เนื้อหาวันที่ : 2009-10-21 18:38:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 16355 views

การสร้างและประมวลแบบประเมินตนเอง เข็มทิศชี้นำทิศทางพัฒนาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

การประเมินองค์กรด้วยตนเอง เป็นกิจกรรมหนึ่งที่องค์กรใช้ทบทวนประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจของตน สามารถทำได้โดยผู้เชี่ยวชาญภายนอกเป็นผู้ทำการประเมินให้ หรือการประเมินองค์กรด้วยบุคลากรภายในของตนเองก็ได้ โดยการประเมินจะทบทวนสิ่งที่องค์กรได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน กำลังจะดำเนินการ หรือผลของการดำเนินการเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้

สนั่น เถาชารี 
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
,
nutphysics@hotmail.com

.

.
การประเมินองค์กรด้วยตนเองคืออะไร

การประเมินองค์กรด้วยตนเอง เป็นกิจกรรมหนึ่งที่องค์กรใช้ทบทวนประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจของตน สามารถทำได้โดยผู้เชี่ยวชาญภายนอกเป็นผู้ทำการประเมินให้ หรือการประเมินองค์กรด้วยบุคลากรภายในของตนเองก็ได้ โดยการประเมินจะทบทวนสิ่งที่องค์กรได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน กำลังจะดำเนินการ หรือผลของการดำเนินการเทียบกับเกณฑ์ที่ตั้งไว้     

.

วิธีการที่ใช้ในการประเมินอาจมีความหลากหลาย ต่างกันไปตามเกณฑ์ที่ใช้ประเมิน เป้าหมายของการประเมิน ความถนัด ความคุ้นเคย วัฒนธรรมของผู้ประเมิน หรือแนวทางความรู้ที่องค์กรได้รับถ่ายทอดจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ 

.

การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร เช่น ลูกค้า คู่ค้า หรือการประเมินโดยผู้ตรวจประเมิน เช่น การตรวจระบบการควบคุมกระบวนการ ความสะอาดปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร การตรวจตามมาตรฐานระหว่างประเทศต่าง ๆ บางครั้งอาจมีวัตถุประสงค์ด้านผลประโยชน์ทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง

.

เช่น ถ้าตรวจพบว่าไม่เป็นไปตามที่กำหนดจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ ถ้าควบคุมกระบวนการได้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานจะไม่ทำสัญญา หรือถ้าไม่ได้ใบรับรองมาตรฐานจะไม่สามารถส่งสินค้าไปยังประเทศของลูกค้าได้ ซึ่งเมื่อมีผลประโยชน์ทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจทำให้การประเมินองค์กรครั้งนั้นไม่ได้ข้อมูลที่ตรงกับสภาพความเป็นจริง มีการตกแต่งข้อมูลหรือจัดฉากเพื่อหวังให้บรรลุผลทางการค้าได้ ทั้งที่การตรวจประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญจะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงได้มาก

.

การตรวจประเมินองค์กรด้วยตนเอง (Self Assessment) จะคล้ายกับการประชุมทบทวนโดยผู้บริหารซึ่งองค์กรทั่วไปคุ้นเคยดี แต่ส่วนใหญ่การประชุมทบทวนโดยผู้บริหารมักมุ่งเน้นที่ผลประกอบการ และการแก้ไขปัญหาที่พบจากการผลิต การประชุมดังกล่าวอาจทบทวนได้ไม่ครอบคลุมประเด็นที่ควรพิจารณาทบทวนทั้งหมด                   

.

โดยอาจไม่ได้พิจารณาถึงรายละเอียดของแต่ละประเด็นอย่างจริงจังเพียงพอ และอาจไม่มีการวิเคราะห์เปรียบเทียบว่าสิ่งที่ดำเนินการอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดีและเป็นจุดแข็งขององค์กรแล้ว หรือมีสิ่งใดที่องค์กรขาดไป หรืออาจมีอยู่แต่ยังไม่สมบูรณ์

.

ในที่นี้ จะกล่าวถึงการประเมินองค์กรด้วยตนเอง (Self Assessment) โดยใช้กรอบของเกณฑ์ของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ครอบคลุมการบริหารจัดการองค์กรให้ไปสู่ความเป็นเลิศระดับโลก (World Class Excellence)

.

เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติก็เช่นเดียวกับเกณฑ์ที่ใช้เทียบสำหรับการตรวจสุขภาพขององค์กร เพื่อให้ทราบว่าองค์กรของเราอยู่ในระดับที่แข็งแรงดีอยู่แล้ว หรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาเยียวยาในด้านใด เนื่องจากแต่ละเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นได้มาจากหลาย ๆ องค์กรที่มีสุขภาพขององค์กรเป็นเลิศในระดับโลก

.

เมื่อตรวจพบว่าเรื่องใดที่ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับเกณฑ์ องค์กรจะได้นำไปปรับปรุงได้อย่างตรงประเด็นและถูกแนวทาง ในการตรวจสุขภาพขององค์กรนี้ องค์กรอาจพบเรื่องที่ยังควรได้รับการปรับปรุงมากกว่า 1 ประเด็น ดังนั้นจึงมีการวางระบบการให้คะแนนไว้เพื่อให้สะดวกต่อการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญในการวางแผนปรับปรุง

.
เหตุผลความจำเป็นของการประเมินองค์กรด้วยตนเอง

การที่ประเทศไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ในเมื่อประเทศคู่ค้าคู่แข่งขันคือประเทศจีน ซึ่งได้มีการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตสินค้านานาชนิดออกสู่ตลาดโลก ด้วยความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ทั้งด้านความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในประเทศ ต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่า และความรวดเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้เท่าทันกับคู่ค้าอื่น ๆ 

.

หากองค์กรทั้งด้านอุตสาหกรรมการผลิตและบริการของไทยไม่เพิ่มพูนศักยภาพของตนเองให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ให้มีคุณภาพที่เป็นที่ต้องการของตลาด ให้มีความแปลกใหม่จูงใจผู้บริโภค ให้เกิดนวัตกรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ องค์กรเหล่านั้นย่อมไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้

.

การแสวงหาโอกาสปรับปรุงเพื่อให้การปรับปรุงที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างถูกทิศทางและรวดเร็ว ทางหนึ่งทำได้โดยการประเมินองค์กรด้วยตนเองโดยเทียบกับเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรได้ทบทวนสิ่งที่ดำเนินอยู่ในด้านต่าง ๆ ว่าเป็นระบบที่เหมาะสมเพียงพอที่จะนำพาองค์กรไปสู่ผลการดำเนินการที่มุ่งหวังได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลหรือไม่                        

.

หากยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงพอ มีเรื่องใดบ้างที่ควรได้รับการปรับปรุง และควรปรับปรุงเรื่องใดก่อน เมื่อใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เป็นสากลในการวัดผล จะช่วยให้เปรียบเทียบกับองค์กรอื่นได้

.

หลักการและแนวคิดที่สำคัญของการประเมินองค์กรด้วยตนเอง ต้องประเมินจากข้อมูลที่มีอยู่จริงในองค์กร ไม่ใช่จากการคาดเดา การประเมินองค์กรด้วยตัวเองเป็นวิธีการวัดผลที่จะทำให้เกิดการปรับปรุงได้ตลอดเวลา สามารถประเมินได้บ่อยเท่าที่องค์กรต้องการ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์แต่ละข้อ ช่วยให้ผู้ที่สืบค้นข้อมูลเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กรอย่างกระจ่างแจ้ง

.
การประเมินองค์กรด้วยตนเองจะให้ประโยชน์ สรุปได้ดังนี้

* ได้ข้อมูลจุดแข็งและจุดอ่อน หรือโอกาสในการปรับปรุง
* ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าและบริการขององค์กรมากขึ้น
* พนักงานมีความพึงพอใจในการทำงานในองค์กรมากขึ้น
* ผลประกอบการบรรลุตามเป้าหมาย
* สังคมและชุมชนได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
* เมื่อพัฒนาปรับปรุงองค์กรถึงระดับ มีโอกาสได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ
* เป็นต้นแบบให้องค์กรอื่นสามารถพัฒนาปรับปรุงตาม
* ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น

.

ขั้นตอนในการประเมินองค์กรด้วยตนเอง

รูปที่ 1 ขั้นตอนการประเมินองค์กรด้วยตนเอง

.
ขั้นตอนที่ 1 ทำความเข้าใจเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ

ผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางขององค์กรควรศึกษาความหมายของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ กรอบการบริหารจัดการตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติอย่างละเอียด และระบุประเด็นสำคัญที่องค์กรพึงมี พึงกระทำตามเกณฑ์แต่ละหมวด แต่ละหัวข้อ แต่ละประเด็น เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติประกอบด้วย 7 หมวด แต่ละหมวดจะแบ่งเป็นหัวข้อ ซึ่งมีทั้งสิ้น 18 หัวข้อ ดังนี้

.
หมวดที่ 1 ภาวะผู้นำ (Leadership)
              1.1 ภาวะผู้นำในองค์กร
              1.2 ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความเป็นพลเมือง
.
หมวดที่ 2 การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic Planning)
              2.1 การพัฒนากลยุทธ์
              2.2 การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ
.

หมวด 3 การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด (Customer and Market Focus)
              3.1 ความรู้เกี่ยวกับลูกค้าและตลาด
              3.2 ความสัมพันธ์กับลูกค้าและความพึงพอใจของลูกค้า

.
หมวด 4 สารสนเทศและการวิเคราะห์ (Information and Analysis)
              4.1 การวัดและวิเคราะห์การดำเนินการขององค์กร
              4.2 การจัดการสารสนเทศ
.
หมวด 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล (Human Resource Focus)
              5.1 ระบบงาน
              5.2 การศึกษา การฝึกอบรม การพัฒนาพนักงาน
              5.3 ความผาสุกและความพึงพอใจของพนักงาน
.
หมวด 6 การจัดการกระบวนการ (Process Management)
              6.1 กระบวนการที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ
              6.2 กระบวนการทางธุรกิจ
              6.3 กระบวนการสนับสนุน
.

หมวด 7 ผลลัพธ์ทางธุรกิจ (Business Results)
              7.1 ผลลัพธ์ด้านการมุ่งเน้นลูกค้า
              7.2 ผลลัพธ์ด้านการเงินและการตลาด 
              7.3 ผลลัพธ์ด้านทรัพยากรบุคคล
              7.4 ผลลัพธ์ด้านประสิทธิผลขององค์กร

.

ในการศึกษารายละเอียดของเกณฑ์ ผู้บริหารทั้งระดับสูงและระดับกลางขององค์กรควรทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าแต่ละประเด็นหมายความว่าอย่างไร ต้องพิจารณาถึงเรื่องใดบ้าง ต้องทำอะไร ควรศึกษาทุกเกณฑ์ และทุกคนเข้าใจความหมายได้ตรงกัน ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงความเชื่อมโยงของระบบได้อย่างชัดเจน

.
ตัวอย่างเช่น 

เกณฑ์หมวดที่ 1 ภาวะผู้นำ ประกอบด้วย ข้อที่ 1.1 ระบุภาวะผู้นำในองค์กร และข้อที่ 1.2 ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความเป็นพลเมือง ในข้อที่ 1.1 ประกอบด้วยประเด็นย่อย 2 ประเด็น คือ การกำหนดทิศทางขององค์กรโดยผู้นำระดับสูง และการทบทวนผลการดำเนินการขององค์กรในการกำหนดทิศทางขององค์กรโดยผู้นำระดับสูง จะต้องมีการกำหนดค่านิยม ทิศทางขององค์กรในระยะสั้นและทิศทางขององค์กรในระยะยาว และความคาดหวังในผลการดำเนินการขององค์กร

.

โดยนำข้อมูลของความคาดหวังของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ มาพิจารณาอย่างมีความสมดุล จากนั้นถ่ายทอดให้เกิดการนำไปปฏิบัติ ทั้งนี้ต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเป็นไปตามค่านิยม และทิศทางที่กำหนดไว้ อาจแสดงได้ดังรูปที่ 2

.

รูปที่ 2 การกำหนดทิศทางขององค์กรโดยผู้นำระดับสูง (เกณฑ์ข้อ 1.1 ก)

.

เมื่อจะพิจารณาความคาดหวังและคุณค่าขององค์กรต่อลูกค้า จะต้องมีกระบวนการในการหาความรู้เกี่ยวกับลูกค้าและตลาดตามข้อ 3.1 และค่านิยม ทิศทาง และความคาดหวังในผลการดำเนินการจะสัมพันธ์กับการกำหนดกลยุทธ์ตามข้อ 2 เป็นต้น

.
ขั้นตอนที่ 2 กำหนดกลุ่มผู้ทำหน้าที่ประเมิน

เมื่อศึกษาทำความเข้าใจเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติทั้ง 7 เกณฑ์แล้ว องค์กรควรจัดตั้งกลุ่มผู้ที่จะทำหน้าที่ในการประเมินศักยภาพขององค์กรตามเกณฑ์แต่ละข้อ โดยมีผู้บริหารระดับสูงให้การสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการสื่อข้อมูลอย่างเหมาะสม ครบถ้วน และสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มเป็นผู้บริหารในแต่ละด้านซึ่งรู้ข้อมูลการดำเนินงาน และผลลัพธ์ของการดำเนินงานด้านนั้น ๆ 

.

หรือสามารถสั่งการให้เกิดการรวบรวมข้อมูลได้ และได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งในด้านเวลา และอื่น ๆ บางเกณฑ์อาจมีการมอบหมายให้ 1-2 คนรับผิดชอบ หรือบางคนอาจรับผิดชอบ 1-2 เกณฑ์  หรืออาจประเมินโดยผู้ประเมินผู้บริหารระดับสูงเพียงท่านเดียว ทั้งนี้ แล้วแต่ความเหมะสมของแต่ละองค์กร

.
ขั้นตอนที่ 3 กำหนดแผนการประเมิน

กลุ่มผู้ทำหน้าที่ประเมินควรกำหนดแผนร่วมกันว่าจะประเมินเกณฑ์ข้อใด เมื่อไหร่จะมีการนัดหมายเพื่อประชุมอภิปรายบ้างหรือไม่ เมื่อไร ด้วยหัวข้อใด เพื่อให้สามารถประมวลผลได้ทันช่วงเวลาที่ต้องการเช่น บริษัทมีรอบการเสนอแผนงานขออนุมัติงบประมาณประจำปีภายในเดือนตุลาคม แต่ละหน่วยงานต้องใช้เวลาในการทำแผนงานอย่างน้อย 1 เดือน

.

ดังนั้นต้องได้ผลสรุปจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงอย่างช้าเดือนสิงหาคม หากเริ่มการประเมินต้นเดือนกรกฎาคม จะมีเวลาในการทบทวน รวบรวมหลักฐานข้อมูลการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อประเมินศักยภาพขององค์กรถึง 2 เดือน แต่หากเริ่มการประเมินต้นเดือนสิงหาคม กลุ่มผู้ทำหน้าที่ประเมินต้องเร่งประเมินให้เสร็จใน 1 เดือน 

.
ตารางที่ 1 แสดงแผนการประเมินองค์กรด้วยตนเอง           

.
ขั้นตอนที่ 4 ประเมินตามแผน

ผู้ประเมินแต่ละคนรวบรวมข้อมูลในประเด็นที่ตนเองได้รับมอบหมาย โดยทบทวนเทียบกับเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติตามที่ได้ศึกษา และประเมินว่าศักยภาพขององค์กรในประเด็นนั้น ๆ ควรได้รับคะแนนเท่าใด โดยอาศัยแนวทางประเมินองค์กรด้วยตนเอง ยกตัวอย่างเช่น

.

1.1 ภาวะผู้นำในองค์กร ก. การกำหนดทิศทางขององค์กรโดยผู้นำระดับสูง

.
หมายเหตุ: คะแนนเฉลี่ยข้อ 1.1ก มาจากคะแนนที่ได้ในแต่ละประเด็น หารด้วยจำนวนประเด็นในข้อนั้น
= (3+3+2+2+2+1+2+2+2+2)/10 = 2.1
.
1.2 ภาวะผู้นำในองค์กร ข. การทบทวนผลการดำเนินการขององค์กร

.
หมายเหตุ: คะแนนเฉลี่ยข้อ 1.1ข มาจากคะแนนที่ได้ในแต่ละประเด็น หารด้วยจำนวนประเด็นในข้อนั้น
= (3+3+2+2+1+2+2+3+1)/9 = 2.1
.
* คะแนนเฉลี่ยสำหรับข้อ 1.1 ภาวะผู้นำในองค์กร (1.1ก + 1.1ข)/2 = (2.1 + 2.1) = 2.1
.
ผู้ประเมินพิจารณาเกณฑ์ประเมินแต่ละข้อตามแนวทาง

ระดับคะแนน 1 หมายถึง ไม่มีการวางแผน และไม่มีการปฏิบัติเลย
ระดับคะแนน 2 หมายถึง เริ่มมีการวางแผนดำเนินการ และแทบจะยังไม่มีการนำไปปฏิบัติ
ระดับคะแนน 3 หมายถึง มีแผนงานที่ชัดเจน และเริ่มดำเนินการในบางส่วนขององค์กร
ระดับคะแนน 4 หมายถึง มีกระบวนการวางแผนอย่างเป็นระบบ และดำเนินการเกือบทั่วทั้งองค์กร
ระดับคะแนน 5 หมายถึง มีกระบวนการวางแผนอย่างเป็นระบบ และดำเนินการทั่วทั้งองค์กรอย่างต่อเนื่อง

.

คำว่า วางแผน ในที่นี้หมายถึงการวางกรอบ แนวทาง ระบบ หรือเขียนเป็นระเบียบ วิธีปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแบบทางการหรือไม่เป็นทางการ เช่น เกณฑ์ประเมินข้อ 1 การกำหนดทิศทางขององค์กรระยะสั้น

.

1. ถ้าไม่มีการระบุใด ๆ เกี่ยวกับวิธีการกำหนดทิศทางระยะสั้น ว่าใครจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งทิศทางระยะสั้น และเมื่อไร โดยอาจมีทิศทางระยะสั้นที่ระบุไว้ แต่ไม่มีที่มาว่าเหตุใดจึงได้ทิศทางระยะสั้นอย่างที่ระบุไว้ จะได้ 1 คะแนน

.

2. ถ้ามีการกำหนดไว้ว่าจะประชุมผู้อำนวยการทุกฝ่ายร่วมกับกรรมการผู้จัดการทุกเดือนเมษายนและเดือนกันยายนของทุกปีเพื่อกำหนดทิศทางระยะสั้น และมีการกำหนดทิศทางระยะสั้นออกมาแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในการกำหนดทิศทางระยะสั้นดังกล่าว จะได้ 2 คะแนน

.

3. ถ้ามีการกำหนดไว้ว่าจะประชุมผู้อำนวยการทุกฝ่ายร่วมกับกรรมการผู้จัดการทุกเดือนเมษายนและเดือนกันยายนของทุกปี โดยพิจารณาข้อมูลจากทิศทางระยะยาวขององค์กร ความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น ผู้ส่งมอบ คู่ค้า และชุมชน มีการระบุถึงวิธีการที่ชัดเจนว่าจะนำข้อมูลที่ต้องการเหล่านี้มาใช้เพื่อกำหนดทิศทางระยะสั้นอย่างไรให้สอดคล้องกับทิศทางระยะยาว     

.

แต่วิธีการที่กำหนดไว้มีการปฏิบัติบ้างเพียงบางส่วน (เป็นส่วนใหญ่ที่ไม่ปฏิบัติตามที่กำหนด) เช่น ข้อมูลที่รวบรวมมาจากบางส่วนที่กำหนดว่าจะนำมาพิจารณา แต่กลับไม่ได้รวบรวมไว้หรือไม่ได้นำมาใช้ประกอบการพิจารณา สิ่งที่ต้องทำทุกฝ่ายแต่มีการทำเพียงบางฝ่าย ทำบางช่วงเวลา ไม่สม่ำเสมอ หรือปฏิบัติตามระบบอย่างไม่มีประสิทธิผล จะได้ 3 คะแนน

.

4. ถ้ามีการกำหนดไว้ว่าจะประชุมผู้อำนวยการทุกฝ่ายร่วมกับกรรมการผู้จัดการทุกเดือนเมษายนและเดือนกันยายนของทุกปี โดยพิจารณาข้อมูลจากทิศทางระยะยาวขององค์กร ความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น ผู้ส่งมอบ คู่ค้า และชุมชน มีการระบุถึงวิธีการที่ชัดเจนว่าจะนำข้อมูลที่ต้องการเหล่านี้มาใช้เพื่อกำหนดทิศทางระยะสั้นอย่างไรให้สอดคล้องกับทิศทางระยะยาว และวิธีการที่กำหนดไว้มีการปฏิบัติทั่วถึง หรือเกือบทั่วถึงทั้งองค์กร จะได้ 4 คะแนน

.

5. ถ้าทำได้ดีอย่างข้อ 4 และมีการประสานความเปลี่ยนแปลง มีการนำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มาใช้ในการกำหนดทิศทางระยะสั้น เช่น เมื่อได้ข้อมูลมาว่าชุมชนโดยรอบเดือดร้อนเรื่องน้ำเสียในคลองสาธารณะมีกลิ่นเน่าเหม็น องค์กรอาจทบทวนทิศทางระยะสั้นที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน และปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มเติมให้สอดรับกับความกังวลใจของชุมชน เพื่อให้ชุมชนมั่นใจว่าองค์กร              

.

ไม่ใช่ผู้หนึ่งที่ก่อให้เกิดน้ำเสียนั้น นั่นคือการมีกระบวนการที่จะกำหนดและทบทวนทิศทางระยะสั้นชัดเจน กำหนดทิศทางระยะสั้นตามกระบวนการอย่างครบถ้วน ทั่วถึง สม่ำเสมอ โดยกระบวนการดังกล่าวเอื้อให้มีการปรับเปลี่ยนคล่องตัวตามสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไป จะได้ 5 คะแนน

.

บางครั้ง องค์กรมีการมอบหมายให้หลายคนประเมินประเด็นเดียวกันแล้วนำคะแนนที่ได้มาเปรียบเทียบกัน หากมีการให้คะแนนที่แตกต่างกัน ควรให้มีการอภิปรายกันว่า เหตุผลหรือข้อมูลอะไรที่ทำให้คะแนนเป็นไปตามนั้น และร่วมกันหาข้อสรุปว่าประเด็นนี้สมควรเป็นคะแนนเท่าไร

.

การสรุปคะแนนร่วมกันควรเป็นไปด้วยเหตุผลและหลักฐาน ไม่ใช่การตกลงยินยอมกันเพราะความเหนื่อยล้า หรือเฉลี่ยคะแนนออกมาโดยไม่มีการชี้แจงเหตุผลและแสดงหลักฐาน

.

ดังนั้น ในการอภิปรายควรควบคุมให้เป็นการอภิปรายกันถึงหัวข้อเรื่องสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ ไม่ใช่การอภิปรายถึงวิธีการที่จะทำให้สำเร็จ การอ้างอิงไปที่แต่ละหัวข้อของเกณฑ์ช่วยให้ได้ข้อมูลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนและการยอมรับของผู้บริหาร จะยังไม่มีการกำหนดทางแก้ไข และไม่มีการตัดสินผิดถูกในขั้นนี้           

.

จากนั้นสรุปลงมติเห็นชอบลงคะแนนในหัวข้อนั้น และบันทึกจุดแข็งและโอกาสในการปรับปรุงที่ได้จากการประชุม ทีมผู้บริหารจะปิดการอภิปรายต่อเมื่อได้ข้อตกลงในเรื่องสิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุง และมีการให้คำมั่นที่จะสนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลง     

.

คะแนนที่ได้รับจากแต่ละข้อไม่สำคัญเท่ากับการได้ทบทวนถึงสิ่งที่องค์กรได้ดำเนินการไป และได้รับข้อมูลที่เป็นจริงมาวิเคราะห์ เพื่อการตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ในวาระต่อไป

.
ข้อพึงปฏิบัติสำหรับการประเมินองค์กรด้วยตนเอง ได้แก่

* ประเมินสิ่งที่องค์กรได้วางระบบไว้ และปฏิบัติไปแล้ว (อดีตจนถึงปัจจุบัน ณ วันที่ทำการประเมินองค์กร) ไม่ใช่สิ่งที่องค์กรตั้งใจจะทำในอนาคต

.

* ประเมินว่าได้มีอะไร ทำอะไร อย่างไร เป็นจุดแข็ง หรือมีโอกาสปรับปรุงเรื่องอะไร แต่จะยังไม่มีการระบุถึงวิธีการแก้ไขในขั้นตอนการประเมินนี้
* ไม่มีการกล่าวโทษกันว่า เพราะใครทำ หรือไม่ทำอะไร จึงทำให้องค์กรขาดสิ่งนั้น ๆ หรือได้คะแนนน้อย

.

* ทุกคนมีความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการประเมินตรงกัน ไม่เบี่ยงเบน
* อาจแบ่งการอภิปรายเป็นครั้งละหมวด ครั้งละหัวข้อ เพื่อไม่ให้เกิดความล้าจนเกินไป และทำให้การประเมินอย่างทำให้ผ่าน ๆ ไป โดยไม่มีรายละเอียด และไม่เกิดประโยชน์

.
เมื่อดำเนินการประเมินครบทุกหัวข้อแล้ว ให้นำคะแนนเฉลี่ยในทุกหัวข้อมาสรุปในตารางรวบรวมข้อมูลการประเมินองค์กรด้วยตนเอง
.

เกณฑ์ประเมิน

ระดับคะแนน

1 2 3 4 5
หมวดที่ 1 ภาวะผู้นำ
1.1 ภาวะผู้นำในองค์กร
. 2.1 . . .

1.2 ความรับผิดชอบต่อสาธารณะและความเป็นพลเมือง

. . 3 . .
หมวดที่ 2 การวางแผนเชิงกลยุทธ์
2.1 การพัฒนากลยุทธ์
. 2.1 . . .

2.2 การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ

. . 3 . .
หมวดที่ 3 การมุ่งเน้นลูกค้าและตลาด
3.1 ความรู้เกี่ยวกับลูกค้าและตลาด
. .

3.1

. .
3.2 ความสัมพันธ์กับลูกค้าและความพึงพอใจของลูกค้า .

2.3

. . .

หมวดที่ 4 สารสนเทศและการวิเคราะห์
4.1 การวัดวิเคราะห์การดำเนินการขององค์กร

.2.1 . . .

4.2 การจัดการสารสนเทศ

.

2.1

. . .

หมวดที่ 5 การมุ่งเน้นทรัพยากรบุคคล
5.1 ระบบงาน

. .

3.1

. .
5.2 การศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนาพนักงาน . . 3.2 . .
5.3 ความผาสุกและความพึงพอใจของพนักงาน . . 3.3 . .
หมวดที่ 6 การจัดการกระบวนการ
6.1 กระบวนการที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ
. .

3.2

. .
6.2 กระบวนการทางธุรกิจ . . 3.1 . .
6.3 กระบวนการสนับสนุน . . 3 . .
หมวดที่ 7 ผลลัพธ์ทางธุรกิจ
7.1 ผลลัพธ์ด้านการมุ่งเน้นลูกค้า
. .

3.3

. .
7.2 ผลลัพธ์ด้านการเงินและการตลาด . . 3.4 . .
7.3 ผลลัพธ์ด้านทรัพยากรบุคคล . . 3.4 . .
7.4 ผลลัพธ์ด้านประสิทธิผลขององค์กร . . 3.4 . .
.
เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วสามารถนำคะแนนมาสร้างเป็นกราฟได้ 2 ลักษณะคือ
1. กราฟเส้น ซึ่งแสดงคะแนนที่ได้ในแต่ละหัวข้อ

.
2.  กราฟเรดาร์

.
ขั้นตอนที่ 5 สรุปจุดอ่อนและจุดแข็งในแต่ละประเด็น

ภายหลังจากได้คะแนนสรุปของแต่ละข้อ และสรุปว่าประเด็นใดเป็นจุดอ่อนหรือโอกาสในการปรับปรุงขององค์กร และประเด็นใดเป็นจุดแข็งที่ควรดึงมาเสริมความเข้มแข็งขององค์กร เช่น  

.

.
ขั้นตอนที่ 6 วิเคราะห์สาเหตุของจุดอ่อนแต่ละประเด็น

วิเคราะห์สาเหตุของจุดอ่อนแต่ละประเด็นว่าเนื่องจากอะไร เช่น การไม่มีการวบรวมข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจากลูกค้า คู่แข่ง และชุมชนมาใช้ในการกำหนดทิศทางระยะสั้นและระยะยาวนั้น เนื่องมาจากสาเหตุอะไรได้บ้าง เมื่อระดมสมองร่วมกับผู้รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องและได้สาเหตุของข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจากลูกค้า คู่แข่ง และชุมชนแล้ว

.

ควรระบุสาเหตุทั้งหมดไว้ แล้วกรองว่าประเด็นใดสมควรได้รับการแก้ไขก่อน โดยอาจใช้เกณฑ์ความยากง่ายในการปรับปรุงหรือความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ คือ หากไม่แก้ไขจะส่งผลกระทบในเชิงลบมาก หากแก้ไขได้แล้วจะส่งผลดีเป็นอย่างมาก เช่น    

.

.

เมื่อพิจารณาจากทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่หรือปัจจัยที่แวดล้อมแล้ว องค์กรไม่สามารถแก้ไขทุกประเด็นและทุกสาเหตุของปัญหาหรือปรับปรุงทุกโอกาสที่เกิดขึ้นแก่องค์กรได้ องค์กรอาจเลือกสิ่งที่ปรับปรุงง่ายแต่ให้ผลกระทบมากมาดำเนินการก่อนในอันดับแรกแล้วจึงดำเนินการกับประเด็นที่เหลือในโอกาสต่อไป

.
ขั้นตอนที่ 7 จัดทำแผนปรับปรุงแก้ไขตามลำดับความสำคัญ

จัดทำแผนปรับปรุงแก้ไขตามลำดับความสำคัญและเวลาที่เหมาะสม โดยแผนปรับปรุงแก้ไขที่จัดทำขึ้นควรตรงตามสาเหตุของปัญหา มีการกำหนดตัววัดและเป้าหมายที่ชัดเจน ตลอดจนพิจารณาถึงลำดับขั้นตอนที่สมเหตุสมผลกับสภาพปัญหา ปัจจัยแวดล้อม และทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ ทั้งด้านกำลังคนในแต่ละหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เวลาที่ต้องใช้ในแต่ละขั้นตอนสอดคล้องกับความเร่งด่วนในการแก้ไข วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องนำมาใช้เพื่อปรับปรุงงาน สถานที่ ตลอดจนงบประมาณที่สามารถนำมาใช้เพื่อปรับปรุง           

.

จุดที่ควรคำนึงถึงประการหนึ่งคือ เมื่อมีการกระจายงานไปยังผู้รับผิดชอบเพื่อจัดทำแผนงานแต่ละคนหรือแต่ละกลุ่มแล้ว ควรมีการนำแผนทั้งหมดมาประชุมร่วมกันเพื่อปรับเทียบให้สอดประสานกัน เนื่องจากเมื่อกำหนดขั้นตอนในแผนงานออกมาโดยแต่ละคนหรือกลุ่มคนแล้วอาจมีความต้องการต้องใช้กลุ่มคนที่รับผิดชอบงานกลุ่มเดียวกันในบางประเด็น

.

เช่น ใช้หน่วยงานซ่อมบำรุงในการปรับปรุงสถานที่ในแผนที่ 1 และแผนที่ 2  ซึ่งจะไม่สามารถกระจายคนเพื่อทำงานได้ ในช่วงเวลาที่ต้องการได้พร้อมกันหรือมีการออกแบบระบบงานที่จะปรับปรุงขัดแย้งกัน หรือมีงานบางส่วนที่สามารถปรับปรุงเพียงครั้งเดียวแต่ให้ผลในการแก้ไขได้หลายปัญหา ตัวอย่างแผนปรับปรุงจากการประเมินองค์กรด้วยตนเอง ดังแสดงในตารางที่ 2

.

ตารางที่ 2
บริษัท รุ่งโรจน์พลาสติก จำกัด
แผนปรับปรุงจากการประเมินองค์กรด้วยตนเอง

.

ประเด็นปรับปรุงเรื่อง  : การปรับปรุงฐานข้อมูลปัจจุบัน
เป้าหมาย                  :  มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพื่อใช้ในการกำหนดทิศทางระยะสั้นและระยะยาว
ตัวชี้วัดผลสำเร็จ        : มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันสำหรับกระบวนการวางแผนในเดือนมีนาคม 2546

.

อนุมัติโดย นายรุ่งเรือง ก้าวไกล วันที่ 10 กันยายน 2545
.
ขั้นตอนที่ 8 แก้ไขปรับปรุงตามแผนที่กำหนดไว้

หลังจากได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารให้ดำเนินการตามแผนปรับปรุง ผู้รับผิดชอบและผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไขปรับปรุงตามแผนที่กำหนดไว้ โดยมีการติดตามผลการปรับปรุงในแต่ละขั้นตอนตามความเหมาะสม ทั้งนี้อาจมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนงานตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป หรือเมื่อพบว่าขั้นตอนที่กำหนดไว้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างที่วางแผนไว้

.

เมื่อปรับปรุงแล้วควรมีการทบทวนหรือประเมินซ้ำว่าการปรับปรุงส่งผลต่อความมีประสิทธิผลขององค์กรมากน้อยเพียงใด และมีประเด็นใดบ้างที่ควรนำมาดำเนินการต่อไป         

.
ที่มาของการประเมินองค์กรด้วยตนเอง

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award: TQA) พัฒนามาจากแนวทางของรางวัล Malcolm Baldrige National Quality Award (MBNQA) ซึ่งเป็นรางวัลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ มร. Malcolm Baldrige อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงปี 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐกำลังมีปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ล้วนมีคุณภาพไม่ดีพอ จึงถูกสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นและยุโรปเข้าไปตีตลาด

.

มร. Malcolm Baldrige จึงได้ระดมสมองจากผู้บริหาร และนักวิชาการระดับแนวหน้าของประเทศให้ช่วยกันกอบกู้สถานการณ์ สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่องค์กรธุรกิจของสหรัฐ ตลอดจนสร้าง "Master Plan" ในการพัฒนาเสริมสร้างประสิทธิภาพความเป็นเลิศขององค์กรธุรกิจของสหรัฐ ว่าควรประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างไรบ้าง และได้จัดให้มีรางวัลคุณภาพแห่งชาติขึ้นเพื่อประกาศเกียรติคุณและกระตุ้นให้องค์กรพัฒนาประสิทธิภาพ คุณภาพของสินค้าและบริการ จนเป็นเลิศถึงระดับมาตรฐานโลก

.

หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐจัดตั้งรางวัลคุณภาพแห่งชาตินี้ขึ้นในปี 1987 ส่งผลให้ประเทศสหรัฐอเมริกามีเศรษฐกิจที่มั่นคง กลายเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในตลาดโลกในเวลาต่อมา และได้เป็นแนวทางให้ประเทศต่าง ๆ ประยุกต์ไปพัฒนาเป็นเกณฑ์รางวัลคุณภาพของชาติตนมากกว่า 46 ประเทศ อาทิเช่น

.

.

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับในการนำแนวทางเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ มากระตุ้นให้องค์กรทุกระดับหันมาใส่ใจในการพัฒนาคุณภาพผลผลิตหรือบริการของตน ตลอดจนมุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในทุก ๆ ด้าน รางวัลคุณภาพแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) และเริ่มประกาศรับสมัคร เพื่อขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี 2545

.
ประโยชน์ของรางวัลคุณภาพแห่งชาติกับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ

*  ผู้นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปใช้ในการประเมินองค์กรตนเอง สามารถพบโอกาส ในการปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน
*  ผู้สมัครเข้ารับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สามารถได้รับรางวัล หรือได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าประสบความสำเร็จในระดับมาตรฐานโลก
*  ผู้สมัครเข้ารับรางวัลแต่ยังไม่ถึงระดับที่ได้รับรางวัล จะได้รับข้อมูลป้อนกลับจากผู้ตรวจประเมิน เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงองค์กรให้ถึงระดับความเป็นเลิศต่อไป

.

*  องค์กรอื่น ๆ ได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศจากองค์กรที่ได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ
*  ผู้ตรวจประเมินมีโอกาสเรียนรู้อย่างลึกซึ้งถึงแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นเลิศและได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ตรวจประเมินของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ตลอดจนนำความรู้และทักษะในการตรวจประเมินไปใช้พัฒนาองค์กรของตนเอง
* ประเทศไทยได้แสดงให้นานาชาติเห็นถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานความเป็นเลิศในการบริหารจัดการ

 .

การประเมินองค์กรด้วยตนเองเป็นก้าวแรกของการพิจารณาการบริหารจัดการขององค์กรว่ามีความพร้อมที่จะได้รับเกียรติคุณความเป็นเลิศระดับมาตรฐานโลกแล้วหรือยัง จากมุมมองและดุลยพินิจของบุคลากรขององค์กรเอง เมื่อพบข้อควรปรับปรุงใด ควรนำไปปรับปรุงอย่างเป็นระบบ

.

หลังจากการปรับปรุงแก้ไขตามแผนแล้ว ควรมีการประเมินซ้ำว่าองค์กรมีการยกระดับขึ้นอย่างที่ต้องการหรือไม่ ยังมีเรื่องใดควรได้รับการปรับปรุงต่อไปอีก เมื่อองค์กรสมัครขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ องค์กรจะได้รับการตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมิน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าในธุรกิจต่าง ๆ

.

หากองค์กรมีระบบการบริหารจัดการตามเกณฑ์ในระดับมาตรฐานโลก องค์กรจะได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ หากองค์กรยังมีการบริหารจัดการไม่ถึงระดับที่จะได้รับรางวัล องค์กรจะได้รับข้อมูลป้อนกลับถึงประเด็นที่เป็นจุดแข็งและจุดที่เป็นโอกาสปรับปรุงเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรต่อไป

รูปที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างการประเมินองค์กรด้วยตนเองกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ

.
ข้อมูลอ้างอิง
* กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม             

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด