เนื้อหาวันที่ : 2009-08-26 18:03:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 27396 views

การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

ปัจจุบันเงื่อนไขและปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำเนินกระบวนการทางธุรกิจขององค์กรธุรกิจ ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต่างก็พยายามทุกวิถีทางในการที่จะให้ได้มาซึ่งความสามารถและความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจจะต้องหันมาทบทวนถึงกลยุทธ์หรือวิธีการที่ใช้ในการดำเนินงานว่ามีประสิทธิภาพและความเหมาะสมต่อสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด

สนั่น เถาชารี
nutphysics@hotmail.com

.

.

ปัจจุบันเงื่อนไขและปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำเนินกระบวนการทางธุรกิจขององค์กรธุรกิจ ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต่างก็พยายามทุกวิถีทางในการที่จะให้ได้มาซึ่งความสามารถและความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งขันทางธุรกิจ             

.

ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจจะต้องหันมาทบทวนถึงกลยุทธ์หรือวิธีการที่ใช้ในการดำเนินงานว่ามีประสิทธิภาพและความเหมาะสมต่อสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และเนื่องจากแนวความคิดหรือวิธีการในการบริหารของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจแบบเดิม ๆ ย่อมไม่สามารถที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้เหมือนในอดีต 

.

ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำหนดแผนการดำเนินงาน กลยุทธ์ขององค์กรให้เป็นไปในเชิงรุก ที่สามารถปรับเปลี่ยน ปรับปรุงให้เข้ากับเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายนอกและภายในองค์กร โดยใช้หลักการการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ ซึ่งการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ มีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้

.

1. เป็นการกำหนดวิสัยทัศน์ ทิศทาง ภารกิจ และวัตถุประสงค์ขององค์กรอย่างเป็นระบบ เพื่อให้องค์กรมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน  

.

2. เป็นการกำหนดวิธีการหรือแนวทางในการดำเนินงานและกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร เพื่อให้บรรลุถึงทิศทางและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดขึ้น โดยในการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานนี้ องค์กรจะต้องวิเคราะห์และประเมินปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อคิดค้นแนวทางในการดำเนินงานที่เหมาะสมที่สุดกับองค์กร

.

3. เป็นการนำเอาวิธีการหรือแนวทางในการดำเนินงานที่ได้คิดค้นขึ้นมาประยุกต์ใช้กับองค์กร เพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้

.

4. หัวหอกการวางแผนและการประยุกต์ใช้กลยุทธ์เป็นหน้าที่หลักของผู้บริหารองค์กร เมื่อเทียบกับหน้าที่อื่น ๆ ที่ผู้บริหารต้องรับผิดชอบ ความสามารถของผู้บริหารในการกำหนดแนวทางการดำเนินงาน การจัดทำและปฏิบัติตามแผนกลยุทธ์ จัดเป็นหน้าที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการดำเนินงานในระยะยาวขององค์กรธุรกิจ

.

5. การจัดการเชิงกลยุทธ์และการตัดสินใจทางด้านกลยุทธ์ จะมีความเกี่ยวข้องกันหรือมีผลต่อทิศทางในการดำเนินงานในระยะยาวขององค์กร

.

6. การตัดสินใจทางด้านกลยุทธ์อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ขององค์กร ตั้งแต่การเสาะแสวงหาทรัพยากรหรือความสามารถหลักที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

.

7. การตัดสินใจทางด้านกลยุทธ์จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในระดับต่าง ๆ ขององค์กร โดยการดำเนินงานในระดับต่าง ๆ ขององค์กรจะต้องสอดคล้องและเกื้อหนุนต่อกลยุทธ์ขององค์กร และความสามารถในการดำเนินงาน หรือการปฏิบัติงานจะเป็นสาเหตุสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กร

.

8. กลยุทธ์ขององค์กรไม่เพียงแต่จะเกี่ยวข้องกับสภาวะแวดล้อมภายนอก และปัจจัยภายในขององค์กรเท่านั้น แต่ค่านิยม ทัศนคติ ความคาดหวัง ของบุคคลฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร (Stakeholder) มีผลต่อกลยุทธ์ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ที่สำคัญได้แก่ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหารระดับสูง สังคม รัฐบาล และพนักงาน 

.

9. การจัดการและการตัดสินใจทางด้านกลยุทธ์จะเป็นความพยายามในการให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กร ซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขันสามารถเกิดขึ้นจากการนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ คุณค่าเหมาะสมกับราคา

.
ความแตกต่างระหว่างการจัดการองค์กรโดยทั่วไป กับการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์
การจัดการองค์กรโดยทั่วไปมีความแตกต่างจากการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ ที่สำคัญดังต่อไปนี้

* การจัดการองค์กรโดยทั่วไปนั้น จะมุ่งเน้นไปที่การพิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้บริหารตามกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การวางแผน (Planning) การจัดองค์กร (Organizing) การจัดคนเข้าทำงาน (Staffing) การชี้นำ (Directing) และการควบคุม (Controlling) ซึ่งผู้บริหารขององค์กรที่มีหน้าที่ในการจัดทำกลยุทธ์จะต้องมีทักษะและความสามารถที่คล้ายคลึงกับผู้บริหารที่ทำหน้าที่ในการจัดการทั่วไป

.

กล่าวคือ การจัดทำกลยุทธ์ (Strategic Formulation) ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับการวางแผน การปฏิบัติตามกลยุทธ์ (Strategic Implementation) ต้องอาศัยทักษะและความสามารถในการจัดองค์กร จัดคนเข้าทำงาน ชี้นำ และควบคุม เหมือนกับการจัดการทั่วไป        

.

แต่ความแตกต่างของการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์กับการจัดการองค์กรโดยทั่ว ๆ ไปนั้นอยู่ที่การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์จะพิจารณาและคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกองค์กรมากกว่า เช่น กฎระเบียบ กฎหมาย นโยบายภาครัฐ สังคม ประชาชน ผู้รับบริการ วัฒนธรรม เทคโนโลยี ฯลฯ ในขณะที่การจัดการองค์กรโดยทั่วไปนั้นจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการและบริหารงานภายในองค์กรมากกว่า 

.

หรืออาจจะพิจารณาในอีกนัยหนึ่งได้ว่า การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์จะมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันระหว่างองค์กรต่าง ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบของการแข่งขันในระยะยาว การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์จะทำให้ผู้บริหารมีความตื่นตัวและตระหนักถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมก่อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ หรือข้อจำกัดต่าง ๆ 

.

รวมทั้งช่วยให้ผู้บริหารมีแนวความคิดในการประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน ความเหมาะสม และความต้องการของหน่วยงานในด้านทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งด้าน การเงิน และทรัพยากรบุคคล ตลอดจนมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้สามารถดำเนินกลยุทธ์อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จในการบริหารงาน

.

* การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์เป็นการจัดการที่คำนึงถึงความต้องการและความสำคัญของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร (Stakeholders) หลายกลุ่ม อาทิเช่น ลูกค้า นโยบายภาครัฐ พันธมิตร สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี ฯลฯ ซึ่งในการที่จะสามารถบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้บริหารจะต้องเรียนรู้ว่าการตัดสินใจในด้านต่าง ๆ ของตนจะเข้าไปมีผลกระทบหรือมีอิทธิพลกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรแต่ละกลุ่มอย่างไรบ้าง     

.

ในขณะที่การบริหารหรือการจัดการองค์กรโดยทั่วไปจะคำนึงถึงแต่เฉพาะฝ่ายหรือเฉพาะแผนกของตนเอง ซึ่งจะให้ความสำคัญต่อ Stakeholders ที่มีความเกี่ยวข้องกับตนเองมากกว่า Stakeholders ที่มีความเกี่ยวข้องกับทั้งองค์กร

.

* การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์เป็นการจัดการที่มุ่งเน้นการบรรลุถึงเป้าหมายโดยรวมของทั้งองค์กรเป็นหลัก เนื่องจากในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ผู้บริหารหรือบุคลากรในแต่ละฝ่ายย่อมจะมีมุมมองหรือจุดมุ่งหมายอยู่เฉพาะแต่ในส่วนหรือในฝ่ายของตนเอง ซึ่งทำให้เกิดอุปสรรคในการที่องค์กรจะบรรลุถึงเป้าหมายโดยรวมขององค์กร หรืออีกนัยหนึ่งบุคลากรของแต่ละฝ่ายหรือแต่ละแผนกจะให้ความสนใจและความสำคัญแต่เฉพาะฝ่ายหรือส่วนของตนเองโดยไม่คำนึงถึงทั้งองค์กรเป็นหลัก     

.

การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์จะทำให้ผู้บริหารเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างเป้าหมายของแต่ละแผนกและเป้าหมายรวมขององค์กร นอกจากนี้ยังจะสามารถทำความเข้าใจถึงกระบวนการในการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์และความสำคัญของแต่ละฝ่ายหรือแต่ละแผนกที่มีต่อองค์กรโดยรวม

.

* การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์เป็นการรวมหรือหล่อหลอมหน้าที่ต่าง ๆ ในองค์กรเข้าไว้ด้วยกัน โดยปกติแล้วองค์กรควรจะต้องมีความเชี่ยวชาญหรือความชำนาญในหน้าที่หรืองานด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ความชำนาญในสาขาหรือในด้านต่าง ๆ เพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอต่อการแข่งขันในสภาวการณ์ปัจจุบัน

.

จึงจำเป็นต้องมีหลักการจัดการที่สามารถรวมและประสานความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์เป็นการประสานและรวมความเชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละด้านเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรโดยส่วนรวม การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ทำให้เกิดการชี้นำองค์กรไปในทิศทางที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน ทำให้รู้ว่าในขณะนี้องค์กรกำลังทำอะไรอยู่และต้องการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ใด

.

โดยมีการประสานและนำทรัพยากรไปใช้ในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถปฏิบัติการตามกลยุทธ์ให้บรรลุความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ขององค์กรที่ได้วางไว้ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่ตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งสามารถสรุปความแตกต่างระหว่างการจัดการองค์กรโดยทั่วไป และการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ดังแสดงในตารางที่ 1

.
ตารางที่ 1 แสดงความแตกต่างระหว่างการจัดการองค์กรโดยทั่วไป และการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์

.
การกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันขององค์กร
การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ เพื่อกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันขององค์กร โดยทั่วไปมีขั้นตอนที่สำคัญด้วยกัน 4 ขั้นตอนคือ

1. การวิเคราะห์ปัจจัยทางกลยุทธ์ (Strategic Analysis) เป็นขั้นตอนของการวิเคราะห์ถึงปัจจัยและสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและกลยุทธ์ขององค์กร เพื่อที่จะได้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆเหล่านี้ รวมทั้งสถานะขององค์กรได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น การวิเคราะห์ปัจจัยทางกลยุทธ์จะทำให้ทราบว่าปัจจัยหรือสภาวะแวดล้อมภายนอกมีลักษณะอย่างไร มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะใด และก่อให้เกิดโอกาสและข้อจำกัดต่อองค์กรได้อย่างไรบ้าง        

.

นอกจากนี้การวิเคราะห์ปัจจัยทางกลยุทธ์จะช่วยให้องค์กรทราบถึงทรัพยากร (Resources) และความสามารถ (Capabilities) ต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในองค์กรว่าเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนอย่างไร และจะช่วยให้องค์กรสามารถบรรลุความได้เปรียบทางการแข่งขันได้อย่างไร 

.

สภาวะแวดล้อมภายนอกที่องค์กรจะวิเคราะห์นั้นประกอบด้วย ปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรง และที่ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรงได้แก่ ลูกค้า พันธมิตร หน่วยงานกำกับ ฯลฯ ในขณะที่ปัจจัยภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรงแต่ก่อให้เกิดโอกาสและข้อจำกัดแก่องค์กรนั้น

.

ได้แก่ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย การค้า เทคโนโลยี วัฒนธรรม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรงหรือไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยตรง ย่อมส่งผลให้เกิดโอกาสหรือข้อจำกัดต่อองค์กร รวมทั้งมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

.

สำหรับปัจจัยภายในขององค์กรนั้นมีวิธีที่สามารถใช้ในการวิเคราะห์หลายวิธีด้วยกัน อาทิเช่น การวิเคราะห์ตามสายงาน (Functional Analysis) การวิเคราะห์ตามตัวแบบห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การวิเคราะห์ตามตัวแบบ 7S Tools หรือการวิเคราะห์ทรัพยากรและความสามารถภายใน (Resources and Capabilities Analysis) ถึงแม้ว่าจะมีวิธีการวิเคราะห์ได้หลายวิธี แต่ผลลัพธ์ที่จะได้รับเหมือนกัน คือทำให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร ซึ่งจะช่วยในการกำหนดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

.

จะเห็นได้ว่าผลลัพธ์ที่จะได้รับจากการวิเคราะห์ทางกลยุทธ์นั้น ประกอบด้วย โอกาส ข้อจำกัด ที่เกิดจากปัจจัยภายนอก จุดแข็ง และจุดอ่อน ที่เกิดจากปัจจัยภายใน หรือที่นิยมเรียกกันว่า การวิเคราะห์ SWOT (SWOT Analysis - Strengths, Weaknesses, Opportunities, and Threats) รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร    

.

ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิเคราะห์ทางกลยุทธ์นี้ จะเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการกำหนดทิศทางและกลยุทธ์ขององค์กร ถ้าองค์กรทำการกำหนดกลยุทธ์โดยขาดการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในแล้ว กลยุทธ์ขององค์กรก็มีแนวโน้มที่จะประสบความล้มเหลวสูง เพราะแผนกลยุทธ์ขาดความสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่รายรอบองค์กรอยู่ 

.

2. การกำหนดทิศทางขององค์กร (Direction Setting) ได้แก่การกำหนด วิสัยทัศน์ (Vision) ภารกิจ (Mission) และประเด็นกลยุทธ์ (Strategic Issue) ขององค์กร การกำหนดทิศทางขององค์กรจะเป็นการบ่งชี้ว่าองค์กรจะมุ่งเน้นไปในทิศทางใด หรือลักษณะการดำเนินการขององค์กร นอกจากนี้การกำหนดทิศทางขององค์กรจะยังมีส่วนช่วยในการแปลงวิสัยทัศน์หรือภารกิจขององค์กรให้กลายมาเป็นวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานที่มีลักษณะที่ชัดเจนขึ้น   

.

ในการกำหนดทิศทางขององค์กรนั้นต้องสามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า ภารกิจขององค์กรในปัจจุบันคืออะไร และเป้าหมายขององค์กรในอนาคตคืออะไร ซึ่งการที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนนี้จะช่วยให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร สามารถพิจารณาได้ว่าบทบาท ภาระหน้าขององค์กรประกอบไปด้วยอะไรบ้างและจะช่วยพัฒนาวิสัยทัศน์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับทิศทางหรือสิ่งที่จะมุ่งไปในอนาคตข้างหน้า

.

การกำหนดทิศทางขององค์กรจะประกอบไปด้วย การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) หรือสิ่งที่ผู้บริหารขององค์กรใฝ่ฝันอยากให้องค์กรเป็น การกำหนดภารกิจ (Mission) หรือกรอบในการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งการกำหนดภารกิจขององค์กรอย่างชัดเจนนั้น จะช่วยองค์กรเตรียมความพร้อมสำหรับในอนาคต กำหนดทิศทางในระยะยาวขององค์กร และบ่งบอกถึงความตั้งใจหรือความต้องการขององค์กรในการดำเนินงาน นอกจากการกำหนดวิสัยทัศน์และภารกิจแล้ว การกำหนดทิศทางขององค์กรยังครอบคลุมถึงการแปลงวิสัยทัศน์และภารกิจที่อาจจะยังคงมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ให้เป็นประเด็นกลยุทธ์ที่สำคัญอีกด้วย

.

การกำหนดประเด็นกลยุทธ์ คือการเปลี่ยนหรือแปลความหมายของวิสัยทัศน์และภารกิจขององค์กร ให้เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานที่มีความเฉพาะเจาะจง สามารถวัดผลได้อย่างชัดเจน การกำหนดประเด็นกลยุทธ์คือการตั้งเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องการไว้ ซึ่งองค์กรจะต้องใช้ความพยายามในการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

.

ความท้าทายในการลดช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่างประเด็นกลยุทธ์ที่ต้องการกับความสามารถในการดำเนินงานขององค์กร เป็นสิ่งผลักดันให้องค์กรมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น พร้อมทั้งเกิดความเร่งรีบที่จะพัฒนาผลการดำเนินงาน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการกระทำต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้นการตั้งประเด็นกลยุทธ์ที่มีความท้าทายแต่สามารถบรรลุได้จะช่วยป้องกันความเฉื่อยชาภายในองค์กรได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

.

การกำหนดทิศทางขององค์กรที่ดีและชัดเจนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรเป็นอย่างมาก เนื่องจากองค์กรจะมีความชัดเจนในการดำเนินงานและมีเป้าหมายที่ชัดเจน บรรลุได้ และวัดผลได้ ซึ่งทำให้การกำหนดกลยุทธ์มีความชัดเจนและสามารถนำไปปฏิบัติได้ ดังนั้นในการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ถ้าขาดเสียสิ้นการกำหนดทิศทางขององค์กรที่ดีและชัดเจนแล้ว องค์ประกอบอื่น ๆ ย่อมไม่สามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

3. การจัดทำแผนกลยุทธ์ (Strategic Formulation) เป็นขั้นตอนของการนำเอาข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายในองค์กรและการกำหนดทิศทางขององค์กร มาจัดทำเป็นแผนกลยุทธ์ รวมทั้งระบบการประเมินและคัดเลือกว่ากลยุทธ์ใดที่มีความเหมาะสมกับองค์กรมากที่สุด ในการจัดทำกลยุทธ์นั้นพึงระลึกอยู่เสมอว่าการจัดทำกลยุทธ์เป็นการกำหนดแนวทาง วิธีการ และกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถบรรลุถึงภารกิจและวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ โดยนำเอาการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทั้งภายนอกและภายในองค์กรมาพิจารณาประกอบ 

.
ซึ่งกลยุทธ์ขององค์กรธุรกิจสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับด้วยกัน ดังต่อไปนี้

1). กลยุทธ์ระดับบริษัทหรือองค์กร (Corporate Strategy) จะถูกกำหนดโดยผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ปกติกลยุทธ์ในระดับองค์กร จะมีขอบเขตครอบคลุมระยะเวลายาวและทั่วทั้งองค์กร โดยที่กลยุทธ์ระดับองค์กรจะเป็นเครื่องที่กำหนดว่า องค์กรสมควรจะดำเนินธุรกิจอะไร และจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อการดำเนินงานและการดำรงอยู่ในอนาคต 

.

2). กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Strategy) จะมีขอบเขตที่จำกัดกว่ากลยุทธ์ระดับองค์กร โดยกลยุทธ์ระดับธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการแข่งขันของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม กลยุทธ์ระดับนี้มักถูกกำหนดโดย ผู้บริหารหน่วยธุรกิจ (Business Unit Head (BU Head)) เพื่อให้หน่วยธุรกิจ (Business Unit (BU)) ของตนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภารกิจ (Mission) และวัตถุประสงค์ (Objective) ขององค์กร 

.

3). กลยุทธ์ระดับหน้าที่ (Functional Strategy) จะถูกกำหนดโดยหัวหน้าหน่วยงานตามหน้าที่ทางธุรกิจ เช่น การเงิน การตลาด การดำเนินการ และทรัพยากรบุคคล เพื่อสนับสนุนและสอดคล้องกับกลยุทธ์ระดับที่สูงกว่า โดยที่กลยุทธ์ระดับนี้จะมีลักษณะที่เฉพาะเจาะจงตามหน้าที่ทางธุรกิจ โดยรวบรวมข้อมูลจากภายในหน่วยงานและจากสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินงานเฉพาะหน้าที่ประสบความสำเร็จภายใต้ช่วงระยะเวลาที่แน่นอน

.

รูปที่ 1 แสดงระดับของกลยุทธ์

.

การจัดทำแผนกลยุทธ์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาปัจจัยรอบด้านพอสมควร การจัดทำแผนกลยุทธ์ไม่ใช่เพียงแค่การคิดค้นวิธีการใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการวิเคราะห์พิจารณาผลของการดำเนินการทางกลยุทธ์ทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้วและกำลังดำเนินการอยู่      

.

ถ้ากลยุทธ์เหล่านี้ประสบผลสำเร็จและเกิดประโยชน์แก่องค์กร องค์กรก็ควรที่จะใช้กลยุทธ์เหล่านั้นต่อไป ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกลยุทธ์หรือการจัดทำกลยุทธ์ขึ้นมาใหม่ก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียแก่องค์กรได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางกลยุทธ์หรือการจัดทำกลยุทธ์ใหม่ ๆ จึงควรเป็นไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น

.

ในการจัดทำแผนกลยุทธ์นั้น ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรธุรกิจต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่ดี รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการที่จะมองเห็นโอกาสที่ดี นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในกลยุทธ์จากกลยุทธ์เดิมที่ประสบความสำเร็จมาตลอด มาสู่กลยุทธ์ใหม่ในสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมต้องการผู้บริหารที่มีความกล้าหาญที่จะตัดสินใจและยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

.

ถ้าผู้บริหารไม่มีความกล้าตัดสินใจแล้วองค์กรก็คงที่ จะไม่สามารถมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้รองรับและสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรโดยรวม

.

สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารขององค์กรจะต้องคำนึงถึงตลอดเวลา ได้แก่การที่กลยุทธ์เป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง เป็นกระบวนการที่มีความต่อเนื่องและเป็นกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลา เมื่อกำหนดภารกิจและประเด็นทางกลยุทธ์ขององค์กรแล้ว ภารกิจและประเด็นทางกลยุทธ์นั้นอาจจะสามารถอยู่ได้เป็นเวลาหลายปีโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่กลยุทธ์หรือวิธีการในการบรรลุภารกิจและวัตถุประสงค์นั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    

.

การเปลี่ยนแปลงทางกลยุทธ์อาจจะเกิดขึ้นได้จากโอกาสใหม่ ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือผู้บริหารมีวิธีการใหม่ ๆ ในการทำให้การดำเนินงานที่ดีขึ้น หรือเมื่อมีวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้เนื่องจากการจัดทำกลยุทธ์ไม่สามารถครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นกลยุทธ์จึงควรมีความพร้อมและความสามารถที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่ไม่ได้คาดคิดล่วงหน้า หรือมีลักษณะของความเป็นพลวัตร (Dynamic) 

.

4. การปฏิบัติตามกลยุทธ์ (Strategic Implementation) เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างมากในการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ เมื่อองค์กรได้วิเคราะห์ปัจจัยด้านต่าง ๆ ทางกลยุทธ์ กำหนดทิศทางขององค์กร และจัดทำแผนกลยุทธ์แล้ว จะต้องนำเอาแผนกลยุทธ์ที่ได้จัดทำและคัดเลือกไว้มาดำเนินการประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้ ถ้าในกระบวนการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ขาดขั้นตอนนี้แล้ว สิ่งที่ผู้บริหารขององค์กรได้วิเคราะห์ จัดทำไว้ก็จะไม่เกิดผลขึ้นจริงในทางปฏิบัติ     

.

นอกจากนี้ถึงแม้ว่าจะมีการวิเคราะห์หรือวางแผนกลยุทธ์ไว้ดีเพียงใด แต่ถ้าการปฏิบัติตามกลยุทธ์ขององค์กรไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ความพยายามในการวิเคราะห์หรือวางแผนก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อองค์กรเลย ดังนั้นความสามารถในการปฏิบัติตามกลยุทธ์ขององค์กรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์เป็นอย่างยิ่ง

.

กิจกรรมหลักในการปฏิบัติตามกลยุทธ์ จะเป็นการพิจารณาว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้กลยุทธ์ที่ได้วางแผนและเลือกสรรไว้สามารถนำมาใช้ดำเนินงานและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ การนำแผนกลยุทธ์มาสู่การปฏิบัติ จะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กรที่สำคัญคือ

.

* การเสริมสร้างทักษะ ความสามารถของบุคลากรทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติการให้มีความเหมาะสมกับกลยุทธ์การแข่งขันขององค์กร
* การจัดโครงสร้างในการบริหารและระบบในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ขององค์กรให้สอดคล้องและเหมาะสมกับกลยุทธ์ขององค์กร
* การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรไปสู่หน่วยงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ขององค์กร
*.จูงใจพนักงานภายในองค์กรเพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์อาจจะรวมไปถึงการปรับเปลี่ยนลักษณะงานและพฤติกรรมในการทำงานให้เหมาะสม
* การมีนโยบายในการบริหารงานในระดับต่าง ๆ ให้สอดคล้องและเกื้อหนุนต่อกลยุทธ์ขององค์กร 
* การมีวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องและสนับสนุนต่อกลยุทธ์ขององค์กร
* การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในองค์กร

.

จะเห็นได้ว่างานและหน้าที่ในการปฏิบัติตามกลยุทธ์เป็นสิ่งที่มีความสลับซับซ้อนในการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากงานนี้จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องในทุกฝ่ายและทุกหน่วยงานภายในองค์กรและจะต้องเริ่มต้นจากภายในองค์กร โดยปกติการปฏิบัติตามกลยุทธ์จะต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์และพิจารณาการดำเนินงานในปัจจุบัน รวมทั้งกิจกรรมและปัจจัยต่าง ๆ ขององค์กร ว่ามีความสอดคล้องและเกื้อหนุนต่อกลยุทธ์ที่องค์กรจะใช้หรือไม่   

.

ถ้าสิ่งใดที่ไม่สอดคล้องหรือสนับสนุนกลยุทธ์ขององค์กรก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายในด้านต่าง ๆ หรือ โครงสร้างขององค์กร หรือ แม้กระทั่งบุคลากรภายในองค์กร ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์กรเหล่านี้ย่อมก่อให้เกิดแรงต่อต้านภายในองค์กร ดังนั้นผู้บริหารองค์กรจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในองค์กรเป็นอย่างยิ่ง

.

ในขั้นตอนของการปฏิบัติตามกลยุทธ์นั้น นอกเหนือจากประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นนั้น หน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้บริหาร ได้แก่ การประเมินและตรวจสอบผลการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งการประเมินและตรวจสอบควรจะมีส่วนสัมพันธ์และสอดคล้องกับการปฏิบัติงาน นอกจากนี้หน้าที่หรืองานด้านการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์มิใช่งานที่จะต้องพึงปฏิบัติเพียงครั้งเดียวแล้วจบสิ้นไป เนื่องจากเหตุการณ์และสถานการณ์ใหม่ ๆ สามารถเกิดขึ้นมาได้ตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการแก้ไขและปรับปรุงกลยุทธ์ให้เป็นไปตามที่ต้องการ

.

เนื่องจากทิศทางในระยะยาวขององค์กรอาจจะต้องมีการเปลี่ยนไป ภารกิจหรือลักษณะการดำเนินงานขององค์กรอาจจะต้องมีการกำหนดขึ้นมาใหม่ วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการดำเนินงานอาจจะสูงขึ้นหรือต่ำลง กลยุทธ์อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากทิศทางในการดำเนินงานและเป้าหมายที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้การค้นหาวิธีที่จะนำกลยุทธ์มาปฏิบัติยังคงจะต้องดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะถ้าการปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่วางไว้ไม่ได้เป็นไปตามที่ได้คาดหวัง

.

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกระบวนการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์จึงไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งแต่จะต้องมีการดำเนินต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด การเปลี่ยนแปลงจากทั้งภายนอกและภายในองค์กรทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การแข่งขันขององค์กรอยู่ตลอดเวลา งานหรือหน้าที่ในการประเมินผลและปรับปรุงจึงเป็นได้ทั้งในจุดเริ่มต้นและในจุดสิ้นสุดของกระบวนการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์             

.

ซึ่งเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างขั้นตอนของกลยุทธ์ทั้ง 4 ขั้นตอนจะเห็นว่าขั้นตอนทั้ง 4 ขั้นตอนจะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตั้งแต่ การวิเคราะห์ปัจจัยทางกลยุทธ์ การกำหนดทิศทางขององค์กร การจัดทำแผนกลยุทธ์ และการปฏิบัติตามกลยุทธ์ เช่น การวิเคราะห์ปัจจัยทางกลยุทธ์เป็นกิจกรรมที่ต้องดำเนินการก่อนขั้นตอนอื่น และในการปฏิบัติตามกลยุทธ์ก็ยังจะต้องมีการวิเคราะห์ปัจจัยทางกลยุทธ์อีกด้วย 

.

นอกจากนี้การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการแบ่งแยกลำดับก่อนหลังแบบนี้เสมอไป เช่น ผู้บริหารอาจจะต้องวิเคราะห์และพิจารณาไปในขณะเดียวกันว่ากลยุทธ์ที่กำลังจะจัดทำขึ้นมานั้น มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด หรือถ้าจะต้องปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลแล้วจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างภายในองค์กร
กลยุทธ์กับการวางแผน

.

โดยทั่วไปแล้วผู้บริหารองค์กรธุรกิจมักจะมีความเข้าใจว่ากลยุทธ์ คือการวางแผนอย่างมีระบบหรือแผนอย่างเป็นทางการขององค์กร ซึ่งการวางแผนในลักษณะนี้ผู้บริหารระดับสูงจะเป็นผู้วางแผน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วถึงแม้ว่าการวางแผนจะเป็นรากฐานที่สำคัญของกลยุทธ์การแข่งขันขององค์กรต่าง ๆ แต่กลยุทธ์ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการวางแผนเสมอไป

.

กลยุทธ์สามารถเกิดขึ้นมาจากภายในองค์กรเองทันทีทันใด โดยที่ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้าเอาไว้ก่อนก็ได้ หรือที่เรียกว่ากลยุทธ์ฉับพลัน (Emergent Strategy) ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากลยุทธ์การแข่งขันขององค์กรมีที่มาได้ 2 ลักษณะ คือ กลยุทธ์ที่เกิดจากการวางแผนไว้ล่วงหน้า และกลยุทธ์ที่ไม่ได้เกิดจากการวางแผนไว้ล่วงหน้า

.
* กลยุทธ์ที่เกิดจากการวางแผน

กระบวนการวางแผนในทางกลยุทธ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น โดยขั้นตอนเหล่านี้ประกอบด้วย (1) การวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร (2) การกำหนดทิศทางขององค์กร (3) การจัดทำกลยุทธ์ โดยนำผลการวิเคราะห์จากขั้นตอนเบื้องต้นมาจัดทำ และคัดเลือกกลยุทธ์ที่มีความเหมาะสมที่สุด และ (4) การนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นการนำกลยุทธ์ที่ได้จัดทำและคัดเลือกไว้ในขั้นตอนที่ 3 มาปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรสามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้

.

ในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์จะต้องมีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนนี้ ซึ่งในองค์กรส่วนใหญ่จะแบ่งผู้บริหารออกเป็นสองประเภท ได้แก่ ผู้บริหารทั่วไป (General Manager) และผู้บริหารเฉพาะหน้าที่หรือระดับปฏิบัติการ (Functional Manager) ซึ่งผู้บริหารทั่วไปนี้ ได้แก่ผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบต่อองค์กรโดยรวม ความสนใจของผู้บริหารในกลุ่มนี้ได้แก่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กรที่ตนบังคับบัญชาอยู่      

.

ในขณะที่ผู้บริหารเฉพาะหน้าที่หรือระดับปฏิบัติการจะรับผิดชอบเฉพาะฝ่ายหรือแผนกตามสายงานต่าง ๆ ความรับผิดชอบของผู้บริหารเหล่านี้มักจะครอบคลุมเพียงกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งขององค์กรเท่านั้น ดังนั้นผู้บริหารทั่วไปจึงมักจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับกลยุทธ์การแข่งขันขององค์กรธุรกิจ

.

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าแนวคิดที่สำคัญประการหนึ่งทางด้านกลยุทธ์ คือกลยุทธ์เป็นผลมาจากการวางแผนขององค์กร ถึงแม้ว่าผู้บริหารระดับต่าง ๆ ภายในองค์กรล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่ แต่ผู้บริหารระดับสูงเป็นตัวจักรสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กร อย่างไรก็ดีกลยุทธ์นั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากการวางแผนโดยผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่กลยุทธ์ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมภายนอกองค์กรที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ และกลยุทธ์ไม่จำเป็นจะต้องริเริ่มหรือมาจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร

.

โดยปกติแผนกลยุทธ์ขององค์กรต่าง ๆ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วนด้วยกันได้แก่ (1) สิ่งที่บ่งบอกว่าองค์กรทำอะไร (2) วัตถุประสงค์ขององค์กร (3) การจัดทำกลยุทธ์ และ (4) แนวทางในการประยุกต์ใช้กลยุทธ์นั้นให้ได้ผล ในองค์กรบางแห่งโดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่จะมีการดำเนินงานและการเคลื่อนไหวที่ยึดตามแผนกลยุทธ์ที่ได้วางไว้ ในองค์กรเหล่านี้แผนกลยุทธ์จะเป็นสิ่งที่เขียนบ่งบอกไว้อย่างชัดเจน (ยกเว้นในบางเรื่องที่อาจจะต้องมีการปกปิดไว้ก่อน) 

.

ในขณะที่บางองค์กรแผนกลยุทธ์ไม่ได้มีการเขียนไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่เป็นความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงถึงสิ่งที่ทำมาในอดีตและสิ่งที่จะต้องทำต่อไปในอนาคต วัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ที่มักจะเขียนไว้อย่างเป็นทางการและแจกจ่ายให้ทุกคนในองค์กรได้รับทราบ

.
* กลยุทธ์ที่ไม่ได้เกิดจากการวางแผน

กลยุทธ์ที่ไม่ได้เกิดจากการวางแผน เป็นกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือกฎหมาย การพัฒนาของเทคโนโลยีแบบใหม่ ทัศนคติของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ถึงแม้การวางแผนเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์และสำคัญต่อกระบวนการในการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์เป็นอย่างสูง จนมีการกล่าวว่าการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์คือการวางแผนอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบที่ดีนั่นเอง   

.

 เนื่องจากในกระบวนการทางด้านกลยุทธ์นั้นองค์กรมีหน้าที่ในการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และวางแผนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์นั้น ๆ โดยมีการจัดสรรทรัพยากรภายในให้เหมาะสม แต่ทว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วยังมีผู้วิจารณ์ความแตกต่างระหว่างการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์กับการวางแผนอีกมาก ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วกลยุทธ์สามารถเกิดจากผลการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือเนื่องมาจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้คาดหวังไว้ 

.
ประโยชน์ของการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ ที่สำคัญมีดังต่อไปนี้
1. มุ่งเน้นการบรรลุถึงเป้าหมายโดยรวมของทั้งองค์กร
2. เป็นการประสานและรวมความเชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรโดยส่วนรวม
3. ทำให้ผู้บริหารองค์กรคิดค้นแนวทางการบริหารองค์กรที่มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา
.

4. ทำให้ผู้บริหารองค์กรทราบถึงโอกาส ข้อจำกัด ที่เกิดจากปัจจัยภายนอก จุดแข็ง และจุดอ่อน ที่เกิดจากปัจจัยภายในองค์กร
5.องค์กรมีวิสัยทัศน์ (Vision) ภารกิจ (Mission) ประเด็นกลยุทธ์ (Strategic Issue) ตลอดจนทิศทางการดำเนินงานขององค์กรที่ดีและชัดเจน ทำให้องค์กรมีความชัดเจนในการดำเนินงานและมีเป้าหมายที่ชัดเจน ที่สามารถทำให้บรรลุและวัดผลได้
6. องค์กรมีกลยุทธ์ที่มีความพร้อมและความสามารถที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่ไม่ได้คาดคิดล่วงหน้า หรือมีลักษณะของความเป็นพลวัตร

..

7. ทำให้เกิดการเสริมสร้างทักษะ ความสามารถของบุคลากรทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติการให้มี
ความเหมาะสมกับกลยุทธ์การแข่งขันขององค์กร
8. ทำให้องค์กรมีแนวทางในการบริหารการเปลี่ยนแปลงจากภายในและภายนอกองค์กรที่มีประสิทธิภาพ 
9. ทำให้ผู้บริหารองค์กรมีแนวทางในการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ โดยอาศัยขั้นตอนทั้ง 4 ขั้นตอนอย่างเป็นระบบและมีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง

.

10.ทำให้องค์กรมีแผนงานในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างเป็นระบบและเป็นทางการ
11.ทำให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป
12.ปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันขององค์กรอย่างต่อเนื่อง

.
สรุปกลยุทธ์การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์

การจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ คือการกำหนดกลยุทธ์การแข่งขันขององค์กร ธุรกิจ โดยจะมุ่งเน้นไปที่การพิจารณาและคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกองค์กร เช่น กฎระเบียบ กฎหมาย นโยบายภาครัฐ สังคม ประชาชน ผู้รับบริการ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี การคำนึงถึงความต้องการและความสำคัญของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร (Stakeholders) หลายกลุ่ม การมุ่งเน้นบรรลุถึงเป้าหมายโดยรวมของทั้งองค์กร และเป็นการประสานและรวมความเชี่ยวชาญพิเศษในแต่ละด้านเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรโดยส่วนรวม

 .

โดยมีขั้นตอนที่สำคัญด้วยกัน 4 ประการคือ

(1) การวิเคราะห์ปัจจัยทางกลยุทธ์ เป็นการวิเคราะห์ถึงปัจจัยและสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและกลยุทธ์ขององค์กร  (2) การกำหนดทิศทางขององค์กร เป็นการกำหนด วิสัยทัศน์ (Vision) ภารกิจ (Mission) และประเด็นกลยุทธ์(Strategic Issue)ขององค์กร เพื่อเป็นการบ่งชี้ว่าองค์กรจะมุ่งเน้นไปในทิศทางใด หรือลักษณะการดำเนินการขององค์กร

.

(3) การจัดทำแผนกลยุทธ์ เป็นการนำเอาข้อมูลและความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการกำหนดทิศทางขององค์กรและการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายในองค์กรมาจัดทำเป็นแผนกลยุทธ์ รวมทั้งระบบการประเมินและคัดเลือกว่ากลยุทธ์ใดที่มีความเหมาะสมกับองค์กรมากที่สุด

.

(4) การปฏิบัติตามกลยุทธ์ เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างมากในการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์ เมื่อองค์กรได้วิเคราะห์ปัจจัยด้านต่าง ๆ ทางกลยุทธ์ กำหนดทิศทางขององค์กร และจัดทำแผนกลยุทธ์แล้ว จะต้องนำเอาแผนกลยุทธ์ที่ได้จัดทำและคัดเลือกไว้มาดำเนินการประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้ ซึ่งการจัดการองค์กรเชิงกลยุทธ์โดยใช้ขั้นตอนดังกล่าวมา จะทำให้องค์กรสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี 

.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด