เนื้อหาวันที่ : 2009-07-30 19:15:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3773 views

เมื่อโลกร้อนมาเยือน สัญญาณเตือนที่มนุษย์มิอาจนิ่งเฉย

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) คือการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก เพิ่มขึ้นจากผลของภาวะเรือนกระจก หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Greenhouse Effect มีต้นเหตุจากการที่มนุษย์เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ พร้อม ๆ กับการตัดและทำลายป่าไม้จำนวนมหาศาลเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์

ธิระศักดิ์ เสภากล่อม

.

 .

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) คือการที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากผลของภาวะเรือนกระจก หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า Greenhouse Effect โดยภาวะโลกร้อน ซึ่งมีต้นเหตุจากการที่มนุษย์ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ การขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม      

 .

นอกจากนั้นมนุษย์เรายังได้เพิ่มก๊าซกลุ่มไนตรัสออกไซด์ และคลอโรฟลูโรคาร์บอน (CFC) เข้าไปอีกด้วยพร้อม ๆ กับการที่เราตัดและทำลายป่าไม้จำนวนมหาศาลเพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ ทำให้กลไกในการดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศถูกลดทอนประสิทธิภาพลง และในที่สุดสิ่งต่าง ๆ ที่เราได้กระทำต่อโลกได้หวนกลับมาสู่เราในลักษณะของภาวะโลกร้อน

 .

พลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีทั้งรังสีคลื่นสั้นและคลื่นยาว บรรยากาศของโลกทำหน้าที่ปกป้องรังสีคลื่นสั้นไม่ให้ลงมาทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลกได้ โมเลกุลของก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจนในบรรยากาศชั้นบนสุดจะดูดกลืนรังสีแกมมาและรังสีเอ็กซ์จนทำให้อะตอมของก๊าซในบรรยากาศชั้นบนมีอุณหภูมิสูง และแตกตัวเป็นประจุ (บางครั้งเราเรียกชั้นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยประจุนี้ว่า "ไอโอโนสเฟียร์" มีประโยชน์ในการสะท้อนคลื่นวิทยุสำหรับการสื่อสาร) รังสีอุลตราไวโอเล็ตสามารถส่องผ่านบรรยากาศชั้นบนลงมา      

 .

แต่ถูกดูดกลืนโดยก๊าซโอโซนในชั้นสตราโตสเฟียร์ที่ระยะสูงประมาณ 19 - 48 กิโลเมตร แสงแดดหรือแสงที่ตามองเห็นสามารถส่องลงมาถึงพื้นโลก รังสีอินฟราเรดถูกดูดกลืนโดยก๊าซเรือนกระจก เช่น ไอน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นโทรโปสเฟียร์ ส่วนคลื่นไมโครเวฟและคลื่นวิทยุในบางความถี่สามารถส่องทะลุชั้นบรรยากาศได้

 .

สำหรับบรรยากาศของโลกประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจน 78% ก๊าซออกซิเจน 21% ก๊าซอาร์กอน 0.9% นอกนั้นเป็นไอน้ำ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนเล็กน้อย แม้ว่าไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอนจะเป็นองค์ประกอบหลักของบรรยากาศ แต่ก็มิได้มีอิทธิพลต่ออุณหภูมิของโลก ในทางตรงกันข้ามก๊าซโมเลกุลใหญ่

 .

เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทน แม้จะมีอยู่ในบรรยากาศเพียงเล็กน้อย กลับมีความสามารถในการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด และมีอิทธิพลทำให้อุณหภูมิของโลกอบอุ่น เราเรียกก๊าซพวกนี้ว่า "ก๊าซเรือนกระจก" (Greenhouse Gas) เนื่องจากคุณสมบัติในการเก็บกักความร้อน หากปราศจากก๊าซเรือนกระจกแล้ว พื้นผิวโลกจะมีอุณหภูมิเพียง -18 องศาเซลเซียส ซึ่งนั่นก็หมายความว่าน้ำทั้งหมดบนโลกนี้จะกลายเป็นน้ำแข็ง

 .
ทำความรู้จักกับปรากฏการณ์เรือนกระจก

ปรากฏการณ์เรือนกระจก ค้นพบโดยโจเซฟ ฟูเรียร์ เมื่อ พ.ศ.2367 และได้รับการตรวจสอบเชิงปริมาณโดยสวานเต อาร์รีเนียส ในปี พ.ศ. 2439 กระบวนการเกิดขึ้นโดยการดูดซับและการปลดปล่อยรังสีอินฟราเรดโดยก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวทำให้บรรยากาศและผิวโลกร้อนขึ้น 

 .

การเกิดผลกระทบของปรากฏการณ์เรือนกระจกดังกล่าวไม่เป็นที่ถกเถียงกันแต่อย่างใด เพราะโดยธรรมชาติก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นนั้นจะมีค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส อยู่แล้ว ซึ่งถ้าไม่มีมนุษย์ก็จะอยู่อาศัยไม่ได้ ประเด็นปัญหาจึงอยู่ที่ว่าความแรงของปรากฏการณ์เรือนกระจกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อกิจกรรมของมนุษย์ไปเพิ่มความเข้มของแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศ

 .

สัดส่วนของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ

 .

ก๊าซเรือนกระจกหลักบนโลกคือ ไอระเหยของน้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนมากถึงประมาณ 30 - 60% (ไม่รวมก้อนเมฆ) คาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการอีกประมาณ 9 - 26% ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นตัวการ 4 - 9% และโอโซนอีก 3 - 7% ซึ่งหากนับโมเลกุลต่อโมเลกุล ก๊าซมีเทนมีผลต่อปรากฏการณ์เรือนกระจกมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ความเข้มข้นน้อยกว่ามาก

 .

ดังนั้นแรงการแผ่ความร้อนจึงมีสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของคาร์บอนไดออกไซด์ และยังมีก๊าซอีกที่เกิดตามธรรมชาติแต่มีปริมาณน้อยมาก หนึ่งในนั้นคือ ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการทำกิจกรรมของมนุษย์

 .

เช่น เกษตรกรรม ความเข้มในบรรยากาศของ CO2 และ CH4 เพิ่มขึ้น 31% และ 149% ตามลำดับนับจากการเริ่มต้นของยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงประมาณ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา ระดับอุณหภูมิเหล่านี้สูงกว่าอุณหภูมิของโลกที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ในช่วง 650,000 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ที่ได้มาจากแกนน้ำแข็งที่เจาะมาได้

 .

และจากหลักฐานทางธรณีวิทยาด้านอื่นก็ทำให้เชื่อว่าค่าของ CO2 ที่สูงในระดับใกล้เคียงกันดังกล่าวเป็นมาประมาณ 20 ล้านปีแล้ว การเผาผลาญเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์หรือเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) มีส่วนเพิ่ม CO2 ในบรรยากาศประมาณ 3 ใน 4 ของปริมาณ CO2 ทั้งหมดจากกิจกรรมมนุษย์ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่เหลือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะการทำลายป่าเป็นส่วนใหญ่

 .

ตาราง แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของแต่ละประเทศ

อันดับ

ประเทศ

ปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2
(พันตัน)

เปอร์เซ็นต์

-

ทั่วโลก (รวม)

27,245,758

100.0 %

1

China and  Taiwan

7,010,170

24.4 %

2

United States

6,049,435

22.2 %

-

European Union

4,001,222

14.7 %

3

Russia

1,524,993

5.6 %

4

India

1,342,962

4.9 %

5

Japan

1,257,963

4.6 %

6

Germany

860,522

3.1 %

7

Canada

639,403

2.3 %

8

United Kingdom

587,261

2.2 %

9

South Korea

465,643

1.7 %

10

Italy

449,948

1.7 %

11

Mexico

438,022

1.6 %

12

South Africa

437,032

1.6 %

13

Iran

433,571

1.6 %

14

Indonesia

378,250

1.4 %

15

France

373,693

1.4 %

16

Brazil

331,795

1.2 %

17

Spain

330,497

1.2 %

18

Ukraine

330,039

1.2 %

19

Australia

326,757

1.2 %

20

Saudi Arabia

308,393

1.1 %

21

Poland

307,238

1.1 %

22

Thailand

268,082

1.0 %

 .
ความจริงเมื่อโลกร้อนขึ้น

ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา นับถึง พ.ศ. 2548 อากาศใกล้ผิวดินทั่วโลกโดยเฉลี่ยมีค่าสูงขึ้น 0.74 ? 0.18 องศาเซลเซียส ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ของสหประชาชาติได้สรุปไว้ว่า "จากการสังเกตการณ์การเพิ่มอุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 (ประมาณตั้งแต่ พ.ศ.2490) ค่อนข้างแน่ชัดว่าเกิดจากการเพิ่มความเข้มของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์ที่เป็นผลในรูปของปรากฏการณ์เรือนกระจก"

 .

ปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่าง เช่น ความผันแปรของการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์และการระเบิดของภูเขาไฟ อาจส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อการเพิ่มอุณหภูมิในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมจนถึง พ.ศ.2490 และมีผลเพียงเล็กน้อยต่อการลดอุณหภูมิหลังจากปี 2490 เป็นต้นมา       

 .

ข้อสรุปพื้นฐานดังกล่าวนี้ได้รับการรับรองโดยสมาคมและสถาบันการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่า 30 แห่ง รวมทั้งราชสมาคมทางวิทยาศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญของประเทศอุตสาหกรรมต่าง ๆ แม้นักวิทยาศาสตร์บางคนจะมีความเห็นโต้แย้งกับข้อสรุปของ IPCC อยู่บ้าง แต่เสียงส่วนใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลกโดยตรงเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ 

 .

แบบจำลองการคาดคะเนภูมิอากาศที่สรุปโดย IPCC บ่งชี้ว่าอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยที่ผิวโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 21 (พ.ศ.2544 - 2643) ค่าตัวเลขดังกล่าวได้มาจากการจำลองสถานการณ์แบบต่าง ๆ ของการแผ่ขยายก๊าซเรือนกระจก ในอนาคต รวมถึงการจำลองค่าความไวภูมิอากาศอีกหลากหลายรูปแบบ       

 .

แม้การศึกษาเกือบทั้งหมดจะมุ่งไปที่ช่วงเวลาถึงเพียงปี พ.ศ.2643 แต่ความร้อนจะยังคงเพิ่มขึ้นและระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายสหัสวรรษ แม้ว่าระดับของก๊าซเรือนกระจกจะเข้าสู่ภาวะเสถียรแล้วก็ตาม การที่อุณหภูมิและระดับน้ำทะเลเข้าสู่สภาวะดุลยภาพได้ช้าเป็นเหตุมาจากความจุความร้อนของน้ำในมหาสมุทรซึ่งมีค่าสูงมาก 

 .

การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และคาดว่าทำให้เกิดภาวะลมฟ้าอากาศสุดโต่ง (Extreme Weather) ที่รุนแรงมากขึ้น ปริมาณและรูปแบบการเกิดฝนและหิมะจะเปลี่ยนแปลงไป ผลกระทบอื่น ๆ ของปรากฏการณ์โลกร้อนได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของผลิตผลทางเกษตร การเคลื่อนถอยของธารน้ำแข็ง การสูญพันธุ์พืชสัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งการกลายพันธุ์และแพร่ขยายโรคต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

 .

แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง ได้แก่ปริมาณของความร้อนที่คาดว่าจะเพิ่มในอนาคต ผลของความร้อนที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบอื่น ๆ ที่จะเกิดกับแต่ละภูมิภาคบนโลกว่าจะแตกต่างกันอย่างไร รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ แทบทุกประเทศได้ลงนามและให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ซึ่งมุ่งประเด็นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังคงมีการโต้เถียงกันทางการเมืองและการโต้วาทีสาธารณะไปทั่วทั้งโลกเกี่ยวกับมาตรการว่าควรเป็นอย่างไร จึงจะลดหรือย้อนกลับความร้อนที่เพิ่มขึ้นของโลกในอนาคต หรือจะปรับตัวกันอย่างไรต่อผลกระทบของปรากฏการณ์โลกร้อนที่คาดว่าจะต้องเกิดขึ้น

 .
เมื่อมนุษย์ กลายเป็นตัวการทำโลกร้อน

ถึงแม้ว่านักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญจะกล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเป็นวัฎจักรตามธรรมชาติก็ตาม แต่มนุษย์เราก็มีส่วนอยู่มิใช่น้อย ในการที่จะเร่งให้กระบวนการต่าง ๆ เสมือนหนึ่งเป็นเอนไซม์ที่ไปเร่งปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในธรรมชาตินั้นให้เร็วขึ้นกว่าปกติ ภัยจากโลกร้อนนี้เป็นภัยใกล้ตัวที่คนทั้งโลก รวมทั้งคนไทยที่ต้องเจอกับภัยธรรมชาติเหล่านี้ มีการค้นคว้าวิจัยและประมวลผลทางสถิติ และเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของสาเหตุ ผลกระทบที่เกิดขึ้น

.

.

เช่น จากรายงานของ IPCC ที่จัดทำโดยนักวิทยาศาสตร์กว่า 2,500 คนใน 130 ประเทศ ได้สรุปว่า มนุษย์เป็นตัวการของสาเหตุเกือบทั้งหมด ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เนื่องจากการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม การตัดไม้ทำลายป่า และการปล่อยมลพิษอย่างมหาศาล ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ขึ้นและเก็บกักไว้ในบรรยากาศ และก๊าซเหล่านี้ก็สามารถอยู่ในบรรยากาศไปอีกนาน

 .

ซึ่งหมายความว่าการหยุดปล่อยก๊าซเหล่านี้ก็ไม่สามารถหยุดภาวะโลกร้อนได้ทันที ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนเกิดเป็นวัฎจักรสม่ำเสมอ ซึ่งเกิดจากปริมาณแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังโลก และเป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ในรอบเวลานับแสนปี แต่การเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศที่ผ่านมาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาแค่เป็นร้อยปี จึงมีผลการวิจัยที่หักล้างทฤษฎีดังกล่าวออกมา

 .

จากข้อมูลทางวิชาการนั้น ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกจะมีผลต่ออุณหภูมิของโลก ก่อนปี ค.ศ.1800 ปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมีไม่สูงมากนัก แต่ในช่วงเวลาประมาณ 150-200 ปี ที่ผ่านมาปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นมากเห็นได้อย่างชัดเจน และส่งผลถึงอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่โลกเริ่มเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมพอดี

 .

ของเสียจากกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมและการบริโภคก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เก็บกักความร้อนทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และผลจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ระบบนิเวศถูกทำลายอย่างไม่ปราณีปราศรัย ผลจากการที่ธรรมชาติถูกรุกราน คือภาวะโลกร้อน (Global Warming) อันเป็นที่มาของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน (Climate Change) นั่นเอง

 .

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อประเทศไทย

* ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นอีกถึง 90 เซนติเมตร ในอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพต่าง ๆ หลายประการ

 .

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยประเมินไว้ว่า มีสิ่งชี้ชัดในเรื่องความเป็นไปได้ของภาวการณ์ขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และอุทกภัยที่ถี่ขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้นในพื้นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะในบริเวณชายฝั่งของกรุงเทพฯ ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง และอยู่เหนือระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตร    

 .

โดยระดับการรุกของน้ำเค็มจะเข้ามาในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40 กิโลเมตร ส่งผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อความสมดุลของน้ำจืดและน้ำเค็มในพื้นที่ นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังมีความเสี่ยงต่อความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำล้นตลิ่งและอุทกภัย ที่จะก่อความเสียหายกับระบบสาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัยของคนจำนวนมาก รวมถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่จะตามมา

 .

ส่วนพื้นที่ชายฝั่งจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อพื้นที่ชายฝั่งแตกต่างกันไปเป็นกรณี เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ชายฝั่งหลายแบบ เช่น พื้นที่ชายฝั่งที่เป็นหน้าผา อาจจะมีการยุบตัวเกิดขึ้นกับหินที่ไม่แข็งตัวพอ แต่กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ส่วนชายหาดจากเพชรบุรีถึงสงขลาซึ่งมีลักษณะชายฝั่งที่แคบจะหายไป และชายหาดจะถูกร่นเข้ามาถึงพื้นที่ราบริมทะเล

 .

ส่วนพื้นที่ป่าชายเลนจะมีความหนาของพรรณไม้ลดลง เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้พืชตาย แอ่งน้ำเค็มลดลงและถูกแทนที่ด้วยหาดเลน ในขณะที่ปากแม่น้ำจะจมลงใต้น้ำทำให้เกิดการชะล้าง พังทลายของพื้นที่ลุ่มน้ำ โดย ทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นแหล่งน้ำชายฝั่งจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นและอาจมีน้ำเค็มรุกเข้ามามากขึ้น

 .

ตัวอย่างอื่น ๆ ของพื้นที่ที่จะได้รับความเสียหาย คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีก 1 เมตร พื้นที่ร้อยละ 34 ของจังหวัดจะถูกกัดกร่อนและพังทลาย ก่อให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่การเกษตรและนากุ้งในบริเวณดังกล่าวด้วย

 .
* ผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้การระเหยของน้ำทะเล มหาสมุทร แม่น้ำ ลำธาร และทะเลสาบเพิ่มมากขึ้น ยิ่งจะทำให้ฝนตกมากขึ้น และกระจุกตัวอยู่ในบางบริเวณ ทำให้เกิดอุทกภัย ส่วนบริเวณอื่น ๆ ก็จะเกิดปัญหาแห้งแล้ง เนื่องจากฝนตกน้อยลง กล่าวคือ พื้นที่ภาคใต้จะมีฝนตกชุก และเกิดอุทกภัยบ่อยครั้งขึ้น ในขณะที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องเผชิญกับภัยแล้งมากขึ้น 

 .

รูปแบบของฝนและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้วัฏจักรของน้ำเปลี่ยนแปลง ลักษณะการไหลของระบบน้ำผิวดิน และระดับน้ำใต้ดินก็จะได้รับผลกระทบด้วย ทั้งพืชและสัตว์จึงต้องปรับปรุงตัวเองเข้าสู่ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป ลักษณะความหลากหลายทางชีวภาพก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

 .

ระบบนิเวศทางทะเล ก็เป็นอีกระบบนิเวศหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และอุณหภูมิผิวน้ำที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้พืชและสัตว์ทะเลบางชนิดสูญพันธุ์ รวมถึงการเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกสีทั้งในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน

 .
* ผลกระทบต่อการเกษตรและแหล่งน้ำ

การศึกษาของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ในประเทศไทยมีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ปริมาณน้ำลดลง (ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งจะมีผลต่อผลผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ และต้องอาศัยปริมาณน้ำฝนและแสงแดดที่แน่นอน รวมถึงความชื้นของดินและอุณหภูมิเฉลี่ยที่พอเหมาะด้วย 

 .

สำหรับประเทศไทย ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อภาคการเกษตรจะไม่รุนแรงมาก เพราะพื้นที่ชลประทานจะได้รับการป้องกัน แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอาจจะรุนแรงในบริเวณที่ขาดน้ำอยู่แล้ว 

 .

นอกจากนี้ ผลกระทบยังอาจเกิดขึ้นกับการทำประมง เนื่องจาก แหล่งน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี อาจแห้งขอดลงในบางฤดูกาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขยายพันธุ์และการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ซึ่งจะทำให้จำนวนและความหลากหลายของชนิดของสัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ และความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำแถบลุ่มแม่น้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะลดลงอย่างต่อเนื่อง หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงดำเนินต่อไป 

.

 .
* เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง

จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อากาศที่ร้อนขึ้น และความชื้นที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้ภัยธรรมชาติต่าง ๆ เกิดบ่อยครั้งและรุนแรง จะทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองบ่อยครั้งขึ้นและไม่เป็นไปตามฤดูกาล โดยภาคใต้ของประเทศซึ่งเคยมีพายุไต้ฝุ่นพัดผ่านจะเกิดพายุมากขึ้น และความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่นก็จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงอัตราเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของแนวโน้มอุทกภัยแบบฉับพลันด้วยเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย และก่อให้เกิดความเสียหายกับระบบนิเวศ 

 .

ภัยธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งที่คาดการณ์ว่าจะรุนแรงขึ้น ได้แก่ ภาวะภัยแล้ง เช่น ในช่วงกลางปี พ.ศ.2533 ประเทศไทยต้องประสบกับความแห้งแล้งรุนแรงจากปรากฏการณ์ เอล นิโญ่ ที่เชื่อกันว่าอาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ไฟป่าอาจจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นสืบเนื่องมาจากภาวะภัยแล้ง 

 .
* ผลกระทบด้านสุขภาพ

อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและเหตุการณ์ตามธรรมชาติที่รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและอนามัยของคนไทย โรคระบาดที่สัมพันธ์กับการบริโภคอาหารและน้ำดื่ม มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงมากขึ้น โดยภัยธรรมชาติ เช่น ภาวะน้ำท่วมทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคในแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะเป็น โรคบิด ท้องร่วง และอหิวาตกโรค เป็นต้น 

 .

โรคติดต่อในเขตร้อนก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น และจะคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ ไข้มาลาเรีย ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ เนื่องจากการขยายพันธุ์ของยุงจะมากขึ้นในสภาวะแวดล้อมที่ร้อนขึ้นและฤดูกาลที่ไม่แน่นอน 

 .

แนวโน้มของผลผลิตทางการเกษตรที่ลดลงจากภัยธรรมชาติ อาจนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร และความอดอยาก ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร และภูมิต้านทานร่างกายต่ำ โดยเฉพาะในเด็กและคนชรา

 .
* ผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ

ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นไม่เพียงแต่ส่งกระทบที่รุนแรงต่อประเทศไทยในทางกายภาพเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การยุบตัวของพื้นที่ชายฝั่ง ภูมิอากาศแปรปรวน โรคระบาดรุนแรง และผลกระทบอื่น ๆ ส่งผลให้มีประชากรบาดเจ็บล้มตาย ทิ้งที่ทำกิน และไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก

 .

นอกจากนี้ประชาชนยังจะได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มที่ถูกสุขลักษณะระหว่างภาวะน้ำท่วม และความเสียหายที่เกิดกับระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ  ซึ่งโดยมาก ผู้ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจะเป็นประชาชนที่มีความยากจน และไม่มีทุนทรัพย์พอที่จะป้องกันผลกระทบของภาวะโลกร้อนได้

 .

ยกตัวอย่างเช่น การป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มในพื้นที่ทำกิน อาจทำได้โดยการสร้างเขื่อน และประตูน้ำป้องกันน้ำเค็ม แต่วิธีการนี้ต้องลงทุนสูง ดังนั้นเมื่อราคาของการป้องกันสูงเกินกว่าที่ชาวนาจะสามารถรับได้ การทิ้งพื้นที่ทำกินในบริเวณที่ให้ผลผลิตต่ำจึงเป็นทางออกที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

 .

นอกจากนี้ ความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญตามแนวชายฝั่งที่ยุบตัว ภัยธรรมชาติ และความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ธรรมชาติที่รุนแรง ล้วนส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นสินค้าออกหลักของประเทศมีปริมาณลดลง พื้นที่ที่คุ้มค่าแก่การป้องกันในเชิงเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่มีการพัฒนาสูง อาจได้รับการป้องกันล่วงหน้า เช่น นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จำต้องมีโครงสร้างป้องกันกระแสคลื่น ซึ่งจะรุนแรงขึ้นเมื่อน้ำทะเลสูงขึ้น หรือการสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเลหรือเขื่อน เพื่อป้องกันการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทางการเกษตร และการทำนาเกลือ เป็นต้น

 .

การป้องกันดังกล่าวนั้นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ดังนั้น ในพื้นที่ที่ไม่คุ้มค่าที่จะป้องกันในเชิงเศรษฐกิจจะถูกละทิ้งไป ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจและสังคมมากที่สุด เช่น การช่วยเหลือชาวนา ซึ่งจำเป็นที่จะต้องย้ายไปอยู่ที่ที่สูงขึ้นเนื่องจากน้ำทะเลรุก เป็นต้น

.

 .
ทางออกของปัญหาภาวะโลกร้อน

หากมองย้อนกลับไปที่ต้นเหตุของปัญหา เราจะพบว่าสาเหตุของภาวะโลกร้อนนั้นคือการที่มนุษย์เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตพลังงาน และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญที่สุดออกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน

 .

ดังนั้นการแก้ปัญหาก็คือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการที่นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศเห็นพ้องต้องกันว่าอุณหภูมิของโลกจะร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้ชาติต่าง ๆ บริษัทและบุคคลต่าง ๆ จำนวนมากเริ่มลงมือปฏิบัติเพื่อหยุดการร้อนขึ้นของโลกหรือหาวิธีแก้ไขอย่างจริงจัง                     

 .

นักสิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มสนับสนุนให้มีปฏิบัติการต่อสู้กับปรากฏการณ์โลกร้อน มีหลายกลุ่มที่ทำโดยผู้บริโภค รวมทั้งชุมชนและองค์กรในภูมิภาคต่าง ๆ มีการแนะนำว่าให้มีการกำหนดโควต้าการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยอ้างว่าการผลิตมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการปลดปล่อย CO2

 .

ในภาคธุรกิจก็มีแผนปฏิบัติการเพื่อตอบสนองภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วยเช่นกัน ซึ่งรวมถึงความพยายามเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานและการมุ่งใช้พลังงานทางเลือก นวัตกรรมสำคัญชิ้นหนึ่งได้แก่การพัฒนาระบบการซื้อแลกการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading) โดยบริษัทกับรัฐบาลร่วมกันทำความตกลงเพื่อลดหรือเลิกการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในจำนวนที่กำหนดหรือมิฉะนั้นก็ใช้วิธีซื้อเครดิต จากบริษัทอื่นที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าปริมาณกำหนด

 .

ข้อตกลงแรก ๆ ของโลกว่าด้วยการต่อสู้เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกคือ "พิธีสารเกียวโต" ซึ่งเป็นการแก้ไข "กรอบงานการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ" (UNFCCC) ซึ่งเจรจาต่อรองและตกลงกันเมื่อ พ.ศ.2540 ปัจจุบันพิธีสารดังกล่าวครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากกว่า 160 ประเทศและรวมปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 65% ของทั้งโลก 

 .

มีเพียงสหรัฐอเมริกาและคาซัคสถานสองประเทศที่ยังไม่ให้สัตยาบัน สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก สนธิสัญญานี้จะหมดอายุในปี พ.ศ.2555 และได้มีการเจรจาระหว่างชาติที่เริ่มเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2550 เพื่อร่างสนธิสัญญาในอนาคตเพื่อใช้แทนฉบับปัจจุบัน

 .

ในขณะเดียวกัน คณะทำงานกลุ่มที่ 3 ของ IPCC ซึ่งรับผิดชอบต่อการทำรายงานเกี่ยวกับการบรรเทาปรากฏการณ์โลกร้อนและวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและผลดีของแนวทางต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ. 2550 ในรายงานผลการประเมินของ IPCC ได้สรุปว่าไม่มีเทคโนโลยีใดเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถรับผิดชอบแผนบรรเทาการร้อนขึ้นของบรรยากาศในอนาคตได้ทั้งหมด แต่ควรจะมีแนวปฏิบัติหลาย ๆ ทาง รวมถึงการปรับเปลี่ยนหรือใช้เทคโนโลยีใหม่ในการที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การส่งจ่ายพลังงาน การขนส่ง การอุตสาหกรรม และการเกษตรกรรม เป็นต้น

 .

เป้าหมายเพื่อการลดโลกร้อน

 .
พิธีสารเกียวโต เริ่มต้นของการลดโลกร้อน

พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เป็นข้อผูกพันทางกฎหมายที่ดำเนินการเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายในการรับมือกับสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) กล่าวคือเป็นกลไกในการทำให้อนุสัญญาดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัตินั่นเอง

 .

พิธีสารเกียวโตตั้งชื่อขึ้นตามสถานที่ในการเจรจาที่เมืองเกียวโต เมืองหลวงเก่าของประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2540 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 การมีผลบังคับใช้เกิดขึ้น 90 วัน หลังจากการให้สัตยาบันของรัสเซีย ซึ่งปล่อยก๊าซ 17% ของโลก ทำให้ครบเงื่อนไขที่ว่า พิธีสารมีผลบังคับใช้ต่อเมื่อมีประเทศร่วมให้สัตยาบันไม่น้อยกว่า 55 ประเทศ โดยจะต้องมีประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมารวมแล้วอย่างน้อย 55% ของปริมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน ปัจจุบันมีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 169 ประเทศ (ณ เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2549)

 .
* หลักการที่สำคัญของพิธีสารเกียวโต 

1. พิธีสารเกียวโตได้กำหนดข้อผูกพันทางกฎหมาย (Legal Binding) ไว้ในกรณีดำเนินการตามพันธกรณี โดยมาตรา 3 ได้กำหนดพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศภาคีในภาคผนวกที่ 1 โดยรวมแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากระดับการปล่อยโดยรวมของกลุ่มในปี พ.ศ.2533 ภายในช่วงพ.ศ.2551-2555 โดยที่ปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ร้อยละ 8 ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี พ.ศ.2533 สำหรับกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป ร้อยละ 10 สำหรับประเทศไอซ์แลนด์ ร้อยละ 6 สำหรับประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

 .

2. มาตรา 3 กำหนดชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่ควบคุมภายใต้พิธีสารเกียวโต 6 ชนิด คือ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PCFs) และซัลเฟอร์เฮกซาฟลูโอไรด์ (SF6) โดยกำหนดการลดก๊าซเหล่านี้ให้คิดเทียบเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Equivalent)

 .

3. กำหนดพันธกรณีเพิ่มเติมให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว และไม่มีการเพิ่มพันธกรณีใด ๆ ให้กับประเทศกำลังพัฒนา
4. มาตรา 18 ของพิธีสารได้กำหนดให้มีขั้นตอนและกลไกในการตัดสิน และดำเนินการลงโทษในกรณีที่ประเทศภาคีไม่ดำเนินการตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ 

5. เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารเกียวโตได้กำหนดกลไกยืดหยุ่น (Flexibility Mechanisms) ขึ้น 3 กลไก ดังนี้

 .

* กลไกการทำโครงการร่วม (Joint Implementation: JI) ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 ซึ่งกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้ว สามารถดำเนินโครงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกันเองระหว่างประเทศในกลุ่ม ภาคผนวกที่ 1 ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ เรียกว่า ERUs (Emission Reduction Units)

 .

* กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 12 ซึ่งกำหนดให้ประเทศในภาคผนวกที่ 1 สามารถดำเนินโครงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศในกลุ่ม Non-Annex I ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ จะต้องผ่านการรับรอง จึงเรียกว่า CERs (Certified Emission Reduction)

 .

* กลไกการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading: ET) ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 17 ซึ่งกำหนดให้ประเทศในภาคผนวกที่ 1 ที่ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตามที่กำหนดไว้ได้ สามารถซื้อสิทธิ์การปล่อยจากประเทศในภาคผนวกที่ 1 ด้วยกันเอง ที่มีสิทธิ์การปล่อยเหลือ (อาจเป็นเครดิตที่เหลือจากการทำโครงการ JI และ CDM หรือ สิทธิ์การปล่อยที่เหลือเนื่องจากระบบเศรษฐกิจทำให้ปริมาณการปล่อยในปัจจุบันน้อยกว่าปริมาณการปล่อยเมื่อปี พ.ศ.2533 จึงมีสิทธิ์การปล่อยเหลือพร้อมที่จะขายได้) เรียกสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะซื้อขายกันนี้ว่า AAUs (Assigned Amount Units)

 .
* พันธกรณีของประเทศไทยภายใต้พิธีสารเกียวโต

ประเทศไทยได้ลงนามรับรองพิธีสารเกียวโต เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542 และได้ให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2545 ในฐานะภาคีสมาชิกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จึงไม่มีพันธกรณีใด ๆ ภายใต้พิธีสารเกียวโต ยกเว้นมาตรา 10 ซึ่งกำหนดให้ทุกภาคีร่วมรับผิดชอบดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามขีดความสามารถและสถานการณ์ของแต่ละประเทศด้วยความสมัครใจ และมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด แต่ไม่มีพันธกรณีที่จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงพันธกรณีแรก พ.ศ.2551-2555 เหมือนกับประเทศในภาคผนวกที่ 1

 .

เนื่องจากพิธีสารเกียวโตยังไม่มีผลบังคับใช้ และประเทศไทยไม่มีพันธกรณีในจำนวนปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงพันธกรณีแรก ประเทศไทยได้จัดทำรายงานแห่งชาติตามเงื่อนไขของพันธกรณี ซึ่งในขณะนี้กำลังเตรียมการที่จะจัดทำรายงานแห่งชาติในรอบต่อไป นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังเตรียมการจัดตั้ง NACDM (National Authority for CDM) หากประเทศไทยประสงค์ที่จะเข้าร่วมดำเนินการโครงการ CDM โดยมีสำนักความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยประสานงาน

 .
ลดโลกร้อนด้วยคาร์บอนเครดิต 

สำหรับประเทศซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มนอกภาคผนวกที่ 1 (non-Annex I Countries) รวมถึงประเทศไทยด้วยนั้นไม่ได้ถูกจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้พิธีสารเกียวโตภายในระยะเวลาและปริมาณที่กำหนดไว้ แต่สามารถร่วมดำเนินโครงการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยสมัครใจตามแต่ศักยภาพของประเทศ โดยโครงการที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา และสามารถพิสูจน์ได้ว่าลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง จะได้รับเครดิตที่เรียกว่า Certified Emission Reductions (CERs) จากการดำเนินงานตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM)

 .

คาร์บอนเครดิต หรือ CERs นี้ สามารถนำไปหักลบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกลุ่มภาคผนวกที่ 1 ได้ ประเทศเหล่านี้จึงมีความต้องการซื้อ CERs เพื่อให้ประเทศของตนสามารถบรรลุพันธกรณีในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และประเทศกำลังพัฒนายังสามารถบรรลุถึงเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย

 .

ขณะนี้ทั่วโลกมีโครงการ CDM ที่ขึ้น ทะเบียนแล้วราว 1,200 โครงการ ประเมินว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ปีละกว่า 230 ล้านตันคาร์บอน ทุกโครงการนอกจากจะต้องช่วยลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว จะต้องได้รับคำรับรองจากประเทศเจ้าบ้านว่าเป็นโครงการที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย และประเทศที่มีโครงการ CDM มากที่สุดก็คือ จีนกับอินเดีย      

 .

โครงการ CDM ส่วนใหญ่อยู่ในภาคพลังงานที่ต้องใช้เทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากที่ฝังกลบขยะ จากเชื้อเพลิงชีวมวล จากก๊าซชีวภาพ หรือการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากกระบวนการอุตสาหกรรม เคมี 

 .

ซึ่งปัจจุบัน มูลค่าตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดโลกขยายตัวเร็วมากโดยในปี 2549  ขยายตัวถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2548 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขยายตัวเป็น 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2549 สำหรับประเทศไทย ธุรกิจคาร์บอนเครดิตนับเป็นโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจโดยเฉพาะธุรกิจเอกชนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก

.

 .

เช่น การผลิตความร้อนจากน้ำเสีย ผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อย มันสำปะหลัง ที่ฝังกลบขยะ น้ำเสียในฟาร์มสุกร น้ำเสียอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม น้ำเสียจากการผลิตแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน ภาครัฐเริ่มมาสนับสนุนมากขึ้นโดยได้มีการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อรับรองโครงการ CDM และสนับสนุนการพัฒนาโครงการ

 .

สำหรับในส่วนของการลงทุนนั้น เอกชนมีทางเลือกในการลงทุนอย่างน้อย 2 รูปแบบ คือ  การลงทุนด้วยตนเอง กล่าวคือเอกชนไทยลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกด้วยตนเอง และการร่วมทุน ซึ่งรูปแบบนี้เหมาะกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (SMEs) ที่มีเงินลงทุนต่ำและมีความรู้ในด้านนี้เล็กน้อย โดยรูปแบบการร่วมทุนมีหลายประเภท

 .

เช่น การร่วมทุนกับรัฐบาลประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือร่วมทุนกับกองทุนที่เกิดจากการรวมตัวกันของรัฐบาลหรือกลุ่มทุนเอกชนในประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องการคาร์บอนเครดิต รวมทั้งการร่วมทุนกับบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Company: ESCO) อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการดำเนินงานสำหรับการเข้าร่วมโครงการ CDM ค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ประมาณ 4.5-6.5 ล้านบาท      

 .

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ลดก๊าซเรือนกระจกอาจจะสูงกว่านี้มากส่งผลให้ภาคธุรกิจที่จะลงทุนด้วยตนเองต้องประเมินความคุ้มค่าของการลงทุนด้วยความระมัดระวัง ส่วนราคาซื้อขายนั้นก็ตามแต่จะตกลงระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย โดยจะดูจากความแน่นอนของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้และต้นทุนของเทคโนโลยีที่ใช้ในการดำเนินโครงการ

 .

สำหรับเอกชนไทยรายแรกที่ได้สิทธิ์ขายคาร์บอนเครดิตจากยูเอ็นนั้นได้แก่ บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ผู้จัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากแกลบมูลค่าการลงทุน 1,400 ล้านบาท บริษัทฯ เพิ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM EB) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) ให้มีสิทธิ์ค้าคาร์บอนเครดิตได้เป็นแห่งแรกของประเทศไทย

 .

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มมาตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 ที่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าใน อ.บางมูลนาก โดยใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา มีประสิทธิภาพลดการปล่อยก๊าซก่อโลกร้อนได้ 70,772 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์/ปี หรือปริมาณรวมเกือบ 500,000 ตันภายในปี 2555 อันเป็นที่สิ้นสุดของพิธีสารเกียวโต ขณะนี้มีกิจการโรงไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่นแสดงความสนใจติดต่อขอซื้อคาร์บอนเครดิตทั้งหมดของบริษัทในราคาตันละกว่า 10 ยูโร หรือ 500 บาทแล้ว

 .
ฉลากคาร์บอน มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์ลดโลกร้อน

จากผลกระทบของปัญหาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนนั้น ทำให้หลายประเทศในปัจจุบันหันมาให้ความสนใจและให้ความตระหนักถึงภัยพิบัติของโลกร้อนและวิธีการลดโลกร้อนกันมากขึ้น ซึ่งการลดความรุนแรงปัญหาโลกร้อนที่สามารถทำได้ คือ การร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม รวมทั้งประชาชนในฐานะผู้บริโภค

 .

ซึ่งการดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในส่วนผู้บริโภคนั้นสามารถเชื่อมโยงกับส่วนผู้ผลิต คือ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ห่วงใยรักษาสิ่งแวดล้อม หรือมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย หรือสินค้าที่มี ฉลากคาร์บอน (Carbon Label) โดยแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้ได้เริ่มใช้มาแล้วตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนที่ห้างเทสโก้ ของประเทศอังกฤษ

 .

ส่วนในประเทศไทยนั้นฉลากคาร์บอนนี้ได้รับการผลักดันจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยให้เครือข่ายพันธมิตรจากภาคธุรกิจผลิตสินค้าและบริการที่มีคาร์บอนต่ำ ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศน้อยและติดฉลากคาร์บอนเพื่อแสดงความเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ      

 .

โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ผลักดันเรื่องนี้ โดยเบื้องต้นมีบริษัทเข้าร่วมคือกลุ่มบริษัทบรรจุภัณฑ์เตตร้าแพ็ค กระดาษสยามเอสซีจี กรุ๊ป กระดาษดับเบิล เอ และบริษัทรถยนต์เชฟโรเลต และมีการตั้งเป้าไว้ว่าภายในปีนี้ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และอาหารสำเร็จรูป ที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำจะเริ่มติดฉลากคาร์บอนกันมากขึ้น

 .
* ทำความรู้จักกับฉลากคาร์บอน

ฉลากคาร์บอนคือ ฉลากที่แสดงระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ โดยวิธีการประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ โดยแสดงผลอยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 Equivalent) ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประกอบการออกฉลากคาร์บอนต่อไป      

 .

โดยเปรียบเทียบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าที่เกิดขึ้นต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ระหว่างปีฐาน พ.ศ.2545 กับปี พ.ศ.2550 เพื่อประเมินว่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 10 โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ การลดปริมาณการใช้ไฟฟ้า การลดปริมาณเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต และการลดลงของก๊าซเรือนกระจกจากของเสีย

 .

โดยฉลากคาร์บอนจะทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบว่า ในขั้นตอนการผลิตสินค้านั้น ๆ ผู้ประกอบการได้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นปริมาณเท่าใด หลังจากผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตแล้ว โดยขณะนี้ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้กำหนดฉลากคาร์บอนซึ่งมีลักษณะคล้ายกับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 1 ถึงเบอร์ 5 ฉลากคาร์บอนแบ่งเป็น 5 ระดับ เริ่มตั้งแต่หมายเลขที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยที่สุดไปจนถึงมากที่สุด คือ

 .

เบอร์ 1 (สีแดง) เบอร์ 2 (สีส้ม) เบอร์ 3 (สีเหลือง) เบอร์ 4 (สีน้ำเงิน) และเบอร์ 5 (สีเขียว) พร้อมระบุตัวเลขแสดงสัดส่วนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยสินค้าหรือบริการ เช่น ฉลากคาร์บอนเบอร์ 1 จะมีพื้นฉลากสีแดง เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยที่สุด ที่ 10% ฉลากเบอร์ 2 สีส้ม ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 20%

 .

ฉลากเบอร์ 3 สีเหลือง ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 30% ฉลากเบอร์ 4 สีน้ำเงิน ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 40% และฉลากคาร์บอนเบอร์ 5 มีพื้นสีเขียว เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด คือ 50% หรือสินค้านี้อยู่ในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศน้อยที่สุดและมีความเป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศมากที่สุด       

 .

ฉลากคาร์บอนจะไม่เหมือนฉลากเขียว เพราะฉลากเขียวจะครอบคลุมทุกมิติของสินค้า ทั้งด้านวัตถุดิบ และมลพิษที่เกิดขึ้น แต่ฉลากคาร์บอนจะดูเฉพาะปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตเท่านั้น โดยเราจะแยกเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาโดยเฉพาะ

 .

ฉลากคาร์บอนของประเทศไทย

 .
* ประโยชน์ของฉลากคาร์บอน 

สำหรับข้อดีของฉลากคาร์บอนนี้ ในส่วนของผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์คือ การที่ได้มีทางเลือกใหม่ ๆ ในการซื้อสินค้าและบริการ เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ ปรับปรุงกระบวนการผลิตและพลังงานที่ใช้ เพื่อผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย มีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน และประโยชน์ในส่วนของผู้ผลิตนั่นก็คือ การลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการเกิดของเสีย แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่บริษัทอีกด้วย 

 .
พลังงานสะอาด ทางเลือกของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากการศึกษาของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในพ.ศ.2537 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นปริมาณมากถึง 201 ล้านตัน โดยร้อยละ 47.4 (128 ล้านตัน) ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดนี้มาจากภาคพลังงาน ดังนั้นวิธีการสำคัญที่เราจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ คือการสนับสนุนการพัฒนาและการใช้พลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่ภาคพลังงานของประเทศไทยจะใช้พลังงานซึ่งได้จากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล 

 .

เช่น ถ่านหิน หรือน้ำมันดิบ ซึ่งจัดเป็นเชื้อเพลิงที่เมื่อใช้หมดแล้วก็จะหมดเลย ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อีก ในประเทศอุตสาหกรรม การผลิตพลังงานโดยอาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักจึงลดน้อยลงไปทุกที และหันมาใช้พลังงานที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนแทน เช่น ดวงอาทิตย์ (พลังงานแสงอาทิตย์) หรือลม (พลังงานลม) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม และไม่มีวันหมดไป เราจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พลังงานสะอาด 

 .

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า แม้ว่าการศึกษาวิจัยยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแห่งเอเชีย (Asia Least-Cost Greenhouse Gas Abatement Strategy) จะระบุว่าส่วนแบ่งของพลังงานสะอาดในภาคพลังงานของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะอยู่ที่เพียงร้อยละ 1 ของพลังงานทั้งหมด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานก็ยังเชื่อว่า เราสามารถพัฒนาศักยภาพของพลังงานสะอาดในประเทศได้มากกว่านี้ โดยรัฐบาลควรจะออกนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดเพื่อเพิ่มบทบาทของพลังงานสะอาดในภาคพลังงานของประเทศไทยต่อไป

.

.

ในช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา โลกเราได้มีการสะสมก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมากขึ้น เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า การขยายพื้นที่ให้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ เพื่อใช้ในกิจกรรมประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ขุดขึ้นมาจากใต้ดิน การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกไม่สามารถแผ่ความร้อนออกไปได้อย่างที่เคย

.

ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อนมาจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อต้องการลดภาวะเรือนกระจก การควบคุมปริมาณการผลิตแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จึงเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นเรื่องแรกครับ โดยเริ่มต้นจากสำนึกในตัวเอง ประหยัดการใช้พลังงานทุกชนิด

.

โดยเฉพาะพลังงานจากฟอสซิล ลดการกินทิ้งกินขว้างที่จะทำให้เกิดแก๊สมีเทน ไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ควรบริโภคผลิตภัณฑ์ในประเทศเพื่อลดการใช้ทรัพยากรเพื่อการขนส่ง ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวเพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน ช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อให้เกราะกำบังและช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เพราะหากมีการนำสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติอย่างจริงจังก็จะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดี ช่วยให้โลกเกิดความสมดุลมากขึ้น และที่สำคัญคือ ทุกคนต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ความมั่นคงและยั่งยืน เพราะโลกเป็นของเราทุกคนครับ

.
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

* ปรากฏการณ์โลกร้อน: วิกิพีเดีย (th.wikipedia.org)
* ภาวะโลกร้อน (Global Warming) พิบัติภัยจากน้ำมือมนุษย์หรือธรรมชาติ (
www.prd.go.th)
* ภาวะโลกร้อน: ผลกระทบต่อประเทศไทย (
http://www.geocities.com/kwun_jam/h.htm)
* ภาวะโลกร้อน: คลังปัญญาไทย (
www.panyathai.or.th)
* คาร์บอนเครดิต ธุรกิจลดโลกร้อน: สุรศักดิ์ ธรรมโม (
http://www.siamintelligence.com/carbon_credit_busines/)
* องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) (
www.tgo.or.th)
* สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (
www.tei.or.th)

.
.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด