เนื้อหาวันที่ : 2009-06-29 17:54:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6796 views

การสื่อสารข้อมูลในงานอุตสาหกรรม (ตอนที่ 2 ปัญหาและวิธีการแก้ไข)

จากบทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงเกี่ยวกับภาพรวมของระบบสื่อสารที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม แต่ในบทความฉบับนี้จะกล่าวเกี่ยวกับภาพรวมของปัญหา เหตุขัดข้องและวิธีการแก้ไขปัญหาของระบบสื่อสารในงานอุตสาหกรรม เมื่อมีปัญหาเหตุขัดข้องเกิดขึ้นที่ต้องรับการแก้ไขในระบบสื่อสารข้อมูล วิศวกรหรือช่างเทคนิคต้องพยายามใช้วิธีการบำรุงรักษามาตรฐาน เพื่อจะทำให้การแก้ไขปัญหาสามารถทำสำเร็จภายในเวลารวดเร็วที่สุด

พิชิต จินตโกศลวิทย์
pichitor@yahoo.com

.

.

จากบทความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงเกี่ยวกับภาพรวมของระบบสื่อสารที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม แต่ในบทความฉบับนี้จะกล่าวเกี่ยวกับภาพรวมของปัญหา เหตุขัดข้องและวิธีการแก้ไขปัญหาของระบบสื่อสารในงานอุตสาหกรรม เมื่อมีปัญหาเหตุขัดข้องเกิดขึ้นที่ต้องรับการแก้ไขในระบบสื่อสารข้อมูล วิศวกรหรือช่างเทคนิคต้องพยายามใช้วิธีการบำรุงรักษามาตรฐาน เพื่อจะทำให้การแก้ไขปัญหาสามารถทำสำเร็จภายในเวลารวดเร็วที่สุด  

.

แต่อย่างไรก็ตามการแก้ไขระบบสื่อสารข้อมูลในงานอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องดำเนินตามวิธีการแก้ไขและการตรวจสอบที่ตั้งไว้ล่วงหน้าเสมอไป เพราะในระบบสื่อสารในงานอุตสาหกรรมมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับอินพุตเอาต์พุตที่เป็นฮาร์ดไวร์หรือระบบอื่น ๆ ข้างเคียงที่อาจติดตั้งมาภายหลังจากการติดตั้งระบบสื่อสารข้อมูลแล้ว

.

ในบทความนี้จะกล่าวถึงการแก้ไขในระบบสื่อสารข้อมูลในงานอุตสาหกรรมดังต่อไปนี้
* ปัญหาและการแก้ไขปัญหาทั่วไป
* ข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาทั่วไป
* วิธีการแก้ไขตรวจสอบเฉพาะทาง
* การต่อลงดินและทำชีลด์ป้องกันสัญญาณรบกวน

.
1. ปัญหาและการแก้ไขปัญหาทั่วไป

รายการเหตุขัดข้องทั่วไปที่อาจจะเป็นปัญหาในระบบสื่อสารข้อมูลในงานอุตสาหกรรมได้แก่
* ไม่มีไฟเลี้ยงให้กับอุปกรณ์สื่อสาร ส่งผลเป็นที่แน่นอนว่าทำให้ระบบสื่อสารบางส่วนหรือทั้งหมดหยุดทำงาน
* ระบบสายสัญญาณล้มเหลวเนื่องจากอาจจะเกิดความเสียหาย ขาดหรือชำรุด ทำให้ระบบสื่อสารถูกขัดจังหวะหรือหยุดทำงาน

.

* ปัญหาการต่อลงดินซึ่งอาจส่งผลทำให้ระบบสื่อสารล้มเหลวชั่วขณะเป็นช่วง ๆ ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ณ เวลานั้น ๆ
*.ปัญหาที่เกิดจากอิเล็กโตรสเตติกหรือประจุไฟฟ้าซึ่งสามารถทำความเสียหายต่อพอร์ตสื่อสารหรือวงจรอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว

.

*.ซอฟต์แวร์หรือเฟิร์มแวร์ทำงานไม่ปกติในอุปกรณ์สื่อสารหรือโหนด ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้ระบบสื่อสารล้มเหลว การทำงานไม่ปกติของซอฟต์แวร์และเฟิร์มแวร์อาจเกิดจากการป้อนค่าเซตติ้งหรือพารามิเตอร์ไม่เหมาะสม หรืออาจจะเกิดจากส่วนจัดเก็บข้อมูลและคำสั่งของซอฟต์แวร์และเฟิร์มแวร์เกิดความผิดพลาดหรือชำรุดทำให้ฟังก์ชันการทำงานไม่ปกติ

.

* ปัญหาการรบกวนจากอิเล็กโตรสแตติกและอิเล็กโตรแมกเนติกต่อสายสัญญาณหรือพอร์ต โดยเฉพาะในงานที่มีสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้าสูง

.

* โหลดสื่อสารหรือข้อมูลที่ถูกส่งมีมากเกินความสามารถของระบบสื่อสารซึ่งทำให้ระบบสื่อสารล้มเหลวเป็นช่วง ๆ ตามสภาพโปรไฟล์การเข้าใช้งานของระบบ (Network Load Profile)

.

* เสิร์จทางไฟฟ้าหรือการเปลี่ยนแปลงทางค่าไฟฟ้าอย่างรวดเร็วทะลุเข้าทำลายระบบสื่อสารข้อมูล ทำให้ระบบสื่อสารข้อมูลเสียหาย ตัวที่มักทำความเสียหายมากที่สุดนั้นคือการเกิดฟ้าผ่านั้นเอง

.

ผลกระทบของเหตุขัดข้องต่อระบบสื่อสารอาจจะเป็นความเสียหายอย่างที่ต้องใช้เวลาแก้ไขเป็นเวลานาน จนถึงระบบสื่อสารล้มเหลวเป็นช่วง ๆ หรือ ชั่วครู่ ขึ้นอยู่กับระดับการถูกรบกวนหรือปริมาณโหลดสื่อสาร โดยทั่วไปแล้วสามารถกล่าวได้ว่าปัญหาเกี่ยวกับการล้มเหลวของการสื่อสารเป็นช่วง ๆ ไม่แน่นอนเป็นปัญหาที่วิเคราะห์และแก้ไขยากที่สุดหรือที่กล่าวในทางเทคนิคว่า None Deterministic คือไม่สามารถคาดการณ์ว่าการล้มเหลวของระบบสื่อสารข้อมูลจะเกิดขึ้นเมื่อไร

.
2.  ข้อแนะนำในการแก้ไขปัญหาทั่วไป

เป็นที่แน่ชัดว่าไม่มีขั้นตอนที่ตายตัวในการแก้ไขปัญหาด้านการสื่อสารซึ่งการแก้ไขปัญหาขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและประวัติการใช้งานของระบบสื่อสารและการติดตั้งระบบอื่น ๆ ข้างเคียง อย่างไรก็ตามก็มีวิธีการที่มีประโยชน์ที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

.

* เอกสารหรือแบบการติดตั้งเป็นเรื่องสำคัญ

การจัดเก็บเอกสารและรายละเอียดในเรื่องการโยงสายสัญญาณหรือแม้กระทั่งตำแหน่งที่ตั้งอุปกรณ์ ต้องมีรายละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นั้นหมายความว่า ไดอะแกรมการโยงสายเข้าสายจุดเชื่อมต่อต้องถูกต้องชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่าเรารู้ระบบนั้นจริง ว่าอุปกรณ์ใดต่อตรงไหนอย่างไร และยังต้องรู้จุดต่อถัดไปที่ต่อไปยังระบบอื่น ๆ อีกด้วย

.
* รายงานข้อมูลและสถิติพื้นฐานของระบบสื่อสาร

รายงานข้อมูลและสถิติพื้นฐานของระบบสื่อสารคือการบันทึกประวัติการทำงานของเครือข่ายสื่อสาร เช่น จำนวนแพ็คเก็ตรับส่ง/เวลาการตอบสนอง/อัตราการเข้าใช้งาน (Utilization Rate) ดังนั้นเราสามารถทำการเปรียบเทียบสภาวะหรือสถานะการทำงานของระบบได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในระบบเครือข่ายมีปัญหาในเรื่องการสื่อสารข้อมูลระหว่างกัน หลังจากนั้นได้ทำการตรวจสอบในระบบพบว่าค่ายูทิไลเซชั่น (Utilization) เฉลี่ยอยู่ที่ 25% และมีจำนวนแพ็คเก็ตที่เสียหายเกิดขึ้นทุก ๆ 10 วินาทีประมาณ 100 แพ็คเก็ต

.

เป็นที่แน่ชัดว่าเรายังสรุปสาเหตุของปัญหาได้ ถ้าเราไม่มีข้อมูลพื้นฐานของระบบเรายังไม่สามารถประเมินได้ว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน แต่ถ้าเรามีข้อมูลพื้นฐานซึ่งมีรายงานค่าเฉลี่ยอัตรายูทิไลเซชั่น 10% และมีแพ็คเก็ตเสียหายประมาณ 100 แพ็คเก็ตทุกวินาที

.

ดังนั้นเราสามารถสันนิษฐานได้ว่า ปัญหาน่าจะเกิดจากศักยภาพของระบบสื่อสารไม่เพียงพอกับสภาพโหลด ณ ปัจจุบัน ยิ่งมีปัญหามากเท่าไร เครือข่ายยิ่งถูกจัดการลำบากขึ้นเท่านั้น เช่นปัญหาที่เกิดจากการหมดเวลาในการตอบรับข้อมูลหรือ ไทม์เอาต์ (Time Out) อันเนื่องจากประสิทธิภาพของระบบสื่อสารไม่เพียงพอกับโหลด โหนดหรือสเตชั่นที่สภาพเป็นปกติก็จะอาจถูกตีความว่าไม่ทำงานหรือทำงานไม่ปกติไปด้วย สืบเนื่องจากระยะเวลาไทม์เอาต์ที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอ หรือเหมาะสมกับสภาพระบบสื่อสารข้อมูล               

.
* การออกแบบระบบเครือข่ายให้เข้าใจง่ายมากที่สุด

การทำเครือข่ายให้ง่ายที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ พยายามเอาอุปกรณ์ใด ๆ ที่ไม่มีความจำเป็นในระบบออกมากที่สุด ตัวอย่างคือ ถ้าเรามี 2 อุปกรณ์สื่อสารส่งข้อมูลซึ่งกันและกัน และยังมีรีพีตเตอร์ (Repeater) ที่ต่อเข้ากับเครือข่ายสำหรับการสื่อสารระยะไกลที่ไม่ได้ใช้งานมันเลย ให้เอามันออกซะเพราะถ้ามันเสียมันอาจจะส่งสัญญาณเข้ามารบกวนระบบสื่อสารส่วนอื่น ๆ ได้

.
* เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลง

เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงในเครือข่ายอย่างระมัดระวัง ถ้าจำนวนแพ็คเก็ตจากอุปกรณ์หนึ่งเพิ่มขึ้นจากรายงานข้อมูลและสถิติพื้นฐานแสดงว่าอุปกรณ์ตัวนั้นต้องถูกตรวจสอบว่าทำไมมีสภาพการทำงานเช่นนั้น

.
3. วิธีการแก้ไขตรวจสอบเฉพาะทาง
เมื่อต้องแก้ไขปัญหาในระบบสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปควรดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

* ตรวจสอบว่าทุกโหนดทุกสเตชั่นและอุปกรณ์เครือข่ายหรืออุปกรณ์สื่อสารเปิดใช้งานหรือมีไฟเลี้ยงอุปกรณ์หรือไม่ ตัวอย่างง่าย ๆ คือการตรวจสอบดูที่หลอด LED (Light Emitting Diode) เปล่งแสงหรือไม่ หลังจากนั้นให้มองหาที่ตัวอุปกรณ์ที่ไม่ทำงานโดยตรวจสอบหลอด LED ที่เป็น ฮาร์ตบีต (Heart Beat)ที่บ่งบอกสภาวะการทำงานว่ากระพริบหรือไม่ การตรวจสอบไฟเลี้ยงบางครั้งอาจจะใช้มัลติมิเตอร์วัดระดับไฟเลี้ยงว่าอยู่ในช่วงที่เหมาะสมหรือไม่ด้วยก็ได้

.

* ตรวจสอบจุดเชื่อมต่อหรือคอนเน็กเตอร์ ว่าอยู่ในสภาพปกติหรือสะอาดหรือไม่ บางครั้งอาจจะมีคอนเน็กเตอร์ที่แตกเสียหายเป็นเหตุของปัญหาในการสื่อสารเนื่องจากอาจจะมีการลัดวงจรของสัญญาณหรือสามารถถูกรบกวนจากสัญญาณภายนอกได้ง่าย ยิ่งกว่านั้นปัญหาที่พบบ่อยคือการคายตัวของตัวยึดเช่น นอต ที่อาจทำให้การสื่อสารล้มเหลวหรือขัดข้องได้

.

* ตรวจสอบระบบกราวด์หรือระบบดินถูกติดตั้งหรือไม่ มีจุดต่อกราวด์ที่ถูกเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ค่าความต้านในดินหรือกราวด์เปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงหรือติดตั้งระบบหรืออะไรบางอย่างในโรงงานเพิ่มเติมหรือไม่

.

* บางอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ถูกติดตั้งใหม่และใช้แหล่งจ่ายไฟฟ้าเดียวกันกับระบบสื่อสารข้อมูล บางครั้งมันอาจเป็นสาเหตุของปัญหาในการสื่อสารก็ได้ ยิ่งถ้าเป็นอุปกรณ์ประเภทที่มีผลกระทบต่อค่าเพาเวอร์แฟกเตอร์ (Power Factor) เช่นคาปาซิเตอร์ หรือ มอเตอร์ความเร็วสูงจะสามารถเป็นตัวกำเนิดสัญญาณรบกวนต่อระบบสื่อสารข้อมูลได้เป็นอย่างดี

.

* ตรวจสอบว่ามีความเสียหายของฉนวนหุ้มสายสัญญาณหรือไม่ ยิ่งอัตราการส่งข้อมูลสูง ความเสียหายของฉนวนยิ่งส่งผลกระทบมากเพียงแค่มีฉนวนถลอกเป็นพื้นที่ไม่กี่มิลลิเมตร

.

* ตรวจสอบระดับแรงดันไฟเลี้ยงอยู่ในช่วงที่ถูกต้องหรือไม่ ตัวอย่างเช่นถ้าอุปกรณ์ที่ตรวจสอบเป็นฮับ ให้ตรวจสอบแรงดันไฟเลี้ยงว่าอยู่ในช่วงที่ฮับต้องการหรือไม่ ถ้าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้โปรโตคอล DeviceNet ให้ตรวจสอบว่าแรงดันไฟฟ้าในสายสัญญาณไม่ตกต่ำไปกว่าค่าเทรชโชลด์ (Threshold) ที่ถูกกำหนดตามมาตรฐานของโปรโตคอล DeviceNet

.

* ใช้เครื่องมือประเภทเบรกเอาต์ (Break Out) โดยปกติจะเป็นตัวเปลี่ยนสัญญาณระดับฟิสิคอล เช่น RS-232 เป็น RS-485 ซึ่งทำให้เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์ตรวจสอบสัญญาณที่วิ่งไปมาภายในระบบเครือข่ายได้

.

* ใช้ซอฟต์แวร์สำหรับวิเคราะห์ปัญหาซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมาพร้อมกับระบบที่เราจัดซื้อและตรวจสอบดูจำนวนแพ็คเก็ตที่ถูกส่งและจำนวนแพ็คเก็ตที่เสียหาย อาจจะนำมาเทียบการรายงานข้อมูลและสถิติพื้นฐานของระบบสื่อสารก็ได้ถ้ามี

.

* เอาอุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวกับปัญหาที่เรากำลังวิเคราะห์ออกเพื่อให้การวิเคราะห์ง่ายและสะดวกขึ้น ลดจำนวนข้อสงสัยหรือข้อสมมุติฐาน ตัวอย่างเช่น ระบบเครือข่าย PLC ให้เอา PLC ที่เราไม่ได้วิเคราะห์ออกจากการทดสอบ ถ้าทดสอบแล้วยังไม่สามารถหาสาเหตุได้เราอาจหันกลับมาทดสอบ PLC ตัวที่เราเอาออกไปก็ได้

.

* ใช้เครื่องมือทดสอบหรือโปรแกรมทดสอบพื้นฐานซึ่งปกติจะติดมาพร้อมระบบปฏิบัติการอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นตระกูล Windows หรือตระกูล Unix เช่น คำสั่ง Ping และคำสั่ง Netstat เพื่อตรวจหาสาเหตุและปัญหาในระบบเครือข่าย

.

* ใช้เครื่องมือทดสอบเฉพาะที่ซับซ้อน เช่นโปรโตคอลอนาไลเซอร์ เพื่อวิเคราะห์ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบนเครือข่าย อันที่จริงวิธีนี้คือหนึ่งในการตรวจสอบขั้นสุดท้ายเนื่องจากผู้ตรวจสอบหรือผู้วิเคราะห์ปัญหาต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในตัวโปรโตคอลนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง ตัวโปรโตคอลอนาไลเซอร์ที่เป็นที่นิยมและทรงประสิทธิภาพตัวหนึ่งคือ ASE2000     

.
4. การกราวดิ้ง/การชิลดิ้ง และสัญญาณรบกวน (Grounding/Shielding และ Noise)
4.1 แหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า

โดยทั่วไปแหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวนก็คืออุปกรณ์ที่เปลี่ยนแปลงระดับค่าทางไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว (Spike) รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็วเช่นกัน เช่น
* มอเตอร์ขนาดใหญ่ที่กำลังเริ่มทำงาน
* หลอดไฟฟ้าแบบฟลูออเรสเซนต์
* ฟ้าผ่า
* เสิร์จทางไฟฟ้า อันเนื่องจากการทำสวิตชิ่งระบบไฟฟ้าแรงสูงหรือฟอลต์
* อุปกรณ์เชื่อมโลหะ 

.

แต่ถ้ามองในมุมทั่วไปจะมีแค่สามปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาจากสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าในระบบสื่อสารข้อมูลนั้นคือ
* แหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวน
* สภาพการแพร่กระจายหรือคัปปลิ้ง (Coupling) ไปยังวงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์รอบข้าง
* ความไวของวงจรไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่อสัญญาณรบกวน

.
4.2 การคัปปลิ้งทางไฟฟ้าของสัญญาณรบกวน (Electrical Coupling of Noise)

มี 4 รูปแบบของการคัปปลิ้งที่มีผลต่อการสื่อสารข้อมูลที่มีความไวต่อสัญญาณรบกวนนั้นคือ
* อิมพีแดนซ์คัปปลิ้ง (Impedance Coupling)
* อิเล็กโตรสแตติคคัปปลิ้ง (Electrostatic Coupling)
* แมกเนติกหรืออินดักตีฟคัปปลิ้ง (Magnetic หรือ Inductive Coupling)
* การแพร่กระจายของความถี่วิทยุ (Radio Frequency Radiation)

.
4.2.1 อิมพีแดนซ์คัปปลิ้ง (Impedance Coupling)

สำหรับเหตุการณ์ที่วงจรไฟฟ้ามากกว่าสองวงจรไฟฟ้าใช้ตัวนำไฟฟ้าร่วมกัน เหล่านี้สามารถทำให้เกิดการคัปปลิ้งระหว่าง 2 วงจรได้ โดยจะมีผลกระทบทั้ง 2 วงจร สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างยิ่งนั้นคือกระแสไฟฟ้าของสัญญาณจากวงจรหนึ่งที่ไหลกลับไปหาแหล่งจ่ายที่ใช้ร่วมกัน อาจเกิดการรวมกระแสกับอีกวงจรหนึ่ง ส่งผลทำให้มีระดับแรงดันที่ไม่ต้องการเกิดขึ้นบนตัวนำไหลกลับหรือรีเทิร์นบัส (Return Bus) ดังรูปที่ 1         

.

รูปที่ 1 อิมพีแดนซ์คัปปลิ้ง

.

เป็นที่ชัดเจนว่าวิธีง่าย ๆ ในการลดแรงดันไฟฟ้าที่ไม่ต้องการคือการลดค่าความต้านทานหรืออิมพีแดนซ์ให้ต่ำที่สุดในรีเทิร์นบัส โดยวิธีง่าย ๆ คือการดับเบิลสายหรือการใช้สายซ้อนกันหลาย ๆ เส้น แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือการใช้วงจรส่งสัญญาณแบบสมดุลพร้อมกับใช้สายรีเทิร์นไวร์ในวงจรใครวงจรมัน 

.

รูปที่ 2 วงจรส่งสัญญาณแบบสมดุล

.
4.2.2 อิเล็กโตรสแตติก หรือคาปาซิตีฟคัปปลิ้ง

รูปแบบการคัปปลิ้งเปลี่ยนแปลงแบบอัตราส่วนหรือแปรตามกับค่าความเป็นตัวเก็บประจุของแหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวนและสายสัญญาณ

.

รูปที่ 3 วงจรส่งสัญญาณแบบสมดุล

.

ระดับของสัญญาณรบกวนขึ้นอยู่กับอัตราการเปลี่ยนแปลง (Rate of Change) ของระดับแรงดันไฟฟ้าของสัญญาณรบกวน และค่าการเก็บประจุระหว่างวงจรที่กำเนิดสัญญาณรบกวนและวงจรสื่อสารที่ถูกรบกวน ในรูปที่ 3 ค่าระดับแรงดันของสัญญาณรบกวนได้ถูกพ่วงหรือคัปปลิ้งเข้าสู่สายสัญญาณสื่อสารโดยผ่านตัวเก็บประจุ โดยมีอากาศเป็นตัวไดอิเล็กตริก C1 และ C2 และระดับแรงดันไฟฟ้ารบกวนจะถูกสร้างคร่อม

.

ตัวต้านทานในวงจรสื่อสาร ขนาดหรือแรงดันรบกวน (ระดับความผิดพลาด) ในสายสัญญาณเป็นไปตามอัตราส่วนกับค่าปัจจัยดังนี้
* ระยะทางส่วนกลับของแรงดันไฟฟ้ารบกวนจากสายสัญญาณแต่ละเส้น
* ความยาว (หรือความต้านทานอิมพีแดนซ์) ของสายสัญญาณที่ถูกเหนี่ยวนำโดยสัญญาณรบกวน
* ระดับของแรงดันไฟฟ้ารบกวน
* ความถี่ของแรงดันไฟฟ้ารบกวน

.

มีสี่วิธีการสำหรับการลดสัญญาณรบกวนจากการเหนี่ยวนำของอิเล็กโตรสเตติกคัปปลิ้งนั้นคือ
* การชีลด์สายสัญญาณ (Shielding)
* การแยกออกห่างจากแหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวน
* การลดระดับแรงดันสัญญาณรบกวนรวมกระทั้งความถี่ไฟฟ้าด้วย
* การทำการบิดเกลียวของสายสัญญาณ

.

จากรูปที่ 4 ชี้ว่ารูปแบบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการหุ้มชิลด์ป้องกันอิเล็กโตรสเตติกในสายสัญญาณ กระแสที่ถูกสร้างโดยแรงดันไฟฟ้ารบกวนจะชอบไหลไปยังเส้นทางที่มีค่าอิมพีแดนซ์ต่ำซึ่งในที่นี้ค่าอิมพีแดนซ์ของชิลด์จะต่ำกว่าของสายสัญญาณ ถ้ามีหนึ่งจุดของสายสัญญาณและชีลด์ถูกต่อเข้าหากันและเชื่อมต่อลงดินด้วยเพื่อจะให้แน่ใจว่าชีลด์และสายสัญญาณมีศักย์ไฟฟ้าเท่ากัน ข้อที่ควรระมัดระวังคือชีลด์ต้องเป็นวัสดุที่มีความต้านทานต่ำ เช่น       

.

อะลูมิเนียมหรือทองแดง สำหรับชีลด์ทองแดงแบบถัก (Braided) ค่าสกรีนแฟกเตอร์ (Screening Factor) ควรอยู่ที่ 100 เท่า หรือที่ 20dB ค่าของตัวเก็บประจุ C3 และ C4 ต้องประมาณ 1/100 ของ C1 หรือ C2 สกรีนสายแบบความต้านทานต่ำหลายชั้น (Low Resistor Multilayered) ค่าสกรีนแฟกเตอร์สามารถอยู่ที่ 35dB หรือที่ 3,000 เท่า

.

รูปที่ 4 การชีลด์เพื่อลดอิเล็กโตรสเตติกให้ต่ำที่สุด

.

การบิดเกลียวของสายสัญญาณจะสดแรงดันไฟฟ้าเหนี่ยวนำโดยการพยายามทำให้ค่าของ C1 และ C2 ใกล้กันมากที่สุด เพื่อลดแรงดันไฟฟ้ารบกวนที่เหนี่ยวนำเข้ามาในสายสัญญาณ วิธีการคือการทำให้แรงดันรบกวนเหล่านั้นหักล้างกันเอง 

.

ข้อควรจำ รายละเอียดข้อกำหนดของสายสัญญาณแบบหุ้มชีลด์ต้องมั่นใจแน่ว่าค่าการเก็บประจุระหว่างชีลด์และสายสัญญาณเท่ากันตลอดเส้น (Homogenous) ซึ่งจะช่วยให้สัญญาณหักล้างกันเองได้สมบูรณ์

.
4.2.3 แมกเนติกหรืออินดักตีพคัปปลิ้ง (Magnetic หรือ Inductive Coupling)

เหล่านี้ขึ้นอยู่กับอัตราการเปลี่ยนแปลง (Rate of Change) ของกระแสไฟฟ้าของแหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวนและจะเกิดการเหนี่ยวนำซึ่งกันและกัน (Mutual Inductance) ระหว่างระบบที่กำเนิดสัญญาณรบกวนกับสายสัญญาณหรือวงจรสื่อสารที่รับสัญญาณรบกวน

.
ระดับการเหนี่ยวนำของสัญญาณรบกวนโดยแมกเนติกคัปปลิ้งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

* ระดับของกระแสของสัญญาณรบกวน
* ความถี่ของกระแสของสัญญาณรบกวน
* พื้นที่ที่ครบรอบวงของสายสัญญาณ (หน้าตัดที่ทำให้แมกเนติกฟลักซ์ตัดผ่าน)
* ระยะทางส่วนกลับจากแหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวนและสายสัญญาณ

.
ผลของแมกเนติกคัปปลิ้งจะแสดงดังรูปที่ 5    

รูปที่ 5 แมกเนติกคัปปลิ้ง

.

วิธีที่ง่ายที่สุดในการลดแรงดันไฟฟ้ารบกวนจากแมกเนติกคัปปลิ้งคือการทำบิดเกลียวสายสัญญาณ ผลของการบิดเกลียวทำให้ระดับสัญญาณรบกวนน้อยลงและยิ่งต่ำสุดถ้าพื้นที่หน้าตัดของคู่บิดเกลียวยิ่งเล็กในแต่ละลูป เหล่านี้หมายความว่ายิ่งหน้าตัดของแมกเนติกฟลักซ์ในแต่ละลูปน้อยเท่าไร ระดับแรงดันไฟฟ้ารบกวนจะน้อยลงเท่านั้น 

.

ข้อมูลเพิ่มเติม แรงดันไฟฟ้ารบกวนที่เหนี่ยวนำในแต่ละลูปจะพยายามหักล้างแรงดันรบกวนในลูปถัดไป ดังนั้นถ้าจำนวนลูปเป็นเลขคู่ การหักล้างแรงดันรบกวนจะหักล้างซึ่งกันและกันได้ดีกว่าจำนวนลูปที่เป็นเลขคี่ทำให้ผลกระทบของแรงดันไฟฟ้าน้อยลงต่อวงจรสื่อสาร ในการคำนวณหรือการวิเคราะห์จะตั้งสมมุติฐานว่าแรงดันไฟฟ้ารบกวนที่เหนี่ยวนำมีปริมาณเท่ากันในแต่ละเส้นของสายสัญญาณ เนื่องจากการบิดเกลียวของสายสัญญาณทำให้ระยะทางของสายแต่ละเส้นเท่ากัน หมายถึงแรงดันไฟฟ้ารบกวนในแต่ละเส้นมีโอกาสเท่ากันมาก ดังรูปที่ 6 

.

รูปที่ 6 การบิดเกลียวสายสัญญาณลดการเกิดแมกเนติกคัปปลิ้ง

.

วิธีการที่ 2 คือการใช้แมกเนติกชีลด์หุ้มสายสัญญาณ แมกเนติกฟลักซ์ที่ถูกสร้างโดยกระแสรบกวนจะเหนี่ยวนำสร้างกระแสเอ็ดดี้เคอร์เรนต์ (Eddy Current) ปริมาณเล็ก ๆ ในแมกเนติกชีลด์ กระแสเอ็ดดี้เคอร์เรนต์ นี้จะสร้างแมกเนติกฟลักซ์ Ø1 ซึ่งมีทิศทางตรงกันข้ามกับแมกเนติกฟลักซ์เริ่มต้น Ø2 นั้นหมายความว่าปริมาณฟลักซ์ที่มีผลต่อวงจรสื่อสารจะน้อยลง (Ø2- Ø1)

.

ข้อควรจำไว้ว่า ชีลด์ที่ไว้สำหรับการป้องกันคลื่นสนามแม่เหล็กไม่ต้องการการต่อเชื่อมลงกราวด์หรือลงดิน ค่าการซึมซาบคลื่นสนามแม่เหล็ก (Permeability) ของโลหะจะมีผลกับการเป็นชีลด์ว่าจะเป็นชีลด์ที่ดีหรือไม่ ยิ่งมีค่าการซึมซาบคลื่นสนามแม่เหล็กมากก็ยิ่งเหมาะสมกับระบบสื่อสารที่มีความพิเศษหรือแตกต่างจากระบบทั่วไป อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ ท่อที่ทำด้วยโลหะเหล็กชุบกัลวาไนซ์ก็เพียงพอในการทำเป็นชีลด์ป้องกันคลื่นสนามแม่เหล็ก     

.

รูปที่ 7 การชิลด์แมกเนติกลดผลกระทบจากแมกเนติกคัปปลิ้ง

.
4.2.4 การแพร่กระจายความถี่วิทยุ (Radio Frequency Radiation)

แรงดันไฟฟ้ารบกวนที่ถูกเหนี่ยวนำโดยอิเล็กโตรสเตติกและอินดักตีฟคัปปลิ้งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เป็นตัวการที่มีผลต่อพื้นที่ใกล้เคียงเนื่องจากอิเล็กโตรแมกเนติกมีความสามารถในการแพร่กระจายจากแหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวน การรบกวนแบบนี้ยากในการกำจัดและต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษสำหรับการตรวจสอบการต่อลงดินกับระบบกราวด์ของระบบไฟฟ้าข้างเคียงที่มีผลกระทบสำหรับวงจรสื่อสารแบบแบบปิดนำไปสู่การแพร่กระจายของอิเล็กโตรแมกเนติกมากขึ้น         

.

อันที่จริงแล้วผลกระทบของการแพร่กระจายอิเล็กโตรแมกเนติก สามารถถูกเพิกเฉยได้เว้นแต่ความเข้มของอิเล็กโตรแมกเนติกมีค่าเกิน 1 โวลต์/เมตร โดยสามารถคำนวณโดยใช้สูตรต่อไปนี้   

.

.
โดยที่
* Field Strength: ความเข้มของสนามแม่เหล็กมีหน่วย โวลต์/เมตร
* Power:กำลังมีหน่วยเป็นกิโลวัตต์
* Distance:ระยะทางมีหน่วยเป็น กิโลเมตร
.
2 วิธีที่ถูกใช้มากที่สุดในการลดผลของการแพร่กระจายยองอิเล็กโตรแมกเนติกคือ
* การชีลด์ที่เหมาะสม (อย่างต่ำใช้เหล็กเป็นวัสดุทำเป็นชีลด์)
* การติดตั้งตัวเก็บประจุขนานทำให้แรงดันไฟฟ้ารบกวนไหลลงดิน
.

การใช้วัสดุทำเป็นชีลด์ที่ไม่เหมาะสมอาจจะทำให้ชีลด์นั้นกลายเป็นตัวรับคลื่นวิทยุได้ และจากจุดนี้เราควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าเราได้ทำการชีลด์ถูกต้องหรือไม่ เพราะแทนที่จะเป็นการป้องกัน กลับกลายเป็นการเพิ่มปัญหาในระบบสื่อสารข้อมูลก็เป็นได้

.
4.2.5 การชีลด์ (Shielding)

สิ่งที่สำคัญการของป้องกันหรือการชีลด์อิเล็กโตรสเตติก คือมีเพียงหนึ่งจุดเท่านั้นที่ต่อลงดิน การต่อลงดินมากกว่า 1 จุดจะทำให้เกิดกระแสไหลวน (Circulating Current) ชีลด์ควรถูกหุ้มด้วยฉนวนไฟฟ้าเพื่อป้องกันการสัมผัสลงดินหลายจุดโดยบังเอิญ และอาจจะทำให้เกิดกระแสไหลวนได้ ชีลด์ไม่ควรถูกปล่อยให้ลอยเพราะอาจจะทำให้เกิดสภาพคาปาซิตีฟคัปปลิ้ง และทำให้การติดตั้งชีลด์นั้นไม่มีประโยชน์ใด ๆ เลย

.

 มี 2 เทคนิคที่มีประโยชน์คือการแยกวงจรออกจากอีกวงจรนั้นคือการใช้ ออปโต้ไอโซเลเตอร์ (Opto-Isolator) ดังตัวอย่างรูปที่ 8 และการใช้หม้อแปลงคัปปลิ้ง ในรูปที่ 9

.

รูปที่ 8 การใช้ออปโต้ไอโซเลเตอร์แยกวงจร

.

ถึงแม้ ออปโตไฮโซเลเตอร์จะแยกวงจรหนึ่งออกจากอีกวงจรหนึ่ง แต่มันไม่สามารถป้องกันสัญญาณรบกวนที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงสูงจากวงจรหนึ่งไปยังอีกวงจรหนึ่งได้ แต่อย่างไรก็ตามออปโต้ไอโซเลเตอร์ยังเป็นที่นิยมอันเนื่องจากมีราคาที่ไม่สูง

.

หม้อแปลงคัปปลิ้งสามารถใช้งานได้ดีกว่าออปโตไอโซเลเตอร์ ในกรณีเมื่อเกิดสภาพทรานเชี้ยนต์ความเร็วสูงในวงจรที่มีสภาวะคาปาซิตีฟคัปปลิ้งระหว่างตัว LED และขาเบสของทรานซิสเตอร์ของออปโตไอโซเลเตอร์ซึ่งการเกิดสภาวะทรานเชี้ยนต์นี้สามารถทะลุผ่านออปโตไอโซเลเตอร์จากวงจรด้านหนึ่งไปยังอีกวงจรอีกด้านหนึ่งได้ซึ่งสภาพแบบนี้ไม่เกิดในหม้อแปลงคัปปลิ้ง

.

รูปที่ 9 การใช้หม้อแปลงคัปปลิ้งแยกวงจร         

.
* อัตราส่วนบ่งบอกประสิทธิภาพของการชีลด์

การใช้วัสดุที่มีความต้านทานต่ำหุ้มสายสัญญาณ ถือได้ว่าเป็นการชีลด์ที่ดีในเชิงปฏิบัติ สำหรับการลดผลกระทบจากอิเล็กโตรสเตติกเมื่อเปรียบเทียบกับการมีชีลด์กับไม่มีชีลด์ การลดผลกระทบจะอยู่ในช่วงอัตรา 100:1 (ในกรณีใช้ใยทองแดงถักหุ้มพื้นที่สายสัญญาณประมาณ 85% จนถึงอัตราส่วน 6000:1 ในกรณีใช้เทปอะลูมิเนียมไมลาร์และสายเดรนไวร์ (Drain Wire))

.

การบิดเกลียวสายสัญญาณจะลดสภาพอินดักตีฟคัปปลิ้ง ลดผลกระทบจากสัญญาณรบกวน (เปรียบเทียบระหว่างบิดเกลียวและไม่บิดเกลียว) โดยอัตราส่วนจะอยู่ในช่วงจาก 14:1 (ถ้าระยะบิดเกลียวอยู่ที่ 4 นิ้ว) ถึง 141:1 (ถ้าระยะบิดเกลียวอยู่ที่ 1 นิ้ว) เปรียบเทียบกับการใช้สายไม่บิดเกลียวใส่ท่อโลหะจะมีอัตราการป้องกันสัญญาณรบกวนอยู่ที่ 22:1    

.

 สำหรับวงจรที่มีความอ่อนไหวสูง การใช้สายโคแอกเชียลหรือสายดับเบิลชีลด์ สามารถลดผลกระทบที่มีต่อวงจรที่มีความไวต่อสัญญาณรบกวน พึงจำไว้ว่าสายที่มีดับเบิลชีลด์ ชีลด์ด้านนอกควรที่จะต่อลงดินหลาย ๆ จุดเพื่อลดขนาดลูปที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสัญญาณรบกวนความถี่วิทยุ ระยะทางระหว่างจุดต่อลงดินควรอยู่ในช่วงที่น้อยกว่า 1/8 ของความยาวคลื่นของสัญญาณวิทยุรบกวน

.
5. ทางเดินสายสัญญาณ (Cable Ducting หรือ Raceway)

ทางเดินสายสัญญาณมีประโยชน์ในการลดทอนระดับความแรงของสนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า ยกตัวอย่างถ้าความถี่สนามแม่เหล็กอยู่ที่ 60 Hz และสนามไฟฟ้าอยู่ที่ 100 KHz ค่าการป้องกันที่ได้จะเป็นดังนี้

.
* ท่ออะลูมิเนียมเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 cm. (2 นิ้ว) และมีความหนา 0.154 นิ้ว
- การป้องกันสนามแม่เหล็กอยู่ที่ 1.5:1
- การป้องกันสนามไฟฟ้าอยู่ที่ 8000:1
.
* ท่อเหล็กกัลวาไนซ์ เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 cm. (2 นิ้ว) และมีความหนา 0.154 นิ้ว
     - การป้องกันสนามแม่เหล็กอยู่ที่ 40:1
     - การป้องกันสนามไฟฟ้าอยู่ที่ 2000:1
.
6. ระยะระหว่างสาย (Cable Spacing)

ในสภาพที่มีสายเคเบิลจำนวนมากและมีหลายระดับแรงดันไฟฟ้าหลายปริมาณกระแสไฟฟ้า มาตรฐาน IEEE 518-1982 ได้พัฒนาตารางเพื่อให้รายละเอียดของระยะทางระหว่างสายสำหรับสายเคเบิลหลาย ๆ ประเภท มี 4 กลุ่มตามระดับความไวในการแยกแยะ (Susceptibility)

.

สำหรับสายเคเบิลนั้นค่า Susceptibility คือตัวชี้ว่าวงจรสัญญาณสามารถแยกแยะระหว่างสัญญาณรบกวนที่ไม่ต้องการและสัญญาณสื่อสารที่ต้องการซึ่งจะถูกระบุในมาตรฐานการสื่อสารระดับฟิสิคอล เช่น RS-232E ซึ่งสามารถพูดได้ว่ามีระดับ Susceptibility สูง ส่วนสายเคเบิล 1000V, 200A AC นั้นมีระดับ Susceptibility ต่ำ

.
ระดับ Susceptibility ที่ถูกกำหนดโดยมาตรฐาน IEEE 518-1982 ดังนี้
* Level 1 สูง

ถูกกำหนดว่าระดับสัญญาณอะนาลอกต่ำกว่า 50 โวลต์ และระดับสัญญาณดิจิตอลต่ำกว่า 15 โวลต์ ซึ่งระดับ Level 1 ครอบคลุมไปถึงในบัสแบบดิจิตอล และวงจรคู่สายโทรศัพท์ สายสัญญาณสื่อสารข้อมูลถูกจัดอยู่ในหมวดนี้

 .
* Level 2 ปานกลาง

หมวดนี้ระบบสัญญาณอะนาลอกมากกว่า 50 โวลต์ และวงจรสวิตชิ่งไฟเลี้ยง

 .
* Level 3 ต่ำ

ระบุสัญญาณวงจรสวิตชิ่งมากกว่า 50 โวลต์ และสัญญาณอะนาลอกมีค่ามากกว่า 50 โวลต์ กระแสไฟฟ้าน้อยกว่า 20 แอมแปร์ จะถูกจัดลงในหมวดนี้

 .
* Level 4 ไฟฟ้ากำลัง
หมวดนี้ระบุแรงดันไฟฟ้าในช่วง 0-1000 โวลต์ และกระแสไฟฟ้าอยู่ในช่วง 20-800 แอมแปร์ หมวดนี้ครอบคลุมทั้งวงจร AC และ DC
 .

มาตรฐาน IEEE 518 ยังกำหนด 3 สถานการณ์สำหรับการคำนวณหาระยะห่างระหว่างสายที่มีระดับ Susceptibility ที่แตกต่างกัน ในการพิจารณาจะพิจารณากรณีที่สายเคเบิลหนึ่งสายเป็นสายที่มีค่า Susceptibility สูง ส่วนสายอื่น ๆ มีค่า Susceptibility แตกต่างกันไประยะห่างที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วงดังต่อไปนี้

 .

* สายเคเบิลทั้งคู่อยู่ในเทรย์คนละเทรย์แต่ไม่ได้ถูกร้อยอยู่ในท่อ
     - Level 1 กับ Level 2 – 30 mm.
     - Level 1 กับ Level 3 – 160 mm.
     - Level 1 กับ Level 4 – 670 mm.

 .

* เคเบิลทั้งคู่อยู่บนเทรย์แต่มีเคเบิลหนึ่งถูกร้อยอยู่ในท่อ
     - Level 1 กับ Level 2 – 30 mm.
     - Level 1 กับ Level 3 – 110 mm.
     - Level 1 กับ Level 4 – 460 mm.

 .

* ทั้ง 2 เคเบิลถูกร้อยอยู่ในท่อแต่คนละท่อ
     - Level 1 กับ Level 2 – 30 mm.
     - Level 1 กับ Level 3 – 80 mm.
     - Level 1 กับ Level 4 – 310 mm.

 .

จากค่าข้างบนไม่ได้กล่าวถึงเกี่ยวกับรายละเอียดการติดตั้งเทรย์และประเภทท่อเดินสายมากนัก แต่ที่คาดหวังคือเทรย์ควรถูกสร้างด้วยโลหะและมีการต่อลงดินอย่างดีตลอดทั้งแนวความยาวของเทรย์ และเทรย์ควรถูกปิดด้วยฝาเพื่อปกป้องบริเวณที่ไม่มีชีลด์รวมทั้งความเสียหายเชิงกลของสายสัญญาณ

 .
7. รายละเอียดเกี่ยวกับการต่อลงดิน

หัวข้อที่มีการอภิปรายถกเถียงกันเป็นอันมากในหลาย ๆ มาตรฐาน คือรายละเอียดเกี่ยวกับการติดตั้งระบบดินทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ
การออกแบบโดยทั่วไปจะอยู่บนพื้นฐานการแยกระบบดินออกเป็น 2 ระบบคือ

* ระบบดินของอุปกรณ์ (Equipment Earth)
* ระบบดินของระบบวัดค่าและสื่อสาร (Instrument & Data Communication Earth)
 .
จุดประสงค์ของการมีสองระบบดินคือ

* เพื่อลดสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าให้ต่ำที่สุด
* เพื่อลดผลกระทบจากฟอลต์หรือกระแสลูปจากดินต่อระบบวัดค่าและสื่อสาร
* เพื่อลดอันตรายจากแรงดันไฟฟ้าบนตัวอุปกรณ์โดยเฉพาะในกรณีมีฟอลต์หรือลัดวงจร

 .

ดินหรือเอิร์ธหรือกราวด์ถูกใช้เป็นระดับอ้างอิงสำหรับสัญญาณทุกสัญญาณโดยพิจารณาศักย์ไฟฟ้ามีค่าเท่ากับศูนย์ สำหรับระบบสื่อสารข้อมูลที่ใช้ความถี่ต่ำกว่า 10 MHz การต่อลงดินเพียงจุดเดียวเป็นวิธีเชิงปฏิบัติที่ดีที่สุดและใช้ได้ผล 2 วัตถุประสงค์หลักในการสร้างระบบดินคือ

 .

* การลดผลกระทบจากอิมพีแดนซ์จากสภาพอิมพีแดนซ์คัปปลิ้งระหว่างวงจรหลายวงจรที่แตกต่างกัน (เช่นในกรณีที่มี 3 กระแสที่แตกต่างไหลผ่านตัวต้านทางหรือค่าอิมพีแดนซ์ที่ใช้ร่วมกัน)

 .
* เพื่อแน่ใจว่าไม่มีกระแสจากดินถูกสร้างขึ้น

มีระบบดิน 3 ประเภทที่เป็นไปได้แสดงในรูปที่ 10 การต่ออนุกรมโดยต่อลงดินจุดเดียว (Series Single Point) จะเกิดสภาพอิมพีแดนซ์คัปปลิ้ง ในขณะที่การต่อแบบขนานร่วมจุดเดียว (Parallel Single Point) น่าจะถูกต้องมากกว่าเนื่องจากแยกระบบดินเป็นกลุ่มของสัญญาณดังต่อไปนี้

 .

* ระบบดินเพื่อความปลอดภัย
* ระบบดินสำหรับสัญญาณระดับต่ำเช่น เครื่องมือวัดค่า
* ระบบดินสำหรับสัญญาณระดับสูง เช่น การควบคุมมอเตอร์
* ระบบดินสำหรับอาคาร    

 .

รูปที่ 10 รูปแบบการต่อลงดิน

 .
8.  ซัพเพรสชั่นเทคนิค (Suppression Technique)

เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาจากสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้า โดยการจำกัดสัญญาณรบกวนจากแหล่งกำเนิด วิธีการเหล่านี้ต้องการความรู้ทางด้านอุปกรณ์เครื่องมือไฟฟ้าว่าเป็นสาเหตุของสัญญาณรบกวนหรือไม่และพยายามลดสาเหตุของสัญญาณรบกวนนั้น ๆ มี 2 หลักการหลักแสดงในรูปที่ 11    

 .

รูปที่ 11 การต่อ RC ขนานคอยล์

 .

ในรูปที่ 11 การเหนี่ยวนำจะสร้าง EMF ย้อนกลับคร่อมหน้าสัมผัส เมื่อแรงดันไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายถูกตัด วงจร RC จะรับ EMF ย้อนกลับ ดังนั้นสามารถลดความเสียหายของหน้าสัมผัสลงได้ แรงดันไฟฟ้าสามารถถูกกำจัดหรือลดได้หลายวิธี (ขึ้นอยู่กับประเภทของวงจร เช่น กระแสตรงหรือกระแสสลับ) ผู้ใช้วิธีการหรือเทคนิคเหล่านี้ควรระมัดระวังเกี่ยวกับเวลาการตอบสนองของคอยล์ที่สามารถถูกลดลงได้

 .

สำหรับตัวอย่างคือเวลาดรอปเอาต์ของคอยล์อาจเพิ่มเป็น 10 เท่าของค่าปกติ ดังนั้นจึงควรยิ่งระมัดระวังสำหรับระบบงานที่ต้องการการควบคุมแบบความเร็วสูง อีก 2 ระบบที่น่าจะถูกพิจารณาคือ

 .
* ซิลิคอน คอนโทรล เร็กติไฟเออร์ (Silicon Controlled Rectifier: SCR)

SCR สามารถสร้างสัญญาณรบกวนทางไฟฟ้าได้ถ้าสวิตชิ่งกระแสไฟฟ้าเป็นปริมาณมาก วิธีการแก้ไขที่เป็นไปได้คือการติดตั้งขดลวดเหนี่ยวนำขนาดเหมาะสมต่ออนุกรมกับตัว SCR

.
* ป้องกันฟ้าผ่า

สามารถป้องกันได้โดยใช้ตัวจำกัดแรงดันไฟฟ้าบางทีเรียกว่าวาริสเตอร์ (ต้องมีค่าที่เหมาะสม) ต่อคร่อมสายไฟฟ้าหรือสายสัญญาณข้อมูล

.
9.  ฟิลเตอริ่ง 

การกรองควรถูกทำใกล้กับแหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวนมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ตารางข้างล่างสรุปแหล่งกำเนิดสัญญาณรบกวนและวิธีการกรองที่เป็นไปได้

 .

.

เอกสารอ้างอิง

1. J.E Goldman and P.T. Rawles, Applied Data Communications. Addison-Wesley, New York,2001
2. J. Fulcher, an Introduction to Microcomputer Systems: Architecture and Interfacing. Addison-Wesley, Sydney,1989
3. S. Mackay, E. Wright, D.Reynders and .J Park, Practical Industrial Data Network: Design, Installation and Troubleshooting. IDC Technologies, Perth,2004

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด