เนื้อหาวันที่ : 2009-10-01 21:48:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 11314 views

การจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน

เมื่อพูดถึงความเสี่ยง (Risk) เรามักจะคิดถึงความไม่แน่นอนในอนาคตต่าง ๆ ที่ทั้งที่เราคาดหวังไว้และที่เราไม่ได้คาดหวัง และเรามักจะได้ยินคำว่า "ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน" นั่นหมายความว่า สิ่งที่มันไม่แน่นอน มันจะเกิดขึ้นแน่ ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรและบ่อยครั้งแค่ไหน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็น (Probability) หรือความเป็นไปได้ (Possibility) ที่จะเกิดขึ้นด้วย ยิ่งเหตุการณ์ใดมีความน่าจะเป็นสูงเท่าไร ก็มีโอกาสที่เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นมากเท่านั้น

ดร.วิทยา สุหฤทดำรง
ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

.

.

เมื่อพูดถึงความเสี่ยง (Risk) เรามักจะคิดถึงความไม่แน่นอนในอนาคตต่าง ๆ ที่ทั้งที่เราคาดหวังไว้และที่เราไม่ได้คาดหวัง และเรามักจะได้ยินคำว่า "ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน" นั่นหมายความว่า สิ่งที่มันไม่แน่นอน มันจะเกิดขึ้นแน่ ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรและบ่อยครั้งแค่ไหน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็น (Probability) หรือความเป็นไปได้ (Possibility) ที่จะเกิดขึ้นด้วย ยิ่งเหตุการณ์ใดมีความน่าจะเป็นสูงเท่าไร ก็มีโอกาสที่เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นมากเท่านั้น  

.

แต่เมื่อไรพูดถึงความเสี่ยงแล้ว เรามักจะนึกไปถึงอะไรก็ตามที่เราไม่อยากจะให้มีเกิดขึ้นมา แต่ก็เกิดขึ้นมาจนได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วสร้างความเสียหาย เป็นอันตรายหรือสูญเสียทางเศรษฐกิจ ดังนั้นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก็จะขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็นของเหตุการณ์เหล่านั้นด้วย แล้วเราจะเข้าไปจัดการกับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร ถ้าเรื่องราวในอนาคตขึ้นอยู่กับความน่าจะเป็นในเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้ว เราจะจัดการกับอนาคตได้หรือไม่ ? และอย่างไร ? อย่างน้อยที่สุดเราจะสามารถจัดการให้ได้ผลหรือประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง และสามารถลดสิ่งที่ไม่ได้คาดหวัง หรือการลดความเสี่ยงนั่นเอง 

.
ความน่าจะเป็น 

ความน่าจะเป็น หมายถึง โอกาสที่เหตุการณ์หรือบางสิ่งบางอย่างจะเกิดขึ้น แต่เราไม่รู้ว่าเมื่อไร เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นอย่างสุ่ม (Random) เราทุกคนมีประสบการณ์และสัมผัสถึงความน่าจะเป็นได้ตั้งแต่เราเกิดมาและมีกระบวนการรับรู้ เรียนรู้และตัดสินใจ ความน่าจะเป็นมีผลต่อกระบวนการตัดสินใจของเราอย่างมาก แม้แต่เด็กเล็กที่มีความกลัวกับเหตุการณ์อะไรบางอย่าง แล้วตัดสินใจไม่ทำในสิ่งนั้นก็เพราะว่าได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีมา แล้วคิดว่าในครั้งต่อไปอาจจะได้ประสบการณ์เหมือนเดิม นั่นคือ ความน่าจะเป็นในทางลบที่เด็กคนนั้นประเมินออกมา แต่นั่นก็ไม่ใช่ตัวอย่างทั้งหมดของความน่าจะเป็น เพราะขอบเขตและบริบทของการตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการตัดสินใจของเด็กที่มีวุฒิภาวะน้อยจากผู้ใหญ่  

.

ความน่าจะเป็นถูกนำไปใช้ในการศึกษาทั้งทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ เพื่อศึกษาและจัดการการดำเนินงานต่างในซีวิตประจำวัน นักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ได้ศึกษาเหตุการณ์ต่าง ๆ และสังเกตการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ต่าง ๆ จนสรุปเป็นทฤษฎีความน่าจะเป็นและแตกสาขาออกไปอีกมากมาย จนทำให้เราเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจตัวเองและเข้าใจความสัมพันธ์ของเรากับธรรมชาติได้มากขึ้น ความน่าจะเป็นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่แสดงถึงความสอดคล้องของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ธรรมชาติควบคุมความเป็นไปของจักรวาลและโลก รวมทั้งสรรพสิ่งที่อยู่บนโลกและจักรวาล เช่นเดียวกันกับสิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

.

มนุษย์สามารถควบคุมกระบวนการและชิ้นส่วนทุกชิ้นในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาให้ทำงานตามคำสั่งและหน้าที่ซึ่งถูกออกแบบมา เพราะมนุษย์นั้นเข้าใจในธรรมชาติและพฤติกรรมขององค์ประกอบและกระบวนการของสิ่งมนุษย์สร้างขึ้นมา การออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาก็เพื่อให้กระบวนการหรือสิ่งของนั้นทำงานได้ตามที่คาดหวังโดยมีข้อผิดพลาดจากการใช้งานน้อยที่สุดและได้ผลลัพธ์อย่างที่คาดหวังไว้

.

เมื่อเปิดเครื่องหรือใช้งานทุกครั้งต้องใช้งานได้ นั่นเป็นผลพวงจากการออกแบบทางวิศวกรรมที่มีความน่าจะเป็นสูงในการใช้งานได้ทุกครั้งไป นั่นหมายถึงสินค้าหรือสิ่งของนั้นมีคุณภาพดีซึ่งมีโอกาสที่ใช้งานไม่ได้น้อยมากหรือมีความเสี่ยงที่จะเสียน้อย รถยนต์ใหม่ป้ายแดงมีโอกาสที่จะเสียน้อยมาก แต่ก็มีบางคันเสียได้ ดังนั้นถ้าเราขับรถใหม่ก็มีโอกาสรถเสียกลางทางน้อยมาก ในขณะเดียวกันขับรถเก่าก็สามารถมีโอกาสรถเสียกลางทางน้อยได้เช่นกัน

.

ถ้าเราตรวจเช็คเปลี่ยนอะไหล่ตามระยะทางที่กำหนด เพราะเรารู้เข้าใจในองค์ประกอบของกระบวนการและควบคุมให้ดำเนินงานไปตามที่เรากำหนด ในขณะเดียวกันเราควบคุมดินฟ้าอากาศและรถคันอื่น ๆ ไม่ได้ ความน่าจะเป็นที่จะเกิดอุบัติเหตุบนถนนก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของถนนและการออกแบบถนน การขับรถตามกฎจราจร ซึ่งถ้าเราควบคุมตัวรถให้มีสภาพดีและควบคุมคนใช้รถใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎจราจร อุบัติเหตุคงจะเกิดขึ้นได้น้อยหรือมีความน่าจะเป็นในการเกิดอุบัติเหตุต่ำ

.
ความเสี่ยง

ความเสี่ยง คือ โอกาสหรือความน่าจะเป็นของผลลัพธ์ของการดำเนินงานนั้นไม่ได้ผลลัพธ์ออกมาที่คาดหมาย   ที่จริงแล้วผลลัพธ์ที่ออกมาจะดีหรือไม่ดีจะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ เมื่อใดที่มีการตัดสินใจในเรื่องใดก็ตามย่อมมีความเสี่ยงอยู่เสมอไม่มากก็น้อย ความเสี่ยงนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ตัดสินใจนั้นมีความมั่นใจมากน้อยขนาดไหน แต่ผลของการตัดสินใจในทิศทางใดทิศทางหนึ่งนั้นย่อมมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป         

.

ทางเลือกต่างๆที่ผู้ตัดสินใจเลือกก็มาจากความเสี่ยงที่น้อยของทางเลือกนั้น ๆ ผู้ตัดสินใจคงไม่ได้อยากเลือกไปในทิศทางที่มีโอกาสล้มเหลวสูง การที่ผู้ตัดสินใจมีความมั่นใจหรือไม่มั่นใจในตัดสินใจในทางเลือกต่าง ๆ นั้นหมายความว่า ผู้ตัดสินใจนั้นได้รับข้อมูลหรือได้ประเมินความเป็นไปได้ของความสำเร็จของการตัดสินใจไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าผลลัพธ์จะเกิดขึ้นได้ตามที่คาดหวังไว้ขึ้นอยู่กับการเกิดขึ้นของเหตุการณ์อย่างสุ่ม

.

โลกของปัจจุบันที่มีความพลวัต (Dynamics) สูง ความเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วทำให้หลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่รวมตัวกันและประกอบกับความซับซ้อน (Complexity) ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้องค์ประกอบต่าง ๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในบางครั้งระบบที่เปลี่ยนแปลงไปมีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนมากเกินกว่าเรามนุษย์จะควบคุมได้ ผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นไปตามธรรมชาติหรือที่เรียกว่า ความไม่แน่นอน (Uncertainty) เพราะเราไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่

.

ขอบเขตของระบบหรือปัญหาที่เราสนใจนั้นอาจจะมีการเชื่อมต่อกันเป็นระบบขนาดใหญ่จนถึงในระดับธรรมชาติได้ ความเสี่ยงก็จะสูง แต่ถ้าเราจำกัดขอบเขตและสามารถควบคุมองค์ประกอบและความสัมพันธ์ได้ทั้งหมดได้   ความน่าจะเป็นที่จะล้มเหลวหรือความเสี่ยงก็จะต่ำ เพราะขอบเขตของปัญหาของเรามีขนาดเล็กลงและไม่ซับซ้อนจนเกินไป ความเสี่ยงในการใช้งานแล้วไม่ได้ผลก็จะน้อยลง แต่ระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นก็ยังมีความเสี่ยงต่อระบบของธรรมชาติ เพราะระบบของมนุษย์ก็ยังต้องอาศัยอยู่และขึ้นอยู่กับธรรมชาติอยู่ดี ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เราก็พยายามที่จะพยากรณ์การเกิดขึ้นของเหตุการณ์ธรรมชาติเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความเสียหาย

.
ความเสี่ยงในความหมายทั่วไป 

เมื่อพูดถึงการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) โดยส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึงความเสี่ยงทางด้านการเงินเป็นส่วนใหญ่ ที่จริงแล้วมีการให้คำนิยามความเสี่ยงในหลายมุมมองแล้วแต่ชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อสื่อความหมาย จากหนังสือ The Essential of Risk Management เขียนโดย Michel Crouhy และคณะ (2006) ได้กล่าวถึงว่าในอุตสาหกรรมการธนาคารและการเงินได้กำหนดลักษณะของความเสี่ยงไว้กว้าง ๆ ดังนี้

.

Credit Risk คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบซึ่งเป็นตัวผลักดันคุณภาพของ Credit ในสินทรัพย์
Market Risk คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบที่เป็นความเสี่ยงทางการตลาด Market Risk สามารถที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

.

Operational Risk คือ ความเสี่ยงที่เกิดจากการสูญเสียทางด้านการเงินซึ่งเป็นผลมาจากจุดศูนย์รวมของการดำเนินงานเกิดการหยุดทำงานซึ่งสามารถมองในรูปแบบของความเสี่ยงที่เกิดจากคน ความเสี่ยงที่เกิดจากกระบวนการ และความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยี ความเสี่ยงเหล่านี้ คือ การฉ้อโกง ระบบคอมพิวเตอร์ไม่พอเพียง ความล้มเหลวในการควบคุม ความผิดพลาดในการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ และภัยธรรมชาติที่ทำให้เกิดการหยุดชะงักของการดำเนินการ

.

ดังนั้นความเสี่ยงสามารถนิยามให้อยู่ในขอบเขตหรือมุมมองของผู้นิยามอย่างใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่หรือกระบวนการที่กำลังปฏิบัติการอยู่ สิ่งที่เป็นตัวกำหนดหรือตัวบ่งชี้ความเสี่ยงจะอยู่ที่คุณค่า (Value) ของกระบวนการนั้นที่สร้างออกมา ถ้าคุณค่าของกระบวนการที่เป็นเรื่องการตลาด ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเป็นคุณค่าเชิงการตลาด ถ้าคุณค่าของกระบวนการเป็นการปฏิบัติการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ

.

ตัวชี้วัดความสำเร็จหรือความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จ คือ คุณค่าจากการปฏิบัติการซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่ถูกสร้างออกมาจากกระบวนการปฏิบัติการ และในที่สุดคุณค่าที่ถูกสร้างขึ้นมาก็ถูกประเมินออกมาเป็นมูลค่าหรือเป็นเงินซึ่งเป็นบรรทัดสุดท้าย (Bottom Line) ของธุรกิจ แม้ว่าเงินที่มีมูลค่านั้นจะไม่สามารถบริโภคหรือนำเงินไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง แต่เงินก็มีบทบาทมากในโซ่อุปทานและระบบธุรกิจในยุคปัจจุบัน เพราะเงินถูกใช้เป็นตัวแทนของคุณค่า จำนวนเงินที่มีมูลค่ามากย่อมสามารถแลกมาได้ด้วยคุณค่าที่สูงขึ้นด้วย แต่คุณค่าสุดท้ายก็อยู่ที่คนซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากคุณค่านั้น 

.
ความเสี่ยงในโซ่อุปทาน

สำหรับความเสี่ยงที่เกิดจากการปฏิบัติการ (Operational Risk) นั้นถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะเป็นการมองในมุมของการเงิน แต่ก็เป็นการมองการเงินในภาพรวมที่ธุรกิจมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนกลับมา ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ จะต้องสร้างคุณค่าที่ลูกค้า (Customer Values) ต้องให้ได้ก่อน แล้วจึงประเมินมูลค่าออกมาเป็นเงิน สิ่งที่แฝงอยู่ในกระบวนการ คือ คุณค่าที่ลูกค้าต้องการ

.

ที่จริงแล้วแนวคิดของความเสี่ยงที่เกิดจากการปฏิบัติการเป็นแนวคิดเดียวกับความเสี่ยงที่เกิดในโซ่อุปทาน แต่ในโซ่อุปทานเราไม่ได้ดูที่ผลลัพธ์สุดท้ายที่ออกมาเป็นตัวเงิน แต่แนวคิดของโซ่อุปทานจะมองที่การจัดสรรทรัพยากรอย่างถูกเวลาและสถานที่เพื่อสร้างคุณค่า (Values) ที่เป็นผลิตภัณฑ์และการบริการ ผลได้และผลเสียทางการเงินเป็นผลจากการจัดการโซ่อุปทาน    

.

ดังนั้นการจัดการโซ่อุปทานโดยเบื้องต้นนั้นเป็นการจัดการความเสี่ยงอยู่แล้ว เพราะว่าผลลัพธ์ของโซ่อุปทาน คือ ผลิตภัณฑ์และการบูรณาการ และเป้าหมายของการจัดการโซ่อุปทาน คือ การตอบสนองลูกค้าให้ได้มากที่สุด แม่นยำที่สุด มีความสูญเสียน้อยที่สุดและได้ผลการดำเนินงานที่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่ขาดฝันเกิดขึ้นในกระบวนการโซ่อุปทานหรือกระบวนการสร้างคุณค่า     

.

ถึงแม้ว่าองค์ธุรกิจจะมีการจัดการโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดและการควบคุมของกระบวนการภายในโซ่อุปทานซึ่งสามารถควบคุมได้ (Controllable) ส่วนองค์ประกอบภายนอกที่เป็นระบบเปิดที่ยากต่อการควบคุม (Uncontrollable) จึงเป็นประเด็นที่สำคัญต่อการจัดการความเสี่ยงของโซ่อุปทาน

.

ยิ่งโซ่อุปทานในยุคปัจจุบันมีความซับซ้อนสูงจึงทำให้หุ้นส่วนในโซ่อุปทาน (Supply Chain Partners) มีจำนวนมากขึ้น ขอบเขตการควบคุมกระบวนการในโซ่อุปทานเดิมถูกกระจายออกไปอยู่ในกระบวนการของหุ้นส่วนในโซ่อุปทานมากขึ้น หรือที่เรียกว่าการจัดจ้างจากภายนอกหรือ Outsourcing ยิ่งมีการกระจายหุ้นส่วนออกไปมากเท่าไร ความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในโซ่อุปทานก็มากยิ่งขึ้น

.

แต่ในขณะเดียวกันกระบวนการที่เชื่อมต่อกันระหว่างหุ้นส่วนในโซ่อุปทานหรือระหว่างบริษัทในโซ่อุปทานไม่ได้อยู่ในความควบคุมที่เป็นระบบปิดภายในบริษัท กระบวนการของการเคลื่อนย้ายหรือลอจิสติกส์ระหว่างบริษัทอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมภายนอกซึ่งมีองค์ประกอบที่ยากต่อการควบคุมและในบางอย่างก็ไม่สามารถควบคุมได้ กระบวนการตรงนี้อยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงต่อการหยุดชะงัก (Disruption) ของการไหลของคุณค่า (Flow of Value) เป็นอย่างยิ่ง   

.

โดยเฉพาะระบบการจัดการแบบ Just in Time (JIT) ที่มีรักษาระดับสินค้าคงคลังไว้น้อย เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดจนทำให้การไหลของทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้านั้นหยุดชะงักจนไม่สามารถดำเนินการได้ ถ้ามองในเชิงบูรณาการแล้วการจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน คือ การจัดการการไหลของทรัพยากรทั้งหมดเพื่อสนับสนุนการสร้างคุณค่าอย่างต่อเนื่องตามที่วางแผนไว้ตลอดทั้งโซ่อุปทาน เพราะว่าถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานไม่สามารถดำเนินการได้ย่อมมีผลกระทบต่อสถานะทางธุรกิจและการเงินขององค์กร

.
การจัดการความเสี่ยงในโซ่อุปทาน  

ที่จริงแล้วผมมีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจทั่วไปว่า การจัดการธุรกิจ คือ การจัดการความเสี่ยงนั่นเอง   ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมธรรมชาติและอีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กระบวนการธุรกิจที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะผลิตภัณฑ์และการบริการต่าง ๆ ต้องอยู่ในภาวะแวดล้อมทางธรรมชาตินั่นเอง แต่กลไกการทำงานของโซ่อุปทานที่เป็นผลิตภัณฑ์และการบริการนั้นเกิดจากการตัดสินใจของมนุษย์ซึ่งเป็นทั้งผู้ใช้งานและผู้ออกแบบ 

.

ดังนั้นกลไกในการดำเนินงานต่าง ๆ ในโซ่อุปทานก็ย่อมเกิดมาจากความคิดในการตัดสินใจตั้งแต่การออกแบบ การจัดหา การผลิต การจัดส่ง ตลอดจนถึงการบริการหลังการขายและการกำจัดซากของสินค้าเมื่อหมดอายุการใช้งาน   

.

การตัดสินใจของผู้ที่วางแผนและควบคุมโซ่อุปทานจะมีผลต่อการไหลขององค์ประกอบของโซ่อุปทานซึ่ง คือ 5M+I (Man, Machine, Material, Money, Method) ดังนั้นเมื่อผลของการปฏิบัติงานหรือโซ่อุปทานไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผู้วางแผนจะต้องได้รับข้อมูลสารสนเทศของสถานะต่าง ๆ ของการไหลของทรัพยากรต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบในโซ่อุปทานว่ามีสถานะอย่างไร มีความพร้อมและเพียงพอในการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับลูกค้าหรือไม่ 

.

แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายของโซ่อุปทานที่ได้วางแผนไว้ ผู้วางแผนและควบคุมในโซ่อุปทานจะต้องทำการตัดสินใจใหม่หรือวางแผนใหม่เพื่อที่จะทำให้กระบวนการโซ่อุปทานสามารถดำเนินการสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้ตามที่ได้วางแผนไว้

.

การที่ผู้วางแผนและควบคุมโซ่อุปทานจะสามารถตัดสินใจวางแผนและควบคุมการไหลของทรัพยากรที่เป็นองค์ประกอบในโซ่อุปทานอีกครั้งก็เพื่อทำการปรับความสัมพันธ์ของการทำงานภายในกระบวนการเอง และปรับสถานภาพของกระบวนการกับสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ เพื่อเป็นการตอบสนองอย่างทันท่วงทีเพื่อสร้างความมีพร้อม (Availability) ของผลิตภัณฑ์และการบริการอย่างต่อเนื่องไม่มีการหยุดชะงักของการดำเนินงาน

.
การทำงานร่วมกันในโซ่อุปทาน

ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงของความสูญเสียของคุณค่าที่จะต้องส่งมอบให้กับลูกค้าส่วนมากจะเกิดขึ้นระหว่างการเชื่อมโยงการไหลของคุณค่าระหว่างหุ้นส่วนหรือสมาชิกในแต่ละโซ่อุปทาน หรือการเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างองค์กรธุรกิจ ยิ่งโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนและมีเป็นจำนวนมาก ความเสี่ยงของโซ่อุปทานก็ยิ่งสูง ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การไหลของทรัพยากรติดขัด ผู้วางแผนก็มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับรู้ข้อมูลของสถานะการไหลอย่างรวดเร็วและถูกต้อง  

.

โซ่อุปทานจึงต้องมีคุณสมบัติของการรับรู้สมรรถนะของการดำเนินงานและสถานะของการไหลของคุณค่าอย่างทะลุปุโปร่ง (Visibility) ความสามารถของการรับรู้ข้อมูลทั่วทั้งโซ่อุปทานมีผลต่อการจัดการความเสี่ยงของผู้วางแผนของแต่ละหุ้นส่วนในโซ่อุปทาน ข้อมูลในแต่ละตำแหน่งในโซ่อุปทานจะต้องมีความสอดคล้อง (Synchronization) กันในทิศทางที่สนับสนุนการตัดสินใจการไหลของคุณค่าในแต่ละส่วนของโซ่อุปทานทั้งภายในองค์กรของหุ้นส่วนในโซ่อุปทาน และระหว่างองค์กรในโซ่อุปทาน 

.

โซ่อุปทานที่มีคุณลักษณะของการรับรู้ข้อมูลและสอดคล้องกันตลอดทั้งโซ่อุปทานจะต้องอาศัยแนวคิดของการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ซึ่งมีวิสัยทัศน์ของโซ่อุปทานร่วมกัน โดยมองผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือของโซ่อุปทานในระยะยาวเป็นหลักใหญ่ เมื่อมีผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว ประสิทธิภาพของการตัดสินใจในการวางแผนจะทำให้ความเสี่ยงของคุณค่าที่สูญเสียจะน้อยลง

.

ประเด็นที่สำคัญในการลดความเสี่ยง คือ การปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วหรือการกู้ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผลลัพธ์ของโซ่อุปทาน ถ้าผู้วางแผนโซ่อุปทานตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉุกเฉินได้เป็นอย่างดีก็จะลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องได้

.
การจัดความเสี่ยงอย่างบูรณาการ

ถ้าผู้บริหารจัดการโซ่อุปทานมีความเข้าใจเชิงบูรณาการในการจัดการโซ่อุปทาน ไม่ได้มองการจัดการในเชิงผลลัพธ์ด้านการเงินแต่เพียงอย่างเดียว การที่จะควบคุมผลลัพธ์สุดท้ายที่เป็นผลตอบแทนด้านการเงินได้นั้น จะต้องมีความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบในโซ่อุปทานเป็นอย่างดี เพราะถ้าองค์ประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของโซ่อุปทานเกิดล้มเหลวหรือไม่สามารถทำงานได้ ก็อาจจะมีผลกระทบต่อการทำงานของโซ่อุปทานได้

.

จริงแล้วความเสี่ยงทางการปฏิบัติการนั้นไม่ได้มุ่งหวังทางด้านการเงินเป็นประเด็นแรก แต่มองประเด็นในภาพรวมของทรัพยากรที่มาทำงานร่วมกันให้เกิดคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ เพราะถ้าไม่เข้าใจในความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในโซ่อุปทานแล้ว ความเสี่ยงในการปฏิบัติงานย่อมมีอยู่มาก เมื่อลดความเสี่ยงในแต่ละองค์ประกอบและลดความเสี่ยงในความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในโซ่อุปทานจะนำไปสู่การลดความเสี่ยงในโซ่อุปทาน

.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด