เนื้อหาวันที่ : 2009-08-07 18:04:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8134 views

รู้จักกับหลักการ Extended Producer Responsibility (EPR)

เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวล้ำ ได้นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ใหม่ ๆ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เรามีชีวิตที่ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยตอบสนองความต้องการด้านรสนิยม ที่เกินกว่าคำว่า "ความจำเป็น" อีกด้วย ลองเดินเข้าไปในแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าของห้างสรรพสินค้า เราจะเห็นสินค้ามากมาย ที่บรรจุความสามารถหลากหลาย จนไม่แน่ใจว่า ถ้าซื้อไปแล้วเราจะใช้งานได้ครบทุกฟังก์ชันหรือไม่

ศิริรัตน์ ศิริพรวิศาล
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
Sirirat2@yahoo.com

.

.

เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวล้ำ ได้นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ใหม่ ๆ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เรามีชีวิตที่ง่ายขึ้นและสะดวกขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยตอบสนองความต้องการด้านรสนิยม ที่เกินกว่าคำว่า "ความจำเป็น" อีกด้วย ลองเดินเข้าไปในแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าของห้างสรรพสินค้า เราจะเห็นสินค้ามากมาย ที่บรรจุความสามารถหลากหลาย จนไม่แน่ใจว่า ถ้าซื้อไปแล้วเราจะใช้งานได้ครบทุกฟังก์ชันหรือไม่  

.

ยกตัวอย่าง LCD-TV ที่สามารถแสดงภาพระดับความคมชัดสูง ซึ่งมาพร้อมกับรูปลักษณ์การออกแบบอันหรูหรา ชวนให้รู้สึกถึงสุนทรียภาพเวลารับชม ที่มากว่าการรับรู้ข่าวสารหรือชมรายการโปรดแบบธรรมดา ๆ นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราพร้อมจะควักกระเป๋า ซื้อหามาใช้โดยไม่อิดออด ไม่เพียงแค่ LCD-TV เท่านั้น หันไปสำรวจรอบ ๆ ตัว เราจะเห็นว่า ผู้คนสมัยใหม่มีสิ่งของ เครื่องใช้พกติดตัวมากมาย หลายอย่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีใหม่ อย่าง คอมพิวเตอ์โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ กล้องถ่ายภาพและวิดีโอดิจิตอล แฮนดี้ไดรฟ์ และเครื่องเล่นวอร์คแมนหรือ MP3 เหตุผลสำคัญก็เพราะว่า ในปัจจุปัน ราคาของอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้ได้ลดลงอย่างมาก จนใคร ๆ ก็สามารถซื้อหามาใช้ได้

.

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ ซึ่งมาพร้อมกับอัตราการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ก็กำลังก่อให้เกิดความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมา เพราะไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว อุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านั้น ก็จะหมดอายุการใช้งาน ถูกทิ้งให้กลายเป็นเศษซากที่ไร้ประโยชน์ ที่แย่กว่านั้น ด้วยราคาที่ถูกแสนถูก เครื่องใช้บางรายการอาจจะถูกทิ้งไปอย่างง่ายดาย กลายเป็นขยะที่พอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว สุดท้ายแล้วผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ที่มาพร้อมด้วยความสามารถอันน่าทึ่ง ก็จะกลายเป็นเพียง ซากของความทันสมัย (Waste of Modernity) ที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน และความยุ่งยากในการควบคุมกำจัด

.

ด้วยความตระหนักถึงปัญหาที่มากับขยะสมัยใหม่ จึงทำให้หลายฝ่ายเริ่มมองหามาตรการที่ยั่งยืน เพื่อรับมือกับการเกิดขึ้น (Emergence) และการเพิ่มปริมาณ (Increasing) ของขยะสมัยใหม่ในอนาคต และแนวทางหนึ่งที่กำลังถูกนำมาใช้มาก ทั้งในระดับนโยบายและการปฏบัติ ก็คือ หลักการที่ว่าด้วย ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility) หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า EPR นั่นเอง

.
หลักการและคำจำกัดความของ EPR

หลักการมูลฐานว่าด้วย ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต หรือ EPR พัฒนามาจากมุมมองที่ว่า ผลิตสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาและผลิตขึ้น มักจะมาพร้อมกับคุณสมบัติใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนยุ่งยากในการจัดการควบคุมภายหลังถูกเลิกใช้ เป็นเหตุให้ชุมชนต้องรับภาระหนักในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาอย่างไม่รอบคอบ ที่ทำให้กลายเป็นขยะที่มีอันตรายภายหลังจากหมดอายุการใช้งาน ฉะนั้น ผู้ผลิต (Producer) ในฐานะที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ขึ้นมา ก็ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บกู้ และจัดการกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นให้เรียบร้อย แทนที่จะปล่อยให้เป็นภาระของผู้บริโภคหรือของชุมชน ตามแนวคิดที่ว่า "ผู้ก่อมลภาวะต้องเป็นผู้จ่าย" นั่นเอง 

.

สำหรับคำว่า ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น (Extended Responsibility) ก็หมายถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมที่ผู้ผลิตจะต้องแสดงออกเพิ่มจากเดิม ให้ครอบคลุมตลอดวงจรผลิตภัณฑ์ ทั้งในลำดับที่เกี่ยวกับการผลิต และลำดับที่เกี่ยวกับการจัดการของเสียด้วย (รูปที่ 1) ทั้งนี้เพราะแต่ก่อนนั้น ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดของผู้ผลิตมักจะครอบคลุมเฉพาะลำดับที่เกี่ยวกับการผลิตเท่านั้น และความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ก็มักจะสิ้นสุดลงเมื่อผลิตภัณฑ์ถูกขายออกไป แต่ตามหลักการ EPR ผู้ผลิตยังต้องมีภาระผูกพัน ที่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ซึ่งเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิต ไม่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นจะอยู่ในลำดับการบริโภค หรือกลายเป็นซากที่สิ้นอายุการใช้งานไปแล้วก็ตาม

.

รูปที่ 1 ภาพรวมความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต

.

คำว่า "Extended Producer Responsibility" ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย Dr.Thomas Lindhqvist แห่ง Lund University ประเทศสวีเดน ซึ่งใด้ให้คำจำกัดความไว้ว่า

.

"Extended Producer Responsibility is an environmental protection strategy to reach an environmental objective of a decreased total environmental impact from a product, by making the manufacturer of the product responsible for the entire life-cycle of the product and especially for the take-back, recycling and final disposal of the product. The Extended Producer Responsibility is implemented through administrative, economic and informative instruments. The composition of these instruments determines the precise form of the Extended Producer Responsibility."

--- Lindhqvist, 1992 ---

.

นิยามที่เสนอโดย Lindhqvist ถือเป็นนิยามที่เป็นทางการ และได้รับการยอมรับมากที่สุด เพราะมีใจความสมบูรณ์ ครบถ้วนครอบคลุมทั้งขอบข่าย และแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ นอกจากนั้น Lindhqvist ยังได้เสนอโมเดลในการแสดงความรับผิดชอบตามหลัก EPR ไว้ด้วย (รูปที่ 2) โดยอธิบายว่า ผู้ผลิตสามารถแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน ด้วยแนวทางต่าง ๆ ต่อไปนี้

.

* ความรับผิดชอบโดยการจ่ายชดเชย (Liability) หมายถึง การแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ โดยอาจจะเป็นการจ่ายชดเชยเมื่อมีการฟ้องร้อง ร้องเรียน หรือร้องทุกข์ หรือต้องจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่ความเสียหายนั้น ๆ อาจครอบคลุมลำดับต่าง ๆ ของวงจรผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็รวมถึงขั้นตอนระหว่างและหลังการบริโภคด้วย ขอบเขตหรือจำนวนที่จะต้องจ่ายชดเชยจะพิจารณาจากหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย 

.

* ความรับผิดชอบโดยทางเศรษฐกิจ (Economic Responsibility) หมายความว่า ผู้ผลิตจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหลายที่เกี่ยวกับการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุการใช้งาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการรวบรวม การรีไซเคิล หรือแม้แต่การกำจัดซากของผลิตภัณฑ์ที่ตนเป็นผู้ผลิต โดยที่การชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว อาจจะเป็นการจ่ายโดยตรงให้กับผู้จัดการซากผลิตภัณฑ์ หรือจ่ายทางอ้อมในรูปของค่าธรรมเนียมพิเศษต่าง ๆ ก็ได้

.

* ความรับผิดชอบโดยทางกายภาพ (Physical Responsibility) เป็นการแสดงความรับผิดชอบในคุณสมบัติทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งหมายความว่า ผู้ผลิตจะต้องพยายามทำให้คุณลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิตขึ้นนั้น มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยอาศัยการออกแบบและการพัฒนา และยังอาจจะรวมถึง การรักษา ความเป็นเจ้าของ (Ownership) ผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิตขึ้นตลอดวงจรของผลิตภัณฑ์นั้นด้วย

.

* ความรับผิดชอบโดยทางข้อมูลข่าวสาร (Informative Responsibility) เป็นความรับผิดชอบที่ผู้ผลิตจะต้องแจ้งข้อมูล หรือให้รายละเอียดเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิต ให้บุคคลฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า ผู้บริโภค ผู้ขนส่ง และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้ประโยชน์รวมถึงการจัดการกับซากผลิตภัณฑ์เป็นไปอย่างเหมาะสม และมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

.

รูปที่ 2 จำลองแสดงองค์ประกอบความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตตามหลักการ EPR

.

จากนิยามและสาระสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น เราสังเกตเห็นลักษณะเด่นของหลักการ EPR ได้หลายประการ อย่างแรก คือ ความเป็นแนวคิดที่มุ่งผลิตภัณฑ์ (Product Oriented) ซึ่งแตกต่างจากแนวคิดด้านการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การผลิตที่สะอาดกว่า (Cleaner Production) หรือการป้องกันมลภาวะ (Pollution Prevention) ซึ่งต่างก็เป็นหลักการที่มุ่งกระบวนการเป็นสำคัญ ฉะนั้น นโยบายหรือกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกิดจากการประยุกต์หลักการ EPR จึงมีความเป็นนโยบายเชิงผลิตภัณฑ์ (Product Related Policy) มากกว่าจะเป็นนโยบายการจัดการของเสีย (Waste Management Policy) 

.

สำหรับผู้ที่เคยติดตามสาระความรู้เกี่ยวกับแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรม (Industrial Ecology) มาโดยตลอด คงพอจะมองเห็นความเกี่ยวพันกันระหว่างหลักการ EPR กับแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน เพราะ EPR นั้นเป็นหลักการที่สอดรับกับแนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมอย่างกลืนทีเดียว โดยเฉพาะ ในแง่ของเป้าหมายที่มุ่งปรับปรุงให้วัสดุในระบบอุตสาหกรรม มีการไหลเวียนอย่างเป็นวงจรปิด (Closing the Material Loop) ในขณะที่ แนวทฤษฎีนิเวศอุตสาหกรรมมีฐานะเป็น "กระบวนทัศน์" (Paradigm) ที่ให้กรอบแนวคิดอย่างกว้าง ๆ EPR ก็มีฐานะเป็นหลักการเชิงปฏิบัติการ (Operational Principle) ที่ชี้ชัดลงไปว่า ใครที่จะต้องเป็นผู้ลงมือทำ และจะต้องทำอย่างไร

.
แนวโน้มสากลของการนำหลัก EPR ไปประยุกต์ใช้

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า EPR นั้นเป็นหลักการที่มีความชัดเจนในตัวเอง ซึ่งเราสามารถที่จะจินตนาการได้ทันทีว่า จะมีผลดีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ถ้าผู้ผลิตทั้งหลายหันมารับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิตขึ้นตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยเฉพาะการรับภาระในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่สิ้นอายุการใช้งานแล้ว ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า จะช่วยแก้ปัญหาการพอกพูนของซากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด           

.

ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลของหลายประเทศจึงมีความเห็นชอบที่จะนำเอาหลักการ EPR ไปใช้ ในการกำหนดนโยบาย กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกำกับให้ผู้ผลิตสินค้าหรือบริการต้องแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน โดยการกำหนดวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมตามเป้าหมายของกฎระเบียบที่รัฐได้กำหนดไว้ด้วย ฉะนั้น ในหัวข้อนี้ เรามาสำรวจความคืบหน้าเกี่ยวกับการประยุกต์หลักการ EPR ในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับนโยบาย และกฎระเบียบที่ริเริ่มโดยภาครัฐเป็นสำคัญ

.
* สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรป และประเทศสมาชิก ถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีความตื่นตัวมากในเรื่องของ EPR เหตุผลสำคัญก็คงเพราะว่า หลักการ EPR กำเนิดขึ้นในภูมิภาคนี้ (สวีเดน) ซึ่งในปัจจุบันสภาพยุโรปมีการประกาศใช้กฎระเบียบ EPR หลายฉบับ ซึ่งก็มีทั้งกฎระเบียบของ EU และกฎระเบียบจำเพาะของแต่ละประเทศสมาชิก กฎระเบียบเหล่านั้นครอบคลุมผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท ตั้งแต่ยานยนต์ บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

.

กฎระเบียบ EPR ของ EU ฉบับหนึ่งที่กำลังมีการพูดถึงมากที่สุดก็คือ กฎระเบียบ WEEE (Waste from Electrical and Electronic Equipment) ซึ่งเป็นกฎระเบียบที่กำหนดให้ผลิตรวมทั้งผู้นำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปจำหน่ายในสหภาพยุโรปต้องแสดงความรับผิดชอบในการจัดการซากอุปกรณ์ที่ตนผลิตหรือจำหน่ายตามหลักการ EPR โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการเพิ่มปริมาณของซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในสหภาพยุโรป และเพื่อที่จะเลี่ยงการนำซากผผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไปกำจัดโดยการเผาทิ้งและการฝังกลบด้วย ซึ่งระเบียบ WEEE นี้มีขอบเขตที่กว้างมากและครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่ใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทั่วไป ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ไปจนถึงอุปกรณ์ไอที ของเล่นเด็กที่ใช้ไฟฟ้า และเครื่องมือช่างต่าง ๆ ที่ใช้ไฟฟ้า

.

ระเบียบ WEEE ผ่านมติเห็นชอบจากสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี ค.ศ.2002 และมีการตั้งเป้าเอาไว้ว่า ภายในวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ.2005 ประเทศสมาชิกต้องรับรองว่าผู้ผลิตได้มีการตระเตรียมระบบจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่แยกต่างหากจากขยะของชุมชน โดยแยกเป้าหมายการใช้ซ้ำ การรีไซเคิล และการแปรรูป ซึ่งรวมถึงการแปรรูปขยะให้เป็นพลังงาน ตามปริมาณน้ำหนักของขยะที่เก็บได้ ตั้งแต่การใช้ซ้ำ/รีไซเคิล 75% และการแปรรูป 80% ไปจนถึงการใช้ซ้ำ/รีไซเคิล 50% และการแปรรูป 70% ขึ้นอยู่กับประเภทของขยะอิเล็กทรอนิกส์

.
ตารางที่ 1 ตัวอย่างกฎระเบียบ WEEE ในกลุ่มประเทศยุโรป

ประเทศ

กฎหมาย ระเบียบ หรือ ร่างกฎระเบียบ

ปีที่เริ่มบังคับใช้

สวิตเซอร์แลนด์ Ordinance on the Return, Taking back and Disposal of Electrical and Electronic Equipment. (ORDEE)

1998

เดนมาร์ก Statutory Order from the Ministry of Environment and Energy No. 1067

1999

เนเธอร์แลนด์ Disposal of White and Brown Goods Decree

1999

นอร์เวย์ Regulations regarding Scrapped Electrical and Electronic Products

1999

เบลเยียม Environmental Policy Agreements on the take back obligation for waste from electrical and electronic equipment

2001

สวีเดน The Producer Responsibility for Electrical and Electronic Products Ordinance (SFS 2000:208)

2001

เยอรมนี Act Governing the Sale, Return and Environmentally Sound Disposal of Electrical and Electronic Equipment (ElektroG Act)

2005

.
* เอเชีย

ในปัจจุบัน กลุ่มประเทศในเอเชียก็เริ่มมีความตื่นตัวในเรื่อง EPR มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้ากับสหภาพยุโรป ซึ่งก็ได้รับแนวคิดด้าน EPR มาจากยุโรปนั่นเอง โดยมี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าทางเทคโนโลยีในเอเชีย เป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการประกาศใช้นโยบายหรือกฎระเบียบ EPR ของตนเอง 

.

ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีฐะนะเป็นชาติอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ได้มีการประกาศใช้กฎหมาย EPR ที่เรียกว่า "กฎหมายระบุการรีไซเคิลเครื่องใช้ในบ้าน" (Specified Home Appliances Recycling Law) หรือ  SHAR มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 โดยในระยะแรก เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ ครอบคลุมเฉพาะเครื่องใช้ในบ้านขนาดใหญ่สี่ประเภท ได้แก่ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ จนกระทั่ง ค.ศ.2003 จึงมีการบรรจุคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเข้ามา          

.

ทิศทางการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จะเน้นให้มีการรวบรวมเครื่องใช้ดังกล่าวผ่านร้านค้าปลีกด้วยการรับสินค้าเก่าคืนเมื่อขายสินค้าใหม่ โดยผู้ผลิตจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการรับคืนและการรีไซเคิล ซึ่งการบังคับใช้กฎหมาย SHAR ช่วยให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างสูงในการรีไซเคิลซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งข้อมูลเมื่อปี ค.ศ.2000 พบว่ามีปริมาณการรีไซเคิลเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ในทุกประเภทผลิตภัณฑ์ เช่น เป้าการรีไซเคิลเครื่องซักผ้าที่ตั้งไว้ 55% แต่มีปริมาณการรีไซเคิลจริงถึง 76% 

.

คุณประโยชน์อีกประการหนึ่งของการบังคับใช้กฎหมาย SHAR คือการกระตุ้น ให้ผู้ผลิตรวมตัวกันเพื่อสร้างระบบการรับคืนและการรีไซเคิลให้มีประสิทธิภาพ มีการรวมตัวกันสร้างโรงงานรีไซเคิลของตนเอง นอกจากนั้นผู้ผลิตยังมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติที่ได้เปรียบในเชิงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดภาระการรีไซเคิลที่จะตามมา เป็นผลให้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตในญี่ปุ่น ได้รับการยอมรับในตลาดสากล ในฐานะผลิตภัณฑ์สีเขียวที่มีความได้เปรียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เหนือกว่า เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากประเทศอื่น ๆ

.

ประเทศเกาหลีใต้ ก็ได้มีการออกกฎหมาย EPR ที่ครอบคลุมการจัดการขยะหลายประเภท โดยประกาศใช้แทนระบบคืนเงินสำหรับการรีไซเคิลเดิมที่มีใช้มาตั้งแต่ ค.ศ.1992 โดยกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาครอบคลุมบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ไอที และเครื่องเสียงไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้แบตเตอรี่ เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ นาฬิกา กล้องถ่ายรูป และของเล่นเด็ก และในเดือนมกราคม ค.ศ.2005 ได้มีการเริ่มการกำหนดเป้าหมายการรีไซเคิล ซึ่งผู้ผลิตสามารถจัดระบบรีไซเคิลของตนเอง ว่าจ้างบริษัทรีไซเคิล หรือจ่ายเงินให้กับองค์การความรับผิดชอบของผู้ผลิต

.

โดยเป้าหมายการรีไซเคิลสำหรับโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์คือ +55% ภายในปี ค.ศ.2005 และ +65% จากปี ค.ศ.2006 และเป้าหมายการรีไซเคิลสำหรับตู้เย็น เครื่องเสียง และโทรศัพท์มือถือคือ +65% ภายในปี ค.ศ.2005 และ +70% จากปี ค.ศ.2006 ส่วนไต้หวัน ก็มีการออกกฎหมาย EPR ในปี ค.ศ.1997ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ และปริ๊นเตอร์ แทนระบบรีไซเคิลแบบสมัครใจที่มีใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 

.
* สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

สหรัฐฯ และแคนาดา เป็นชาติอุตสาหกรรมได้ชื่อว่า เป็นตัวตั้งตัวตีด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด แต่ความเคลื่อนไหวในเรื่อง EPR นั้น เพิ่งจะเริ่มคึกคักขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง สำหรับในสหรัฐฯ การบังคับใช้กฎระเบียบด้าน EPR อาจจะไม่เด่นชัดนักเมื่อเทียบกับยุโรป แต่ที่น่าจับตาก็คือ ความเคลื่อนไหวเชิงรุกของภาคอุตสาหกรรมเอง ที่พยายามผลักดันให้มีการดำเนินงานด้าน EPR เพื่อเสริมขีดความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมและการแข่งขันให้กับธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มความร่วมมือทางอุตสาหกรรมที่ชื่อว่า NEPSI (National Electronics Product Stewardship Initiative) ที่มีมติเห็นชอบให้มีการจัดทำแผนแห่งชาติสำหรับการดำเนินการ และการให้ทุนสนับสนุนการรับคืนและการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 .

ในส่วนของแคนาดา ความเคลื่อนไหวด้าน EPR ของภาครัฐนั้นถือว่ามีความชัดเจนมากกว่า โดยมีการให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการออกกฎระเบียบด้านผลิตภัณฑ์ตามหลักการ EPR ที่รับแนวคิดมาจากยุโรป ผนวกกับแนวคิดเรื่อง Product Stewardship เดิมที่เคยใช้มาก่อน ซึ่งในปัจจุบัน แคนาดาได้มีการประกาศใช้กฎหมาย EPR ด้วยกันหลายฉบับ ดังแสดงตารางที่ 2

 .
ตารางที่ 2 ตัวอย่างกฎระเบียบ EPR ที่ประกาศใช้ในแคนาดา

เมือง

กฎหมาย ระเบียบ หรือ ร่างกฎระเบียบ

ปีที่เริ่มบังคับใช้

กลุ่มผลิตภัณฑ์เป้าหมาย

บริติช โคลัมบีย Recycling Regulation 2004 หลายผลิตภัณฑ์
อัลเบอร์ต้าAlberta Electronics Designation Regulation 2004 อิเล็กทรอนิกส์
 

Beverage Container Recycling Regulation

1997 ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม
ซัสแคทเชวัน Waste Electronic Equipment Regulations  2006 อิเล็กทรอนิกส์
  Waste Paint Management Regulations 2005 สี
 

Used Oil Collection Regulations

1996 น้ำมัน
  Litter Control Designation Regulations 1998 ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม
มานิโตบา Proposed Hazardous or Prescribed Household Material Stewardship Regulation 2007 หลายผลิตภัณฑ์
  Regulation on tire management
Draft regulation on tiremanagement
1995 2006 ยาง
  Regulation on used oils, oil filters and oil containers 1997 น้ำมัน
ออนตาริโอ Waste Diversion Act 2002 หลายผลิตภัณฑ์
ควิเบค

An Act respecting the sale and distribution of beer and soft drinks in non-returnable containers,

1984 ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม
 

Regulation respecting the recovery and reclamation of used oils, oil or fluid containers and used filters

2004 น้ำมัน
 

Regulation respecting the recovery and reclamation of discarded paint containers and paints 

2000 สี
  Regulation respecting compensation for municipal services provided to recover and reclaim residual materials 2005
บรรจะภัณฑ์ และวัสดุสิ่งพิมพ์
นิวบรันสวิค Used Oil Regulation - Clean Environment Act (N.B. Reg. 2002-19) 2002 น้ำมัน
  Beverage Containers Regulation 1999 ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม
โนวา สโกเทีย Solid-Waste-Resource Management Regulations 1996 ยาง สี และ ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม
 

Used Oil Regulations

1995 น้ำมัน
พริ้นซ์ เอ็ดเวิร์ด ไอซ์แลนด์ Litter Control Regulations 1991 ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม
  Used Oil Handling Regulations 1992 น้ำมัน
นิวฟันด์แลนด์ และ ลาบราดอ Used Oil Control Regulations 2002

น้ำมัน

 

Waste Management Regulations

2003

ภาชนะบรรจุเครื่องดื่ม และ ยาง

 .
สรุป: วิกฤติและโอกาสสำหรับผู้ผลิต

จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันนี้ EPR กำลังกลายเป็นหลักการที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ในการวางกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า น่าจะเป็นหนทางที่ช่วยให้การแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากผลิตภัณฑ์มีความยั่งยืนขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการพอกพูนของขยะและซากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

 .

ถึงแม้ว่าการประยุกต์หลัก EPR ในรูปของกฎระเบียบต่าง ๆ ยังคงมีข้อถกเถียงกันอยู่บ้าง ในเรื่องของความสมเหตุสมผล แต่โดยภาพรวมนั้น หลักการ EPR ก็ยังคงเป็นที่ยอมรับ และมีแนวโน้มที่จะถูกนำออกมาใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

.

เมื่อประเทศต่าง ๆ มีการใช้นโยบาย EPR แน่นอนว่า ภาวะตึงเครียดก็จะกลับมาตกที่ผู้ผลิต รวมไปถึงผู้จำหน่าย และผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้วย ผลกระทบอย่างหนึ่งที่จะเกิดกับผู้ผลิตอย่างแน่นอนก็คือ ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

.

และการประกาศใช้กฎระเบียบ EPR ครอบคุมผลิตภัณฑ์หลายรายการมากขึ้น ก็จะมีส่วนทำให้ ระบบการค้าการขายจะมีความซับซ้อนขึ้น และอาจจะส่งผลให้สถานภาพทางการแข่งขันของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนั้นเปลี่ยนไปด้วย ฉะนั้น ผู้ผลิตจึงจะต้องตั้งหลักให้มั่น คอยจับตาความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมของตลาดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกฎระเบียบด้าน EPR ของประเทศคู่ค้า

.

แต่ถ้าเป็นไปได้ ผู้ประกอบการควรมีการตระเตรียมกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมของตนให้สัมพันธ์กับหลักการ EPR ไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น การผนวกหลักการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน และการสร้างสรรค์ระบบห่วงโซ่อุปทานวงปิด ที่สนับให้มีกการนำซากผลิตภัณฑ์ กลับมารีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิธีนี้น่าจะช่วยลดผลกระทบจากการประกาศใช้กฎระเบียบด้าน EPR ลงไปได้อย่างมากทีเดียว

.

บรรณานุกรม

* Cobbing M. (2008) Toxic Tech: Not in Our Backyard - Uncovering the Hidden Flows of e-Waste. Greenpeace International, Amsterdam, Netherlands, 75 p.
* Lifset R.J. (1993) Take it back: Extended producer responsibility as a from of incentive-based environmental polycy. Journal of Resource Management and Technology  21(4): 163-175
* Lindhqvist T. (1992) Extended Producer Responsibility. In Extended Producer Responsibility as a Strategy to Promote Cleaner Products (T. Lindhqvist, Ed.). Department of Industrial Environmental Economics, Lund University, Sweden.
* Realff M.J., Raymond M. and Ammons J.C. (2004) E-waste: an opportunity. Material Today January issue: 40-45

.
.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด