เนื้อหาวันที่ : 2009-07-14 18:43:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7384 views

การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร (ตอนจบ)

กิจการที่มีสภาพแวดล้อมในการผลิตแบบร่วมสมัยซึ่งรวมถึงการปรับปรุงเทคนิคการผลิตให้มีลักษณะการทำงานแบบอัตโนมัตินั้นย่อมมีความแตกต่างไปจากกิจการที่มีสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานแบบดั้งเดิม เช่น สภาพแวดล้อมในการผลิตที่มีเครื่องจักรทำงานแบบอัตโนมัติย่อมส่งผลทำให้สัดส่วนของต้นทุนค่าแรงงานมีความสำคัญลดลง และต้นทุนผันแปรอาจจะเหลือเพียงต้นทุนวัตถุดิบเท่านั้น ภายใต้สภาพแวดล้อมการผลิตแบบร่วมสมัยในลักษณะดังกล่าวนั้นการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา,
wiwatapi@gmail.com  

.
ความเสี่ยงในการดำเนินงาน

กิจการที่มีสภาพแวดล้อมในการผลิตแบบร่วมสมัยซึ่งรวมถึงการปรับปรุงเทคนิคการผลิตให้มีลักษณะการทำงานแบบอัตโนมัตินั้นย่อมมีความแตกต่างไปจากกิจการที่มีสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานแบบดั้งเดิม เช่น สภาพแวดล้อมในการผลิตที่มีเครื่องจักรทำงานแบบอัตโนมัติย่อมส่งผลทำให้สัดส่วนของต้นทุนค่าแรงงานมีความสำคัญลดลง และต้นทุนผันแปรอาจจะเหลือเพียงต้นทุนวัตถุดิบเท่านั้น

.

หรือในบางกรณีอุตสาหกรรมประเภทผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์หรือชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ต้นทุนวัตถุดิบมีสัดส่วนน้อยมากในขณะที่ต้นทุนคงที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนรวมทั้งหมด ภายใต้สภาพแวดล้อมการผลิตแบบร่วมสมัยในลักษณะดังกล่าวนั้นการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญอย่างมาก

.

เนื่องจากอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนของต้นทุนคงที่มากกว่า ค่าความเสี่ยงในการดำเนินงานจะมีสูงกว่า ทั้งนี้จำนวนหน่วยผลิตและขายจะมีอิทธิพลที่สำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงระดับกำไรจากการดำเนินงาน ในทางตรงกันข้ามอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนผันแปรในสัดส่วนที่สูงกว่า ค่าความเสี่ยงในการดำเนินงานจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า เนื่องจากจำนวนหน่วยผลิตและขายจะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับกำไรจากการดำเนินงานในระดับที่ต่ำกว่าด้วย   

.
ตัวอย่างที่ 16

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลการดำเนินงานของกิจการอุตสาหกรรม 2 ประเภท โดยกิจการ A เป็นกิจการที่ทำการผลิตแบบอัตโนมัติทำให้ต้นทุนคงที่มีค่ามาก ต้นทุนผันแปรต่อหน่วยมีค่าน้อย ส่วนกิจการ B เป็นกิจการที่ใช้ทักษะแรงงานทำให้ต้นทุนผันแปรต่อหน่วยมีค่าสูง ต้นทุนคงที่มีค่าน้อย

.
รายการ

กิจการ A
การผลิตแบบอัตโนมัติ

กิจการ B
การผลิตแบบดั้งเดิม

ต้นทุนคงที่ต่อปี (บาท)

1,000,000

300,000

ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย (บาท)

4

18

ราคาขายต่อหน่วย (บาท)

24

24

กำไรส่วนเกินต่อหน่วย (บาท)

20

6

.
จากข้อมูลข้างต้นคำนวณหาจำนวนหน่วยขาย ณ จุดคุ้มทุนของทั้งสองกิจการเปรียบเทียบกันได้ดังนี้
กิจการ A
.
กิจการ B
.

ผลการคำนวณจะเห็นได้ว่า กิจการทั้งสองมีจุดคุ้มทุนในการดำเนินที่หน่วยผลิตและขายเท่ากันคือ 50,000 หน่วย อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาผลการดำเนินงานที่ระดับหน่วยผลิตและขาย 0 หน่วย 25,000 หน่วย 50,000 หน่วย 75,000 หน่วย และ 100,000 หน่วยของทั้งสองกิจการ สามารถแสดงเปรียบเทียบกันได้ดังตารางที่ 7 และตารางที่ 8 ต่อไปนี้

.
ตารางที่ 7 ผลการดำเนินงานกิจการ A

กิจการ A

หน่วยขาย

0
หน่วย

25,000
หน่วย

50,000
หน่วย

75,000
หน่วย
100,000
หน่วย
รายได้จากการขาย 0 600,000 1,200,000 1,800,000 2,400,000
หัก ต้นทุนผันแปร 0 100,000 200,000 300,000 400,000
กำไรส่วนเกิน 0 500,000 1,000,000 1,500,000 2,000,000
หัก ต้นทุนคงที่ 1,000,000 1,000,000 1,000,000 1,000,000 1,000,000
กำไรจากการดำเนินงาน (1,000,000) (500,000) 0 500,000 1,000,000
.

ตารางที่ 8 ผลการดำเนินงานกิจการ B

กิจการ B

หน่วยขาย

0
หน่วย

25,000
หน่วย

50,000
หน่วย

75,000
หน่วย

100,000
หน่วย

รายได้จากการขาย

0

600,000

1,200,000

1,800,000

2,400,000

หัก ต้นทุนผันแปร

0

450,000

900,000

1,350,000

1,800,000

กำไรส่วนเกิน

0

150,000

300,000

450,000

600,000

หัก ต้นทุนคงที่

300,000

300,000

300,000

300,000

300,000

กำไรจากการดำเนินงาน

(300,000)

(150,000)

0

150,000

300,000

.

จากข้อมูลการดำเนินงานในตารางที่ 7 และตารางที่ 8 ข้างต้นสามารถนำมาแสดงในลักษณะแผนภาพต้นทุน ปริมาณ กำไร เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงระดับความเสี่ยงที่กิจการจะได้รับอันเนื่องมาจากองค์ประกอบของสัดส่วนต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรในแต่ละกิจการ พิจารณารูปที่ 3 และรูปที่ 4 ต่อไปนี้

.

รูปที่ 3 กราฟแสดงต้นทุน ปริมาณ กำไรของกิจการ A

.

รูปที่ 4 กราฟแสดงต้นทุน ปริมาณ กำไรของกิจการ B

.

เมื่อพิจารณาข้อมูลในตารางและแผนภาพประกอบกันจะเห็นได้ว่าระดับกิจกรรมการผลิตและขายจำนวน 50,000 หน่วยเป็นตำแหน่ง ณ จุดคุ้มทุนของทั้งสองกิจการ แต่ถ้าพิจารณาที่ระดับกิจกรรมการผลิตและขายที่ต่ำกว่า 50,000 หน่วยแล้วจะพบว่ากิจการ A มีผลการดำเนินงานขาดทุนในสัดส่วนที่สูงมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานขาดทุนที่ระดับกิจกรรมเดียวกันของกิจการ B เช่น ที่ระดับกิจกรรมหน่วยผลิตและขาย 25,000 หน่วย

.

กิจการ A มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเกิดขึ้นมากถึง 500,000 บาท แต่กิจการ B กลับมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานเกิดขึ้นเพียง 150,000 บาท ในทางตรงกันข้ามถ้าพิจารณาที่ระดับกิจกรรมการผลิตและขายที่สูงกว่า 50,000 หน่วยจะพบว่ากิจการ A มีผลกำไรจากการดำเนินงานเกิดขึ้นในสัดส่วนที่สูงกว่ากิจการ B เช่น ถ้าพิจารณาที่ระดับหน่วยการผลิตและขายที่ 75,000 หน่วยจะพบว่ากิจการ A มีผลกำไรจากการดำเนินงานเกิดขึ้นมากถึง 500,000 บาทในขณะที่กิจการ B มีผลกำไรจากการดำเนินงานเกิดขึ้นเพียง 150,000 บาทเท่านั้น

.

กิจการที่มีต้นทุนคงที่มากกว่าจะมีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากผลกำไรจากการดำเนินงานจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากระดับกิจกรรมการดำเนินงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ผลกำไรจะสูงมากถ้ากิจการขายสินค้าได้เกินกว่าระดับกิจกรรมของยอดขายที่จุดคุ้มทุน การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรจึงมีความสำคัญอย่างมากในการวางแผนการใช้เทคโนโลยีการผลิตใหม่ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรของกิจการเหล่านั้น

.

ระดับผลกระทบของความเสี่ยงในการดำเนินงานอันเนื่องมาจากยอดขายมีการเปลี่ยนแปลงไปจากแผนงานที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความสัมพันธ์ในสัดส่วนต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่สามารถทำการวัดค่าระดับความเสี่ยงในการดำเนินงานซึ่งเป็นค่าอัตราส่วนของกำไรส่วนเกินเปรียบเทียบกับกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษี เขียนเป็นสูตรได้ดังนี้

.
.
ตัวอย่างที่ 17

จากข้อมูลของกิจการ ABC อุตสาหกรรมในตัวอย่างที่ 3 ตารางที่ 3 สามารถนำข้อมูลผลการดำเนินงานที่ระดับหน่วยการผลิตและขายในปีที่ 1 มาทำการคำนวณหาค่าระดับความเสี่ยงในการดำเนินงานได้ดังนี้

.
.

ค่าระดับความเสี่ยงในการดำเนินงาน 2.0833 เท่ามีความหมายว่าถ้ากิจการ ABC อุตสาหกรรมขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นจากปีแรกไปยังปีที่สองเท่ากับ 20% (75,000/375,000) กำไรจากการดำเนินงานจะเพิ่มขึ้นประมาณ 41.67% (2.0833 เท่า x 20%) อธิบายการคำนวณอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นโดยประมาณ 41.67% แบบง่าย ๆ ในอีกลักษณะหนึ่งโดยนำจำนวนกำไรที่เพิ่มขึ้นหารด้วยกำไรจากการดำเนินงานในที่นี้คือ 45,000 บาท หารด้วย 108,000 บาท

.

ค่าของระดับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่สูงกว่า ชี้ให้เห็นว่ากิจการมีความเสี่ยงในการดำเนินงานสูงกว่า อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของยอดขายที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของกำไร ถ้ายอดขายของกิจการกำลังอยู่ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรืออยู่ในช่วงที่กำลังเติบโตหรือเติบโตเต็มที่

.

ค่าระดับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่สูงกว่ามักจะเป็นที่ต้องการของกิจการมากกว่า ในทางตรงกันข้ามถ้ายอดขายของกิจการเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงลดลงหรืออยู่ในช่วงถดถอย ค่าระดับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ต่ำกว่าน่าจะส่งผลดีต่อกิจการมากกว่า กิจการแต่ละแห่งจึงจำเป็นต้องเลือกรักษาค่าระดับความเสี่ยงในการดำเนินงานให้เหมาะสมกับกลยุทธ์การแข่งขันหรือการดำเนินงานของกิจการ

.

เช่น กิจการที่อยู่ในตำแหน่งที่เป็นผู้นำทางการตลาด กิจการนั้นอาจจะเลือกค่าระดับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่สูงกว่าเนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ที่มีความได้เปรียบของโอกาสในการทำกำไรที่สูงกว่า ส่วนกิจการที่อยู่ในตำแหน่งที่มีความเข้มแข็งทางการตลาดในระดับที่ต่ำกว่าอาจจะเลือกใช้กลยุทธ์ในการรักษาค่าระดับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า เป็นต้น

.
การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรสำหรับผลิตภัณฑ์หลายชนิด

แนวคิดการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นนำไปใช้ในกรณีที่กิจการมีผลิตภัณฑ์เพียงชนิดเดียว แต่ถ้ากิจการมีผลิตภัณฑ์มากกว่าหนึ่งชนิดที่ใช้ต้นทุนคงที่ร่วมกัน แนวคิดของการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรจะมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไร ในส่วนต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงรูปแบบการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรสำหรับผลิตภัณฑ์ 2 ชนิดหรือมากกว่าที่มีการใช้ต้นทุนคงที่ร่วมกัน

.

แนวคิดของการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในประเด็นนี้ต้องการข้อสมมติฐานที่สำคัญประการหนึ่งเพิ่มเติมคือ ยอดขายของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดต้องมีส่วนผสมการขายในระดับที่คงที่อย่างต่อเนื่องหรือมีความสม่ำเสมอโดยตลอดช่วงของการวิเคราะห์ นั่นคือยอดขายของแต่ละผลิตภัณฑ์ยังคงมีสัดส่วนเท่าเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายรวมของทุกผลิตภัณฑ์ 

.

ข้อสมมติเกี่ยวกับสัดส่วนของส่วนผสมของยอดขายที่คงที่ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดจะถูกนำมาใช้เพื่อการคำนวณหากำไรส่วนเกินต่อหน่วยถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก กำไรส่วนเกินต่อหน่วยถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักหรืออัตรากำไรส่วนเกินจะถูกนำมาประเมินค่าหายอดขายรวมที่ทำให้กิจการบรรลุเป้าหมายในการดำเนินงานตามที่ต้องการได้

.
ตัวอย่างที่ 18

ต่อไปนี้ข้อมูลการดำเนินงานของกิจการ AQ อุตสาหกรรมที่ทำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ 3 ชนิด ซึ่งมีต้นทุนคงที่ในการดำเนินงานร่วมกันเท่ากับ 336,000 บาท

.

ผลิตภัณฑ์ ก

ผลิตภัณฑ์ ข

ผลิตภัณฑ์ ค

รวม

ยอดขายปีก่อน

375,000

300,000

75,000

750,000

สัดส่วนการขาย

50%

40%

10%

100%

ราคาขาย

60

64

80

ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย

48

48

72

กำไรส่วนเกินต่อหน่วย

12

16

8

อัตรากำไรส่วนเกิน

20%

25%

10%

.

จากข้อมูลข้างต้นจะต้องทำการคำนวณหาค่าอัตรากำไรส่วนเกินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก โดยนำอัตรากำไรส่วนเกินของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดคูณด้วยสัดส่วนการขายของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด แสดงได้ดังนี้
    อัตรากำไรส่วนเกินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก  = 0.50(0.20) + 0.40(0.25) + 0.10(0.10)
         = 0.21 หรือ 21%

.
ยอดขาย ณ จุดคุ้มทุนสำหรับผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดสามารถคำนวณหาได้ดังนี้ 
.

ยอดขาย ณ จุดคุ้มทุนจำนวน 1,600,000 บาทเป็นยอดขายรวมสำหรับผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 ชนิดที่จะยังคงต้องขายผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดในสัดส่วนเดียวกันกับสัดส่วนที่ทำได้ในปีก่อน ซึ่งจะได้ยอดขายของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดแสดงได้ดังตารางที่ 9 ต่อไปนี้

.

ตารางที่ 9 ยอดขายที่จุดคุ้มทุนของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด

ผลิตภัณฑ์ ก (0.50 x 1,600,000) 800,000 (ประมาณ 13,3334 หน่วย ที่ระดับราคาขาย 60 บาท)
ผลิตภัณฑ์ ข (0.40 x 1,600,000) 640,000 (10,000 หน่วย ที่ระดับราคาขาย 64 บาท)
ผลิตภัณฑ์ ค (0.10 x 1,600,000) 160,000 (2,000 หน่วย ที่ระดับราคาขาย 80 บาท)
รวม

1,600,000

.

จากข้อมูลยอดขายตามส่วนผสมการขายที่แสดงในตารางที่ 9 กิจการจะมีกำไรส่วนเกินที่ตำแหน่งของจุดคุ้มทุนดังกล่าวเท่ากับจำนวนเงินของต้นทุนคงที่ ในที่นี้คลาดเคลื่อนไป 8 บาททั้งนี้เนื่องจากจำนวนหน่วยที่เป็นเศษทศนิยม แสดงการคำนวณกำไรส่วนเกินรวมของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดได้ดังนี้

.
ผลิตภัณฑ์ ก (12 x 13,334) 160,008
ผลิตภัณฑ์ ข (16 x 10,000) 160,000
ผลิตภัณฑ์ ค (8 x 2,000) 16,000
รวม 336,008
.

ในทางปฏิบัตินั้นวิธีการดังกล่าวมักจะถูกนำไปใช้ในกรณีของกิจการที่มีจำนวนผลิตภัณฑ์ไม่มากนัก แต่ถ้าเป็นกิจการที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิดมาก วิธีการที่มีความเหมาะสมมากกว่าในการคำนวณหายอดขาย ณ จุดคุ้มทุนคือการใช้อัตรากำไรส่วนเกินรวมแทนที่จะใช้อัตรากำไรส่วนเกินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก อัตรากำไรส่วนเกินรวมคำนวณโดยใช้จำนวนเงินกำไรส่วนเกินรวมของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดแทนที่จะใช้จำนวนเงินกำไรส่วนเกินต่อหน่วย

.
ข้อสมมติและข้อจำกัดของการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร
     ข้อสมมติและข้อจำกัดของการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร ที่ควรจะต้องตระหนักถึงมีดังนี้
1. การวิเคราะห์เชิงเส้นตรงและช่วงที่มีความเกี่ยวข้อง

แนวคิดของการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรมีข้อสมมติว่ารายได้และต้นทุนมีลักษณะของเส้นกราฟเป็นเส้นตรงตลอดช่วงของระดับกิจกรรมที่มีความหมายต่อการตัดสินใจ แม้ว่าพฤติกรรมต้นทุนที่เกิดขึ้นจะไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นตรงก็ตาม ทั้งนี้เป็นผลมาจากข้อจำกัดของผลผลิตภายในช่วงกิจกรรมหนึ่ง ๆ   

.

ถ้าระดับกิจกรรมของผลผลิตอยู่เกินขอบเขตช่วงกิจกรรมหนึ่ง ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจแล้วต้นทุนรวมที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราปกติที่ได้ประมาณการณ์ไว้ในลักษณะที่เป็นเส้นตรง ข้อควรระวังในประเด็นนี้คือ ในการคำนวณต้นทุน ปริมาณ กำไรในสถานการณ์ใด ๆ นั้นควรจะแน่ใจได้ว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ยังคงอยู่ภายในช่วงที่มีความหมายต่อการตัดสินใจ

.

ต้นทุนที่เป็นขั้น คือพฤติกรรมต้นทุนที่มีลักษณะเป็นขั้นบันได โดยแต่ละขั้นต้นทุนจะมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจภายใต้เงื่อนไขของระดับกิจกรรมหนึ่ง ๆ เท่านั้น ถ้าระดับกิจกรรมในการดำเนินงานเกินกว่าขอบเขตของช่วงที่มีผลต่อการวิเคราะห์ในระดับขั้น ๆ หนึ่งแล้ว มูลค่าต้นทุนที่มีผลต่อการวิเคราะห์จะมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย                            

.
ตัวอย่างที่ 19

กิจการแห่งหนึ่งทำการผลิตและขายผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง ราคาขายหน่วยละ 36 บาท ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย 20 บาท ต้นทุนคงที่เริ่มแรกเท่ากับ 100,000 บาท แต่ต้นทุนคงที่จะเพิ่มขึ้นอีก 100,000 บาทถ้าหน่วยผลิตมากเกินกว่า 5,000 หน่วย ต้นทุนคงที่ที่จ่ายเพิ่มขึ้นนี้จะทำให้ได้มาซึ่งกำลังผลิตสูงสุดถึง 15,000 หน่วย

.

จากข้อมูลข้างต้นสามารถคำนวณหาหน่วยขาย ณ จุดคุ้มทุนในแต่ละช่วงของต้นทุน (ช่วงระดับกิจกรรมที่ต่ำกว่า 5,000 หน่วยและสูงกว่า 5,000 หน่วย) ได้ดังนี้

.
ช่วงระดับกิจกรรมการผลิตและขายที่ต่ำกว่า 5,000 หน่วย
.
ช่วงระดับกิจกรรมการผลิตและขายที่สูงกว่า 5,000 หน่วย
 .

จากผลของการวิเคราะห์จะเห็นได้ว่าไม่พบตำแหน่ง ณ จุดคุ้มทุนที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติถ้าระดับกิจกรรมการผลิตและขายต่ำกว่า 5,000 หน่วย แต่จุดคุ้มทุนจะเกิดขึ้นได้ถ้าระดับกิจกรรมการผลิตและขายสูงเกินกว่า 5,000 หน่วย ตำแหน่งของหน่วยผลิตและขาย ณ จุดคุ้มทุนที่ช่วงนี้คือ 12,500 หน่วย

 .
เมื่อนำข้อมูลข้างต้นมาวาดแผนภาพต้นทุน ปริมาณ กำไร สามารถแสดงผลที่เกิดขึ้นได้ดังรูปที่ 5 ต่อไปนี้
 .
 

รูปที่ 5 กราฟแสดงต้นทุน ปริมาณ กำไรเมื่อต้นทุนมีพฤติกรรมเป็นขั้น

 .

เมื่อพิจารณาจากแผนภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่ากิจการจะยังคงมีผลขาดทุนเกิดขึ้นไปจนถึงระดับหน่วยผลิตและขายที่ 12,500 หน่วย ซึ่งกิจการมีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อระดับหน่วยผลิตและขายที่ลูกค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้น ถ้าพิจารณาถึงศักยภาพในการทำกำไรที่ช่วงกิจกรรม 12,500 หน่วย - 15,000 หน่วย จะพบว่าพื้นที่กำไรมีช่วงที่แคบซึ่งแสดงถึงความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นถ้ากิจการต้องการขยายกำลังการผลิตให้มากเกินกว่า 15,000 หน่วยในครั้งต่อไปควรจะต้องทำการประเมินค่าความสามารถในการทำกำไรใหม่อีกครั้งหนึ่ง

 .
2. การกำหนดค่าต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรที่มีความเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร 

ในสถานการณ์ของการคำนวณหาจุดคุ้มทุนของผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้นทุนคงที่เป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์จุดคุ้มทุนของผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยหรือไม่ เช่น เงินเดือนที่จ่ายให้ผู้บริหารในจำนวนที่เท่าเดิมไม่ว่าผู้บริหารจะตัดสินใจทำการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ก็ตามเป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์หาจุดคุ้มทุนด้วยหรือไม่

 .

ในสถานการณ์นี้ เงินเดือนผู้บริหารจำนวนดังกล่าวเป็นต้นทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์หาจุดคุ้มทุน เนื่องจากต้นทุนจำนวนดังกล่าวยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้นไม่ว่าจะผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ก็ตาม ต้นทุนคงที่ดังกล่าวเป็นต้นทุนในการดำเนินงานของกิจการโดยภาพรวมแต่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรในระยะสั้นของผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าว

 .

ในการวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจในระยะสั้น ต้นทุนคงที่ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์จะต้องเป็นต้นทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป เมื่อสถานการณ์ในการดำเนินงานมีความแตกต่างกัน เช่น ต้นทุนคงที่มีจำนวนแตกต่างไปจากเดิมเมื่อจะทำการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมีความหมายรวมถึงเงินเดือนของพนักงานในสายการผลิตใหม่ เครื่องมือเครื่องจักรที่ต้องลงทุนเพิ่มเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่

 .

ถ้าการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่มีความต้องการต้นทุนคงที่ใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากสินทรัพย์ดำเนินงานและบุคลากรที่มีอยู่เดิมมีกำลังการผลิตที่เพียงพอจะสามารถรองรับการขยายการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นได้ จุดคุ้มทุนในการดำเนินงานใหม่จะเป็นเท่าใด ในการวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจในระยะสั้นนี้จุดคุ้มทุนในการดำเนินงานจะมีค่าเท่ากับศูนย์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ใหม่ไม่จำเป็นต้องมีส่วนเกินของรายได้ให้ครอบคลุมต้นทุนคงที่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น

 .

เนื่องจากไม่มีต้นทุนคงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่ละหน่วยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและขายได้ เริ่มตั้งแต่หน่วยแรก กำไรส่วนเกินที่ได้จะเป็นกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในทันที   ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นการวิเคราะห์เพื่อการตัดสินใจจุดคุ้มทุนในระยะยาว ต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่ทั้งหมดที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตล้วนเป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทั้งสิ้น นอกจากนี้ในการตัดสินใจในระยะยาวนั้นควรจะได้นำวิธีการลดค่ากระแสเงินสดในอนาคตให้เป็นมูลค่าปัจจุบันด้วยเพื่อผลลัพธ์ในการตัดสินใจที่ดีกว่า

.
3. รอบระยะเวลาที่มีต้นทุนเกิดขึ้น

ต้นทุนคงที่ที่นำมาทำการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรนั้นมีทางเลือกในการวิเคราะห์หาจุดคุ้มทุนในการดำเนินงานได้ ทางเลือกหนึ่งคือต้นทุนคงที่ที่นำมาวิเคราะห์นั้นเป็นต้นทุนคงที่ที่ใช้หลักการบัญชีตามเกณฑ์คงค้าง อีกทางเลือกหนึ่งคือต้นทุนคงที่ที่นำมาวิเคราะห์จะได้พิจารณาเฉพาะกระแสเงินสดจ่ายเป็นต้นทุนคงที่เท่านั้น

.

ซึ่งรวมถึง ค่าเช่า ค่าเบี้ยประกันภัย เงินเดือน ค่าภาษีทรัพย์สิน แต่จะไม่รวมรายการต้นทุนคงที่ที่ไม่เป็นเงินสด เช่น ค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ถาวร ค่าตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน เป็นต้น ข้อได้เปรียบของการวิเคราะห์โดยพิจารณาต้นทุนคงที่ที่เป็นกระแสเงินสดที่เกิดขึ้นจริงคือ ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดที่จำเป็นในการดำเนินงานมากกว่า

.

ในขณะที่อีกวิธีการหนึ่งเป็นการนำจำนวนเงินต้นทุนคงที่ตามหลักการบัญชีเกณฑ์คงค้างมาทำการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรโดยให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายที่รายงานในงบกำไรขาดทุนมากกว่า ในการเลือกวิธีการใดนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้บริหารว่าต้องการพิจารณาข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องกับกระแสเงินสดมากกว่า หรือต้องการพิจารณาที่ตัวเลขกำไรตามหลักการบัญชีตามเกณฑ์คงค้างมากกว่า

.
4. ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย

ในการประเมินค่าต้นทุนผันแปรต่อหน่วยนั้น นักวิเคราะห์ต้นทุนจะต้องใช้ความระมัดระวังในการคำนวณรวมต้นทุนผันแปรที่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมด ว่าต้นทุนผันแปรเหล่านั้นไม่ได้หมายความรวมถึงเฉพาะต้นทุนการผลิตผันแปรเท่านั้น แต่ต้นทุนผันแปรในด้านการขาย การจัดจำหน่ายหรืออื่น ๆ เช่น ค่านายหน้า ค่าขนส่งออก ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา เป็นต้น ต้นทุนเหล่านี้ถ้ามีมูลค่ารวมเปลี่ยนแปลงไปตามหน่วยผลผลิตที่มีเปลี่ยนแปลงไป ต้นทุนเหล่านี้จึงต้องรวมคำนวณเป็นต้นทุนผันแปรต่อหน่วยที่มีความเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรด้วย

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด