เนื้อหาวันที่ : 2009-09-07 22:44:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9267 views

การพัฒนานวัตกรรมด้วย Lean Six Sigma

Lean Six Sigma สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกกระบวนการ เพื่อขจัดลดสาเหตุความสูญเปล่าทางด้านเวลา โดยเฉพาะการวิเคราะห์ขั้นตอนหรือกิจกรรมที่ใช้เวลาการไหลในกระบวนการสูงสุดและส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวด และดำเนินการขจัดสาเหตุหลักของความสูญเปล่าด้วยปรัชญาไคเซ็นและเครื่องมือลีน เพื่อให้กระบวนการเกิดความน่าเชื่อถือทั้งในด้านต้นทุน คุณภาพ และมีความยืดหยุ่นในการการตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลง ทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

โกศล ดีศีลธรรม
Koishi2001@yahoo.com

.

.

Lean Six Sigma สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกกระบวนการ เพื่อขจัดลดสาเหตุความสูญเปล่าทางด้านเวลา โดยเฉพาะการวิเคราะห์ขั้นตอนหรือกิจกรรมที่ใช้เวลาการไหลในกระบวนการสูงสุดและส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวด และดำเนินการขจัดสาเหตุหลักของความสูญเปล่าด้วยปรัชญาไคเซ็นและเครื่องมือลีน เพื่อให้กระบวนการเกิดความน่าเชื่อถือทั้งในด้านต้นทุน คุณภาพ และมีความยืดหยุ่นในการการตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลง ทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น

.

ด้วยสภาวะการแข่งขันธุรกิจยุคใหม่ได้เป็นปัจจัยผลักดันให้เวลาสำหรับการตอบสนองลูกค้าได้มีบทบาทสนับสนุนความสำเร็จให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะความรวดเร็วเพื่อส่งมอบสินค้าให้ทันตามกำหนด หรือกระบวนการให้บริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าสูงสุด ดังนั้นผู้ประกอบการยุคใหม่จึงต้องปรับกระบวนทัศน์ที่มุ่งประสิทธิผลจากการดำเนินงาน ผู้บริหารองค์กรชั้นนำได้ให้ความสำคัญกับการปรับรอบเวลากระบวนการธุรกิจให้สั้นลง

.

หากผู้ประกอบการสามารถดำเนินการบรรลุเป้าหมายได้ภายในระยะเวลาอันสั้นก็สามารถลดต้นทุนดำเนินงานและสร้างผลตอบแทนให้กับองค์กร โดยทั่วไป 95% ของช่วงเวลานำคือ เวลาที่ไม่ได้สร้างคุณค่าเพิ่ม ซึ่งแสดงด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การขนถ่าย การตรวจสอบ การตั้งเครื่อง เป็นต้น เป้าหมายหลักแนวคิดลีน คือ การมุ่งขจัดความสูญเปล่าจากเวลารอคอยเพื่อสนับสนุนให้กระบวนการเกิดความยืดหยุ่นที่สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งลูกค้าภายในและภายนอก

.

ดังนั้นโรงงานอุดมคติแห่งลีน (Lean Factory) จึงต้องมีความยืดหยุ่นเพียงพอกับความเปลี่ยนแปลงในคำสั่งผลิตด้วยช่วงเวลานำที่สั้น หากการดำเนินการได้บรรลุตามเป้าหมายก็จะส่งผลให้การไหลของงานไปยังกระบวนการหรือสถานีถัดไปเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถลดเวลารอคอย รวมทั้งลดระดับสต็อกงานระหว่างผลิต  

.

รูปที่ 1 ตัวอย่างกิจกรรมความสูญเปล่า

.

ด้วยเหตุนี้องค์กรชั้นนำที่ประสบความสำเร็จจึงมุ่งศึกษาลูกค้าว่ามีพฤติกรรมหรือความต้องการอะไร ซึ่งความโดดเด่นนอกเหนือจากความสามารถการผลิต คือ การนำเสนอสิ่งที่มีคุณภาพ (เหนือกว่า) ราคา (ถูกกว่า) ระยะการส่งมอบ (เร็วกว่า) และมีความคล่องแคล่ว (สูงกว่า) ดังนั้นหากดำเนินกิจกรรมได้รวดเร็วก็จะความสามารถสร้างรายได้และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างรวดเร็ว 

.

ดังนั้นกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จึงถูกบูรณาการร่วมกับ Six Sigma เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับข้อกำหนดทางวิศวกรรมและกลยุทธ์ธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการให้กับตลาด ดังกรณี FedEx ผู้ให้บริการส่งมอบพัสดุภายในช่วงเวลาเพียงข้ามวัน สมรรถนะการส่งมอบจึงเป็นปัจจัยหลักที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ด้วยเหตุนี้การจัดสรรเวลาที่มุ่งเป้าหมายการส่งมอบได้ทันเวลาจึงต้องศึกษาสาเหตุหลักที่ส่งผลให้เกิดความล่าช้าเพื่อกำหนดแนวทางขจัดลดปัญหาดังกล่าว

.

โดยทั่วไปองค์กรส่วนใหญ่จะเริ่มโครงการปรับปรุงผลิตภาพด้วย Six Sigma ตามกระบวนการ DMAIC ที่มุ่งความสอดคล้องกับระดับความสามารถกระบวนการ แต่หากการปรับปรุงตามแนวทางดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าและไม่สามารถแข่งขันได้ทางทีม Six Sigma ก็จะดำเนินการตามกระบวนการ DMEDI หรือ Design For Six Sigma (DFLSS) โดยวิเคราะห์ความบกพร่องหรือความแตกต่างระหว่างความคาดหวังลูกค้ากับสมรรถนะการออกแบบ กระบวนการ DFLSS สามารถขจัดลดความเสี่ยงที่นำมาสู่ล้มเหลวการออกแบบผลิตภัณฑ์

.

ดังนั้น DFLSS จึงมีบทบาทสนับสนุนการสร้างความสามารถทางนวัตกรรมขององค์กรให้เหนือคู่แข่ง โดยเฉพาะการมุ่งออกแบบกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า รวมถึงการปรับปรุงแนวคิดผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของตลาดในอนาคต ซึ่งดำเนินการตามกระบวนการ DMEDI (Define-Measure-Explore-Develop-Implement) ประกอบด้วย

.

รูปที่ 2 กระบวนการ DMAIC กับ DMEDI 

.

1. กำหนด (Define) ช่วงนี้ทางทีมงานร่วมทำงานกับผู้สนับสนุน (Sponsor) เพื่อกำหนดเอกสารรายละเอียด (Charter) ที่มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กรและเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ทางการเงินที่นิยมวัดผลด้วยผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ทุน (ROIC) รายละเอียดประกอบด้วย กรณีธุรกิจ (Business Case) เป้าหมายโครงการ ขอบเขตโครงการ (Project Scope) และสมาชิกทีมงาน นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นที่ ส่งผลให้การดำเนินโครงการไม่สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ เช่น กำหนดการ  ผลตอบแทน และความเสี่ยงทางการตลาด 

.

รูปที่ 3 ตัวอย่างเอกสารโครงการ

.

2. การวัด (Measure) โดยศึกษาความต้องการของลูกค้าหรือ VOC เพื่อระบุปัจจัยที่สามารถตอบสนองให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด และจำแนกลำดับความสำคัญความต้องการของลูกค้า (Prioritize Customer Requirements) รวมทั้งกำหนดมาตรวัดเพื่อใช้ติดตามวัดผลสำเร็จ ซึ่งกระบวนการ VOC อาจใช้สารสนเทศที่จัดเก็บภายในองค์กร เช่น ข้อร้องเรียนจากลูกค้า (Complaints) ข้อมูลการให้สินเชื่อกับลูกค้า การยกเลิกสัญญา ความเปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งตลาด รายงานวิจัยทางการตลาด และการติดตามประเมินข้อมูลคู่แข่งขัน             

.

นอกจากนี้ยังใช้เทคนิคการสำรวจด้วยการสัมภาษณ์ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) โดยผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ได้ถูกใช้จำแนกส่วนลูกค้า (Customer Segments) เพื่อกำหนดปัจจัยหลักทางคุณภาพ หรือ Critical To Quality (CTQ) ที่สามารถตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้าแต่ละกลุ่มให้เกิดความพึงพอใจตามลำดับความสำคัญ (Segment's Priorities) ด้วยเครื่องมือสำคัญอย่างการกระจายหน้าที่ทางคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้

.

* การจำแนกความต้องการลูกค้าจากข้อมูล VOC ที่ได้รับในช่วงจัดเก็บข้อมูล
* ลำดับความต้องการของลูกค้าตามความสำคัญ
* ดำเนินการการออกแบบตามความต้องการ
* กำหนดสมรรถนะเป้าหมาย (Performance Target)

.

แต่ละขั้นตอนจะมีการเชื่อมโยงระหว่างกันเพื่อให้การออกแบบกระบวนการตรงกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ทีมงานได้ประเมินถึงปัจจัยความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อความล้มเหลวเพื่อให้เกิดความสอดคล้องระหว่างความสามารถหลักขององค์กรกับเป้าหมายทางสมรรถนะ 

.

.

3. สำรวจ (Explore) หลังจากได้กำหนดความต้องการลูกค้าในช่วงการวัดเสร็จสิ้นก็สามารถตอบคำถามได้ว่า "อะไรคือแนวทางเหมาะสมที่สุดสำหรับตอบสนองลูกค้าในระดับแนวคิดการออกแบบ" ดังนั้นนวัตกรรมจึงได้เกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่โดยทั่วไปทางทีมงานมักพบปัญหาสำคัญ นั่นคือ ส่วนต่างระหว่างความต้องการแท้จริงของลูกค้ากับความสามารถขององค์กร เช่น ความขัดแย้งระหว่างพารามิเตอร์การออกแบบ (Design Parameter) หรือต้นทุนกับสมรรถนะ    

.

ดังนั้นทีมงานจึงต้อง Trade-Offs ระหว่างแนวทางที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมที่สุด โดยมุ่งเน้นปัจจัยทางคุณภาพหลัก (CTQ) ด้วยการวิเคราะห์หน้าที่การใช้งาน ซึ่งทีมงานจะกำหนดเกณฑ์การประเมิน จาก VOC ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์อย่างกระบวนการตัดสินใจตามลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ (Analytical Hierarchy Process) หรือ AHP ที่มีการเปรียบเทียบด้วยการจับคู่ (Pair Wise Comparison) เพื่อระบุลำดับความสำคัญ หลังจากนั้นทีมงานจะดำเนินการระบุเพียงหนึ่งหรือสองปัจจัยที่มีความเป็นไปได้เพื่อเลือกแนวทางเหมาะสมที่สุด โดยมุ่งเป้าหมายระดับ World-Class Innovation 

.

รูปที่ 4 การตัดสินใจตามลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ (AHP)

.

4. พัฒนา (Develop) โดยกำหนดรายละเอียดการออกแบบ ประกอบด้วย สิ่งอำนวยความสะดวก บุคลากร แผนการจัดซื้อวัสดุ และเมื่อ Solution ได้ถูกพัฒนาขึ้นทางทีมงานควรใช้เครื่องมือลีนร่วมกับ Six  Sigma ตามกระบวนการ DMAIC เช่น การออกแบบการทดลอง(Design of Experiment) ระบบป้องกันความผิดพลาด และการจำลองสถานการณ์ (Simulation) สำหรับการออกแบบที่คงทน (Robust Design)เพื่อขจัดลดความสูญเปล่า

.

ทำให้เกิดความเร็วสูงสุดและของเสียเกิดขึ้นในกระบวนการใหม่น้อยที่สุด โดยเฉพาะการวิเคราะห์คุณค่าเพิ่ม (Value-Added Analysis) เพื่อดำเนินการจัดเตรียมแผนภูมิแห่งคุณค่าในอนาคต (Future Value Stream Map) สำหรับวิเคราะห์คุณค่าเพิ่มประกอบด้วย

.
* คุณค่าเพิ่มลูกค้า (Customer Value-Add) คือ คุณค่าหรือสิ่งที่ลูกค้าต้องการและยินดีที่จะจ่ายเพื่อได้รับบริการที่ตรงตามความต้องการ 

* ความสูญเปล่ากระบวนการธุรกิจ (Business Non-Value-Add) โดยเฉพาะการดำเนินงานมักเกิดกิจกรรมที่ไม่สร้างคุณค่าเพิ่มแต่มีความจำเป็นต่อการสนับสนุนธุรกรรมอย่างกระบวนการจัดหาจัดซื้อ (Procurement) เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวได้สนับสนุนกระบวนการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตผล

.

ส่วนการตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบหรือตรวจนับวัสดุในคลังสินค้าก็มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้การจำแนกประเภทกิจกรรมจึงควรศึกษาถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมเพื่อระบุแนวทางลดความสูญเปล่า ดังเช่นการใช้นโยบายให้ผู้ส่งมอบจัดส่งของที่ไม่มีข้อบกพร่อง (Zero Defect) หรือการกำหนดระดับสต็อกเพื่อลดความจำเป็นในการตรวจนับ รวมทั้งการจัดทำรายงานการเงินเพื่อส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ และงานตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร

.

* ความสูญเปล่า (Non-Value-Add) คือ กิจกรรมหรืองานทุกประเภทที่ไม่เพิ่มคุณค่าแต่เกิดต้นทุนหรือความสูญเปล่าขึ้น เช่น การรอคอย งานทำซ้ำ การรออนุมัติเอกสาร           

.

.

5. ดำเนินการ (Implement) เป็นช่วงสุดท้ายในกระบวนการ DFLSS ซึ่งสอดคล้องกับช่วงควบคุม (Control) ในกระบวนการ DMAIC สำหรับช่วงนี้ทีมงานจะดำเนินโครงการนำร่อง (Pilot Project) และจัดทำแผนการควบคุม รวมทั้งเริ่มออกตัวผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการบริการใหม่และส่งมอบงานให้กับเจ้าของกระบวนการ (Process Owner) โดยทีมงานจะมีบทบาทติดตามกระบวนการทำงานและให้คำแนะนำกับผู้ปฏิบัติงาน

.

รูปที่ 5 การวัดประสิทธิภาพกระบวนการ

.

หากเปรียบสายการผลิตเป็นเสมือนท่อส่งที่เริ่มจากการป้อนวัตถุดิบหรือปัจจัยนำเข้า (Input) ให้ไหลผ่านกระบวนการเพื่อแปรรูปเป็นผลิตผล แต่สภาพความเป็นจริงในสายการผลิตได้มีรูปแบบที่หลากหลายซึ่งมีความผันผวนทางอุปสงค์ ทำให้การไหลภายในท่อส่งอาจมีการติดขัดหรือสะดุดในบางช่วงและต้องใช้เวลาที่มากขึ้นกับการไหลจากจุดเริ่มต้นจนสู่ปลายท่อ

.

โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อจากลูกค้าที่มีผลต่ออัตราส่งผ่านท่อ (Throughput Rate) และต้องปรับขนาดท่อให้เหมาะกับอัตราการไหล นั่นคือ หากใช้ท่อขนาดใหญ่เกินความจำเป็นก็จะเกิดความสูญเปล่าขึ้น แต่หากเพิ่มอัตราการไหลของปัจจัยนำเข้า    

.

เช่น วัตถุดิบและปัจจัยการผลิต ก็อาจส่งผลให้เกิดสภาวะ Overflow เนื่องจากปัจจัยนำเข้านั้นมากเกินกว่าขนาดท่อจะรับไว้ซึ่งมักพบในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะปัญหาการล้นสต็อกหรือปัญหาคอขวด (Bottleneck) โดยเวลาการรอคอยที่ลดลง 80% ส่งผลให้ค่าโสหุ้ยการผลิตและต้นทุนคุณภาพลดลง 20% รวมทั้งกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 5%      

.

ดังนั้นการจำแนกและลำดับปัญหาความล่าช้า หรืออาจเรียกว่า กับดักเวลา (Time Trap) จึงเป็นหลักการพื้นฐานของลีน ด้วยเหตุนี้การลดช่วงเวลานำในกระบวนการจึงประกอบด้วย การวิเคราะห์เพื่อค้นหากับดักเวลา การประยุกต์เครื่องมืออย่าง Lean Six Sigma และการลดขนาดรุ่นการผลิต (Batch Size) โดยเฉพาะการลดขนาดรุ่นเป็นประเด็นหลักที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากหากไม่มีการลดขนาดรุ่นเพื่อลดความล่าช้าก็อาจเกิดประสิทธิผลเพียงเล็กน้อยและไม่สามารถลดปัญหางานค้างระหว่างผลิต (WIP) 

.

รูปที่ 6 ความสัมพันธ์มาตรวัดสมรรถนะกระบวนการ

.

ดังนั้นอัตราการไหลของปัจจัยนำเข้าจึงต้องสมดุลกับอัตราการไหลออกของผลิตผล (Output) เพื่อให้เกิดการไหลของงานอย่างราบเรียบ โดยมุ่งเป้าหมายการลดเวลาส่งผ่านท่อ (Throughput Time) ซึ่งเกิดความสามารถตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อจากลูกค้า การปรับปรุงปัจจัยความเร็วจะต้องจำแนกช่วงเวลานานที่สุดในกระบวนการ ด้วยกฎ Lean Six Sigma (The Law of Lean Six Sigma) 

.
กฎ Lean Six Sigma

 1.  กฎทางตลาด (The Law of the Market) โดยมุ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับประเด็นปัจจัยหลักทางคุณภาพ (CTQ) ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาด รวมทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ทุน (ROIC) และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value) 

.

รูปที่ 7 การวิเคราะห์ปัจจัยหลักทางคุณภาพ

.

2. กฎแห่งความยืดหยุ่น (The Law of Flexibility) โดยความยืดหยุ่นจะขึ้นกับปัจจัยความเร็วกระบวนการ ส่วนความยืดหยุ่นกระบวนการผลิตเป็นสัดส่วนโดยตรงกับอัตราเวลาการหมุนรอบหน่วยผลิต (Turnover Time) ดังนั้นความยืดหยุ่นสูงสุดจะเกิดขึ้นด้วยขนาดรุ่นผลิตเล็กสุด (Batch Sizes) หาได้จากความสัมพันธ์ ดังนี้

Batch Sizemin   = (อัตราความต้องการของลูกค้า) x (อัตราเวลาการหมุนรอบสถานีงาน)
.

โดยที่อัตราความต้องการของลูกค้าสัมพันธ์กับแทกค์ไทม์ (Takt Time) แสดงถึงหน่วยเวลาที่ขึ้นกับอุปสงค์ลูกค้า นั่นคือ หากเวลาการไหลของงานสูงกว่า Takt Time จะต้องดำเนินปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับอัตราความต้องการ  

.

รูปที่ 8 การสร้างสมดุลการไหลด้วย Takt Time

.

3. กฎแห่งการมุ่งเน้น (The Law of Focus) โดยทั่วไป 80% ของความล่าช้าแต่ละกระบวนการจะเกิดจาก 20% ของสัดส่วนกิจกรรมรวม (Pareto Principle) ดังกรณีสาเหตุความล่าช้าในกระบวนการผลิตทั่วไปมักเกิดจากความผันผวนของรอบเวลาการผลิต โดยความผันผวนเหล่านี้อาจเกิดจากปัญหาต่างๆ เช่น เครื่องจักรเกิดขัดข้อง ระยะเวลาตั้งเครื่องนาน และปัญหาคุณภาพในสายการผลิต เป็นต้น     

.

ดังนั้นหากสามารถควบคุมและแก้ปัญหาหลักก็จะส่งผลให้เกิดการลดช่วงเวลานำลง ทำให้เพิ่มอัตราการส่งมอบทันเวลา ด้วยเหตุนี้กฎ 80/20 เรียกว่า "The Second Law of Lean Six Sigma for Supply Chain Acceleration" เครื่องมือหลักที่ใช้วิเคราะห์ คือ แผนภูมิสายธารแห่งคุณค่าและแสดงเอกสารรายละเอียดตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นกระบวนการ 

.

รูปที่ 9 ตัวอย่างสายธารแห่งคุณค่า

.

ด้วยเหตุนี้จึงควรประสานงานกับผู้ควบคุมงานแต่ละกระบวนการเพื่อจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็น โดยเฉพาะการจัดเก็บข้อมูลเวลาที่ต้องมีความแม่นยำถูกต้อง เนื่องจากเวลาเป็นตัวผลักดันต้นทุน เช่น ค่าเวลาเฉลี่ยแต่ละกระบวนการ เวลาการเดินเครื่องจักร เวลามาตรฐานสำหรับเตรียมงานและเวลาการเดินเครื่องจักร นอกจากนี้ยังวิเคราะห์คุณค่าเพิ่ม เพื่อจำแนกว่ากิจกรรมใดในกระบวนการที่สร้างคุณค่าให้กับลูกค้าและแสดงสัดส่วนคุณค่าเพิ่ม (Value-Added Ratio) หรือ V.A.R. โดยหาได้จากเวลาที่สร้างคุณค่าเพิ่มเทียบกับรอบเวลารวม (Total Cycle Time) แสดงด้วยความสัมพันธ์ ดังนี้

.

 .

รูปที่ 10 เอกสารวิเคราะห์คุณค่าเพิ่ม (VAR Worksheet)

 .

ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ตามหลักการ 80/20 ทำให้สามารถจำแนกสาเหตุหรือปัจจัยหลัก (Vital Few) ที่ส่งผลกระทบให้กระบวนการเกิดความล่าช้า โดยเรียงลำดับสาเหตุตามความสำคัญ ด้วยแผนภูมิพาเรโต้เพื่อใช้กำหนดแนวทางขจัดสาเหตุความล่าช้า

 .

4. กฎแห่งความเร็ว (The Law of Velocity) โดยค่าความเร็วเฉลี่ยการไหลแต่ละกระบวนการเป็นสัดส่วนกลับของงานระหว่างผลิตและค่าความผันแปรเฉลี่ยทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน นั่นคือ ความเร็วเฉลี่ยกระบวนการจะต้องสอดคล้องกับกิจกรรมที่กำลังดำเนินการ ดังนั้นกฎข้อนี้จึงเหมาะสำหรับวิเคราะห์กระบวนการที่ประกอบด้วยหลายกิจกรรม ดังเช่น กระบวนการขึ้นรูปซึ่งประกอบด้วยหลายหน่วยผลิต สามารถประยุกต์ Third Law ร่วมกับ First Law เพื่อประเมินความเร็วเฉลี่ยทั้งกระบวนการและจำแนกหน่วยผลิตหรือกิจกรรมที่เป็นสาเหตุหลักของความล่าช้าในกระบวนการ

.

.

ปัจจุบัน Lean Six Sigma ได้มีบทบาทไม่เพียงแค่การพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการปรับปรุงผลิตภาพในงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังได้ขยายผลสู่การปรับปรุงกระบวนการให้บริการ โดยทั่วไปลูกค้าที่รอรับบริการได้คาดหวังที่จะได้รับความสะดวก ความรวดเร็ว และความถูกต้องในการให้บริการ ดังนั้นการบริหารกระบวนการจึงเป็นปัจจัยหลักความสำเร็จทางธุรกิจ

.

สถาบันการเงินหลายแห่งได้ปรับปรุงกระบวนการให้บริการด้วยการออกนวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลายเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ผู้รับบริการด้วยแนวคิดบูรณาการสู่ Lean Six Sigma จึงส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งลดความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานและลดรอบเวลาให้บริการ รวมทั้งต้นทุนทางธุรกรรมได้ลดลงจนทำให้ธนาคารบางแห่งสามารถยกเลิกค่าธรรมเนียมบางรายการและส่งผลให้ลูกค้าเกิดความประทับใจในบริการที่ได้รับจากธนาคารและเกิดภาพพจน์องค์กรที่ดีในมุมมองผู้รับบริการ 

.
สรุป

Lean Six Sigma สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกประเภทกระบวนการด้วยการขจัดลดสาเหตุหลักความสูญเปล่าทางปัจจัยเวลาตามลำดับความสำคัญซึ่งสอดคล้องกับหลักพาเรโต้ ดังนั้นการปรับปรุงผลิตภาพการไหลตามแนวคิดลีนสามารถบรรลุได้ด้วยปัจจัยความเร็ว โดยเฉพาะการวิเคราะห์ขั้นตอนหรือกิจกรรมที่ใช้เวลากับการไหลในกระบวนการสูงสุด ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาคอขวดเพื่อดำเนินการขจัดสาเหตุหลักความสูญเปล่าด้วยปรัชญาไคเซ็นและเครื่องมือลีน เพื่อให้กระบวนการเกิดความน่าเชื่อถือทั้งปัจจัยต้นทุน คุณภาพ และความยืดหยุ่นในการการตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งผลลัพธ์จากแนวคิดปรับปรุงผลิตภาพดังกล่าวได้ส่งผลให้องค์กรเกิดความสามารถในการแข่งขัน

.
เอกสารอ้างอิง

* Charles W.L. Hill , Gareth   Jones ,  Strategic Management ,Houghton Mifflin , 1998.
* D.H. Stamatis, Six Sigma and Beyond Foundation of Excellent Performance, St. Lucie Press, 2002.
* Don R. Hansen & Maryanne  M. Mowen , Management  Accounting , South- Western College Publishing, 1997.
* Geoff Tennant, Design For Six Sigma: Launching New Products and Services without Failure, Gower Publishing, 2002.
* James P. Womack  and  Daniel T. Jones, Lean Thinking, New York : Simon & Schuster,1996.
* Michael Quirk, Manufacturing, teams, and  improvement: the human art of manufacturing, Prentice-Hall,Inc.,1999.
* Roberta  S.  Russsell, Bernard  W. Taylor, Operations  Management , Pearson  Education,Inc., 2003.
* Steven H. Jones, DMEDI or DMAIC? That is the Question, January 2006.
* โกศล  ดีศีลธรรม , ผลิตภาพ : ปัจจัยพัฒนาสู่การแข่งขันยุคใหม่, สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, 2550.
* โกศล  ดีศีลธรรม , กระบวนทัศน์การวัดผลยุคใหม่, สำนักพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการ, 2552.

.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด