เนื้อหาวันที่ : 2009-11-16 17:45:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3550 views

คิดอย่างลีนในการจัดการลอจิสติกส์

กระแสของแนวคิดลอจิสติกส์ในปัจจุบันนั้นมาแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความคิดและความไม่เข้าใจที่ไม่ค่อยจะตรงกันบ้าง แต่ก็มีการประชาสัมพันธ์กันมากมายว่า ถ้ามีการทำลอจิสติกส์หรือมีการนำเอาลอจิสติกส์มาใช้ในกระบวนการธุรกิจแล้วจะทำให้เกิดการลดต้นทุนและได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ในความเป็นจริงแล้วในทุก ๆ กิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตามย่อมมีกิจกรรมลอจิสติกส์อยู่เสมอ ความเข้าใจที่คิดว่า ลอจิสติกส์นั้น คือ การขนส่ง เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงด้วยกระแสของการเอาอย่าง

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  

.

.

กระแสของแนวคิดลอจิสติกส์ในปัจจุบันนั้นมาแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความคิดและความไม่เข้าใจที่ไม่ค่อยจะตรงกันบ้าง แต่ก็มีการประชาสัมพันธ์กันมากมายว่า ถ้ามีการทำลอจิสติกส์หรือมีการนำเอาลอจิสติกส์มาใช้ในกระบวนการธุรกิจแล้วจะทำให้เกิดการลดต้นทุนและได้เปรียบเชิงการแข่งขัน นั่นเป็นความคิดที่ผมไม่เห็นด้วย เพราะในทุก ๆ กิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตามย่อมมีกิจกรรมลอจิสติกส์อยู่เสมอ

.

และสิ่งหนึ่งที่รบกวนใจผมอยู่เสมอคือ ความเข้าใจที่คิดว่า ลอจิสติกส์นั้น คือ การขนส่ง  ผมคิดว่า นี่เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงด้วยกระแสของการเอาอย่าง ที่ไหนมีคำว่า ขนส่ง ก็แทนด้วยลอจิสติกส์ทันทีด้วยความคิดว่าทำให้ดูทันสมัย ตั้งแต่การตั้งชื่อบริษัทจนถึงนโยบายรัฐ ลองสังเกตดูนะครับ ผมเคยเห็นฝรั่งเขาเขียนกันว่า Transport and Logistics นั่นก็พอจะมีความหมายว่าทั้งสองคำนั้นไม่เหมือนกัน ถ้าเรามีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันแล้วเราจะไปพัฒนาอะไรกันได้

.
ที่จริงแล้ว ลอจิสติกส์หมายถึงอะไร

ถ้าลอจิสติกส์เป็นเรื่องที่เข้าง่าย ๆ เหมือนกับการแค่เอามาใช้แทนคำว่าขนส่งแล้ว ผมว่ามันคงจะง่ายไปมั้งครับ (คิดกันแบบมักง่ายไปหน่อยไหม) ไม่อย่างนั้นแล้ว ลอจิสติกส์ คงไม่ใช่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันสำหรับองค์ธุรกิจระดับโลก แต่เมื่อลอจิสติกส์มีความสำคัญแล้ว โดยตัวมันเองก็คงจะมีความซับซ้อนในความหมายและการนำไปใช้งานให้เกิดผลประโยชน์อย่างแน่นอน  

.

ความซับซ้อนของลอจิสติกส์เริ่มกันตั้งแต่ขอบเขตของความหมายที่ขยายผลจากความคิดดั้งเดิมที่เป็นการขนส่ง หลายคนอาจจะสงสัยในขอบเขตใหม่ที่ลอจิสติกส์ขยายผลครอบคลุมไปถึง แต่โดยหลักการแล้วลอจิสติกส์สามารถอธิบายได้ในแนวคิดเดียวกันไม่ว่าจะเป็นส่วนใดในโซ่คุณค่า   

.

ลอจิสติกส์เป็นแนวคิดที่บูรณาการหรือประสานรวมเชื่อมต่อฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ ในโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นจนจบ ถ้าขาดการเชื่อมต่อเหล่านี้แล้วการสร้างสรรค์คุณค่านั้นคงจะไม่เกิดขึ้นหรือมีการสะดุดเกิดขึ้น จึงทำให้มีการกล่าวถึง Logistics Pipeline ที่เปรียบเสมือนกับท่อน้ำที่ส่งน้ำจากต้นทางไปยังปลายทาง  

.

แต่สำหรับลอจิสติกส์นั้นเราไม่ได้ส่งน้ำ แต่ส่งคุณค่าให้กับลูกค้า เราขายอะไรให้กับลูกค้าเราก็หาสิ่งนั้นมาส่งให้กับลูกค้า หนทางที่จะส่งของให้กับลูกค้าให้ได้ดีที่สุด ต้องรวดเร็ว และไม่ตกหล่นสูญหาย เหมือนกับการส่งน้ำมาทางท่อ ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงต้องสร้างท่อส่งสินค้าให้ตอบสนองลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เหมือนเปิดท่อน้ำและไม่สูญหายระหว่างทาง ผมว่าเป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพได้ดีทีเดียว   

.
แล้วควรจะเป็นท่อชนิดใด ?

ผมได้รับคำถามมากมายว่าจะเริ่มกิจกรรมพัฒนาปรับปรุงลอจิสติกส์อย่างไรดี ผมมักจะแนะนำกลับไปว่า จะต้องเข้าใจว่าลูกค้าคือใคร และต้องการสินค้าอะไร ลอจิสติกส์ไม่เหมือนกับการขนส่งตรงที่ว่า การขนส่งจะคำนึงถึงผู้รับ แต่ลอจิสติกส์จะคำนึงถึงลูกค้าผู้ใช้ผู้ผลิตภัณฑ์และการไหลของผลิตภัณฑ์ตลอดโซ่อุปทาน ผลิตภัณฑ์ต่างกัน ระบบลอจิสติกส์ก็ต่างกัน แต่ก็อาจจะมีการขนส่งแบบเดิมก็ได้ ที่สำคัญการขนส่งนั้นจะเน้นที่การเคลื่อนที่เคลื่อนย้ายภายนอกองค์กร  

.

การขนส่งนั้นส่วนมากจะคำนึงถึงต้นทางและปลายทาง แต่ลอจิสติกส์จะคำนึงถึงความสัมพันธ์ของกระบวนการทั้งก่อนหน้าและหลังด้วย ซึ่งจะมีผลต่อการขนส่งด้วย แต่ลอจิสติกส์นั้นคำนึงทั้งการไหลและการจัดเก็บ (การทำให้ไม่ไหล) ตลอดโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์ (ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ) หรือโซ่คุณค่าขององค์กร (End to End Process) 

.

ลักษณะการไหลของผลิตภัณฑ์จะเป็นอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของผลิตภัณฑ์และกระบวนการในโซ่คุณค่า ผลิตภัณฑ์บางอย่างมีคุณลักษณะทางกายภาพต่างกันออกไป บางผลิตภัณฑ์มีวงจรชีวิตสั้นยาวต่างกัน ลอจิสติกส์ที่รองรับก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเมื่อมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ย่อมมีผลต่อกระบวนการลอจิสติกส์หรือ Logistics Pipeline       

.

หลายคนเห็นว่าการให้ความสนใจในแนวคิดลอจิสติกส์จะทำให้ลดต้นทุนได้ แต่ผมคิดว่าเป็นการมองแค่มิติเดียว การสร้าง Logistics Pipeline ของแต่ละผลิตภัณฑ์จะต้องมีความยืดหยุ่น (Flexible) และความเร็ว (Speed) เพื่อสร้างความคล่องตัว (Agility) ให้กับกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับองค์กร น่าจะเป็นประเด็นที่ควรคำนึงถึงมากกว่าต้นทุน

.
แล้วจะบริหารการไหลของลอจิสติกส์อย่างไร ?

ปัจจุบันกระแสของลอจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นยังมาแรงพร้อมกับเสริมความแรงด้วยการจัดการโซ่อุปทาน แต่คงจะมีคำถามต่อมาว่า แล้วจะจัดการกับการไหลของลอจิสติกส์ (Logistics Pipeline) อย่างไร ในอดีตมีเทคนิคการจัดการมากมายหลายชื่อ ทั้งการจัดการด้านคุณภาพ (Quality) การจัดการทางด้านผลิตภาพ (Productivity) การจัดการด้านการดำเนินงาน (Operations) ฯลฯ เทคนิคทั้งหลายที่กล่าวมานั้นอยู่บนเส้นทางการไหลของลอจิสติกส์ทั้งสิ้น

.

ก่อนที่จะจัดการและเปลี่ยนแปลงกับกระบวนการลอจิสติกส์คงจะต้องมีการประเมินสภาพของลอจิสติกส์ปัจจุบันเสียก่อน โดยให้สังเกตคุณสมบัติดังนี้ ว่ามีระดับสินค้าคงคลังในเส้นทางการไหลของลอจิสติกส์มากหรือน้อย การไหลหรือการเคลื่อนย้ายเป็นไปอย่างช้า ๆ และไม่แน่นอนหรือควบคุมไม่ได้ มีลักษณะการไหลไปทีละมาก 

.

มีลักษณะกระบวนเปลี่ยนแปลงยากและมีต้นทุนการเคลื่อนย้ายและการจัดเก็บสูง หรือจะสรุปได้ง่าย ๆ ว่าเป็นการใช้ขนาดสินค้าคงคลังจำนวนมากผลักดันการดำเนินงานขององค์กร ที่จริงทุกองค์กรนั้นก็มีเส้นทางการไหลของลอจิสติกส์อยู่แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นคงจะไม่สามารถสร้างสรรค์สินค้าและนำส่งให้กับลูกค้าได้  

.

ผมมักจะได้ยินเสมอว่าองค์กรต่างๆพยายามที่จะนำเอาแนวคิดลอจิสติกส์มาใช้ในองค์กร ทั้ง ๆ ที่ตัวเองนั้นมีลอจิสติกส์อยู่แล้วแต่ยังขาดความเข้าใจว่าองค์กรตัวเองมีกระบวนการลอจิสติกส์อยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องปรับปรุงกระบวนการลอจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพและต้นทุนที่ต่ำลง ผมคิดว่าก็ยังดีที่หลายคนเห็นความสำคัญของลอจิสติกส์

.
แล้วก็มาถึง ลีนลอจิสติกส์

เทคนิคการจัดการการดำเนินงานที่มีมาในอดีต พอมาถึงปัจจุบันผมสังเกตเห็นว่าเทคนิคต่างๆได้หลอมตัวตกผลึกกลายเป็นเทคนิคเดี่ยว ๆ ที่รวบรวมเอาเครื่องมือทั้งหลายมาบูรณาการ (Integrate) กัน แล้วเรียกว่า การจัดการแบบลีน (Lean Management) และเรากำลังพูดเรื่องจะจัดการลอจิสติกส์กันยอย่างไรอยู่  

.

ดังนั้นก็ควรจะเป็น ลีนลอจิสติกส์ (Lean Logistics) เพราะว่าเส้นทางการไหลของลอจิสติกส์เป็นเส้นทางแห่งการทำกำไร ผู้นำทุกคนจะต้องให้ความสนใจในการไหลของลอจิสติกส์เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า ไม่ใช่แค่การลดต้นทุน   เพราะการลดต้นทุนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

.

แนวคิดแบบลีนเป็นการพัฒนาเอาเครื่องมือต่าง ๆ ในอดีตมารวมกันเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าด้วยความมีประสิทธิภาพ โดยใช้การกำจัดความสูญเปล่าและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่คำนึงถึงความต้องการของลูกค้า ที่จริงแล้วเรื่องลีนนั้น มีแนวคิดดั้งเดิมมาจากการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System: TPS) จนมีการพัฒนาออกมาเป็นแนวคิดสำหรับกิจกรรมการดำเนินการทั่วไป  

.

แนวคิดแบบลีนนั้นเริ่มมาจากการจัดการผลิตโดยมุ่งเน้นไปที่การไหลของวัตถุดิบในสายการผลิต ซึ่งผมพิจารณาเป็นลอจิสติกส์การผลิต (ใครจะคิดว่าใช่หรือไม่ใช่ ผมไม่สน แต่ผมอธิบายได้ว่า การจัดการผลิตนั้นเป็นกิจกรรมการจัดการลอจิสติกส์ได้อย่างไร) ต่อมาแนวคิดนี้ได้ขยายขอบข่ายออกไปครอบคลุมกระบวนการไหลของลอจิสติกส์ขององค์กรที่นอกเหนือจากการผลิต จนกลายเป็นวิสาหกิจแบบลีน (Lean Enterprise) 

.

คำว่า ลีนนั้นมีความหมายว่า ผอม ไม่มีไขมัน และสุขภาพดี เมื่อมาใช้กับการไหลของลอจิสติกส์แล้ว ก็คือ การทำให้การไหลของลอจิสติกส์ที่สร้างแต่คุณค่ากับลูกค้าเท่านั้น การไหลที่ไม่สร้างคุณค่าก็ควรจะตัดทิ้งไป ตรงจุดนี้เองที่ทำให้เกิดการลดต้นทุน ไม่ใช่เป็นการตั้งใจจะลดค่าใช้จ่าย แต่เป็นผลจากการมุ่งเน้นไปที่ลูกค้า ทำแต่สิ่งลูกค้าต้องการ

.
แนวคิดของลีนลอจิสติกส์

แนวคิดต้นทุนรวม : กุญแจสู่ความสำเร็จ แนวคิดนี้มีความสำคัญมากสำหรับองค์กรหนึ่ง ๆ เมื่อถึงคราวที่จะต้องพิจารณาต้นทุนของการดำเนินการ หลาย ๆ บริษัทได้มุ่งเน้นไปในแต่ฟังก์ชันหรือแต่ละฝ่ายหรือแผนกเพื่อที่จะลดต้นทุน เชื่อหรือไม่ว่ายิ่งทำไปก็ยิ่งกลายเป็นว่าต้นทุนกลับเพื่อขึ้น

.

เมื่อต้องการที่จะลดต้นทุนให้มองเป็นกระบวนการตามเส้นทางการไหลของลอจิสติกส์และพยายามที่จะกำหนดกิจกรรมที่มีผลต่อคุณค่าต่อลูกค้า ถ้ามองในลักษณะอย่างนี้แล้วก็จะทำให้เราสามารถแยกต้นทุนของแต่ละกิจกรรมหรือแต่ลูกค้า เพื่อที่จะจัดการในภาพรวมและทำให้เกิดต้นทุนที่เหมาะสมที่สุด ต้นรวมจะหมายถึงต้นทุนของการจัดการ การจัดเก็บ การจัดส่ง การหมุนเวียนสินค้า การสูญหาย และการสูญเสียลูกค้า

.

การลดเวลานำ (Reduced Lead Times) เวลานำเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการดำเนินการที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องไปกิจกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น การจัดการสินค้าคงคลัง และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดต้นทุนโดยไม่จำเป็น การลดเวลานำหรือวงรอบของเวลาจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการทรัพยากรใน Logistics Pipeline

.

การปรับเรียบการผลิต (Leveled Production) ผลลัพธ์ของการปรับเรียบการผลิตทำให้การจัดการผลิตมีความสม่ำเสมอและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ย่อมมีผลโดยตรงต่อการไหลของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ทั้งในช่วงเข้าและขาออก ตรงนี้เองครับที่ลอจิสติกส์นั้นต่างจากการขนส่ง

.

การส่งบ่อย ๆ (Delivery Frequency) ลีนลอจิสติกส์นั้นเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ลดเวลานำและลดสินค้าคงคลังในทุกระดับของโซ่อุปทาน เรื่องที่สำคัญของแนวคิดแบบลีนคือการผลิตทีละน้อยตามคำสั่งซื้อหรือขนาดของการผลิตเล็กเพื่อที่จะได้ไม่ผลิตมากเกินความจำเป็น ดังนั้นการขนส่งจึงต้องส่งบ่อยขึ้น แต่ขนาดของการขนส่งเล็กลงและจำนวนทรัพยากรและสินค้าคงคลังก็ลดลงตามจำนวนการผลิต

.

5ส ที่จริงแล้ว 5ส เป็นแนวคิดเชิงลอจิสติกส์ส่วนบุคคลที่มีความสำคัญต่อระบบลอจิสติกส์ขององค์กรเลยทีเดียว สำหรับลีนก็เช่นกัน จำเป็นจะต้องมี 5ส เป็นพื้นฐานที่สำคัญเพราะเป็นการจัดการทรัพยากรของสถานที่หรือองค์กร เพื่อเป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในองค์กร ไม่ว่ากิจกรรมลอจิสติกส์จะอยู่ในส่วนใดของโซ่อุปทานก็จะต้องมีกิจกรรม 5ส เหมือนกัน

.

การทำงานร่วมกันเป็นทีม บริษัทที่ก้าวหน้าต่าง ๆ ในปัจจุบันเจริญเติบโตได้ด้วยการทำงานเป็นทีม การจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานที่ดีจะขึ้นอยู่กับการสื่อสารและการเชื่อมต่อทางการดำเนินงานระหว่าง ๆ หลายกลุ่มงาน ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะทำให้กลุ่มงานอิสระเหล่านี้ทำงานกันเป็นทีมขึ้น ดังนั้นความหมายของลีนลอจิสติกส์จึงหมายถึงการทำงานเป็นทีมงานระหว่างกิจกรรมลอจิสติกส์ทั้งหลายให้มีความสูญเปล่าน้อยที่สุด

.

แนวคิดแบบทันเวลาพอดี (Just in Time) ในมุมมองเก่าของการจัดการลอจิสติกส์มีการรวมเอาทั้งการจัดเก็บและการขนส่งเข้าไว้ด้วยกัน แต่อาจยังไม่เชื่อมโยงกันอย่างแนวคิดแบบลีน เมื่อผมพูดถึงการเชื่อมโยงแบบลีน ผมหมายถึง การใช้แนวคิดแบบดึง (Pull) แทนแนวคิดแบบผลัก (Push) ซึ่งมีผลต่อการไหลของวัตถุดิบหรือการขนส่ง และการจัดเก็บ แนวคิดแบบดึงจะทำให้ขนาดของการจัดส่งมีขนาดเล็กลง มีการส่งบ่อยครั้ง เช่นเดียวกันกับในการผลิตที่มีขนาดชุดของการผลิตเล็กลง ทำให้มีความหลากหลายของการผลิต

.

งานที่เป็นมาตรฐาน องค์ประกอบที่สำคัญตัวหนึ่งในการทำให้การไหลของวัตถุดิบหรือสินค้าเป็นไปอย่างลีน คือ การสร้างงานให้เป็นมาตรฐานซึ่งจะช่วยให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาปรับปรุง เพราะถ้าการดำเนินงานหรือการไหลไม่เป็นไปตามมาตรฐานแล้วก็ยากต่อการควบคุมและพัฒนา ในการขนส่งก็เช่นกัน ถ้าช่วงต่อของการขนถ่ายไม่เหมือนกันหรือไม่อยู่ในมาตรฐานเดียวกันก็ย่อมเกิดความสูญเปล่า หรือมีการเสียเวลาเกิดขึ้น

.

เมื่อมีการนำลีนลอจิสติกส์มาใช้แล้วย่อมทำให้มีสินค้าคงคลังที่ลดน้อยลง มีการไหลเวียนของสินค้ามากขึ้น และมีความเร็วการดำเนินการมากขึ้น มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่ต้องลงทุนสูง (สังเกตให้ดีครับว่า ลอจิสติกส์ที่ผมกำลังพูดถึงนั้นไม่ได้มีขอบเขตแค่การขนส่ง แต่กลับมีความเชื่อมโยงกับการผลิตโดยตรง) มิติของการรับรู้ในปัญหาต่าง ๆ ในวงจรธุรกิจในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปอย่างมาก

.

ดังนั้นเมื่อเราได้รับรู้แนวคิดใหม่จะต้องตรวจสอบให้ได้รู้และเข้าใจเพื่อที่จะได้สื่อสารและปฏิบัติใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมหวังว่าเมื่อทุกท่าได้ยินคำว่า ลีนลอจิสติกส์ อีกครั้ง คงมีมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าเดิม พบกันฉบับหน้า

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด