เนื้อหาวันที่ : 2009-08-16 07:56:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3565 views

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ

แนวคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมกำลังอยู่ในความสนใจของประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นชาติอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว หรือชาติอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังพัฒนา ต่างกำลังทุ่มเทความพยายามในการปรับโครงสร้างของระบบอุตสาหกรรมในชาติของตนให้มีความยั่งยืนขึ้นทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และหนึ่งในแนวทางการพัฒนาแผนใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในขณะนี้ก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ

ศิริรัตน์ ศิริพรวิศาล
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
Sirirat2@yahoo.com

.

.

เมื่อฉบับที่ 171 (เดือนตุลาคม 2550) ผู้เขียนได้เคยนำเสนอบทความเรื่อง การประยุกต์หลักนิเวศอุตสาหกรรมเพื่อการจัดการนิคมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งเจตนาแรกเริ่มนั้นก็เพื่อเป็นการเผยแผ่องค์ความรู้ใหม่ที่นักบริหารสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งในระดับองค์กรและระดับเครือข่ายองค์กร โดยเฉพาะในส่วนของการจัดการชุมชนของโรงงานอุตสาหกรรมที่เราเรียกขานกันทั่วไปว่า นิคมอุตสาหกรรม

.

ซึ่งตลอดช่วงเวลาจากวันที่เผยแผ่บทความดังกล่าวมาจนถึงวันนี้ ก็ได้มีเสียงสะท้อนกลับมายังผู้เขียนพอสมควร ส่วนใหญ่จะเป็นการสอบถามความรู้เพิ่มเติม หรือไม่ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่จุดที่น่าสนใจคือ ในบรรดาเสียงที่สะท้อนกลับมานั้น ไม่ใช่เสียงที่มาจากภาคอุตสาหกรรมเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ยังมีเสียงของผู้นำชุมชนที่อยู่โดยรอบนิคมอุตสาหกรรม ที่ให้ความสนใจกับแนวคิดของการจัดการนิคมอุตสาหกรรมตามทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน

.

และเมื่อได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ก็ได้ช่วยให้ผู้เขียนรับทราบและเข้าใจถึงทัศนะของชุมชนที่มีต่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ โดยความเป็นจริงแล้ว ชุมชนมิได้มีทัศนะในแง่ลบ หรือปฏิเสธการมีนิคมอุตสาหกรรมเป็นเพื่อนบ้านเสียทีเดียว

.

เพราะตระหนักดีว่า นิคมอุตสาหกรรมคือโอกาสอย่างหนึ่งของชุมชน ที่ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยเฉพาะนิคมอุตสหกรรมในเขตภูมิภาค ที่ช่วยให้ลูกหลานของชุมชนได้มีงานทำใกล้บ้าน โดยไม่ต้องโยกย้ายไปทำงานต่างถิ่นเหมือนอย่างแต่ก่อน แต่อุปสรรคสำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและนิคมอุตสาหกรรม ก็คือปัญหาทางสังคม     

.

เช่น การเพิ่มจำนวนของประชากร และการเข้ามาของธุรกิจที่อาจจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน เป็นต้น และปัญหาใหญ่ที่สำคัญมากก็คือ ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากกิจกรรมทางอุตสาหกรรมที่หนาแน่นขึ้น ดังนั้น จึงทำให้ภาคชุมชุมมีความเชื่อว่า ถ้าหากมีการนำหลักทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ก็จะเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้ชุมชนและนิคมอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันใด้อย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยปรับปรุงขีดความสามารถของอุตสาหกรรมโดยภาพรวมด้วย

.

ความจริงแล้ว แนวคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมนั้น ก็กำลังอยู่ในความสนใจของประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นชาติอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว อย่างประเทศในแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป และออสเตรเลีย หรือชาติอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ ต่างก็กำลังทุ่มเทความพยายามในการปรับโครงสร้างของระบบอุตสาหกรรมในชาติของตนให้มีความยั่งยืนขึ้นทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

.

และหนึ่งในแนวทางการพัฒนาแผนใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในขณะนี้ก็คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ นั่นเอง ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาแผนใหม่นี้ ผู้เขียนจึงขอหยิบยกประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศมาเล่าสู่กันฟัง ทั้งนี้ สาระสำคัญส่วนใหญ่ก็จะยังคงผูกโยงอยู่กับแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม

.

ฉะนั้น ท่านที่มีความเข้าใจแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็จะมีความเข้าใจเนื้อหาที่จะกล่าวต่อไปนี้ได้ง่าย แต่สำหรับท่านที่ยังไม่เคยศึกษาแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมมาก่อน ก็สามารถย้อนกลับไปทบทวนจากบทความด้านนิเวศอุตสาหกรรมที่ผู้เขียนเคยนำเสนอในวารสาร Industrial Technology Review ตั้งแต่ฉบับที่ 169 เป็นต้นมา

.
การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ

อย่างที่เราทั้งหลายทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมเป็นภาคกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คนสมัยใหม่ อุตสาหกรรมทำให้เกิดการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการบริโภคได้อย่างพอเพียง ทำให้เกิดการจ้างงาน ทำให้เกิดรายได้ และช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การขยายตัวของอุตสาหกรรมก็นำมาซึ่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเช่นเดียวกัน  

.

หนึ่งในผลกระทบที่สามารถรับรู้ได้ก็คือ ปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมที่กำลังลุกลามสู่ระดับสากล และการร่อยหรอลงของทรัพยากรธรรมชาติที่จำเป็นสำหรับการแปรรูปทางอุตสาหกรรม เหล่านี้เป็นปัญหาที่นำมาซึ่งความกังวลถึงความยั่งยืนของระบบอุตสาหกรรมในอนาคต กล่าวคือ ถ้าหากอุตสาหกรรมยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ทรัพยากรบนโลกมีอยู่จำกัด สักวันหนึ่งภาวะการขาดแคลนทรัพยากรก็จะเกิดขึ้นถ้วนหน้า และความอัตคัดขัดสนก็จะมาเยือน โดยเฉพาะในยุคสมัยของคนรุ่นถัดไป 

.

ความกังวลในเรื่องความยั่งยืนของระบบอุตสาหกรรม ได้ท้าทายให้นักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการหลายแขนงต้องหันมาขบคิดหาแนวทางใหม่ที่จะทำให้การดำเนินอุตสาหกรรมมีความยั่งยืนขึ้น และมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม (Industrial Ecology) ที่กล่าวถึงลักษณะของระบบอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนกว่า ซึ่งเป็นระบบที่มีการไหลของวัสดุและพลังงานอย่างเป็นวงจรปิด

.

มีการใช้วัสดุและพลังงานอย่างพอเหมาะและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการกู้วัสดุและพลังงานกลับมาใช้ใหม่อย่างเป็นระบบ โดยการรีไซเคิล และการส่งมอบเศษวัสดุเป็นทอด ๆ ของเสียจากสถานประกอบการหนึ่งถูกป้อนเป็นวัตถุดิบสำหรับสถานประกอบการอีกแห่งหนึ่ง  ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความเข้มข้นของทรัพยากรในระบบอุตสาหกรรมให้น้อยลง การผันทรัพยากรบริสุทธิ์ (Virgin Resources) เข้าสู่ระบบก็จะน้อยลง เช่นเดียวกับอัตราการเกิดของเสียก็จะลดลงอย่างมากเช่นกัน

.

แนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมเป็นการวางกรอบแนวคิดอย่างกว้าง ๆ ที่ช่วยเปิดมุมมองให้นักพัฒนาอุตสาหกรรมมองเห็นโอกาสหรือหนทางใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไปสู่ทิศทางที่ยั่งยืนกว่า และที่สุดการนำหลักทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมไปบูรณาการเข้ากับการพัฒนาอุตสาหกรรมก็ได้นำไปสู่การริเริ่มแนวทางใหม่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เรียกว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-industrial Development) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า EID นั่นเอง

.
นิยามของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ (Eco-industrial Development) หมายถึง ความพยายามในการพัฒนาชุมชนของสถานประกอบการอุตสาหกรรมในระดับต่างๆ ให้กลายเป็นระบบที่อำนวยให้หน่วยกิจกรรมต่าง ๆ ในระบบดังกล่าวสามารถบรรลุถึงความสำเร็จอย่างยั่งยืนร่วมกัน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางนิเวศ โดยอาศัยการสร้างระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพา หรือที่เรียกว่า "Industrial Symbiosis" ซึ่งเป็นการพึ่งพาในเชิงวัสดุและพลังงาน

.

ทำให้เกิดจากการแลกเปลี่ยนของเสีย เศษวัสดุ หรือผลพลอยได้ของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งพลังงานส่วนเกินระหว่างสถานประกอบการ กล่าวคือ ของเสียหรือเศษวัสดุจากกิจการหนึ่งจะถูกป้อนเป็นวัตถุดิบสำหรับอีกกิจการหนึ่ง และผลจากความสัมพันธ์แบบพึ่งพานี้ก็จะอำนวยให้การใช้วัสดุและพลังงานเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งคล้ายกับภาวะพึ่งพาในระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง

.

การที่จะสร้างความสัมพันธ์แบบพึ่งพาระหว่างสถานประกอบการให้เกิดขึ้นนั้น จะต้องอาศัยการผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างกิจการที่มีความสอดคล้องต้องกันในเชิงผลพลอยได้ของผลิตภัณฑ์ (By-product Synergy)

.

ยกตัวอย่างเช่น การผูกสัมพันธ์ระหว่างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายที่มีกากน้ำตาลเป็นผลพลอยได้ของผลิตภัณฑ์กับโรงงานผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล ซึ่งต้องการกากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิต ถัดจากนั้นโรงงานผลิตเอทานอลก็อาจจะผูกความสัมพันธ์กับฟาร์มปศุสัตว์ที่ต้องการกากตะกอนเชื้อยีสต์ที่เหลือจากการหมักเอทานอลไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ถ้าหากมีการถักความสัมพันธ์ในรูปแบบดังกล่าวนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นโครงข่ายความสัมพันธ์ขนาดใหญ่ ซับซ้อน และยั่งยืนขึ้น

.
ระดับของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ

เนื่องจากนโยบายหรือโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศที่พบเห็นในหลาย ๆ ประเทศ มักจะมุ่งไปที่การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้หลาย ๆ ท่านเข้าใจว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศก็คือ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม แต่ที่จริงแล้ว การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศเท่านั้น โดยภาพรวมขนาดใหญ่แล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศยังสามารถแบ่งออกเป็นการพัฒนาใน 3 ระดับ ดังนี้ 

.

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศระดับจุลภาค (Micro-scale EID) เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในระดับวิสาหกิจ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มผลิตผลในการใช้ทรัพยากรในวิสาหกิจหนึ่ง ๆ ให้สูงขึ้น  เพื่อลดการเกิดของเสียสะสมในสายธารของเสีย และลดการผันทรัพยากรบริสุทธิ์เข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ตามแนวทางของการปรับปรุงองค์กรตามหลักนิเวศอุตสาหกรรม     

.

เช่น การผนวกแนวปฏิบัติเรื่องการรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการที่มีการส่งเสริมให้มีการเก็บรวบรวมเศษวัสดุ หรือผลพลอยได้จากกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์ หรือส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้มีการใช้วัสดุและพลังงานอย่างเป็นวงจรมากขึ้น อย่างเช่น การออกแบบเพื่อการรีไซเคิล (Design for Recycle) การออกแบบเพื่อการนำกลับไปผลิตใหม่ (Design for Remanufacturing) หรือการออกแบบบั้นปลายผลิตภัณฑ์

.

แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในระดับวิสาหกิจก็มีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องคำนึงถึง ยกตัวอย่างเช่น ความพยายามที่จะเก็บกู้หรือรีไซเคิลวัสดุด้วยตนเอง อาจจะส่งผลให้เกิดรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น อาจจะต้องมีการจ้างแรงงานเพิ่ม ต้องลงทุนด้านเทคโนโลยี หรือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบ เป็นต้น เศษวัสดุหรือผลพลอยได้จากกระบวนการบางรายการก็เหมาะที่จะมอบให้บุคคลอื่นรับช่วงไปจัดการมากกว่า    

.

แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในระดับวิสาหกิจ ก็อาจเป็นความได้เปรียบของวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีหลายกิจการ เช่น กลุ่มบริษัทต่าง ๆ ซึ่งมีโอกาสมากกว่าที่จะวางแผนพัฒนาวิสาหกิจของตนให้เป็นวิสาหกิจเชิงเศรษฐนิเวศ ที่มีการส่งต่อผลพลอยได้ของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ระหว่างสถานประกอบการในเครือบริษัทเดียวกันอย่างครบวงจร

.

2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศระดับกลาง (Meso-scale EID) หมายถึง การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในระดับท้องที่ ซึ่งเป็นการพัฒนาชุมชนของสถานประกอบการอุตสาหกรรมในท้องที่หนึ่ง ๆ อาจจะเป็นในรูปแบบของตำบลหรือแขวงอุตสาหกรรม (Industrial District) นิคมอุตสาหกรรม (Industrial Estate) หรือ ศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (Industrial Complex) ก็ได้ ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นตามแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศก็จะเรียกรวม ๆ ว่า อุทยานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Park) นั่นเอง 

.

อุทยานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นชุมชนอุตสาหกรรมระดับท้องที่ ซึ่งถูกออกแบบให้สอดคล้องกับแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม โดยมีการนำกลยุทธ์การแบ่งคลัสเตอร์ (Clustering) เข้ามาช่วยในการวางแผนพัฒนา 

.

สถานประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมให้เข้าไปดำเนินกิจการในอุทยานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสอดคล้องต้องกันในด้านของผลพลอยได้ของผลิตภัณฑ์ หรือของเสีย (By-product Synergy) เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนของเสีย และผลพลอยได้ของผลิตภัณฑ์ระหว่างสถานประกอบการต่าง ๆ ภายในอุทยานอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การวางแผนการไหลเวียนของเสียมีความเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น (ดังรูปที่ 1) 

.

รูปที่ 1 แสดงแบบจำลองโครงข่ายอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศระดับอุทยานอุตสาหกรรม

.

3. การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับมหภาค (Macro-scale EIP) เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศระดับภูมิภาคหรือ ระดับชาติ เช่น การพัฒนาเขตอุตสาหกรรมระดับจังหวัดหรือมลฑล ซึ่งโดยทั่วไปจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาเครือข่ายของนิคมอุตสาหกรรม หรืออุทยานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการสร้างพันธมิตรระหว่างอุทยานอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นอุทยานในหัวเมืองเดียวกัน หรือต่างหัวเมือง หรือแม้กระทั่งอุทยานอุตสาหกรรมที่อยู่ต่างประเทศกัน (ดังรูปที่ 2)

.

เครือข่ายของอุทยานอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจในอุทยานหนึ่งมองหาเศษวัสดุจำนวนมาก ๆ จากอุทยานอุตสาหกรรมอื่นมาใช้ในการแปรรูป ทำให้เกิดการติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนเศษวัสดุระหว่างกัน ซึ่งการแลกเปลี่ยนของเสียระหว่างอุทยานอุตสาหกรรมอาจนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ขึ้น เช่น มีการสร้างอุตสาหกรรมในการรวบรวม และจัดการเตรียมของเสียเพื่อขายให้กับอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงการสร้างโครงข่ายลอจิสติกส์ในการลำเลียงวัสดุระหว่างอุทยานอุตสาหกรรม เป็นต้น

.

รูปที่ 2 แสดงแบบจำลองโครงข่ายอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศระดับมหภาค

.
ข้อเสนอแนะในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ

โดยสรุป ทิศทางของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศก็จะมุ่งสนใจไปที่การวางแผนการไหลของวัสดุและพลังงานในชุมชนอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ ให้เป็นวงจรปิดคล้ายกับระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง ดังนั้น จึงมีการเสนอแนะว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ จะต้องคำนึงถึงคุณลักษณะของระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิต แล้วนำมาเทียบเคียงเพื่อกำหนดลักษณะของชุมอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศที่ต้องการจะพัฒนาขึ้น ซึ่งมีด้วยกัน 4 ประเด็น ดังนี้

.
1. มีการหมุนเวียนทรัพยากรเป็นวงรอบ (Roundput) ในระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่มีความสมดุล จะมีสิ่งที่เป็นของเสียอย่างแท้จริงน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเลย เพราะแม้แต่สิ่งขับถ่ายจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งก็ยังมีประโยชน์สำหรับสิ่งมีชีวิตอื่น ซากของสิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์กลายเป็นแร่ธาตุและสารอาหารผันกลับเข้าสู่วงจรของการกินเป็นทอด ๆ อีกรอบ
.

ลักษณะเช่นนี้แตกต่างไปจากการใช้ทรัพยากรในระบบอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะแม้กระทั่งทุกวันนี้ การใช้ทรัพยากรในระบบอุตสาหกรรมยังคงเป็นไปในลักษณะของการกลืนเข้าและคายออกอย่างเป็นเส้นตรง (Throughput) มากกว่าที่จะเป็นแบบหมุนเวียน     

.

ถึงแม้ว่าจะมีการนำแนวคิดเรื่องของการรีไซเคิล (Recycling) และการใช้ซ้ำ (Reuse) มาประยุกต์ใช้บ้างแล้วก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น การใช้ทรัพยากรส่วนใหญ่ในระบบอุตสาหกรรมยังคงเป็นการไหลผ่าน นั่นคือ มีการถลุงทรัพยากรบริสุทธิ์จากธรรมชาติเข้าสู่ระบบ จากนั้นก็ถ่ายเทของเสียออกสู่ธรรมชาติอยู่เรื่อย ๆ ฉะนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาให้ระบบอุตสาหกรรมที่ดำเนินไปในลักษณะของระบบนิเวศ นักพัฒนาจึงต้องใส่ใจกับการวางแผนให้เกิดการรีไซเคิลของวัสดุ มีการใช้พลังงานลดหลั่นกันเป็นลำดับขั้น      

.

รวมถึงการวางแผนห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของผลิตภัณฑ์ในชุมชนอุตสาหกรรมหนึ่งให้มีลักษณะเป็นวงปิดมากขึ้นด้วย ซึ่งเดิมทีนั้นห่วงโซ่มูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมมักจะเป็นแบบเส้นตรง (Linear Chain) ซึ่งมูลค่าของผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นตามลำดับของการแปรรูปจนกระทั่งกระบวนการบริโภค จากนั้นมูลค่าของผลิตภัณฑ์จะถูกใช้หมดไปเหลือเพียงกากหรือของเสียถ่ายเทออกไปจากระบบ  

.

ดังนั้น ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศมีจุดสำคัญที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน คือ การพิจารณามูลค่าของเสีย ไม่ว่าจะเป็นของเสียที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการแปรรูป หรือของเสียจากการบริโภคก็ตาม จากเดิมที่พิจารณาว่าของเสียเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและต้องขจัดออกจากระบบ 

.

แต่ต่อไปจะต้องพิจารณาว่าของเสียเป็นสิ่งที่มีมูลค่าสำหรับหน่วยการแปรรูปอื่น ๆ ในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าหากสามารถกำกับการไหลเวียนของวัสดุและพลังงานให้ดำเนินไปในทิศทางที่เหมาะสมและเป็นวงจรมากที่สุด วัสดุและพลังงานถูกผันไปใช้ประโยชน์เป็นทอด ๆ อย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างไม่รู้จบ  

.

2. การมีอาณาบริเวณและที่ตั้งที่จำเพาะ (Locality) การพิจารณาระบบนิเวศหนึ่ง ๆ จำเป็นจะต้องระบุอาณาเขตและตำแหน่งของระบบนิเวศนั้น ๆ ให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้บ่งชี้ชนิด ปริมาณ และบทบาทของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศอย่างถูกต้อง

.

ในกรณีของชุมชนอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศก็เช่นกัน จะต้องมีการกำหนดตำแหน่งและอาณาบริเวณที่จำเพาะ เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนา ทั้งในด้านของ ประเภทกิจการ ขนาด และจำนวนของสถานประกอบการอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปดำเนินการในเขตดังกล่าวอย่างถูกต้อง และเช่นเดียวกับระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่มักจะมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีบทบาทในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุ

.

การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศก็จะต้องคำนึงถึง ความสอดคล้องกับปัจจัยประจำถิ่นที่มีอิทธิพล เช่น ฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ สภาพแวดล้อมทางสังคม การเมือง ระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ แต่ทั้งนี้ ชุมชนอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศ ก็มีความแตกต่างจากระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตในบางกรณี เพราะระบบอุตสาหกรรมที่มนุษย์เป็นผู้พัฒนาขึ้นมีความสามารถที่จะนำเข้าปัจจัยที่จำเป็นต่าง ๆ จากแหล่งอื่นได้อย่างอิสระมากกว่า โดยการเอื้ออำนวยทางเทคโนโลยี     

.

ยกตัวอย่าง ระบบอุตสาหกรรมในภูมิภาคหนึ่งซึ่งไม่มีสินแร่เหล็กในระบบเลยก็สามารถที่จะนำเข้าเหล็กจากภูมิภาคอื่นเข้ามาใช้ในการแปรรูปได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีการขนส่งที่รวดเร็ว การค้าระหว่างประเทศยังทำให้การโยกย้ายวัสดุระหว่างระบบอุตสาหกรรมทำได้ง่าย ผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตจากประเทศหนึ่งสามารถที่จะถูกส่งข้ามโลกไปจำหน่ายยังอีกประเทศหนึ่ง โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน      

.

ฉะนั้น ถ้าหากวางแผนจะสร้างชุมชนอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศที่ยั่งยืน ในเบื้องต้นก็จะต้องเน้นการพึ่งพาวัสดุและพลังงานที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้มากที่สุด ก่อนที่จะพึ่งพาวัสดุนำเข้าจากระบบอื่น ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มการพึ่งพากันด้านวัสดุระหว่างหน่วยต่าง ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศอุตสาหกรรมนั้น ๆ

.

3. ความหลากหลาย (Diversity) ระบบนิเวศยั่งยืนจะต้องประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายชนิด ซึ่งทำให้เกิดบทบาทที่หลากหลาย มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างซับซ้อน ซึ่งเกิดจากการถักทอความเกี่ยวพันกันระหว่างสิ่งมีชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เกิดวัฏจักรการหมุนเวียนของสสารและพลังงานที่ครบวงจร 

.

ฉะนั้น ชุมชนอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศที่ยั่งยืน ก็จะต้องพิจารณาถึงความหลากหลายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกในระบบนิเวศอุตสาหกรรมนั้น ซึ่งความหลากหลายทางนิเวศอุตสาหกรรมจะหมายถึง ความหลากหลายของกิจการ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ความหลากหลายของหน้าที่ต่าง ๆ ในระบบอุตสาหกรรม ความหลากหลายเหล่านี้จะทำให้เกิดการถักทอความสัมพันธ์ระหว่างหน้าที่ต่าง ๆ ในระบบอุตสาหกรรมที่ซับซ้อน อันจะเอื้อให้เกิดวัฏจักรการไหลของวัสดุและพลังงานที่ครบวงจรมากที่สุด

.

ความหลากหลายเป็นหลักประกันความยั่งยืนของระบบอุตสาหกรรม ยิ่งระบบอุตสาหกรรมมีความหลากหลายภายในระบบมาก ระบบอุตสาหกรรมนั้น ๆ ก็จะมีความยั่งยืนมาก เพราะระบบจะมีกลไกสำรองในกรณีหน่วยกิจกรรมหนึ่งย้ายออกจากระบบ ก็จะมีอีกหน่วยกิจกรรมหนึ่งเข้ามาค้ำจุนให้ระบบสามารถดำเนินการต่อไปได้ ทำให้มีเวลาพอที่จะฟื้นฟูตัวเองได้ ยกตัวอย่างเช่น ระบบอุตสาหกรรมที่อิงพลังงานไฟฟ้าจากหลายแหล่งกำเนิด เช่น มีทั้งแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานถ่านหิน พลังงานสุริยะ และพลังงานลมจะมีความยั่งยืนกว่า     

.

เพราะถ้าหากหน่วยผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งประสบปัญหา ก็จะมีหน่วยผลิตกระแสไฟฟ้ารูปแบบอื่นสามารถจ่ายกระแสชดเชยได้ ทำให้ระบบสามารถดำเนินการต่อไปได้ แต่ถ้าหากเป็นระบบที่อิงแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้าแหล่งเดียว ระบบก็จะตั้งอยู่บนความเสี่ยงที่สูงกว่า เพราะหากหน่วยผลิตกระแสไฟฟ้านั้นประสบปัญหาทำให้ไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ หน่วยอื่น ๆ ในระบบอุตสาหกรรมที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าก็จะไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ ทำให้ทั้งระบบต้องชะงักไปโดยปริยาย 

.

4. การเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย (Gradual Change) ระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตเป็นระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ทว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยจนบางครั้งก็แทบจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งเป็นผลทำให้ระบบนิเวศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ตามไปด้วย และทำให้ดูเหมือนว่าธรรมชาติค่อย ๆ ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศอย่างพิถีพิถัน

.

เพื่อทำให้ระบบมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ทำให้สมดุลของระบบนิเวศได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ข้อพิจารณาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยนี้เป็นการบ่งบอกว่า การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนจะต้องดำเนินกิจกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป แทนที่จะเป็นการพัฒนาแบบรวบรัดตัดตอน

.
สรุป

จากสาระที่หยิบยกมานำเสนอข้างต้นนี้ แทบจะไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมนานาประเทศจึงให้ความสนใจกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศอย่างมาก ในปัจจุบันมีโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศมากมาย กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการพัฒนาระดับอุทยานอุตสาหกรรม ดังแสดงในตารางที่ 1, 2 และ 3 และที่น่าจับตามองมากที่สุดก็คือโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในของประเทศจีน

.

ซึ่งมีการวางกรอบนโยบายการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ และครอบคลุมทุกระดับ ตั้งแต่ ระดับอุทยานอุตสาหกรรมไปจนถึงระดับมลฑลเลยทีเดียว โดยจีนเริ่มมีการนำแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 โดยได้มีการนำแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมไปใช้ในการริเริ่มโครงการพัฒนา

.

จนกระทั่งในปี ค.ศ.2005 จีนมีโครงการนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศที่สำคัญ ๆ ทั้งสิ้น 15 โครงการ ประกอบด้วยโครงการเขตอุตสาหกรรมสาธิต 13 เขต ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศหลายอุทยานด้วยกัน ที่เหลือเป็นโครงการจังหวัดอุตสาหกรรมสาธิต 1 จังหวัด และมลฑลอุตสาหกรรมสาธิต 1 มลฑล ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากทีเดียว ซึ่งผู้เขียนจะนำมาเล่าสู่ในโอกาสหน้าค่ะ

.
ตารางที่ 1 รายชื่อโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศและอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในสหรัฐอเมริกา

Project/Location

 Status

Anacostia Ecogarden Project, Prince Georges County, Maryland Attempted 
Avtex Redevelopment Project, Front Royal, Virginia Planned 
Bassett Creek, Minnesota  Planned 
Brownsville Eco-Industrial Park, Brownsville, Texas Attempted 
Buffalo, New York  Planned 
Cabazon Resource Recovery Park, California  Operational
Civano Industrial Eco Park, Tucson, Arizona  Attempted
Coffee Creek Centre, Chesterton, Indiana Planned 
Computer and Electronics Disposition Eco-Industrial Park, Austin, Texas Planned
Eco-industrial Park, Cowpens, South Carolina Attempted
Sevens Planned Community, Massachusetts Operational
Dallas Ecopark, Dallas, Texas Pre-operational
Alameda County Eco-Industrial Park, San Francisco, California  Planned
Eco-industrial Park, Cheney, Washington State  Attempted
Fairfield Ecological Industrial Park, Baltimore, Maryland Operational
Franklin County Eco-Industrial Park, Youngsville, North Carolina Attempted
Hyder Enterprise Zone, Hyder, Alaska Attempted 
Intervale Community Food Enterprise Center, Burlington, Vermont Pre-operational
Londonderry Eco-Industrial Park, Londonderry, New Hampshire Pre-operational
Menomonee Valley, Wisconsin  Planned
Northwest Louisiana Commerce Center, Shreveport, Louisiana  Attempted
Phillips Eco-enterprise Centre, Minneapolis, Minnesota Operational
Plattsburgh Eco-Industrial Park, New York Attempted
Port of Cape Charles Sustainable Technologies Industrial Park, Northampton County, Virginia Operational
Raymond Green Eco-Industrial Park, Raymond, Washington Attempted
Red Hills Ecoplex, Choctaw County, Mississippi Pre-operational
Renova EIP, Puerto Rico Planned 
River City Park, Newburgh, New York  Attempted
St. Peter, Minnesota  Attempted
Skagitt County Environmental Industrial Park, Skagitt County, Washington  Attempted
Shady Side Eco-Business Park, Shady Side, Maryland   Attempted
Springfield, Massachusetts   Planned
Trenton Eco-Industrial Complex, Trenton, New Jersey  Attempted
Triangle J Council of Governments regional IS project  Operational
Volunteer Site, Chattanooga, Tennessee  Attempted
.
ตารางที่ 2 รายชื่อโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศและอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในยุโรป

Project/Location

Status

BCSD-NSR, National Industrial Symbiosis Programme, UK (Various sites) Pre-operational
Closed Project, Tuscany, Italy Operational
Crewe Green Business Park, UK Operational
Dagenham Sustainable Industrial Park, UK Pre-operational
Dyfi Eco-Park, Wales, UK Operational
Ecopark Oulu, Finland Operational
Ecosite du Pays de Thau, France Operational
Ecotech, Swaffham, UK Pre-operational
Emscher Park, Germany Operational
Green Park, Cornwall, UK Attempted
Hartberg Okopark, Austria Operational
Herning-Ikast Industrial Park, Denmark Attempted
Kalundborg, Denmark Operational
London Remade eco-industrial sites, UK Operational
Montagna-Energia Valle di Non, Italy Operational
Parc Industrial Plaine de l’Ain, (PIPA) Lyon Operational
Righead Sustainable Industrial Estate, Scotland, UK Pre-operational
Rotterdam Harbour Industrial Ecosystems Programme Planned
Selkirk Eco-Industrial Project, Scotland, UK Attempted
Sphere EcoIndustrie d’Alsace, France Operational
Stockholm, Environmental Science Park, Sweden Planned
Styrian recycling network, Austria Operational
Sustainable Growth Park, Yorkshire, UK  Planned
Turin Environment Park, Italy Operational
ValuePark, Schkopau, Germany Operational
Vreten, Sweden Operational
.
ตารางที่ 3 รายชื่อโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศและอุทยานอุตสาหกรรมเชิงเศรษฐนิเวศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

Country

Some participating agencies

Location of some EID initiatives

Australia Western Australian Water Corporation, University of Canberra Shenton Sustainability Park, Synergy Park Brisbane
China SEPA, UNEP, Dalian University of Technology, Tsinghua University of IE Team, Dalhousie, Indigo, GTZ Dalian, Yantai, Soo Chow, Tianjin, Guiging, Yixing, Taihu, Shanghai, Chong Yuan, Guiyang and Jiangsu
Philippines UNDP PRIME and EPIC projects, Yale University, USAEP Laguna International Industrial Park, Light Industry and Science Park, Carmelray Industrial Park, LIMA, Laguna Technopark, Philippine National Oil Company Petrochem Industrial Park, Clean City Center project (USAID).
Indonesia Kaiserslautern University Lingkungan (LIK), Tangerang; Semarang; Industri Sona Maris
India Kaiserslautern University, ICAST, Technology Exchange Network Naroda; Tirupur Textile sector; Tamil Nadu tanneries; Calcutta foundries; Tamil Nadu paper/sugar; Bangalore water project; Ankleshwar, Nandeseri, Thane–Belapur.
Malaysia USAEP LHT resources linkage.
Japan UNEP, Tokyo–Osaka–Toyo University, Japanese government 16 ecotowns (e.g. Kitakyushu, Itabashi), Fujisawa, Toyota city.
Korea NCPC Korea  15 year three-phase Master EIP Plan launched in 2003.
Taiwan ITRI, Taiwan government, Tainan Technology and Industrial Park, Changhua Coastal Industrial Park; CSS II (corporate synergy system II) projects, Hua Lian and Kaohsiung (2003)
Vietnam Amata developer, USAEP, University of Natural Sciences Amata (environment management), Hanoi Sai Dong II (Feasibility Study).
Thailand GTZ, IEAT Industrial Estate Authority of Thailand plans (Map Ta Phut, northern region,
Amata Nakorn, eastern sea-board, Bang Poo); Samut Prakarn province CPIE project (ADB-funded); Bangkok (Panapanaan).
Singapore JTC developer, National University of Singapore Architecture Department. Jurong Island Industrial Park
Sri Lanka Ministry of Economic and Industrial Development ADB supported major policy studies in 2002
.
เอกสารอ้างอิง

* Korhonen, J. (2001)  Some suggestions for regional industrial ecosystems – extended industrial Ecology. Eco–Management and Auditing 8: 57–69
* Korhoueu, J. (2001)  Four ecosystem principles for an industrial ecosystem. J.Cleaner Production 9: 253-259
* Cote, R.P. and Hall, J. (1995) Industrial parks as ecosystems. J.cleaner production 3:41-46
* Lowe, E.A.(2001) Eco-Industrial Park Handbook for Asian developing contries.A report to Asian Development Bank, Environment Department , Indigo Development, Oakland, CA
* Roberts, B.H. (2004) The apprication of industrial ecology principles and planning guidelines for the development of eco–industrial Parks: an Australian case study. J. cleaner Production 12: 997–1010

.
.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด