เนื้อหาวันที่ : 2009-07-08 18:27:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 13424 views

แรงดันตกชั่วขณะกับปัญหาคุณภาพไฟฟ้า (Voltage Sags and Power Quality Problems)

แรงดันตกชั่วขณะ (Voltage Sags) เป็นสิ่งที่เราประสบกันได้ประจำโดยเฉพาะต่างจังหวัดในช่วงฝนตกหรือมีพายุลมแรง โดยสิ่งที่สังเกตได้ก็คือหลอดไฟอาจจะกระพริบ, เครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นโทรทัศน์อาจจะดับ หรืออาจจะไม่ดับแต่ก็สังเกตได้ว่าไฟตกจากการดูจอภาพ เป็นต้น แรงดันตกชั่วขณะเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาคุณภาพไฟฟ้า (Power Quality Problems) ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องประสบ และมีส่วนทำให้เกิดการสูญเสียอื่น ๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยุทธชัย ศิลปวิจารณ์
สาขาวิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

.

.

แรงดันตกชั่วขณะ (Voltage Sags) เป็นสิ่งที่เราประสบกันได้ประจำโดยเฉพาะต่างจังหวัดในช่วงฝนตกหรือมีพายุลมแรง โดยสิ่งที่สังเกตได้ก็คือหลอดไฟอาจจะกระพริบ, เครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นโทรทัศน์อาจจะดับ หรืออาจจะไม่ดับแต่ก็สังเกตได้ว่าไฟตกจากการดูจอภาพ เป็นต้น โดยแรงดันตกชั่วขณะคือแรงดัน RMS ที่มีขนาดลดลงชั่วคราว ตั้งแต่ 0.5 คาบไฟสลับ จนถึง 1 นาที และขนาดแรงดันลดลงอยู่ในช่วง 0.1 PU. จนถึง 0.9 PU. โดย 1 คาบไฟสลับมีค่าเท่ากับ 20 mS ในกรณีระบบไฟฟ้าที่มีความถี่ 50 Hz เช่นประเทศไทย 

.

แรงดันตกชั่วขณะเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาคุณภาพไฟฟ้า (Power Quality Problems) ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องประสบ และมีส่วนทำให้เกิดการสูญเสียอื่น ๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

.
แรงดันตกชั่วขณะและผลกระทบในแง่เศรษฐศาสตร์

การเกิดแรงดันตกชั่วขณะ ก่อให้เกิดปัญหาอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับโหลดที่มีความอ่อนไหวต่อแรงดัน เช่นโหลดที่เป็นอินเวอร์เตอร์ หรือคอนเวอร์เตอร์สำหรับจ่ายกำลังให้กับมอเตอร์ในงานอุตสาหกรรม, คอมพิวเตอร์ในออฟฟิศ เป็นต้น โดยสถานที่ที่สำคัญได้แก่ โรงงานผลิตรถยนต์, อุตสาหกรรมสารกึ่งตัวนำ, อุปกรณ์ถ่ายทอดสัญญาณ, อาคารสำนักงาน, และโรงพยาบาล หรือศูนย์การแพทย์ เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจในสหรัฐอเมริกาพบว่าแรงดันตกชั่วขณะคิดเป็น 92% ของปัญหาคุณภาพไฟฟ้า (Power Quality) [1]

.

ในประเทศไต้หวัน เฉพาะที่ Hsinchu Science-based Industrial Park (HSIP) ได้มีการศึกษาและพบว่าในแต่ละครั้งที่เกิดแรงดันตกชั่วขณะจะเกิดการสูญเสียทางการเงินมูลค่ามากถึง 100,000 เหรียญสหรัฐ จนถึง 1,000,000 เหรียญ [1] ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา สถาบัน EPRI (Electronic Power Research Institute) ได้พบว่ามีการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์เฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่เกิดจากคุณภาพไฟฟ้าที่แย่ ซึ่งมีแรงดันตกชั่วขณะเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดเป็นจำนวนสูงถึงสี่แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี [2] และถึงแม้ว่าจะยังไม่มีผลการศึกษาถึงผลกระทบอันเนื่องมาจากแรงดันตกในประเทศไทย แต่ก็ประมาณได้ว่ามีมูลค่าหลายล้านบาทต่อปี [3] 

.
วิธีแก้ปัญหาจากแรงดันตกชั่วขณะ [4]

วิธีแก้ปัญหาจากแรงดันตกชั่วขณะแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือวิธีการที่ใช้อุปกรณ์สะสมพลังงาน (Energy Storage Devices) และวิธีการที่ไม่ใช้อุปกรณ์สะสมพลังงาน

.
1. วิธีการที่ใช้อุปกรณ์สะสมพลังงาน (Energy Storage Devices)
1.1 การใช้ UPS (Uninterruptible Power Supply) ที่ใช้แบตเตอรี่ 

รูปที่ 1 การใช้ UPS ที่ใช้แบตเตอรี่ แก้ปัญหาไฟตกชั่วขณะ

.

วิธีนี้เป็นวิธีที่เรียบง่าย และใช้กันมากที่สุดในการแก้ปัญหาแรงดันตกชั่วขณะ โดยในสภาวะปกติ แรงดันโหลดจะได้จากสายกำลังหรือ Power Line ของการไฟฟ้าโดยผ่านสวิตช์โอนย้าย (Transfer Switch) โดยมีทางเดินของกำลังไฟฟ้าที่ทางเดินหลัก (Main Path) ซึ่งในสภาวะนี้อินเวอร์เตอร์ หรือ DC/AC Converter จะอยู่ในสภาวะเตรียมพร้อม (Stand by) เมื่อเกิดสภาวะแรงดันตกชั่วขณะ สวิตช์โอนย้ายจะตัดต่อให้โหลดย้ายมารับแรงดันไฟฟ้าจากอินเวอร์เตอร์ที่มีแหล่งจ่ายเป็นแบตเตอรี่แทน โดยมีทางเดินของกำลังไฟฟ้าที่ทางเดินรอง (Alternate Path)

.

ทั้งนี้เราจะสมมุติว่าแบตเตอรี่จะถูกประจุให้เต็มอยู่ตลอดเวลาด้วยวงจรเรียงกระแส หรือ AC/DC Converter  วิธีนี้มีข้อดีที่อินเวอร์เตอร์จะทำงานเฉพาะช่วงที่เกิดแรงดันตกชั่วขณะเท่านั้น ประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมของระบบจึงมีค่าสูง

.

ยังมีอีกวิธีหนึ่งคือการที่ออกแบบให้โหลดรับไฟจากอินเวอร์เตอร์ตลอดเวลาหรือมีชื่อที่บางคนเรียกว่าแบบ Online UPS หรือ True UPS หรือ Double-conversion UPS โดยในสภาวะปกติอินเวอร์เตอร์จะได้แหล่งจ่ายไฟตรงมาจากวงจรเรียงกระแส แต่เมื่อเกิดแรงดันตกชั่วขณะหรือไฟดับ อินเวอร์เตอร์จะรับกำลังไฟฟ้ามาจากแบตเตอรี่แทน แต่วิธีนี้มีข้อเสียในแง่ประสิทธิภาพ เพราะในสภาวะการทำงานปกติจะมีการแปลงผันพลังงานถึงสองต่อ คือวงจรเรียงกระแสและอินเวอร์เตอร์นั่นเอง

.

จุดด้อยของระบบที่ใช้ UPS ที่ใช้แบตเตอรี่นี้คือตัวแบตเตอรี่เอง ที่ต้องการการดูแลรักษาเป็นพิเศษ และแบตเตอรี่มีราคาแพง อายุการใช้งานจำกัด

.
1.2 การใช้ UPS ที่ใช้ฟลายวีล 

รูปที่ 2 การใช้ UPS ที่ใช้ฟลายวีล แก้ปัญหาไฟตกชั่วขณะ

.

วิธีนี้มีหลักการคล้ายกับวิธีแรก แต่ต่างกันตรงที่วิธีในการเก็บพลังงาน โดยวิธีนี้จะเก็บพลังงานเป็นพลังงานกลไว้ที่ฟลายวีลที่หมุนด้วยความเร็วสูง (มากกว่า 3,000 rpm [5]–[7]) โดยที่ขนาดของพลังงานที่เก็บไว้ที่ฟลายวีลนี้จะขึ้นอยู่กับความเฉื่อยและความเร็วของฟลายวีล

.

เมื่อเกิดแรงดันตกชั่วขณะ พลังงานกลที่สะสมไว้นี้จะถูกจ่ายคืนออกมาในรูปของพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ต่ออยู่กับฟลายวีล และผ่านสวิตช์โอนย้ายเพื่อจ่ายพลังงานไปยังโหลด

.

ระบบนี้ไม่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษเช่นวิธีแรก แต่อย่างไรก็ตามยังมีความยุ่งยากในการติดตั้งระบบแบบนี้เนื่องจากต้องการการป้องกันที่ดีจากชิ้นส่วนที่หมุนได้ด้วยความเร็วสูง เช่น ฟลายวีล

.
1.3 การใช้ Superconducting Magnetic Energy Storage Systems (SMES)

รูปที่ 3 การใช้ SMES แก้ปัญหาไฟตกชั่วขณะ

.

ระบบนี้จะคล้ายกับระบบที่ใช้แบตเตอรี่, หรือฟลายวีล แต่จะมีการเก็บพลังงานไว้ที่ Superconducting Magnet ที่มีความสามารถจ่าย (คาย) พลังงานในระดับเมกะวัตต์ และใช้วงจรอินเวอร์เตอร์แปลงผันพลังงานไปยังโหลดในช่วงเกิดแรงดันตกชั่วขณะได้ 

.

จำนวนพลังงานที่เก็บสะสมไว้ที่สนามแม่เหล็กสามารถคำนวณได้ดังนี้
E = 0.5LI2 โดย L คือความเหนี่ยวนำของ Superconducting Magnet ที่รับกระแสขนาดเท่ากับ I
ข้อดีของระบบนี้คือสามารถสะสมและคายพลังงานซ้ำ ๆ ได้สูงมาก แต่ก็มีข้อเสียที่เรื่องของการระบายความร้อนที่ทำให้เพิ่มต้นทุนและเรื่องความปลอดภัย

.
1.4 การใช้ Fuel Cells      

รูปที่ 4 การใช้ Fuel Cells แก้ปัญหาไฟตกชั่วขณะ

.

ดูเหมือนว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องด้วยข้อดีของมันหลายประการ เช่น เป็นมิตรกับธรรมชาติ, ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือสูง, ไม่ต้องการดูแลรักษาเป็นพิเศษ เพราะไม่มีส่วนที่เคลื่อนที่หรือหมุนได้, ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงประเภท Fossil เนื่องจากมันใช้ไฮโดรเจนที่เป็นแหล่งพลังงานปฐมภูมิ

.

ข้อเสียของมันคือไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงโหลดทันทีทันใดได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับแบตเตอรี่ และนอกจากนั้นเนื่องจากมันมีราคาที่สูง จึงจำเป็นที่จะต้องต่อกับสายกำลังของการไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อใช้ประโยชน์จากมันให้ได้สูงสุด ดังนั้นในสภาวะปกติอินเวอร์เตอร์จะรับพลังงานจาก Fuel Cells เพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับโหลดร่วมกับไฟจากการไฟฟ้า เมื่อเกิดแรงดันตกชั่วขณะ สวิตช์โอนย้ายจะตัดวงจรเพื่อแยกไฟจากการไฟฟ้าออกจากโหลด และอินเวอร์เตอร์จะทำงานจ่ายพลังงานให้โหลดเพียงลำพัง

.

1.5 การใช้ Voltage Restorer  

รูปที่ 5 การใช้ DVR แก้ปัญหาไฟตกชั่วขณะ

.

มีหลายบริษัทที่ใช้หลักการแก้ปัญหาแรงดันตกชั่วขณะที่สามารถเรียกได้ว่า Voltage Restorer เช่น Solid State Voltage Restorer (SSVR) จาก GE, Dynamic Voltage Restorer จาก Westinghouse, SIPCON-S จาก Siemens, และ Dynacom จาก SP System แต่อย่างไรก็ตามชื่อที่เป็นที่นิยมที่สุดก็คือ Dynamic Voltage Restorer หรือ DVR เพราะว่าส่วนใหญ่จะใช้วงจรแปลงผันพลังงานเพื่อกำเนิดแรงดันที่เสริมเข้าไปกับแรงดันสายกำลังจากการไฟฟ้าเพื่อการชดเชยแรงดันที่ตก

.

นอกจากนี้ DVR ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถใช้แก้ปัญหาแรงดันเกินชั่วขณะ (Swell Voltage), รักษาระดับแรงดัน, และชดเชยฮาร์มอนิกได้อีกด้วย โดย DVR จะฉีดแรงดัน (กระแส) ที่ต้องชดเชยขนาด, เฟส, และฮาร์มอนิกไปยังสายกำลังโดยผ่านหม้อแปลงที่ต่ออนุกรมกับสายกำลังของการไฟฟ้า

.

ขนาดของพลังงานที่สะสมในตัวเก็บประจุ จะเป็นตัวกำหนดว่า DVR จะสามารถทำงานได้นานแค่ไหน โดยทั่วไปจะใช้ตัวเก็บประจุแบบอิเล็กทรอไลต์ อย่างไรก็ตามเราสามารถนำเอาแบตเตอรี่, ฟลายวีล, หรือ SMES มาต่อขนานกับตัวเก็บประจุเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจ่ายพลังงานก็ได้

.
2. วิธีการที่ไม่ใช้อุปกรณ์สะสมพลังงาน
2.1 Power Line Conditioners

รูปที่ 6 การใช้ Power Line Conditioners แก้ปัญหาไฟตกชั่วขณะ

.
วิธีนี้จะคล้าย ๆ กับ DVR แต่มีข้อดีที่ไม่ต้องการหม้อแปลงที่ต่ออนุกรมกับโหลด จึงทำให้ระบบโดยรวมมีขนาดที่เล็กลง
.

ในสภาวะปกติ โหลดจะต่ออยู่กับสายกำลังของการไฟฟ้าโดยผ่านสวิตช์โอนย้าย เมื่อเกิดแรงดันตกชั่วขณะ สวิตช์โอนย้ายจะต่อโหลดเข้ากับ Power Line Conditioner เพื่อรับพลังงานไฟฟ้าแทนสายกำลังจากการไฟฟ้า วิธีนี้มีข้อดีอีกข้อที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์สะสมพลังงานชนิดพิเศษ เนื่องจากในขณะที่เกิดแรงตกชั่วขณะ Power Line Conditioner สามารถดึงพลังงานมาจากไฟของการไฟฟ้าได้

.
2.2 สวิตช์โอนย้ายแบบสถิต (Static Transfer Switch) 

รูปที่ 7 การใช้สวิตช์โอนย้ายแบบสถิต แก้ปัญหาไฟตกชั่วขณะ

.

การใช้สวิตช์โอนย้ายแบบสถิตวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยในสภาวะปกติโหลดจะต่ออยู่กับสายกำลัง (แหล่งจ่าย)หลักโดยผ่านสวิตช์โอนย้ายแบบสถิต เมื่อเกิดแรงดันตกชั่วขณะ สวิตช์โอนย้ายแบบสถิตจะต่อโหลดเข้ากับสายกำลัง (แหล่งจ่าย) สำรอง เพื่อรับพลังงานไฟฟ้าแทนไฟจากสายกำลังหลัก และสวิตช์โอนย้ายแบบสถิตจะกลับไปต่อโหลดกับแหล่งจ่ายหลักอีกครั้งเมื่อแรงดันจากสายกำลังหลักมีค่าปกติ

.
2.3 หม้อแปลงที่มีตัวเปลี่ยนแท็บ (Transformer with Tap Changer)

รูปที่ 8 การใช้หม้อแปลงที่มีตัวเปลี่ยนแท็บ แก้ปัญหาไฟตกชั่วขณะ

.

วิธีนี้มีข้อดีที่สามารถประยุกต์ใช้กับระบบที่มีอยู่แล้ว โดยการเพิ่มแท็บของหม้อแปลงและเพิ่มสวิตช์ควบคุมที่แต่ละแท็บทำให้สามารถแก้ปัญหาแรงดันตกและแรงเกิน (ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก) ชั่วขณะได้ทั้งสองกรณี

.

สมมุติให้ในสภาวะปกติ สวิตช์หมายเลข 3 ทำให้แรงดันที่โหลดที่ค่าปกติ เมื่อเกิดแรงดันตกชั่วขณะ ระบบควบคุมจะต้องสั่งให้สวิตช์หมายเลข 1 หรือหมายเลข 2 ต่อวงจร (และสั่งตัดสวิตช์หมายเลข 3) ตามแต่ขนาดของแรงดันตกชั่วขณะ ดังนั้นแรงดันด้านออกที่จ่ายไปยังโหลดจะสามารถถูกชดเชยให้ใกล้เคียงกับแรงดันปกติได้ (กรณีนี้ทำหน้าที่เป็นหม้อแปลงแบบแปลงขึ้น หรือ Step-up Transformer)     

.

ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากเกิดแรงดันเกินชั่วขณะ ระบบจะต้องสั่งให้สวิตช์หมายเลข 3 ตัดวงจร และสั่งให้สวิตช์หมายเลข 4 ต่อวงจร ดังนั้นแรงดันด้านออกจะสามารถชดเชยให้ใกล้เคียงกับแรงดันโหลดในสภาวะปกติได้ (กรณีนี้ทำหน้าที่เป็นหม้อแปลงแบบแปลงขึ้น Step-down Transformer)

.

ระดับความละเอียดของแรงดันชดเชยจะขึ้นอยู่กับจำนวนแท็บของหม้อแปลง ดังนั้นการชดเชยแรงดันจะเรียกได้ว่าเกือบจะต่อเนื่อง (Quasi-continuous) เท่านั้น ซึ่งไม่เหมือนกับวิธีที่ผ่าน ๆ มาที่เป็นวิธีชดเชยแบบต่อเนื่อง ดังนั้นถ้าต้องการหม้อแปลงที่มีแท็บมาก ๆ เพื่อความต่อเนื่องในการชดเชย สิ่งที่ตามมาก็คือต้นทุนที่สูง นอกจากนี้ระบบนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิด Transient ของแรงดันในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแท็บได้

.
2.4 วงจรแปลงผันไฟสลับ-ไฟสลับ (AC-AC Converters)

รูปที่ 9 การใช้วงจรแปลงผันไฟสลับ-ไฟสลับ แก้ปัญหาไฟตกชั่วขณะ

.

วิธีนี้จะใช้วงจรทบระดับแบบ AC (AC Boost Converter) เพื่อการชดเชยแรงดันตกชั่วขณะ และใช้วงจรทอนระดับแบบ AC (AC Buck Converter) เพื่อการชดเชยแรงดันเกินชั่วขณะ 

.

วิธีนี้จะใช้วิธีการต่อโหลดกับวงจรแปลงผันไฟสลับ-ไฟสลับอยู่ตลอดเวลาคล้ายกับวิธีที่ใช้ Online UPS แต่ต่างกันตรงที่ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่หรือตัวสะสมพลังงานแบบพิเศษ เนื่องจากวงจรแปลงผันไฟสลับ-ไฟสลับจะรับพลังงานจากสายกำลังของการไฟฟ้าโดยตรงตลอดเวลา

.
สรุปข้อดีและข้อเสียของวิธีการแก้ปัญหาตกชั่วขณะ

จากข้างต้น เราได้ทราบแล้วว่าวิธีแก้ปัญหาแรงดันไฟตกชั่วขณะมีหลากหลาย ซึ่งแต่ละวิธีจะมีข้อดี-ข้อเสียที่พอสรุปได้ดังนี้ [4]

.
วิธีการที่ใช้อุปกรณ์สะสมพลังงาน

วิธี

ข้อดี

ข้อเสีย

ราคาโดยประมาณ
(เหรียญสหรัฐ)

UPS ที่ใช้แบตเตอรี่

ราคาถูกและใช้กันแพร่หลาย

ใช้แบตเตอรี่

$200/kW

UPS ที่ใช้ฟลายวีล

ขนาดเล็กลง

ความปลอดภัย

$200-$300/kW

SMES

ตอบสนองได้เร็ว

ต้องมีระบบระบายความร้อน

$600/kW

Fuel Cells

เป็นแหล่งจ่ายพลังงานสะอาด

ต้นทุนสูง

$1500/kW

DVR

ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

ต้องใช้หม้อแปลงต่ออนุกรมกับโหลด

$500/kVA

.

วิธีการที่ไม่ใช้อุปกรณ์สะสมพลังงาน

วิธี

ข้อดี

ข้อเสีย

ราคาโดยประมาณ (เหรียญสหรัฐ)

สวิตช์โอนย้ายแบบสถิต

ง่ายสุด

ต้องใช้แหล่งจ่ายสองแหล่ง

$500/A

หม้อแปลงที่มีตัวเปลี่ยนแท็บ

ง่าย

ใช้กับแรงดันที่เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

$500/kVA

Power Line Conditioners

ดีสำหรับการชดเชยแรงดันตกชั่วขณะ

เหมาะกับงานขนาดเล็กจนถึงขนาดกลาง

ไม่มีข้อมูล

AC-AC Converters

ชดเชยได้อย่างต่อเนื่อง

ต้องใช้สวิตช์หลายตัว

ยังไม่มีการใช้ในเชิงพาณิชย์

.
เอกสารอ้างอิง

[1] P. Cheng, C.Huang, C.Pan, and S. Bhattacharya, "Design and Implementation of a Series Voltage Sag Compensator Under Practical Utility Conditions", IEEE Trans. on Industry Applications, pp. 844 – 853, May-June 2003.
[2] D.M. Lee, T.G. Habetler, R.G. Harley, T.L. Keister, and J.R.Rostron, "A Voltage Saq Supporter Utilizing a PWM-Switched Autotransformer", IEEE Trans. on Power Electronics, pp. 626 – 635, March 2007.
[3]..ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า, "ข้อเสนอโครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบอุปกรณ์แก้ปัญหาแรงดันตกชั่วขณะ",       คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 9 หน้า, 2546.
[4] O.C. MONTERO-HERNANDES, "NEW APPROACHES TO PROVIDE RIDE-THROUGH FOR CRITICAL LOADS IN ELECTRIC POWER DISTRIBUTION SYSTEMS", Ph.D. Thesis: Texas A&M University, 155 page(s), 2001.
[5] Piller Website, 2008. [Online].  Available from:
http://www.piller.com [2008, October 13]
[6] Active Power Website, 2008. [Online].  Available from:
http://www.activepower.com [2008, October 13]
[7] R.S. Weissbach, G.G. Karady, and R.G. Farmer, "Dynamic voltage compensation on distribution feeders using flywheel energy storage", IEEE Trans. Power Delivery, vol 14-2, pp-465, April 1999.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด