เนื้อหาวันที่ : 2009-09-28 22:58:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 27579 views

ทำความรู้จักกับ ชุดอากาศบริการ (Service Unit)

ชุดอากาศบริการ (Service Unit, FRL) เป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่ติดตั้งอยู่กับเครื่องจักรเกือบทุกเครื่องที่ใช้ระบบลมอัด (Pneumatic) เป็นแหล่งกำลังงาน และเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมากกับอุปกรณ์หลายอย่างของเครื่องจักร สภาพการทำงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับชุดอากาศบริการ แต่หลายคนกลับมองไม่เห็นถึงความสำคัญของอุปกรณ์ตัวเล็ก ๆ ตัวนี้

อาจหาญ ณ นรงค์
ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกซ่อมบำรุง
บริษัท โยโกฮาม่า ไทร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

.

ชุดอากาศบริการ (Service Unit, FRL) เป็นอุปกรณ์ตัวหนึ่งที่ติดตั้งอยู่กับเครื่องจักรเกือบทุกเครื่องที่ใช้ระบบลมอัด (Pneumatic) เป็นแหล่งกำลังงาน และเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมากกับอุปกรณ์หลายอย่างของเครื่องจักร สภาพการทำงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์เหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับชุดอากาศบริการ แต่หลายคนกลับมองไม่เห็นถึงความสำคัญของอุปกรณ์ตัวเล็ก ๆ ตัวนี้

.

การทำงานของเครื่องจักรที่ใช้ลมอัดเป็นแหล่งกำลังงานหรือที่เราเรียกกันว่าระบบนิวเมติก (Pneumatic) นั้น คุณภาพของลมที่จะเอาเข้าไปใช้งานในระบบเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งไม่แพ้กันกับปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ลมอัดที่นำไปใช้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้นต้องเป็นลมอัดที่สะอาด มีความชื้นและน้ำปะปนอยู่น้อย และต้องมีคุณสมบัติที่ช่วยหล่อลื่นชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เคลื่อนที่ได้ด้วย

.

รูปที่ 1 ชุดอากาศบริการ (Service Unit, FRL)

.

โดยทั่วไปในระบบลมอัดแทบทุกระบบจะมีอุปกรณ์ปรับสภาพลมอัดที่ต้นทางอยู่แล้ว แต่เมื่อลมเหล่านั้นเดินทางตามท่อมาสู่เครื่องจักร หรืออุปกรณ์ทำงานที่ปลายทางแล้ว อากาศเหล่านั้นอาจมีสภาพไม่เหมือนกับตอนที่ออกจากชุดปรับสภาพลมอัดก็ได้ ด้วยเหตุผลหลายอย่างเช่น สภาพของท่อทางที่อาจไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรจนทำให้เกิดน้ำในท่อ สนิมและสิ่งปนเปื้อนที่เกิดจากการผุกร่อนของท่อ และสาเหตุอื่น ๆ เป็นเหตุให้คุณภาพของลมอัดที่มาถึงปลายทางอาจไม่มีคุณสมบัติของลมอัดที่ดีดังที่กล่าวข้างต้นเหลืออยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องปรับสภาพลมอัดอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะใช้งานกับอุปกรณ์ต่าง ๆ 

.

อุปกรณ์ที่จะกล่าวถึงที่นี้คือ อุปกรณ์ที่ใช้ปรับสภาพลมก่อนที่จะเข้าไปสู่เครื่องจักรให้มีสภาพที่เอื้อกับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของเครื่องจักร นั่นคือ ชุดอากาศบริการ (Service Unit, FRL)

.

รูปที่ 2 ส่วนประกอบและการติดตั้งชุดอากาศบริการ

.
หน้าที่หลักของชุดอากาศบริการ
โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว หน้าที่หลัก ๆ ของชุดอากาศบริการมี 3 อย่างดังนี้คือ

* กรองอากาศ (Filter) เป็นส่วนแรกของอุปกรณ์ จะทำหน้าที่กำจัดน้ำและสิ่งสกปรกที่อาจปะปนเข้ามากับลมอัดออกจากระบบ โดยใช้หลักการของการเหวี่ยงตัวของอากาศที่ใหลเข้ามาในระบบ ทำให้สิ่งสกปรกที่มีน้ำหนักมากและส่วนที่เป็นน้ำแยกออกจากลมอัด ทำให้ลมอัดที่ผ่านออกมาจากจุดนี้เป็นลมอัดที่สะอาด

.

* ปรับแรงดัน (Regulator) อุปกรณ์ตัวนี้จะถูกติดตั้งอยู่หลังจากส่วนกรองอากาศ เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าเป็นตัวที่ปรับแรงดันของลมอัดให้ได้ตามที่ต้องการของระบบ เพื่อที่จะให้ระบบทำงานได้อย่างปกติ ไม่เกิดความเสียหายต่อชิ้นส่วนที่สำคัญ ๆ หรือชิ้นงาน

.

* หล่อลื่น (Lubrication) ติดตั้งอยูหลังจากอุปกรณ์ปรับแรงดัน (Regulator) ทำหน้าที่ในการเติมสารหล่อลื่นซึ่งส่วนมากจะเป็นน้ำมันหล่อลื่นเข้าไปในลมอัดที่ผ่านออกไป การเติมน้ำมันหล่อลื่นนั้นทำโดยให้น้ำมันหล่อลื่นไปผสมกับลมอัดที่ออกมาเพื่อที่จะเป็นตัวช่วยในการหล่อลื่นกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เคลื่อนที่ขณะที่ทำงาน เช่น กระบอกสูบ วาล์ว และมอเตอร์ลมต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบ เพราะว่าถ้าหากลมที่เข้าไปไม่มีน้ำมันหล่อลื่นผสมไป แล้วก็จะทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เคลื่อนที่เช่นลูกสูบและซีลต่าง ๆ จะเกิดความร้อนจากความเสียดทานและอายุการใช้งานจะลดลงเร็วมากเนื่องจากการสึกหรอ

.
ส่วนประกอบและหลักการทำงานของส่วนต่าง ๆ ของชุดอากาศบริการ 

ดังที่ทราบมาจากข้างต้นแล้วว่าหน้าที่ของชุดอากาศบริการ (Service Unit) คือ การปรับสภาพของลมอัดให้เหมาะสำหรับการนำมาใช้ในการทำงานของเครื่องจักร ถ้าเราจะแยกหน้าที่หลัก ๆ ของชุดอากาศบริการ (Service Unit) ออกเป็นส่วนย่อย ๆ ก็คือ กรอง (Filter) ปรับแรงดัน (Regulator) และส่วนของการหล่อลื่น (Lubrication) ดังนั้นเราจึงพบว่าในตำราบางตำราหรือคู่มือต่าง ๆ ของเครื่องจักรบางเครื่องจะเรียกเจ้าอุปกรณ์ตัวนี้ว่า FRL ซึ่งเป็นตัวย่อจากหน้าที่ของการทำงานของแต่ละส่วนที่รวมกันเป็นชุดอากาศบริการนั่นเอง ซึ่งส่วนประกอบหลัก ๆ และหลักการทำงานของส่วนต่าง ๆ มีดังนี้

.
* ส่วนกรองลมอัด (Filter Unit)

ส่วนนี้เป็นส่วนแรกในสามส่วนของชุดอากาศบริการ (Service Unit) เมื่อลมอัดไหลผ่านเข้ามาในส่วนที่เป็นส่วนกรองทางด้านข้างและถูกบังคับให้ไหลวนลงทางด้านล่างโดยครีบเอียงที่ติดตั้งอยู่ด้านบนของชุดใส้กรองอากาศ (Filter Element) ลมอัดที่ไหลมาด้วยความเร็วสูงจะเกิดการหมุนทำให้อนุภาคที่มีน้ำหนักมาก เช่น น้ำ และสิ่งสกปรกที่เจือปนอยู่ในลมอัดก็จะเกิดโมเมนตัมแรงเหวี่ยงออกไปทางด้านข้าง และแยกตัวตกลงไปสู่ด้านล่างของกระเปาะดังรูปที่ 3 ส่วนลมอัดที่ไม่มีสิ่งเจือปนก็จะไหลขึ้นไปต่อยังด้านบนของกระเปาะและออกจากชุดกรองต่อไปยังชุดปรับแรงดันต่อไป ส่วนน้ำและสิ่งสกปรกที่ตกลงอยู่ด้านล่างของถ้วยเมื่อน้ำสะสมอยู่จนได้ระดับซึ่งจะมีลูกลอยเป็นตัวตรวจจับ น้ำเหล่านี้ก็จะถูกปล่อยออกไปด้านนอกถ้วยดังรูปที่ 4 และรูปที่ 5

.

รูปที่ 3 ชุดกรองอากาศ

.

จุดที่ควรให้ความสนใจในส่วนของส่วนกรองอากาศของชุดอากาศบริการคือ เมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่งก็จะมีคราบที่เกิดจากสิ่งสกปรกที่ปนอยู่กับน้ำติดเป็นตะกรันอยู่บริเวณก้นของกระเปาะด้านล่าง เพราะว่าส่วนที่เป็นน้ำจะถูกระบายออกเมื่อถึงระดับที่ตั้งไว้ ถ้าปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำให้ตรงบริเวณที่เป็นรูระบายน้ำด้านล่างซึ่งเป็นชุดของลูกลอยอาจตันได้ เราจึงควรที่จะถอดชุดลูกถ้วยออกมาล้างและเป่าลมทำความสะอาดเมื่อเห็นว่าบริเวณนั้นมีคราบตะกรันติดอยู่มาก ซึ่งระยะเวลาในการถอดออกมาทำความสะอาดแต่ละครั้งก็อาจขึ้นอยู่กับการใช้งานของชุดอากาศบริการและสภาพของลมที่ผ่านเข้ามาว่ามีคุณภาพดีแค่ใหน มีน้ำและสิ่งสกปรกปะปนเข้ามากับลมมากน้อยหรือไม่

.

นอกจากนี้ต้องคอยสังเกตว่า ชุดระบายน้ำทิ้ง (Drain) ที่ลูกลอยตันหรือไม่ เพราะถ้าหากเกิดตันขึ้นมาก็จะทำให้น้ำที่ปะปนเข้ามากับอากาศไม่สามารถถูกกำจัดออกไปจากระบบซึ่งอาจทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ของเครื่องจักรเกิดความเสียหายได้ จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่เคยประสบมา ถ้าหากมีน้ำเล็ดลอดเข้าไปในระบบได้ จะเกิดความเสียหายขึ้นมากน้อยแล้วแต่กรณี

.

ในบางทีอาจสงผลกระทบให้อุปกรณ์ตัวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเสียหายด้วย เช่น หากลมอัดดังกล่าวเข้าไปเป่าทำความสะอาดถุงกรองในระบบกรองอากาศขนาดใหญ่ เช่น อุปกรณ์จำพวก Dust Collect  แต่ถ้ามีน้ำเข้าไปในระบบมาก ๆ ก็อาจเป็นเหตุให้ถุงกรองซึ่งเป็นผ้าตันเร็วกว่าปกติได้ ซึ่งบางทีเมื่อเราเจอปัญหาเหล่านี้แล้ว กว่าที่จะหาสาเหตุของปัญหาเจอ บางทีอาจต้องใช้เวลานาน

.

รูปที่ 4 กรองอากาศที่ติดชุดระบายน้ำแบบมือหมุน (Manual Drain)    รูปที่ 5 ชุดระบายน้ำแบบอัตโนมัติ (Auto Drain)

.

สำหรับชุดระบายน้ำนั้นที่ใช้กันส่วนมากจะมีสองแบบคือ ชุดระบายน้ำแบบมือหมุน (Manual Drain) ดังรูปที่ 4 ซึ่งมีกลไกแบบง่าย ๆ และราคาถูกกว่าคือเป็นวาล์วตัวหนึ่งที่ติดอยู่ที่ท้ายของกระเปาะของชุดกรอง เมื่อมีน้ำขังอยู่ในกระเปาะเราก็แค่บิดเปิดวาล์วให้น้ำไหลออกและปิดเมื่อหมดน้ำแล้วเหมาะสำหรับติดตั้งกับจุดที่ดูแลสะดวก แต่ต้องหมั่นเปิดน้ำออกจากกรอง ข้อดีอีกอย่างของชุดระบายน้ำแบบนี้คือมีความทนทานสูง

.

อีกแบบหนึ่งคือชุดระบายน้ำแบบอัตโนมัติ ชุดนี้จะใช้หลักการของลูกลอยคือเมื่อมีน้ำขังอยู่ที่ก้นกระเปาะจนสูงได้ระดับหนึ่งน้ำจะทำให้ลูกลอยเกิดแรงยกตัวและที่ด้านล่างของลูกลอยจะเป็นวาล์วแบบเข็มก็จะยกตัวเองเปิดทางให้น้ำไหลออกจากกระเปาะได้ และเมื่อระดับน้ำในกระเปาะลดลง ลูกลอยก็จะลดระดับลงทำให้เข็มปิดป้องกันไม่ให้ลมอัดในกระเปาะไหลออกดังรายละเอียดขั้นตอนการทำงานในรูปที่ 5

.
* ส่วนปรับแรงดันของลมอัด (Regulator Unit)

เป็นส่วนที่ปรับแรงดันของลมอัดให้ได้ตามที่เราต้องการจะนำไปใช้งาน ซึ่งตามปกติแล้ว แรงดันลมอัดที่ใช้โดยปกติตามโรงงานหรืออุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ ส่วนมากจะผลิตแรงดันที่แหล่งกำเนิดคือเครื่องอัดลม (Air Compressor) ที่ประมาณ 7 kg/cm2 (ประมาณ 7 บาร์หรือ 100 psi) แต่ในการใช้งานนั้นเครื่องจักรหรือชิ้นส่วนจะต้องถูกปรับแต่งให้ใช้กับแรงดันลมอัดตามสภาวะการใช้งาน ซึ่งบางทีอาจต้องการใช้กับแรงดันที่น้อยกว่า 7 บาร์เพราะฉะนั้นแล้ว ชุดปรับแรงดัน (Regulator ) จึงขาดไม่ได้เลยสำหรับเครื่องจักรเกือบทุกเครื่องที่ขับเคลื่อนด้วยลมอัด

.

สำหรับรายละเอียดและหลักการทำงานของชุดปรับแรงดันนั้น ดังรายละเอียดที่แสดงในรูปที่ 6 รูปที่ 7 และรูปที่ 8 เริ่มจากเมื่อลมอัดแรงดันสูงเข้ามาตรงทางเข้า (AIR IN) ก็จะผ่านชุดวาล์ว (Valve Assembly) ซึ่งปกติจะปิดอยู่ด้วยแรงกดจากสปริงวาล์ว (Spring Valve) ด้านล่าง 

.

รูปที่ 6 ส่วนประกอบของชุดปรับแรงดัน ( Regulator)               รูปที่ 7 ภาพหน้าตัดของชุดปรับแรงดัน (Regulator)

.

แต่เมื่อเราต้องการที่จะใช้งาน Regulator เราก็จะทำการหมุนตัวปรับความแข็งของสปริงด้านบน (Adjusting Knob) ให้กดสปริงหลักปรับแรงดัน (Main Spring) ลงมากดก้านวาล์ว (Valve Assembly) ลง ซึ่งเมื่อวาล์วเคลื่อนที่ลงมาก็จะไปเปิดทางให้ลมอัดสามารถไหลผ่านวาล์วดังกล่าวไปยังทางออก (Air Out) ได้ดังรูปที่ 8C ซึ่งลมอัดดังกล่าวจะสามารถไหลผ่านไปได้มากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับว่า เราหมุนตัวปรับความแข็งสปริงลงมากดสปริงหลักปรับแรงดันมากหรือน้อย หลังจากที่ลมอัดผ่านวาล์วปรับแรงดันไปแล้วก่อนทางออกแรงดันของลมอัดก็จะผ่านรูเล็ก ๆ ขึ้นไปกระทำกับพื้นที่ของแผ่นไดอะแฟรม (Diaphame Assembly) ซึ่งเป็นชุดรองสปริงหลักปรับแรงดันอยู่ดังรูปที่ 8D        

.

แรงจากลมอัดจะไปยกแผ่นไดอะแฟรมและส่งผลให้เกิดแรงยกดันให้สปริงหลักปรับแรงดันยกตัวขึ้นด้านบน เป็นผลให้แผ่นวาล์ว (Valve Assembly) ยกตัวขึ้นปิดช่องทางของลมอัดให้ลดลง ลมอัดก็จะผ่านได้น้อยลง เมื่อลมอัดผ่านได้น้อยลงก็จะทำให้แรงดันของลมอัดที่อยู่หลังแผ่นวาล์วและที่ดันแผ่นไดอะแฟรมอยู่ลดลงทำให้สปริงหลักปรับแรงดันกดก้านวาล์วปรับแรงดันให้เปิดออก ลมอัดก็สามารถไหลผ่านแผ่นวาล์วไปได้อีกกลับไปกลับมากันอย่างนี้ตลอด ดังรูปที่ 8E

.

ในกรณีที่เราต้องการลดแรงดันตรงทางออกให้น้อยลง เราก็หมุนตัวปรับคลายให้สปริงปรับแรงดันอ่อนลง จึงทำให้แรงกดที่แกนวาล์วลด ทำให้วาล์วยกตัวไปปิดช่องทางเดินของลมอัด และแรงดันจากทางออกที่ยังมากอยู่ก็จะไปดันแผ่นไดอะแฟรมให้ยกตัวขึ้นเหนือแกนวาล์วและเปิดรูระบายเหนือแกนวาล์วจึงทำให้ลมอัดส่วนเกินถูกระบายออกทางช่องระบายด้านข้างของลูกบิดลดแรงดัน จนแรงดันของทางออกลดลง รูระบายตรงกลางแผ่นไดอะแฟรมจึงปิดตัวลงเนื่องจากแผ่นไดอะแฟรมลดระดับต่ำลงมา ดังรูปที่ 8F และรูปที่ 8G

.

รูปที่ 8 การทำงานของตัวปรับแรงดัน (Regulator)

.

ซึ่งการที่แรงดันทางด้านออก (Air Out) จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเราหมุนปรับสปริงปรับแรงดันลงมามากน้อยเพียงใด ถ้าเราหมุนปรับสปริงปรับแรงดันลงมามาก ก็จะทำให้เกิดแรงกดที่ก้านวาล์วปรับแรงดันมากดังนั้นแผ่นวาล์วปรับแรงดันก็จะเคลื่อนที่ลงมาทำให้เกิดระยะห่างมากทำให้ลมอัดสามารถเคลื่อนที่ผ่านได้มากและในขณะเดียวกันแรงดันของแผ่นไดอะแฟรมที่ทำให้ชนะแรงกดของสปริงหลักปรับแรงดันก็มีผลกับสปริงหลักปรับแรงดันน้อยจึงส่งผลให้แรงดันและอัตราการไหลของลมอัดที่ออกจากทางออก (Air Out) จึงมาก

.

จะเห็นว่าการทำงานของชุดปรับแรงดันลมอัด (Pressure Regulator) นั้นแรงดันและอัตราการไหลของลมอัดจะขึ้นอยู่กับความแข็งของปริงปรับแรงดันที่เราขันอัดโดยผ่านตัวปรับแรงดัน (Adjusting Knob) และแผ่นไดอะแฟรมปรับแรงดัน ซึ่งถ้าเราหมุนสปริงปรับแรงดันแข็งแรงดันและอัตราการไหลของลมอัดจะมากและถ้าเราปรับความแข็งสปริงน้อยแรงดันและอัตราการไหลของลมอัดที่ออกมาจะน้อยตามไปด้วยซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราสมดุลระหว่างความแข็งของสปริง แรงยกแผ่นไดอะแฟรมและอัตราการเปิดของแผ่นวาล์วที่ติดอยู่กับก้านวาล์ว  ในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อใช้งานไปนาน ๆ ส่วนมากจะเกิดเพราะว่าแผ่นไดอะแฟรมฉีกขาดทำให้ไม่สามารถปรับแรงดันได้

.
* ส่วนของชุดหล่อลื่น (Lubricator)

ในส่วนของชุดหล่อลื่น จะทำหน้าที่จ่ายน้ำมันหล่อลื่นให้กับลมอัดที่ถูกปรับสภาพความสะอาดและปรับแรงดันให้พอดีกับความต้องการของเครื่องจักร เพื่อให้น้ำมันหล่อลื่นผสมกับลมอัดที่ออกไปในอัตราที่เหมาะสมที่จะไปให้การหล่อลื่นชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เคลื่อนที่ เช่นลูกสูบ (Air Cylinder) ต่าง ๆ มอเตอร์ลม (Air Motor) และอุปกรณ์อื่น ๆ (Other Actuator) ที่เคลื่อนที่แบบต่าง ๆ ทั้งนี้และทั้งนั้นเพื่อลดความร้อนและการสึกหรอที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์เหล่านั้น หลักการทำงานของชุดหล่อลื่น (Lubricator) ในการผสมน้ำมันกับลมเบื้องต้นดังรูปที่ 9 

.

รูปที่ 9 หลักการทำงานเบื้องต้นของชุดหล่อลื่น

.

โดยที่เริ่มต้นเมื่อลมอัดเดินทางผ่านเข้ามาทางช่องทางเข้าที่แรงดันลม P1 และช่องทางเข้าจะถึงกันกับกระเปาะเก็บน้ำมันหล่อลื่น ดังนั้นแรงดันของลมอัดที่ทางเข้าและในกระเปาะน้ำมันหล่อลื่นจึงเท่ากัน ซึ่งมีปลายของท่อส่งน้ำมันหล่อลื่นจุ่มอยู่ หลังจากทางเข้าช่องเดินของลมอัดจะถูกออกแบบให้ลดขนาดพื้นที่หน้าตัดลงให้เป็นคอคอด (Venturi) เมื่อลมอัดเดินทางมาถึงจุดที่เป็นคอคอดนี้จะทำให้ลมอัดมีความเร็วเพิ่มขึ้น        

.

ดังนั้นแรงดันของลมอัดจะลดลง P2 ซึ่ง ณ จุดนี้จะมีช่องทางติดต่อกับ Sign Glass หรือโดม ซึ่งตรงนี้จะมีปลายท่อส่งน้ำมันติดตั้งอยู่ เมื่อมีลมอัดผ่านเข้ามาในชุดหล่อลื่น แรงดันในกระเปาะน้ำมัน ซึ่งมีปลายท่อด้านดูดของท่อส่งน้ำมันจุ่มอยู่ จะมีแรงดันสูงกว่าท่อด้านบนใน Sign Glass หรือโดม ผลก็คือแรงดันที่สูงกว่าด้านล่างจะดันน้ำมันหล่อลื่นให้ไหลขึ้นไปยังปลายด้านบนของท่อให้หยดลงที่ Sign Glass หรือโดม จากนั้นก็ผสมกับลมที่ผ่านเข้ามาและออกไปยังทางออกต่อไป     

.
โดยทั่วไปแล้วชุดหล่อลื่นที่ใช้อยู่จะแบ่งเป็นสองแบบโดยแบ่งตามลักษณะการจ่ายน้ำมันหล่อลื่นคือ

* Fog Lubricator เป็นแบบที่พบเห็นกันโดยทั่วไปและเป็นที่นิยมใช้กันมากดังรายละเอียดการทำงานที่อธิบายมาในตอนต้นดังรูปที่ 9 ชุดหล่อลื่นแบบนี้เหมาะสำหรับการหล่อลื่นวงจรลมอัดที่มีระยะทางหรือท่อลมสั้น ๆ และอุปกรณ์ไม่กี่ตัว เช่นเครื่องจักรแต่ละเครื่อง,กระบอกลม, มอเตอร์ลมหรือเครื่องมือที่ใช้ลมอัดอื่น ๆ

.

* Micro-fog Lubricator เป็นชุดหล่อลื่นที่พบเห็นน้อยในการใช้งานทั่วไป มีรูปแบบและโครงสร้างที่สลับซับซ้อนกว่าชุดหล่อลื่นแบบธรรมดา ดังรายละเอียดในรูปที่ 11 ละอองน้ำมันที่ได้จากชุดหล่อลื่นแบบนี้จะมีความละเอียดกว่าชุดหล่อลื่นแบบธรรมดา คือการผสมระหว่างลมอัดกับละอองน้ำมันดีกว่า จึงให้ละอองน้ำมันที่ละเอียดกว่า โดยส่วนมากแล้วจะนิยมใช้กับระบบจ่ายลมที่มีท่อทางเดินของลมอัดที่ไกล

.

เช่น ระบบที่จ่ายน้ำมันหล่อลื่นจากศูนย์กลาง วงจรควบคุมหลักที่ใช้ลมเป็นตัวควบคุม หรือระบบวาล์วประเภท Multiple Valve และระบบอุปกรณ์ทำงานต่าง ๆ (Actuator System) ข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่งที่ต่างกับชุดหล่อลื่นแบบธรรมดาคือถ้าเราดูจำนวนหยดที่น้ำมันหยดใน Sign Glass หรือโดมนั้น จำนวนหยดที่หยดลงจะถูกพาไปกับลมอัดทางออก (Down Stream Air) เพียง 10% เท่านั้น ที่เหลือจะหยดลงไปด้านล่าง ดังนั้นในปริมาณการใช้ลมที่เท่า ๆ กัน เราต้องปรับปริมาณการหยดของน้ำมันหล่อลื่นกับชุดหล่อลื่นแบบ Micro–fog ให้มากกว่าชุดหล่อลื่นแบบธรรมดาประมาณ 10 เท่า

.

สำหรับรายละเอียดความแตกต่างระหว่างชุดหล่อลื่นทั้งสองแบบสามารถดูได้จากตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ความแตกต่างระหว่างชุดหล่อลื่นแบบธรรมดา (Flog Lubricator) กับแบบ Micro–Frog

.

รูปที่ 10 โครงสร้างโดยทั่วไปของชุดหล่อลื่น (Lubricant Unit)

.

รูปที่ 11 โครงสร้างและหลักการทำงานของชุดหล่อลื่นแบบ Micro-fog Lubricator

.
น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้กับชุดหล่อลื่น (Lubrication Unit Oil)

สำหรับความหนืดของน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้ก็มีผลกับคุณภาพของลมที่ออกไปเช่นกัน โดยที่ถ้าหากเราใช้น้ำมันหล่อลื่นที่มีความหนืดน้อยเกินไปกับชุด Lubricator ก็จะเป็นผลให้การกระจายตัวของน้ำมันในลมอัดที่ออกเจือจางเกินไปทำให้ประสิทธิภาพการหล่อลื่นลดลง ในขณะเดียวกันถ้าเราใช้น้ำมันหล่อลื่นที่มีความหนืดมากเกินไปก็จะทำให้การผสมของน้ำมันกับอากาศไม่ดีและไม่ทั่วถึง เพราะฉะนั้นในการเลือกใช้ต้องดูจากคู่มือของผู้ผลิตชุดอากาศบริการ (Service unit) ว่าแนะน้ำให้ใช้น้ำมันแบบใหน แต่ที่นิยมใช้กันส่วนมากจะเป็นน้ำมันไฮดรอลิกเบอร์ ISO VG32 หรือTurbine Oil Class1 ISO VG32

.

ตารางที่ 2 อัตราการหยดของน้ำมันหล่อลื่นต่ออัตราการไหลของลมอัดผ่านชุดหล่อลื่นที่ใช้กันโดยทั่วไป

.
ปริมาณอัตราส่วนผสมระหว่างน้ำมันหล่อลื่นกับปริมาณลมอัด

ปริมาณอัตราส่วนระหว่างปริมาณน้ำมันกับลมอัดนั้น เราสามารถปรับได้ที่ตัวสกรูปรับด้านบนของชุดหล่อลื่นดังรูปที่ 12 โดยในการปรับนั้นเราสามารถหมุนสกรูปรับไปทางซ้ายมือเพื่อที่จะเพิ่มปริมาณน้ำมันและหมุนสกรูไปทางขวามือเพื่อที่จะลดปริมาณน้ำมันที่หยดไปผสมกับลมอัดที่ผ่านออกไปยังทางออกไปสู่ระบบ

.

สำหรับปริมาณการหล่อลื่นเป็นหยด/นาที ของน้ำมันหล่อลื่นนั้น อันดับแรกเราอาจปรับตามความต้องการมากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพการหล่อลื่นและสภาพของเครื่องจักรที่เราพิจารณาเห็นสมควรหรือตามคู่มือของผู้ผลิตเครื่องจักรนั้น ๆ แต่ในกรณีที่ไม่มีคู่มือคำแนะนำ ให้เราพิจารณาตามตารางที่ 2 โดยสิ่งที่เราจะต้องนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรกคืออัตราการไหลของลมอัด 

.

ซึ่งเราสามารถคำนวณได้จากปริมาตร ความถี่ในการเคลื่อนที่และจำนวนของอุปกรณ์ที่ต้องการหล่อลื่น เราก็จะได้อัตราการไหลออกมาตามตารางให้ใช้หน่วยของอัตราการไหลที่เป็นลิตร/วินาที จากนั้นเราก็ปรับอัตราการหยด (Drip Rate) ของชุดหล่อลื่นตามตารางที่ 2 โดยดูว่าชุดหล่อลื่นของเราเป็นแบบไหน หลังจากที่ปรับเสร็จแล้วก็ดูให้แน่ใจว่าอัตราการไหลเป็นไปตามที่ปรับตั้งไว้ หลังจากนั้นก็ใช้งานเครื่องจักรตามปกติ

.
การใช้งานชุดอากาศบริการ

การติดตั้งชุดอากาศบริการนั้น เราควรที่จะติดตั้งในจุดก่อนที่จะนำลมอัดไปใช้ในระบบ เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ลมเช่น กระบอกลม และควรติดตั้งในจุดที่สามารถเข้าไปทำการปรับตั้งง่ายและง่ายต่อการสังเกตเพราะจะทำให้เราสามารถสังเกตความผิตปกติที่เกิดกับชุดอากาศบริการ (Service Unit) ได้ง่าย เช่น เมื่อน้ำมันหล่อลื่นแห้งเราก็สามารถเข้าไปเติมน้ำมันได้โดยง่ายอีกด้วย

.

รูปที่ 12 การปรับตั้งจำนวนหยดของน้ำมันหล่อลื่น

.

รูปที่ 13 การประยุกต์ใช้ชุดอากาศบริการกับวงจรลมอัด

.
สรุป

จากที่กล่าวมาข้างต้น คงทำให้เราเห็นความสำคัญของเจ้าอุปกรณ์ชุดเล็ก ๆ นี้ ว่ามีความสำคัญกับระบบลมมากแค่ใหน เพียงแค่เราให้ความใส่ใจกับมันสักนิด มีเวลาตรวจสอบการทำงานของ ชุดอากาซบริการว่ามีน้ำค้างในชุดตัวกรองอากาศ (Filter) หรือไม่ แรงดันที่ออกจากตัวปรับแรงดันลม (Regulator) เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ หรือในส่วนของชุดหล่อลื่น (Lubricator) มีน้ำมันหรือไม่ ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งผิดปกติก็รีบแก้ใข เพียงแค่นี้ก็จะทำให้เครื่องจักรที่ท่านดูแลรับผิดชอบทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพได้

.

เอกสารอ้างอิง

[1] WIKERSON "Compressed Air System"
[2] Product Catalog "Section14 Lubricator" NORGREN, USA

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด