เนื้อหาวันที่ : 2009-10-05 19:59:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8677 views

Lean เป็นมากกว่า JIT

บางคนคิดว่า JIT คือ ระบบการทำงานหรือระบบการผลิต ในมุมมองของผู้เขียน JIT ไม่ใช่ระบบ แต่เป็นคุณลักษณะเชิงลอจิสติกส์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบการดำเนินงานทั่วไปคือ ถูกเวลา ถูกสถานที่ ถูกจำนวน และคุณภาพ การที่จะทำให้ระบบการผลิตหรือระบบการทำงานมีลักษณะเป็น JIT นั้น ไม่ได้มีวิธีการเดียว แต่อาจจะมีหลายวิธีการ ขึ้นอยู่กับลักษณะของผลิตภัณฑ์และการบริการ และที่สำคัญคือ อยู่ที่ความต้องการของลูกค้าด้วย เมื่อพิจารณาแล้วระบบ JIT ที่กล่าวถึงกันก็คือ ระบบลีนดี ๆ นี่เอง แล้วทำไมจึงจะต้องมีชื่อหลาย ๆ ชื่อ ทำให้การสื่อความหมายไม่ตรงกัน

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

.

.

ในหลาย ๆ โอกาสที่ผมได้พบปะพูดคุยกับหลาย ๆ ท่านในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการการผลิต และได้มีประเด็นในการคุยเกี่ยวโยงมาถึงเรื่อง ลีน (Lean) และบ่อยครั้งที่หลายท่านคิดว่า Lean คือ JIT ซึ่งผมเองยังคิดต่อไปว่า แล้ว JIT ของท่านเหล่านั้นคืออะไร และ JIT ที่หลายบริษัทหรืออุตสาหกรรมทั้งหลายเหมือนกันหรือไม่ บางท่านก็คิดว่าการที่มีสินค้าคงคลังเป็นศูนย์หรือของเสียเป็นศูนย์ก็คือ การเป็น JIT แล้ว บางท่านยิ่งไปกันใหญ่ คิดว่าการมี Kanban ก็พอเพียงแล้ว เป็น JIT ที่จริงแล้ว JIT คืออะไร

.

บางคนคิดว่า JIT คือ ระบบการทำงานหรือระบบการผลิต ในมุมมองของผมนั้น JIT ไม่ใช่ระบบ แต่เป็นคุณลักษณะเชิงลอจิสติกส์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของระบบการดำเนินงานทั่วไปคือ ถูกเวลา ถูกสถานที่ ถูกจำนวน และคุณภาพ การที่จะทำให้ระบบการผลิตหรือระบบการทำงานมีลักษณะเป็น JIT นั้น ไม่ได้มีวิธีการเดียว แต่อาจจะมีหลายวิธีการ ขึ้นอยู่กับลักษณะของผลิตภัณฑ์และการบริการ และที่สำคัญคือ อยู่ที่ความต้องการของลูกค้าด้วย

.

แต่จากหนังสือและตำราทั่วไปก็พบว่ามีหลายเล่มที่พยายามจะสร้างระบบ JIT ให้เกิดขึ้น แต่เมื่อพิจารณาแล้วระบบ JIT ที่กล่าวถึงกันก็คือ ระบบลีนดี ๆ นี่เอง แล้วทำไมจึงจะต้องมีชื่อหลาย ๆ ชื่อ ทำให้การสื่อความหมายไม่ตรงกัน ผมคิดว่าการตั้งชื่อ การสื่อความหมาย วิธีการคิดและการดำเนินงานของการผลิตแบบลีนจะเป็นมาตรฐานกว่า และแพร่หลายออกไปอย่างเป็นระบบทำให้ผู้ที่ใช้สามารถติดต่อและสื่อสารไปในทิศทางเดียวกันได้

.
ทันเวลาพอดี (JIT) คือ การจัดลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน

ความหมายเบื้องต้นของ JIT คือ การจัดการลอจิสติกส์ของทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหมายความถึง การจัดการการไหลของทรัพยากรของ วัตถุดิบ เครื่องจักร คน วิธีการ เงิน และสารสนเทศที่จะต้องมาพร้อมกันในเวลาที่เหมาะสม ไม่มากเกินความจำเป็นและไม่น้อยเกินไป  

.

ลักษณะของความทันเวลาพอดีนี้ยังหมายถึงการมาถึงพร้อมกันอย่างทันเวลาพอดีของทรัพยากรที่จะถูกใช้ในกระบวนการสร้างคุณค่า (Value Added Process) ให้กับลูกค้าตามจังหวะความต้องการของลูกค้า ในความเป็นจริงของการจัดการในธุรกิจนั้น ทุกคนมีการจัดการลอจิสติกส์ และการจัดการโซ่อุปทานอยู่แล้ว

.

ในที่สุดแล้วทุกคนพยายามที่จะทำให้ระบบของตัวเองมีสภาพทันเวลาพอดี ทั้ง ๆ ที่บุคคลเหล่านั้นกำลังพูดถึงวิธีการที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาไม่รู้เลยว่าวิธีการที่แตกต่างกันนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นเรื่องเดียวกัน ถ้าพวกเขาได้มีความเข้าใจในตัวตนและความสัมพันธ์ของวิธีการเหล่านี้แล้ว คงจะไม่มีคำถามว่าทำไมต้องมีวิธีการหรือเทคนิคใหม่เข้ามาใช้ในองค์กรอีก หรือมีคำถามที่ว่า แล้ววิธีการที่เคยนำมาใช้แล้วจะยังคงใช้ได้อยู่อีกหรือไม่

.
วัตถุดิบแบบทันเวลาพอดี

หลักการง่าย ๆ คือ การที่ไม่มีของหรือวัตถุดิบ แล้วจะทำอย่างไร ? หลักของ JIT ตรงนี้กว้างไกลครอบคลุมกันทั้งองค์กรธุรกิจและขยายผลออกไปถึงองค์กรอื่น ๆ ในโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์ เมื่อมองถึงการไหลของวัตถุดิบแล้วต้องมองการไหลให้ตลอดจากต้นชนปลาย (End to End) ซึ่งการมองเช่นนี้จะทำให้ต้องควบคุมการไหลทั้งภายในองค์กร คือ การไหลจากการจัดส่ง ผ่านกระบวนการผลิต กระบวนการจัดส่ง ไปจนถึงมือลูกค้า

.

และการมองการไหลระหว่างองค์กรจะต้องมองถึงการไหลจากผู้จัดส่งวัตถุดิบทั้งหลายมายังกระบวนการจัดซื้อขององค์กรด้วย ดังนั้น JIT คงไม่ง่ายอย่างที่คิดเสียแล้ว เพราะกระบวนการไหลของวัตถุดิบดังกล่าวเป็นเรื่องของการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานโดยตรง เพราะว่าเป็นหน้าที่หลักในการจัดการการไหลของวัตถุดิบจนไปถึงมือลูกค้า  

.

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วผู้ที่สร้างระบบที่เรียกกันว่า JIT นั้น ที่แท้แล้วก็ต้องเป็นบุคคลที่จะต้องเชี่ยวชาญในด้านลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน หรือไม่ก็ต้องสามารถประสานงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานได้เป็นอย่างดี อีกประเด็นที่สำคัญคือ นอกจากจะมาถึงทันเวลาพอดีแล้ว ยังต้องคำนึงถึงว่าคุณค่าหรือสินค้าและบริการนั้นตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือไม่

.
คนแบบทันเวลาพอดี

การที่องค์กรจะมีคุณลักษณะแบบทันเวลาพอดีนั้น คงจะไม่ใช่แค่มีคนทำงานเพียงพอหรือมีคนสำรองไว้ไม่ขาด ประเด็นของคนไม่ได้อยู่ที่จำนวนคนเท่านั้น แต่อยู่ที่คุณค่าหรือประโยชน์ของคนนั้น เพราะว่าคนไม่ใช่เครื่องจักรหรือวัตถุดิบ ไม่อย่างนั้นแล้วคนน่าจะถูกรวมไปกับเครื่องจักรหรือวัตถุดิบไปแล้ว ที่เห็นได้ชัดก็คือ คนเป็นสิ่งมีชีวิต คนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง คนเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์     

.

แต่คนทุกคนก็ไม่เหมือนกัน คิดไม่เหมือนกัน ฝีมือในการทำงานก็ไม่เหมือนกัน ในแนวคิดของลีนนั้นคุณค่าของคนในระบบลีนไม่ใช่แค่การใช้แรงงานเท่านั้น แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์และการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมของธุรกิจซึ่งมีความแปรเปลี่ยนของความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา   

.

ดังนั้นการไหลของคนจึงไม่ใช่การจัดหาคนมาทำงานเท่านั้น คนงานเหล่านั้นจะต้องทำงานให้ได้คุณภาพตามที่กำหนด ด้วยจุดนี้คนจึงเป็นปัญหาขึ้นมาทันที เพราะว่าความชำนาญในการทำงานของแต่ละคนไม่เท่ากัน ปัญหาด้านคุณภาพจึงเกิดขึ้นได้ง่าย จะทำอย่างไรที่จะทำให้การไหลของคนงานที่เข้าออกไม่เป็นปัญหาต่อคุณภาพ หรือทำอย่างไรที่จะไม่ต้องพึ่งพาความชำนาญของแต่ละบุคคลมากนัก

.

ด้วยเหตุนี้ที่การไหลของคนจึงมีมาตรฐานที่จะต้องทำให้งานที่ออกมามีคุณภาพเหมือนกัน ดังนั้นแนวคิดของการจัดการแบบโตโยต้าหรือจะเรียกว่า Just in Time ก็ตามได้ออกแบบงานที่ทำให้เป็นมาตรฐานไม่ว่าใครก็ตามที่มาทำงานนี้ ย่อมที่จะได้คุณภาพใกล้เคียงกัน และในขณะเดียวกันเพื่อที่จะทำให้การทำงานสามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของทั้งกระบวนการทำงานและการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของลูกค้า

.

คนที่ทำงานในระบบที่มีลักษณะ JIT ที่ว่านี้จะได้รับอำนาจในการตัดสินในกระบวนการที่รับผิดชอบเพื่อป้องกันไม่เกิดความสูญเปล่าและในขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมไคเซ็น (Kaizen) ดังนั้นบทบาทของคนจึงมีมากกว่าการเป็นแรงงานในกระบวนการสร้างคุณค่า แต่เป็นแรงงานที่พร้อมจะสร้างคุณค่าอยู่ตลอดเวลาโดยไม่ต้องพึ่งพาความสามารถเฉพาะบุคคล และลักษณะงานจะต้องเป็นงานมาตรฐาน

.
เครื่องจักรแบบทันเวลาพอดี

แนวคิดของเครื่องจักรแบบทันเวลาพอดีคือ เมื่อจะใช้งานแล้วต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ไม่ใช่ว่าเมื่อจะใช้ก็เสียพอดี ถ้าเกิดเครื่องจักรขาดความพอดี อยู่ในสภาพที่ใช้งานไม่ได้ แต่องค์ประกอบอื่น ๆ มาถึงพอดีเช่นกัน กระบวนการสร้างคุณค่าจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ สินค้าคงคลังสำเร็จรูปที่มีอยู่พอดีก็ไม่พอเพียงในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ดังนั้นความหมายของเครื่องจักรทันเวลาพอดีคือ เสียตอนซ่อม ไม่ใช่เสียก่อนซ่อม หรือไม่ก็ตอนซ่อมก็ยังไม่เสีย 

.

ซึ่งหมายความว่า เครื่องจักรยังไม่ถึงเวลาจะซ่อมบำรุง แต่อย่างไรก็ตามเครื่องจักรจะต้องพร้อมใช้งานเมื่อมีความต้องการของลูกค้ามา เพราะถ้าเครื่องจักรไม่พร้อม เราคงจะไม่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการได้ การซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องจักรให้พร้อมแบบทันเวลาพอดีโดยไม่มีเครื่องจักรเหลือใช้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งในการสร้างระบบ JIT หรือ ระบบลีน    

.

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งของเครื่องจักรแบบทันเวลาพอดีคือ จะเป็นเครื่องจักรที่ส่วนมากมีขนาดย่อมไม่ใหญ่โต เพราะในระบบ JIT หรือระบบลีนจะต้องมีความยืดหยุ่นในการผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าซึ่งจะมีความหลากหลายทั้งชนิดของผลิตภัณฑ์และจำนวน ดังนั้นโครงสร้างของการผลิตจะต้องมีเครื่องจักรที่มีลักษณะขนาดย่อม สามารถเคลื่อนย้ายได้ และสามารถทำงานสำหรับหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์ได้

.
วิธีการแบบทันเวลาพอดี

การที่ทรัพยากรในกระบวนการสร้างคุณค่าที่ถูกกำหนดมาจากโซ่คุณค่ามาถึงแบบทันเวลาพอดีได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่จะต้องถูกจัดการมาก่อนถึงได้มาพบกันอย่างพอดี ตั้งแต่ซื้อมาอย่างทันเวลาพอดี ผลิตอย่างทันเวลาพอดี จัดส่งอย่างทันเวลาพอดี ลูกค้าต้องการสินค้าก็ได้รับสินค้าอย่างทันเวลาพอดีหรือทันใจ ไม่ต้องรอ ทั้งหมดนี้เป็นมุมมองที่ลูกค้ามองเข้ามาหาองค์กรที่มีความคาดหวังในการตอบสนองอย่างทันทีทันใดหรือการมีระดับการบริการสูง ลูกค้าไม่ต้องรอ   

.

ดังนั้นการสร้างระดับการบริการที่ง่ายที่สุดคือ การเก็บสินค้าคงคลังไว้ แต่จะเก็บไว้จำนวนเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการ เพราะว่าสินค้าคงคลังมีเป็นจำนวนมากเท่าใดก็ไม่ได้หมายความว่าระดับการบริการจะสูงตามไปด้วย แต่จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการความไม่แน่นอนเสียมากกว่า แต่ถ้าความต้องการของลูกค้าไม่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ สินค้าที่เหลือก็จะเป็นต้นทุนที่จะทำให้กำไรขององค์กรลดลง    

.

การจัดการสินค้าคงคลังจึงเป็นแนวคิดที่สำคัญในการสร้างสภาพความเป็น JIT ด้วยการควบคุมการไหลของทรัพยากรทั้งหมด คำว่าสินค้าคงคลังนั้นไม่ได้หมายถึงแค่เฉพาะสินค้าคงคลังสำเร็จรูปเท่านั้น แต่ยังหมายถึง วัตถุดิบคงคลัง (Raw Material Inventory) ของระหว่างกระบวนการ (Work in Process) วัสดุสิ้นเปลืองคงคลัง (Consumed Material) 

.

เวลาที่เราพูดถึง JIT เรามักจะมองแค่ในส่วนที่เป็นจุดที่เผชิญหน้ากับลูกค้าหรือการรักษาระดับบริการลูกค้า    การที่จะทำให้เกิดการบริการลูกค้าแบบ 100% และมีสินค้าคงคลังน้อยที่สุดคงไม่เกิดจากกระบวนการเดียวหรือจุดเดียว      แต่สภาพ JIT นี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะการจัดการโซ่อุปทานตลอดทั่วทั้งองค์กรและยังเชื่อมต่อไปยังผู้จัดส่งวัตถุดิบ (Suppliers) ต่าง ๆ อีก ดังนั้นสภาพ JIT นั้นควรจะเกิดขึ้นในทุกจุดทั่วทั้งองค์กรและตลอดโซ่อุปทาน

.
ข้อมูลสารสนเทศแบบทันเวลาพอดี

ในกระบวนการการจัดการทั่วไปนั้นข้อมูลมีส่วนสำคัญมากในการจัดการ เพราะถ้าข้อมูลผิด หรือไม่ทันสมัยอาจจะทำให้การตัดสินใจในการไหลวัตถุดิบผิดพลาดไปได้ ผลของการตัดสินใจผิดพลาดจะทำให้เกิดสภาพมีของขาดหรือไม่ก็ของเกิน มุมมองของข้อมูลที่ทำให้เกิดสภาพ JIT คือ การได้ข้อมูลที่ดีมีคุณภาพ  

.

ดังนั้นการได้เห็นหรือได้รับรู้ข้อมูลอย่างทั่วถึง (Visibility) ตลอดโซ่อุปทานจะทำให้ผู้ตัดสินใจในโซ่อุปทานสามารถรับรู้ถึงสภาพการไหลของทรัพยากรของโซ่อุปทานรวมทั้งข้อมูลสารสนเทศของความต้องการของลูกค้าด้วย เมื่อข้อมูลมีความพร้อมและถูกต้องแล้ว โอกาสของการไหลของคุณค่าไปยังลูกค้าได้อย่างแม่นยำแบบตรงเป้าก็ยิ่งมากขึ้น

.

ลองนึกถึงนักแม่นปีน (Sniper) ในภารกิจสุ่มยิง นอกจากความสามารถในการยิงอย่างแม่นยำแล้ว ยังต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะมีผลต่อการยิง นักแม่นปืนเหล่านี้จะต้องคำนวณหาผลกระทบขององค์ประกอบต่างเพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดโดยไม่พลาดเป้า การใช้ข้อมูลร่วมกันของหุ้นส่วนต่าง ๆ ในโซ่อุปทานจะเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้เกิดการเห็นข้อมูลอย่างทั่วถึง

.

เครื่องมือที่ช่วยให้เห็นข้อมูลอย่างทั่วถึงคือ การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ประเภท ERP (Enterprise Resource Planning) ที่แสดงสถานะภาพเชิงลอจิสติกส์ของการไหลได้อย่างเวลาจริง (Real Time) หรืออย่างทันทีทันใดจึงจะทำผู้วางแผนในโซ่อุปทานสามารถตอบสนองได้อย่างทันเวลาพอดี

.
JIT เป็นหัวใจของ Lean

JIT เป็นสภาพความพอดีของการไหลของทรัพยากร โดยมีจุดมุ่งหมายไม่ให้มีส่วนเกิน แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงการผลิตหรือจัดหามาให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงการปรับกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าให้สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ แต่การที่จะให้ระบบการผลิตหรือการไหลของคุณค่าในองค์กรมีสภาพทันเวลาพอดีได้นั้น คงจะต้องอาศัยองค์ประกอบในการจัดการการไหลในทุกมุมมอง       

.

โดยเฉพาะการไหลของข้อมูลสารสนเทศ การให้อำนาจของคนในตัดสินใจและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความเป็น JIT ของแต่ละผลิตภัณฑ์และการบริการไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์และการบริการ ด้วยเหตุนี้ความหมายและตัวตนของ JIT จึงทำให้จับต้องและเข้าใจได้ยาก แต่มีความคาดหวังในลักษณะความสมบูรณ์แบบทันเวลาพอดี    

.

หากเราจะริเริ่มในการสร้างระบบให้เป็น JIT ให้เกิดขึ้นและดำเนินไปในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจแล้ว คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายมากนัก เพราะการนิยามหรือการอธิบายสภาพ JIT ที่ผ่านมานั้น ได้พยายามเน้นไปที่ระดับกายภาพ (Physical) มากกว่าความเป็นนามธรรมของ JIT หรือในระดับแนวคิด (Thinking) ถ้าการออกแบบหรือการแก้ปัญหาเป็นการระบุไปในเชิงกายภาพแล้ว     

.

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในบริบทที่เป็นความต้องการของลูกค้าก็อาจจะทำให้ระบบการผลิตหรือกระบวนการสร้างสรรค์คุณค่าไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ (Adaptive) ทัน หรือพูดอย่างหนึ่งว่าผลลัพธ์ของการนำลีนไปใช้ปฏิบัติจะทำให้เกิดผลทางกายภาพที่มีสภาพแบบทันเวลาพอดี

.

แนวคิดแบบลีนจึงเป็นผลของการพัฒนาจากแนวคิด JIT ดั้งเดิมเพื่อที่จะทำให้แนวคิด JIT สามารถในนำไปใช้ปฏิบัติได้กับกิจกรรมธุรกิจทั่วไปอย่างมีประสิทธิภาพ แนวคิดแบบลีนจึงเป็นแบบจำลองแนวคิดที่มีองค์ประกอบที่เป็นมาตรฐานในการสื่อสารแนวคิดในการสร้างกระบวนสร้างสรรค์คุณค่าให้มีสภาพแบบทันเวลาพอดี   

.

แนวคิดแบบลีนจึงมีระดับของความเป็นสากล (Universal) ในการนำไปปฏิบัติใช้สำหรับความหลากหลายของลักษณะธุรกิจ ด้วยเหตุนี้แนวคิดแบบลีนซึ่งเป็นมากกว่า JIT จึงแพร่หลายออกไปในทุกวงการธุรกิจอย่างต่อเนื่องไม่จำกัดอยู่แค่ในกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่แพร่ขยายออกไปในทุกระบวนการของธุรกิจ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด