เนื้อหาวันที่ : 2009-08-31 16:45:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 18864 views

การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม (TPM)

เครื่องจักรเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานผลิต และมีการใช้งานอย่างหนักและต่อเนื่อง ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้เครื่องจักรมีความพร้อมและสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องนั้นคือการบำรุงรักษาที่ดี และหนึ่งในวิธีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพก็คือ การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักร ส่งผลให้ของเสียที่เกิดขึ้นกับสินค้าเป็นศูนย์ และเพิ่มกำไรสูงสุดต่อองค์กร

โชคชัย  อลงกรณ์ทักษิณ
อาจารย์พิเศษสาขาวิศวกรรมเครื่องกล
คณะวิศวกรรมศาสตร์    มหาวิทยาลัยปทุมธานี
alongkrontuksin@liverpool.in.th
.

เครื่องจักรเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินงานผลิต และมีการใช้งานอย่างหนักและต่อเนื่อง ดังนั้นวิธีที่จะช่วยให้เครื่องจักรมีความพร้อมและสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องนั้นคือการบำรุงรักษาที่ดี และหนึ่งในวิธีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพก็คือ การบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงานที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักร ส่งผลให้ของเสียที่เกิดขึ้นกับสินค้าเป็นศูนย์ และเพิ่มกำไรสูงสุดต่อองค์กร

.

รูปที่ 1 การส่งกำลังด้วยโซ่แบบ Roller Chain

.

จากคำกล่าวที่ว่า "ใดๆ ในโลกนี้ล้วนแล้วแต่อนิจจัง"  ดังนั้นเราคงปฏิเสธไม่ได้การซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องจักรกลจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ทั้งนี้เมื่อเราใช้งานเครื่องจักรกลไปสักระยะก็จะเกิดการชำรุดเสียหายแก่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ  ซึ่งมนุษย์เราก็ได้มีแนวคิดที่จะจัดการปัญหาต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น  

.

โดยวิวัฒนาการและแนวโน้มของงานซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องจักรกลจากอดีตถึงปัจจุบันในโลกมีดังต่อไปนี้ 1) การเสียแล้วซ่อม (Breakdown Maintenance: BM)  2) การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance: PM)  3) Productive Maintenance: PM และในปัจจุบันก็คือการบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance: TPM)

.
หัวใจของ TPM

หลักการหรือหัวใจที่สำคัญของกิจกรรม TPM ก็คือ "การเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักร (OEE)" ให้มีค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้ของเสียที่เกิดขึ้นกับสินค้าเป็นศูนย์ (Zero Defects: ZD) ยังผลให้เกิดกำไรสูงสุดต่อองค์กร โดย TPM จะอาศัยกิจกรรมหลักๆ ดังต่อไปนี้

.

1.  การป้องกันการบำรุงรักษา (Maintenance Prevention: MP) เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรกล โดยอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า PM Analysis ซึ่งมีกลยุทธ์ที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1.1 การรักษาสภาพเครื่องจักรกล
1.2 ควบคุมการเดินเครื่องอย่างถูกวิธี
1.3 การเดินเครื่อง ณ จุดสมดุล
1.4 แก้ไขจุดบกพร่องของเครื่องจักรกล
1.5 เพิ่มความชำนาญให้กับผู้ควบคุมเครื่องจักรกล

.

2.  กิจกรรมการบำรุงรักษาด้วยพนักงานควบคุมเครื่องจักรกล (Autonomous Maintenance) อาศัยหลักการที่ว่าไม่มีใครรู้และดูแลเอาใจใส่เครื่องจักรกลได้ดีเท่ากับผู้ควบคุมเครื่องจักรกล ดังนั้นผู้ควบคุมเครื่องจักรกลจึงต้องเป็นผู้บำรุงรักษาด้วยตนเองเป็นประจำ
3.  แผนการบำรุงรักษาเครื่องจักรกล จัดให้มีแผนกำหนดการบำรุงรักษาเชิงป้องกันตามช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม (Preventive Maintenance Schedule: PM Sch.)

.

4.  การเพิ่มสมรรถนะให้กับพนักงานควบคุมเครื่องจักรกลและช่างซ่อมบำรุง จัดให้มีการฝึกอบรมในการเพิ่มความสามารถด้านการบำรุงรักษาเครื่องจักรกล ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมสร้าง TPM Room ไว้ในโรงงาน พร้อมกับจัดทำแผนการฝึกอบรมประจำปี
5.  การออกแบบเครื่องจักรใหม่ เป็นการปรับปรุงเพื่อการบำรุงรักษากระทำได้สะดวกง่ายขึ้น (Maintenance Improvement: MI)

.

รูปที่ 2 กิจกรรมการตรวจสอบประจำวัน

.
ขั้นตอนการดำเนินการ TPM
ในการดำเนินกิจกรรม TPM เพื่อให้เกิดผลสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จึงควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอน ดังต่อไปนี้

1.  การส่งสัญญาณจากผู้บริหารสูงสุด
2.  สร้างความเข้าใจและให้ความรู้
3.  สร้างทีมงานขับเคลื่อนกิจกรรม (TPM Steering Committee)
4.  กำหนดนโยบาย และเป้าหมาย 
5.  จัดทำแผนงานหลักของกิจกรรม TPM
6.  เริ่มดำเนินการ (Kickoff)
7.  การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรกล
8.  ทำกิจกรรมการบำรุงรักษาด้วยพนักงานควบคุมเครื่องจักรกล
9.  สร้างแผนการบำรุงรักษาเครื่องจักรกล
10.  การเพิ่มสมรรถนะให้กับพนักงานควบคุมเครื่องจักรกลและช่างซ่อมบำรุง
11.  การออกแบบเครื่องจักรกลใหม่
12.  ประเมินผลการทำงานและกำหนดเป้าหมาย และวางแผนรอบใหม่

.
PM Analysis

ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจกับคำว่า PM Analysis คืออะไรเสียก่อน P อาจหมายถึง Problem หรือ Phenomenon หรือ Physical ส่วน M อาจหมายถึง Mechanism หรือ Machine หรือ Man หรือ Material ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า PM Analysis หมายถึงการวิเคราะห์ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานทั้งหมด โดยมีขั้นตอน ดังต่อไปนี้

.

1.  กำหนดปัญหาให้เด่นชัด
2.  วิเคราะห์ปัญหาให้ลึกซึ้ง โดยใช้แผนภาพกางปลา หรือ Problem Tree
3.  จัดกลุ่มตัวแปรของปัญหาเข้าด้วยกัน
4.  ประเมินตัวแปรของปัญหาว่ามีผลมาก-น้อย หรือเกี่ยวเนื่องกับส่วนอื่นๆ หรือไม่
5.  กำหนดแผนการทดลองเพื่อทดสอบตัวแปรของปัญหา
6.  ทำการทดลองตามแผนที่ได้กำหนดไว้
7.  สรุปผลการทดลองและกำหนดวิธีการแก้ไขและป้องกัน

.

รูปที่ 3 การเลือกเครื่องจักรที่จะทำ PM Analysis

.
การชำรุดเสียหายของเครื่องจักร

รูปที่ 4 ความสัมพันธ์ของสาเหตุการเสียหาย

.

ในขั้นตอนที่สองของการทำ PM Analysis เราจะต้องทำการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อค้นหาตัวแปรของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาการชำรุดเสียหายของเครื่องจักรกลส่วนใหญ่แล้วจะมีจุดเริ่มต้น และจะมีความสัมพันธ์หรือส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา หากปัญหาแรกที่กล่าวข้างต้นไม่ได้รับการแก้ไข โดยรูปด้านบนแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรกลที่เราใช้อยู่เป็นประจำ
ตัวอย่างการทำ PM Analysis

.
ตัวอย่างการทำ PM Analysis

1.  ทำการเลือกปัญหา: ลูกกลิ้งลำเลียงเหล็กแท่ง (Billet) ที่โรงรีด 3 โดยปัญหาที่พบคือ โซ่ส่งกำลังขับขาดบ่อย
2.  วิเคราะห์ปัญหา: โซ่ขาดอาจเกิดจากอายุการใช้งานมากเกินไป ออกแบบและเลือกใช้งานโซ่ไม่เหมาะสม ขาดการบำรุงรักษาที่ดี ติดตั้งไม่ถูกต้อง เดินเครื่องนอกช่วงการออกแบบ เกรดวัสดุที่ใช้ทำโซ่ไม่เหมาะสม ฯลฯ

.

3.  ค้นหาและจัดกลุ่มตัวแปร: ความเร็วของโซ่จะมีผลอย่างมากต่อการสึกหรอ การใช้ข้อต่อโซ่แบบ Off-Set จะเป็นจุดอ่อนของโซ่เนื่องจากมีความแข็งแรงน้อยกว่าข้อโซ่ปกติ

.

4.  ตัวแปรที่เป็นรูปธรรม: การเพิ่มผลผลิตโดยการปรับความเร็วในการผลิตสูงกว่าจุดออกแบบ สภาพของน้ำมันหล่อลื่นบนโซ่ที่ไม่เพียงพอ ฯลฯ

.

5.  กำหนดวิธีการแก้ไข และป้องกันที่สอดคล้องกับตัวแปรข้างต้น เช่น ควบคุมค่าความเร็วในการเดินเครื่องไม่ให้เกิดจุดสูงสุด กำหนดระยะการหล่อลื่นโซ่ที่สอดคล้องกับค่าความเร็วของเครื่องจักรกล ฯลฯ

.

รูปที่ 5 การซ่อมหลังคาเพื่อลดตำหนิบนสินค้า

.
เอกสารอ้างอิง

* โชคชัย  อลงกรณ์ทักษิณ./ 2549./  การซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องจักรกล/ กรุงเทพฯ./ บริษัท เทอมอล แอนด์ ทราส์มิชชัน แมชชีน จำกัด.  (อัดสำเนา)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด