เนื้อหาวันที่ : 2009-08-05 18:04:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 23993 views

พลังงานน้ำ โอกาสของพลังงานทดแทนไทย

ด้วยการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาสถานการณ์ทางด้านพลังงานมีความเสี่ยงที่จะเกิดความวิกฤติ แนวคิดและวิธีการของพลังงานทดแทนจึงถูกกล่าวถึงบ่อย ๆ เพื่อนำมาใช้เป็นทางเลือกในการทดแทนพลังงานหลักอย่างพลังงานน้ำมันดังกล่าว

ธิระศักดิ์ เสภากล่อม
ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

.

.

ด้วยการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมาสถานการณ์ทางด้านพลังงานมีความเสี่ยงที่จะเกิดความวิกฤติ เช่น ความต้องการทางด้านน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผ่านมาทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ต่างทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน แนวคิดและวิธีการของพลังงานทดแทนจึงถูกกล่าวถึงบ่อย ๆ เพื่อนำมาใช้เป็นทางเลือกในการทดแทนพลังงานหลักอย่างพลังงานน้ำมันดังกล่าว

.

พลังงานน้ำ จึงเป็นพลังงานหนึ่งที่รัฐบาลไทยหันกลับมาให้ความสนใจเพื่อพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เนื่องจากพลังงานน้ำเป็นพลังงานที่มีศักยภาพสูง ซึ่งรัฐบาลได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า โดยได้กำหนดโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กและขนาดจิ๋ว ซึ่งจะมีโครงการย่อย ๆ ประกอบ เช่น โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ และโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งใหม่             

.

สำหรับโครงการที่ได้เริ่มต้นไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 คือ โครงการติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าท้ายเขื่อนและอาคารบังคับน้ำของกรมชลประทาน จำนวน 33 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลดีทั้งในด้านประสิทธิภาพของการผลิตไฟฟ้า และด้านการส่งเสริมผู้ประกอบขนาดกลาง และขนาดย่อมในอุตสาหกรรมการผลิตกังหันน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการเติบโตอย่างยั่งยืน ทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง 

.

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังได้วางเป้าหมายให้มีการใช้ประโยชน์จากแรงน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยได้ดำเนินการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น พัฒนาไฟฟ้าพลังงานน้ำตามแผนลงทุนโดยรัฐ ประกอบด้วย การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก การสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก การพัฒนาไฟฟ้าพลังงานน้ำระดับหมู่บ้าน รวมถึงการกำหนดให้โรงไฟฟ้าใหม่ ที่จะสร้างขึ้นจะต้องใช้ประโยชน์จากพลังงานน้ำส่วนหนึ่งด้วย

.
ทำความรู้จักกับพลังงานน้ำ

พลังงานน้ำ เป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างกำลัง โดยการอาศัยพลังงานของน้ำที่เคลื่อนที่ ปัจจุบันนี้พลังงานน้ำส่วนมากจะถูกใช้เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้แล้วพลังงานน้ำยังถูกนำไปใช้ในการชลประทาน การสี การทอผ้า และใช้ในโรงเลื่อย พลังงานของมวลน้ำที่เคลื่อนที่ได้ถูกมนุษย์นำมาใช้มานานแล้วนับศตวรรษ โดยได้มีการสร้างกังหันน้ำ เพื่อใช้ในการงานต่าง ๆ ในอินเดีย และชาวโรมันก็ได้มีการประยุกต์ใช้เพื่อใช้ในการโม่แป้งจากเมล็ดพืชต่าง ๆ

.

ส่วนผู้คนในจีนและตะวันออกไกลก็ได้มีการใช้พลังงานน้ำเพื่อสร้าง Pot Wheel เพื่อใช้ในการวิดน้ำเพื่อการชลประทาน โดยในช่วงทศวรรษ 1830 ซึ่งเป็นยุคที่การสร้างคลองเฟื่องฟูถึงขีดสุด ก็ได้มีการประยุกต์เอาพลังงานน้ำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนเรือขึ้นและลงจากเขา โดยอาศัยรางรถไฟที่ลาดเอียง (Inclined Plane Railroad: Funicular) โดยตัวอย่างของการประยุกต์ใช้แบบนี้ อยู่ที่คลอง Tyrone ในไอร์แลนด์เหนือ

.

อย่างไรก็ตามเนื่องจากการประยุกต์ใช้พลังงานน้ำในยุคแรกนั้นเป็นการส่งต่อพลังงานโดยตรง (Direct Mechanical Power Transmission) ทำให้การใช้พลังงานน้ำในยุคนั้นต้องอยู่ใกล้แหล่งพลังงาน เช่น น้ำตก เป็นต้น ปัจจุบันนี้ พลังงานน้ำได้ถูกใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า ทำให้สามารถส่งต่อพลังงานไปใช้ในที่ที่ห่างจากแหล่งน้ำได้

.

พลังงานน้ำ มีต้นกำเนิดจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้น้ำบนพื้นโลกระเหยและลอยตัวขึ้นสูง เมื่อไอน้ำในบรรยากาศกลั่นตัวเป็นฝน ความเร่งเนื่องจากแรงดึงดูดของโลกทำให้ไหลลงสู่ที่ต่ำ พลังงานน้ำจึงเกิดจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานศักย์จากความเร่งเนื่องจากแรงดึงดูดของโลก การนำเอาพลังงานน้ำมาใช้ประโยชน์ทำได้โดยให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ

.

พลังงานศักย์ของน้ำถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานจลน์ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนนี้คือ กังหันน้ำ (Turbines) น้ำที่มีความเร็วสูงจะผ่านเข้าท่อแล้วให้พลังงานจลน์แก้กังหันน้ำ ซึ่งหมุนขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กังหันน้ำจะแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ได้ 2 ประเภท คือกังหันน้ำประเภทหัวฉีด (Impulse Turbines) และกังหันน้ำประเภทอาศัยแรงปฏิกิริยา (Reaction Turbines) กังหันน้ำประเภทหัวฉีดเป็นแบบหมุนได้ด้วยแรงกระแทกจากน้ำที่พุ่งออกมาจากหัวฉีด            

.

เช่นกังหันน้ำเพลตัน กังหันน้ำประเภทอาศัยแรงปฏิกิริยาเป็นแบบที่ทำงานโดยอาศัยแรงดันของน้ำ ตัวกังหันทั้งหมดจมอยู่ในท่อ เช่น กังหันน้ำในฟรานซิส (Francis Turbines) กังหันน้ำแคเปลน (Kaplan Turbines) ในปัจจุบันพลังงานที่ได้จากแหล่งน้ำที่รู้จักกันโดยทั่วไปคือ พลังงานน้ำตก พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง และพลังงานคลื่น

.

1.พลังงานน้ำตก การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำนี้ทำได้โดยอาศัยพลังงานของน้ำตก ออกจากน้ำตามธรรมชาติ หรือน้ำตกที่เกิดจากการดัดแปลงสภาพธรรมชาติ เช่น น้ำตกที่เกิดจากการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ น้ำตกจากทะเลสาบบนเทือกเขาสู่หุบเขา กระแสน้ำในแม่น้ำไหลตกหน้าผา เป็นต้น การสร้างเขื่อนกั้นน้ำและให้น้ำตกไหลผ่านกังหันน้ำซึ่งติดอยู่บนเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากำลังงานน้ำที่ได้จะขึ้นอยู่กับความสูงของน้ำและอัตราการไหลของน้ำที่ปล่อยลงมา 

.

ดังนั้นการผลิตพลังงานจากพลังงานนี้จำเป็นต้องมีบริเวณที่เหมาะสมและการสร้างเขื่อนนั้นจะต้องลงทุนอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามจากการสำรวจคาดว่าทั่วโลกสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าจากกำลังน้ำมากกว่าพลังงานทดแทนประเภทอื่น  

.

2.พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง มีพื้นฐานมาจากพลังงานศักย์และพลังงานจลน์ของระบบที่ประกอบด้วยดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ จึงจัดเป็นแหล่งพลังงานประเภทใช้แล้วไม่หมดไป สำหรับในการเปลี่ยนพลังงานน้ำขึ้นน้ำลงให้เป็นพลังงานไฟฟ้า คือ เลือกแม่น้ำหรืออ่าวที่มีพื้นที่เก็บน้ำได้มากและพิสัยของน้ำขึ้นน้ำลงมีค่าสูงแล้วสร้างเขื่อนที่ปากแม่น้ำหรือปากอ่าว เพื่อให้เกิดเป็นอ่างเก็บน้ำขึ้นมา เมื่อน้ำขึ้นจะไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ และเมื่อน้ำลงน้ำจะไหลออกจากอ่างเก็บน้ำ การไหลเข้าออกจากอ่างของน้ำต้องควบคุมให้ไหลผ่านกังหันน้ำที่ต่อเชื่อมกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เมื่อกังหันน้ำหมุนก็จะได้ไฟฟ้าออกมาใช้งาน      

.

หลักการผลิตไฟฟ้าจากน้ำขึ้นน้ำลงมีหลักการเช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำตก แต่กำลังที่ได้จากพลังงานน้ำขึ้นน้ำลงจะไม่ค่อยสม่ำเสมอเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงขึ้นลงของน้ำ แต่อาจจัดให้มีพื้นที่กักน้ำเป็นสองบริเวณหรือบริเวณพื้นที่เดียว โดยการจัดระบบการไหลของน้ำระหว่างบริเวณบ่อสูงและบ่อต่ำ และกักบริเวณภายนอกในช่วงที่มีการขึ้นลงของน้ำอย่างเหมาะสม จะทำให้พลังงานที่ได้จากพลังงานน้ำขึ้นน้ำลงสม่ำเสมอดีขึ้น

.

3.พลังงานคลื่น เป็นการเก็บเกี่ยวเอาพลังงานที่ลม ถ่ายทอดให้กับผิวน้ำในมหาสมุทรเกิดเป็นคลื่นวิ่งเข้าสู่ชายฝั่งและเกาะแก่งต่าง ๆ เครื่องผลิตไฟฟ้าพลังงานคลื่นจะถูกออกแบบให้ลอยตัวอยู่บนผิวน้ำบริเวณหน้าอ่าวด้านหน้าที่หันเข้าหาคลื่น การใช้คลื่นเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น ถ้าจะให้ได้ผลจะต้องอยู่ในโซนที่มียอดคลื่นเฉลี่ยอยู่ที่ 8 เมตร ซึ่งบริเวณนั้นต้องมีแรงลมด้วย  

.

แต่จากการวัดความสูงของยอดคลื่นสูงสุดในประเทศไทยที่จังหวัดระนองพบว่า ยอดคลื่นสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 4 เมตรเท่านั้น ซึ่งก็แน่นอนว่าด้วยเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานคลื่นในปัจจุบันนั้นยังคงไม่สามารถใช้ในบ้านเราให้ผลจริงจังได้

.
ประโยชน์ของพลังงานน้ำ
พลังงานน้ำ มีประโยชน์หลายอย่างในการนำมาใช้ประโยชน์หลัก ๆ มีดังนี้

* พลังงานน้ำเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไม่หมดสิ้น คือเมื่อใช้พลังงานของน้ำส่วนหนึ่งไปแล้ว น้ำส่วนนั้นก็จะไหลลงสู่ทะเลและน้ำในทะเลเมื่อได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ก็จะระเหยกลายเป็นไอน้ำ เมื่อไอน้ำรวมตัวเป็นเมฆจะตกลงมาเป็นฝนหมุนเวียนกลับมาทำให้เราสามารถใช้พลังงานน้ำได้ตลอดไปไม่หมดสิ้น 

.

* เครื่องกลพลังงานน้ำสามารถเริ่มดำเนินการผลิตพลังงานได้ในเวลาอันรวดเร็ว และควบคุมให้ผลิตกำลังงานออกมาได้ใกล้เคียงกับความต้องการ อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงมาก ชิ้นส่วนของเครื่องกลพลังงานน้ำส่วนใหญ่จะมีความคงทน และมีอายุการใช้งานนานกว่าเครื่องจักรกลอย่างอื่น 

.

* เมื่อนำพลังงานน้ำไปใช้แล้ว น้ำยังคงมีคุณภาพเหมือนเดิมทำให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีก เช่น เพื่อการชลประทาน การรักษาระดับน้ำในแม่น้ำให้ไหลลึกพอแก่การเดินเรือ เป็นต้น 

.

* การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บและทดน้ำให้สูงขึ้น สามารถช่วยกักน้ำเอาไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีฝนตก ทำให้ได้แหล่งน้ำขนาดใหญ่สามารถใช้เลี้ยงสัตว์น้ำหรือใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ และยังช่วยรักษาระบบนิเวศของแม่น้ำได้โดยการปล่อยน้ำจากเขื่อนเพื่อไล่น้ำโสโครกในแม่น้ำที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังสามารถใช้ไล่น้ำเค็มซึ่งขึ้นมาจากทะเลก็ได้ 

.

แต่พลังงานน้ำมีข้อเสียบางประการ เช่น การพัฒนาแหล่งพลังงานน้ำต้องใช้เงินลงทุนสูง และยังทำให้เสียพื้นที่ของป่าไปบางส่วน นอกจากนี้พลังงานน้ำยังมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น เช่น หน้าแล้งหรือกรณีที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และมักเกิดปัญหาในเรื่องการจัดหาบุคลากรไปปฏิบัติงาน รวมทั้งการซ่อมแซม บำรุงรักษาสิ่งก่อสร้าง และอุปกรณ์ต่าง ๆ จะไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะสถานที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน 

.
เขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ 

น้ำเป็นสารประกอบที่เกิดจากไฮโดรเจนและออกซิเจนมีสถานะเป็นของเหลวมีมากในทะเลและมหาสมุทร เมื่อได้รับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ จะเปลี่ยนสถานะเป็นไอน้ำ และลอยตัวสูงขึ้นกลายเป็นเมฆซึ่งจะถูกลมหอยเข้าสู่แผ่นดิน เมื่อเมฆนี้ลอยขึ้นสูงสู่ยอดเขา ไอน้ำนี้จะขยายตัวและเย็นตัวลงทำให้เกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ตกสู่ผิวดินไหลไปตามร่องน้ำธรรมชาติของผิวดิน จนกลับลงสู่ทะเล และมหาสมุทรต่อไปจนครบวงจร แต่จะมีน้ำบางส่วนไหลซึมลงดิน แล้วไหลต่อไปจนถึงทะเล น้ำที่ไหลตามผิวดินจะมีพลังงานอยู่ในตัว 3 รูปแบบ คือ 

.

ก) พลังงานศักย์ เกิดจากระดับความสูงของน้ำระหว่างจุดที่น้ำพักอยู่ กับจุดที่น้ำจะไหลลงสู่เบื้องล่าง
ข) พลังงานความดัน เป็นพลังงานน้ำสามารถเคลื่อนที่ผ่านบริเวณที่มีความดันได้
ค) พลังงานจลน์ เป็นพลังงานที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของน้ำด้วยความเร็วค่าหนึ่ง 

.

การไหลของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เราจะสังเกตได้ว่า น้ำจะมีการไหลเร็ว และไหลเชี่ยวขึ้น ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานจลน์ที่เกิดขึ้นนี้ได้โดยเปลี่ยนเป็นพลังงานกล หรือพลังงานไฟฟ้าโดยจะต้องมีเครื่องจักรกลที่เหมาะสม และมีวิธีการที่ถูกต้องจึงจะสามารถนำพลังงานนี้มาใช้ประโยชน์ได้ การพัฒนาแหล่งพลังน้ำขนาดใหญ่ในประเทศไทยเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2507

.

โดยการสร้างเขื่อนภูมิพลที่จังหวัดตาก ซึ่งออกแบบให้มีกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด 535 เมกะวัตต์ มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 316 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่รับน้ำ 26,386 ตารางกิโลเมตร ต่อมาปี พ.ศ.2517 ได้สร้างเขื่อนสิริกิติ์ ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ มีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 375 เมกะวัตต์ มีพื้นที่ของอ่างเก็บน้ำ 259.6 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่รับน้ำ 13,130 ตารางกิโลเมตร

.

นอกจากนี้ยังมีแหล่งพลังน้ำขนาดกลาง และขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ซึ่งเป็นภูเขามีลำน้ำไหลผ่านตามหุบเขา ซึ่งถ้าท้องน้ำมีการเปลี่ยนระดับได้มากในช่วงระยะทางสั้น ๆ ก็จะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการที่จะพัฒนาเป็นแหล่งน้ำต่อไป 

.

หลักการของการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำคือการเปลี่ยนแปลงสภาพของน้ำจากสถานะพลังงานศักย์เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยอาศัยความแตกต่างของระดับน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนมาใช้หมุนกังหันน้ำและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในระหว่างกระบวนการเปลี่ยนสภาพพลังงานขั้นต่าง ๆ ที่แสดงไว้นี้จะมีความสูญเสีย (Loss) ต่าง ๆ ของพลังงานเกิดขึ้น เช่น ความสูงของหัวน้ำ, ความเร็วของน้ำ, ความฝืด, การรั่วไหลของน้ำ, การสั่นสะเทือน, การเสียดสีระหว่างเพลากับแบริ่ง ฯลฯ สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เมื่อหักความสูญเสียต่าง ๆ เหล่านี้ออกแล้วจะได้พลังงานสุทธิ

.
ประเภทของเขื่อน 
การแบ่งประเภทของเขื่อนโดยใช้วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นหลักสามารถแบ่งออกได้ดังนี้คือ 

1. เขื่อนกราวิตี้ (Gravity Dam) มีลักษณะรูปหน้าตัดเป็นสามเหลี่ยม มีความลาดชันด้านหน้าเขื่อน 0-0.3 การลาดชันด้านหลังเขื่อน 0.75–0.85 ซึ่งการออกแบบจะให้มีความลาดชันมากน้อยเท่าใด จะต้องพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ คือ การยุบตัว การเลื่อนของเขื่อน ซึ่งอาจเกิดจากแรงภายนอก เช่น แรงดันจากน้ำแข็ง แรงจากโคลนตม เป็นต้น          

.

เขื่อนแบบนี้อาศัยน้ำหนักคอนกรีตของตัวเขื่อนรองรับต่าง ๆ ที่กระทำบนเขื่อน ตัวเขื่อนจะต้องหนาใหญ่ ต้องใช้คอนกรีตมาก ข้อดีของเขื่อนชนิดนี้คือ การออกแบบง่าย การติดตั้งเครื่องมือเครื่องจักรสะดวก สามารถทำให้คงอยู่ในสภาพดี มีความปลอดภัยสูง ส่วนข้อเสียคือ จะต้องใช้หินที่ดีในการทำรากฐานเขื่อน ต้องใช้วัสดุเป็นจำนวนมาก ค่าขนส่งสูง มีปริมาณงานมากทำให้ค่าก่อสร้างสูง 

.

2. เขื่อนโค้ง (Arch Dam) มีลักษณะเป็นรูปโค้ง อาศัยแรงกดของความโค้งจากตัวเขื่อนรับแรงต่าง ๆ ที่กระทำบนเขื่อนแล้วถ่ายแรงเหล่านี้ ไปยังฐานเขื่อน และบนฐานเขื่อน การสร้างเขื่อนชนิดนี้ คิดคำนวณจากสูตรทรงกระบอกธรรมดา มีความสูงเกินกว่า 60 เมตร ส่วนมากจะก่อสร้างตรงจุดที่มีพื้นที่หน้าตัดแคบ และมีหินรากฐานที่แข็งแรง    

.

แต่ลักษณะพื้นที่เช่นนี้หายาก จึงจำเป็นต้องมีการปรับฐานรากให้มีความแข็งแรงขึ้นก่อนแล้วจึงสร้างเขื่อนขึ้นภายหลัง ตัวเขื่อนใช้คอนกรีตน้อยและบางกว่า จึงทำให้ราคาค่าก่อสร้างถูกกว่าเขื่อนกราวิตี้ ข้อเสียของเขื่อนชนิดนี้คือ การออกแบบและการดำเนินงานก่อสร้างยุ่งยาก การก่อสร้างทางน้ำล้นในตัวเขื่อนทำได้ยากกว่าแบบอื่น 

.

3. เขื่อนกลวงหรือเขื่อนครีบ (Hollow or Buttress Dam) มีลักษณะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ด้านหน้าจะมีผนังกั้นน้ำอาจเป็นแบบเรียบ หรือแบบโค้งก็ได้ ด้านหลังเป็นคอนกรีตค้ำผนังกั้นน้ำจะเป็นตัวรับแรงดันของน้ำ แล้วถ่ายแรงไปยังฐานรากเขื่อน ชนิดนี้ใช้ปริมาณคอนกรีตน้อยกว่าเขื่อนกราวิตี้ 20 - 30 % จึงทำให้ราคาถูกแต่ความปลอดภัยจะลดน้อยลง และไม่นิยมสร้างให้มีความสูงมากนัก 

.

4. เขื่อนถม (Embankment Dam) เป็นเขื่อนที่สร้างด้วยราคาค่อนข้างประหยัด เพราะสามารถหาวัสดุที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติในที่ที่ก่อสร้างได้ เช่น หิน ทราย ดินเหนียว ฐานรากของเขื่อนไม่จำเป็นต้องปรับสภาพให้ดีเท่ากับเขื่อนคอนกรีต แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 

.

* เขื่อนหินถม (Rock Fill Dam) ประกอบด้วยหินเป็นส่วนใหญ่ โดยจะมีผนังกั้นน้ำซึมทั้งด้านเหนือน้ำ และด้านท้ายน้ำ ซึ่งจะเป็นผนังคอนกรีตหรือดินก็ได้ แต่เนื่องจากหินที่นำไปถมเขื่อน จะจมอัดลงไปกับผนังกั้นน้ำซึมนี้ จึงนิยมใช้เป็นแบบดินเหนียวมากกว่า และทางด้านเหนือน้ำมักนิยมใช้วัสดุที่สามารถปรับตัวได้เช่น แอสฟัลท์ 

.

สำหรับการออกแบบเขื่อนถมหินนี้ จะต้องพิจารณาความมั่นคงของความลาดของเขื่อน ความปลอดภัยในด้านการเลื่อน การอัดและการจมของวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง การซึมของน้ำผ่านผนังกันซึม การเก็บกักน้ำไว้ในอ่างจะต้องไม่ล้นอ่าง ค่าใช้จ่ายในการสร้างทางน้ำล้น และอุโมงค์จะสูงเมื่อเทียบกับเขื่อนประเภทอื่น เพราะไม่สามารถสร้างทางน้ำล้นในตัวเขื่อนได้ เพื่อเป็นการประหยัดควรพยายามหาทางใช้วัสดุที่ขุดออกมาเพื่อก่อสร้างอุโมงค์ และส่วนประกอบของเขื่อน ในการสร้างตัวเขื่อนให้ได้มากที่สุด 

.

* เขื่อนดิน (Earth Dam) คือ เขื่อนที่ใช้ดินถมเป็นส่วนใหญ่ มีแกนกลางของเขื่อนเป็นดินเหนียว มีคุณสมบัติ และลักษณะการออกแบบคล้ายกับเขื่อนถมดิน 

.

ตัวเขื่อน จะมีลักษณะต่างกัน แล้วแต่ชนิดของเขื่อน เช่น
* เขื่อนดาดหน้าคอนกรีต ตัวเขื่อนจะประกอบด้วยหิน ด้านเหนือน้ำจะเป็นคอนกรีต ซึ่งมีความลาดชัน 1: 1.3 ส่วนด้านท้ายน้ำจะมีความลาดชัน 1: 1.4 เช่น เขื่อนเขาแหลม
* เขื่อนดิน ตัวเขื่อนจะมีความลาดชันด้านเหนือน้ำ 1: 3 ด้านท้ายน้ำ 1: 2.5 เช่น เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแก่งกระจาน
* เขื่อนหิน มีลักษณะแกนกลางเป็นดินเหนียว รอบนอกเป็นหิน มีความลาดชันด้านเหนือน้ำ 1: 2 ด้านท้ายน้ำ 1: 1.8 เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเชี่ยวหลาน

.
การวางแผนสร้างเขื่อน 

การวางแผนสร้างเขื่อน จะต้องพยายามใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำบริเวณที่สร้างเขื่อนให้ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยศึกษาและสำรวจหาความสามารถสูงสุดของแหล่งน้ำดังต่อไปนี้

.

1. ลักษณะภูมิประเทศ (Topography)
2. อุทกวิทยา และอุตุนิยมวิทยา (Hydrology and Meteorology)
3. ธรณีวิทยา และฐานราก (Geology and Foundation)
4. วัสดุก่อสร้าง (Construction Materials)
5. ระบบไฟฟ้าที่มีอยู่ (Existing Power System)
6. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment Impact)

.

เมื่อได้รวบรวมข้อมูลและทำการศึกษารายละเอียดตามรายการทั้ง 6 ข้อที่กล่าวมาแล้ว ก็สามารถจะประมวลเป็นโครงการแล้วทำการศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมเศรษฐศาสตร์ และการเงินของโครงการ เพื่อการติดสินใจดำเนินการเป็นขั้น ๆ ต่อไป

.
ชนิดของเขื่อนแบ่งตามลักษณะการใช้งาน 
แบ่งออกได้ดังนี้ 

1. เขื่อนรับน้ำ (Intake Dam) สร้างเพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น และรับน้ำจากลำน้ำเข้าสู่โรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า แล้วไหลลงสู่ลำน้ำตามเดิม ได้แก่ เขื่อนปากมูล และเขื่อนหรือฝายของโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กต่าง ๆ เช่น บ้านยาง บ้านขุนกลาง บ้านสันติ ฯลฯ เป็นต้น 

.

2. เขื่อนเก็บกักน้ำ (Storage Dam) ใช้วิธีการเก็บกักน้ำไว้ในอ่าง แล้วควบคุมการปล่อยน้ำให้เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนเขาแหลม เขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลาง ฯลฯ เป็นต้น 

.

3. เขื่อนบังคับน้ำ (Regulating Dam) สร้างขึ้นเพื่อควบคุมปริมาณน้ำทางด้านน้ำให้เพียงพอที่เขื่อนรับน้ำจะยกระดับผันเข้าคลองส่งน้ำสำหรับการชลประทาน เช่น เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนเพชรบุรี เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนนเรศวร ฯลฯ เป็นต้น สำหรับเขื่อนบังคับน้ำแห่งแรกที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ คือ เขื่อนท่าทุ่งนา 

.

4. เขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อสูบน้ำกลับ (Pumped Storage Dam) สร้างขึ้นเพื่อทำอ่างเก็บน้ำเมื่อปล่อยน้ำออกแล้วสูบกลับ เขื่อนประเภทนี้ อาจจะไม่ต้องสร้างขวางทางน้ำ หน้าที่ที่สำคัญก็คือคอยเก็บน้ำไว้ปล่อยเพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการสูง และในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าต่ำ ก็จะสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนล่างขึ้นไปเก็บไว้ยังอ่างเก็บน้ำตอนบนตามเดิม และนำน้ำนั้นมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าอีกครั้งในช่วงที่มีความต้องการสูงสุดของแต่ละวัน

.
ชนิดของโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบ่งตามปริมาณน้ำ 

1. แบบไม่มีอ่างเก็บน้ำ (Run of River) โรงไฟฟ้าชนิดนี้ใช้ประโยชน์ของน้ำที่ไหลตามลำห้วย ลำธาร สร้างเขื่อนเล็ก ๆ หรือฝายขวางลำน้ำ บังคับน้ำให้ไหลไปตามท่อ หรือทำรางส่งน้ำ ใช้ความดันของน้ำจากที่สูงหมุนกังหันซึ่งต่อแกนกับเครื่องกำเนิด ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ปริมาณน้ำไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล

.

2. แบบมีอ่างเก็บน้ำ (Storage Regulation Development) เป็นโรงไฟฟ้าขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ และพัฒนาให้เป็นแบบอเนกประสงค์ โรงไฟฟ้าชนิดใช้เป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า น้ำจะถูกเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนให้มีปริมาณเพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอ 

.

3. แบบสูบน้ำกลับ (Pumped Storage Plant) โรงไฟฟ้าแบบสูบน้ำกลับเป็นโรงไฟฟ้าที่มีอ่างเก็บน้ำสองส่วน คืออ่างเก็บน้ำบนและล่าง โรงไฟฟ้าจะเป็นตัวเชื่อม ในขณะที่ผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงก็จะปล่อยน้ำให้หมุนกังหันและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และเมื่อใดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำหรือลดลง ก็จะใช้กำลังงานไฟฟ้าที่เหลือจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับปั้มน้ำขนาดใหญ่เพื่อสูบน้ำจากอ่างล่างกลับขึ้นไปเก็บไว้ที่ด้านบน เพื่อใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

.
ส่วนประกอบของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

1. อาคารรับน้ำ (Power Intake) คืออาคารที่อยู่ด้านล่างหลังเขื่อน ตัวอาคารจะมีท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปดันกังหันและหมุนเครื่องกำเนิดภายในอาคารจะมีห้องควบคุมน้ำและควบคุมระบบการผลิตไฟฟ้า 

.

2. อุโมงค์เหนือน้ำ (Headrace) เป็นช่องที่น้ำไหลเข้ามายังท่อส่งน้ำอยู่ภายในตัวเขื่อน
3. ตะแกรง (Screen) เป็นตะแกรงเหล็ก มีไว้สำหรับป้องกันท่อนไม้ เศษไม้ หรือวัตถุอื่นใดที่จะเข้าไปอุดตันท่อนำน้ำ หรือทำความเสียหายให้กับกังหัน ตะแกรงนี้จะต้องมีช่องให้พอดีที่จะทำให้ปริมาณน้ำไหลผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

.

4. ท่อส่งน้ำ (Penstack) เป็นท่อรับน้ำอยู่ในตัวเขื่อนหรือรับน้ำจากเขื่อน แล้วลดระดับให้ต่ำลงเพื่อทำให้น้ำมีแรงดันหมุนกังหัน
5. ท่อรับน้ำ (Draft Tube) เป็นท่อรับน้ำที่อยู่ส่วนหลังของกังหัน เพื่อนำน้ำที่ผ่านกังหันส่งออกไปยังท้ายน้ำ 

.

6. อาคารลดแรงดันน้ำ (Surge Tank) เป็นอาคารหรือถังน้ำขนาดใหญ่ สร้างขึ้นอยู่ระหว่างตัวเขื่อนกับอาคารรับน้ำเพื่อลดแรงดัน หรือแรงดันของน้ำไม่ให้เกิดอันตรายกับท่อหรือหัวฉีดน้ำ แต่โรงไฟฟ้าบางชนิดที่ตั้งใกล้กับตัวเขื่อนก็ไม่ต้องมีอาคารลดแรงดันน้ำ 

.

7. หัวฉีดน้ำ (Jet Water) เป็นปลายทางของท่อส่งน้ำที่ไปยังกังหัน หัวฉีดน้ำจะทำให้น้ำที่ไหลตามท่อมีแรงดันสูงขึ้นลักษณะของหัวฉีดน้ำประกอบด้วยหัว และเข็มฉีดน้ำประกอบกันเหมือนกรวยซ้อนกันเมื่อปลายหัวฉีดเลื่อนมาใกล้ปากท่อรูจะเล็ก เมื่อถอยหัวเข็มออก รูหัวฉีดจะโตขึ้น 

.

8. ประตูน้ำ (Wicket Gate) เป็นบานประตูที่ควบคุมการไหลของน้ำ สามารถปิดหรือเปิดให้น้ำไหลผ่านเข้าไปยังท่อส่งน้ำเพื่อให้มีแรงดันไปหมุนกังหัน

.

.

9. กังหัน (Turbine) เป็นตัวรับแรงกระทำของน้ำที่ใช้แรงดันมาฉีดหรือผลักดันให้หมุน และต่อแกนอยู่กับเครื่องกำเนิด ผลิตไฟฟ้าออกมา 

10. เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เป็นเครื่องกลไฟฟ้าที่เปลี่ยนพลังงานกล ที่ได้รับจากต้นกำลังมาเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยใช้หลักการของขดลวดตัดผ่านสนามแม่เหล็ก

.

11. หม้อแปลง (Transformer) เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่แปลงแรงดันไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเครื่องกำเนิดให้เป็นแรงดันสูงส่งเข้าระบบส่งจ่ายไฟฟ้าเป็นระยะทางไกลไปให้กับศูนย์กลางผู้ใช้ไฟฟ้า

.

.
12. ทางน้ำล้น (Spillway) คือทางระบายน้ำออกในอ่างเก็บน้ำในกรณีที่น้ำมีระดับสูงมาก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมล้นตัวเขื่อน
.
กังหันน้ำ (Water Turbine) 

กังหันน้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดของโรงไฟฟ้า เพราะกังหันจะเป็นตัวรับการกระทำจากต้นกำลังมาเป็นพลังงานกลเพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าออกมา กังหันน้ำแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ 

.
1. กังหันแบบแรงกระแทก (Impulse Turbine)

กังหันแบบแรงกระแทกเป็นกังหันที่หมุนโดยอาศัยแรงฉีดของน้ำจากท่อส่งน้ำที่รับน้ำจากที่สูง หรือหัวน้ำสูง ไหลลงมาตามท่อที่ลดขนาดลงมายังหัวฉีดกระแทกถังหันไม่หมุน และต่อแกนกับเครื่องกำเนิดผลิตไฟฟ้าออกไป กังหันแบบแรงกระแทกแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ 

.

1. แบบใช้กับหัวน้ำต่ำกำลังผลิตน้อยใช้แบบแบงกี (Banki Type)
2. แบบใช้กับหัวน้ำปานกลาง ใช้แบบเทอร์โก (Turgo Type)
3. แบบใช้กับหัวน้ำสูงกำลังผลิตมาก ใช้แบบเพลตัน (Pelton Type)

.

กังหันเพลตัน ใช้กันมากในกรณีที่หัวน้ำมีแรงดันสูง ด้วยเหตุนี้ส่วนมากจึงใช้แกนนอนแต่ยังมีบางส่วนที่ใช้ในแกนตั้ง ที่ใบพัดจะมีถ้วย (Bucket) หลาย ๆ ใบติดอยู่กับตัวแกนแผ่นจาน (Disk) ถ้วยเหล่านี้จะรับน้ำจากหัวฉีด โดยแบ่งน้ำไปทางซ้ายและขวาด้วยสันแนวที่อยู่ตรงกลางของถ้วย ถ้วยที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมี 2 แบบ แบบหนึ่งใช้ติดกับแผ่นจาน โดยการยึดไว้ด้วยสลักเกลียว อีกแบบหนึ่งใช้วิธีหล่อติดกับแผ่นจาน ที่ท่อส่งน้ำตรงหัวฉีดจะมีเข็ม (Needle) สำหรับปรับปริมาตรของน้ำให้มีความดันมากขึ้นหรือลดลง ทำให้สามารถปรับความเร็วการหมุนของกังหันได้

.
2 กังหันแบบแรงสะท้อน (Reaction Turbine)

กังหันแบบแรงสะท้อนเป็นกังหันที่หมุนโดยใช้แรงดันของน้ำที่เกิดจากความต่างระดับของน้ำด้านหน้าและด้านท้ายของกังหันกระทำต่อใบพัด ระดับด้านท้ายน้ำจะอยู่สูงกว่าระดับบนของปลายท่อปล่อยน้ำออกเสมอ กังหันชนิดนี้เหมาะกับอ่างเก็บน้ำที่มีความสูงปานกลางและต่ำ กังหันแรงสะท้อน แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ 

.

1. กังหันฟรานซิส (Francis Turbine) เป็นกังหันแบบที่ใช้การไหลช้าของปริมาณน้ำในใบพัดเป็นแบบแฉกและไหลออกขนานกับแกน ซึ่งแสดงว่ามีการเปลี่ยนทิศทางการไหลในขณะผ่านใบพัด กังหันฟรานซิสมีทั้งแบบแกนนอนและแกนตั้ง 

.

.

กังหันฟรานซิส (Francis Turbine)

.

2. กังหันเดเรียซ (Deriaz Turbine) หรือกังหันแบบที่มีการไหลของน้ำในทิศทางทแยงมุมกับแกน กังหันแบบนี้ใช้กับกรณีที่มีหัวน้ำสูง ส่วนของใบพัดจะเคลื่อนที่ได้เมื่อมีน้ำไหลผ่าน และมีลักษณะคล้าย ๆ กับกังหันฟรานซิส 

.

3. กังหันคาปลาน (Kaplan Turbine) หรือกังหันแบบใบพัด น้ำจะไหลผ่านใบพัดในทิศทางขนานกับแกนของกังหัน ใช้กับงานที่มีหัวน้ำต่ำ ใบพัดของกังหันคาปลานเป็นใบพัดที่สามารถปรับได้ตามมุมของซี่ใบพัดโดยอัตโนมัติตามแรงอัดหรือแรงฉีดแรงน้ำ โดยจะสัมพันธ์กับความแรงที่หัวฉีดน้ำซึ่งประกอบด้วยลูกเบี้ยว (Cam) ชุดควบคุมความเร็ว (Speed Governor) ช่องนำน้ำ (Guide Vane) และมุมของซี่ใบพัด (Runner Blade) เช่นเดียวกันกับกังหันชนิดอื่น ๆ ถ้าต้องการเพิ่มความเร็วและความแรงของน้ำ ก็ทำท่อป้อนน้ำเป็นรูปหอยโข่ง โดยทำท่อด้านรับน้ำเข้าให้ใหญ่และเรียวเล็กลงตามลำดับ

.
การเลือกแบบของเครื่องกังหันน้ำ

การเลือกแบบของเครื่องกังหันน้ำในขั้นต้น พิจารณาได้จากความสัมพันธ์ของหัวน้ำและกำลังผลิตของกังหันแบบต่าง ๆ แต่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ด้วย โดยทั่วไปเครื่องกังหันน้ำแบบฟรานซิส เพราะก่อสร้างได้ง่าย มีความเชื่อถือสูง นิยมใช้กันมาก ในกรณีที่หัวน้ำสูงมากโดยทั่ว ๆ ไปใช้แบบเพลตัน และถ้าหัวน้ำต่ำก็ใช้เครื่องกังหันแบบคาปลาน     

.

.
ในการเลือกใช้เครื่องกังหันน้ำอาจเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งก็ได้ ซึ่งควรจะนำมาพิจารณาประกอบได้ดังนี้ 
ในกรณีหัวน้ำสูง การเลือกกังหันเพลตันหรือฟรานซิส ควรพิจารณาประกอบ คือ 

1. ค่าระดับน้ำหลากทางท้ายน้ำสูง กังหันเพลตันไม่สามารถใช้หัวน้ำ ใต้ระดับของเครื่องกังหันให้เป็นประโยชน์ได้
2. เมื่อต้องการเดินเครื่องที่มีโหลดต่ออยู่มาก กังหันเพลตันแบบใช้หัวฉีดหลายอันจะให้ประสิทธิภาพสูงกว่า
3. กังหันฟรานซิส มีความเร็วรอบสูง และสามารถปรับความเร็วรอบตามขนาดของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ ทำให้เลือกใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีราคาต่ำได้ 

.

4. ถ้าท่อส่งน้ำมีความยาวและลาดชัดน้อย ควรใช้กังหันเพลตันเพราะค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างท่อส่งน้ำต่ำ เนื่องจากความดันดันในขณะปิดท่อส่งน้ำในทันที่ที่ต่ำ (Sudden Shut Down)
5. ในกรณีที่น้ำไหลช้า มักจะนิยมใช้กังหันเพลตัน เพราะสามารถตรวจสอบใบพัดและบำรุงรักษาได้ง่าย
6. กังหันฟรานซิสจะมีค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าสูงกว่า เพราะต้องเพิ่มงานชุดมากกว่า แต่ราคาของกังหันฟรานซิสจะถูกกว่ากังหันเพลตัน 

.

กรณีหัวน้ำต่ำ การเลือกกังหันคาปลานหรือกังหันฟราสซิส ควรพิจารณาคือ
1. เมื่อหัวน้ำเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ควรเลือกใช้กังหันคาปลาน
2. กังหันคาปลานความเร็วสูง ทำให้ราคาของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่ำ แต่ต้องลดระดับท่อปล่อยน้ำให้ต่ำ ซึ่งทั้งนี้ท่อน้ำเข้ากังหันจะต้องใหญ่ขึ้น จึงทำให้ค่าใช้จ่ายด้านงานโยธาสูงขึ้น
3. การบำรุงรักษา กังหันฟรานซิส ง่ายและสะดวกเพราะก่อสร้างแบบง่าย ๆ ราคาของเครื่องกังหันก็ถูกกว่ากังหันคาปลาน

.
หัวน้ำ (Head) 

การใช้เครื่องกังหันน้ำจะต้องคำนึงถึงกำลังผลิตและหัวน้ำ รวมทั้งความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อพิจารณาเลือกเครื่องกังหันน้ำที่เหมาะสม ความสูงหัวน้ำของเครื่องกังหันฟรานซิสในระยะต่าง ๆ กัน 

.

1. หัวน้ำรวม (Gross Head) คือความสูงแตกต่างระหว่างระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำและระดับน้ำท้ายโรงไฟฟ้า
2. หัวน้ำสุทธิ (Net Head) คือหัวน้ำรวมหักค่าความสูญเสียทางด้านชลศาสตร์ทั้งหมดแล้ว 

.

3. หัวน้ำออกแบบ (Design Head) คือหัวน้ำสุทธิที่เครื่องกังหันน้ำเดินเครื่องประสิทธิภาพสูงสุดในความเร็วที่ออกแบบโดยปกติ หัวน้ำออกแบบจะมีค่าใกล้กับหัวน้ำเฉลี่ย 

.

4. หัวน้ำควบคุม (Rated Head) คือหัวน้ำที่เครื่องกังหันน้ำเดินเครื่องให้กำลังไฟฟ้าเท่าที่ออกแบบในขณะที่บานประตูเครื่องกังหันน้ำเปิดให้น้ำไหลผ่านเต็มที่

.

5. หัวน้ำต่ำสุด (Minimum Head) คือความสูงแตกต่างของระดับน้ำต่ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำท้ายโรงไฟฟ้าเมื่อเปิดเครื่องกังหันน้ำทุกเครื่องเต็มที่

.

6. หัวน้ำเฉลี่ย (Weight Average Head) คือความสูงแตกต่างของระดับน้ำเฉลี่ยในอ่างเก็บน้ำและระดับน้ำท้ายโรงไฟฟ้า ซึ่งค่าระดับน้ำดังกล่าวเป็นผลจากการเดินเครื่องกังหันน้ำในระยะยาว 

.
ข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 

1. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่ำ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ด้วยราคาถูก ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม บำรุงรักษาต่ำ อายุการใช้งานนานประมาณ 50 ปีขึ้นไป

.

2. สามารถเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทันที ใช้เวลาจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ภายในเวลา 4–5 นาที การเพิ่มหรือลดพลังงานทำให้รวดเร็ว สามารถจัดให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง โดยไม่เสียประสิทธิภาพ 

.

3. โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำส่วนใหญ่เป็นโครงการอเนกประสงค์ โดยน้ำที่กักเก็บไว้ในอ่างน้ำ นอกจากใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ยังใช้ในการชลประทาน การบรรเทาอุทกภัย การคมนาคมทางน้ำ การประมงน้ำจืด การประปา ฯลฯ

.

4. ไม่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ไม่มีควันเสีย, เขม่า หรือก๊าซพิษ ค่าเก็บรักษาเชื้อเพลิง ค่ากำจัดของเสียจึงไม่มี
5. ไม่มีพลังงานสูญเสียในการสำรองใช้งาน 

.

6. มีความแน่นอนในการใช้งาน ประสิทธิภาพของโรงจักรไฟฟ้าไม่เปลี่ยนแปลงมากตามอายุการใช้งาน เพราะเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนด้วยความเร็วต่ำ อุณหภูมิใช้งานต่ำ การออกแบบอุปกรณ์ไฟฟ้าไม่ยุ่งยาก ข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นน้อย ในแต่ละปีจะหยุดเครื่องเพื่อตรวจซ่อมน้อยครั้ง จึงมีความแน่นอนในการใช้งาน 

.

7. ใช้จำนวนบุคลากรปฏิบัติการเกี่ยวกับการเดินเครื่องไม่มากนำ
8. ราคาที่ดินถูก เพราะตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน
9. ไม่ต้องเสียเวลาในการอุ่นเครื่องก่อนที่จะจ่ายกำลังไฟฟ้าเหมือนโรงไฟฟ้า พลังไอน้ำ ซึ่งต้องการเวลาต้มน้ำให้ได้อุณหภูมิ และความกดดันตามกำหนด

 .
10. ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าอยู่ในเกณฑ์ดี
11. การใช้กังหันน้ำแบบต่าง ๆ ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
.
ข้อเสียของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ

1. การลงทุนในระยะแรกตอนสร้างโรงไฟฟ้าและเขื่อนสูงมาก 
2. ใช้เวลานานประมาณ 4–5 ปี ในการสำรวจหาบริเวณที่ตั้ง และระยะเวลาในการก่อสร้าง
3. การผลิตไฟฟ้าขึ้นอยู่กับสภาวะของน้ำฝนที่จะตกลงสู่อ่างเก็บน้ำ ซึ่งไม่ค่อยแน่นอน ถ้าปีใดฝนน้อย อาจมีปัญหาในการผลิตไฟฟ้าได้
4. อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ป่าไม้ ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน โบราณวัตถุ ฯลฯ
5. ส่วนมากโรงไฟฟ้าจะอยู่ห่างไกลจากชุมชนอยู่ห่างไกล จากศูนย์กลางการใช้ไฟฟ้า (Load Center) ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในเรื่องของสายส่งไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีพลังงานสูญเสียในสายส่งด้วย 

.
บทสรุป

ในปัจจุบันประเทศไทยใช้ไฟฟ้าจากการผลิตด้วยพลังงานน้ำประมาณร้อยละ 5-6 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ แต่พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานน้ำเป็นเพียงแหล่งผลิตไฟฟ้าเสริมให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าปกติ เนื่องจากโรงไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีความสามารถในการเดินเครื่องได้รวดเร็วและสามารถหยุดเดินเครื่องได้ตลอดเวลา ทำให้มีความยืดหยุ่นในการผลิตไฟฟ้าสูง ซึ่งต่างกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงที่ต้องใช้เวลานานในการเริ่มเดินเครื่อง

.

ปัญหาด้านการจัดหาพลังงานในปัจจุบันกำลังเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งและส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาวะเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการขาดแคลนน้ำมัน ทำให้น้ำมันมีราคาสูงขึ้น พลังงานจากน้ำซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีมานาน ยังคงมีประสิทธิภาพสูง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมากกว่าปกติ หรือเรียกว่าเป็นแหล่งพลังงานสำรองที่สำคัญ

.

หากแต่ในบางครั้งยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากพลังงานน้ำ ต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก อีกทั้ง การสร้างเขื่อนยังทำให้เสียพื้นที่ป่าบางส่วน ยังเป็นข้อดีเพื่อช่วยให้การชลประทานมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนาจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพของพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมดสิ้นได้ต่อไป

..
.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด