เนื้อหาวันที่ : 2009-09-29 17:47:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 23818 views

ต้นทุนคุณภาพ เบื้องหลังของคำว่าคุณภาพ มีต้นทุนที่ต้องลด

Thomas Pyzdex ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคุณภาพ เคยกล่าวไว้ว่า ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า จะประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการหรือที่เรียกว่า สมการคุณภาพ (Quality การทำในสิ่งที่ถูกต้อง จะหมายถึงการผลิตสินค้าหรือบริการที่ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจหรือประทับใจต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ๆ ในทางกลับกัน การไม่ทำในสิ่งที่ผิด จะหมายถึงการไม่ทำให้เกิดสิ่งบกพร่องหรือหลีกเลี่ยงการเกิดสิ่งบกพร่อง ที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความไม่พึงพอใจ

กิตติพงศ์ โรจน์จึงประเสริฐ 

.

.

Thomas Pyzdex ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคุณภาพ เคยกล่าวไว้ว่า ในการส่งมอบผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า จะประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการหรือที่เรียกว่า สมการคุณภาพ (Quality Equation) ซึ่งประกอบด้วย การทำในสิ่งที่ถูกต้อง (Doing the Right Things) และการไม่ทำในสิ่งที่ผิด (Not Doing the Wrong Things) 

.

ซึ่งการทำในสิ่งที่ถูกต้อง จะหมายถึงการผลิตสินค้าหรือบริการที่ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจหรือประทับใจต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ๆ ในทางกลับกัน การไม่ทำในสิ่งที่ผิด จะหมายถึงการไม่ทำให้เกิดสิ่งบกพร่องหรือหลีกเลี่ยงการเกิดสิ่งบกพร่อง ที่จะทำให้ลูกค้าเกิดความไม่พึงพอใจ ซึ่งการจะทำให้เกิดองค์ประกอบทั้งสองอย่างขึ้น จำเป็นที่จะต้องมีต้นทุนเกิดขึ้น ซึ่งเราเรียกต้นทุนในลักษณะนี้ว่าต้นทุนคุณภาพ หรือ Cost of Quality 

.

ต้นทุนคุณภาพ หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการกำหนด การทำให้เกิด และการควบคุมคุณภาพ รวมไปถึงการประเมินและการจัดการข้อมูลป้อนกลับของความสอดคล้องในข้อกำหนดทางด้านคุณภาพ ความน่าเชื่อถือได้ และความปลอดภัย นอกจากนั้นยังรวมไปถึงต้นทุนความเสียหายที่เกิดจากความไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดทางคุณภาพ ทั้งที่เกิดภายในองค์กรและที่เกิดกับลูกค้า

.

ในการศึกษาถึงขนาดของต้นทุนคุณภาพในองค์กร ได้มีการสำรวจกันอย่างกว้างขวางโดยหน่วยงานต่าง ๆ เช่น จากการสำรวจของหน่วยงานด้านการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศอังกฤษ พบว่าต้นทุนคุณภาพในภาคอุตสาหกรรม จะอยู่ระหว่าง 5-25% ของรายได้ทั้งหมด และสูงถึง 30-40% ของรายได้ทั้งหมด ในภาคบริการ ส่วน American Society of Quality ได้เคยสำรวจขนาดของต้นทุนคุณภาพของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอเมริกา พบว่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 40% ของยอดขายทั้งหมด 

.

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าด้วยขนาดของต้นทุนคุณภาพที่สำรวจได้ ทำให้เกิดการเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา และการหาแนวทางในการลดขนาดของต้นทุนคุณภาพลง ทั้งนี้ Philip B Crosby ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในระบบคุณภาพ เคยกล่าวเปรียบเทียบต้นทุนคุณภาพไว้ว่าเป็นเหมือนโรงงานที่ซ่อนเร้น หรือ Hidden Factory ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราสามารถที่จะขจัดต้นทุนคุณภาพที่เกิดขึ้นได้ ก็เหมือนกับเราสามารถสร้างโรงงานใหม่ได้ โดยไม่ต้องเสียเงิน นอกจากนั้นการศึกษาเรื่องต้นทุนคุณภาพ ยังจะช่วยให้เกิดประโยชน์อีกหลายประการ ประกอบด้วย 

.

1. ต้นทุนคุณภาพจะเป็นการวัดขนาดของปัญหาคุณภาพให้อยู่ในรูปแบบที่มีผลกระทบต่อมุมมองของฝ่ายบริหาร ซึ่งรูปแบบที่มีผลกระทบอย่างมากก็คือการสื่อสารในรูปแบบของเงินที่ต้องเสียไป ซึ่งในอดีตบรรดาผู้จัดการโดยส่วนใหญ่ มักจะไม่สนใจในการแปลงขนาดของสิ่งบกพร่องที่เกิดขึ้นออกมาเป็นรูปของตัวเงิน

.

จนเมื่อมีการวัดปัญหาคุณภาพออกมาเป็นมูลค่าของความเสียหายที่เกิดขึ้น และพบว่าต้นทุนคุณภาพที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงมากเมื่อเทียบกับยอดขายทั้งหมด รวมถึงยังช่วยให้พบว่ามีปัญหาอีกมากที่ยังถูกซ่อนไว้ไม่ปรากฏชัด จนเมื่อมีการวัดเป็นต้นทุนคุณภาพ จะช่วยให้เห็นรายละเอียดของปัญหาคุณภาพที่ครอบคลุมมากขึ้น 

.

2. ช่วยให้การระบุโอกาสสำคัญในการลดต้นทุนคุณภาพ ผ่านทางกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กร ซึ่งต้นทุนคุณภาพในประเด็นต่าง ๆ จะเชื่อมโยงกลับไปยังสาเหตุของปัญหา ซึ่งพบว่าต้นทุนคุณภาพโดยส่วนใหญ่ จะเกิดจากสาเหตุเพียงไม่กี่รายการ ดังนั้นการวัดต้นทุนคุณภาพจะช่วยในการจัดลำดับความสำคัญของการตัดสินใจดำเนินการ และการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และวางแผนกลยุทธ์ในการปรับปรุง

.

3. ช่วยในการกำหนดประเด็นที่จะดำเนินการเพื่อลดความไม่พึงพอใจของลูกค้า รวมถึงผลกระทบที่มีต่อยอดขาย ต้นทุนคุณภาพบางรายการจะเป็นผลมาจากความไม่พึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าหรือบริการทีได้รับ ซึ่งความไม่พึงพอใจนี้จะส่งผลทั้งกับการสูญเสียลูกค้าในปัจจุบัน และความสามารถในการหาลูกค้าใหม่ ดังนั้นการแก้ไขต้นทุนคุณภาพจะช่วยในการรักษาลูกค้าปัจจุบันและสร้างลูกค้าใหม่ได้ 

.

4. ใช้ในการวัดผลที่ได้จากการปรับปรุงคุณภาพที่เกิดขึ้นตามข้อ 2 และข้อ 3 นอกจากนั้นยังช่วยในการวัดความคืบหน้าของโครงการปรับปรุง เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยของความสำเร็จ รวมถึงอุปสรรคของการปรับปรุงงาน

.

5. ช่วยในการปรับเป้าหมายคุณภาพให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร นอกจากนั้นการวัดต้นทุนคุณภาพที่บกพร่องยังช่วยในการพัฒนาแผนคุณภาพเชิงกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับเป้าหมายโดยรวมขององค์กรด้วย

.

ด้วยขนาดที่มากของต้นทุนคุณภาพ อีกทั้งความหมายที่ครอบคลุมในหลายๆด้าน จึงได้มีการจัดประเภทของต้นทุนคุณภาพออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

.

1. ต้นทุนความบกพร่อง หรือ Failure Cost
2. ต้นทุนการป้องกัน หรือ Prevention Cost 
3. ต้นทุนการประเมิน หรือ Appraisal Cost

.
ต้นทุนความบกพร่อง (Failure Cost)

หมายถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการไม่สอดคล้องกับข้อกำหนด หรือไม่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า โดยสามารถแบ่งประเภทของต้นทุนความบกพร่องออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ต้นทุนความบกพร่องภายใน (Internal Failure Cost)
- ต้นทุนความบกพร่องภายนอก (External Failure Cost) 

.
* ต้นทุนความบกพร่องภายใน (Internal Failure Costs)

เป็นต้นทุนที่สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพ หรือความบกพร่องที่ตรวจพบเจอก่อนที่จะมีการส่งมอบออกไป ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงความต้องการทั้งของลูกค้าภายในและภายนอก ตัวอย่างของต้นทุนความบกพร่องภายใน ประกอบด้วย

.

* ของเสีย (Scrap, Spoilage, Defectives) เป็นต้นทุนจากแรงงาน วัสดุ และค่าโสหุ้ยของสินค้าที่เป็นของเสีย ซึ่งไม่สามารถนำมาซ่อมแซมได้ 
* งานทำซ้ำ (Rework) เป็นต้นทุนที่เกิดจากการแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นกับสินค้า หรือความผิดพลาดจากการให้บริการ

.

* การวิเคราะห์ความเสียหาย (Failure Analysis) เป็นต้นทุนจากการวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุของความบกพร่องที่เกิดขึ้น
* ของเสียและงานทำซ้ำ จากผู้ส่งมอบ (Supplier) เป็นต้นทุนที่เกิดจากของเสียหรือการต้องมาทำซ้ำกับผลิตภัณฑ์ที่รับมาจากผู้ส่งมอบ (Supplier) รวมถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องมาแก้ไขปัญหาทางด้านคุณภาพของผู้ส่งมอบด้วย 

.

* การตรวจสอบเพื่อคัดแยก 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้นทุนที่เกิดจากการคัดแยกสินค้าทั้งหมดเพื่อค้นหาของเสียที่ปะปนอยู่ออกมา
* การตรวจสอบซ้ำ การทดสอบซ้ำ เป็นต้นทุนที่เกิดจากการตรวจสอบหรือทดสอบซ้ำ ของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทำซ้ำหรือซ่อมแซมแล้ว
* การเปลี่ยนแปลงกระบวนการ เป็นต้นทุนที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือการบริการเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น 

.

* การออกแบบใหม่ เป็นต้นทุนจากการเปลี่ยนแปลงการออกแบบทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ เพื่อแก้ไขความไม่มีประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น
* การทำลายผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุแล้ว เป็นต้นทุนที่เกิดจากการตัดสินใจทำลายผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ หรือไม่สามารถนำไปขายหรือส่งมอบได้ 

.

* การทำซ้ำของกระบวนการสนับสนุนภายใน เป็นต้นทุนจากการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกระบวนการสนับสนุนภายใน
* การลดระดับคุณภาพ (Downgrading) เป็นต้นทุนที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างราคาขายปกติ กับราคาที่ต้องลดลงจากปัญหาทางด้านคุณภาพ

.

* ความแปรปรวนของคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความสอดคล้องตามข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ เช่น การเติมน้ำตาลที่มากกว่าที่ระบุไว้ที่ถุงบรรจุน้ำตาล
* การหยุดของเครื่องจักรไม่ได้วางแผนไว้ เป็นความสูญเสียจากความสามารถของเครื่องจักรที่เกิดการเสียหายขึ้น 

.

* ความแปรปรวนของคุณลักษณะกระบวนการ เป็นความสูญเสียที่เกิดจากรอบเวลาการทำงาน และต้นทุนของกระบวนการเมื่อเทียบกับสภาพที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เท่าเดิม
* กิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่า เป็นความสูญเสียจากการทำงานที่ซ้ำซ้อน การคัดแยก และกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการ 

.
* ต้นทุนความบกพร่องภายนอก (External Failure Cost)
เป็นต้นทุนที่เกิดจากความไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งตรวจพบเจอภายหลังจากที่ผลิตภัณฑ์ถูกส่งมอบไปยังลูกค้าแล้ว ตัวอย่างของต้นทุนความบกพร่องภายนอก ประกอบด้วย 

* ค่าใช้จ่ายจากการรับประกัน เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนสินค้า หรือการซ่อมแซมสินค้าที่ยังอยู่ในช่วงเวลาของการรับประกัน
* การจัดการข้อร้องเรียน เป็นต้นทุนที่เกิดจากการค้นหา และการแก้ไขข้อร้องเรียนลูกค้าทั้งที่เกิดกับผลิตภัณฑ์และในขณะทำการติดตั้ง (Installation)

.

* การส่งคืนสินค้า เป็นต้นทุนที่เกิดจากการรับสินค้าที่เกิดความเสียหายจากการใช้งาน และส่งคืนสินค้าใหม่
* ความผิดพลาดที่เกิดกับลูกค้า เป็นโอกาสในการสร้างกำไรจากยอดขายปกติที่เสียไปด้วยเหตุผลทางด้านคุณภาพ
* การสูญเสียลูกค้าใหม่จากสาเหตุคุณภาพ การสูญเสียกำไรจากลูกค้าใหม่จากสาเหตุทางด้านคุณภาพที่เกิดขึ้น

.
ต้นทุนการประเมิน (Appraisal Costs)

หมายถึงต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการวัด การประเมิน หรือการตรวจติดตามผลิตภัณฑ์ หรือบริการ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสอดคล้องกับมาตรฐานหรือข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ๆ ประกอบด้วย

.

* การตรวจสอบและการทดสอบการรับเข้า เป็นต้นทุนที่เกิดจากการประเมินคุณภาพของสินค้าที่จัดซื้อเข้ามา และจากการตรวจสอบการรับเข้า

.

* การตรวจและทดสอบระหว่างกระบวนการ เป็นต้นทุนที่เกิดจากการประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดในระหว่างกระบวนการ
* การตรวจและทดสอบขั้นสุดท้าย เป็นต้นทุนจากการประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดของเกณฑ์การยอมรับผลิตภัณฑ์
* การทบทวนเอกสาร เป็นต้นทุนจากการจัดเตรียมเอกสารเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า

.

* การตรวจประเมินผลิตภัณฑ์ เป็นต้นทุนที่เกิดจากการตรวจประเมินผลิตภัณฑ์ทั้งในระหว่างกระบวนการและผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย
* การดูแลความถูกต้องของเครื่องมือวัดและทดสอบ เป็นต้นทุนที่เกิดจากการสอบเทียบเครื่องมือวัด เครื่องมือทดสอบที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิต

.

* วัสดุและบริการที่ใช้ในการตรวจและทดสอบ เป็นวัตถุดิบและวัสดุสิ้นเปลืองต่าง ๆ ที่ใช้ในงานตรวจและทดสอบผลิตภัณฑ์
*.การประเมินสินค้าในคลังสินค้าเป็นต้นทุนจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่จัดเก็บในคลังสินค้าเพื่อประเมินการลดระดับคุณภาพ (Degradation)

.
ต้นทุนการป้องกัน (Prevention Costs)

หมายถึงต้นทุนที่เกิดจากกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันคุณภาพที่บกพร่องของผลิตภัณฑ์และบริการ โดยต้องการที่จะให้เกิดต้นทุนความบกพร่อง (Failure Cost) และต้นทุนการประเมิน (Appraisal Cost) น้อยที่สุด ประกอบด้วย

.

* การวางแผนคุณภาพ เป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนคุณภาพ รวมถึงการจัดเตรียมระเบียบการปฏิบัติงาน (Procedure) ที่จำเป็นในการสื่อสารแผนต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

.

* การทบทวนผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้นทุนที่เกิดจากวิศวกรรมความน่าเชื่อถือ (Reliability Engineering) และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพในช่วงของการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่

.

* การวางแผนกระบวนการ เป็นต้นทุนที่เกิดจากการวัดความสามารถของกระบวนการ การวางแผนการตรวจสอบ และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการผลิตและการให้บริการ

.

* การควบคุมกระบวนการ เป็นต้นทุนจากการตรวจและทดสอบในระหว่างกระบวนการ เพื่อประเมินสถานะของกระบวนการ (ไม่ใช่การตรวจเพื่อยอมรับหรือปฏิเสธผลิตภัณฑ์)
* การตรวจประเมินคุณภาพ เป็นต้นทุนที่เกิดจากการประเมินการทำงานของแต่ละกิจกรรมที่กำหนดไว้ในแผนคุณภาพ

.

* การประเมินคุณภาพผู้ส่งมอบ เป็นต้นทุนที่เกิดจากการประเมินคุณภาพของผู้ส่งมอบ (Supplier) ทั้งในขั้นตอนของการคัดเลือก และการตรวจประเมิน (Audit) ในระหว่างการจัดซื้อจากผู้ส่งมอบ
* การฝึกอบรม เป็นต้นทุนที่เกิดจากการจัดเตรียม และการจัดฝึกอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวกับคุณภาพ 

.
นอกจากนั้น ยังมีต้นทุนทางอ้อม (Hidden Cost of Quality) ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องที่เกิดขึ้นด้วย ประกอบด้วย 

1. ยอดขายที่สูญเสียไป
2. ต้นทุนที่เกิดจากการออกแบบใหม่ด้วยเหตุผลทางด้านคุณภาพ
3. ต้นทุนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดทางด้านคุณภาพ
4. ต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงซอฟท์แวร์จากปัญหาทางด้านคุณภาพ
5. ต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ รวมถึงต้นทุนของพื้นที่จัดเก็บ และค่าล่วงเวลาที่เกิดขึ้น  
6. ของเสียที่ไม่มีการรายงาน อันเกิดจากความกลัว
7. ต้นทุนจากการดำเนินการที่ผิดพลาดของกระบวนการสนับสนุน เช่น การรับคำสั่งซื้อ การส่งของ การให้บริการลูกค้า การเรียกเก็บเงิน
8. ต้นทุนคุณภาพที่บกพร่อง ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ส่งมอบ และจะแฝงมากับราคาขายที่ผู้ส่งมอบกำหนด

.

นอกเหนือจากการแบ่งต้นทุนคุณภาพออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามที่ได้อธิบายไปแล้วนั้น ในการศึกษาเรื่องต้นทุนคุณภาพ ยังมีอีกหลายแนวทาง ซึ่งสามารถสรุปแนวทางในการวัดต้นทุนคุณภาพออกมาได้เป็น 3 แนวทาง ประกอบด้วย 

.

1. แนวทางต้นทุนคุณภาพ (Quality Costing Approach) ได้แก่การแบ่งต้นทุนคุณภาพออกมาเป็น ต้นทุนความบกพร่อง ต้นทุนการประเมิน และต้นทุนการป้องกัน ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว 

.

2. แนวทางต้นทุนกระบวนการ (Process Costing Approach) เป็นการรวบรวมข้อมูลโดยเน้นที่ข้อมูลของกระบวนการแทนที่จะเป็นข้อมูลของผลิตภัณฑ์ โดยต้นทุนกระบวนการจะแบ่งออกมาเป็นต้นทุนของความสอดคล้อง (Cost of Conformity) และต้นทุนของความไม่สอดคล้อง (Cost of Nonconformity) ต้นทุนความสอดคล้องจะหมายถึงต้นทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ผลตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นในขณะที่กระบวนการสามารถทำงานโดยไม่เกิดข้อบกพร่อง

.

เช่น วัตถุดิบ แรงงาน และโสหุ้ย ครอบคลุมทั้งการป้องกันและการควบคุมกระบวนการ ในส่วนของต้นทุนความไม่สอดคล้องจะเป็นต้นทุนของความบกพร่องทั้งภายในและภายนอก ซึ่งในการจัดการต้นทุนแนวทางนี้ จะมุ่งเน้นที่การลดต้นทุนทั้งต้นทุนความสอดคล้อง และต้นทุนความไม่สอดคล้องที่เกิดขึ้น  

.

3. แนวทางการสูญเสียทางด้านคุณภาพ (Quality Loss Approach) แนวทางนี้จะเป็นความพยายามที่จะรวบรวมข้อมูลของต้นทุนที่ซ่อนไว้ (Hidden Cost) เช่น การสูญเสียโอกาสในการขายอันเนื่องจากคุณภาพที่บกพร่อง ความไม่มีประสิทธิภาพของกระบวนการ และการสูญเสียจากคุณลักษณะทางคุณภาพที่เบี่ยงเบนไปจากค่าเป้าหมายที่ต้องการ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในขอบเขตที่กำหนดไว้ (Specification Limit) ก็ตาม ซึ่งแนวทางนี้จะทำการวัดต้นทุนโดยใช้ฟังก์ชั่นความสูญเสียคุณภาพตามแนวทางของ Taguchi

.

จากที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การศึกษาและการวัดต้นทุนคุณภาพทั้งของการผลิตและการให้บริการ จะช่วยให้องค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยในการค้นหาโอกาสในการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อองค์กรเอง และลูกค้าขององค์กรด้วย

.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด