เนื้อหาวันที่ : 2009-07-21 18:43:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8758 views

การสื่อสารข้อมูลในงานอุตสาหกรรม (ตอนที่ 4 รู้จักกับมาตรฐาน EIA-485)

มาตรฐาน EIA-485 หรือในชื่อเดิมที่คุ้นเคยกว่าคือ RS-485 มาตรฐานในการเชื่อมต่อในระดับฟิสิคอลหรือระดับกายภาพเป็นมาตรฐานหนึ่งที่ใช้งานกันมากในระบบสื่อสารข้อมูลในงานอุตสาหรรม ข้อเด่นของ EIA-485 คือการที่สามารถติดต่อสื่อสารแบบ Multidrop หรือติดต่อสื่อสารมากกว่าสองโหนดและ EIA-485 สามารถทนทานต่อสัญญาณรบกวนได้ดี รวมทั้งการติดตั้งใช้งานที่ค่อนข้างง่ายและราคาไม่แพง

พิชิต จินตโกศลวิทย์
pichitor@yahoo.com       

.

.

จากบทความตอนที่แล้วได้กล่าวเกี่ยวกับมาตรฐานการเชื่อมต่อแบบ EIA-232 ที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารแบบจุดต่อจุด (Point-to-Point) ซึ่งไม่สามารถจะตอบสนองการสื่อสารข้อมูลในงานอุตสาหกรรมได้โดยตรงหรือได้เพียงบางส่วน ดังนั้นในบทความฉบับนี้จะกล่าวถึงเกี่ยวกับมาตรฐานในการเชื่อมต่อในระดับฟิสิคอลหรือระดับกายภาพอีกมาตรฐานหนึ่งที่ใช้งานกันมากในระบบสื่อสารข้อมูลในงานอุตสาหรรม นั่นคือมาตรฐาน EIA-485 หรือในชื่อเดิมที่คุ้นเคยกว่าคือ RS-485 ข้อเด่นของ EIA-485 คือการที่สามารถติดต่อสื่อสารแบบ Multidrop หรือติดต่อสื่อสารมากกว่าสองโหนดและ EIA-485 สามารถทนทานต่อสัญญาณรบกวนได้ดี รวมทั้งการติดตั้งใช้งานที่ค่อนข้างง่ายและราคาไม่แพง

.
มาตรฐานการเชื่อมต่อ EIA-485 

มาตรฐาน EIA-485 เป็นหนึ่งในมาตรฐานที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างของในบรรดามาตรฐานของ EIA และมันยังเพิ่มความสามารถพัฒนากลายเป็นมาตรฐาน EIA-422 มาตรฐาน EIA-485 อนุญาตให้ทำการเชื่อมต่ออุปกรณ์เทอร์มินอล Multidrop หรือสามารถมีจำนวนโหนดหลาย ๆ โหนดในหนึ่งเครือข่ายโดยใช้สายสัญญาณเพียง 2 เส้นก็สามารถสื่อสารข้อมูลกันได้ และมาตรฐานมีความเชื่อถือได้และความสามารถที่เพิ่มขึ้นบนการสื่อสารข้อมูลแบบอนุกรมดังต่อไปนี้

.

     * เพิ่มระยะทางการส่งข้อมูลได้สูงถึง 1200 เมตร (4000 ฟุต ระยะเท่ากันกับมาตรฐาน EIA-422)
     * เพิ่มอัตราความเร็วการส่งข้อมูลได้สูงถึง 10 Mbps (เช่นเดียวกับ EIA-422)
     * จำนวนโหนดหรือสเตชั่นสามารถมีได้ถึง 32 โหนด ในคู่สายสัญญาณที่ใช้เป็นบัสเดียวกัน

.

อย่างไรก็ตามอัตราการส่งข้อมูลสูงสุดและระยะทางสูงสุดจะไม่สามารถใช้กันได้ ณ เวลาเดียวกัน สำหรับสายคู่พันเกลียวหรือสาย UTP (Unshielded Twisted Pair) ขนาด 24 AWG อัตราการส่งข้อมูลสูงสุดที่ระยะทาง 1200 เมตรจะอยู่ที่ 90 kbs โดยประมาณ ระยะสายสัญญาณสูงสุดที่สามารถใช้ส่งข้อมูลที่ความเร็ว 10 Mbps ควรน้อยกว่า 6 เมตร ระบบที่ใช้ EIA-485 ที่มีประสิทธิภาพสูงจะต้องการสายสัญญาณคุณภาพสูงและใช้ตัวเทอร์มิเนเตอร์แบบโซลิดสเตตแทนตัวต้านทานแบบธรรมดาขนาด120 โอห์ม

.

ตามการอ้างอิงมาตรฐาน EIA-485 ในหนึ่งเครือข่ายจะสามารถมีจำนวนโหนดได้ 32 โหนด แต่อย่างไรก็ดีบางผู้ผลิตได้อ้างว่าจำนวนโหนดที่ใช้ในหนึ่งเครือข่ายของผลิตภัณฑ์ของเขาสามารถกำหนดได้มากกว่าจำนวนโหนดที่มาตรฐานกำหนดไว้เช่นที่ 64 หรือ 128 โหนด อย่างไรก็ตามยิ่งจำนวนโหนดมาก ก็ยิ่งต้องการตัวรีพีตเตอร์เพิ่มระยะของระบบเครือข่ายและก็ความเร็วในการตอบสนองก็ยิ่งต่ำลงเนื่องจากต้องรอการโพลลิ่ง (Polling) ระบบ EIA-485 ใช้สายตัวนำไฟฟ้าจำนวนเพียง 2 เส้น เป็นสายส่งสัญญาณโดยตั้งชื่ออ้างอิงสายสัญญาณแต่ละเส้นนั้นคือ A และ B ตามลำดับ     

.

สายสัญญาณ A อาจถูกเรียกได้อีกหลายอย่างคือ A-, TxA และ Tx+ ส่วนสัญญาณ B อาจถูกเรียกได้อีกหลายชื่อคือ B+, TxB และ Tx- ถึงแม้ชื่อของสายสัญญาณมันอาจจะทำให้สับสนในการจำแต่จริงจริงแล้วการแยกแยะว่าสายสัญญาณใดเป็นสายสัญญาณ A และ B นั้นไม่ยาก โดยในสภาวะมาร์กหรือออฟหรือไอเดิล (Mark/Off/Idle) ระดับแรงดันไฟฟ้าในสายสัญญาณ A จะต้องน้อยกว่าหรือต่ำกว่าในสายสัญญาณ B วัดได้โดยใช้โวลต์มิเตอร์ธรรมดา

.

คุณสมบัติเด่นอย่างหนึ่งของ EIA-485 คือตัวขับสัญญาณหรือไดรฟ์เวอร์ (Driver) ที่เป็น IC สามารถทำงานได้ใน 3 สถานะเรียกในทางเทคนิคเรียกว่าการทำงานแบบไตร-สเตต (Tri-State Operation) โดยมีสถานะดังต่อไปนี้
     * ลอจิก 1
     * ลอจิก 0
     * สภาวะไฮ-อิมพีแดนซ์ (High-Impedance)

.

ในสภาวะไฮ-อิมพีแดนซ์ ตัวไดรฟ์เวอร์ทำตัวเสมือนเปิดวงจรไม่มีกระแสไฟฟ้าไหล ผลที่ได้เสมือนไม่มีการเชื่อมต่อเข้ากับสายสัญญาณที่เป็นบัสทางตรรกะ ซึ่งลักษณะพฤติกรรมนี้ถูกรู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือสถานะดิสเซเบิล (Disable) และมันยังสามารถทำการอิเนเบิล (Enable) ให้วงจรสื่อสารเชื่อมต่อกับสายสัญญาณโดยการส่งสัญญาณกระตุ้นขาควบคุมบนตัวไดรฟ์เวอร์ที่เป็น IC (Integrated Circuit) นั้นเอง 

.

การทำงานแบบไตร-สเตต ทำให้การเชื่อมต่อหลายอุปกรณ์บนสายสัญญาณเดียวกันสามารถเป็นไปได้ และจำนวนโหนดที่เชื่อมต่อยังมีมากถึง 32 โหนดหรือ 32 อุปกรณ์ แต่อย่างไรก็ตามมีเพียง 1 โหนดเท่านั้นที่สามารถส่งข้อมูลหรือแอกตีฟ (Active) ณ เวลาใด ๆ แต่ละโหนดหรืออุปกรณ์ที่อยู่ในเครือข่ายจะต้องถูกจัดสรรหมายเลขที่อยู่หรือแอดเดรส (Address) ที่ไม่ซ้ำกันเพื่อหลีกเลี่ยงการชนกันของข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ มาตรฐาน EIA-485 ยังกำหนดถึงเรื่องการจำกัดระดับกระแสไฟฟ้าในกรณีที่เกิดการชนกันของสัญญาณเกิดขึ้นหรือในกรณีแย่งกันเข้าใช้สายสัญญาณ

.

มาตรฐาน EIA-485 มีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับระบบงานที่มีเครื่องวัดและ PLC หลายตัวที่ถูกเชื่อมต่อบนสายสัญญาณที่เป็นบัสเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีความระมัดระวังอย่างเป็นพิเศษในการคอนฟิกหรือตั้งค่าซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันไม่ให้หลายอุปกรณ์ส่งข้อมูลหรือแอกตีฟไดรฟ์เวอร์ในเวลาเดียวกัน วิธีการที่ใช้กันส่วนใหญ่จะกำหนดให้อุปกรณ์หรือโหนดใดโหนดหนึ่งทำตัวเป็นมาสเตอร์ (Master)

.

เช่นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลคอยควบคุมตัวรับตัวส่งหรือโหนดอื่นให้แอกตีฟตัวไดรฟ์เวอร์เฉพาะช่วงเวลาที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น การส่งข้อมูลโดยใช้สายสัญญาณสองเส้นจะไม่ต้องการตัวเทอร์มิเนเตอร์ (Terminator) ถ้าเวลาในการส่งจากปลายข้างหนึ่งถึงปลายอีกด้านหนึ่ง (ประมาณ 200 เมตรที่ 1µS) น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของระยะเวลาที่สัญญาณเปลี่ยนจากลอจิก 0 เป็นลอจิก 1  

.

ดังนั้นสรุปภาพรวมได้ว่าระบบสื่อสารที่ไม่ต้องการตัวเทอร์มิเนเตอร์คือระบบสื่อสารที่มีระยะสายสั้นหรือใช้อัตราการส่งข้อมูลต่ำ ถ้าส่งข้อมูลด้วยอัตราการส่งข้อมูลค่อนข้างสูงหรือมีระยะสายสัญญาณที่ค่อนข้างยาวแล้ว การใช้ตัวเทอร์มิเนเตอร์ที่มีค่าเหมาะสมถือว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

.

ค่าความต้านทานของตัวเทอร์มิเนเตอร์ (ที่ถูกติดตั้งที่แต่ละปลายของสายสัญญาณ) ควรจะมีค่าเท่ากับค่าอิมพีแดนซ์ของสายสัญญาณ โดยปกติจะใช้ค่าความต้านทานอยู่ที่ 120 โอห์ม สำหรับสายคู่พันเกลียว รูปที่ 1 แสดงการเชื่อมต่อทั่วไปโดยใช้สายสัญญาณ 2 เส้น ควรพึงจำไว้ว่าจะต้องต่อตัวเทอร์มิเนเตอร์ไว้ที่ปลายสองด้านเท่านั้น ไม่ไช่ต่อไว้ที่จุดระหว่างกลางสายสัญญาณ 

.

รูปที่ 1 การต่อแบบมัลติดรอปโดยใช้สายสัญญาณสองเส้น

.

มาตรฐาน EIA-485 ยังสามารถถูกเชื่อมต่อในรูปแบบสายสัญญาณ 4 เส้น ดังรูปที่ 2 ในการเชื่อมต่อแบบนี้จำเป็นต้องมีหนึ่งโหนดที่เป็นมาสเตอร์และโหนดอื่นต้องเป็นสเลฟ โหนดมาสเตอร์สามารถติดต่อสื่อสารกับโหนดสเลฟหลายตัวได้ แต่โหนดสเลฟสามารถสื่อสารกับโหนดมาสเตอร์ได้เท่านั้น โหนดสเลฟไม่สามารถรับส่งสัญญาณไปยังโหนดสเลฟตัวอื่น ๆ

.

รูปที่ 2 การต่อแบบมัลติดรอปโดยใช้สายสัญญาณสี่เส้น

.

ในสภาพการทำงานปกติจะมีช่วงเวลาที่ตัวส่งสัญญาณอยู่ในสภาวะ "ปิด" และสายสัญญาณอยู่ในสภาวะว่างหรือไอเดิล หรือสภาวะไฮ-อิมพีแดนซ์ซึ่งค่าความต้านทานสูง ในสภาวะนี้สภาพของสายสัญญาณจะรับสัญญาณรบกวนได้ง่ายและมันสามารถตรวจจับสัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นไปมาได้แล้วทำให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารได้โดยเฉพาะที่มีซิงเกิลไบต์เมสเซจ (Single-Byte Message) ถ้าระบบ EIA-485 ใดที่มีปัญหาเช่นนี้มันควรถูกติดตั้งตัวต้านทานเพื่อทำการไบแอส (Bias Resister) แสดงดังรูปที่ 3 จุดประสงค์ของไบแอสรีซิสเตอร์ไม่ไช่มีเพียงเพื่อลดการรบกวนของสัญญาณรบกวนแต่มันยังทำให้สภาวะไอเดิลมีความเสถียรขึ้นในกรณีที่ไม่มีข้อมูลที่จะส่ง

.

สำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าวระดับแรงดันไฟฟ้าที่คร่อมตัวต้านทาน 120 โอห์ม ที่เป็นเทอร์มิเนเตอร์ต้องไม่เกิน 200 mV และค่าแรงดันไฟฟ้าที่เทอร์มินอล A ต้องน้อยกว่าที่เทอร์มินอล B จำไว้ในใจว่า 2 ตัวต้านทานขนาด 120 โอห์ม จะต่อในรูปแบบขนาน ค่าไบแอสรีซิสเตอร์สามารถถูกคำนวณได้โดยใช้กฏของโอห์ม สำหรับไฟเลี้ยง 5 V และมีตัวเทอร์มิเนเตอร์ขนาด 120 โอห์ม ค่าของไบแอสรีซิสเตอร์ขนาด 560 โอห์ม จะเพียงพอ เหล่านี้ต้องตั้งสมมุติฐานว่าไบแอสรีซิสเตอร์จะต้องถูกติดตั้งเพียงโหนดใดโหนดหนึ่งเท่านั้น

.

บางระบบหรือบางอุปกรณ์ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดอาจใช้ค่าความต้านทานที่สูงกว่าสำหรับตัวไบแอสรีซิสเตอร์โดยตั้งสันนิษฐานว่าโหนดทุกโหนดหรือมีจำนวนหลายโหนดมีการติดตั้งตัวไบแอสรีซิสเตอร์ ในกรณีนี้ค่าความต้านทานของไบแอสรีซิสเตอร์ในรูปแบบการต่อขนานจะต้องมีค่าน้อยเพียงพอที่ทำให้แน่ใจว่ามีค่าแรงดันไฟฟ้าขนาด 200 mV คร่อมระหว่างสายสัญญาณ A และ B ตัวไดรฟ์เวอร์หรือตัวส่งตามมาตรฐาน

.

รูปที่ 3 การต่อแบบมัลติดรอปโดยใช้สายสัญญาณสี่เส้น

.

EIA-485 ถูกออกแบบให้สามารถสื่อสารกับโหนดได้จำนวนสูงสุดที่ 32 โหนด ข้อจำกัดนี้สามารถก้าวข้ามได้โดยการใช้ตัวรีพีตเตอร์ต่อเข้ากับระบบซึ่งเมื่อข้อมูลเกิดขึ้นไม่ว่าฝั่งใดของตัวรีพีตเตอร์ ข้อมูลจะถูกส่งไปยังอีกฝั่งทันที ตัวรีพีตเตอร์จะทำการสร้างสัญญาณใหม่ที่ระดับแรงดันไฟฟ้าเต็มพิกัด ดังนั้น 31 โหนดที่เพิ่มสามารถถูกเชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย ในรูปที่ 4 แสดงการใช้มาตรฐาน EIA-485 ต่อด้วยตัวรีพีตเตอร์แบบ 2 ทิศทาง (Bi-Direction)

.

ขาพินสำหรับกราวด์หรือ GND ของตัวส่งควรถูกเชื่อมต่อกับระดับลอจิกอ้างอิงหรือศักย์ไฟฟ้าอ้างอิง (รู้จักคือกราวด์วงจรหรือวงจรรวม) ไม่ว่าจะเป็นการต่อตรงหรือต่อผ่านตัวต้านทานขนาด 100 โอห์ม ขนาด 1/2 วัตต์ จุดประสงค์ของตัวต้านทานคือจำกัดกระแสไหลในกรณีที่เกิดศักย์ไฟฟ้าที่มีความแตกต่างตรงจุดต่อลงดิน ข้อมูลเพิ่มเติมนั้นคือลอจิกอ้างอิงอาจจะได้จากการเชื่อมต่อเข้ากับตัวกล่องผ่านตัวต้านทาน 100 โอห์ม ขนาด 1/2  วัตต์

.

ในทางกลับกันกล่องเคสจะถูกเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบกราวด์ ถ้ากราวด์แต่ละโหนดถูกเชื่อมต่อกันอย่างเหมาะสมถูกต้อง แล้วเส้นสัญญาณที่ 3 ที่ลากขนานคู่ไปกับเส้นสัญญาณ A และ B ในทางเทคนิคแล้วจะไม่มีความจำเป็น อย่างไรก็ตามเพื่อความแน่ใจ บางระบบได้เพิ่มสายสัญญาณเส้นที่ 3 ดังรูปที่ 2 ถ้ามีการใช้สายสัญญาณที่ 3 ตัวรีซิสเตอร์ที่ใช้ในแต่ละปลายทั้งด้านควรจะมีค่า 100 โอห์ม 1/2 วัตต์ 

.

ดรอปหรือสเปอร์ (Spur) ที่เป็นสายสัญญาณระหว่างบัสและโหนดควรมีระยะสั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ การมีสเปอร์ที่ยาวนั้นสร้างค่าอิมพีแดนซ์ที่ไม่เหมาะสมจนอาจเกิดการสะท้อนของสัญญาณที่ไม่ต้องการ ปริมาณการสะท้อนของสัญญาณที่สามารถถูกทนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับอัตราความเร็วในการส่งข้อมูล ที่ความเร็ว 50 kbps ความยาวของสเปอร์ควรอยู่ที่ 30 เมตร 

.

ในขณะที่ 10 mbps ความยาวของสเปอร์ไม่ควรเกิน 30 เซนติเมตร ตามความจริงการมีสเปอร์อยู่บนบัสเป็นเรื่องที่ไม่ดีเพราะอาจเกิดการไม่สอดคล้องของค่าอิมพีแดนซ์ ส่งผลทำให้เกิดการสะท้อนของสัญญาณ ดังนั้ถ้าจำเป็นต้องมีสเปอร์ต้องทำให้สเปอร์สั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ 

.

สำหรับระบบที่ใช้มาตรฐาน EIA-485 และบอกว่าใช้รูปแบบการเชื่อมต่อแบบดาวหรือสตาร์ (Star) นั้น อันที่จริงแล้วไม่ใช่สตาร์โทโปโลยี เพราะถ้าระบบเป็นแบบสตาร์จริงต้องมีอุปกรณ์ประเภทฮับหรือสวิตช์เป็นศูนย์กลางของเครือข่าย การเชื่อมต่อแบบสตาร์ของ EIA-485 อันที่จริงก็คือการเชื่อมต่อแบบบัสที่มีความยาวสั้นมากๆ และมีสเปอร์ที่ยาวมากซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการสะท้อนของสัญญาณ ดังนั้นอัตราการส่งข้อมูลที่ได้จะไม่สูง  

.

รูปที่ 4 การต่อแบบเครือข่ายโดยใช้ตัวรีพีตเตอร์

.

ค่าเทรสโชลด์ (Decision Threshold) ที่ใช้ในการตัดสินใจของตัวรับหรือตัวรีซีฟเวอร์ใน EIA-485 จะอยู่ที่ 400 mV (0.4V) ซึ่งเป็นค่าเดียวกันที่ใช้ในมาตรฐาน EIA-422 และ EIA-423 ดังแสดงในรูปที่ 5

.

รูปที่ 5 ช่วงสัญญาณที่สามารถแยกแยะได้ใน EIA-485/422 และ 423

.
การแก้ไขปัญหา (Troubleshooting)
1. ข้อมูลเบื้องต้น

EIA-485 เป็นมาตรฐานที่ใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันสำหรับการเชื่อมต่อแบบมัลติดรอป เหตุผลเพราะว่ามันทนต่อสัญญาณรบกวนและสามารถส่งข้อมูลได้ความเร็วสูงถึง 10 mbps EIA-485 สามารถส่งข้อมูลได้ระยะทางไกล (5 km ที่ 1200 bps, 1200 m ที่ 90 kps) และยังใช้งานได้ง่ายราคาถูก

.

ตัวไดรฟ์เวอร์และรีซิฟเวอร์ของ EIA-485 นั้นคือชิปแบบผลต่าง (Differential Chip) นั้นหมายความว่า Tx และ Rx สามารถใช้อ้างอิงซึ่งกันและกันได้ ถ้าไดรฟ์เวอร์ตัวหนึ่งกำลังส่งข้อมูลบิตค่าเท่ากับ 1 แล้วสายสัญญาณเส้นหนึ่งขาพินมีระดับแรงดันไฟฟ้าที่ +5 V อีกเส้นหนึ่งจะมีแรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 0 V ถ้าบิตค่าเท่ากกับ 0 ถูกส่งแล้วระดับแรงดันไฟฟ้าก็จะสลับกันสายสัญญาณที่มีแรงดันไฟฟ้า +5 V ก็จะเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าเป็น 0 V และสายที่มีระดับแรงดันไฟฟ้าเป็น 0 V ก็จะเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าเป็น +5 V

.

ในทางปฏิบัติระดับแรงดันไฟฟ้าที่แตกต่างและสามารถถูกแยกแยะนำไปใช้งานได้อยู่ที่ประมาณ +/- 2 V ส่วนแรงดันไฟฟ้าที่ไม่สามารถถูกแยกแยะได้อยู่ในช่วง +/- 200 mV ถ้าระบบเครือข่ายมีจำนวนโหนดไม่เกิน 32 อุปกรณ์ก็สามารถต่อกันได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้รีพีตเตอร์ บางระบบที่มีขนาดใหญ่อาจจะมีถึง 5 ช่วงหรือ 5 เซกเมนต์โดยมีตัวรีพีตเตอร์จำนวน 4 ตัว และจะมีจำนวนโหนดได้มากถึง 160 อุปกรณ์ต่อหนึ่งระบบเครือข่าย   

.

รูปที่ 6 ชิป IC สำหรับ EIA-485

.

บางครั้งตัวต้านทานที่ถูกใช้บน EIA-485 สามารถลดสัญญาณรบกวนและการเกิดแรงดันไฟฟ้าร่วม รวมทั้งการสะท้อนของสัญญาณ ไบแอสรีซิสเตอร์อาจจะมีค่า 560 โอห์ม ถึง 4000 โอห์ม บางครั้งอาจจะช่วยลดสัญญาณรบกวนได้ ตัวต้านทานที่ต่อกับขั้ว B+ จะถูกต่อเข้ากับจุดที่มีแรงดันไฟฟ้า 5 V ที่อีกปลายด้านหนึ่ง และสำหรับขั้ว A+ ตัวต้านทานจะถูกต่อลงกราวด์

.

แรงดันไฟฟ้าที่สูงกว่านี้ไม่ควรนำมาใช้เพราะถ้าค่าเกิน 12 V จะทำให้ระบบสื่อสารล้มเหลว โชคไม่ดีบางครั้งตัวต้านทานที่ต่อสามารถเพิ่มสัญญาณรบกวนต่อระบบสื่อสารอันเนื่องจากมันสร้างเส้นทางให้สัญญาณรบกวนนั้นขึ้นมาจากระบบดิน ดังนั้นเป็นการดีที่สุดที่ไม่ควรใส่ไบแอสรีซิสเตอร์ยกเว้นผู้ผลิตอุปกรณ์นั้นระบุไว้ 

.

ตัวต้านทานแรงดันไฟฟ้าร่วม (Common Mode Voltage Resister) ส่วนใหญ่มักจะมีค่าอยู่ระหว่าง 100 กิโลโอห์ม และ 200 กิโลโอห์ม ค่าที่จะใช้เปลี่ยนแปลงตามระดับแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำบนสายสัญญาณ ค่าตัวต้านทานควรเท่ากันหรือสูงที่สุดเท่าที่เป็นได้ และต่อระหว่างคู่สายสัญญาณแต่ละเส้นเข้ากับกราวด์

.

แรงดันไฟฟ้าร่วมควรถูกรักษาระดับให้ไม่น้อยกว่า 7 V วัดจากแต่ละเส้นสัญญาณกับกราวด์ ย้ำอีกครั้งบางเวลาตัวต้านทานนี้สามารถเพิ่มสัญญาณรบกวนต่อระบบโดยการที่มันสร้างเส้นทางให้สัญญาณรบกวนมาจากดิน มันจึงเป็นการดีที่สุดที่จะไม่ต่อตัวต้านแรงดันไฟฟ้าร่วมเช่นกัน แต่ก็ยกเว้นถ้าผู้ผลิตอุปกรณ์นั้นระบุว่าต้องใช้ตัวต้านทานดังกล่าว

.

ค่าตัวต้านทานเทอร์มิเนเตอร์ขึ้นกับประเภทของสายสัญญาณโดยปกติจะมีค่า 120 โอห์ม (ค่าต่ำกว่า 120 โอห์ม ไม่ควรถูกนำมาใช้เพราะว่าชิปไดรฟ์เวอร์โดยทั่วไปถูกออกแบบให้ขับโหลดตัวต้านทานไม่น้อยกว่า 54 โอห์ม) ค่า 120 โอห์ม เป็นค่าที่ได้จากการคำนวณของสองตัวต้านทานที่ต่อเทอร์มิเนชั่นร่วมกับค่าสเตรย์รีซิสเตอร์ที่ต่อแบบขนานกับวงจรตัวต้านทานจะถูกต่อไว้ระหว่างสายสัญญาณ (ที่ไกล้ 2 ปลายมากที่สุดไม่ไช่ระหว่างช่วงกลางของแนวสายสัญญาณ) เพื่อลดการสะท้อนของสัญญาณ ถ้าสายสัญญาณยาวน้อยกว่า 100 เมตร และใช้ความเร็วในการส่งข้อมูลที่ 9600 หรือน้อยกว่าตัวต้านทานของเทอร์มิเนเตอร์จะไม่มีความจำเป็น แต่อย่างไรก็ดีควรทำตามข้อแนะนำของผู้ผลิต 

.
2. EIA-485 กับ EIA-422

ในทางปฏิบัติ EIA-485 และ EIA-422 มีความคล้ายคลึงเป็นอย่างมากและผู้ผลิตอุปกรณ์มักใช้ชิป IC ตัวเดียวกันหรือเบอร์เดียวกันในการผลิตอุปกรณ์ต่างกันที่จำนวนชิป IC เท่านั้น ความแตกต่างหลักก็คือ EIA-485 ใช้สายสัญญาณเพียง 2 เส้นแบบมัลติดรอปส่งสัญญาณแบบฮาล์ฟดูเพล็กซ์ ส่วน EIA-422 ใช้สายสัญญาณ 4 เส้นและเป็นการส่งสัญญาณแบบฟูลดูเพล็กซ์ ผู้ผลิตมักใช้ชิปที่ทำงานในลักษณะเดียวกับชิป IC เบอร์ 75154 หรือ 75176 โดยถ้าเป็น EIA-485 จะใช้เพียงตัวเดียว และถ้าเป็น EIA-422 จะใช้ชิป 2 ตัว โดยที่ชิปตัวหนึ่งทำหน้าที่ส่ง และอีกตัวหนึ่งทำหน้าที่รับ 

.

เพราะว่าชิปที่ใช้ในระบบ EIA-485 มีสามสถานะ Tx, Rx, ไฮ-อิมพีแดนซ์ ตัวไดรฟ์เวอร์ที่ถูกใช้เป็นตัวส่งสามารถถูกเปลี่ยนสภาวะเป็นไฮ-อิมพีแดนซ์เมื่อตัวไดรฟ์เวอร์นั้นไม่ต้องการส่งข้อมูลโดยส่วนใหญ่จะใช้สัญญาณ RTS (Ready to Send) จากมาตรฐาน RS-232 ในการเปลี่ยนแปลงสถานะเมื่อสัญญาณ RTS แอกตีฟ สถานะไฮ-อิมพีแดนซ์จะถูกยกเลิกเพื่อพร้อมส่งข้อมูลหรือสัญญาณ ส่วนทางด้านตัวรับหรือรีซีฟเวอร์จะเปิดรับสัญญาณเสมอ วิธีการนี้สามารถลดสัญญาณรบกวนเนื่องจากเสมือนว่ามีอุปกรณ์เข้ากับบัสจำนวนน้อย ณ เวลาเดียวกัน

.
3. การติดตั้ง EIA-485

กฏการติดตั้งของ EIA-485 จะเปลี่ยนแปลงไปตามผู้ผลิต ถึงขณะนี้ยังไม่มีมาตรฐานสำหรับตัวคอนเน็กเตอร์สำหรับระบบงานที่ใช้มาตรฐาน EIA-485 มันเป็นการค่อนข้างยากที่จะนิยามขั้นตอนการติดตั้งถึงแม้ผู้ผลิตส่วนใหญ่มีลักษณะการติดตั้งที่คล้ายคลึงกัน ประเภทคอนเน็กเตอร์ที่มักถูกใช้คือคอนเน็กเตอร์แบบสกรูหรือใช้นอตในการยึดสาย

.

แต่ก็มีบางผู้ผลิตใช้คอนเน็กเตอร์แบบ DB-9 โชคไม่ดีที่คอนเน็กเตอร์แบบ DB-9 ถูกออกแบบให้สายสัญญาณหนึ่งเส้นต่อเข้ากับขาพินเพียง 1 พิน การต่อแบบมัลติดรอปต้องการต่อเชื่อมสายสัญญาณไปยังอุปกรณ์ตัวอื่นหลายหลายตัวซึ่งเป็นเรื่องง่ายสำหรับคอนเน็กเตอร์แบบสกรูแต่เป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับคอนเน็กเตอร์แบบ DB-9 การใช้คอนเน็กเตอร์แบบสกรู

.

สายสัญญาณจากสองอุปกรณ์ควรถูกพันเกียวเข้าด้วยกันก่อนที่จะถูกสอดเข้าไปในช่องของคอนเน็กเตอร์และขันสกรูให้แน่นเพื่อยึดสายสัญญาณ สำหรับคอนเน็กเตอร์แบบ DB-9 สายสัญญาณจากสองอุปกรณ์จะถูกพันก่อนที่จะถูกบัดกรีเข้าสายสัญญาณเส้นที่สามที่ปลายด้านหนึ่งถูกบัดกรีเข้ากับขาพินของคอนเน็กเตอร์

.

รูปที่ 7 รูปการเข้าสายที่เทอร์มินอลที่ไม่เหมาะสม

.
ปัญหาที่เกิดกับ EIA-485 ในการติดตั้งส่วนใหญ่จะเกิดได้ค่อนข้างยากแต่ก็ยังมีปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในขั้นตอนการติดตั้งซึ่งมีดังต่อไปนี้
     * เกิดการสลับสายสัญญาณ
     * การเชื่อมต่อหลวมหรือไม่ดีพอเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการติดตั้ง
     * การที่มีสิ่งรบกวนทางไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปในสภาพแวดล้อม
     * ปัญหาเกี่ยวกับแรงดันไฟฟ้าร่วม
     * การสะท้อนของสัญญาณเนื่องจากการไม่มีตัวเทอร์มิเนเตอร์หรือการมีตัวเทอร์มิเตอร์ที่ไม่เหมาะสม
     * ชีลด์ไม่ดี หรือทำการกราวด์ไม่ถูกต้อง หรือไม่มีการเชื่อมต่อลงดินในแต่ละอุปกรณ์
     * การต่อสายสัญญาณแบบสตาร์หรือแบบทีที่มีสเปอร์ค่อนข้างยาว
.

เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการบังเอิญสลับสายสัญญาณควรมีการตรวจสอบสีสายที่เข้ากับคอนเน็คเตอร์ทุกตัวมีการเข้าสีสายตรงกันหรือไม่ ตรวจสอบคู่มือของผู้ผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับรหัสสีสายที่ถูกต้องกับระบบงาน ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพนักงานที่ติดตั้งได้รับการสอนหรืออบรมขั้นตอนการติดตั้งเพื่อทำให้โอกาสที่สายสัญญาณหลุดสายสัญญาณหลวมมีโอกาสน้อยที่สุด

.
4. ปัญหาเกี่ยวกับสัญญาณรบกวน

EIA-485 เป็นวงจรผลต่างซึ่งส่งสัญญาณแบบสมดุลทำให้สามารถทนต่อสัญญาณรบกวนแบบร่วมของคู่สายสัญญาณได้ดี แต่ยังมีสภาวะที่สัญญาณรบกวนสามารถเข้ามารบกวนวงจรตามมาตรฐาน EIA-485 ดังนี้

.
     * สัญญาณรบกวนเหนี่ยวนำที่ส่งผลกระทบสายสัญญาณเพียงเส้นใดเส้นหนึ่ง
     * ปัญหาแรงดันไฟฟ้าร่วมแบบคอนมอนโหมด
     * การสะท้อนของสัญญาณ
     * ความไม่สมดุลของสายสัญญาณ
     * การชีลด์ที่ไม่ถูกต้อง
.
* สัญญาณรบกวนแบบเหนี่ยวนำ

สัญญาณรบกวนจากภายนอกสามารถเป็นสาเหตุทำให้ระบบสื่อสารของ EIA-485 ล้มเหลว ถึงแม้ระดับแรงดันไฟฟ้าที่ใช้ใน EIA-485 จะน้อยประมาณ +/- 5V แต่เนื่องจากเอาต์พุตที่ตัวรับต้องการเป็นผลต่างแรงดันไฟฟ้าของทั้งสองสายสัญญาณ ดังนั้นแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำที่เกิดขึ้นบนทั้งสองสายสัญญาณยังทำให้ผลต่างแรงดันไฟฟ้ายังประมาณเท่าเดิม คุณสมบัตินี้ทำให้ EIA-485 ทนต่อสัญญาณรบกวน

.

แต่อย่างไรก็ตามระบบสื่อสารจะล้มเหลวถ้าแรงดันไฟฟ้าที่ได้จากการรบกวนมีค่าสูงกว่าหรือต่ำกว่าช่วงแรงดันไฟฟ้าทำงานตามมาตรฐาน EIA-485 ที่ได้ระบุไว้ สัญญาณรบกวนสามารถตรวจสอบได้โดยการเปรียบเทียบข้อมูลที่ส่งออกกับอีกปลายทางด้านฝั่งรับ โปรโตคอลอะนาไลเซอร์จะถูกเชื่อมต่อเข้ากับที่ปลายฝั่งส่งและเฝ้าตรวจสอบความถูกต้อง ถ้าข้อมูลยังถูกต้องแล้วโปรโตคอลอะนาไลเซอร์จะถูกเปลี่ยนมาต่อกับอีกปลายด้านหนึ่งนั้นก็คือฝั่งรับนั่นเอง   

.

เมื่อตรวจสอบความถูกต้องแล้วพบว่าข้อมูลเสียหายหรือไม่ถูกต้องที่ด้านฝั่งรับแล้วอาจจะแสดงว่าสัญญาณรบกวนจากภายนอกอาจเป็นสาเหตุของปัญหา ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่ามีสัญญาณรบกวนเหนี่ยวนำทั้งสายสัญญาณ A และ B มันอาจจะเป็นวิธีการดีที่สุด คือการย้ายสายสัญญาณ EIA-485 ออกห่างจากแหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวน

.

สัญญาณรบกวนที่มาก มักจะเกิดจากการวางสายหรือลากสายสัญญาณ EIA-485 ใกล้กับสายไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าไหลเป็นปริมาณสูง อีกอย่างที่เป็นไปได้ก็คือการติดตั้งระบบกราวด์ที่ไม่ถูกต้องบนชีลด์ของสายสัญญาณ มาตรฐานการติดตั้งควรถูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเมื่อมีการวางสายเข้าใกล้กับสายสัญญาณหรือสายไฟฟ้าของระบบอื่น บางผู้ผลิตแนะนำให้ติดตั้งไบแอสรีซิสเตอร์เพื่อจำกัดผลกระทบจากการรบกวนจากระบบอื่น แต่บางผู้ผลิตก็ไม่แนะนำให้ติดตั้งไบแอสรีซิสเตอร์ จะทำอย่างไรก็ทำตามผู้ผลิตอุปกรณ์นั้น ๆ ถ้าใช้แล้วเกิดมีปัญหาก็ให้ทดลองทำตรงกันข้ามกัน

.
* สัญญาณรบกวนแบบคอมมอนโหมด

ปัญหาสัญญาณรบกวนแบบคอมมอนโหมด มักจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงระดับแรงดันกราวด์ ระดับแรงดันกราวด์สามารถเปลี่ยนเมื่ออุปกรณ์ที่มีกระแสสูงถูกเปิดใช้งานหรือถูกปิด กระแสไฟฟ้าจำนวนมากสามารถเป็นสาเหตุให้ระดับไฟฟ้าของกราวด์ที่สายสัญญาณ A และสายสัญญาณ B ใช้อ้างอิงถูกเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถ้าระดับแรงดันไฟฟ้าบนสายสัญญาณ A และ B ถูกเพิ่มขึ้นหรือลดลงและออกนอกช่วงของค่าสูงสุดและต่ำสุดตามที่ผู้ผลิตระบุไว้ มันสามารถทำให้ตัวรีซีฟเวอร์ทำงานผิดพลาดได้

.

เหล่านี้สามารถทำให้อุปกรณ์เกิดสภาวะโฟลวหรือลอยและไม่สามารถทำงานได้ถูกต้อง บ่อยครั้งถ้าแรงดันไฟฟ้าคอมมอนโหมดมีค่าสูงเพียงพอ มันอาจจะเป็นสาเหตุทำให้อุปกรณ์หรือโมดูลในอุปกรณ์ชำรุดได้ ค่าแรงดันไฟฟ้านี้สามารถถูกวัดได้โดยใช้มัลติมิเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นแรงดันไฟฟ้าระหว่างขาสัญญาณ A กับกราวด์ หรือเส้นสัญญาณ B กับกราวด์

.

ถ้ามีแรงดันไฟฟ้าดังกล่าวเกินค่าที่ระบุไว้ในมาตรฐานหรือในคู่มือที่ระบุในอุปกรณ์นั้น ดังนั้นการใช้ตัวต้านทานขนาด 100 โอห์มถึง 200 โอห์มต่อเข้ากับสายสัญญาณ A กับกราวด์ และสายสัญญาณ B กับกราวด์อาจกลายเป็นสิ่งที่จำเป็น มันจะเป็นการดีที่จะเริ่มต้นต่อที่ค่าตัวต้านทานที่มีค่ามากและตรวจสอบระดับแรงดันไฟฟ้าคอนมอนโหมด ถ้ามันยังสูงอยู่ก็ให้ลดค่าของตัวต้านทานและก็ตรวจสอบแรงดันคอมมอนโหมดอีกครั้งจนกว่าได้ค่าแรงดันที่ต้องการ

.

ตามทฤษฎีแล้วแรงดันไฟฟ้าคงที่ สายสัญญาณ A ควรมีค่าใกล้เคียงศูนย์ และแรงดันไฟฟ้าที่สายสัญญาณ B ควรอยู่ระหว่าง 2 ถึง 6 โวลต์ มันเป็นเรื่องไม่ปกติสำหรับบางผู้ผลิต ระบุแรงดันไฟฟ้าคอมมอนโหมดอยู่ที่ +12V และ -7V แต่ก็เป็นการดีถ้าเราระบุค่าให้ใกล้เคียงกับทฤษฎี อย่างไรก็ตามควรปฏิบัติตามข้อแนะนำของผู้ผลิตสำหรับค่าตัวต้านทานของคอมมอนโหมดหรือไม่ก็ไม่ติดตั้งเลย

.

รูปที่ 8 ตัวต้านทานคอมมอนโหมด

.

จำไว้ว่าเมื่อต่อใช้ไบแอสรีซิสเตอร์ที่ A หรือ B และทำให้แรงดันไฟฟ้าสูงกว่า 12 V หรือต่ำกว่า -7 V อาจจะทำให้ตัวไดรฟ์เวอร์สัญญาณ EIA-485 ชำรุดได้มันจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำตามข้อแนะนำของผู้ผลิต

.
* การสะท้อนของสัญญาณหรือริงกิ้ง

การสะท้อนของสัญญาณจะเกิดที่ตำแหน่งปลายของสายสัญญาณ และอาจทำความเสียหายต่อตัวสัญญาณจริงได้ โดยส่วนใหญ่การสะท้อนของสัญญาณมักจะมีผลต่ออุปกรณ์ที่อยู่ ณ ตำแหน่งใกล้ ๆ ปลายสายสัญญาณ การสะท้อนของสัญญาณสามารถถูกตรวจสอบได้โดยใช้ออสซิลโลสโคปที่ไม่ต่อลงกราวด์โดยวัดค่าสายสัญญาณ A และ B

.

สัญญาณที่ถูกตรวจสอบจะมีรูปร่างแบบริงกิ้ง (Ring) โดยได้ทำการซูเปอร์อิมโพสบนสัญญาณสแควร์เวปของตัวสัญญาณจริง ตัวต้านทานเทอร์มิเนเตอร์ที่มีค่า 120 โอห์มมักถูกต่อที่ปลายสายสัญญาณเพื่อลดการสะท้อนสัญญาณ วิธีการนี้มีความสำคัญถ้าใช้อัตราความเร็วในการส่งข้อมูลสูงหรือในสายสัญญาณที่มีระยะสายที่ยาว

.

รูปที่ 9 สัญญาณริงกิ้ง

.
* การไม่สมดุลของสายสัญญาณ

การที่สายสัญญาณไม่สมดุลจริง ๆ แล้วไม่ทำให้เกิดสัญญาณรบกวน แต่มันทำให้สายสัญญาณสามารถรับสัญญาณรบกวนได้ง่ายขึ้น สายสัญญาณที่สมดุลจะมีค่าคาปาซิแตนซ์ และค่าอินดักแตนซ์ที่สมดุล ถ้าความไม่สมดุลเสียไป สายสัญญาณจะถูกรบกวนจากสัญญาณรบกวนได้โดยง่าย มีไม่กี่สาเหตุที่จะทำให้สายสัญญาณ EIA-485 เกิดการไม่สมดุล

.
     * การใช้สตาร์โทโปโลยี (Star Topology)
     * การใช้ทีโทโปโลยี (Tee Topology)
     * การใช้สายสัญญาณที่ไม่สมดุลโดยตัวมันเอง
     * ตัวทรานสมิตเตอร์หรือตัวรีซีฟเวอร์เสียหาย
.

ในความเป็นจริงไม่ควรใช้ระบบ EIA-485 ที่ต่อแบบสตาร์หรือทีโทโปโลยี ถ้ามีอุปกรณ์ใหม่ต่อเพิ่มระหว่างตัวโหนดอื่น สายสัญญาณควรต่อเข้าและออกจากเทอร์มินอลสัญญาณไม่ใช่แค่ใช้สายสัญญาณเพียงคู่เดียว โทโปโลยีของ EIA-485 ควรเป็นดังรูปที่ 10 

.

รูปที่ 10 การเชื่องต่ออุปกรณ์แบบทั่วไปตาม EIA-485

.

รูปที่ 11 การต่ออุปกรณ์เพิ่มใน EIA-485 บัส

.

ระยะทางระหว่างปลายสายสัญญาณปลอกแล้วที่ต่อเข้าอุปกรณ์ระหว่างมีชีลด์และตัวคอนเน็กเตอร์ไม่ควรมากกว่า 10 mm. หรือ 1/2 นิ้ว ที่ปลายสายสัญญาณควรปอกสายให้พอดีกับการเข้าสายในตัวคอนเน็กเตอร์โดยไม่ควรโผล่เนื้อสายตัวนำออกนอกตัวคอนเน็กเตอร์ สายสัญญาณควรถูกบิดเกลียวอย่างแน่นก่อนที่จะถูกใส่ในช่องสกรู การโผล่ของเนื้อสายสัญญาณอาจจะทำให้โอกาสในการถูกรบกวนจากสัญญาณภายนอกมากเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น

.
* การชีลด์ (Shielding)
ตัวเลือกในการชีลด์สำหรับ EIA-485 มีดังต่อไปนี้
     *  สายโลหะถัก (Braided)
     *  สายแผ่นฟอยล์พร้อมสายเดรนไวร์ (Foil with Drain Wire)
     *  อาร์เมอร์ (Armored) หรือมีเกราะหุ้มสาย
.

ในทางปฏิบัติความแตกต่างในการลดสัญญาณรบกวนในสองข้อแรกจะไม่ค่อยแตกต่างมากนัก เพราะสายถักและสายฟอยล์จะให้การป้องกันในระดับเดียวกันสำหรับการป้องกันสัญญาณรบกวนแบบคาปาซิตีฟ ส่วนในตัวเลือกที่สามมีความแตกต่างอย่างชัดเจนโดยเฉพาะในการป้องกันสัญญาณรบกวนจากการเหนี่ยวนำคลื่นสนามแม่เหล็ก สายที่มีอาร์เมอร์จะแพงกว่าสายถักและสายฟอยล์เป็นอย่างมาก ดังนั้นสายถักและสายฟอยล์จึงได้รับความนิยมมากกว่า ส่วนการจะเลือกสายถักดีหรือสายฟอยล์ดีขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล                         

.
5. อุปกรณ์ทดสอบ

เมื่อต้องทดสอบและแก้ไขปัญหาบนระบบ EIA-485 จึงมีความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องมือให้ถูกต้อง โชคไม่ดีนักที่มีเครื่องในการทดสอบไม่กี่ชิ้นสำหรับการทดสอบ EIA-485 อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบเป็นประจำนั้นคือ มัลติมิเตอร์, ออสซิลโลสโคป และโปรโตคอลอะนาไลเซอร์

.
*  มัลติมิเตอร์
มัลติมิเตอร์สามารถตรวจสอบ 3 ค่าพื้นฐานที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาและวิเคราะห์ระบบ EIA-485
     1. ตรวจสอบความต่อเนื่องทางไฟฟ้าของตัวนำสัญญาณ
     2. วัดแรงดันไฟฟ้าในสภาวะไอเดิลหรือสภาวะว่าง
     3. วัดระดับแรงดันไฟฟ้าคอมมอนโหมด
 .
*  ตรวจสอบความต่อเนื่องทางไฟฟ้าของสายสัญญาณ

มัลติมิเตอร์สามารถถูกใช้ในการตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อตรวจหาสองสายสัญญาณลัดวงจรถึงกันหรือสายสัญญาณขาดซึ่งมีขั้นตอนการตรวจสอบดังต่อไปนี้

 .

     * ตรวจสอบว่าเปิดแหล่งจ่ายไฟเลี้ยงหรือไม่
     * ตรวจสอบว่าสายสัญญาณถูกถอดจากตัวอุปกรณ์หรือไม่
     * ตรวจสอบสายสัญญาณว่าถูกเชื่อมต่อถึงกันทั้งแนวสายในกรณีที่มีตู้มาแชลลิ่ง (Mashalling)
     * ปรับมิเตอร์ให้อยู่ในโหมดการตรวจสอบความต่อเนื่องทางไฟฟ้า
     * วัดความต่อเนื่องระหว่างสายสัญญาณ A และ B
     * ตรวจสอบว่ามันไม่เชื่อมต่อถึงกัน
     * ต่อสายสัญญาณ A และ B เข้าหากันที่ปลายสายสัญญาณ
     * ตรวจสอบว่าสัญญาณต่อถึงกันหรือไม่
     * แยกสายออกจากกันเมื่อพึงพอใจในคุณภาพของสายสัญญาณ

 .

ถ้าสายสัญญาณทั้งสองเส้นต่อถึงกันก่อนที่จะมีการต่อโดยผู้ทดสอบ นั้นหมายความว่าเราควรตรวจสอบว่ามีสาย A ต่อเข้าสายสัญญาณ B โดยผิดพลาดตรงไหนหรือไม่ ในทางปฏิบัติระหว่างการติดตั้งเราจะใช้สายสัญญาณคนละสี สัญญาณ A สีหนึ่งสายสัญญาณ B อีกสีหนึ่ง วิธีการนี้จะลดโอกาสการไขว้สลับสายสัญญาณโดยไม่ได้ตั้งใจหรือโดยบังเอิญ

 .
* การวัดแรงดันไฟฟ้าในสถานะว่าง

ในสภาวะว่าง มาสเตอร์จะส่งสัญญาณโลจิก '1' และสามารถถูกอ่านได้โดยทุกทุกโหนดในระบบ ค่าแรงดันไฟฟ้าที่อ่านได้ระหว่างสายสัญญาณ A และสายสัญญาณ B มักอยู่ระหว่าง -1.5 V ถึง -5 V (A เทียบกับ B) ถ้าผลการวัดแรงดันไฟฟ้าเป็นบวกมันอาจจะเกิดการวัดเทียบที่ไม่ถูกต้อง ขั้นตอนในการวัดแรงดันไฟฟ้าในสถานะว่างมีดังต่อไปนี้

 .
     * ตรวจว่ามีการแหล่งจ่ายไฟเลี้ยง
     * ตรวจสอบว่าทุกโหนดถูกเชื่อมต่อกับบัส
     * ตรวจสอบว่าโหนดที่เป็นมาสเตอร์ไม่ได้ส่งคำสั่งออกมาหรือทำการโพลลิ่ง (Polling)
     * วัดแรงดันไฟฟ้าที่ขั้ว A- และ B+ ที่โหนดมาสเตอร์
     * วัดและบันทึกแรงดันไฟฟ้าในแต่ละโหนด
 .

ถ้าแรงดันไฟฟ้าเป็นศูนย์ ให้เอาโหนดมาสเตอร์ออกจากระบบ แล้วตรวจสอบแรงดันไฟฟ้าในสภาวะว่าง ถ้าแรงดันไฟฟ้าในสภาวะว่างถูกต้อง ให้ต่อโหนดอื่นทีละโหนด โหนดใดที่ต่อแล้วแรงดันไฟฟ้าเท่าศูนย์โหนดนั้นจะเป็นโหนดที่เป็นสาเหตุของปัญหา 

 .
* การวัดแรงดันไฟฟ้าคอมมอนโหมด

แรงดันไฟฟ้าคอมมอนโหมดควรถูกวัดในแต่ละโหนดรวมทั้งโหนดมาสเตอร์ การวัดคือการเทียบสายสัญญาณทีละเส้นระหว่าง A เทียบกับกราวด์ และ B เทียบกับกราวด์ วัตถุประสงค์ของการวัดเพื่อตรวจว่าแรงดันไฟฟ้าคอมมอนโหมดใกล้เคียงกับค่าที่อุปกรณ์ทนได้สูงสุดหรือไม่ มันเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องทราบถึงแรงดันไฟฟ้าคอมมอนโหมด ในระบบปกติแรงดันไฟฟ้าคอมมอนโหมดจะอยู่ที่ +12 ถึง -7V ขั้นตอนในการวัดแรงดันไฟฟ้าคอมมอนโหมดมีดังต่อไปนี้

 .

     * ตรวจสอบว่าระบบมีแหล่งจ่ายไฟเลี้ยง
     * วัดและบันทึกค่าแรงดันไฟฟ้าระหว่างขั้ว A กับกราวด์ และ B กับกราวด์ ในแต่ละโหนด
     * ตรวจสอบระดับแรงดันไฟฟ้าอยู่ในช่วงตามที่ผู้ผลิตระบุหรือไม่

 .

ถ้าแรงดันไฟฟ้าที่ได้ใกล้เคียงหรือเกินค่าที่อุปกรณ์ทนได้แล้วให้ปรึกษาผู้ผลิตอุปกรณ์นั้น ๆ หรือติดตั้งตัวต้านทานระหว่างแต่ละสายสัญญาณกับกราวด์เฉพาะที่โหนดที่มีปัญหา และสมควรที่จะเริ่มติดตั้งตัวต้านทานที่ค่า 100 กิโลโอห์ม 1/4วัตต์ และลดขนาดลงเรื่อย ๆ จนค่าแรงดันไฟฟ้าคอมมอนโหมดเป็นไปตามที่ต้องการ แต่อย่างไรค่าความต้านทานทั้งสองตัวควรมีค่าเท่ากัน

 .
* ออสซิลโลสโคป
ออสซิลโลสโคปถูกใช้สำหรับ
     * การจำแนกสัญญาณรบกวน
     * การตรวจสอบสัญญาณริงกิ้ง
     * การตรวจสอบการส่งผ่านข้อมูล
 .
* การจำแนกสัญญาณรบกวน

ถึงแม้ออสซิลโลสโคปไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุดในการวัดค่าสัญญาณรบกวน แต่มันก็ดีพอในการตรวจจับสัญญาณรบกวนบางชนิด เหตุผลที่ออสซิลโลสโคปไม่ดีพอสำหรับการตรวจจับสัญญาณรบกวนเพราะว่าตัวมันเป็นเสมือนโวลท์มิเตอร์แบบ 2 มิติความแตกต่างจากผลกระทบของสัญญาณรบกวนที่เป็นอัตราส่วนกำลังสัญญาณกับกำลังสัญญาณรบกวนจะถูกวิเคราะห์ได้ยาก

 

ออสซิลโลสโคปจะมีประโยชน์ในการวิเคราะห์สัญญาณรบกวนที่เกิดขึ้นในลักษณะคงที่ทางความถี่ ออสซิลโลสโคปไม่สามารถตรวจสอบสัญญาณรบกวนแบบที่เกิดไม่คงที่ สัญญาณวิทยุความถี่สูงหรืออัตราส่วนของกำลังไฟฟ้าของสัญญาณข้อมูลและสัญญาณรบกวน

 
* สัญญาณริงกิ้ง

ริงกิ้งเกิดจากการสะท้อนของสัญญาณที่ปลายของสายสัญญาณ มันเกิดขึ้นบ่อยครั้งกับระบบที่สายสัญญาณมีความยาวและอัตราการส่งข้อมูลมีความเร็วสูง ออสซิลโลสโคปจะแสดงสัญญาณริงกิ้งเป็นรูปสัญญาณสแควร์เวฟที่บิดเบี้ยว ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นการแก้ไขสัญญาณริงกิ้งคือการปิดหัวท้ายของสายสัญญาณด้วยตัวต้านทาน การทดสอบสายสัญญาณว่ามีสัญญาณริงกิ้งสามารถทำได้โดยการใช้ออสซิลโลสโคป 2 ช่องวัดความแตกต่างโดยใช้โหมด A-B ดังต่อไปนี้

 

     * ต่อสายโพรบของออสซิลโลสโคปเข้ากับสายสัญญาณ A และ B
     * เซตอัพระยะแสดงผลของออสซิลโลสโคปในแนวดิ่งประมาณ 2 V ต่อช่อง
     * เซตอัพระยะแสดงผลออสซิลโลสโคปในแนวระนาบให้สามารถแสดงลูกคลื่นสแควร์เวฟได้ทั้งลูกคลื่น
     * สร้างสัญญาณโดยเครื่องมือทดสอบในระดับ TTL ที่อัตราการส่งข้อมูลที่เหมาะสม บางทีข้อมูลสามารถสร้างได้โดยโหนดมาสเตอร์แต่สัญญาณที่เกิดจะไม่แน่นอน
     * ตรวจสอบว่าฟอร์มลูกคลื่นบิดเบี้ยวหรือไม่

 
* การส่งผ่านข้อมูล

การทดสอบอีกอย่างในการใช้ตัวออสซิลโลสโคปคือการตรวจสอบการส่งผ่านข้อมูล อันนี้สามารถทำได้โดยใช้วิธีการเดียวกันกับการตรวจสัญญาณริงกิ้ง โดยการให้โหนดมาสเตอร์ส่งข้อมูลให้โหนดสเลฟ ความแตกต่างคือการปรับระดับแนวนอนให้แสดงข้อมูลแพ็คเก็ตได้ทั้งหมด

 
* โปรโตคอลอะนาไลเซอร์

โปรโตคอลอะนาไลเซอร์เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับการตรวจสอบแพ็คเก็ตข้อมูลที่อยู่ในระบบสื่อสารจริง ๆ โปรโตคอลอนาไลเซอร์จะมาในสองรูปแบบคือฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โปรโตคอลอะนาไลเซอร์แบบฮาร์ดแวร์มีความหยืดหยุ่นสูงสามารถเฝ้าตรวจสอบ บันทึกปูมการทำงาน และแปลความหมายของโปรโตคอลหลาย ๆ ชนิด เมื่อใช้ตัวโปรโตคอลอนาไลเซอร์ต่อเข้ากับบัส    

 

ปัญหาหลาย ๆ ปัญหาสามารถถูกตรวจสอบเจอหรือสามรถแก้ไขได้ ดังต่อไปนี้
     * อัตราบอดเรตไม่ถูกต้อง
     * ข้อมูลผิดพลาด
     * ผลกระทบจากสัญญาณรบกวน
     * การเข้าจังหวะเวลาไม่ถูกต้อง
     * ปัญหาเกี่ยวกับโปรโตคอลสื่อสาร

 

ข้อด้อยของโปรโตคอลแบบฮาร์ดแวร์คือราคาที่ไม่สอดคล้องกับความบ่อยครั้งในการใช้ ราคาอาจจะเริ่มที่ 15,000 ถึง 3,000,000 บาท และอาจจะใช้แค่หนึ่งครั้งหรือสองครั้งต่อปี โปรโตคอลอะนาไลเซอร์แบบซอฟต์แวร์จะราคาถูกกว่าและมีคุณสมบัติเกือบเท่าเทียมกับโปรโตคอลอะนาไลเซอร์ที่เป็นฮาร์ดแวร์ โดยมันเป็นเพียงซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ PC ธรรมดา 

 

รวมทั้งคอมพิวเตอร์แบบโน้ตบุ๊กและข้อมูลจะไหลผ่านสายสัญญาณแบบอนุกรมที่เป็นตัวคอนเวอร์เตอร์เข้าสู่คอมพิวเตอร์ เพราะว่ามันใช้ฮาร์ดแวร์ที่จัดหาง่ายนั้นคือคอมพิวเตอร์ดังนั้นมันจึงมีราคาถูกกว่า โปรโตคอลอะนาไลเซอร์แบบซอฟต์แวร์สามารถทำงานเกือบทุกอย่างที่โปรโตคอลอะนาไลเซอร์แบบฮาร์แวร์ทำได้ยกเว้นที่อัตราความเร็วการส่งข้อมูลมาก ๆ 

 

ขั้นตอนการใช้งานของโปรโตคอลอะนาไลเซอร์มีดังต่อไปนี้
     * ตรวจสอบว่าเปิดใช้งานระบบและมาสเตอร์ได้ทำการโพลลิ่งหรือไม่
     * เซตอัพโปรโตคอลอะนาไลเซอร์ด้วยบอดเรตที่ถูกต้องรวมทั้งพารามิเตอร์อื่น ๆ
     * ต่อโปรโตคอลอะนาไลเซอร์กับบัสสื่อสาร
     * เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหา

 
ตัวคอนเวอร์เตอร์แบบอนุกรม

ตัวคอนเวอร์เตอร์แบบอนุกรมก็เป็นตัวที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นตัวที่เปลี่ยนรูปแบบการเชื่อมต่อ EIA-232 ไปเป็นมาตรฐานอื่นที่ดีกว่าหรือใช้งานได้ดีกว่าในสภาพแวดล้อมนั้น ๆ เช่น EIA-485 หรือ EIA-422 ยังมีอุปกรณ์มากมายในโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังใช้พอร์ต EIA-232 มันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้คอนเวอร์เตอร์เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ ตัวคอนเวอร์เตอร์สามารถใช้เพิ่มระยะทางระหว่างอุปกรณ์ที่มีพอร์ต EIA-232 ติดมาตั้งแต่แรก อีกอย่างตัวคอนเวอร์เตอร์ถูกใช้โดยโปรโตคอลอะนาไลเซอร์

 

อย่างไรก็ดีมีประเภทคอนเวอร์เตอร์ที่มักถูกใช้ดังต่อไปนี้
     *  EIA-232/422
     *  EIA-232/485
     *  EIA-232/Current Loop

 

รูปที่ 12 แสดง EIA-232/EIA-485 คอนเวอร์เตอร์

 

การส่งสัญญาณแบบ Current Loop เป็นเทคนิคที่ค่อนข้างดีกว่าการส่งสัญญาณโดยใช้แรงดันไฟฟ้า แต่ต้องใช้สายสัญญาณเป็นคู่สำหรับการส่งและการรับกระแสไฟฟ้า

 

ระดับกระแสไฟฟ้าที่ 20 mA จนถึง 60mA ถูกใช้เป็นตัวแทนสัญญาณโลจิค "1" และกระแสไฟฟ้าที่มีค่าเท่ากับศูนย์ใช้เป็นตัวแทนสัญญาณลอจิก "0" การใช้สัญญาณแบบกระแสสามารถส่งสัญญาณได้ระยะทางไกลกว่าสัญญาณแบบแรงดันไฟฟ้าเพราะในทางทฤษฎีจะไม่มีการดรอปในสายสัญญาณและสามารถทนต่อสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าได้ดีกว่าจึงสามารถสัญญาณส่งได้ไกลสูงถึง 1 km ณ บอดเรตที่ไม่สูงมากนัก รูปที่ 13 แสดงถึงการเชื่อมต่อแบบ Current Loop

 

รูปที่ 13 การเชื่อมต่อแบบ Current Loop ที่ระดับกระแส 20 mA

 

รูปที่ 14 วงจรของคอนเวอร์เตอร์แบบ EIA-232/EIA-485

 

ตัวคอนเวอร์เตอร์แบบ EIA-232/EIA-422 และ EIA-232/EIA-485 จะค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกันมัก คอนเวอร์เตอร์เหล่านี้จะรับไฟเลี้ยงภายนอกโดยมักจะเป็นกระแสสลับ เช่น 240V แต่คอนเวอร์เตอร์ขนาดเล็กต้องใช้ไฟเลี้ยงกระแสตรง 12 Vจากพินที่ 9 และ พินที่ 10 ของพอร์ต EIA-232 สำหรับระบบงานอุตสาหกรรมการใช้เลี้ยงจากแหล่งจ่ายภายเป็นสิ่งที่ควรใช้เพราะว่าตามมาตรฐาน EIA-232 ไม่ถูกออกแบบให้ส่งไฟเลี้ยงบนสายสัญญาณสื่อสาร บนตัวคอนเวอร์เตอร์ส่วนใหญ่มีหลอด LED ซึ่งมีไว้แสดงสถานะสัญญาณเข้าออกทั้งใน EIA-232 และ EIA-485

 

รูปที่ 15 การไวริ่งตัวคอนเวอร์เตอร์แบบ EIA-232/ EIA-485

 

เมื่อต้องส่งข้อมูลระยะไกลคุณสมบัติที่ต้องการใช้คือออปติกไอโซเลเตอร์โดยเฉพาะพื้นที่ที่อัตราการฟ้าผ่าสูงเนื่องจากสายสัญญาณยิ่งยาวยิ่งมีโอกาสถูกฟ้าผ่ามากหรือไม่ก็ถูกเหนี่ยวนำจากกระแสของฟ้าผ่า

 

อีกอย่างถึงแม้อุปกรณ์ไม่ได้โดยฟ้าผ่าโดยตรงแต่เนื่องจากศักย์ไฟฟ้าที่ดินได้ถูกยกขึ้น (ERP: Earth Potential Rise) ในบริเวณรอบ ๆ อุปกรณ์ก็เพียงพอในการทำความเสียหายบนตัวอุปกรณ์ทั้งสองด้าน บางคุณสมบัติของไอโซเลเตอร์ระบุว่าสามารถทนต่อสัญญาณที่มีแรงดันมากกว่า 10 kV แต่คุณสมบัติแบบนี้มักต้องการวิธีการติดตั้งที่พิเศษ  

 
โดยทั้วไปข้อกำหนดคุณสมบัติที่ดีของคอนเวอร์เตอร์ EIA-232/EIA-422 หรือ EIA-232/EIA-485 มีดังต่อไปนี้
     * อัตราการส่งข้อมูลสูงสุด 1 mbps
     * มีสวิตช์สำหรับการเลือกประเภทว่าจะเป็น DCE หรือ DTE
     * สามารถแปลงข้อมูลได้ทั้งหมดรวมทั้งสัญญาณควบคุม
     * มี LED สำหรับแสดงสถานะของสัญญาณข้อมูลรวมทั้งสัญญาณควบคุม
     * รับไฟเลี้ยงภายนอกแบบกระแสสลับ
     * มีตัวออปโตไอโซเลเตอร์
     * ใช้คอนเน็กเตอร์แบบ DB-25 หรือ DB-9
 
และข้อกำหนดคุณสมบัติโดยทั่วไปสำหรับคอนเวอร์เตอร์แบบ EIA-232/Current Loop มีดังต่อไปนี้
     * ทำงานที่ระดับกระแส 20 mA หรือ 60 mA
     * มีสวิตช์เลือกประเภทเป็น DCE หรือ DTE
     * มีสวิตช์เลือกการทำงานแบบฟูลดูเพล็กซ์หรือฮาล์ฟดูเพล็กซ์
     * สนับสนุนงานทั้งแบบแอคทิฟและพาสซีฟ
     * มีออปโตไอโซเลเตอร์
     * ใช้ไฟเลี้ยงภายนอกแบบ AC
     * อัตราการส่งข้อมูลอยู่ที่ 19200 kbps ที่ระยะ 3 km
     * ใช้คอนเน็กเตอร์แบบ DB-25 สำหรับ EIA-232
     * ใช้คอนเน็กเตอร์แบบสกรู 5 ช่อง สำหรับกระแสลูป
 
1. การแก้ปัญหาเกี่ยวกับตัวคอนเวอร์เตอร์

ขั้นตอนในการตรวจสอบและการแก้ปัญหาสำหรับตัวคอนเวอร์เตอร์มีความคล้ายคลึงกับการแก้ปัญหา EIA-232 และ EIA-485 เนื่องจากตัวคอนเวอร์เตอร์ใช้โครงสร้างพื้นฐานของ EIA-232 และ EIA-485 นั้นเองแต่ก็มีส่วนเพิ่มเติมเล็กน้อย และสิ่งที่ควรถูกตระหนักคือการใช้คอนเวอร์เตอร์ที่ไม่มีไอโซเลเตอร์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการฟ้าผ่าสูง ขั้นตอนการตรวจสอบมีดังต่อไปนี้

 
*  ตรวจสอบตัวคอนเวอร์เตอร์ว่ามีไฟเลี้ยงสมบูรณ์

ถ้าไม่มีไฟเลี้ยงให้คอนเวอร์เตอร์หรือระบบไฟเลี้ยงมีความเสียหาย หลอด LED จะไม่เปล่งแสงสว่าง โดยทั่วไปถ้ามันเป็นปกติจะเปล่งแสงเป็นสีเขียว บางคอนเวอร์เตอร์จะมี LED แสดงสถานะไฟเลี้ยงเฉพาะและมักจะมีสีเขียว ในขณะเชื่อมต่อและส่งสัญญาณไปมา หลอด LED ที่แสดงสถานะไฟเลี้ยงควรเปล่งแสง หลอด LED ของสัญญาณ DCD ,CTS ,RTS ควรไฟติด      

 

แต่ไฟแสดงการรับและการส่งควรดับติดสลับกันไป แต่ถ้ามีการทำลูปแบ็คและส่งสัญญาณ หลอด LED รับและส่งควรติดหรือกระพริบทั้งคู่พร้อม ๆ กัน และถ้ามีอุปกรณ์ส่งข้อมูลเช่น Hyperterminal ก็จะเห็นข้อมูลที่ตัวเองส่งออกไปกลับเข้ามาตามจังหวะการพิมพ์ นี้คือวิธีการทดสอบที่ดีวิธีหนึ่ง

 

*  การส่งสัญญาณเข้าเครือข่าย
ทางด้าน EIA-485 จะต้องมีหลอด LED แสดงการส่งสัญญาณเข้าไปในเครือข่าย ในระบบมัลติดรอปจะมีเพียงโหนดเดียวเท่านั้นที่ส่งข้อมูล ณ เวลาใด ๆ มิฉะนั้นจะเกิดการช่วงชิงในการเข้าใช้ระบบเครือข่ายและทำให้ข้อมูลเสียหาย

 
*  การตั้งค่าจัมเปอร์
ถึงแม้การตั้งจัมเปอร์มักจะตั้งภายในตัวคอนเวอร์เตอร์และเป็นค่าดีฟอลต์จากโรงงานแต่บางครั้งผู้ใช้มีความจำเป็นที่ต้องตั้งค่าตามการใช้งานจริง เช่นการตั้งค่าให้สัญญาณ RTS เป็นตัวเปลี่ยนโหมดการรับส่งข้อมูลใน EIA-485

*  เฟลเซฟเทอร์มิเนชั่น
โดยปกติตัวส่งข้อมูลทางด้าน EIA-485 จะหยุดทำงานถ้าอุปกรณ์ทางด้าน EIA-232 ได้ถูกถอดออกจากตัวคอนเวอร์เตอร์ วิธีการทดสอบคือการถอดอุปกรณ์ทางด้าน EIA-232 และสังเกตุไฟเน็ตเวิร์กทางด้าน EIA-485 ดับหรือไม่ เพราะว่าถ้ามันไม่หยุดทำงานทางฝั่ง EIA-485 มันอาจจะเป็นตัวดึงสัญญาณให้ผิดเพี้ยนได้

.
*  การตั้งค่า DTE/DCE
 ควรตรวจสอบการตั้งค่าเกี่ยวกับ DTE/DCE การตั้งค่าไม่ถูกต้องไม่ได้ทำให้อุปกรณ์เสียหาย แต่จะทำให้อุปกรณ์ไม่ทำงานตามปกติ
.
สรุป

ในบทความนี้ได้กล่าวถึงมาตรฐานในการส่งข้อมูลที่คาบเกี่ยวกับระดับฟิสิคอลและดาต้าลิงก์ซึ่งเป็นการส่งข้อมูลแบบอนุกรม และใช้ได้ดีในงานอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ดี ยังมีการส่งแบบอนุกรมอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นที่ปรารถนาของผู้ใช้และผู้ออกแบบนั้นคือ การส่งข้อมูลโดยใช้สัญญาณแสงบนสายใยแก้วนำแสง ซึ่งผู้เขียนจะกล่าวในบทความถัดไป โปรดติดตามนะครับ

.

เอกสารอ้างอิง

1. J.E Goldman and P.T Rawles, Applied Data Communications. Addison-Wesley, New York,2001
2. J. Fulcher, an Introduction to Microcomputer Systems: Architecture and Interfacing. Addison-Wesley, Sydney,1989
3. S. Mackay, E. Wright, D. Reynders and .J Park, Practical Industrial Data Network: Design, Installation and Troubleshooting. IDC Technologies, Perth,2004
4. J.R. Vacca, High-speed Cisco Networks: Planning, Design, and Implemention. CRC Press LLC, Florida,2001       

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด