ่อุปทานน้อยมาก

.

การจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานเป็นการตัดสินใจในเรื่องการเคลื่อนที่เคลื่อนย้ายทรัพยากรต่าง ๆ ผ่านกระบวนการเพิ่มคุณค่าต่าง ๆ ไปยังลูกค้า จะเห็นว่าจะมีข้อมูลต่าง ๆ มากมายตามสถานะของการไหลของวัตถุดิบผ่านกรอบการทำงานต่าง ๆ กิจกรรมตรงนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก และมีการเชื่อมโยงซับซ้อนกันไปมามาก ยิ่งถ้ามีจำนวนสินค้าผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วยมาก ก็ซึ่งเป็นที่จะต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้  

.

แต่เทคโนโลยีของ IT ต่าง ๆ ที่เราเห็นกันว่ามีความสะดวกหรือความฉลาดนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะตัว IT เอง แต่เพราะความฉลาด (Intelligence) ของมนุษย์ต่างหากที่ทำให้เกิด IT เหล่านั้น ถึงแม้ว่าธุรกิจค้าส่งเกือบทุกแห่งมีการนำเอา IT เข้ามาใช้ในการจัดการ แต่ก็ยังขาดการใช้งานให้เต็มประสิทธิภาพของ  IT ที่มีอยู่

.

ไม่สนใจที่จะเพิ่มความสามารถในเข้าถึงข้อมูล (Failing to Gain Visibility) ปัญหาทางด้านความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล หรือ ความสามารถในการมองเห็นเป็นปัญหาพื้นฐานที่เกิดขึ้นในการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสังเกตได้จากปรากฏการณ์แส้ม้า (Bullwhip Effect) ในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกที่ข้อมูลและสารสนเทศมีการบิดเบือนเพราะข้อมูลเกิดการล่าช้าและเกิดจากการไม่ประสานงานกันระหว่างหุ้นส่วนในโซ่อุปทาน ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีก และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้าส่งและผู้ผลิต

.

ทำให้เกิดสภาพของการมีสินค้าคงคลังมากจนเกินไปและการขาดแคลนสินค้า ข้อมูลในการจัดการธุรกิจทั่วไปส่วนมากเป็นข้อมูลในอดีตไม่มีความทันสมัยทันเหตุการณ์ (Real Time) กว่าจะผู้บริหารจะตัดสินใจและสั่งการไปก็สายไปเสียแล้ว   

.

ในปัจจุบันการจัดการโซ่อุปทานนั้นมุ่งเน้นไปที่การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าด้วยการปรับปรุงความสามารถในการรับข้อมูลได้อย่างทั่วถึงและทันทีทันใด เครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการเก็บข้อมูลอย่างทีทันใดก็คงจะหนีไม่พ้นเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ IT โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ประเภท ERP (Enterprise Resource Planning) ที่กลายเป็นข้อกำหนดในการดำเนินการจัดการโซ่อุปทานรวมทั้งเทคโนโลยียอดนิยม RFID และ Barcode ที่จะเป็นตัวช่วยจัดเก็บข้อมูลอย่างทันทีทันใด

.

แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเพราะเทคโนโลยีทุกอย่างมันเป็นแค่เครื่องมือเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามจะต้องมีวิธีการ (Method) หรือการนำไปปฏิบัติ (Implementation) ที่จะนำเครื่องมือเหล่านั้นไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อธุรกิจและองค์กร IT นั้นสามารถช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างทันทีทันใดได้เหมือนเราได้ดูการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่านดาวเทียม

.

ลองนึกภาพดูว่าในองค์กรหนึ่งนั้นควรจะมีจุดไหนบ้างควรจะเป็น Real Time จุดใดบ้างควรจะตอบสนองตามช่วงเวลาที่กำหนด ดังนั้นการมีแนวคิดของการรับข้อมูลแบบทันทีทันใด (Real Time) นั้นทำให้องค์กรได้รับข้อมูลที่เกิดขึ้นได้อย่างทันสถานการณ์ แต่ก็ใช่ว่าทุกข้อมูลจะใช้ประโยชน์ได้ทุกสถานการณ์ ปัญหาที่ตามมาก็คือ จะใช้ข้อมูลนั้นอย่างไรในการวิเคราะห์ข้อมูลมากมายอย่างนั้น  

.

และปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในโซ่อุปทานขยายผล (Extended Supply Chain) หรือการเชื่อมต่อกันระหว่างองค์กร คือ การแบ่งปันข้อมูลหรือใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างหุ้นส่วนในโซ่อุปทาน ถ้าการจัดการความสัมพันธ์ในโซ่อุปทานขยายผล (Extended Supply Chain) ได้ดี ความสามารถของการมองเห็น (Visibility) ของระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานโดยรวมก็จะมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมากขึ้น

.

ประเมินองค์ประกอบเชิงบุคคลผิด โดยทั่วไปผู้บริหารองค์กรจะแสวงหาเครื่องมือที่ช่วยในการจัดการและสร้างระบบที่ดีมีความแม่นย่ำและความสะดวก จึงทำให้เทคโนโลยีเป็นคำตอบของทุกปัญหา โดยเฉพาะ IT  มีคนกล่าวอยู่เสมอว่า “คนเป็นคำตอบของปัญหาส่วนใหญ่” แต่ในความเป็นจริง คนกลับกลายเป็นปัญหาของหลาย ๆ ปัญหา เพราะกิจกรรมต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นได้ก็เพราะคนเป็นผู้ออกแบบและคนเป็นผู้กระทำโดยการตัดสินใจของคนทั้งนั้น

.

การจัดการโซ่อุปทานนั้นจะดีจะเลวก็เกิดจากคนเช่นกัน ถ้ามองดี ๆ แล้วเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดในระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นเป็นการของการตัดสินใจของมนุษย์ทั้งนั้น ดังนั้นองค์ประกอบที่มีผลในการดำเนินระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นก็มาจากคนและปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ การเปลี่ยนแปลงของคนในระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน  

.

ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า การจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้น คือ การจัดการการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อธุรกิจเปลี่ยนแปลง แต่คนไม่ยอมเปลี่ยนตาม การเปลี่ยนแปลงความคิดของคนเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงการจัดการโซ่อุปทานถึงประสบความล้มเหลว

.

การจัดการการเปลี่ยนแปลงแบบดั้งเดิมนั้นจะเกี่ยวข้องกับการฝึกอบรมและการสอนแต่ละบุคคลในความรู้และความเชี่ยวชาญใหม่ ๆ ที่พวกเขาแต่ละคนจะต้องมีความรับผิดชอบ ความพยายามเหล่านี้มีความจำเป็นแต่ก็ไม่พอเพียง เพราะในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับในแนวทางการจัดการการเปลี่ยนแปลงตามที่ทีมบริหารต้องการให้พวกเขาเหล่านั้นปฏิบัติ

.

ความชำนาญของบุคคลที่การจัดการโซ่อุปทานต้องการ คือ ความสามารถในการวิเคราะห์หาเหตุผล (Analytical Thinking) และความเข้าใจในเทคโนโลยี ความเชี่ยวชาญเหล่านี้ไม่ได้นำไปใช้กับคนในทุกระดับชั้นในองค์กร ในการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นจะมีการตัดสินในแต่ละระดับที่มีความซับซ้อนต่างกันออกไป  

.

บุคคลที่อยู่ในแต่ละระดับการตัดสินใจก็จะใช้การวิเคราะห์และเทคโนโลยีตามความเหมาะสม หลายคนคิดว่าการจัดการโซ่อุปทาน คือ IT หรือการจัดการข้อมูล หรือเทคนิคการคิดการตัดสินใจที่ทำให้เกิดกิจกรรมลอจิสติกส์ที่เหมาะสม แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จตรงนั้น คือ การทำให้คนทำกิจกรรมเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความร่วมมือประสานงานกันอย่างดี 

.

มุมมองที่ผมนำเสนอนั้นเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้ไปสัมผัสมาจากผู้ประกอบการ อาจจะไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมดของธุรกิจอุตสาหกรรม แต่ก็พอจะชี้ให้เห็นหนทางในการพัฒนาได้บ้าง และหวังว่ามุมมองความคิดเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาและปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด