เนื้อหาวันที่ : 2009-06-25 19:13:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 50807 views

การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร (ตอนที่ 1)

กิจการหลายแห่งมักจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือการบริการใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่างกันไป ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือการบริการรูปแบบใหม่เหล่านั้นมักจะนำเสนอถึงโอกาสของความสามารถในการทำกำไรที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่การวางแผนงานด้วยความระมัดระวังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการที่จะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ กุญแจที่สำคัญอย่างหนึ่งของการวางแผนงานคือ การใช้แนวคิดของการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร

ผศ.วิวัฒน์ อภิสิทธิ์ภิญโญ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา,
wiwatapi@gmail.com 

.

.

กิจการหลายแห่งมักจะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือการบริการใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่างกันไป ซึ่งผลิตภัณฑ์หรือการบริการรูปแบบใหม่เหล่านั้นมักจะนำเสนอถึงโอกาสของความสามารถในการทำกำไรที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่การวางแผนงานด้วยความระมัดระวังเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการที่จะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้

.

กุญแจที่สำคัญอย่างหนึ่งของการวางแผนงานคือ การใช้แนวคิดของการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร ดังนั้นประเด็นสำคัญที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้จึงเป็นเรื่องของการใช้ต้นทุน ปริมาณ กำไร เพื่อการวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรโดยประมาณของโครงการต่าง ๆ สำหรับต้นทุน ปริมาณ กำไร เป็นการวิเคราะห์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณของผลผลิต ต้นทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการ และผลกำไรที่จะเกิดขึ้น

.
การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร

การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร เป็นวิธีการอย่างหนึ่งสำหรับการวิเคราะห์ว่ากิจการควรจะทำการตัดสินใจในการดำเนินงานอย่างไร และการตัดสินใจดำเนินการอย่างไรนั้นจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของกิจการอย่างไร โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างต้นทุนผันแปร ต้นทุนคงที่ ราคาขายต่อหน่วย และระดับของผลผลิต การวิเคราะห์ต้นทุนปริมาณกำไรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ในหลากหลายแนวทาง เช่น 

.

* การตั้งราคาขายให้กับสินค้าหรือการบริการ
* การแนะนำผลิตภัณฑ์หรือการบริการใหม่ ๆ
* การเปลี่ยนทดแทนอุปกรณ์ในการดำเนินงาน
* การตัดสินใจว่าควรจะทำการผลิตหรือซื้อผลิตภัณฑ์หรือการบริการ
* กิจการควรวางแผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานอย่างไรต่อไป เมื่อคาดการณ์ได้ว่า เมื่อมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว จะมีผลกระทบต่อกิจการอย่างไร 

.

การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร เป็นการวิเคราะห์บนฐานข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัย 3 ประการคือ ต้นทุน รายได้ และกำไร รวมถึงปัจจัยทั้ง 3 ประการจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อระดับกิจกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกันมีการเปลี่ยนแปลงไป สมการแสดงรูปแบบของความสัมพันธ์ของต้นทุน ปริมาณ กำไรคือ

.

     กำไร = รายได้ - ต้นทุนรวม
     หรือมีค่าเทียบเท่ากับสมการต่อไปนี้ เนื่องจากต้นทุนรวมประกอบด้วยต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่
     รายได้ = ต้นทุนผันแปร + ต้นทุนคงที่ + กำไร

.

เนื่องจากรายได้สามารถคำนวณได้จากจำนวนหน่วยขายคูณด้วยราคาขายต่อหน่วย และต้นทุนผันแปรจะเท่ากับจำนวนหน่วยขายคูณด้วยต้นทุนผันแปรต่อหน่วย ดังนั้นรูปแบบสมการต้นทุน ปริมาณ กำไร จึงสามารถเขียนได้ใหม่ว่า
จำนวนหน่วยขาย x ราคาขายต่อหน่วย = (จำนวนหน่วยขาย x ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย) + ต้นทุนคงที่ + กำไร

.

และเพื่อให้สะดวกขึ้นจะแทนที่สมการดังกล่าวข้างต้นโดยใช้ตัวแปร เพื่อแสดงสมการในรูปแบบตัวแปร ในที่นี้กำหนดให้
    Q  = จำนวนหน่วยขาย
     v  = ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย
     f  = ต้นทุนคงที่รวม
     p  = ราคาขายต่อหน่วย
     O = กำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมรายการพิเศษหรือรายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยปกติ และค่าภาษีเงินได้)
     จากค่าตัวแปรข้างต้นจึงเขียนสมการใหม่ได้ว่า
                  p x Q = f + v x Q + O

.
กำไรส่วนเกินและงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกิน

ประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากการใช้รูปแบบสมการต้นทุน ปริมาณ กำไร ต้องการให้เข้าใจถึงแนวคิด 3 ประการเพิ่มเติม ซึ่งได้แก่ กำไรส่วนเกิน (Contribution Margin) อัตรากำไรส่วนเกิน (Contribution Margin Ratio) และงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกิน (Contribution Income Statement)

.
* กำไรส่วนเกิน

สำหรับกำไรส่วนเกินนั้นมีทั้งรูปแบบที่เป็นแนวคิดกำไรส่วนเกินต่อหน่วยและแนวคิดกำไรส่วนเกินรวม โดยกำไรส่วนเกินต่อหน่วยเป็นความแตกต่างระหว่างราคาขายต่อหน่วยและต้นทุนผันแปรต่อหน่วย เขียนเป็นสมการได้ว่า

.

    กำไรส่วนเกินต่อหน่วย = ราคาขายต่อหน่วย - ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย
    ucm = p - v
    กำหนดให้
    ucm = กำไรส่วนเกินต่อหน่วย

.

ค่ากำไรส่วนเกินบอกให้ทราบว่า กิจการจะมีกำไรส่วนเกินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใดสำหรับทุก ๆ 1 หน่วยสินค้าที่ขายได้เพิ่มขึ้น เช่น ถ้าคาดการณ์ได้ว่าจะมีหน่วยขายเพิ่มขึ้นเท่ากับ 100 หน่วย สามารถจะคาดการณ์ต่อไปได้ว่ากิจการควรจะมีกำไรส่วนเกินเพิ่มขึ้นเท่ากับหน่วยขายที่เพิ่มขึ้น 100 หน่วยคูณด้วยกำไรส่วนเกินต่อหน่วย เป็นต้น สำหรับกำไรส่วนเกินรวมเป็นการนำกำไรส่วนเกินต่อหน่วยคูณกับจำนวนหน่วยสินค้าที่ขายได้ เขียนเป็นสมการได้ว่า

.
    กำไรส่วนเกินรวม = กำไรส่วนเกินต่อหน่วย x จำนวนหน่วยขาย
    CM = ucm x Q
    กำหนดให้
    CM = กำไรส่วนเกินรวม
.
ตัวอย่างที่ 1

กิจการ ABC อุตสาหกรรมได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ชนิดหนึ่งชื่อ ผลิตภัณฑ์ B โดยจะตั้งราคาขายสินค้าดังกล่าวเท่ากับ 150 บาทต่อหน่วย ต้นทุนผันแปรต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ประมาณการว่าจะเท่ากับ 60 บาท เงินลงทุนในส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่เท่ากับ 9,750 บาทต่อเดือน ฝ่ายขายคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวน่าจะขายได้ในปีแรกประมาณ 2,500 หน่วย ส่วนปีที่ 2 ปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้นจากปีแรกประมาณ 20% จากข้อมูลข้างต้นสามารถนำมาสรุปรายละเอียดข้อมูลการดำเนินงานโดยประมาณได้ดังนี้

.

.

ข้อมูลเกี่ยวกับราคาขายและต้นทุนผันแปรโดยประมาณข้างต้นสามารถนำมาคำนวณหากำไรส่วนเกินต่อหน่วยได้ดังนี้
    กำไรส่วนเกินต่อหน่วย = ราคาขายต่อหน่วย - ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย
    ucm = p - v
           = 150 บาท - 60 บาท
           = 90 บาท

.

ในปีแรกกิจการคาดการณ์ว่าจะขายสินค้าได้จำนวน 2,500 หน่วย จึงสามารถคาดการณ์ได้ต่อไปว่ากิจการจะมีกำไรส่วนเกินรวมเพิ่มขึ้นจากผลการดำเนินงานเดิม (ก่อนที่จะทำการผลิตและขายผลิตภัณฑ์ B) เท่ากับ 225,000 บาท (2,500 หน่วย x 90 บาท) เนื่องจากต้นทุนคงที่เท่ากับ 117,000 บาทต่อปี กำไรจากการดำเนินงานที่ควรจะเกิดขึ้นในปีแรกของการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จึงเท่ากับ 108,000 บาท (225,000 บาท - 117,000 บาท)

.

ในปีที่ 2 คาดการณ์ว่าจะขายสินค้าได้เพิ่มขึ้นจากปีแรกเท่ากับ 20% หรือคิดเป็นหน่วยขายที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 500 หน่วย (2,500 หน่วย x 20%) ในปีที่ 2 กิจการจึงควรจะมีกำไรส่วนเกินรวมเพิ่มขึ้นเท่ากับ 45,000 บาท (500 หน่วย x 90 บาท) ซึ่งคำนวณหาได้จากการนำจำนวนหน่วยขายที่เพิ่มขึ้นคูณด้วยกำไรส่วนเกินต่อหน่วย และเนื่องจากในปีที่ 2 นี้กิจการยังคงมีต้นทุนคงที่เท่ากับปีแรก  

.

ด้วยเหตุนี้กำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในปีที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ 1 จึงมีจำนวนเท่ากับกำไรส่วนเกินที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีที่ 2 คือ 45,000 บาท หรือกล่าวได้อีกลักษณะหนึ่งว่ากำไรจากการดำเนินในปีที่ 2 คาดการณ์ว่าจะเท่ากับ 153,000 บาท (108,000 บาท + 45,000 บาท)

.
* อัตรากำไรส่วนเกิน
ถ้าต้องการวัดค่าอัตรากำไรส่วนเกินจะต้องนำกำไรส่วนเกินรวมเปรียบเทียบกับมูลค่าขายโดยรวม เขียนเป็นสูตรได้ว่า
   
.
อัตรากำไรส่วนเกินสามารถคำนวณในอีกลักษณะหนึ่งโดยการนำกำไรส่วนเกินต่อหน่วยเปรียบเทียบกับราคาขายต่อหน่วย เขียนเป็นสูตรได้ดังนี้
.
ตัวอย่างที่ 2
จากข้อมูลของกิจการ ABC อุตสาหกรรมในตัวอย่างที่ 1 สามารถนำมาทำการคำนวณหาอัตรากำไรส่วนเกินได้ดังนี้
 .

ค่าอัตรากำไรส่วนเกิน 60% มีความหมายว่าทุก ๆ ยอดขาย 100 บาท จะมีกำไรส่วนเกินเท่ากับ 60 บาท ดังนั้นค่าอัตรากำไรส่วนเกินที่คำนวณได้ข้างต้นจึงสามารถที่จะนำมาใช้เพื่อการอธิบายได้ว่ากำไรควรจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปจำนวนเท่าใดเมื่อยอดขายมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปจากเดิม ในกรณีนี้กิจการจึงควรจะคาดการณ์ได้ว่ากำไรในปีที่ 2 จะได้รับผลกระทบอย่างไรจากการที่จำนวนหน่วยขายในปีที่ 2 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีแรกเท่ากับ 20%

 .

การคาดการณ์กำไรที่เพิ่มขึ้นในปีที่ 2 สามารถคำนวณได้โดยการนำยอดขายที่เพิ่มขึ้นในปีที่ 2 คูณด้วยอัตรากำไรส่วนเกิน แสดงการคำนวณหากำไรที่เพิ่มขึ้นในปีที่ 2 ได้ดังตารางที่ 1 ต่อไปนี้

 .
ตารางที่ 1 แสดงการคาดการณ์กำไรที่เพิ่มขึ้นโดยใช้อัตรากำไรส่วนเกิน

 .
* งบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกิน

ประโยชน์อย่างหนึ่งที่จะได้รับจากข้อมูลที่มีการพัฒนาไปตามแนวคิดของการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร คือ การจัดทำงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกิน งบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกินเริ่มต้นจากยอดขายหักด้วยต้นทุนผันแปรจะได้ค่าผลลัพธ์ที่เรียกว่ากำไรส่วนเกิน และเมื่อนำต้นทุนคงที่มาออกจากกำไรส่วนเกินจะได้ค่าผลลัพธ์กำไรจากการดำเนินงาน งบกำไรขาดทุนลักษณะนี้ จะมีความแตกต่างไปจากงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรขั้นต้นที่ใช้ในทางบัญชีการเงิน แสดงการเปรียบเทียบงบกำไรขาดทุนทั้งสองรูปแบบได้ดังตารางที่ 2 ต่อไปนี้

 .

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกินและงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรขั้นต้นของกิจการอุตสาหกรรม

 .

จากตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่าประเด็นของความแตกต่างของการรายงานงบกำไรขาดทุนทั้ง 2 รูปแบบคือ การจัดประเภทรายการต้นทุน โดยในส่วนของงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกินจะทำการจัดจำแนกต้นทุนในการดำเนินงานตามลักษณะพฤติกรรมของต้นทุนคือ ต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่ ในขณะที่งบกำไรขาดทุนแสดงกำไรขั้นต้นจะทำการจัดจำแนกต้นทุนในการดำเนินงานตามลักษณะหน้าที่งานคือ ต้นทุนผลิตภัณฑ์ และต้นทุนที่ไม่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์

 .
ตัวอย่างที่ 3

จากข้อมูลของกิจการ ABC อุตสาหกรรมในตัวอย่างที่ 1 สามารถนำมาจัดทำงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกินได้ดังตารางที่ 3 ต่อไปนี้

ตารางที่ 3 งบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกินของ ABC อุตสาหกรรม

 .

จากข้อมูลในตารางจะสังเกตได้ว่า จำนวนเปอร์เซ็นต์ 60% คือค่าของอัตรากำไรส่วนเกินที่ได้คำนวณไว้ในตัวอย่างที่ 2 อย่างไรก็ตามได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่านอกจากจะคำนวณค่าอัตรากำไรส่วนเกินจากข้อมูลราคาขายต่อหน่วยและต้นทุนผันแปรต่อหน่วยเหมือนกับที่แสดงไว้ในตัวอย่างที่ 2 แล้ว อัตรากำไรส่วนเกินสามารถคำนวณหาได้จากการนำกำไรส่วนเกินรวมเปรียบเทียบกับยอดขายรวม แสดงได้ดังนี้

 .

จากการคำนวณข้างต้นจะเห็นได้ว่าอัตรากำไรส่วนเกินที่คำนวณได้ทั้งสองปีเท่ากับ 60% ซึ่งมีจำนวนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณโดยใช้ข้อมูลต่อหน่วยหรือข้อมูลยอดรวม นอกจากนี้อัตรากำไรส่วนเกินทั้งสองปียังมีจำนวนที่เท่ากันด้วย สาเหตุของประเด็นในกรณีหลังนี้เนื่องมาจากข้อมูลของราคาขายต่อหน่วยและต้นทุนผันแปรต่อหน่วยของแต่ละปียังคงเท่าเดิม

 .

จากข้อมูลที่แสดงในงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกินในตารางที่ 3 จะเห็นได้ว่าการขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น 20% จากปีที่ 1 ซึ่งคิดเป็นหน่วยขายที่เพิ่มขึ้นจำนวน 500 หน่วยหรือเท่ากับยอดขายเพิ่มขึ้น 75,000 บาทนั้นทำให้กิจการมีกำไรเพิ่มขึ้นเท่ากับ 45,000 บาท ซึ่งเท่ากับที่คาดการณ์ได้จากการใช้ค่ากำไรส่วนเกินต่อหน่วยและอัตรากำไรส่วนเกินในตัวอย่างที่ 1 และ 2

 .

ข้อดีของการจัดทำงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกินคือ ทำให้สามารถคาดการณ์ถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของยอดขายที่มีต่อกำไรได้ง่ายและมีความถูกต้อง ซึ่งความสามารถของการคาดการณ์ในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่สามารถจะกระทำได้ถ้าจัดทำงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรขั้นต้น เนื่องจากงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรขั้นต้นไม่ได้ทำการจำแนกต้นทุนออกเป็นต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่

 .
บทบาทของการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรในเชิงกลยุทธ์

การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร สามารถช่วยให้ผู้บริหารของกิจการวางแผนกลยุทธ์ในการดำเนินงานได้ โดยจะทำให้สามารถเข้าใจได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของยอดขายในลักษณะใด ๆ นั้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและกำไรของกิจการได้อย่างไรบ้าง กิจการหลาย ๆ แห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่ต้องการเป็นผู้นำในด้านต้นทุนต้องทำการแข่งขันกันผลิตสินค้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น (ต้นทุนต่อหน่วยจะลดลงและสามารถนำเสนอราคาขายต่อหน่วยในราคาที่ถูกกว่าได้) 

.

เพื่อความสำเร็จในส่วนของต้นทุนในการดำเนินงานโดยภาพรวมที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลง การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรจะทำให้ทราบถึงระดับของความสี่ยงที่จะได้รับจากการที่ต้นทุนคงที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นและระดับความยืดหยุ่นในการดำเนินงานที่ลดลงเมื่อปริมาณการขายมีการเปลี่ยนแปลงลดลง

 .

การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร มีความสำคัญมากต่อการนำไปใช้ทั้งในส่วนของต้นทุนวงจรชีวิตและต้นทุนตามเป้าหมาย กล่าวคือ การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรถูกนำไปใช้ในขั้นแรกของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์เพื่อการประเมินค่าว่าผลิตภัณฑ์มีความสามารถที่จะทำกำไรได้ตามเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ ในทำนองเดียวกันการวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร สามารถช่วยทำให้ทราบได้ว่าต้นทุนตามเป้าหมายในขั้นแรกที่ได้นั้นส่งผลกระทบต่อกำไร ณ ระดับยอดขายที่คาดการณ์อย่างไร

 .

นอกจากนี้การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในลำดับขั้นต่อ ๆ ไปของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ได้เช่นกัน ทั้งในระหว่างการวางแผนการผลิต ทั้งนี้เพื่อการประเมินค่าต้นทุนที่มีประสิทธิผลของกระบวนการผลิต เช่น การตัดสินใจเมื่อจะทำการเปลี่ยนทดแทนเครื่องจักรในการผลิต หรือควรจะซื้อเครื่องจักรประเภทใด การตัดสินใจในการดำเนินการผลิตโดยระบบอัตโนมัติ หรือการจัดหาชิ้นส่วนจากบุคคลภายนอก เป็นต้น

 .

ส่วนในช่วงสุดท้ายของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์นั้น ต้นทุน ปริมาณ กำไร สามารถนำมาใช้เพื่อประเมินถึงระบบการตลาดและการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมได้ เช่น การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรสามารถนำมาใช้เพื่อประเมินค่าถึงผลตอบแทนที่จะจ่ายให้กับพนักงานขายว่าควรจะจ่ายเป็นเงินเดือนหรือค่านายหน้า ในทำนองเดียวกันยังช่วยให้สามารถประเมินค่าถึงการวางแผนโปรแกรมส่งเสริมการขายเกี่ยวกับส่วนลดที่จะให้แก่ลูกค้าว่าควรจะเป็นเท่าใด เป็นต้น

 .

การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรมีบทบาทที่สำคัญต่อการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร เช่น กิจการแห่งหนึ่งเลือกที่จะแข่งขันเพื่อการเป็นผู้นำในด้านต้นทุน บทบาทของต้นทุน ปริมาณ กำไรที่นำมาใช้ในช่วงเริ่มต้นวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์คือจะต้องระบุหรืออธิบายให้ทราบถึงวิธีการต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิผล ซึ่งรวมถึงระบบการผลิตอัตโนมัติ การจัดหาปัจจัยการผลิตจากภายนอก และการบริหารคุณภาพโดยรวม

 .

ในขณะที่กิจการอีกแห่งหนึ่งมุ่งเน้นการวางกลยุทธ์ในด้านของความแตกต่าง ในกรณีหลังนี้ต้องการนำแนวคิดต้นทุน ปริมาณ กำไรมาใช้เพื่อการประเมินค่าถึงความสามารถในการทำกำไรของผลิตภัณฑ์ใหม่ และความสามารถในการทำกำไรได้ของผลิตภัณฑ์เดิมที่มีการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพให้สูงขึ้น เป็นต้น      

 .
การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไรสำหรับแผนงานที่จุดคุ้มทุน

จุดเริ่มต้นของธุรกิจหลาย ๆ แห่งคือการประเมินค่าจุดคุ้มทุนของกิจการ จุดคุ้มทุนเป็นระดับการดำเนินงานที่รายได้เท่ากับต้นทุนรวม และกำไรมีค่าเท่ากับศูนย์ ตำแหน่งนี้สามารถคำนวณหาค่าได้โดยใช้การวิเคราะห์ต้นทุน ปริมาณ กำไร รูปแบบแนวคิดต้นทุน ปริมาณ กำไร สามารถแก้ปัญหาได้โดยการแทนค่าต้นทุนผันแปรต่อหน่วย ราคาขายต่อหน่วย และต้นทุนคงที่ ส่วนกำไรจะถูกกำหนดให้มีค่าเท่ากับศูนย์ 

 .

หลังจากนั้นจึงหาค่าปริมาณการขายที่ทำให้คุ้มทุนในการดำเนินงาน การแก้สมการเพื่อหาค่าปริมาณการขายสามารถทำได้ 2 แนวทางคือการใช้วิธีการสมการ และการใช้วิธีกำไรส่วนเกิน แต่ละวิธีสามารถคำนวณหาค่าได้ทั้งจำนวนหน่วยขายที่จุดคุ้มทุนและยอดขาย ณ จุดคุ้มทุน

 .
* วิธีสมการ: หน่วยขายที่จุดคุ้มทุน

การคำนวณหาหน่วยขายที่จุดคุ้มทุนโดยใช้วิธีการสมการ สามารถนำสมการแนวคิดต้นทุน ปริมาณ กำไรที่กล่าวถึงข้างต้นมาประยุกต์ใช้ได้โดยตรง รูปแบบสมการดั้งเดิมแสดงได้ดังนี้
    p x Q = f + v x Q + O

 .
ตัวอย่างที่ 4
จากข้อมูลของกิจการ ABC อุตสาหกรรมในตัวอย่างที่ 1 สามารถนำมาคำนวณหาหน่วยขายที่จุดคุ้มทุนได้ดังนี้
 .

จากการคำนวณทำให้ทราบว่ากิจการจะต้องขายสินค้าให้ได้ปีละ 1,300 หน่วยจึงจะคุ้มทุนในการดำเนินงาน หมายความว่าที่ระดับกิจกรรมหน่วยขาย 1,300 หน่วยนี้กิจการจะมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับศูนย์ ถ้ากิจการขายสินค้าได้มากกว่า 1,300 หน่วย ทุก ๆ หน่วยขายที่เพิ่มขึ้นจากตำแหน่งหน่วยขาย ณ กิจการจะมีกำไรเพิ่มขึ้นหน่วยละ 90 บาท

 .

กล่าวคือ ถ้าขายสินค้าได้ 1,301 หน่วยจะมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 90 บาท (1 หน่วย x 90 บาท) ถ้าขายสินค้าได้ 1,302 หน่วยจะมีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 180 บาท (2 หน่วย x 90 บาท) แสดงงบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกินเพื่อให้เห็นผลกำไรจากการดำเนินงานที่เกิดขึ้นทุก ๆ 1 หน่วยการขายจากจุดคุ้มทุนได้ดังตารางที่ 4 ต่อไปนี้

 .

 ตารางที่ 4 งบกำไรขาดทุนแสดงกำไรส่วนเกิน

 .
* วิธีสมการ: ยอดขายที่จุดคุ้มทุน

ในบางครั้งอาจจะไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยขาย ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย และราคาขายต่อหน่วย หรือในทางปฏิบัติอาจจะไม่สามารถวัดค่าสิ่งเหล่านั้นได้ เช่น กิจการที่มีสินค้าหลายชนิดและมีความสนใจที่จะต้องการทราบถึงระดับยอดขาย ณ จุดคุ้มทุนที่เป็นภาพรวมของกิจการสำหรับทุก ๆ ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ไปพร้อมกัน      

 .

ในทางปฏิบัติจะไม่ทำการคำนวณหาหน่วยขาย ณ จุดคุ้มทุนของแต่ละผลิตภัณฑ์ แต่ส่วนใหญ่มักจะทำการคำนวณหายอดขายรวม ณ จุดคุ้มทุนสำหรับผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เป็นต้น ในกรณีที่ต้องการหายอดขาย ณ จุดคุ้มทุนรูปแบบสมการที่ใช้ในการคำนวณหา แสดงได้ดังนี้

รายได้ = ต้นทุนผันแปร + ต้นทุนคงที่ + กำไร
 .

จากสูตรข้างต้นค่าอัตราส่วน v/p ที่แสดงข้างต้นนั้นคือค่าอัตราต้นทุนผันแปร อย่างไรก็ตามในกรณีที่ไม่ทราบข้อมูลต้นทุนผันแปรต่อหน่วยและราคาขายต่อหน่วยสามารถคำนวณหาค่าอัตราต้นทุนผันแปรได้โดยการนำต้นทุนผันแปรรวมหารด้วยยอดขายซึ่งจะได้ค่าผลลัพธ์ของอัตราต้นทุนผันแปรที่เท่ากัน

 .
ด้วยเหตุนี้สามารถเขียนสมการยอดขาย ณ จุดคุ้มทุนข้างต้นได้ใหม่ในอีกลักษณะหนึ่งดังนี้
 .
ตัวอย่างที่ 5

จากข้อมูลของกิจการ ABC อุตสาหกรรม สมมติว่าไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับราคาขาย ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย แต่ทราบว่ากิจการมีต้นทุนคงที่ประมาณ 117,000 บาทต่อปี ยอดขายประมาณการเท่ากับ 375,000 บาท และมีต้นทุนผันแปรรวมที่ระดับการขายดังกล่าวเท่ากับ 150,000 บาท

 .
จากข้อมูลดังกล่าวสามารถคำนวณหาอัตราต้นทุนผันแปรได้ดังนี้
 .

หลังจากทราบอัตราต้นทุนผันแปรแล้ว สามารถคำนวณหายอดขาย ณ จุดคุ้มทุนได้ โดยกำหนดให้ค่า O เท่ากับศูนย์ เนื่องจากที่จุดคุ้มทุนกิจการจะไม่มีกำไรจากการดำเนินงาน แสดงการคำนวณได้ดังนี้ 

 .
 .

ผลการคำนวณทำให้ทราบว่ายอดขาย ณ จุดคุ้มทุนคือ 195,000 บาท ถ้ากิจการคาดการณ์ได้ว่าจะขายสินค้าได้ประมาณ 375,000 บาท ระดับกิจกรรมดังกล่าวเป็นระดับกิจกรรมที่กิจการมีความสามารถในการทำกำไรได้

 .
* วิธีกำไรส่วนเกิน

วิธีที่สะดวกในการคำนวณหาจุดคุ้มทุนคือ การใช้สมการกำไรส่วนเกิน รูปแบบสมการกำไรส่วนเกินเพื่อการคำนวณหาจำนวนหน่วยขาย แสดงได้ดังนี้

 .
 .

วิธีสมการกำไรส่วนเกินนี้ยังสามารถใช้คำนวณหายอดขาย  ณ จุดคุ้มทุนได้เช่นเดียวกัน จากแต่เดิมที่นำกำไรส่วนเกินต่อหน่วยเป็นตัวหาร จะต้องทำการปรับเปลี่ยนใหม่โดยใช้อัตรากำไรส่วนเกินเป็นตัวหารแทน ผลลัพธ์ที่ได้จะเรียกว่ายอดขาย ณ จุดคุ้มทุน แสดงได้ดังนี้

 .
 .
ตัวอย่างที่ 6
จากข้อมูลของกิจการ ABC อุตสาหกรรม สามารถคำนวณหาหน่วยขายและยอดขาย ณ จุดคุ้มทุน โดยใช้วิธีกำไรส่วนเกิน ได้ดังนี้
 .
 .

เมื่อเปรียบเทียบผลการคำนวณที่ได้ในตัวอย่างที่ 4 และ 5 แล้วจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะคำนวณหน่วยขายหรือยอดขาย ณ จุดคุ้มทุนโดยใช้วิธีสมการหรือวิธีกำไรส่วนเกินก็ตามผลลัพธ์ที่ได้มีค่าเท่ากัน

 .
กราฟต้นทุน ปริมาณ กำไรและกราฟแสดงกำไร

การวิเคราะห์จุดคุ้มทุนในอีกลักษณะหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การใช้กราฟต้นทุน ปริมาณ กำไร กราฟต้นทุน ปริมาณ กำไรจะอธิบายให้ทราบว่า ณ ระดับปริมาณการขายที่มีความแตกต่างกันไป มูลค่าของยอดขายและต้นทุนรวมจะมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะอย่างไร ส่วนกราฟแสดงกำไรจะแสดงให้เห็นถึงส่วนของผลกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไปครอบคลุมช่วงปริมาณการขายหนึ่ง ๆ ที่มีความแตกต่างกันไป

 .
ตัวอย่างที่ 7
จากข้อมูลของกิจการ ABC อุตสาหกรรม สามารถนำมาแสดงกราฟต้นทุน ปริมาณ กำไร และกราฟแสดงกำไรได้ดังภาพที่ 1 และ 2 ดังนี้
 .

รูปที่ 1 กราฟต้นทุน ปริมาณ กำไร

 .

จากรูปที่ 1 จะเห็นได้ว่าเส้นกราฟในแผนภาพประกอบด้วยเส้นต้นทุนรวมและเส้นรายได้รวมหรือเส้นยอดขาย โดยเส้นต้นทุนรวมมีจุดเริ่มต้นในการลากออกจากแนวแกนตั้งที่ 117,000 บาท ซึ่งเป็นค่าของต้นทุนคงที่ เส้นต้นทุนรวมจะมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อระดับกิจกรรมมีค่าเพิ่มขึ้นในที่นี้คือปริมาณการขายทุก ๆ หน่วยขายที่เพิ่มขึ้นจะมีต้นทุนผันแปรเพิ่มขึ้นหน่วยละ 60 บาท

 .

ส่วนเส้นรายได้รวมมีจุดเริ่มต้นในการลากออกจากแนวแกนตั้งที่จุดศูนย์ เส้นรายได้จะมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อระดับกิจกรรมเพิ่มขึ้น โดยทุก ๆ หน่วยขายที่เพิ่มขึ้นจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหน่วยละ 150 บาท ตำแหน่งที่เส้นต้นทุนรวมและเส้นรายได้รวมตัดกัน ตำแหน่งนั้นเรียกว่าตำแหน่งของจุดคุ้มทุนในที่นี้หน่วยขายที่จุดคุ้มทุนคือ 1,300 หน่วย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รายได้รวมและต้นทุนรวมจะมีค่าเท่ากันทำให้ไม่เกิดผลกำไรหรือขาดทุนจากการดำเนินงาน

 .

ให้สังเกตว่าที่ระดับกิจกรรมหน่วยขายต่ำกว่า 1,300 หน่วยเส้นรายได้รวมจะอยู่ต่ำกว่าเส้นต้นทุนรวม นั่นหมายความว่าผลการดำเนินงานที่ระดับหน่วยการขายต่ำกว่า 1,300 หน่วยกิจการจะมีผลขาดทุน ในทางตรงกันข้ามทุกๆ หน่วยการขายที่เกินกว่า 1,300 หน่วย เส้นรายได้รวมจะอยู่เหนือเส้นต้นทุนรวม นั่นหมายความว่าผลการดำเนินงานที่ระดับหน่วยการขายสูงกว่า 1,300 หน่วยกิจการจะมีผลกำไร

.

รูปที่ 2 กราฟแสดงกำไร

.

จากรูปที่ 2 จะเห็นได้ว่าเส้นกราฟในแผนภาพคือเส้นกำไร ที่ระดับกิจกรรมหน่วยการขาย 1,300 หน่วยเส้นกำไรตัดเส้นแกนนอนซึ่งอ่านค่ากำไรได้เท่ากับศูนย์ ตำแหน่งนี้คือตำแหน่งของจุดคุ้มทุนในการดำเนินงาน เส้นกำไรที่อยู่ทางด้านขวาของตำแหน่งหน่วยขาย 1,300 หน่วยหรือที่ระดับหน่วยการขายมากกว่า 1,300 หน่วยแสดงให้เห็นว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน

.

แต่ถ้าพิจารณาเส้นกำไรที่อยู่ทางด้านซ้ายของตำแหน่งหน่วยขาย 1,300 หน่วยหรือที่ระดับหน่วยการขายน้อยกว่า 1,300 หน่วยแสดงให้เห็นว่ากิจการมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน ค่าความชันของเส้นกำไรมีค่าเท่ากับ 90 บาท สำหรับทุก ๆ หน่วยการขายที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลง และถ้าพิจารณาที่ตำแหน่งหน่วยการขายเท่ากับศูนย์จะพบว่ากิจการจะมีผลขาดทุนเท่ากับค่าของต้นทุนคงที่ในที่นี้คือ 117,000 บาท

.

(กรุณาติดตามอ่านต่อฉบับหน้า)

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด