เนื้อหาวันที่ : 2009-08-25 17:10:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9299 views

ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องด้วยกิจกรรม Source Reduction

นักอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวด้านการบริหารสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด คงจะสังเกตเห็นว่าตั้งแต่ช่วงหลังปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา การบริหารสิ่งแวดล้อมในองค์กรอุตสาหกรรมมีแนวโน้มคึกคักขึ้นมากทีเดียว โดยเฉพาะในสังคมธุรกิจอุตสาหกรรมของชาติตะวันตก ทั้งยุโรปและอเมริกา ซึ่งได้หันมาให้ความสำคัญกับการปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมกันขนานใหญ่ จนเกิดเป็นกระแส "Going Green" ที่แผ่อิทธิพลครอบคลุมอุตสาหกรรมทุกสาขา

ศิริรัตน์ ศิริพรวิศาล
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
Sirirat2@yahoo.com

.

.

นักอุตสาหกรรมที่ให้ความสนใจและติดตามความเคลื่อนไหวด้านการบริหารสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด คงจะสังเกตเห็นว่าตั้งแต่ช่วงหลังปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา การบริหารสิ่งแวดล้อมในองค์กรอุตสาหกรรมมีแนวโน้มคึกคักขึ้นมากทีเดียว โดยเฉพาะในสังคมธุรกิจอุตสาหกรรมของชาติตะวันตก ทั้งยุโรปและอเมริกา ซึ่งได้หันมาให้ความสำคัญกับการปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมกันขนานใหญ่ จนเกิดเป็นกระแส "Going Green" ที่เชี่ยวกรากและแผ่อิทธิพลครอบคลุมอุตสาหกรรมทุกสาขา โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญคือ การส่งเสริมของภาครัฐหรือภาคนโยบาย และกระแสตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค

.

ดังจะเห็นว่า องค์กรธุรกิจและสถานประกอบการอุตสาหกรรมในยุโรปและอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าหรือบริษัทที่เป็นผู้ตามในอุตสาหกรรม ต่างก็กำลังทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ในการปรับปรุงองค์กรของตนให้กลายเป็นองค์กรสีเขียวหรือองค์กรที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ไม่ใช่แค่เพียงการจัดให้มีระบบบริหารสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลนั้น แต่ยังรวมถึงการ "ยกเครื่อง" กลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นแบบเชิงรุกมากขึ้น (Proactive Environmental Strategy)     

.

มีการปรับเปลี่ยนค่านิยมจากเดิมที่เคยมองว่า การบริหารสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่แยกจากธุรกิจและเป็นภาระหน่วงเหนี่ยวความสำเร็จทางธุรกิจ ก็เปลี่ยนมามองว่า การบริหารสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนผสมอย่างหนึ่งของการทำธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการแข่งขันในสังคมธุรกิจยุคใหม่ ที่สำคัญคือมีการมุ่งเน้นการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนด (Beyond Compliance)

.

ในส่วนของอุตสาหกรรมในบ้านเราเองก็มีความตื่นตัวในเรื่องการบริหารสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทชั้นนำหลาย ๆ บริษัทเริ่มมีการนำนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมออกมาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ มากขึ้น เป็นการประกาศจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างจุดขายให้กับผลิตภัณฑ์ของตนไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งนี่ก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า การแข่งขันด้านสิ่งแวดล้อมในวงการ    

.

อุตสาหกรรมไทยได้เริ่มขึ้นแล้ว และแน่นอนที่สุด การเปิดเกมรุกด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมก็จะปลุกเร้าให้บริษัทอื่น ๆ ที่เป็นผู้ตามในอุตสาหกรรมเดียวกันต้องลุกขึ้นมาปรับตัวตามไปด้วย เพื่อรักษาตำแหน่งการแข่งขันไม่ให้ถูกทิ้งห่างจนเกินไป สุดท้ายเชื่อว่าในระยะอันใกล้นี้ กระแสการบริหารและการปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมอุตสาหกรรมไทยก็จะปรากฏชัดและเชี่ยวกรากมากขึ้น เช่นเดียวกับกระแส "Going Green" ในอุตสาหกรรมตะวันตก

.

กิจกรรมอย่างหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการแข่งขันด้านสิ่งแวดล้อมก็คือ การปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยพยายามเพิ่มความได้เปรียบในเชิงสิ่งแวดล้อมให้กับผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต รวมถึงกระบวนการทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้การปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวมีความเป็นเอกภาพ และมีทิศทางที่ชัดเจน

.

องค์กรอาจจะต้องนำเอาแนวคิดด้านปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่งมาใช้เป็นเครื่องชี้นำ (Guideline) หรือเป็นกรอบทิศทางในการดำเนินการ (Flamework) ซึ่งในปัจจุบันเราจะพบว่ามีแนวคิดหรือแนวปฏิบัติสำหรับการปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างหลากหลาย ให้องค์กรธุรกิจเลือกไปปฏิบัติตามความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละองค์กร

.

สำหรับบทความนี้ จะขอหยิบยกเอาหลักปฏิบัติที่ทรงประสิทธิผลอย่างหนึ่งในการปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นแนวปฏิบัติที่มีการประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และที่สำคัญคือ เป็นแนวปฏิบัติที่เหมาะสำหรับสถานประกอบการอุตสาหกรรมที่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการของเสีย โดยเฉพาะของเสียอันตรายหรือวัตถุมีพิษต่าง ๆ นั่นก็คือ แนวปฏิบัติว่าด้วย การลดแหล่งกำเนิด (Source Reduction) นั่นเอง

.
หลักการของการลดแหล่งกำเนิด

การลดแหล่งกำเนิด หรือ Source Reduction เป็นหลักปฏิบัติในการปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมที่เพ่งความสนใจไปที่การจัดการเสียเป็นสำคัญ โดยเฉพาะของเสียอันตราย (Hazardous Waste) และวัตถุมีพิษต่าง ๆ (Toxic Materials) โดยมีวัตถุประสงค์เชิงปฏิบัติสำคัญ 2 ประการ คือ

.

1. ลดปริมาณสารอันตราย มลสาร หรือสารปนเปื้อน ที่จะถูกปล่อยสู่สายธารของเสีย (Waste Stream) หรือที่จะถูกระบายสู่สภาพแวดล้อม ก่อนที่จะมีการรีไซเคิล การบำบัด หรือการกำจัด
2. ลดภาวะอันตรายต่อสุขภาพของผู้คนและต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลพวงมาจากการระบายสารอันตราย มลสาร และสารปนเปื้อนต่าง ๆ

.

พิจารณาจากวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ประการข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่า แนวคิดของการลดแหล่งกำเนิดจะมุ่งตรงไปที่การป้องกันการเกิดของเสียอันตรายหรือของเสียที่มีพิษเป็นสำคัญ โดยวัตถุประสงค์ข้อแรกนั้น จะเป็นการมุ่งลดปริมาณของของเสียอันตรายที่จะเกิดขึ้น (Reduce Amount of Hazardous Substance) ส่วนวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 จะมุ่งการลดระดับอันตรายของของเสียที่จะระบายสู่สายธารของเสีย (Reduce Hazard) หมายความว่า ถ้าหากจะมีของเสียไหลเข้าสู่สายธารของเสีย ของเสียนั้น ๆ จะต้องไม่เป็นของเสียอันตรายหรือจะต้องไม่เป็นพิษต่อผู้คนและต่อสิ่งแวดล้อม

.

เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หลักทั้ง 2 ประการของการลดแหล่งกำเนิดของเสีย สถานประกอบการจะต้องมีการริเริ่มกิจกรรมเชิงปฏิบัติการต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การลดของเสียตั้งแต่มูลเหตุหรือแหล่งกำเนิด (Source) โดยอาศัยแนวทางต่าง ๆ ต่อไปนี้

.

* การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี (Technology Modifications)
* การปรับเปลี่ยนกระบวนการ (Process Modifications)
* การปรับเปลี่ยนสูตรหรือดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ (Reformulation or Redesign of Products)
* การเปลี่ยนวัตถุดิบ (Substitution of Inputs)
* การปรับปรุงความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสถานประกอบการ (Improvements in Housekeeping) 

.

ประเด็นสำคัญอีกประการที่จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจคือ การลดแหล่งกำเนิดเป็นหลักการเชิงป้องกัน (Preventive Approach) ที่มุ่งจัดการกับปัจจัยที่เป็นแหล่งกำเนิดของเสียเป็นสำคัญ ฉะนั้น การลดแหล่งกำเนิดจึงไม่ครอบคลุมกิจกรรมใด ๆ ที่เป็นการกระทำต่อของเสียโดยตรง ไม่ว่าจะโดยทางกายภาพ ทางเคมี หรือทางชีวภาพ กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ไม่เกี่ยวข้องกับการบำบัด กำจัด และแม้แต่การรีไซเคิล ณ จุดผลิต (On-site Recycling)

.

ดังนั้น การดำเนินโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดอย่างต่อเนื่อง จึงสามารถก่อให้ประโยชน์ระยะยาวต่อสถานประกอบการ โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงในการเกิดข้อพิพาทด้านกฎหมาย หรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เช่น ความเสียหายจากการรั่วไหลของสารอันตราย หรือ จากการร้องเรียนจากชุมชน เป็นต้น และยังนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายสำหรับการกำจัดและการบำบัดของเสีย ซึ่งก็รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเก็บกักและขนย้ายด้วย

.

และถ้ามองในระดับมหภาค การลดแหล่งกำเนิด จะช่วยในเรื่องของการอนุรักษ์ทรัพยากรและลดมลภาวะ ฉะนั้น การลดแหล่งกำเนิดจึงถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิผลสูงกว่าการควบคุมมลพิษแบบดั้งเดิม ที่เน้นการบำบัดที่ปลายทาง (End-of-Pipe Pollution Control) ซึ่งต้องใช้ต้นทุนดำเนินการสูงกว่าและเป็นต้นทุนต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้น การควบคุมมลพิษที่ปลายทางยังใช้ทรัพยากรเปลืองกว่า ทั้งด้านพลังงาน วัสดุอุปกรณ์ และแรงงาน

.

การลดแหล่งกำเนิดกับแนวคิดการบริหารสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ

ยังมีเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับหลักการลดแหล่งกำเนิด สำหรับท่านที่เคยศึกษาเกี่ยวกับหลักการด้านการบริหารสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การป้องกันมลพิษ (Pollution Prevention) การผลิตที่สะอาดกว่า (Cleaner Production) และการลดของเสีย (Waste Minimization) ก็จะสังเกตเห็นว่าทั้ง 3 หลักการนี้มีสาระสำคัญที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับหลักการลดแหล่งกำเนิดมากทีเดียว จึงอาจจะเกิดความสงสัยว่าหลักการเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร     

.

ซึ่งคำตอบสำหรับคำถามนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ตายตัว เพราะทุกวันนี้ทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติก็ยังมีความเห็นหลากหลาย บ้างก็ว่าเป็นหลักการอย่างเดียวกัน บ้างก็ว่าเป็นการหลักการที่ต่างกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเอกสารอ้างอิงทางวิชาการหลาย ๆ ฉบับประกอบกันก็พอจะช่วยเผยให้เห็นจุดแตกต่างระหว่างหลักปฏิบัติเหล่านี้ได้ค่อนข้างจะชัดเจนพอสมควร 

.

ก่อนอื่นขอชี้แจงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการ ป้องกันมลพิษ (Pollution Prevention) และการผลิตที่สะอาดกว่า (Cleaner Production) เสียก่อน ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นหลักการเดียวกัน เพียงแต่มีจุดเริ่มต้นที่ต่างกันเท่านั้นเพราะผู้เสนอแนวคิดเป็นคนละคนกัน แต่ปัจจุบันแนวคิดทั้งสองนี้ได้มีการปรับจนกลายเป็นหลักการเดียวกันไปแล้ว ถึงแม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันบ้าง

.

แต่โดยแก่นสารแล้วก็ถือเป็นหลักการเดียวกัน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีการใช้คำว่า "Pollution Prevention" และ "Cleaner Production" ควบคู่กันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขึ้นอยู่กับความนิยมของผู้ปฏิบัติเท่านั้นเอง ดังนั้นประเด็นที่น่าพิจารณามากกว่าก็คือ ความเกี่ยวพันกันระหว่าง การลดแหล่งกำเนิดกับการป้องกันมลพิษ และการลดแหล่งกำเนิดกับการลดของเสีย นั่นเอง

.
การลดแหล่งกำเนิดกับการป้องกันมลพิษ

จุดที่น่าสังเกตก็คือ ทั้งหลักการลดแหล่งกำเนิดและหลักการป้องกันมลพิษ ต่างก็เป็นหลักการเชิงป้องกัน (Preventive Approach) คือ เน้นการลดของเสียหรือมลพิษตั้งแต่ต้นกำเนิด แทนการปล่อยให้ของเสียหรือมลพิษเกิดขึ้นแล้วค่อยมาตามกำจัดกันภายหลัง แต่เป้าหมายของหลักการทั้งสองอย่างนี้จะแตกต่างกัน ขณะที่การป้องกันมลพิษจะมุ่งเน้นไปที่การลดต้นตอที่ก่อให้เกิดมลสาร (Pollutant) ที่อาจจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสภาพแวดล้อม

.

ยกตัวอย่างเช่น เขม่าควัน ไอระเหยที่มีกลิ่นเหม็น หรือกากวัตถุดิบที่สามารถก่อให้เกิดการเน่าเสียของแหล่งน้ำ เป็นต้น ส่วนหลักการลดแหล่งกำเนิดจะมีเป้าประสงค์ที่แคบกว่า คือ มุ่งจัดการกับของเสียอันตรายเป็นสำคัญ อาทิ สารเคมีที่เป็นพิษ ชีววัตถุที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ หรือวัตถุที่ก่อให้เกิดกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น ฉะนั้น นักวิชาการบางท่านจึงอธิบายว่า ลดแหล่งกำเนิดก็คือการป้องกันมลพิษที่ถูกตีกรอบวัตถุประสงค์ให้แคบลง นั่นเอง

.
การลดแหล่งกำเนิดกับการลดของเสีย

การลดของเสีย (Waste Minimization) เป็นหลักปฏิบัติด้านการจัดการของเสียเช่นเดียวกับการลดแหล่งกำเนิด แต่มีขอบเขตที่กว้างกว่าทั้งในเชิงวัตถุประสงค์และแนวทางปฏิบัติ กล่าวคือ การลดของเสียมุ่งจัดการกับของเสียทุกประเภทไม่จำเพาะว่าจะเป็นของเสียอันตรายเท่านั้น และการลดของเสียยังมุ่งทั้งการปฏิบัติเชิงแก้ไขและป้องกันไปพร้อม ๆ กัน โดยเป้าหมายสำคัญของการลดปริมาณของเสียที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม และการลดความสูญเปล่าของทรัพยากรด้วย 

.

โดยสรุปจึงกล่าวได้ว่า การลดแหล่งกำเนิดเป็นทั้งการป้องกันมลพิษและการลดของเสียที่ถูกตีกรอบให้แคบลง โดยมุ่งการป้องกันการเกิดมลพิษและของเสียที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์เป็นสำคัญ การมีขอบเขตที่แคบกว่านี้ก็ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งสำหรับการนำไปปฏิบัติ และเหมาะจะเป็นกิจกรรมเริ่มต้นในการปรับปรุงขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการอุตสาหกรรมหลาย ๆ แห่ง

.

โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีการระบายของเสียอันตรายจำนวนมากเข้าสู่สายธารของเสีย เช่น โรงงานเคมี โรงงานฟอกย้อม หรือโรงงานพลาสติก เป็นต้น เพราะว่าในบรรดาของเสียทั้งมวล ของเสียอันตรายถือเป็นของเสียรายการแรก ๆ ที่ต้องได้รับการจัดการ และเมื่อการลดของเสียอันตรายประสบความสำเร็จ สถานประกอบก็สามารถขยับขยายการดำเนินงานไปสู่การป้องกันมลพิษและการลดของเสียต่อไปได้

.

รูปที่ 1 แผนภาพแสดงขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างหลักการลดแหล่งกำเนิด การป้องกันมลภาวะ การลดของ

.
ตารางที่ 1 ข้อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างหลักการลดแหล่งกำเนิด การป้องกันมลภาวะ การลดของเสีย

.
กรอบดำเนินงานทั่วไปสำหรับโปรแกรมลดแหล่งกำเนิด

ถ้าพิจาณาในแง่ของผลลัพธ์ การลดแหล่งกำเนิดจัดว่าเป็นแนวทางการปรับปรุงขีดความสามารถขององค์กร (Corporate Performance Improvement) อย่างหนึ่ง เพราะการลดการเกิดของเสียอันตรายจะช่วยปรับปรุงทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การลดต้นทุนในการเก็บกักและการบำบัดของเสียอันตราย รวมทั้งลดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความเสียหายอันเนื่องมาจากการรั่วไหลของของเสียอันตรายได้       

.

ดังนั้น ในการนำหลักการลดแหล่งกำเนิดไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิผล องค์กรก็จะต้องตระเตรียมกรอบดำเนินการสำหรับการขับเคลื่อนโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดให้พร้อมสรรพ โดยอาศัยการวางกรอบดำเนินการเช่นเดียวกับการปรับปรุงขีดความสามารถขององค์กรทั่ว ๆ ไป ที่จะประกอบไปด้วยกรอบดำเนินการหลัก 3 ส่วน ดังนี้ 

.

* การเปลี่ยนแปลงทางองค์กร (Organizational Change) เป็นกรอบดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการตระเตรียมปัจจัยทางองค์กรให้เอื้อต่อการดำเนินโปรแกรมการลดแหล่งกำเนิด เช่น ปัจจัยเชิงทัศนคติของพนักงาน ทักษะหรือพฤติกรรมการปฏิบัติงานของพนักงาน การสื่อสารภายใน และโดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะต้องทำการบ่งชี้ปัจจัยสำคัญเหล่านี้ให้ชัดเจน และปรับเปลี่ยนให้เป็นไปในลักษณะที่เอื้อต่อการดำเนินโปรแกรมการลดแหล่งกำเนิดมากที่สุด 

.

* การจัดตั้งระบบบริหารสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนโปรแกรมลดแหล่งกำเนิด ในการดำเนินโปรแกรมการลดแหล่งกำเนิดให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด จะต้องอาศัยการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ (Systematic Approach to Management) ซึ่งหมายความว่าองค์กรควรจะสร้างระบบบริหารที่ทรงประสิทธิผล ที่จะช่วยให้การวางแผน การดำเนินงาน และการควบคุมติดตามผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องจากการลดแหล่งกำเนิดจัดเป็นกิจกรรมด้านการบริหารสิ่งแวดล้อม

.

ฉะนั้น ถ้าเป็นไปได้ก็ควรผนวกระบบบริหารโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารสิ่งแวดล้อม (Environmental Movement System: EMS) โดยพยายามวางองค์ประกอบของระบบ EMS ให้สามารถสนับสนุนโปรแกรมการลดแหล่งกำเนิดมากที่สุด โดยเฉพาะ  องค์ประกอบต่าง ๆ ต่อไปนี้

.

-  ระเบียบแบบแผนในการบ่งชี้ประเด็นสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม
-  วัตถุประสงค์และเป้าหมายที่วัดได้
-  บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบ
-  โปรแกรมการฝึกอบรมและให้ความรู้พนักงาน
-  กระบวนการในการปฏิบัติการแก้ไข
-  กระบวนการในการทบทวนโดยฝ่ายบริหาร

.

* กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ หมายถึง กิจกรรมการลดแหล่งกำเนิดแต่ละกิจกรรม หรือแต่ละโครงการที่ริเริ่มขึ้น เพื่อการลดแหล่งกำเนิดของเสียจำเพาะรายการ ซึ่งแต่ละกิจกรรมก็จะมุ่งที่การลดแหล่งกำเนิดของเสียโดยแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ใน 5 แนวทาง อันได้แก่ การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนกระบวนการ การปรับเปลี่ยนสูตรหรือดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ การเปลี่ยนวัตถุดิบ และการปรับปรุงความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสถานประกอบการ นั่นเอง

.
การผนวกโปรแกรมการลดแหล่งกำเนิดกับ ISO14001

จากกรอบดำเนินการทั่วไปสำหรับการจัดโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดที่อธิบายข้างต้น ยังมีข้อประเด็นน่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับกรอบดำเนินการที่ว่าด้วย "การจัดตั้งระบบบริหารสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนโปรแกรมลดแหล่งกำเนิด" ที่ระบุว่าสถานประกอบการควรผนวกระบบบริหารโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารสิ่งแวดล้อม คำถามคือ ถ้าหากสถานประกอบการมีการดำเนินระบบบริหารสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO14001 อยู่ก่อนแล้ว จะสามารถผนวกโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดเข้ากับระบบ ISO14001 ได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบสำหรับคำถามนี้ สามารถอธิบายได้โดยการพิจารณาแผนภาพตามรูปที่ 2 และรูปที่ 3

.

ISO14001 เป็นมาตรฐานสำหรับการจัดตั้งและดำเนินระบบบริหารสิ่งแวดล้อมที่มีการวางข้อกำหนดให้เป็นไปตามวงจรของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง หรือวงจร Plan-Do-Check-Act ที่นักอุตสาหกรรมรู้จักกันดี และเป็นวงจรที่สัมพันธ์กับเจตนารมน์ของการลดแหล่งกำเนิดที่มุ่งให้มีการปรับลดต้นกำเนิดของของเสียอันตรายอย่างต่อเนื่อง

.

พิจารณาจากรูปที่ 2 จะเห็นว่ากรอบดำเนินการทั้ง 3 ส่วนของการดำเนินโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดนั้น จะได้รับการเกื้อหนุนจาก ISO14001 ในลักษณะที่ต่างกันออกไป โดยในส่วนของกรอบดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงทางองค์กร ถึงแม้ใน ISO14001 จะไม่มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทางองค์กรอย่างไร

.

แต่ในทางปฏิบัติก็พบว่า เมื่อนำ ISO14001 ไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจังแล้ว ก็มักจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางองค์กรเกิดขึ้นควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อม พนักงานได้รับการพัฒนาทักษะและความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการสื่อสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้พนักงานสามารถเปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็รวมถึงแนวคิดเรื่องการลดการกำเนิดด้วย

.

ยิ่งกว่านั้นในมาตรฐาน ISO14004 ซึ่งเป็นมาตรฐานอีกฉบับหนึ่งในอนุกรมมาตรฐาน ISO14000 ก็มีการกล่าวถึงแนวทางการนำหลักการการลดแหล่งกำเนิดด้วยไปใช้ในระบบ ISO14001 ด้วย นั่นก็เป็นข้อยืนยันอย่างประการหนึ่งว่า หลักการลดแหล่งกำเนิดสามารถประยุกต์ร่วมกับ ISO14001 ได้ โดยมี ISO14001 เป็นระบบฐานราก (Platform) ที่อำนวยให้โปรแกรมการลดแหล่งกำเนิดสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น คล่องตัวและเป็นระบบมากขึ้น 

.

รูปที่ 2 กรอบดำเนินงานทั่วไปสำหรับการจัดโปรแกรม Source Reduction

.

รูปที่ 3 แผนภาพเปรียบเทียบลำดับการดำเนินงานระบบบริหารสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO14001 และลำดับการดำเนินโปรแกรมลดแหล่งกำเนิด (Source Reduction)

.
กรณีศึกษา: Acushnet Rubber

Acushnet Rubber เป็นบริษัทด้านการผลิตที่มีโรงงานตั้งอยู่ในเมืองนิวเบดฟอร์ด มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และถือเป็นบริษัทเก่าแก่แห่งหนึ่งในสหรัฐฯ โดยเริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่ ค.ศ.1910 ปัจจุบัน มีพนักงานประมาณ 1,100 คน Acushnet Rubber ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์จากยาง

.

เช่น ใบปัดน้ำฝนสำหรับรถยนต์ ชิ้นส่วนสำหรับชุดห้ามล้อ แผ่นทำความสะอาดในเครื่องพิมพ์เลเซอร์และเครื่องถ่ายสำเนาเอกสาร เป็นต้น  กระบวนการผลิตหลัก ๆ ที่ดำเนินในโรงงานของ Acushnet Rubber ประกอบด้วย การผสม การหล่อ และการอบยาง การเคลือบผิวยางโดยวิธีสเปร์ และการผนึกชิ้นยางเข้ากับชิ้นงานอื่น เช่น โลหะ เป็นต้น

.

ในส่วนของกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม Acushnet ได้รับการรับรองระบบบริหารสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน ISO14001 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1996 แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีมาตรฐาน ISO14001 ในโรงงานของ Acushnet ก็มีการดำเนินกิจกรรมสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะกิจกรรมด้านการจัดการของเสียและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของ Acushnet การดำเนินโปรแกรมการลดของเสีย ที่ช่วยลดการกิดของเสียอันตรายในระบบการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันระบบการผลิตในโรงงานของ Acushnet เหลือสายธารของเสียอันตรายเพียง 4 สายธาร เท่านั้น 

.
โปรแกรมการลดของเสียในโรงงาน Acushnet สามารถแยกพิจารณาเป็นกระบวนการสำคัญ ๆ ใน ได้ดังนี้

*  กระบวนการสำหรับบ่งชี้ประเด็นและผลกระทบสิ่งแวดล้อม: Acushnet Rubber มีระเบียบชัดเจนในการพิจารณาประเด็นสิ่งแวดล้อมและการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมขององค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบการผลิต ตั้งแต่ วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต กระบวนการ ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง     

.

โดยมีกระบวนการประเมินตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน ภายใต้ความรับผิดชอบของกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม ที่มีผู้อำนวยการสายงานสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและความปลอดภัย (ESH) เป็นประธาน ในกรณีที่ต้องมีการนำวัสดุชนิดใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการผลิต วัสดุรายการนั้น ๆ จะถูกนำมาประเมินถึงความเป็นพิษ ต้นทุนที่ต้องใช้ในการกำจัดของเสียที่เกี่ยวเนื่อง และต้นทุนรวมที่ต้องจ่ายไปกับความเป็นพิษนั้น ๆ ซึ่งรวมไปถึงค่าความเสียหายและค่าชำระล้างความเป็นพิษที่อาจจะต้องจ่ายออกไปด้วย ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมากที่สุดจะถูกระบุให้ความจำเป็นสูงสุด และเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับการริเริ่มโครงการลดแหล่งกำเนิดต่อไป

.

กลไกที่ทรงประสิทธิผลอีกอย่างหนึ่งที่ Acushnet ได้ตระเตรียมไว้ควบคู่กับการระบุประเด็นสิ่งแวดล้อมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็คือระบบที่เรียกว่า การวางแผนคุณภาพขั้นสูง (Advance Quality Planning) หรือ AQP เป็นระบบสำหรับประกันความมั่นใจว่า ข้อพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จะถูกนำไปผนวกเข้ากับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ก่อมลภาวะน้อยลง AQP ยังถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานแบบบูรณาการระหว่างสายงาน (Cross-functional Integration) เพราะระบบ AQP ดำเนินไปบนพื้นฐานของการหารือกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง วิศวกรออกแบบ พนักงานขายและการตลาด และเจ้าหน้าที่ EHS

.

*  การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย: กระบวนการกำหนดเป้าหมายสำหรับการลดแหล่งกำเนิดเป็นการดำเนินงานที่ถัดจากการวิเคราะห์ประเด็นสิ่งแวดล้อม (Environmental Aspect Analysis) โดยเน้นการกำหนดวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ๆ ในอดีตที่ผ่านมา Acushnet ได้มุ่งเป้าไปที่การลดแหล่งกำเนิดของสารอันตรายที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิต หนึ่งในนั้นก็คือสาร Trichloroethylene (TCE) ที่ใช้ในกระบวนการกำจัดไขบนผิววัสดุ            

.

ซึ่งในระยะแรก Acushnet เริ่มต้นโปรแกรมการลดแหล่งกำเนิดสาร TCE โดยอาศัยการปรับปรุงกระบวนการและเครื่องมือเป็นสำคัญและหลังจากบรรลุวัตถุประสงค์แรกแล้ว ทีมปฏิบัติการที่รับผิดชอบก็เริ่มต้นดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ถัดไป นั่นคือ การร่วมมือกับผู้ส่งมอบวัตถุดิบในการพัฒนากรรมวิธีใหม่ ๆ ที่ลดความจำเป็นในการใช้สาร TCE ลง จนในที่สุด Acushnet สามารถลดการใช้สาร TCE ได้อย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1996 โดยสามารถพัฒนากรรมวิธีการทำความสะอาดไขโดยใช้สารละลายน้ำแทน TCE

.

*  บทบาทความรับผิดชอบ: บทบาทความรับผิดชอบสำหรับบุคลากรที่มีส่วนร่วมในโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดจะถูกระบุไว้กว้าง ๆ เพื่อความยืดหยุ่น และเปิดโอกาสให้การทำงานเป็นทีมมากขึ้น พนักงานคนหนึ่ง ๆ จะได้รับการฝึกอบรมในหลากสาขาวิชา เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมทีมที่มาจากต่างสายงานได้อย่างกลมกลืน ในทีมงานหนึ่ง ๆ จะมีการกำหนดหน้าที่งานเพียง 3 ประเภทเท่านั้น คือสมาชิกสามัญ (Team Member) สมาชิกอาวุโส (Senior Team Member) และพี่เลี้ยง (Facilitator) 

.

*  การฝึกอบรมและการสร้างความตระหนัก: การฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม และทำให้พนักงานของ Acushnet มีทักษะความชำนาญที่พรั่งพร้อมสำหรับการดำเนินโปรแกรมลดแหล่งกำเนิด อย่างกรณีความสำเร็จในการลดแหล่งกำเนิดของ TCE ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการพัฒนาทักษะของพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยการฝึกอบรมหลากหลายหลักสูตร 

.

สำหรับโครงงานลดแหล่งกำเนิดทุก ๆ โครงงาน จะมีทีมงานที่รับผิดชอบโดยเฉพาะ ทีมงานเหล่านั้นทำงานตามวงจรของการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีการวางแผน ทดสอบ ทดลอง และประเมินผลซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ได้หนทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด ในแต่ละหน่วยการผลิตก็จะมีหนึ่งทีมงาน สมาชิกทั่วไปประกอบพนักงานผลิต ซึ่งตามปกติก็จะมีการหารือกันเป็นประจำในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการผลิตที่พวกตนรับผิดชอบ ตั้งแต่เรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์ ประสิทธิภาพของกระบวนการ และก็รวมถึงประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

.

*  ปฏิบัติการแก้ไขและการทบทวนของฝ่ายบริหาร: ในปัจจุบัน การปฏิบัติการแก้ไขและการทบทวนประสิทธิผลของโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดในโรงงานของ Acushnet จะดำเนินภายใต้กรอบดำเนินงานของระบบ ISO14001 โดยจัดให้มีการตรวจติดตามภายในอย่างเป็นทางการ (Internal Audit) ปีละ 4 ครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปคณะผู้ตรวจติดตามภายในจะเป็นทีมงานผสมจากสายงานหลัก 3 สายงาน คือ หัวหน้างานจากฝ่ายผลิต ฝ่ายบัญชีต้นทุน และฝ่าย EHS 

.

วัตถุประสงค์เบื้องต้นของการตรวจติดตามภายใน คือ การบ่งชี้ภาวะต่าง ๆ ที่คลาดเคลื่อนไปจากเป้าหมายหรือแผนงานที่วางไว้ ซึ่งโดยทั่วไปการดำเนินการตรวจติดตามภายในก็จะเป็นไปตามแบบแผนสากลของการตรวจประเมินระบบบริหาร คือ มีการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร บันทึก การสังเกตการปฏิบัติงาน และการสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ปฏิบัติงาน จากนั้นข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ได้จากการตรวจติดตามภายในก็จะนำไปสู่กระบวนการปฏิบัติการแก้ไข และการทบทวนของฝ่ายบริหารต่อไป

.

จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของ Acushnet ในการดำเนินโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความมุ่งมั่นของฝ่ายบริหารและพนักงาน โดยกิจกรรมแหล่งกำเนิดได้ถูกริเริ่มขึ้นก่อนที่จะมีมาตรฐาน ISO14001 แต่ถัดจากนั้น หลังจากที่มีการนำมาตรฐาน ISO14001 เข้ามาปฏิบัติ Acushnet ก็สามารถผนวกโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดเข้ากับระบบ ISO14001 ได้อย่างมีเอกภาพ ช่วยให้การปรับปรุงขีดความสามารถสิ่งแวดล้อมมีความคืบหน้ามากขึ้นโดยภาพรวม

.

มาถึงตอนท้ายนี้ หลายท่านคงเห็นด้วยว่า การดำเนินโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดในสถานประกอบการอุตสาหกรรมถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจทีเดียว เพราะว่าการดำเนินกิจการทางธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง กำลังได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งจากภาครัฐ ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ การดำเนินโปรแกรมลดแหล่งกำเนิดอย่างจริงจังจึงน่าจะเป็นโอกาสที่นำประโยชน์มาสู่องค์กรหลายอย่าง

.

เช่น การลดต้นทุนด้านการควบคุมและกำจัดของเสีย เพราะยิ่งของเสียเกิดขึ้นน้อย ก็ยิ่งทุ่นรายจ่าย ทุ่นแรง ทุ่นเวลา และที่สำคัญคือช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดกรณีพิพาทด้านสิ่งแวดล้อม ยิ่งกว่านั้น สถานประกอบการยังอาจจะได้รับประโยชน์จากรัฐในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การลดหย่อนภาษี ลดพิกัดการกีดกันทางการค้า และการได้การอุดหนุนทางการเงิน รวมถึงการสนับเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้วย 

.

เอกสารอ้างอิง

* Cheremisinoff, N. P. (2003) Handbook of solid waste management and waste minimization technologies. Elsevier Science, Burlington, MA
* Dorfman, M. (1992), Source Reduction: environmental dividends from cutting chemical waste, in Pollution Prevention Review, Autumn: 403-414
* Kitazawa S. and Sarkis J. (2000) The relationship between ISO 14001 and continuous source reduction programs. International Journal of Operations and Production Management 20: 225–248
* Parkinson, G. (1990) Reducing wastes can be cost-effective'', Chemical Engineering. 97(7): 30-3
* Smith B. (1992) Source reduction: alternative to costly waste treatment. Amer Text Int. (3), 52 - 59

.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด