เนื้อหาวันที่ : 2009-07-23 17:36:44 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7155 views

การใช้งานบัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์กับหลอดฟลูออเรสเซ้นต์เพื่อประหยัดพลังงาน

ระบบไฟฟ้าแสงสว่างเป็นระบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากระบบหนึ่งของอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม หลอดไฟฟ้าชนิดฟลูออเรสเซ้นต์และหลอดแก๊สดิสชาร์จ (High Intensity Discharge Lamp: HID) เป็นหลอดไฟฟ้าที่ติดตั้งอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน การพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วทำให้หลอดไฟฟ้าทั้งสองประเภทดังกล่าวมีความซับซ้อน และมีสมรรถนะที่หลากหลาย ความเข้าใจในการพัฒนาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการติดตั้ง การบำรุงรักษา การซ่อมบำรุง และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขวัญชัย กุลสันติธำรงค์
นวพร กุลสันติธำรงค์

kwanchai2002@hotmail.com

.

.

ระบบไฟฟ้าแสงสว่างเป็นระบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้ามากระบบหนึ่งของอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม หลอดไฟฟ้าชนิดฟลูออเรสเซ้นต์และหลอดแก๊สดิสชาร์จ (High Intensity Discharge Lamp: HID) เป็นหลอดไฟฟ้าที่ติดตั้งอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน การพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วทำให้หลอดไฟฟ้าทั้งสองประเภทดังกล่าวมีความซับซ้อน และมีสมรรถนะที่หลากหลาย ดังนั้นความเข้าใจในการพัฒนาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการติดตั้ง การบำรุงรักษา การซ่อมบำรุง และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามรายละเอียดในบทความฉบับนี้ได้เลยครับ

.
หลักการทำงานของหลอดแก๊สดิสชาร์จ

แสงสว่างทิ่เกิดจากหลอดแก๊สดิสชาร์จเกิดขึ้นจากอาร์กไฟฟ้าระหว่างขั้วไฟฟ้า หรือ คาโธดทั้งสอง บัลลาสต์ที่ติดตั้งในวงจรไฟฟ้าจะทำหน้าที่ควบคุมอาร์กไฟฟ้าให้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมการไหลของกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านหลอดไฟฟ้า และรักษาสภาวะทางไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม ทำให้หลอดแก๊สดิสชาร์จสามารถจุดติดขึ้นมาได้และทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพ

.

หลอดฟลูออเรสเซ้นต์ทำขึ้นมาจากหลอดแก้วทรงกระบอกโดยมีขั้วหลอดอยู่ที่ปลายทั้งสอง และบรรจุก๊าซอาร์กอนที่ความดันบรรยากาศและมีปรอทผสมอยู่ปริมาณเล็กน้อย และเคลือบผนังภายในหลอดแก้วด้วยสารฟอสฟอร์ (Phosphor) ขั้วหลอดฟลูออเรสเซ้นต์จะทำหน้าที่เช่นเดียวกันขดลวดของหลอดไส้ (Incandescent Lamp) โดยสารฟอสฟอร์ที่เคลือบไว้จะช่วยเพิ่มปริมาณอิเลคตรอนให้มากขึ้น

.

เมื่อมีแรงดันไฟฟ้าที่เหมาะสมเกิดขึ้นระหว่างขั้วหลอดทั้งสองจะเกิดการอาร์กไฟฟ้า (การไหลของกระแสไฟฟ้า) ที่ไหลทะลุผ่านไอปรอท (Mercury Vapor) ทำให้เกิดแสงอัลตร้าไวโอเลต (UV) ซึ่งจะถูกสารฟอสฟอร์ที่เคลือบไว้ดูดซับไว้ และปล่อยพลังงานออกมาในรูปของแสงที่ตามองเห็น (Visible Light Energy)

.

หลอดฟลูออเรสเซ้นต์ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1940 จะทำงานร่วมกับบัลลาสต์ชนิดแกนเหล็ก (Magnetic Ballast) และมีการพัฒนาหลอดฟลูออเรสเซ้นต์อย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีบัลลาสต์แกนเหล็กที่ใช้งานร่วมกับหลอดฟลูออเรสเซ้นต์อย่างแพร่หลายอยู่ 3 ชนิด ได้แก่

.

• บัลลาสต์ชนิด Rapid Start (RS) เป็นการอุ่นขั้วหลอด (Preheat) ด้วยหม้อแปลงไฟฟ้าแรงต่ำเป็นเวลา 1 วินาทีก่อนจุดหลอด หลังจากหลอดติดแล้ว ก็จะอุ่นขั้วหลอดอย่างต่อเนื่องด้วยกระแสไฟฟ้าที่ลดลงเล็กน้อยระหว่างที่หลอดทำงานเพื่อยืดอายุหลอด

.

• บัลลาสต์ชนิด High - Output (HO) เป็นหลอดชนิด Rapid Start (RS) ที่ถูกออกแบบให้ทำงานโดยมีกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านหลอดมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีแสงสว่างเพิ่มขึ้น 40%

.

• บัลลาสต์ชนิด Instant–Start (Slim Line) ไม่มีขั้วคาโธดที่อุ่นให้ร้อนก่อนการจุดหลอด ทำให้ต้องการแรงดันไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 40% เมื่อเทียบกับหลอดที่มีการอุ่นขั้วหลอด

.

ในปัจจุบันที่การประหยัดพลังงานเป็นประเด็นที่สำคัญ หน่วยงานที่ชื่อว่า Department of Energy (DOE) ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิก (Phase Out) การผลิตและการใช้งานบัลลาสต์ชนิดแกนเหล็กที่ใช้กับหลอดฟูลออเรสเซ้นต์ทั้งสามชนิดข้างต้น โดยจะให้ใช้บัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์แทน

.

ในขณะนี้อุตสาหกรรมหลอดไฟและอุปกรณ์ส่องสว่างได้พัฒนาหลอดฟลูออเรสเซ้นต์ตระกูล T8 และ ตระกูล T5 ให้ใช้งานกับบัลลาสต์อิเลคทรอนิคส์เท่านั้น บัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์จะทำให้กระแสไฟฟ้าด้านเข้าของหลอดมีความถี่สูงถึง 20,000 Hz - 40,000 Hz (ไม่ใช่ 50 - 60 Hz เหมือนเมื่อก่อน) เพื่อกระตุ้นการทำงานของสารฟอสฟอร์ ทำให้เกิดการส่องสว่างมากขึ้น

.

การพัฒนาบัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์

วิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาบัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์ที่ใช้งานกับหลอดฟลูออเรสเซ้นต์ก็คือ การศึกษาวิธีการจุดหลอด (Starting Method) บัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์ชนิดจุดติดทันที (Instant - Start Electronic Ballast) จะเหมือนกับบัลลาสต์แกนเหล็กชนิดเดียวกัน โดยสร้างแรงดันไฟฟ้าให้สูงขึ้นที่ขั้วหลอด (ปกติจะมีแรงดันไฟฟ้า 600 โวลต์ สำหรับหลอด T8 ชนิด 32 วัตต์) โดยไม่มีการอุ่นขั้วหลอด การต่อหลอดไฟฟ้าจะขนานกับบัลลาสต์ บัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์ชนิดนี้จะมีการสวิตชิ่ง (On - Off) 10,000 - 15,000 ครั้งต่อหนึ่งรูปคลื่น (Cycle)

.

รูปที่ 1: Electronic Ballast

.

• บัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์ชนิดจุดติดเร็ว (Rapid Start Electronic Ballast) ภายในจะมีขดลวดต่างหากที่สร้างไฟฟ้าแรงดันต่ำ (Low Voltage) ที่มีค่าประมาณ 3.5 โวลต์ ให้กับขั้วหลอดเป็นเวลา 1 วินาที ก่อนทึ่จะจุดหลอด แรงดันไฟฟ้าที่ใช้จุดหลอดของหลอดฟลูออเรสเซ้นต์ T8 ชนิด 32 วัตต์ จะมีค่าระหว่าง 450 - 550 โวลต์ บัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์ชนิดนี้จะมีการสวิตชิ่ง (On - Off) 15,000 - 20,000  ครั้งต่อหนึ่งรูปคลื่น (Cycle) หลอดไฟฟ้าจะต่ออนุกรมกับบัลลาสต์ ดังนั้นถ้าหลอดที่หนึ่งขาด หลอดที่สองก็จะดับด้วย

.

• บัลลาสต์ชนิด Programmed Start บัลลาสต์ชนิดนี้ภายในจะมีขดลวดแยกต่างหาก ทำหน้าที่อุ่นขั้วหลอด และควบคุมเวลาในการอุ่นขั้วหลอดก่อนการจุดหลอดแม่นยำขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเครียดให้กับขั้วหลอด ขั้วคาโธดจะถูกทำให้ร้อนไปที่อุณหภูมิประมาณ 700 ๐C ก่อนจุดหลอด ทำให้บัลลาสต์สามารถจุดหลอดได้มากกว่า 50,000 ครั้ง

.

ทำให้สามารถยืดอายุหลอด เหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องเปิด - ปิดหลอดมาก เช่นใช้ติดตั้งร่วมกับ Occupancy Sensor นอกจากนี้บัลลาสต์ชนิดนี้ยังเหมาะสมใช้งานร่วมกับระบบควบคุมอัตโนมัติ เช่น ระบบควบคุมแสงธรรมชาติ (Day - Lighting Control) ระบบที่เปิด-ปิดหลอดตามการใช้งาน (Demand Response Control) บัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์ชนิดนี้จะมีการสวิตชิ่ง (On - Off) 20,000 - 40,000 ครั้งต่อหนึ่งรูปคลื่น (Cycle)

.

บัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์กินไฟฟ้าน้อยกว่าบัลลาสต์แกนเหล็ก สามารถควบคุมการทำงานของหลอดฟลูออเรสเซ้นต์ได้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีขนาดที่เล็กกว่าบัลลาสต์แกนเหล็กอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การติดตั้งบัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์ต้องคำนึงถึงการระบายความร้อนที่เกิดขึ้นขณะที่บัลลาสต์ทำงาน เพราะความร้อนเกินที่เกิดขึ้นจะทำให้ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์เสียหายและมีอายุใช้งานที่สั้นลง

.

รูปที่ 2: แสดงวงจรการต่อสายของบัลลาสต์แกนเหล็กชนิด Rapid Start และบัลลาสต์อิเลคทรอนิกส์ชนิด Instant Start

.

อ้างอิง
1.  Installing and Troubleshooting Arc Discharge Lamps: EC&M April 2009 page 14–18
2. Philips Product Catalogue

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด