เนื้อหาวันที่ : 2009-08-26 17:02:34 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 12932 views

เทคโนโลยีเตาเผาแบบ 2 ห้อง เพื่อใช้ประโยชน์จากชีวมวล

ในปัจจุบันนี้มีการนำเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) มาใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่น เศษไม้ ขี้เลื่อย แกลบ กะลาปาล์ม แต่เตาเผาที่ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวยังมีสมรรถนะที่ต่ำ คือ มีขนาดใหญ่ ราคาแพง ประสิทธิภาพต่ำและมลพิษมาก จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเตาเผาที่ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวให้มีสมรรถนะสูงขึ้น คือ เผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวลได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถควบคุมมลพิษได้ ทำให้เกิดเทคโนโลยี เตาเผาแบบ 2 ห้อง (Two-chamber Furnace) ซึ่งจะทำให้ได้ความร้อนที่มีคุณภาพสูงขึ้นรวมทั้งมลพิษลดลง

ธนกร ณ พัทลุง

.

.

ในปัจจุบันนี้มีการนำเชื้อเพลิงชีวมวล (Biomass) มาใช้กันอย่างกว้างขวาง เช่น เศษไม้ ขี้เลื่อย แกลบ กะลาปาล์ม แต่เตาเผาที่ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวยังมีสมรรถนะที่ต่ำ คือ มีขนาดใหญ่ ราคาแพง ประสิทธิภาพต่ำและมลพิษมาก เนื่องจากเชื้อเพลิงชีวมวลมีค่าความร้อนต่ำ (Heating Value) และมีความชื้นสูง จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเตาเผาที่ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวให้มีสมรรถนะสูงขึ้น คือ เผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวลได้ดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถควบคุมมลพิษได้ ทำให้เกิดเทคโนโลยี เตาเผาแบบ 2 ห้อง (Two-chamber Furnace) ซึ่งจะทำให้ได้ความร้อนที่มีคุณภาพสูงขึ้นรวมทั้งมลพิษลดลง

.

สำหรับเตาเผาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ในการนำความร้อนไปใช้ประโยชน์นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะห้องเดียว ซึ่งได้แก่ เตาฟืน เตาถ่าน เตาแกลบ เป็นต้น โดยเตาฟืนยังแบ่งออกได้อีก 2 ลักษณะ คือเตาฟืนที่ไม่มีปล่องกับเตาฟืนมีปล่อง (เตาอั้งโล่) ซึ่งประสิทธิภาพการเผาไหม้ต่ำ โดยมีสาเหตุมาจาก การเผาไหม้ที่เกิดขึ้นในเตาแบบนี้นั้นไม่ค่อยสมบูรณ์ (ทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ได้ค่อนข้างยาก) เนื่องจากปัจจัยหลายประการ

.

เช่น การผสมระหว่างอากาศและเชื้อเพลิงไม่ทั่วถึง, เวลาในการเผาไหม้ไม่นานเพียงพอ จึงทำให้เชื้อเพลิงที่ไม่เผาไหม้ติดไปกับอากาศส่วนเกิน, ผลจากความชื้นของเชื้อเพลิงและภาระความร้อนที่เปลี่ยนแปลงตลอด จึงส่งผลให้ความร้อนที่ได้มีคุณภาพต่ำ (อุณหภูมิไม่สูงเท่าที่ควร) และมีเขม่ามาก

.
เตาเผาแบบ 2 ห้อง

เตาเผาจะออกแบบให้เผาเชื้อเพลิงที่มีความชื้นสูง ได้แก่ ชีวมวล โดยเตาประกอบด้วย 2 ห้องเผาไหม้ซึ่งจะมีการเผาไหม้ 2 ครั้ง ดังในรูปที่ 1 ส่วนแรกจะเป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงแข็งจนได้ Pyrolysis Gas (ยังไม่สมบูรณ์) แล้วทำการเผาไหม้แก๊สที่ได้อีกครั้งในส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ทำให้ได้ความร้อนที่มีอุณหภูมิสูง และเตาเผาแบบ 2 ห้องสามารถควบคุมให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ได้ดีเนื่องจากในส่วนที่ 2 เชื้อเพลิงมีสภาพเป็นแก๊ส

.
* ส่วนประกอบหลัก ๆ ของเตาเผาแบบ 2 ห้อง

1. Primary Chamber เป็นส่วนที่ทำการเผาไหม้เชื้อเพลิงในสภาพของแข็ง
2. Secondary Chamber เป็นส่วนที่ทำการเผาไหม้ Pyrolysis Gas
3. Blower ทำหน้าที่ป้อนอากาศเข้าสู่ Primary Chamber และ Secondary Chamber
4. Cyclone ทำหน้าที่ดักขี้เถ้าและอนุภาคต่าง ๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้
5. Heat Exchanger เป็นส่วนที่นำความร้อนที่ได้มาใช้งาน

.

รูปที่ 1 แสดงส่วนประกอบของเตาเผาแบบ 2 ห้อง

.
* หลักการทำงาน

ทำการเผาไหม้เชื้อเพลิงใน Primary Chamber โดยเชื้อเพลิงจะถูกทำให้แห้งและดึงความร้อนออกมา ซึ่งตำแหน่งทางเข้าของอากาศสู่ห้องเผาไหม้นั้นจะต้องมีทิศทางที่ทำให้อากาศผ่าน Fuel Bed อย่างเพียงพอที่จะทำให้เกิด Pyrolysis Gas จากนั้น Pyrolysis Gas ก็จะไหลเข้าสู่ Secondary Chamber ซึ่งมีอากาศที่มีความเร็วสูง (Jet) เข้าผสม เกิดการเผาไหม้ขึ้นอีกครั้ง (Very Efficient Combustion)

.

จากนั้นแก๊สที่ได้จากการเผาไหม้ (Product of Combustion) ก็จะไหลผ่านท่อไปยังไซโคลน ซึ่งทำให้ขี้เถ้าและอนุภาคต่าง ๆ ตกลงสู่ส่วนล่างของเตาแล้วความร้อนที่ได้ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น กระบวนการอบแห้ง, Boiler หรือ Stirling Engine เป็นต้น ดังในรูปที่ 3

.

รูปที่ 2 แสดงรูปแบบจำลองเตาเผาแบบ 2 ห้อง

.

รูปที่ 3 แสดงลักษณะเตาเผาแบบ 2 ห้องที่ใช้ในเครื่องบิน

.
การเผาไหม้

การเผาไหม้ คือ ปฏิกิริยาเคมีชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างออกซิเจนกับสารเผาไหม้ได้ (Combustible Element) ของเชื้อเพลิงชนิดหนึ่ง ๆ ซึ่งสารเผาไหม้ได้หลัก 3 ตัว คือ คาร์บอน ไฮโดรเจนและซัลเฟอร์ แล้วจะปลดปล่อยพลังงานความร้อนออกมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีซึ่งเป็นการรวมตัวของออกซิเจนเข้ากับคาร์บอน ไฮโดรเจนและซัลเฟอร์เกิดสารประกอบใหม่คือ คาร์บอนไดออกไซด์ ไอน้ำและซัลเฟอร์ไดออกไซด์

.
ปฏิกิริยาการสันดาป

ปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของคาร์บอนจะช้าที่สุดและเกิดยากกว่าของไฮโดรเจนและกำมะถัน จุดติดไฟ คือ 407 oC โดยปกติในการสันดาป โดยทั่วไปมักจะสมมุติว่าไฮโดรเจนและกำมะถันจะเผาไหม้หมดก่อนคาร์บอน ซึ่งจะค่อย ๆ ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในขั้นแรกจะเกิดเป็นคาร์บอนมอนอกไซด์ จากนั้นจึงรวมตัวกับออกซิเจนต่อไปอีกกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ ฉะนั้นในการสันดาปของเชื้อเพลิงแข้ง ถ้าปฏิกิริยาเกิดไม่สมบูรณ์ ท้ายที่สุดจะสมมุติว่าองค์ประกอบที่เหลืออยู่ก็คือคาร์บอนที่ยังไม่ถูกเผาไปอย่างเดียว

.

เชื้อเพลิงแข็งนั้น มีองค์ประกอบส่วนใหญ่ คือ คาร์บอนคงที่ ฉะนั้น เมื่อเผาไหม้สารระเหยง่ายและกำมะถันจะทำปฏิกิริยาไปจนหมดก่อน เหลือคาร์บอนเผาไหม้ไปเรื่อย ๆ จะถึงจุดสมบูรณ์หรือไม่ขึ้นกับปริมาณอากาศและเวลาทำปฏิกิริยาโดยทั่วไปมักพบว่ามีส่วนของคาร์บอนหลงเหลืออยู่กับขี้เถ้าด้วยเสมอ 

.
ตัวอย่างปฏิกิริยาการสันดาปและพลังงานความร้อนที่ปล่อยออกมาของสารที่อยู่ในเชื้อเพลิงโดยทั่ว ๆ ไป มีดังต่อไปนี้
.
การคำนวณการสันดาป

ถ้าพิจารณาจากสารประกอบสำคัญของเชื้อเพลิงคือ คาร์บอน ไฮโดรเจนหรือไฮโดรคาร์บอน ศึกษาปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้น เมื่อสารดังกล่าวทำปฏิกิริยากับออกซิเจนได้ดังนี้

.
.

 จากปฏิกิริยาเคมีนี้ เมื่อใช้คาร์บอน 12 กิโลกรัม จะสามารถทำปฏิกิริยาการสันดาปได้สมบูรณ์ (Complete Combustion) ต้องใช้ออกซิเจน 32 กิโลกรัม จะได้ผลจากากรสันดาปในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์ 44 กิโลกรัม
 ในทำนองเดียวกัน สำหรับการสันดาปไฮโดรเจนให้ผลสันดาปสมบูรณ์ ดังสมการ

.
.
ปริมาณอากาศสำหรับการสันดาป

การสันดาปอย่างสมบูรณ์ของเชื้อเพลิงจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีปริมาณของออกซิเจนหรืออากาศเพียงพอที่จะทำให้สารในเชื้อเพลิงเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับออกซิเจนได้จนหมดสิ้นพอดี ปริมาณอากาศดังกล่าวเรียกว่า ปริมาณอากาศทางทฤษฎี อัตราส่วนระหว่างมวลของอากาศทางทฤษฎีกับมวลเชื้อเพลิง เรียกว่า Stoichiometric Ratio

.

ในการสันดาปเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ของการใช้งานจะไม่ใช้ออกซิเจนล้วน ๆ เพราะสิ้นเปลืองจะใช้อากาศซึ่งหาได้ง่ายในราคาถูกมาใช้สันดาปกับเชื้อเพลิง ในบรรยากาศของพื้นผิวโลกอากาศจะประกอบด้วยสารประกอบหลายชนิด แต่ที่เป็นตัวประกอบที่สำคัญได้แก่ ออกซิเจนกับไนโตรเจน ถ้าตัดสารประกอบอื่น ๆ ที่มีปริมาณน้อยออกไป อากาศจะประกอบด้วยดังนี้ 

.

โดยมวลอากาศ ประกอบด้วย ออกซิเจน 23% ไนโตรเจน 77 %
โดยปริมาตรอากาศประกอบด้วย ออกซิเจน 21 % ไนโตรเจน 79 %

.
ตัวอย่างแสดงการหาอากาศ ในการสันดาปของ มีเทน (CH4) ให้สมบูรณ์
.

จากสมการดังกล่าว จะสามารถคำนวณได้ว่าถ้าต้องการสันดาปให้มีเทน 16 กิโลกรัม ต้องใช้มวลของอากาศ 274.6 กิโลกรัม หรือมีเทน มวล 1 กิโลกรัม ต้องใช้อากาศประมาณ 17.2 กิโลกรัม จึงจะทำให้เกิดการสันดาปมีเทนได้อย่างสมบูรณ์

.

ในการหาปริมาณของอากาศที่ใช้ในการสันดาปกับเชื้อเพลิง นอกจากจะหาเป็นมวลหรือน้ำหนักแล้ว ยังนิยมหาเป็นปริมาตรของอากาศ เช่น ลูกบาศก์เมตรหรือลูกบาศก์ฟุต ซึ่งก็สามารถหาได้โดยใช้ความหนาแน่นของอากาศที่มีอุณหภูมิและความดันบรรยากาศที่ต้องการ มาหารเปลี่ยนเป็นหน่วยปริมาตรของอากาศต่อมวลของเชื้อเพลิง

.

ในขบวนการสันดาปเชื้อเพลิง ถ้าต้องการให้เกิดปฏิกิริยาที่ดีและได้การสันดาปที่สมบูรณ์หรือเกือบสมบูรณ์ จะต้องมีการดูแลควบคุมสภาวะการสันดาปให้เหมาะสมซึ่งจะมีปัจจัยสำคัญ 4 ประการ คือ

.

1. เวลาต้องนานเพียงพอ เพื่อให้เชื้อเพลิงเผาไหม้หมดโดยไม่ถูกอากาศส่วนเกินนำออกทางปล่องควันก่อนเผาไหม้
2. อุณหภูมิในการเผาไหม้ต้องสูงพอที่จะทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างต่อเนื่อง
3. การผสมผสานระหว่างเชื้อเพลิงกับอากาศต้องอยู่ในลักษณะของการไหลผสมแบบปั่นป่วน

.

4. ปริมาณอากาศที่เข้ารวมสันดาปกับเชื้อเพลิงได้เพียงพอในทางปฏิบัติ เป็นการยากที่จะควบคุมสภาวะการสันดาปของเชื้อเพลิงให้ได้ครบถ้วนทุกประการตามที่การสันดาปต้องการในเตาเผาโดยทั่วไปได้

.

ดังนั้นเพื่อที่จะให้เกิดปฏิกิริยาการสันดาปของเชื้อเพลิงอย่างสมบูรณ์ จึงต้องใช้การเพิ่มปริมาณอากาศเข้าไปจนเพียงพอ ทำให้อากาศที่ใช้มากกว่าความต้องการทางทฤษฎี อากาศส่วนที่เกินไปนี้เรียกว่า ปริมาณอากาศเกิน (Excess Air) ซึ่งมักจะบอกเป็นเปอร์เซ็นต์ของปริมาณอากาศทางทฤษฎี เช่น ถ้าใช้อากาศจริงในปริมาณ 1.5 เท่าของอากาศพอดีเผาไหม้สมบูรณ์ซึ่งคิดเป็น 150% อากาศทฤษฎี บางครั้งเรียกว่า 50% อากาศเกินพอ

.
สาเหตุที่การเผาไหม้ไม่ค่อยสมบูรณ์
ในภาวะอากาศพอดีแต่การเผาไหม้อย่างสมบูรณ์เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจาก

1. เนื่องจากการผสมระหว่างอากาศและเชื้อเพลิงไม่ทั่วถึง ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้กับผนังเตาหรือผนังห้องเผาไหม้ จำเป็นต้องใช้อัตราส่วนอากาศกับเชื้อเพลิงในสภาวะมีอากาศเกินพอ

.

2. ภาระความร้อนเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงทำให้ปริมาณความต้องการอากาศและเชื้อเพลิงเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย การควบคุมให้ได้อัตราส่วนในปริมาณเผาไหม้อย่างสมบูรณ์นั้นจึงเป็นไปได้ยาก

.

3. เนื่องจากอากาศที่ใช้ในการเผาไหม้จริง ในทางปฏิบัตินั้นมีความชื้นเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย ปริมาณอากาศที่ใช้เพื่อให้การเผาไหม้เป็นไปอย่างสมบูรณ์นั้นจะมากกว่ากรณีของการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์เชิงทฤษฎีโดยใช้อากาศแห้ง

.

4. เวลาในการเผาไหม้ไม่นานเพียงพอจึงมีเชื้อเพลิงที่ไม่เผาไหม้ติดไปกับอากาศส่วนที่เหลือ (ในกรณีที่ใช้ภาวะของอากาศเกินพอในการเผาไหม้)

.
ค่าความร้อน (Heating Value)

ค่าความร้อน หมายถึง ปริมาณความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ของเชื้อเพลิง 1 หน่วย ซึ่งจะได้ก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และน้ำ (H2O) ออกมา ค่าความร้อนที่ใช้วัดจะมีอยู่ 2 แบบ คือ 

.

1. ค่าความร้อนสูง (Higher Heating Value) ซึ่งเป็นค่าความร้อนของเชื้อเพลิงที่วัดได้ในภาวะที่น้ำที่เกิดจากการเผาไหม้ถูกควบคุมให้กลั่นกลายเป็นของเหลว ซึ่งจะให้ความร้อนแฝงของการกลั่นตัวออกมา ทำให้วัดความร้อนได้มากขึ้น
2. ค่าความร้อนต่ำ (Lower Heating Value) เป็นค่าความร้อนของเชื้อเพลิงที่น้ำที่เกิดจากการเผาไหม้ปล่อยให้มีสภาพเป็นไอน้ำ

.

ในการหาค่าความร้อนนั้น ถ้าทราบองค์ประกอบของเชื้อเพลิง (C, H, Oและ S) จะหา HHV ของเชื้อเพลิง จากสมการของดูลอง (Dulong‘s Equation) หน่วย MJ/kg
   HHV = 33.7C + 144{H- (O/8)} + 9.4S…………… (1)

.
คุณสมบัติของไม้
* ส่วนประกอบของไม้

ไม้ประกอบด้วยลิกนิน, เยื่อเซลลูลาร์เป็นส่วนใหญ่และอาจมีไขมันและน้ำตาลปนอยู่บ้าง ธาตุที่ประกอบเป็นเยื่อเซลลูลาร์และลิกนิน มีโดยประมาณดังนี้

.
   ธาตุ % เยื่อเซลลูลาร์  % ลิกนิน       
    C            44.4              54-58
    H              6.2              58-63
    O            49.4              35-29
.
* คุณสมบัติทางกายภาพบางประการของไม้

ความชื้นของไม้สด  25 – 60%
คาร์บอน (C) ในไม้แห้ง 50 - 53%
ไฮโดรเจน (H) ในไม้แห้ง 5.8 - 7.0%
ไนโตรเจน (N) ในไม้แห้ง 0 - 0.03%
กำมะถัน (S) ในไม้แห้ง 0 – 0.1%
ออกซิเจน (O) ในไม้แห้ง 38 - 44%
เถ้า   0.1 – 2.0%
ค่าความร้อนสูงของไม้แห้ง HHV, MJ/kg 19.8 – 21.0%
ความหนาแน่น, kg/m3  500 – 1100%

.

* ลักษณะของเปลวไฟจากไม้
     ลักษณะของเปลวไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ไม้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของไขมันในไม้ ซึ่งถ้ามีมากเปลวจะเข้มและสว่างมาก ถ้าน้อยเปลวจะจางและใส

.

* อุณหภูมิติดไฟ
     มีค่าต่ำติดไฟง่ายจึงใช้สะดวก อุณหภูมิติดไฟมีค่าประมาณ 295 oC สำหรับไม้และการเผาไหม้มีอุณหภูมิ 400-800 oC

.
กระบวนการเผาไหม้ชีวมวล

กระบวนการเผาไหม้มีขั้นตอนดังนี้
1. Drying เป็นการกำจัดความชื้นในอนุภาคชีวมวลขณะเริ่มต้นรับความร้อนในเตาเผา
2. Devolatilization เป็นขั้นตอนการสลายตัวของชีวมวลเกิดเป็นสารระเหย
3. Ignition of Volatile เป็นขบวนการที่ทำให้เกิดการจุดประกายของสารระเหยที่ถูกปล่อยออกมา และอยู่ล้อมรอบอนุภาคชีวมวล
4. Combustion of Volatile เป็นขบวนการเผาไหม้สารระเหย ทำให้เกิดเปลวไฟขึ้นรอบอนุภาคชีวมวล
5. Ignition of Char Particle เป็นขบวนการจุดประกายบนผิวหน้าของถ่านที่เหลือ โดยเริ่มจากเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ผิวด้านนอก แล้วค่อย ๆ ขยายออกไปจนเกิดทั่วทั้งอนุภาค
6. Combustion of Residual Char Particle เป็นขบวนการเผาไหม้อนุภาคถ่านที่เหลือหลังจากที่สารระเหยระเหยออกจากอนุภาคชีวมวลบางส่วนหรือหมดแล้ว เมื่อเผาไหม้หมดจะเหลือขี้เถ้า 

.
อุณหภูมิของก๊าซเผาไหม้

การเผาไหม้เชื้อเพลิง ถ้าไม่มีการสูญเสียความร้อนเลยพลังงานความร้อนที่เกิดขึ้นจะไปเพิ่มอุณหภูมิของก๊าซเผาไหม้ให้สูงขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว กรณีนี้จะได้อุณหภูมิสูงสุดที่เรียกว่า อุณหภูมิเปลวสูงสุดหรืออุณหภูมิอะเดียบาติก

.
การคำนวณหาอุณหภูมิเปลวสูงสุด ในกรณีเกิดการสันดาปอย่างสมบูรณ์ที่อัตราส่วนอากาศต่อเชื้อเพลิงตามทฤษฎี สามารถหาได้จากสูตรดังนี้
.

ก๊าซเผาไหม้จะถูกปล่อยออกไปที่อุณหภูมิเปลวสูงสุด ถ้าไม่มีการสูญเสียความร้อนในอุปกรณ์ของเตาเผาไหม้เลย แต่ในการปฏิบัติงานจริง ๆ ย่อมมีการสูญเสียความร้อนมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการออกแบบ ปกติอุณหภูมิของก๊าซเผาไหม้จะต่ำกว่าอุณหภูมิเปลวสูงสุดเสมอ ความร้อนที่ออกไปกับก๊าซเผาไหม้ซึ่งปกติก็ถือว่าเป็นการสูญเสียความร้อนที่ปล่อยทิ้งออกไป

.
การหาประสิทธิภาพในการเผาไหม้
.

การใช้เตาเผาแบบ 2 ห้อง จะเป็นการเพิ่มคุณภาพของพลังงานความร้อนที่ได้จากชีวมวล ซึ่งถือว่าเป็นเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำและเป็นการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากชีวมวล เนื่องจากเตาเผาแบบ 2 ห้องสามารถควบคุมให้เกิดการเผาไหม้สมบูรณ์ได้ดีในสภาวะไม่มีอากาศเกิน (Excess Air) เพราะในส่วนที่ 2 เชื้อเพลิงมีสภาพเป็นแก๊ส

.

บรรณานุกรม

* ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์, เชื้อเพลิงและการเผาไหม้ ตอนที่ 1, คณะพลังงานและวัสดุ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี, กรุงเทพฯ, 2525.
* มนตรี พิรุณเกษตร, เทอร์โมไดนามิกส์, บริษัทซีเอ็ด จำกัด, กรุงเทพ, 2536.
* แสวง กะระณา, หม้อไอน้ำ, ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, หาดใหญ่, 2542.
* M. Necati OZISIK, Heat Transfer A Basic Approach, Mc Graw– Hill, Inc, United state, 1985.
* Pojanie Khummongkol (1986). REVIEW OF STANDARD METHODS OF TESTING STOVE EFFICIENCY, SCNCER.
* Bruce R. Munson, Donald F. Young and Theodore H. Okiishi, Fundamentals of Fluid Mechanics, John Wilew & Sons, Inc, Canada, 1990.
* A. Dadkhah-Nikoo, Graduate Student and D.J. Bushnell, Analysis of Wood combustion based on the first and second laws of thermodynamics , Department of Mechanical Engineering Oregon State University, Oregon, 1990.
* Naksitte Coovattanachai, Biomass gasification Research and Field Developments by the Prince of Songkhla University, Department of Mechanical Engineering Prince of Songkhla University, 1988.

.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด