เนื้อหาวันที่ : 2009-09-02 10:01:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8533 views

ISO 29001 มาตรฐานการพัฒนาระบบคุณภาพ อุตสาหกรรมน้ำมัน ปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติ

ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารอันตราย และก๊าซ ซึ่งต้องผ่านการทำงานในกระบวนการที่มีความหลากหลายสูง จำเป็นต้องมีการคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากร ทั้งในส่วนของพนักงาน และชุมชนโดยรอบ รวมถึงการปกป้องดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นระดับของความถูกต้องในการปฏิบัติงานจะต้องสูงมากด้วย องค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างความมั่นใจและความถูกต้องให้กับผลิตภัณฑ์ที่ได้ ก็คือการสร้างระบบการบริหารคุณภาพที่ดี

กิตติพงศ์ จิรวัสวงศ์

.

.

ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารอันตราย และก๊าซ ซึ่งต้องผ่านการทำงานในกระบวนการที่มีความหลากหลายสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากร ทั้งในส่วนของพนักงาน และชุมชนโดยรอบ รวมถึงการปกป้องดูแลรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นระดับของความถูกต้องในการปฏิบัติงานจะต้องสูงมากด้วย ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างความมั่นใจและความถูกต้องให้กับผลิตภัณฑ์ที่ได้ ก็คือการสร้างระบบการบริหารคุณภาพที่ดี สำหรับทั้งองค์กร รวมถึงผู้ส่งมอบ และผู้รับจ้างช่วงในการบริการ 

.

เหตุผลที่อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ จำเป็นที่จะต้องมีข้อกำหนดเฉพาะของอุตสาหกรรม ก็เนื่องจากมาตรฐานสากล ISO9001:2000 ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น สามารถตอบสนองต่ออุตสาหกรรมในหลากหลายประเภท รวมถึงองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลให้ข้อกำหนดมีความยืดหยุ่น ไม่เฉพาะเจาะจง และระบุไว้อย่างกว้าง ๆ 

.

ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีความต้องการและความเข้มงวดที่สูงมาก อย่างเช่นอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ซึ่งมีความต้องการที่สูงมากในการดำเนินการที่ต้องสอดคล้องทั้งข้อกำหนดทางวิศวกรรม ผู้ใช้งาน และข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ที่จะต้องมีการพัฒนามาตรฐานที่เฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมขึ้น นั้นคือมาตรฐาน ISO/TS 29001:2003 

.

มาตรฐาน ISO/TS 29001:2003 เป็นข้อกำหนดของระบบบริหารคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมัน ปิโตรเคมี และก๊าซธรรมชาติ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เกิดมาตรฐานร่วมสำหรับอุตสาหกรรม และช่วยลดความหลากหลายของระบบต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้ลดน้อยลง โดยมาตรฐานชุดนี้ เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง คณะกรรมการทางด้านเทคนิคของ ISO เลขที่ ISO/TC 67 ซึ่งดูแลทางด้านวัสดุ อุปกรณ์ และโครงสร้างนอกชายฝั่ง (Offshore) สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และก๊าซธรรมชาติ และ American Petroleum Institute (API) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลด้านการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงาน สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมของอเมริกา

.

ข้อกำหนดนี้ จะมีเป้าหมายที่สำคัญในการมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง การป้องกันข้อบกพร่อง ลดความผันแปรและความสูญเปล่าในห่วงโซ่อุปทาน 

.

ทั้งนี้ มาตรฐานนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้สำหรับองค์กรในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่จัดให้มีสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ เครื่องมือ และวัสดุ ทั้งในระดับต้นน้ำ (Upstream) และปลายน้ำ (Downstream) ในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ รวมไปถึงผู้ให้บริการในอุตสาหกรรม ผู้จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ วัสดุ และบริการ  

.

ข้อกำหนดทางเทคนิคตามมาตรฐาน ISO29001 จะประกอบด้วยข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO9001:2000 รวมกับรายละเอียดของข้อกำหนดเฉพาะส่วน (Sector Specific Requirement) ที่เกี่ยวกับการออกแบบ การพัฒนา การผลิต การติดตั้ง และการบริการ 

.
สาระสำคัญของข้อกำหนดมาตรฐาน

โครงสร้างของข้อกำหนดมาตรฐาน ISO/TS 29001:2003 จะมีรูปแบบเหมือนกันกับข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO9001:2000 โดยจะแบ่งข้อกำหนดออกเป็น 8 ข้อหลัก ๆ ประกอบด้วย

1. ขอบเขต
2. การอ้างอิง
3. คำศัพท์ และความหมาย
4. ระบบบริหารคุณภาพ
5. ความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร
6. การจัดการทรัพยากร
7. การทำให้เกิดผลิตภัณฑ์
8. การวัด การวิเคราะห์ และการปรับปรุง

.

ทั้งนี้นอกเหนือจากเนื้อหาของข้อกำหนดที่ตรงกันกับข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO9001:2000 ทั้งหมดแล้ว ยังมีการเพิ่มเติมข้อกำหนดเป็นการเฉพาะในบางข้อกำหนดด้วย เพื่อเพิ่มเติมกระบวนการที่จะต้องมีการดำเนินการสำหรับมาตรฐาน ISO/TS 29001 ซึ่งสามารถสรุปเนื้อหาบางส่วนของข้อกำหนดที่มีการเพิ่มเติมได้ดังนี้ 

.
การออกแบบและพัฒนา 

เริ่มต้นจากการที่องค์กรจะต้องมีการจัดทำเอกสารวิธีการทำงาน สำหรับการออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เอกสารในการออกแบบ จะรวมถึงวิธีการ สมมติฐาน สูตร และการคำนวณด้วย และเมื่อมีการจ้างงานหน่วยงานภายนอก สำหรับการออกแบบและพัฒนา องค์กรจะต้องมั่นใจได้ว่าผู้ให้บริการสามารถดำเนินการได้สอดคล้องตามข้อกำหนดในการออกแบบ และพัฒนาตามมาตรฐานนี้ รวมถึงมีการแสดงหลักฐานอย่างเป็นรูปธรรมถึงความสอดคล้องตามข้อกำหนดด้วย

.

ในการทบทวนการออกแบบตามมาตรฐาน ISO/TS 29001 จะระบุให้การทบทวนการออกแบบในขั้นตอนสุดท้าย จะต้องได้รับการอนุมัติโดยบุคลากร หรือกลุ่มบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องการพัฒนาหรือการออกแบบนั้น ๆ รวมถึงจะต้องมีการจัดทำเป็นเอกสารไว้อย่างชัดเจนด้วย 

.

ส่วนการเปลี่ยนแปลงการออกแบบและพัฒนา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเอกสารในการออกแบบ จะต้องมีการควบคุมเช่นเดียวกันกับการออกแบบและการพัฒนา รวมถึงเอกสารการออกแบบดั้งเดิม

.

.
การจัดซื้อและพัฒนาผู้ส่งมอบ 

ในข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดซื้อ จะระบุให้องค์กรจะต้องมีการจัดทำเอกสารวิธีการทำงานสำหรับกระบวนการจัดซื้อ และการคัดเลือกผู้ส่งมอบอย่างชัดเจน โดยเกณฑ์ที่นำมาใช้ในการคัดเลือก ประเมินและประเมินซ้ำผู้ส่งมอบ จะต้องประกอบด้วย

1. การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายของผู้ส่งมอบโดยองค์กร ณ พื้นที่ปฏิบัติงานของผู้ส่งมอบ
2. การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายของผู้ส่งมอบโดยองค์กร เมื่อมีการส่งมอบ
3. การตรวจประเมินความสอดคล้องของผู้ส่งมอบในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในการจัดซื้อขององค์กร
4. การทวนสอบโดยองค์กรถึงความสอดคล้องของระบบบริหารคุณภาพของผู้ส่งมอบตามมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพที่เป็นสากล และความมีประสิทธิผลในการดำเนินการ 

.

นอกจากนั้น ข้อมูลสำหรับการจัดซื้อที่ให้กับผู้ส่งมอบ จะต้องมีการจัดทำเป็นเอกสาร และต้องอธิบายถึงผลิตภัณฑ์ทีจะทำการจัดซื้อ โดยจะระบุถึง

1. ชนิด ระดับชั้น เกรด หรือการระบุที่ชัดเจนอื่น ๆ
2. หัวข้อ หรือ การระบุถึงข้อกำหนด รูปวาด ข้อกำหนดกระบวนการ แนวปฏิบัติในการตรวจสอบ และข้อมูลทางเทคนิคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

.
การควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด

ในมาตรฐาน ISO/TS 29001 ได้ระบุว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งถูกตรวจพบภายหลังจากการส่งมอบ หรือที่เรียกว่า ความผิดปกติในภาคสนาม (Field Nonconformity) จะต้องได้รับการจัดการ ติดตาม และวิเคราะห์ความผิดปกติหรือความบกพร่องนั้น ๆ ถึงแม้ว่าในบางกรณีความผิดปกติในภาคสนามบางรายการ จะไม่สามารถนำกลับมาทำการวิเคราะห์ได้ แต่ความบกพร่องนั้น สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและดำเนินการแก้ไขและการป้องกันอย่างมีประสิทธิผลต่อไป

.
การทบทวนโดยฝ่ายบริหาร และการตรวจประเมินภายใน

การทบทวนโดยฝ่ายบริหาร มีเป้าหมายเพื่อให้มั่นใจได้ถึงความมีประสิทธิผลของระบบบริหารคุณภาพที่จัดทำขึ้น ทั้งนี้แม้จะมีการทบทวนตามแผนที่กำหนดไว้ แต่ต้องไม่ทิ้งช่วงให้ห่างจนเกินไป ดังนั้นในมาตรฐาน ISO/TS 29001 จึงกำหนดไว้อย่างชัดเจน ให้มีการทบทวนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง 

.

ส่วนการตรวจประเมินภายใน (Internal Audit) ในมาตรฐาน ISO9001:2000 จะระบุให้ทำการตรวจประเมินภายในตามแผนที่ได้กำหนดไว้ แต่ในมาตรฐาน ISO/TS 29001 ได้มีการระบุให้ชัดเจนขึ้น โดยจะต้องมีการตรวจประเมินภายในอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง รวมถึงจะต้องมีการระบุระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขความบกพร่องที่พบอย่างชัดเจนด้วย 

.
เอกสารและการควบคุม 

ในขณะที่มาตรฐาน ISO9001:2000 จะลดจำนวนของเอกสารระเบียบปฏิบัติงานเหลือเพียงแค่ 6 รายการ แต่ในมาตรฐาน ISO/TS 29001 จะระบุให้ต้องมีการจัดทำเอกสารเพิ่มเติม ที่เรียกว่า คุณลักษณะที่ต้องควบคุม (Control Features) โดยจะต้องมีการจัดทำเอกสารระบุวิธีการทำงานต่าง ๆ ภายใต้สภาวะที่ควบคุม เพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ได้ระบุไว้ 

.

ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ การลดลงของเอกสารตามข้อกำหนด จะช่วยให้เกิดการคล่องตัวมากขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดทำเอกสารวิธีการปฏิบัติงานในการควบคุมกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งเอกสารเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานในการดำเนินการได้อย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ มั่นใจได้ว่าการดำเนินการต่าง ๆ มีความสอดคล้องตามข้อกำหนด 

.

การจัดทำเอกสารสำหรับการควบคุมกระบวนการ รวมถึงเกณฑ์การยอมรับที่จำเป็นสำหรับกระบวนการ จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ปฏิบัติงานจากรุ่นสู่รุ่น พนักงานใหม่ ๆ จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามเอกสารวิธีการทำงานอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเรียนรู้จากบทเรียนต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้น 

.

ในส่วนของข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมบันทึก โดยระบุว่าบันทึกที่จำเป็นสำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ จะต้องมีการจัดเก็บไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าที่มาตรฐานอุตสาหกรรมกำหนด หรือไม่น้อยกว่า 5 ปี ขึ้นอยู่กับว่าระยะเวลาใดนานกว่า บันทึกที่จำเป็นสำหรับใช้แสดงถึงความสอดคล้องตามข้อกำหนด และความมีประสิทธิผลของการปฏิบัติงานในระบบบริหารคุณภาพ จะต้องจัดเก็บไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี เช่นเดียวกัน

.
การฝึกอบรม

การเปลี่ยนแปลงของพนักงานสู่รุ่นใหม่ ๆ รวมถึงการขาดแคลนพนักงานที่มีประสบการณ์ ทำให้องค์กรต่าง ๆ จะต้องมุ่งเน้นในการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร เพื่อให้มั่นใจได้ว่าประสบการณ์ต่าง ๆ ที่มีค่าได้รับการจัดทำเป็นเอกสาร และสร้างประโยชน์ให้กับพนักงานในอนาคต 

.

ในมาตรฐาน ISO/TS 29001 ระบุว่าองค์กรจะต้องมีการจัดทำเอกสารวิธีการทำงานสำหรับการระบุความจำเป็นในการฝึกอบรม และการจัดฝึกอบรมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบบริหารคุณภาพ ความต้องการในการฝึกอบรม จะต้องรวมถึงการจัดอบรมเกี่ยวกับระบบบริหารคุณภาพ และการจัดอบรบเกี่ยวกับงานที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานสำหรับแต่ละบุคคล โดยองค์กรจะต้องมีการกำหนดความถี่ในการอบรมไว้อย่างชัดเจนด้วย

.

.
การควบคุมกระบวนการ 

ในการควบคุมกระบวนการ จะต้องมีการจัดทำเป็นเอกสารสำหรับใบกำหนดรายละเอียดการทำงาน ใบตรวจสอบ ใบควบคุมกระบวนการ หรือรูปแบบอื่น ๆ ของเอกสารวิธีการทำงาน รวมถึงข้อกำหนดสำหรับการทวนสอบความสอดคล้องตามแผนคุณภาพ เอกสารวิธีการทำงาน และมาตรฐานที่อ้างอิง ทั้งนี้เอกสารการควบคุมกระบวนการ จะรวมไปถึงหรืออ้างถึงคู่มือทำงาน ทักษะฝีมือ และเกณฑ์การยอมรับสำหรับกระบวนการ การทดสอบ การตรวจสอบ และการตรวจสอบของลูกค้า

.

องค์กรจะต้องมีการจัดทำเอกสารวิธีการทำงานสำหรับการชี้บ่ง และสอบกลับได้ของผลิตภัณฑ์ด้วยแนวทางที่เหมาะสม นับตั้งแต่ขั้นตอนการรับ ในระหว่างกระบวนการผลิต การส่งมอบ และการติดตั้ง

.

นอกจากนั้น ยังต้องมีการจัดทำเอกสารวิธีการทำงาน สำหรับการบำรุงรักษา เอกสารวิธีการทำงานสำหรับการระบุสถานะของผลิตภัณฑ์ (Product Status) เอกสารวิธีการทำงานสำหรับการทวนสอบ การจัดเก็บ การดูแลรักษาและการควบคุมทรัพย์สินของลูกค้า และเอกสารวิธีการทำงานที่อธิบายถึงวิธีการที่ใช้ในการดูแลรักษาความสอดคล้องของผลิตภัณฑ์ 

.

ในส่วนของการควบคุมเครื่องมือในการเฝ้าติดตามและการวัด องค์กรจะต้องมีการจัดทำเอกสารวิธีการทำงานในการควบคุม การสอบเทียบ และการดูแลรักษาเครื่องมือที่ใช้ในการเฝ้าติดตามและการวัด ทั้งนี้เอกสารวิธีการทำงานจะต้องระบุชนิดของเครื่องมือ การชี้บ่ง สถานที่ ความถี่ในการตรวจสอบ วิธีในการตรวจสอบ และเกณฑ์การยอมรับด้วย 

.

นอกจากนั้น องค์กรจะต้องมีการจัดทำเอกสารวิธีการทำงาน สำหรับการเฝ้าติดตามและการวัดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ ส่วนการรับรองผลิตภัณฑ์ในขั้นตอนสุดท้าย หรือการปล่อยผลิตภัณฑ์ จะดำเนินการโดยบุคลากรที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่เป็นผู้ควบคุมดูแลการผลิต 

.

จะเห็นได้ว่า เนื้อหาของข้อกำหนดในมาตรฐาน ISO/TS 29001:2003 จะมีความเข้มข้นที่มากกว่ามาตรฐาน ISO9001:2000 ซึ่งมาตรฐาน ISO/TS 29001:2003 สามารถให้การรับรองได้เช่นเดียวกันกับมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพอื่น ๆ เช่น มาตรฐาน ISO9001:2000 หรือมาตรฐาน ISO/TS 16949:2002 โดยผ่านการตรวจรับรองจาก Certification Body ซึ่งในปัจจุบันยังมีบริษัทจำนวนน้อยที่ได้รับการรับรองโดยเฉพาะในเมืองไทย

.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด