เนื้อหาวันที่ : 2009-11-18 17:40:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 24768 views

การจัดการระบบไฟฟ้าแสงสว่างในโรงงานอุตสาหกรรม (ตอนที่ 1)

ระบบแสงสว่างที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในภาคที่อยู่อาศัยและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 เป็นต้นมา การไฟฟ้าได้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย ตามอัตราใหม่ โดยแบ่งผู้ใช้ไฟฟ้าออกเป็น 7 ประเภท

บูรณะศักดิ์ มาดหมาย 
สำนักพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

chakan_m@yahoo.com

.

.

ระบบแสงสว่างที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในภาคที่อยู่อาศัยและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการผลิตและจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศ นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2543 เป็นต้นมา การไฟฟ้าได้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหลาย ตามอัตราใหม่ โดยแบ่งผู้ใช้ไฟฟ้าออกเป็น 7 ประเภท ซึ่งท่านผู้อ่านอยู่ในกลุ่มประเภทไหน ลองศึกษาดูกันดังต่อไปนี้

.

ประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย สำหรับการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย วัด และโบสถ์ของศาสนาต่าง ๆ ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้องโดยแบ่งเป็น บ้านอยู่อาศัยขนาดเล็กใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน และบ้านอยู่อาศัยขนาดใหญ่ใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน  

.

ประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบธุรกิจ รวมกับที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรม และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรืออื่น ๆ ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง โดยมีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุดต่ำกว่า 30 กิโลวัตต์ 

.

ประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบธุรกิจ อุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานที่ทำการเกี่ยวกับกิจการของต่างชาติและสถานที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ  ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุด ตั้งแต่ 30 ถึง 999  กิโลวัตต์ และมีปริมาณการใช้พลังไฟฟ้าเฉลี่ย 3 เดือน ไม่เกิน 250,000 หน่วยต่อเดือน โดยมีการคิดค่าไฟฟ้า 2  อัตรา คือ อัตราปกติและอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU )

.

ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่ สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบธุรกิจ อุตสาหกรรม ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถานที่ทำการเกี่ยวกับกิจการของต่างชาติและสถานที่ทำการ ขององค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุด ตั้งแต่ 1,000 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย 3 เดือนเกินกว่า 250,000 หน่วยต่อเดือน โดยมีการคิดค่าไฟฟ้า 2 อัตราคือ อัตราตามช่วงเวลาของวัน (TOD) และอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU)

.

ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง สำหรับการใช้ไฟฟ้าเพื่อประกอบกิจการโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย   ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุด ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ขึ้นไป โดยมีการคิดค่าไฟฟ้าเพียงอัตราเดียวเท่านั้นคือ อัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) ในช่วงที่ยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องวัด ฯ TOU อนุโลมให้คิดค่าไฟฟ้าตามอัตราปกติไปพลางก่อน

.

ประเภทที่ 6 ส่วนราชการและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร สำหรับการใช้ไฟฟ้าของส่วนราชการ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความต้องการพลังไฟฟ้าเฉลี่ยใน 15 นาทีที่สูงสุดต่ำกว่า 1,000 กิโลวัตต์และมีปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ย 3 เดือน ไม่เกิน 250,000 หน่วยต่อเดือน และองค์กรที่ไม่ใช่ส่วนราชการ แต่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการโดยไม่คิดค่าตอบแทน   

.

รวมถึงสถานที่ที่ใช้ในการประกอบศาสนกิจ ตลอดจนบริเวณที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสากิจ สถานที่ทำการเกี่ยวกับกิจการของต่างชาติ และสถานที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ โดยมีการคิดค่า ไฟฟ้า 2 อัตราคือ อัตราปกติและอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU)

.

ประเภทที่ 7 สูบน้ำเพื่อการเกษตร สำหรับการใช้ไฟฟ้ากับเครื่องสูบน้ำเพื่อการเกษตรของส่วนราชการ กลุ่มเกษตรกรที่ทางราชการรับรอง หรือสหกรณ์เพื่อการเกษตร โดยมีการคิดค่าไฟฟ้า 2 อัตราคือ อัตราปกติและอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU)

.

สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมหลายโรงงาน  ปัจจุบันได้มีการหันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานในระบบแสงสว่างกันมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการลดต้นทุนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับแนวทางการจัดการพลังงานแสงสว่างสามารถดำเนินการได้ดังต่อไปนี้

.
หลักการจัดการให้แสงสว่าง

หลักการสำคัญที่จะให้ได้มาซึ่งระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่มีประสิทธิภาพสูงนั้น เริ่มจากการทำความเข้าใจกับพื้นที่ที่จะใช้แสงสว่าง คือ การศึกษาถึงประเภทหรือชนิดของงานที่จะกระทำในพื้นที่นั้น ๆ ว่าเป็นงานชนิดใด มีการทำงานในเวลาใด และต้องการระดับความสว่างสูงต่ำเพียงใด โดยคำนึงถึงขนาด ค่าการสะท้อนแสง ความเปรียบต่าง (Contrast) และการเคลื่อนไหวของชิ้นงาน รวมทั้งระยะห่างจากผู้ปฏิบัติงาน ใน

.

ขณะเดียวกันก็พิจารณาหรือเลือกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ ด้วย เช่น ความสูงของเพดาน ช่องแสง นอกจากนี้ สีที่ใช้ทาส่วนต่าง ๆ ควรเป็นสีโทนสว่าง เพื่อทำให้แลดูสว่างขึ้น ซึ่งค่าการสะท้อนแสงของเพดาน ผนัง พื้น และแม้แต่เครื่องจักรอุปกรณ์ ควรมีค่าที่เหมาะสม เพื่อมิให้เกิดแสงแยงตา หรือดูมืดเกินไป

.
หลักการให้แสงสว่างที่สำคัญนั้น จะต้องคำนึงถึงจุดมุ่งหมายหลัก 3 ประการ คือ

1. เพื่อให้การทำงานแต่ละประเภทดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ไฟส่องในพื้นที่ของการทำงาน
2. ช่วยสร้างความปลอดภัย เช่น ไฟตามแนวรั้ว หรือที่เก็บของ แนวทางเดิน
3. เพื่อความสวยงาม และสร้างบรรยากาศที่เหมาะสม เช่น ไฟส่องรูปภาพ เพื่อการมองเห็นภาพที่มีความชัดเจนมากขึ้น 

.

การปฏิบัติงานภายใต้ระบบแสงสว่างที่เหมาะสมไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น มากขึ้น ประณีตขึ้น ที่สำคัญยังทำให้เกิดความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้น ทั้งยังมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน วิธีการจัดการแสงสว่างที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 วิธี คือ

.
1. การให้แสงสว่างทั่วพื้นที่ (General Lighting)

เป็นวิธีการให้แสงสว่างที่ใช้ทั่วไปโดยการให้แสงสว่างจากโคมไฟที่ติดตั้งกระจายอย่างสม่ำเสมอบนเพดาน ซึ่งทำให้มีความสว่างเกือบเท่ากันตลอดพื้นที่ จึงทำให้มีข้อดีในแง่ที่สามารถออกแบบได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องทราบตำแหน่งทำงานที่แน่นอน และสามารถย้ายตำแหน่งที่ทำงานได้อย่างอิสระ แต่ข้อเสียสำคัญคือ เป็นวิธีการให้แสงสว่างที่สิ้นเปลืองพลังงานสูง

.

.
2. การให้แสงสว่างเฉพาะพื้นที่ (Localized General Lighting)

เป็นวิธีการให้แสงสว่างโดยการออกแบบให้สอดคล้องกับการทำงานในแต่ละพื้นที่ จึงทำให้ประหยัดพลังงานกว่าวิธีการแรก แต่ก็มีข้อเสียคือ ทำให้การย้ายตำแหน่งพื้นที่ทำงานไม่อิสระ จึงเหมาะสำหรับโรงงานที่มีสายกระบวนการผลิตที่ติดตั้งตายตัว หรือไม่มีการโยกย้ายตำแหน่ง

.

.
3. การให้แสงสว่างเฉพาะตำแหน่ง (Local Lighting)

เป็นวิธีการให้แสงสว่างเสริม ใช้สำหรับงานที่ต้องการปริมาณแสงในระดับสูง เช่น งานที่ต้องการความละเอียดสูงและใช้สำหรับผู้ปฏิบัติงานสูงอายุหรือสายตาผิดปกติ โดยการติดตั้งโคมไฟในบริเวณที่อยู่ใกล้ผู้ทำงานหรือชิ้นงาน เพื่อให้แสงสว่างเฉพาะตำแหน่งและทิศทางที่ต้องการเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นวิธีการให้แสงสว่างที่ประหยัดพลังงานที่สุด แต่จะต้องควบคุมทิศทางและความสว่างให้เหมาะสม

.

.

การออกแบบระบบแสงสว่างที่ดีนั้น นอกจากจะต้องให้ได้ปริมาณแสงสว่างที่เหมาะสมกับการใช้งานแล้ว ยังต้องทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้สึกสบายในการใช้สายตา กล่าวคือ ความจ้าของแสงบนชิ้นงานและสภาพแวดล้อมไม่ควรแตกต่างกันเกิน 3 เท่า ไม่ควรมี แสงจ้าแยงตา (Glare) จากดวงโคมโดยตรง หรือสะท้อนจากพื้นผิววัตถุมัน

.

ทั้งนี้โดยการเลือกใช้ดวงโคมและการติดตั้งทิศทางให้เหมาะสม ในกรณีที่เกิดเงาเนื่องจากชิ้นงานอยู่ในตำแหน่งที่แสงเข้าไม่ถึง อาจต้องติดตั้งดวงโคมเฉพาะตำแหน่งเข้าช่วย นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความสะดวกในการบำรุงรักษา ความปลอดภัย และความสวยงามประกอบด้วย

.
อุปกรณ์ไฟฟ้าให้แสงสว่าง

1. หลอดไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์ที่เปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานแสงสว่าง เพื่อให้ความสว่างในยามค่ำคืน ในที่มืด หรือบริเวณที่ต้องการแสงสว่างเพิ่มเติม ปัจจุบันมีหลอดไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติต่างกันมากมาย เราจึงจำเป็นต้องศึกษาให้ทราบถึงหลักการเลือกใช้หลอดไฟฟ้าให้เหมาะสำหรับงานแต่ละประเภท โดยคุณสมบัติสำคัญของหลอดไฟฟ้าที่ต้องพิจารณาได้แก่

.

ประสิทธิภาพแสง (Luminous Efficacy) สำหรับหลอดไฟฟ้า คือ อัตราส่วนระหว่างปริมาณแสงที่หลอดเปล่งออกมาได้ หรือ ค่าฟลักซ์การส่องสว่างเริ่มต้น (หลังทำงาน 100 ช.ม.) ต่อกำลังไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งอาจคิดเฉพาะกำลังวัตต์ของหลอดก็ได้ แต่ที่ถูกต้องควรคิดรวมบัลลาสต์ด้วย

.

อายุใช้งาน (Lamp Mortality) หมายถึง ระยะเวลาโดยเฉลี่ย ซึ่งเมื่อใช้งานหลอดไฟฟ้าครบระยะเวลานั้นแล้ว จะคงเหลือหลอดไฟฟ้าที่ยังทำงานอยู่ครึ่งหนึ่ง

.

ความเสื่อมของหลอด (Lamp Lumen Depreciation: LLD) คือ อัตราส่วนปริมาณแสงที่เหลืออยู่เมื่อหลอดไฟฟ้าครบอายุใช้งานเทียบกับค่าฟลักซ์การส่องสว่างเริ่มต้น เนื่องจากการเสื่อมสภาพของหลอดไฟฟ้าแต่ละชนิด

.

คุณสมบัติทางสีของแสง คือ ค่าอุณหภูมิสีของแสง และค่าดัชนีเทียบสี

.

ระยะเวลาอุ่นหลอด และระยะเวลารอจุดหลอดซ้ำ (Restrike Time) คือช่วงเวลานับจากเริ่มเปิด จนกระทั่งหลอดสว่างเต็มที่ และช่วงเวลาที่ต้องพักให้หลอดไฟฟ้าคืนตัว ก่อนจะเปิดใช้ใหม่ได้อีกครั้ง

.

คุณสมบัติเฉพาะอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ ราคาหลอด ขนาดกำลัง และลักษณะการติดตั้ง ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสามารถในการหรี่แสง ความทนต่อการสั่นสะเทือนและอุณหภูมิ นอกจากนี้ สำหรับหลอดก๊าซดิสชาร์จ ยังมีคุณสมบัติในการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Radio Interference) และการกระเพื่อมของแสง (Stroboscopic Effect) ที่อาจรบกวนต่อการทำงานได้

.

หลอดไฟฟ้าสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะการกำเนิดของแสง คืออินแคนเดสเซนต์ ลูมิเนสเซนต์ และอินดักชัน แต่หลอดไฟฟ้าที่ใช้กันโดยทั่วไปนั้น จะให้แสงด้วยสองวิธีแรก ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

.

1.1 หลอดอินแคนเดสเซนต์ (Incandescent Lamp) คือ หลอดที่ให้กำเนิดแสงโดยวิธีการเผาไส้หลอดให้ร้อน (อินแคนเดสเซนต์) ที่ใช้กันทั่วไปมีอยู่ 2 ชนิด คือ

.

หลอดอินแคนเดสเซนต์ธรรมดา หรือที่เรียกว่า หลอดไส้ ไส้หลอดมักเป็นทังสเตนบรรจุในตัวหลอดแก้วปิดสนิท ซึ่งอาจเป็นสุญญากาศ หรือบรรจุด้วยก๊าซไนโตรเจนและก๊าซเฉื่อย เช่น อาร์กอน ตัวหลอดมีหลายรูปทรง มีทั้งชนิดที่โปร่งใสและชนิดเป็นฝ้าขุ่น ขั้วหลอดมี 2 แบบ คือ แบบเขี้ยว (B22) และแบบเกลียว (E14, E27)

.

.
ตารางแสดงคุณสมบัติข้อดี-ข้อเสีย ของหลอดอินแคนเดสเซนต์ธรรมดา

.

หลอดทังสเตน-ฮาโลเจน (Tungsten-Halogen Lamp) เป็นหลอดอินแคนเดสเซนต์ที่ได้มีการพัฒนาขึ้น โดยเติมก๊าซฮาโลเจน เช่น ไอโอดีน เพื่อไม่ให้หลอดดำและมีอายุใช้งานนานขึ้น บางครั้งจึงเรียกว่า หลอดไอโอดีน ไส้หลอดเป็นทังสเตนบรรจุในหลอด ควอตซ์ที่มีขนาดเล็กมาก ทำงานที่อุณหภูมิสูง เพื่อให้มีประสิทธิภาพแสงสูงขึ้น

.

รูปทรงหลอดมี 2 ชนิด คือ หลอดกำลังต่ำจะเป็นหลอดแคปซูล (Capsule) ขั้วเสียบ (GY6.35 และ GU5.3 สำหรับแบบติดกับถ้วย) ใช้กับไฟกระแสสลับแรงดันต่ำ (12V) ส่วนหลอดกำลังสูงจะเป็นหลอดแท่งมีขั้วที่ปลายทั้งสอง (R7s)

.

.

ตารางแสดงคุณสมบัติข้อดี-ข้อเสีย ของหลอดทังสเตน-ฮาโลเจน

.

1.2 หลอดก๊าซดิสชาร์จ (Gas Discharge Lamp) คือ หลอดที่ให้กำเนิดแสงโดยวิธีการกระตุ้นอะตอมของก๊าซ (ลูมิเนสเซนต์) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทย่อย คือ หลอดคายประจุความดันต่ำ (Low-pressure Discharge Lamps) และหลอดคายประจุความดันสูง (High-pressure Discharge Lamps) หรือที่เรียกว่า หลอดคายประจุความเข้มสูง (High Intensity Discharge Lamps: HID lamps) ซึ่งหลอดบรรจุก๊าซแต่ละประเภทยังอาจแบ่งได้เป็นหลายชนิด คือ

.

หลอดฟลูออเรสเซนต์ชนิดหลอด ตรงหรือชนิดหลอดวงกลม (Turbular or Circular Fluorescent Lamps) หลอดฟลูออเรสเซนต์เป็นหลอดแก้วกลมยาว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดรุ่นเดิม (T12) คือ 38 มิลลิเมตรส่วนหลอดรุ่นปัจจุบันที่เรียกว่า หลอดผอม (T8) ลดขนาดเป็น 26 มิลลิเมตร ล่าสุดได้มีการพัฒนา หลอด T5 ซึ่งประหยัดไฟมากขึ้นและมีขนาดเล็กเพียง 16 มิลลิเมตร  

.

.

ภายในบรรจุด้วยไอปรอทความดันต่ำและก๊าซเฉื่อยอีกเล็กน้อย รูปทรงของหลอดมีทั้งแบบตรงและวงกลม ภายในหลอดเคลือบด้วยสารเรืองแสงหรือผงฟอสเฟอร์ (Phosphur) ทำให้หลอดฟลูออเรสเซนต์มีโทนสีของแสงให้เลือกได้มากมาย ที่ด้านในของปลายทั้งสองมีไส้หลอดหรือขั้วอิเล็กโทรด ซึ่งมีลักษณะการทำงาน 3 แบบตามชนิดของหลอด คือ

.

ก. ชนิดอุ่นไส้ (Preheat) ที่ใช้กันทั่วไป ไส้หลอดต้องอาศัยสตาร์ทเตอร์ต่อวงจรจนร้อนจึงจะติดได้
ข. ชนิดติดทันที (Instant Start) หรือ หลอด Slimline ไม่มีความจำเป็นต้องอุ่นไส้หลอดก่อน
ค. ชนิดติดเร็ว (Rapid Start) ต้องมีการอุ่นไส้ตลอดเวลา โดยที่บัลลาสต์จะมีวงจรทำหน้าที่อุ่นไส้หลอด

.

ขั้วหลอดที่ใช้กันทั่วไป คือชนิดอุ่นไส้และชนิดติดเร็ว จะมี 2 ขา (G13 สำหรับหลอดตรงG5 สำหรับหลอด T5 และ G10q สำหรับหลอดวงกลม) ใช้ร่วมกับบัลลาสต์และสตาร์ตเตอร์ ส่วนชนิดติดทันทีจะมีขาเดียว (Fa8) ใช้ร่วมกับบัลลาสต์

.
ตารางแสดงคุณสมบัติข้อดี-ข้อเสีย ของหลอดฟลูออเรสเซนต์

.

หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (Com-pact Fluorescent Lamps) หรือที่เรียกว่า หลอดประหยัดไฟ คือ หลอดฟลูออเรสเซนต์ที่มีขนาดเล็ก แต่ยังมีส่วนประกอบหลักเช่นเดิม มีทั้งชนิดบัลลาสต์ภายในที่มีขั้วหลอดแบบเกลียว (E27) ซึ่งเปลี่ยนแทนหลอดอินแคนเดสเซนต์ได้ทันที และชนิดบัลลาสต์ภายนอกที่เรียกว่า หลอดตะเกียบ ที่มีขั้วหลอดแบบเสียบ (G23, G24d, G24q, 2G11)

.

.
ตารางแสดงคุณสมบัติข้อดี-ข้อเสีย ของหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์

.

หลอดไอปรอทความดันสูง (High-pressure Mercury Vapour Lamps) หรือที่เรียกว่า หลอดแสงจันทร์ เป็นหลอด HID ที่ใช้กันมาก ตัวหลอดเป็นแก้ว 2 ชั้น ชั้นในคือหลอดอาร์ก ที่ข้างในมีอิเล็กโทรดอยู่ที่ปลายทั้งสอง บรรจุด้วยไอปรอทและก๊าซอาร์กอน ส่วนหลอดชั้นนอกเป็นแก้วทรงลูกโบว์ลิ่งบรรจุด้วยก๊าซไนโตรเจนเพื่อป้องกันหลอดแก้วชั้นใน

.

มีทั้งชนิดที่โปร่งใสและชนิดเคลือบสารเรืองแสงเพื่อให้สมดุลของสีดีขึ้น ขั้วหลอดเป็นแบบเกลียว (E27) ต้องใช้ร่วมกับ บัลลาสต์ ยกเว้น หลอด ML ที่เรียกว่า หลอดเมอร์คิวรี่-ทังสเตน หรือ หลอดแสงผสม (Blended Light) ที่มีไส้หลอดทำหน้าที่แทนบัลลาสต์ ซึ่งทำให้คุณสมบัติทางสีของแสงดีขึ้น แต่ประสิทธิภาพแสง และอายุใช้งานของหลอดจะลดลงกว่าครึ่ง

.

.

ตารางแสดงคุณสมบัติข้อดี-ข้อเสีย ของหลอดไอปรอทความดันสูง

.

หลอดเมทัลฮาไลด์ (Metal Halide Lamps) เป็นหลอดที่พัฒนามาจากหลอดแสงจันทร์ โดยเพิ่มสารไอโอไดด์เข้าไปภายในหลอดอาร์ก ทำให้คุณสมบัติทางสีของแสงดีขึ้น และไม่จำเป็นต้องเคลือบสารเรืองแสงที่ผิวใน แต่อาจเคลือบเพื่อให้ สมดุลของสีดีขึ้น รูปทรงของหลอดมีทั้งแบบตรงและรูปทรงโบว์ลิ่ง ขั้วหลอดเป็นแบบเกลียว (E40) ต้องใช้ร่วมกับบัลลาสต์ และต้องใช้อิกนิเตอร์ช่วยในการจุดติดหลอด

.

.
ตารางแสดงคุณสมบัติข้อดี-ข้อเสีย ของหลอดหลอดเมทัลฮาไลด์

.

หลอดโซเดียมความดันสูง (High-pressure Sodium Vapour Lamps) เป็นหลอดที่พัฒนามาจากหลอดแสงจันทร์โดยเพิ่มก๊าซซีนอนและสารโซเดียมเข้าไปภายในหลอดอาร์กทำให้ประสิทธิภาพแสงสูงขึ้น แต่สีของแสงเป็นสีเหลือง   รูปทรงของหลอดมีทั้งแบบตรง และรูปทรงลูกโบว์ลิ่ง ขั้วหลอดเป็นแบบเกลียว (E40) ต้องใช้ร่วมกับบัลลาสต์ และอิกนิเตอร์สำหรับหลอดโซเดียมความดันสูงโดยเฉพาะ ยกเว้นหลอด SON-H ที่ออกแบบให้ใช้กับบัลลาสต์ของหลอดแสงจันทร์ 

.

ตารางแสดงคุณสมบัติข้อดี-ข้อเสีย ของหลอดโซเดียมความดันสูง

.

หลอดโซเดียมความดันต่ำ (Low-pressure Sodium Vapour Lamps) เป็นหลอดที่มีประสิทธิภาพแสงสูงที่สุด แต่ให้แสงความยาวคลื่นเดี่ยว (Monochomatic) สีเหลืองเข้ม หลอดรูปทรงตรง ขั้วหลอดเป็นแบบเขี้ยว (BY22d) ต้องใช้ร่วมกับบัลลาสต์ และอิกนิเตอร์สำหรับหลอดโซเดียมความดันต่ำโดยเฉพาะ

.

ตารางแสดงคุณสมบัติข้อดี-ข้อเสีย ของหลอดโซเดียมความดันต่ำ

.

เอกสารอ้างอิง
• หลักสูตรการอนุรักษ์พลังงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับ SMEs กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2547

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด