เนื้อหาวันที่ : 2009-09-23 23:09:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 31898 views

เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ รถยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Vehicle)

การเดินทางในอนาคตไม่ไกลนี้ จะเต็มไปด้วยความปลอดภัยอย่างสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีรถยนต์อัจฉริยะ ที่ไม่ต้องการคนขับ โดยรถอัจฉริยะจะมีระบบตรวจวัดหลายประเภทติดที่ตัวรถ และส่งผ่านไปเครื่องสื่อสาร แล้วนำมาประมวลผลคำนวณเส้นทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของรถยนต์อัจฉริยะ ซึ่งได้พัฒนามาจาก Artificial Intelligence หรือ AI

เกรียงไกร แซมสีม่วง 
M. Sc. (Mechanics and Eng. Design), Hannover, Germany

.

.

การเดินทางในอนาคตไม่ไกลนี้  จะเต็มไปด้วยความปลอดภัยอย่างสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีรถยนต์อัจฉริยะ ที่ไม่ต้องการคนขับ โดยรถอัจฉริยะจะมีระบบตรวจวัดหลายประเภทติดที่ตัวรถ และส่งผ่านไปเครื่องสื่อสาร  แล้วนำมาประมวลผลคำนวณเส้นทางและควบคุมการเคลื่อนที่ของรถยนต์อัจฉริยะ ซึ่งได้พัฒนามาจาก Artificial Intelligence หรือ AI

.

มนุษย์เราทุกวันนี้นั้นสามารถออกแบบและสร้าง ให้รถยนต์มีความสามารถที่จะทำการขับเคลื่อนได้อย่างชาญฉลาด ทำการเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ดังใจต้องการ    แถมด้วยมีการติดตั้งระบบอัจฉริยะป้องกันอุบัติเหตุและป้องกันการสูญเสียนั้น คงจะไม่ใช่เรื่องยากเกินจินตนาการของมนุษย์ในยุคสมัยนี้อีกต่อไป แต่ความเป็นจริงแล้วกว่าจะสร้างฝันสู่ความเป็นจริงก็ไม่ง่ายนัก หากแต่ความพยายามของคนไม่เคยหยุดนิ่ง ดังนั้นแล้วจึงเกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ รถยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Vehicle) ขึ้นมา ซึ่งมีระบบหลักการการทำงาน และการควบคุม โดยเริ่มต้นตั้งแต่ รับข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดประเภทต่างๆ ที่ติดตั้งมาบนรถ (Various Sensors) 

.

เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดตำแหน่งปัจจุบันของรถ, อุปกรณ์ตรวจวัดตำแหน่งของรถคันอื่นที่เคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันหรือสวนทางมา, อุปกรณ์ตรวจวัดสิ่งกีดขวางบนเส้นทางการเคลื่อนที่ ทั้งที่อยู่กับที่และเคลื่อนที่, อุปกรณ์ตรวจวัดเส้นแบ่งบนเส้นทาง สัญลักษณ์ หรือสัญญาณจราจรอื่นๆ, อุปกรณ์การสื่อสารระหว่างรถอัจฉริยะด้วยกัน ต่อจากนั้นจะนำข้อมูลจากอุปกรณ์เหล่านี้มาประมวลผล (Data Processing) เพื่อกำหนดเส้นทางการเคลื่อนที่ และควบคุมการเคลื่อนที่ของรถยนต์โดยอัตโนมัติ และมีความปลอดภัย 

.

นอกจากนี้แล้ว รถยนต์อัจฉริยะยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นยานพาหนะสำหรับผู้พิการทางสายตา ผู้พิการแขน-ขา ผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุที่ไม่สามารถขับยานพาหนะเองได้อีกด้วย ซึ่งพบว่าในปัจจุบันนี้ มนุษย์เราต้องการที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ให้มีความเฉลียวฉลาดเทียบเท่ากับความคิดความอ่านของมนุษย์เอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเป็นการเชื่อมโยงกันของเรื่องเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตัวจิ๋ว ข้อแตกต่างกันของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Digital Computer) และระบบโครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Systems) แสดงในตารางที่ 1 

.

ตารางที่ 1 แสดงการเปรียบเทียบ ระหว่าง Digital Computers และ Neural Networks

.
เทคโนโลยีนวัตกรรมรถยนต์อัจฉริยะ 

ถ้าจะเทียบเคียงก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นศาสตร์หนึ่งที่แตกแขนงมาจาก Artificial Intelligence หรือ AI นั่นเอง อย่างไรก็ตามยังคงมีการพัฒนาความสนใจใน Artificial Intelligence ซึ่งเริ่มจะให้ผลประโยชน์เกิดขึ้นในองค์กรได้ Artificial Intelligence เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมของการสร้างเครื่องจักรกล เพื่อให้มีความฉลาด มีสติปัญญา โดยเฉพาะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีสติปัญญา ซึ่งมันจะเกี่ยวพันถึงงานที่จะใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำความเข้าใจถึงสติปัญญาของมนุษย์ ทางด้านวิทยาศาสตร์นั้น Artificial Intelligence เป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจถึงสิ่งที่จำเป็น และความสามารถของเครื่องจักรกล สติปัญญาในหลายๆ แบบ ทั้งในมนุษย์ สัตว์อื่นๆ และการจัดการข้อมูลของเครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ 

.

ส่วนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ Artificial Intelligence เป็นความพยายามนำความรู้ในการออกแบบเครื่องจักรกลชนิดใหม่ ซึ่งจะช่วยเราในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยความเป็นอัจฉริยะของมัน ปัญหาของ A.I. ที่เกิดขึ้นก็คือ ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเครื่องจักรกลแบบใดที่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Intelligence   

.

ในการวิจัย A.I. ได้ค้นพบวิธีสร้างคอมพิวเตอร์ที่สามารถมีสติปัญญา แต่ก็ไม่ใช่ Intelligence ทั้งหมดที่แท้จริง โดยที่คอมพิวเตอร์ในทุกวันนี้สามารถทำงานที่เราต้องการตามกำหนดขึ้นมาเพื่อเครื่องๆ นั้นได้เป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถทำทุกอย่างได้ ดังนั้นจึงถือว่าคอมพิวเตอร์มีความฉลาดในบางเรื่องเท่านั้น ในบางครั้ง A.I. ได้เลียนแบบสติปัญญาของมนุษย์ แต่ก็ไม่เสมอไปที่จะเป็นเช่นนั้น ในด้านหนึ่งเราสามารถเรียนรู้ที่จะสร้างเครื่องจักรกลเพื่อแก้ปัญหาโดยสังเกตจากผู้คน หรือเพียงแต่สังเกตจากวิธีการแก้ปัญหาของเรา

.

แต่ในทางกลับกัน งานหลายๆ อย่างที่ A.I. เข้าไปมีส่วนร่วมนั้นจะทำการศึกษาปัญหาจากความรู้ทั่วไป มากกว่าที่จะ ศึกษาจากมนุษย์หรือสัตว์ การวิจัย A.I. ได้เปิดกว้างที่จะสามารถใช้วิธีที่ไม่จำเป็นต้องศึกษาหรือสังเกตจากมนุษย์ ซึ่งสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในทำงานในสิ่งที่มนุษย์สามารถทำได้มากกว่าในปัจจุบัน

.
โครงการรถยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Car) 

เป็นหนึ่งในสามโครงการนำร่องภายใต้โครงการ European Information Society 2010 หรือ i2010 ซึ่งมีจุดประสงค์ในการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานในยุโรปผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยแบบดิจิตอล อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตและการบริการอันดีแก่ประชาชน โครงการรถยนต์อัจฉริยะนี้ เป็นโครงการสำคัญที่นำเอาประโยชน์จากวิทยาการใหม่ๆ ด้านไอซีทีมาพัฒนาระบบรถยนต์ให้มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และกระตุ้นการวิจัยและการพัฒนาให้เป็นรูปธรรม โดยมุ่งให้ประโยชน์แก่ประชาชนและมุ่งเปิดตลาดการค้า

.

ตัวอย่างระบบด้านไอซีทีที่นำมาใช้กับการขนส่งและรถยนต์ ได้แก่ ระบบการควบคุมเส้นทางอัตโนมัติ (Autonomous Cruise Control หรือ ACC) ซึ่งอาจช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าหากมีการติดตั้งเทคโนโลยี ACC แก่ 10% ของรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2010 จะสามารถช่วยรักษาชีวิตผู้ใช้ถนนได้ประมาณ 4,000 คนต่อปี และเทคโนโลยีเตือนการออกจากช่องทางและช่วยในการเปลี่ยนช่องทางวิ่งของรถยนต์ ถ้ามีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพียง 0.6% ของรถยนต์ทั้งหมดในปี 2010 จะสามารถรักษาชีวิตได้ 1,500 คนต่อปี

.

นอกจากนี้ยังมีโครงการ AWEAK ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบช่วยเตือนคนขับที่มีภาวะการระวังตัวต่ำ เช่นง่วงนอน หรือหลับใน มีการประมาณว่าการใช้เทคโนโลยีนี้จะสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ร้ายแรงได้ 9% และลดการเกิดอุบัติเหตุบนทางมอเตอร์เวย์ได้ถึง 30% การพัฒนาโครงการรถยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Car) ของสหภาพยุโรปเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่ไทยอาจต้องจับตาในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

.

กล่าวคือ เทคโนโลยีใหม่ๆ ของสหภาพยุโรปดังกล่าวอาจส่งผลให้มาตรฐานการผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านความปลอดภัย และประเด็นการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับยุโรป อีกทั้งในอนาคตสหภาพยุโรปอาจออกกฎหมายและตั้งมาตรฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมโครงการดังกล่าว ซึ่งไทยควรให้ความสนใจและเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในอุตสาหกรรมรถยนต์ หากไทยต้องการเป็นดิทรอยแห่งเอเชีย ความคืบหน้าของโครงการการผลิตรถยนต์อัจฉริยะ จึงเป็นโครงการที่น่าติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป 

.

รูปที่ 1 แสดงการทำงานของระบบการควบคุมเส้นทางอัตโนมัติ โดยที่รถยนต์ที่วิ่งอยู่บนเส้นทางนั้นระบบบริหารการจราจรจะสามารถตรวจสอบตำแหน่งปัจจุบันได้  

.

รูปที่ 2 แสดงการทำงานของระบบเบรกฉุกเฉินในรถยนต์ เมื่อบริเวณจุดที่ 1 เกิดอุบัติเหตุ เพื่อเป็นการช่วยลดการชนกันเมื่อจุดบริเวณที่ 2 เบรก สัญญาณจะส่งไปที่รถยนต์คันที่อยู่จุดบริเวณที่ 3 ให้เบรกแบบทิ้งระยะห่างล่วงหน้าทันที

.

รูปที่ 3 แสดงการทำงานของระบบหอควบคุมสัญญาณ โดยสมมุติว่ารถยนต์จุดบริเวณที่ 3 นั้นเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดการชำรุดเสียหาย สัญญาณที่รถยนต์จะส่งต่อไปยังหอควบคุมเพื่อที่หอควบคุมจะได้ส่งสัญญาณไปขอความช่วยเหลือ

.

ซึ่งโครงการในประเทศไทยเองนั้น สมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทยได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้จัดสัมมนา เรื่อง “ประเทศไทยจะพัฒนารถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับคันแรกได้อย่างไร” เพื่อเผยแพร่ความรู้และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีเชื่อมต่องานวิจัย ให้สามารถขยายผลเข้าสู่เชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ได้อย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ ทั้งนี้โครงการพัฒนารถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับ

.

โดยได้รับความร่วมมือในลักษณะเครือข่ายการวิจัยจาก 12 สถาบันได้แก่ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)} มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.), มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที), มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.), และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.),

.

ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าว เป็นโครงการเพื่อพัฒนารถยนต์ที่มีความเป็นอัจฉริยะ สามารถที่จะขับเคลื่อนจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งได้โดยปราศจากคนบังคับ และอาศัยเพียงการป้อนข้อมูลสถานที่เป้าหมายของผู้โดยสาร และรถยนต์จะสามารถที่จะรับรู้ข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดประเภทต่างๆ ที่ติดตั้งในรถยนต์ เช่น อุปกรณ์ตรวจวัดตำแหน่งปัจจุบันของรถยนต์, อุปกรณ์ตรวจวัดตำแหน่งของรถยนต์คันที่สวนทางมา, อุปกรณ์ตรวจวัดสิ่งกีดขวางทั้งที่อยู่นิ่งและเคลื่อนที่บนเส้นทาง, อุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณจราจรเป็นต้น  

.

แต่ละสถาบันจะรับผิดชอบในโครงการย่อยตามความถนัดโดยมีสถาบันเอไอทีบริหารโครงการโดยรวมทั้ง 12 โครงการ ในส่วนงานวิจัยทางกลไกของรถยนต์อัจฉริยะรับผิดชอบโดย จุฬาฯ และ สจล. ส่วนงานด้านอุปกรณ์ตรวจวัด เช่น การใช้สัญญาณภาพตรวจจับสิ่งกีดขวาง เป็นต้น รับผิดชอบโดย มจธ. ม.กรุงเทพ และ สจพ. งานส่วนระบบควบคุม เช่น ควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ เป็นต้น รับผิดชอบโดย SIIT มหิดล และ มก. ในส่วนเชื่อมต่อการแสดงผลกับผู้ใช้และควบคุมทางไกล รับผิดชอบโดย เอไอที จากนั้นเมื่อทุกส่วนทำสำเร็จก็จะนำผลงานมารวมกันเพื่อสร้างเป็น "รถยนต์อัจฉริยะ" ต้นแบบ 

.
การใช้สัญญาณภาพตรวจจับสิ่งกีดขวางในรถยนต์อัจฉริยะ

ในส่วนของการใช้สัญญาณภาพเพื่อที่จะทำการตรวจจับสิ่งกีดขวางในรถยนต์อัจฉริยะนั้น บริษัทเอ็นอีซี ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจการจำหน่ายชิปตรวจจับภาพสำหรับรถยนต์นั้น ได้ระบุว่าชิปลอตแรกจะส่งให้กับโตโยต้ามอเตอร์ อุตสาหกรรมชิปสำหรับรถยนต์นั้นตื่นตัวเพื่อรับความต้องการ "รถยนต์อัจฉริยะที่มีหลากหลายฟังก์ชัน" ของผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันชิปอิเล็กทรอนิกส์นั้น ได้เข้ามามีบทบาทต่อการควบคุมการทำงานของรถยนต์อย่างมาก ตั้งแต่การล็อคประตูไปจนถึงการขับขี่ จุดนี้เองที่ทำให้เอ็นอีซี (NEC Electronics) คาดหวังว่าในปี 2015 เอ็นอีซีจะสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดในตลาดชิปสำหรับรถยนต์ได้ 40 เปอร์เซ็นต์    

.

โดยชิปประมวลผลภาพสำหรับรถยนต์นั้น เอ็นอีซีมองว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ที่สามารถจะขยายตัวต่อเนื่องต่อไปได้ในอนาคต "ถ้าเป็นปี 2015 ส่วนแบ่งทางตลาดของเราอาจจะมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยจำนวนฟังก์ชันใหม่ๆ ในรถยนต์ที่ต้องอาศัยการจำแนก และการวิเคราะห์ของชิปประมวลผลภาพที่เพิ่มขึ้น ทำให้เราตั้งเป้าว่า ชื่อเอ็นอีซี นั้นจะเป็นมาตรฐานชิปประมวลผลภาพให้กับผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกได้ในปี 2015" โยชิโรอุ มิยาจิ (Yoshirou Miyaji) ผู้จัดการทั่วไปธุรกิจระบบภายในรถยนต์ของเอ็นอีซีกล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ส 

.

Lexus LS460 รุ่นใหม่ล่าสุดที่เล็กซัสจะเตรียมเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ จะมาพร้อมกับชิปประมวลผลภาพที่ช่วยให้การทำงานของรถยนต์เป็นไปอย่างอัตโนมัติมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ระบบเบรกอัตโนมัติที่จะทำงานทันทีหากรถยนต์มีความเสี่ยงที่จะชนกับรถยนต์คันอื่น หรือสิ่งกีดขวาง โดยที่ระบบเบรกดังกล่าวจะหยุดรถยนต์ก่อนการชนจะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที เมื่อระบบวิเคราะห์พบว่ารถยนต์จะชนกับวัตถุอย่างแน่นอน ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการชนกัน หรือบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้มีความร้ายแรงน้อยลง นอกจากเล็กซัสแล้ว ฮอนด้ามอเตอร์ก็ประกาศว่ากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนารถยนต์ที่มีระบบเตือนให้ผู้ขับขี่หักเลี้ยวหลบก่อนพุ่งเข้าชนวัตถุด้วย

.

เอ็นอีซีคาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของยอดจำหน่ายชิปประมวลผลภาพสำหรับรถยนต์ในปี 2015 ว่าจะสูงถึง 2 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 6.9 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับยอดขายรวมของเอ็นอีซีในปีการเงิน 2005 เอ็นอีซีเปิดเผยว่า อัตราการผลิตชิปสำหรับรถยนต์จะอยู่ที่ 1 หมื่นชิ้นต่อเดือนได้ภายในปีการเงิน 2007 โดยในปี 2010 คาดว่าจะมีรถยนต์ซึ่งใช้ชิปประมวลผลภาพของเอ็นอีซีราว 4 ล้านคัน ก่อนจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 8.6 ล้านคันในปี 2012 และ18 ล้านคันในปี 2015 ความเคลื่อนไหวของเอ็นอีซีในครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ว่าจะมีความต้องการระยะยาวที่มั่นคง 

.

สำหรับเทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพนั้นเป็นที่แพร่หลายในตลาดรักษาความปลอดภัย เช่น การใช้งานควบคู่กับระบบกล้องวงจรปิดภายในอาคาร เพื่อตรวจสอบและป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น แต่ในตลาดรถยนต์แล้ว เทคโนโลยีวิเคราะห์ภาพยังคงเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กอยู่ในปัจจุบัน รูปที่ 4 แสดงให้เห็นถึงการทำงานของระบบเซ็นเซอร์สัญญาณเตือนที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์ของเจเนอรัล มอเตอร์ ซึ่งนำมาเปิดเผยภายในงานคอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์โชว์ ที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา โดยรถยนต์ในอนาคตจะมีคอมพิวเตอร์ชิป เสาอากาศที่เชื่อมต่อกันภายในรถกับเครือข่ายดาวเทียมและแผนที่ดิจิทัล เรเดาร์จะส่งสัญญาณเตือนหากเปลี่ยนเลนหรือมีรถคันอื่นมาใกล้

.

รูปที่ 4 แสดงการทำงานของระบบเซ็นเซอร์สัญญาณเตือนที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์

.
ความเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีรถอัจฉริยะในไทย

สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) ได้มีการเปิดตัว เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ "รถอัจฉริยะไร้คนขับ" ต้นแบบขับเคลื่อนบนเส้นทางขึ้น ซึ่งใช้เวลาพัฒนา 2 เดือนโดยได้รับการสนับสนุนจากซีเกทและเนคเทค แต่ยังติดปัญหาที่เคลื่อนที่ไม่เสถียรในบริเวณที่มีความเข้มแสงไม่คงที่ พร้อมจัดแข่งขันพัฒนารถอัจฉริยะ ส่งแชมป์ไปดูการแข่งขันระดับโลก "เออร์แบน ชาเลนจ์" ที่สหรัฐ

.

รูปที่ 5 รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล และรถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับต้นแบบ (AIT)

.

และได้มีการสาธิตหลักการทำงานของรถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับต้นแบบ ซึ่งสามารถขับเคลื่อนไปตามเส้นทางได้เองโดยไม่ต้องอาศัยคนบังคับ ทั้งนี้ รศ.ดร.มนูกิจ พานิชกุล อาจารย์ภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมอุตสาหการ ได้อธิบายหลักการทำงานของรถคันดังกล่าวว่า กล้องที่ติดอยู่หน้าตัวรถนั้นจะรับภาพแล้วส่งไปประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่ติดตั้งภายในรถ เพื่อตัดสินใจในการเลี้ยวซ้าย-ขวา หรือหยุดรถตามสภาพของถนน และรถอัจฉริยะต้นแบบของเอไอทีนี้ เป็นโครงการของภาควิชาเมคาโทรนิคส์ที่ใช้เวลาพัฒนา 2 เดือนโดยการสนับสนุนของ บริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)  

.

อย่างไรก็ตาม รถต้นแบบดังกล่าวยังประสบปัญหาในเรื่องของ ความไม่เสถียรเมื่อขับเคลื่อนในสถานที่ที่มีความเข้มแสงไม่คงที่ และต้องอาศัยคนเข้าไปปรับค่าคงที่เพื่อให้รถขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้น รศ.ดร.มนูกิจกล่าวว่า เป็นจุดที่ยังต้องพัฒนาต่อไป ส่วนความเร็วของรถอยู่ที่ 3.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งยังห่างไกลที่จะนำไปใช้ในการวิ่งตามท้องถนนจริงๆ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้มีความเร็วขั้นต่ำอยู่ที่ 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้กล่าวอีกว่า ศาสตร์ในการออกแบบรถยนต์อัจฉริยะไร้คนขับนี้ยังเป็นศาสตร์เดียวกับที่ใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์ในโรงงาน เครื่องจักรกลต่างๆ รวมถึงสายพานในการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

.

ไอทีเอส (ITS-Intelligent Transport System) ระบบการขนส่ง และการจราจรอัจฉริยะ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ภูมิใจนำเสนอข้อมูล ซึ่งในปัจจุบันนี้นั้นกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องจากกุญแจแห่งเทคโนโลยีสำหรับการเดินทางทางถนนในยุคศตวรรษที่ 21 ทำให้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกนั้นมีความพยายามในการค้นคว้า วิจัยพัฒนา และทดลองในการปฏิบัติด้าน IT ทั้งในภาครัฐบาล และภาคเอกชนเอง ต่างก็ได้มีความพยายามร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะให้เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริง ไอทีเอส (ITS-Intelligent Transport System) หรือระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ กำลังได้รับการกล่าวถึงกันในสังคมของโลกยานยนต์

.

เนื่องจากไอทีเอส เป็นหนึ่งในการพัฒนาการขนส่งให้สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้มากกว่าการเดินทาง การแข่งขันกันเพื่อพัฒนายนตรกรรมทั่วโลก แม้จะแข่งขันกันรุนแรงเพียงใดก็ตาม ในด้านแผนการพัฒนาแล้ว ยังอิงกับระบบการขนส่งอัจฉริยะ กิจกรรมเหล่านี้ กำลังได้รับเงินลงทุนมากมายในรูปของโครงการระดับชาติ ในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปกำลังร่วมมือกันเพื่อสร้างมาตรฐานโลก ในส่วนของประเทศไทยเอง ไอทีเอส นั้นเริ่มเป็นที่สนใจ จากการจัดการประชุมของ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกที่ให้เงินสนับสนุนจำนวน 670 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบไอทีเอสของประเทศไทย

.

ซึ่งจะเป็นการกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนาระบบไอทีเอสในภาพรวม บางส่วนนั้นประเทศไทยเริ่มเข้ากรอบของไอทีเอส บ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การจัดทำระบบรายงานจราจรแบบเรียลไทม์ การติดตั้งระบบซีซีทีวี ให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงแผนการติดตั้งระบบถ่ายภาพผู้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดงบริเวณทางแยก (Red Light Camera) ในประเทศญี่ปุ่น โครงการ ไอทีเอส นั้นได้รับการจัดความสำคัญให้เป็นระบบใหญ่ มีความร่วมมือภายใต้  "แผนการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ ITS" เพื่อพัฒนาร่วมกัน

.

โดยเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่สำคัญคือ กรมตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงการบริหารสาธารณะ (บริหารรัฐกิจ), ธุรกิจในครัวเรือน, โทรคมนาคม และไปรษณีย์, กระทรวงเศรษฐศาสตร์, กระทรวงที่ดิน การค้า และอุตสาหกรรม, การคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐาน ภายในกรอบของไอทีเอส ยักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ได้ออกแบบและพัฒนาระบบที่จะสามารถทำให้ถนนเป็นอัจฉริยะได้ด้วยแนวทาง 9 โครงการ และระบบมีเป้าหมายให้บริการกลุ่มย่อย 21 กลุ่ม ซึ่งไอทีเอส ดังกล่าวประกอบไปด้วย 

.

1. ระบบความก้าวหน้าในระบบการนำทาง ซึ่งช่วยการจัดหาข้อมูลแนะนำเส้นทางการจราจร ข้อมูลที่หลากหลายถูกจัดหาไว้สำหรับความต้องการระบายการจราจรในแต่ละเส้นทาง เป็นการลดจำนวนรถไม่ให้ติดขัด, ช่วงเวลาเดินทาง, ควบคุมการจราจร, หาที่จอดรถ รวมถึงการจัดหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับจุดมุ่งหมายอื่นๆ ความต้องการอื่นๆ เช่น สิ่งที่น่าสนใจต่างๆ และการพยากรณ์อากาศ เป็นต้น

.

2. ระบบการเก็บเงินอัตโนมัติ ระบบนี้จะช่วยเก็บเงินที่จะต้องจ่ายสำหรับการผ่านทาง ทำให้สามารถเก็บเงินได้โดยไม่ต้องหยุดรถที่ด่านเก็บเงินช่วยลดระยะเวลา และปัญหาจราจรหน้าด่านได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีระบบการเตือนอันตราย ระบบจะรวบรวมข้อมูลของตำแหน่ง และการเคลื่อนไหวของยานพาหนะในบริเวณรอบๆ ในขณะนั้น รวมไปถึงสิ่งกีดขวางการจราจรต่างๆ ที่อยู่ข้างหน้า โดยตรวจจับผ่านเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่บนถนนและในตัวรถ ซึ่งจะส่งสัญญาณเตือนไปให้ผู้ขับขี่ เมื่อพบว่ามีสภาวะที่เสี่ยงต่อการจะเกิดอันตราย หรืออุบัติเหตุข้างหน้า

.

3.ระบบความช่วยเหลือสำหรับการขับขี่ที่ปลอดภัย ประกอบไปด้วย  การจัดหาข้อมูลการขับขี่ และสภาพของถนน ระบบนี้จะรวบรวมข้อมูลในรูปแบบสภาพการขับขี่ที่หลากหลาย เช่น ถนนและยานพาหนะที่อยู่ในอาณาเขตรอบๆ โดยผ่านเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่บนถนนและในตัวรถ หลังจากนั้น ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกจัดส่งให้กับผู้ขับขี่รถแต่ละคนในขณะนั้น นอกจากนี้ก็ยังรวมทั้งระบบความช่วยเหลือในการขับขี่ ระบบนี้จะช่วยเหลือผู้ขับขี่โดยการประยุกต์การควบคุมทิศทางและความเร็วอัตโนมัติ

.

เช่น การลดความเร็วอัตโนมัติ ถ้าสถานการณ์นั้นถูกพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจจะเกิดอันตราย โดยพิจารณาถึงตัวรถคันที่ขับขี่ รถยนต์คันอื่นๆ ในบริเวณรอบๆ และสิ่งกีดขวาง ระบบนี้จะพัฒนาควบคู่ไปกับระบบทางหลวงอัตโนมัติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการควบคุมการขับขี่อัตโนมัติ  ซึ่งจะครอบคลุม การเบรก การเร่งความเร็ว และการควบคุมพวงมาลัย โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ของการเดินทางในอาณาบริเวณขณะนั้นด้วย

.

รูปที่ 6 ไอทีเอส (ITS-Intelligent Transport System) หรือระบบขนส่ง และจราจรอัจฉริยะ 

.
ระบบควบคุมรถอัจฉริยะ

ในส่วนของการควบคุมรถยนต์แบบอัจฉริยะนั้น ต้องอาศัยระบบนำทาง โดยที่มีกล้องเป็นเสมือนกับดวงตามนุษย์เพื่อการมองเห็น รูปที่ 6 ระบบนำทางรถยนต์หรือเนวิเกเตอร์ที่เราคุ้นหูคุ้นตา (Navigation System) เป็นระบบอัจฉริยะ ที่มีความสามารถบอกให้ผู้ขับขี่รู้ได้ว่า กำลังขับรถยนต์อยู่ที่ไหน อยู่ ณ แห่งหนตำบลใด ของประเทศไทย จุดหมายปลายทางอยู่ตรงไหน ห่างจากตำแหน่งปัจจุบัน เป็นระยะทางเท่าไหร่ มีเส้นทางที่สามารถไปได้กี่เส้นทาง เส้นทางไหนสั้นที่สุด เส้นทางไหนใช้เวลาน้อยที่สุด เส้นทางไหนชำรุด

.

และพร้อมแนะนำเส้นทางที่สะดวกที่สุดสำหรับการเดินทางไปสู่จุดหมายด้วยเสียงพูดในลักษณะ Turn-by-Turn (การนำทางในลักษณะตามเส้นทางของถนนโดยจะบอกระยะทางและจุดเลี้ยวต่างๆตามเส้นทาง) ช่วยในการวางแผนการเดินทางและค้นหาสถานที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระบบนำทางรถยนต์จะประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือส่วนของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์

.

ในส่วนของฮาร์ดแวร์ นั้นเราเรียกว่า แบล็คบ็อกซ์ (Black Box) เป็นหน่วยประมวลผลกลาง หรือซีพียู (Central Processing Unit) ประมาณว่าเป็นคอมพิวเตอร์ แต่เป็นคอมพิวเตอร์เฉพาะกิจสำหรับการทำงานด้านเนวิเกชั่นเท่านั้น ทำหน้าที่ในการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับเข้ามา และส่งผลลัพธ์ออกไปเป็นการนำทาง พาเราไปยังจุดหมายต่างๆ ผ่านจอภาพภายในรถยนต์ ส่วนซอฟต์แวร์ก็เป็นระบบปฏิบัติการ และแอพพลิเคชั่นเพื่อการจัดการด้านเนวิเกชั่นโดยเฉพาะตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเจ้าเนวิเกเตอร์นี้มีความสามารถหลากหลายทีเดียว และการที่ระบบจะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้นั้น ก็จำเป็นต้องมีวัตถุดิบสำคัญป้อนเข้าสู่ระบบอย่างน้อย 2 ชนิดด้วยกัน

.

อย่างแรกก็คือข้อมูลด้าน GPS (Global Positioning System) และอย่างที่สองก็คือ ข้อมูลทางด้านแผนที่ GPS คือเทคโนโลยีที่ใช้บอกพิกัดบนพื้นโลกโดยใช้ดาวเทียมที่มีความแม่นยำสูง และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้มากมาย อาทิเช่น ระบบนำร่อง (Navigation System), ระบบติดตามยานพาหนะ (Automatic Vehicle Location), การสำรวจพื้นที่ (Survey) และการทำแผนที่ (Mapping) เป็นต้น

.
ลักษณะทั่วไปของระบบ GPS จะประกอบไปด้วยองค์ประกอบทั้งหมด 3 ส่วนสำคัญได้แก่

1. ส่วนอวกาศ ประกอบด้วยดาวเทียมทั้งหมด 24 ดวง โดยดาวเทียมจำนวน 21 ดวง จะใช้ในการบอกค่าพิกัด ส่วนที่เหลืออีก 3 ดวง จะสำรองเอาไว้ ดาวเทียมทั้ง 24 ดวงนี้จะมีวงโคจรอยู่ 6 วงโคจรด้วยกัน โดยแบ่งจำนวนดาวเทียมวงโคจรละ 4 ดวง และมีรัศมีวงโคจรสูงจากพื้นโลกประมาณ 20,200 กิโลเมตร (12,600 ไมล์) วงโคจรทั้ง 6 จะเอียงทำมุมกับเส้นศูนย์สูตร (Equator) เป็นมุม 55 องศา 

.

2. สถานีควบคุม ประกอบด้วย 5 สถานีย่อยกระจายอยู่ทั่วโลก ทำหน้าที่คอยติดต่อสื่อสาร (Tracking) กับดาวเทียม และทำการคำนวณผล (Computation) เพื่อบอกตำแหน่งของดาวเทียมแต่ละดวง และส่งข้อมูลที่ได้ไปยังดาวเทียมอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเองจึงทำให้ข้อมูลที่ได้เป็นข้อมูลที่ทันสมัยอยู่เสมอ 

.

3. ผู้ใช้ จะประกอบด้วย 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มพลเรือน (Civilian) และกลุ่มทหาร (Military) ในส่วนของผู้ใช้จะมีหน้าที่พัฒนาเครื่องรับสัญญาณ (Receiver) ให้ทันสมัย และสะดวกแก่การใช้งานอยู่เสมอ สามารถที่จะใช้ได้ทุกแห่งในโลก และให้ค่าที่มีความถูกต้องแม่นยำสูง

.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด