เนื้อหาวันที่ : 2009-08-10 18:02:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 13830 views

โครงสร้างระบบวางแผนทรัพยากรการผลิต

สำหรับเป้าหมายกิจกรรมการผลิต คือ การมุ่งสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้าสำหรับแปรรูปเป็นผลิตผล ดังนั้นระบบวางแผนทรัพยากรการผลิต (Manufacturing Resource Planning หรือ MRPII) จึงได้มีบทบาทสนับสนุนการวางแผนและควบคุมการผลิต MRPII เป็นระบบสารสนเทศการผลิตที่สนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลภายในองค์กรและสร้างประสิทธิผลการวางแผนทรัพยากรให้กับธุรกิจ

โกศล ดีสีลธรรม
Koishi2001@yahoo.com

.

สำหรับเป้าหมายกิจกรรมการผลิต คือ การมุ่งสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้าสำหรับแปรรูปเป็นผลิตผล ดังนั้นระบบวางแผนทรัพยากรการผลิต (Manufacturing Resource Planning หรือ MRPII) จึงได้มีบทบาทสนับสนุนการวางแผนและควบคุมการผลิต หากย้อนไปราวช่วงทศวรรษ 1960 มีการเปิดตัวซอฟต์แวร์การวางแผนความต้องการวัสดุ (MRP) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการผลิต การจัดซื้อ และบริหารสินค้าคงคลัง

.

จนกระทั่งทศวรรษ 1980 ได้มีการเพิ่มฟังก์ชันระบบ MRP ด้านการวางแผนการเงินและแรงงาน ดังนั้นระบบ MRPII จึงเป็นระบบสารสนเทศการผลิตที่สนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลภายในองค์กรและสร้างประสิทธิผลการวางแผนทรัพยากรให้กับธุรกิจ โครงสร้างการเชื่อมโยงสารสนเทศประกอบด้วย

.

.
องค์ประกอบระบบ MRP & MRPII

* การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Strategic and Business Planning)
* การบริหารอุปสงค์ (Demand Management)
* การวางแผนปฏิบัติการและการขาย (Sale and Operation Planning) หรือเรียกว่า การวางแผนโดยรวม (Aggregate Planning)
* กำหนดการผลิตหลัก (Master Production Scheduling) และการวางแผนกำลังการผลิตแบบคร่าว ๆ (Rough-Cut Capacity Planning)
* การวางแผนความต้องการวัสดุ (MRP)
* การวางแผนความต้องการกำลังการผลิต (Capacity Requirement Planning)
* การควบคุมสายการผลิต (Shop Floor Control)

.

การเชื่อมโยงสารสนเทศระบบ MRPII

.
ทำไมแผนการผลิตจึงมีความสำคัญ

เหตุผลสำคัญที่ต้องจัดทำแผนการผลิต ดังนี้
* เพื่อระบุรายละเอียดในกำหนดการผลิต (Production Schedule) โดยตอบคำถามพื้นฐานเกี่ยวกับการผลิต เช่น ผลิตสินค้าอะไร ดำเนินการผลิตเมื่อไร ผลิตอย่างไร และผลิตเท่าไร การวางแผนเพื่อจัดสรรทรัพยากรการผลิตให้เพียงพอกับภาระงานที่เกิดขึ้น
* เพื่อประกันการส่งมอบสินค้าทั้งปริมาณและเวลาที่ระบุในแผน
* จัดทำแผนงานจัดซื้อและสต็อกสินค้าคงคลังระดับที่เหมาะสม

.
ตาราง สรุปตัวอย่างคำถาม-ตอบ สำหรับกิจกรรมการผลิต

.

โดยทั่วไประบบวางแผนการผลิต ประกอบด้วย

* การวางแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Business Plan)
* แผนการขายและปฏิบัติการ (Sales & Operation Plan)
* กำหนดการผลิตหลัก (Master Production Schedule)
* แผนความต้องการวัสดุ (Material Requirement Planning)
* แผนควบคุมกิจกรรมการผลิต (Production Activity Control)

.

.อ
การวางแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์

การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) เป็นแผนงานระยะยาวที่ครอบคลุมช่วงระยะเวลาระหว่าง 3-5 ปี โดยใช้ข้อมูลจากการพยากรณ์ทางธุรกิจ (Business Forecasts) ซึ่งประเมินจากสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบกับการแข่งขันทางธุรกิจ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ ประชากร เทคโนโลยี เป็นต้น โดยทั่วไปแผนกลยุทธ์ประกอบด้วยภาพรวมแผนกลยุทธ์แต่ละหน่วยธุรกิจ (Business Unit) กลยุทธ์ช่องทางตลาด ประเภทผลิตภัณฑ์และกลยุทธ์การผลิต

.

ซึ่งการวางแผนธุรกิจได้แสดงเป้าหมายรวมของธุรกิจ โดยครอบคลุมระยะเวลาของแผนระหว่าง 12-18 เดือน ผู้บริหารระดับสูงได้มีบทบาทกำหนดงบประมาณแผนการผลิตรายเดือนและรายละเอียดช่วงวางแผนปฏิบัติการและการขาย เพื่อใช้กำหนดกรอบการทำงานให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยเกี่ยวข้อง ด้วยเหตุนี้การพัฒนาแผนธุรกิจจึงต้องมีการทบทวนอย่างต่อเนื่องซึ่งครอบคลุมรายละเอียด ดังนี้

.
สารสนเทศกิจกรรมการผลิต

* กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์และการตลาด ประกอบด้วย ส่วนแบ่งตลาด การวางแผนผลิตภัณฑ์ใหม่ วิเคราะห์สภาพการแข่งขัน กลยุทธ์กระจายสินค้า การวางแผนกำไรและกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด
* แผนการขายประจำปี (Annual Sales Plan) โดยพยากรณ์ยอดขายรวมของกลุ่มธุรกิจ และแสดงด้วยหน่วยทางการเงิน (Monetary Units)
* การตัดสินใจว่าจะผลิตเองหรือจัดซื้อจากผู้รับช่วง (Make or Buy Decisions)
* ระบุกำลังการผลิต โดยพิจารณาจากปัจจัยเครื่องจักร แรงงาน และระบบสนับสนุนการผลิต

.

* กำหนดแผนงบประมาณเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้กับผลิตภัณฑ์หรือกลุ่มลูกค้า
* แผนทรัพยากรบุคคล อย่างเช่น ระบบการให้ผลตอบแทนและแผนการฝึกอบรม
* แผนการลงทุนแต่ละด้าน โดยเฉพาะการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ การวิจัยและพัฒนา (R&D)
* ระบบสนับสนุนการผลิต ประกอบด้วย โครงสร้างหน่วยงานผลิต ระบบควบคุมสินค้าคงคลัง ระบบควบคุมคุณภาพ และนโยบายบริหารแรงงาน

.
การบริหารอุปสงค์

การบริหารอุปสงค์ คือ กระบวนการวางแผนเพื่อให้เกิดการพัฒนา MPS ดังนั้น MPS ที่แสดงถึงปริมาณงานหรือผลิตผลที่ต้องดำเนินการผลิตจึงประกอบด้วย

.

* ความต้องการชิ้นส่วนสำหรับให้บริการ (Service Parts Demand)
* ความต้องการภายในองค์กร เช่น อุปกรณ์และระบบสนับสนุนการดำเนินงาน
* การตอบสนองคำสั่งซื้อจากลูกค้า
* การวางแผนความต้องการกระจายสินค้า (Distribution Requirements Planning)
* คำสั่งซื้อระหว่างโรงงาน (Interplant Orders)

.

.
สำหรับการบริหารอุปสงค์ ประกอบด้วย

1. การคาดการณ์ (Prediction) โดยมุ่งรักษาความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานด้วยการคาดการณ์คำสั่งซื้อที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า (Incoming Orders) โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมการผลิตแบบ ATO และ MTS

.

2. การสื่อสาร (Communication) สำหรับองค์กรที่ประสบความสำเร็จจะมอบหมายให้พนักงานฝ่ายการตลาดดำเนินการสำรวจอุปสงค์ด้วยการเข้าเยี่ยมลูกค้าและพูดคุยกับผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเพื่อประเมินปริมาณและช่วงเวลาการออกคำสั่งซื้อจากลูกค้าล่วงหน้า

.

3. ลำดับความสำคัญและการจัดสรร (Prioritization and Allocation) แนวคิดหลักการบริหารอุปสงค์ คือ การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า แต่หากวัสดุหรือทรัพยากรการผลิตไม่เพียงพอจะต้องมีกระบวนการจัดสรรทรัพยากรเหล่านี้ให้เพียงพอโดยลำดับความสำคัญในคำสั่งซื้อเพื่อไม่ให้กระทบต่อการตอบสนองอุปสงค์โดยรวมจากลูกค้า

.

.
ขอบเขตและบทบาทการบริหารอุปสงค์
โดยทั่วไปการบริหารอุปสงค์ได้เชื่อมโยงและครอบคลุมขอบเขต ดังนี้

* การพยากรณ์อุปสงค์ทางการตลาด
* การตอบสนองคำสั่งซื้อจากลูกค้า โดยมุ่งการส่งมอบตามคำสั่งซื้อให้ทันตามกำหนด
* การวางแผนความต้องการกระจายสินค้า (Distribution Requirement Planning หรือ DRP) สภาพทั่วไปของการกระจายสินค้าจะเริ่มจาก

.

ลูกค้าออกคำสั่งซื้อเข้ามาและจบลงเมื่อได้ดำเนินการจัดส่งสินค้าถึงลูกค้า ดังนั้น DRP จึงแสดงข้อมูลปริมาณสินค้าแต่ละรายการที่ตอบสนองอุปสงค์ของลูกค้า โดยผู้ค้าสามารถรับและจัดเก็บวัตถุดิบด้วยต้นทุนที่ยอมรับได้พร้อมกับการตอบสนองอุปสงค์ทั้งในส่วนของตัวสินค้าและคุณภาพ

.

ดังนั้นเมื่อเกิดคำสั่งซื้อจากคลังสินค้าสาขาหรือคำสั่งระหว่างโรงงานก็จะสร้างแผนการจัดส่งไปยังคลังสินค้าย่อย ซึ่งอุปสงค์คลังสินค้าสาขาจะเป็นข้อมูลหนึ่งของ MPS ที่ศูนย์กลางจัดส่ง สำหรับองค์กรที่มีการเชื่อมโยงกับหลายโรงงานมักใช้ระบบ MRP เพื่อสร้างแผนคำสั่งซื้อในรายการหรือชิ้นส่วนที่มีความต้องการ ณ โรงงานหนึ่งและผลิตอีกแห่งหนึ่ง

.

ซึ่งคำสั่งจะปรากฏในแผนการผลิตหลักของโรงงานที่จัดส่งและข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้ในส่วนกำหนดการผลิตหลัก เพื่อให้ดำเนินการสอดคล้องกับกำหนดการกระจายสินค้า โดย MPS จะเชื่อมโยงกับระบบ MRP เพื่อสร้างความมั่นใจว่าวัสดุหรือชิ้นส่วนที่จำเป็นมีพร้อมเมื่อต้องการใช้งาน

.

การวางแผนความต้องการกระจายสินค้า

.

นอกจากนี้การบริหารอุปสงค์ยังเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนระดับสูง (High Level Planning) และการจัดทำกำหนดการผลิต ซึ่งเป็นเสมือนประตูเชื่อมโยงระหว่างระบบวางแผนและควบคุมการผลิตกับอุปสงค์ตลาด ประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้

.

* การประสานระหว่างกิจกรรมการผลิตกับตลาด รวมทั้งคลังสินค้าและโรงงานในเครือ
* ข้อมูลอุปสงค์จะถูกใช้สำหรับวางแผนการขายและปฏิบัติการ (S&OP) และกระบวนการจัดทำแผนการผลิตหลัก
*.สำหรับองค์กรที่ดำเนินธุรกิจการผลิต การพยากรณ์และบริหารคำสั่งซื้อค้างจากลูกค้า (Backlog of Customer Orders) เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการวางแผนธุรกิจ รวมทั้งกระบวนการทาง S&OP และ MPS

.

องค์ประกอบกระบวนการวางแผน

.

ลักษณะการเชื่อมโยงการบริหารอุปสงค์กับแผนการผลิต

1. แผนอุปสงค์ (Demand Plan) ควรสอดคล้องกับแผนการขายและแผนการผลิตแสดงด้วยหน่วยทางการเงินหรือมาตรวัดการเงินอื่น ๆ สำหรับรอบไตรมาส ซึ่งแสดงเป้าหมายระยะสั้น

.

2. ควรมีการประสานระหว่างกิจกรรมการตลาดและกระจายสินค้ากับงานวางแผนการผลิตเพื่อทราบสถานะปัจจุบัน อย่างเช่น การแจ้งระยะการส่งมอบตามคำสั่งซื้อให้กับฝ่ายวางแผนการผลิต การเปลี่ยนแปลงระดับคลังสินค้า

.

3. การบริหารอุปสงค์จะต้องมีข้อมูลที่แม่นยำและอยู่ในแผนบริหารความต้องการทรัพยากร (Resource Requirement Planning หรือ RRP) เช่น ความต้องการอะไหล่สำรอง การประกันคุณภาพ และการโอนย้ายระหว่างโรงงาน (Interplant Transfer)

.

.
การเชื่อมโยงแผนการขายกับการผลิต

นอกจากนี้การพยากรณ์อุปสงค์โดยรวมยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคาดการณ์อุปสงค์ โดยเฉพาะการวางแผนปฏิบัติการและการขายโดยเชื่อมโยงกับแผนการผลิตหลัก ซึ่งแผนการผลิตเป็นตัวกำหนดปริมาณผลิตผลโดยรวมและจัดเตรียมทรัพยากรการผลิตให้พร้อม ดังนั้นแผนการผลิตจึงเป็นเสมือนตัวควบคุมให้การดำเนินการเป็นไปตาม MPS เพื่อระบุกำหนดการจัดส่งและทรัพยากรที่จำเป็นให้เพียงพอกับกำลังการผลิต เช่น แรงงาน เครื่องจักร โดยเป้าหมายแผนการผลิตต้องครอบคลุมถึง

.

1. รายการผลิตภัณฑ์และรายละเอียดแผนการผลิต เช่น ประเภทและปริมาณที่จะต้องผลิต
2. การวางแผนทรัพยากรและระบบสนับสนุนที่จำเป็นในกิจกรรมการผลิต
3. ความสมดุลการผลิต เพื่อตอบสนองได้ตามอุปสงค์ตลาด

..
การวางแผนปฏิบัติการและการขาย 

สำหรับแนวทางที่เหมาะสมเพื่อกำหนดว่าจะผลิตอะไร ผลิตเท่าไร และผลิตเมื่อไร นั่นคือ การให้ทุกฝ่ายงานได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อประเมินสภาพความต้องการของตลาดและกำลังการผลิตของโรงงานว่าสามารถตอบสนองกับอุปสงค์ได้หรือไม่ โดยทั่วไปแผนธุรกิจได้แสดงด้วยมูลค่าทางการเงิน

.

ขณะที่การดำเนินการจริงจะแสดงด้วยหน่วยผลิตผลหรือชั่วโมงแรงงาน (Man-Hour) ดังนั้นช่วงแรกจึงควรแปลงแผนทางการเงินให้เป็นแผนปฏิบัติการ (Operation Plan) ตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Product Group) โดยแผนการผลิตคือผลลัพธ์จากกระบวนการดังกล่าวและแสดงอัตราผลิตผลตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น มอเตอร์ 5,000 หน่วยต่อเดือน ปริมาณซิลิโคน 300,000 แกลลอนต่อสัปดาห์ เป็นต้น            

.

ดังนั้น S & OP จึงเป็นการกำหนดยอดขายอนาคต (Future Sales) และแผนปฏิบัติการตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานและสามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้ทันเวลา โดยดำเนินการพยากรณ์อุปสงค์ตลอดทั้งปีร่วมกับฝ่ายงานเกี่ยวข้องและบูรณาการแผนธุรกิจให้เป็นแผนงานชุดเดียวกัน อย่างเช่น แผนการขาย การตลาด การผลิต และการเงิน ซึ่งผู้จัดการทั่วไปควรทบทวนแผนงานอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อใช้ติดตามวัดผลประกอบการ

.

ส่วนกำหนดการผลิตหลักได้ดำเนินการจัดทำร่วมกันระหว่างฝ่ายผลิตกับการตลาดด้วยการใช้ข้อมูลจากการพยากรณ์ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบ MRP เช่น ข้อมูลคำสั่งซื้อจากลูกค้า ระดับสต็อกสินค้าคงคลัง และกิจกรรมสนับสนุน ดังนั้นการจัดทำ MPS จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุวันเสร็จสิ้น (Due Dates) และกำหนดขนาดรุ่นการผลิต (Lot Sizes) แต่ละรายผลิตภัณฑ์ โดยให้รายละเอียดทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนให้เป็นไปตามแผนการผลิต

.

โครงสร้างระบบการบริหารอุปสงค์

.
การวางแผนกำลังการผลิตแบบคร่าว ๆ

สำหรับ RCCP ได้สนับสนุนการตรวจสอบกำลังการผลิตให้สอดรับกับความต้องการตาม MPS แต่หาก RCCP แสดงข้อมูลที่จำเป็นอย่างถูกต้องและเพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องจัดทำรายละเอียดความต้องการกำลังการผลิต แต่หากพบว่าปัญหากำลังการผลิตไม่เพียงพอ (Capacity Shortage) และทำให้เกิดปัญหาคอขวดก็จะต้องดำเนินการปรับแผนกำลังการผลิตให้เกิดความสมดุล           

.

ซึ่งข้อมูลความต้องการกำลังการผลิตเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการ MRP โดย CRP ได้ถูกประเมินจากข้อมูลสำคัญ เช่น แรงงาน เครื่องจักร กำหนดการรับของ แผนการสั่งซื้อใน MRP และขั้นตอนการผลิตที่แสดงในใบแสดงกระบวนการ (Bill of Processes) ดังนั้น CRP จึงเป็นการจัดทำรายละเอียดแผนกำลังการผลิตระยะสั้น

.
กำลังการผลิต  = (จำนวนเครื่องจักร/แรงงาน) x (จำนวนกะทำงาน) x (อัตราการใช้ประโยชน์) x (ประสิทธิภาพ)
โดยที่ 

.

โดยทั่วไปเครื่องจักรไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิต เนื่องจากปัญหาในสายการผลิต เช่น การหยุดเดินเครื่องเพื่อการบำรุงรักษา (Maintenance) การเกิดปัญหาเครื่องจักรขัดข้อง (Breakdown) การปรับตั้งเครื่อง และการขาดแคลนวัตถุดิบ เป็นต้น ผลลัพธ์จากการประเมินกำลังการผลิตได้ถูกใช้เทียบกับรายละเอียดใน MPS         

.

 หากกำลังการผลิตเพียงพอที่ระบุไว้ใน MPS แล้วก็จะถูกนำมาใช้ดำเนินการต่อไป แต่หากมีกำลังการผลิตไม่เพียงพอก็จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตารางการผลิตให้สมดุลกับอุปสงค์และระบุไว้ในใบแสดงกำลังการผลิต (Bill of Capacity) ประกอบด้วย จำนวนแรงงานและเวลาการเดินเครื่องจักรในสายการผลิต

.
ระบบควบคุมสายการผลิต

สำหรับกิจกรรมควบคุมสายการผลิตได้มีการติดตามควบคุมการใช้วัสดุและทรัพยากรแรงงานที่ถูกใช้ในกิจกรรมการผลิต รวมทั้งกิจกรรมสนับสนุน ดังเช่น การขนถ่ายชิ้นงาน การรับของ โดยกิจกรรมหลักประกอบด้วย

.

1. การประสานงานระดับโรงงาน (Factory Coordination) เพื่อให้เกิดการไหลของงานอย่างต่อเนื่องและเกิดความสอดคล้องตลอดทั้งกระบวนการ นอกจากนี้ยังจำแนกปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาเดิมขึ้นอีก

.

2. การควบคุมกิจกรรมการผลิต (Production Activity Control) เป็นการควบคุมการไหลของงานภายในเซลล์การผลิต (Manufacturing Cell) โดย PAC ได้แสดงกำหนดการเสร็จสิ้นทุกกระบวนการและจัดเก็บข้อมูลความคืบหน้าของงานเพื่อแจ้งกลับข้อมูลไปยังฝ่ายวางแผน

.

รูปแบบเซลล์การผลิต

.

ส่วนระบบ MRPII ได้แสดงรายละเอียดวัสดุและแผนกำลังการผลิต โดยเฉพาะตารางการเดินเครื่องจักรและเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้นในสายการผลิตตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นจนกระทั่งเสร็จสิ้นกิจกรรมการผลิต รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเช่น การขาดงานหรือเครื่องจักรขัดข้อง ซึ่งรายละเอียดกำหนดการผลิตควรมีการอัปเดตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นปัจจัยควบคุมสายการผลิตควรประกอบด้วย

.

* การจัดเตรียมสารสนเทศการผลิต (Manufacturing Information) อย่างกำหนดการรายวัน (Daily Schedule) ของกิจกรรมแต่ละหน่วยผลิต
* ตรวจสอบความพร้อมของทรัพยากรและกำลังการผลิตก่อนดำเนินการผลิต
*.การตรวจติดตามสถานะกระบวนการผลิตและดำเนินการแจ้งกลับ (Feedback) เพื่อจำแนกปัญหาหรือเหตุขัดข้องและข้อมูลภาระงาน (Workload) รวมทั้งระดับสต็อก
* ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น (Corrective Actions)

.
.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด