เนื้อหาวันที่ : 2006-09-27 14:08:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5715 views

ความรู้เบื้องต้นเพื่อความปลอดภัยเบื้องหน้าเกี่ยวกับสารพิษทางอุตสาหกรรม

การนำพาประเทศจากวิถีการผลิตในภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณและลดขนาดของวัตถุธาตุ 2 สิ่งคือ มลพิษสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในขณะทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะต้นทุนทางธรรมชาติ ทำให้มลพิษจากสารเคมีครอบคลุมไปในทุกจุดที่เทคโนโลยี การบำบัดยังไปไม่ถึง

1.บทนำ

การนำพาประเทศจากวิถีการผลิตในภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณและลดขนาดของวัตถุธาตุ 2 สิ่งคือ มลพิษสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในขณะทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะต้นทุนทางธรรมชาติเช่น ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรดินและทรัพยากรน้ำเกิดการลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพทำให้หนทางความเจริญของมนุษย์ในอนาคตบางส่วนถูกปิดกั้น สารเคมีที่ก่อให้เกิดโทษ ทั้งที่อยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว และก็าซถูกนำมาใช้ผสมผสานกลมกลืนกันจนเกิดเป็นสารสังเคราะห์ประเภทต่าง ๆ บางชนิดเป็นของเสียที่ถูกผลักดันออกมาจาก กระบวนการผลิตทั้งในลักษณะของสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ไม่ได้คุณภาพ ทำให้มลพิษจากสารเคมีครอบคลุมไปในทุกจุดที่เทคโนโลยี การบำบัดยังไปไม่ถึง 

.

.

การรอให้ธรรมชาติฟื้นตัวและจัดการตัวมันเองอาจทำได้ในบางกรณีที่พิษของสารอาจอยู่ในระดับต่ำและไม่เกิดพิษเฉียบพลัน แต่ถ้าในกรณีที่มีพิษสะสมและเป็นพิษรุนแรงเราต้องใช้เทคโนโลยีการบำบัดสารพิษเข้ามาช่วย ในการแก้ไขโดยเร่งด่วน เพราะชีวิตของมนุษย์มีราคาค่างวดมากกว่าระบบบำบัดหรือระบบควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรม ชีวิตของมนุษย์ในวันนี้โชคร้าย เพราะมลพิษจากสารเคมีอยู่ในระดับที่น่าสะพรึงกลัวแต่ชีวิตของมนุษย์ในอนาคตนั้นอาจน่ากลัวมากกว่าเป็นเท่าตัวเพราะความรุนแรงของพิษภัยจากสารเคมีที่อยู่ในสภาพแวดล้อมได้สะสมไว้มากพอที่จะรุกรานและโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายรวมทั้งก่อให้เกิดโรคจากการทำงานที่รุนแรงและทำลายความสามารถอันชาญฉลาดของมนุษย์ลงไปอย่างน่าสะพรึงกลัว การศึกษาเรื่องสารพิษทางอุตสาหกรรมจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคนเพื่อการเฝ้าระวังและตรวจติดตามที่ได้ผลต่อไปในอนาคต เพราะอันตรายจากสารพิษมีหลายรูปแบบ เช่นอันตรายจากความเป็นพิษ อันตรายจากความไวไฟ และอันตรายจากการเกิดปฏิกิริยาเคมีรุนแรงหรือการระเบิดเป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีอันตรายจากสารพิษซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เนื่องมาจากลักษณะการทำงานกับสารเคมี รวมทั้งอันตรายทางชีวภาพ และอันตรายจากสารกัมมันตรังสี ในส่วนต่อไปนี้จะกล่าวถึงอันตรายจากความเป็นพิษซึ่งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการชี้บ่งและการประเมินความเสี่ยงในการทำงานกับสารเคมีควรทราบและหาทางป้องกัน

.
2. สารพิษและความเป็นพิษ

สารพิษ (Toxic Substances) หมายถึงแร่ธาตุหรือสารประกอบทางเคมีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือสังเคราะห์ขึ้นและมีสมบัติเป็นพิษต่อมนุษย์ สัตว์ พืชและทำให้ทรัพย์สินเสื่อมสภาพ(จารุพงศ์ บุญหลง,2538:20) เมื่อสารพิษเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากพอจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ส่วนลักษณะของ "พิษ(Toxic)" มีหลายแบบ เช่น พิษที่เป็นลักษณะการแสดงออก เช่นการระคายเคือง ความรำคาญ หรืออันตรายต่อสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ยังมีลักษณะทางนามธรรม เช่นอาการที่ส่งผลเสียมาสู่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอารมณ์หรือพฤติกรรม ก็อาจยอมว่านั้นคือ พิษ สำหรับความเป็นพิษนั้นมีทั้งที่แสดงออกและไม่แดงออกให้เห็นได้ด้วยตา ซึ่งสรุปได้ดังนี้

.

1. ความเป็นพิษภายนอก เช่น ตามผิวหนัง ซึ่งอาจมีอาการของผื่นแผล เป็นตุ่ม พุพอง ซึ่งผู้ได้รับพิษจะมีอาการคับแสบ ปวดแสบปวดร้อน หรือมีไข้

2. ความเป็นพิษภายใน เช่น อาจเกิดที่ระบบหมุนเวียนเลือด ระบบประสาท ระบบการรับฟัง ระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร ซึ่งพิษส่วนใหญ่จะออกอาการอยู่ภายใน บางกรณีมีลักษณะบางอย่างให้เห็น เช่น ปากสั่น ตาเหลือง เป็นต้น

..

ความเป็นพิษของสารไม่สามารถวัดออกมาเป็นเกณฑ์มาตรฐานเหมือนการวัดจุดเดือดหรือจุดหลอมเหลวของสารได้ แต่ความเป็นพิษจะแสดงออกมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ และชีวภาพที่เกิดขึ้นกับร่างกาย บางครั้งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นน้อยมากจนไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระยะเวลาสั้น  ๆ ทำให้เกิดการปล่อยปละละเลย จนกระทั่งความเป็นทวีความรุนแรงก่อให้เกิดอันตรายถึงขึ้นเสียชีวิตได้ หรือบางกรณีเพียงแต่สร้างความรำคาญ หรืออาการพิการไม่ทางใดก็ทางหนึ่งได้ สำหรับพิษที่ได้รับอาจเป็นทั้งพิษแบบฉับพลันคือเมื่อได้รับพิษแล้วจะมีอาการแสดงออกในระดับอันตรายทันทีทันใดโดยอาจตายได้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพิษที่ได้รับจากการดมกลิ่น หรือลิ้มรสด้วยปาก และพิษแบบสะสม หรือที่เรียกว่าพิษแบบเรื้อรัง ซึ่งถ้าพิษสะสมไว้เป็นเวลานานอาจตายได้เช่นกัน

..
3. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์

สารพิษจะมีผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทดลองแตกต่างกัน เหตุที่ต้องยกสัตว์ทดลองมาเป็นกรณีศึกษาด้วยนั้นเนื่องจากความเป็นพิษที่เกิดกับมนุษย์สามารถใช้กรณีศึกษาดังกล่าวในการเฝ้าระวังและป้องกันได้ ดังนั้นก่อนที่จะใช้สารเคมีใด ๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบว่าจะมีอันตรายอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นได้ถ้าต้องใช้สารนั้น และอันตรายจากสารนั้นมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปความรุนแรงของอันตรายที่เกิดจากความเป็นสารพิษของสารเคมีจะขึ้นอยู่กับปริมาณ ระยะเวลาที่สัมผัส และความเป็นพิษที่เป็นสมบัติเฉพาะของสารเคมีนั้น  ๆ ความเป็นพิษของสารใด  ๆ จะผันแปรไปตามปริมาณสารพิษ จำนวนครั้ง และช่องทางที่ได้รับสารพิษ ซึ่งจะมีผลต่อการออกฤทธิ์ว่าจะเกิดพิษเฉียบพลันหรือพิษเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น  ๆ ที่เกี่ยวข้อง(นวลศรี ทยาพัชร,2538:103) ได้แก่

..

1. ชนิดของสัตว์ สัตว์แต่ละชนิดจะได้รับผลกระทบจากสารพิษแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เมทานอล ทำให้เกิดพิษเรื้อรังและเฉียบพลันต่อคนและลิงเมื่อดื่มกินหรือสูดดม แต่จะมีพิษน้อยต่อสัตว์อื่น  ๆ ที่ไม่ใช่คนและลิง ไม่ทำลายเนื้อเยื่อตาและทำให้ตาบอดเหมือนที่เกิดกับมนุษย์ สารไนโตรเบนซีน เมื่อให้โดยทุกช่องทางจะมีพิษเฉียบพลันและเรื้อรังต่อคน แมว และสุนัข แต่มีพิษน้อยลงต่อลิง หนูและกระต่าย เป็นต้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสัตว์แต่ละชนิดมีวิธีการดูดซึม และการขับสารพิษออกจากร่างกายได้ในอัตราที่แตกต่างกัน

.

2. อายุ เนื่องจากอายุของสัตว์มีอิทธิพลต่อการออกฤทธิ์ของสารพิษโดยเฉพาะพิษเฉียบพลัน สัตว์แรกเกิดหรือที่มีอายุน้อยจะมีความไวต่อสารพิษมากกว่าสัตว์ที่โตเต็มวัย แต่สารเคมีหรือสารพิษบางชนิดก็มีพิษต่อสัตว์ที่โตเต็มวัยมากกว่าสัตว์ที่มีอายุน้อย  ๆ เช่น ดีดีที จะไม่มีพิษเฉียบพลันต่อหนูแรกเกิด และจะมีพิษเพิ่มมากขึ้นเมื่อหนูอายุมากขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับสารพวกออร์กาโนฟอสเฟต เช่น พาราไทออน ที่มีฤทธิ์รุนแรงต่อสัตว์แรกเกิดมากกว่าสัตว์ที่โตเต็มวัย การที่สัตว์แต่ละช่วงอายุมีการตอบสนองต่อสารพิษได้แตกต่างกัน อาจเนื่องจากระบบการทำงานของเอนไซม์ในร่างกายที่มีต่อสารพิษได้ต่างกัน

.

 3. เพศ เนื่องจากสัตว์ที่มีเพศต่างกันจะมีสรีระและรูปร่างต่างกัน โดยเฉพาะมีระบบสืบพันธุ์และฮอร์โมนเพศต่างกัน ดังนั้นเมื่อได้รับสารพิษบางชนิด สัตว์แต่ละเพศจะแสดงอาการพิษแตกต่างกัน เช่น หนูตัวผู้มีความไวต่อการที่ตับถูกทำลายเมื่อได้รับพิษเรื้อรังของดีดีทีทางปากมากกว่าหนูตัวเมีย 10 เท่า ความแตกต่างเหล่านี้เชื่อว่าเนื่องจากฮอร์โมนเพศ สารเคมีบางชนิดที่ออกฤทธิ์แตกต่างกันเมื่อโตเต็มวัย แต่อาจออกฤทธิ์ไม่แตกต่างกันเมื่อสัตว์ยังมีอายุน้อย

.

 4. ภาวะโภชนาการ อาหารมีบทบาทสำคัญต่อการเกิดพิษของสารพิษได้เมื่อทดลองในห้องปฏิบัติการ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะให้ผลเช่นเดียวกันในคน โดยทั่ว  ๆ ไป สารอาหารโปรตีนและวิตามินสามารถช่วยป้องกันความเป็นพิษของสารบางชนิดได้แต่ไม่มีกฎแน่นอน นอกจากนี้สารพิษบางชนิดยังเกิดปฏิกิริยากับสารอาหารได้ด้วย

.

 5. สุขภาพ สุขภาพของแต่ละคนจะมีอิทธิพลต่อการออกฤทธิ์ของสารพิษต่อสุขภาพทางกายและอารมณ์ ตัวอย่างเช่น โรคตับหรือปอดจะเร่งให้สารพิษทำลายตับและปอดได้เร็วขึ้น หรือในทางการแพทย์ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจและไต จะได้รับพิษเรื้อรังจากโซเดียม หรืออาการที่มีโซเดียมมากกว่าคนปกติ อารมณ์เครียดก็มีผลกระทบต่อสภาวะของร่างกาย เช่น การหัวเราะจะทำให้คนมีสุขภาพดี ดังนั้นจึงมีอิทธิพลต่อการออกฤทธิ์ของสารพิษทางอ้อมด้วย

.

6. การตอบสนองต่อสารพิษของแต่ละบุคคล คนแต่ละคนจะมีการตอบสนองต่อพิษเฉียบพลัน การที่คนแต่ละคนได้รับสารพิษในปริมาณที่เท่ากัน อาจมีอาการพิษที่เกิดขึ้นแตกต่างกันผันแปรไปในแต่ละบุคคล ความผันแปรนี้จะเกิดขึ้นกับสัตว์ทุกชนิดด้วย นอกจากนี้คนบางคนยังอาจมีปัญหาการแพ้ต่อสารบางชนิด ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายด้วย

.

 7. การมีสารเคมีอื่นร่วมด้วย ความเป็นพิษของสารเคมีชนิดหนึ่งอาจเปลี่ยนไปจากเดิมได้เมื่อมีสารเคมีอื่นร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้พิษรุนแรงขึ้น หรือทำให้มีพิษลดน้อยลง ดังนั้นความเป็นพิษของสารเคมีที่ร่างกายหรือสัตว์ทดลองได้รับจึงอาจผันแปรไปตามสารเคมีชนิดอื่น  ๆ ด้วย

.

 8. ความสามารถในการปรับตัว คนบางคนหรือสัตว์บางตัวอาจมีความสามารถในการปรับตัวให้ทนต่อพิษของสารเคมีบางชนิดได้ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟ หรือการสูบบุหรี่หรือการกินอาหารรสเผ็ด คนแต่ละคนจะมีความสามารถในการปรับตัวได้แตกต่างกัน

..
4. ประเภทของสารพิษ 

การจำแนกประเภทของสารพิษตามความเป็นพิษของสารเคมีที่ใช้กันอยู่เสมอในอุตสาหกรรมหรือในห้องปฏิบัติการ แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ (สมพูล กฤตลักษณ์,2538:62-63) ดังนี้

..

1. สารระคายเคืองเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์กัดกร่อนผิวหนัง แต่เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบ เช่น การพุพอง หรือ เป็นผื่นแดง ของเนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับสารเคมี สารระคายเคืองยังสามารถแบ่งออกได้อีก ได้แก่ สารที่ออกฤทธิ์ระคายเคืองทันที สารที่ออกฤทธิ์แบบสะสม สารระคายเคืองที่เกิดฤทธิ์กัดกร่อน และ สารระคายเคืองที่เกิดขึ้นเมื่อถูกแสงหรือรังสี เป็นต้น

.

2. สารกัดกร่อน สารกัดกร่อน จะทำลายเซลเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตในบริเวณที่ถูกสัมผัสทำให้เกิดการย่อยสลายของเนื้อเยื่อและเกิดความเจ็บปวดรุนแรง การกัดกร่อนอาจเกิดขึ้นได้ต่อผิวหนังภายนอก ดวงตา รวมไปถึงเนื้อเยื่อต่าง ๆของอวัยวะภายใน เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร หรือ ระบบหมุนเวียนโลหิต ได้อีกด้วย

.

 3. สารก่อภูมิแพ้ การเกิดภูมิแพ้มักมีสาเหตุจากการกระตุ้นของสารเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งหรือสารเคมีที่มีลักษณะโมเลกุลคล้ายคลึงกับสารเคมีชนิดนั้นที่ร่างกายไม่ยอมรับ อาการภูมิแพ้อาจเกิดได้ทันทีทันใดเพียงไม่กี่นาที หลังจากได้รับสารพิษและอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดหมดสติจนเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลา หากร่างกายเคยได้รับการกระตุ้นจากสารพิษมาก่อนแล้วร่างกายอาจสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาและทำให้อาการภูมิแพ้ลดลงเมื่อได้รับสารนั้น ๆอีกครั้งหนึ่ง อาการภูมิแพ้อาจปรากฏขึ้นภายหลังได้รับสารพิษ หรืออาจเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ขับสารพิษออกจากร่างกายไปหมด

.

 4. สารขัดขวางการหายใจ สารเคมีประเภทนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปขวางการเดินทางของออกซิเจนสู่ส่วนสำคัญต่าง ๆของร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง และต่อมไร่ท่อต่าง ๆ การรับสารเคมีประเภทนี้เข้าไปอาจทำให้เกิดอาการหมดสติ หรือเกิดอันตรายถึงชีวิตเนื่องจากสารเคมีเหล่านี้จะเข้าไปแทนที่อ๊อกซิเจนที่หายใจเข้าไปตัวอย่างสารเคมีเหล่านี้ได้แก่ แอเซทิลีน คาร์บอนไดออกไซด์ อาร์กอน ฮีเลียม ไนโตรเจน และมีเทน เป็นต้น

.

5. สารก่อมะเร็ง คือสารเคมีที่ทำให้ระบบร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเซลได้ เซลมะเร็ง ก็คือเซลที่เจริญเติบโตอย่างผิดปกติ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกในการเกิดมะเร็งอย่างแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากสารเคมีที่เข้าไปทำปฏิกิริยาโดยตรงกับ DNA หรือ สารพันธุกรรมภายในเซล

.

 6. สารทำลายระบบสืบพันธุ์ สารเคมีเหล่านี้จะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น ทำให้เกิดการผิดปรกติต่อการตั้งครรภ์ หรือ การเจริญพันธุ์โดยทั่ว ๆไป รวมไปถึง การแท้ง การเกิดรูปร่างที่ผิดปรกติ ปัญญาอ่อน หรือ การทำให้เป็นหมัน และสามารถทำให้เกิดผลกระทบได้ทั้งเพศชายเพศหญิง ตัวอย่าง สารเคมีที่มีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ที่รู้จักกันดี ได้แก่ เอทิลีนไดโบรไมด์ และ ไดโบรโมคลอโรโพรเพน เป็นต้น

.

7. สารทำลายระบบประสาท สารทำลายระบบประสาทนี้จะทำให้เกิดผลต่อโครงสร้างและหน้าที่ของระบบประสาทส่วนกลาง หรือ ประสาทส่วนนอก แบบชั่วคราว หรือ แบบเป็นการถาวร อาการจากการรับพิษต่อระบบประสาทที่สังเกตเห็นได้ ได้แก่ ความสามารถในการพูด หรือ การทรงตัวที่เสียไป สารทำลายระบบประสาทมักเป็นสารที่ออกฤทธิ์แบบสะสม ไม่แสดงอาการให้เห็นในทันที แต่อาการจะแสดงออกภายหลัง จึงเป็นกลุ่มสารพิษที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษหากจำเป็นต้องเกี่ยวข้องด้ว

..
5. สารพิษเข้าสู่ร่างกายได้ทางใด

สารพิษสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง แต่ละทางจะมีอัตราการแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้ไม่เท่ากัน และมีผลกระทบต่อเมแทบอลิซึมปกติของร่างกายแตกต่างกันด้วย ระบบหายใจเป็นช่องทางที่สารพิษเข้าสู่ร่างกายได้เร็วที่สุดและสารพิษเข้าทางผิวหนังได้ช้าที่สุด ซึ่งการเข้าสู่ร่างกายทางช่องทางใดก็ตาม จะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษที่ร่างกายได้รับ ความอิ่มตัวของสารพิษต่อเยื่อบุผนังเซลล์ รูปแบบของสารพิษ และตำแหน่งที่พบสารพิษในสิ่งแวดล้อม สารพิษบางชนิดอาจอยู่ในรูปของสารระเหยหรือเป็นไอ อาจมีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ร่างกายทางระบบหายใจ หากสารพิษอยู่ในน้ำก็อาจเกิดความเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นเมื่อสารพิษเข้าสู่ร่างกายอาจถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด หรืออาจเปลี่ยนรูปเป็นสารพิษชนิดอื่น ซึ่งยากที่จะคาดการณ์ได้ เพราะการออกฤทธิ์ของสารพิษจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

..

จุดสำคัญที่สารพิษเข้าสู่ร่างกายได้(กิตติ อินทรานนท์,ม.ป.ป.:149-150) คือ

1. ทางปอด จากการสูดดมไอของสารผงฝุ่นหรือละอองของสารเป็นพิษโดยเฉพาะสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนจะทำลายเยื่อบุจมูกและหลอดลม สารเป็นพิษบางตัวสามารถซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้โดยเฉพาะบริเวณปอด ซึ่งเต็มไปด้วยเส้นโลหิตฝอย การดูดซึมจะเกิดอย่างรวดเร็ว

.

 2. ทางปาก การกินและดื่มสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่อาจผสมมากับอาหารและเครื่องดื่มเช่นการทำงานในโรงงานผลิตยาฆ่าแมลง ผงฝุ่นที่มาจากกระบวนการผลิตอาจหล่นลงมาบนชามข้าว ถ้วยกาแฟ หรือติดกับบุหรี่ที่สูบก็ได้ การกินสารพิษที่ปะปนมากับอาหารทั้งที่เกิดโดยความประมาทของผู้บริโภคหรือความเห็นแก่ได้ของผู้ผลิต อาจทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดอาหาร กระเพาะ หรือลำไส้ได้

.

 3. ทางผิวหนัง ผิวหนังเป็นเกราะป้องกันสารพิษที่ดีเลิศเพราะผิวหนังเป็นอวัยวะส่วนแรกที่สัมผัสและแตะต้องสารเป็นพิษ โดยปกติเรามักจะเห็นสารพิษถูกขับออกจากผิวหนังมากกว่าถูกดูดซึมเข้าไปแต่ในบางครั้งสารพิษสามารถละลายไขมันบนผิวหนังออกทำให้สารตัวอื่นหรือตัวมันเองซึมเข้าสู่กล้ามเนื้อและกระแสโลหิตได้ง่ายขึ้นสารพิษแทบทุกชนิดโดยเฉพาะในสถานะของเหลวและก๊าซสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนัง

..

6. ปริมาณและการตอบสนองต่อความเป็นพิษ

สารเคมีทุกชนิดจะมีความเป็นพิษไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งถ้าได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากพอ สารเคมีแต่ละชนิดจะมีช่วงของความเข้มข้นหรือปริมาณที่จะทำให้เกิดพิษต่อร่างกายในระดับที่แตกต่างกันออกไป ในทางพิษวิทยาได้กำหนดเกณฑ์สำหรับบอกระดับความเป็นพิษของสารเคมีขึ้นมาเรียกว่า Threshold Dose ซึ่งหมายถึงปริมาณของสารเคมีที่จะทำให้เริ่มเกิดความเป็นพิษต่อร่างกายขึ้น หากร่างกายได้รับสารเคมีน้อยกว่าค่า Threshold Dose ก็ถือว่ายังไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เกณฑ์สำหรับบอกระดับความเป็นพิษของสารเคมีที่สำคัญ(สราวุธ สุธรรมมาสา, 2538:279-280)ได้แก่

.

1. Threshold Limit Value (TLV) หมายถึงค่าความเข้มข้นของสารเคมีในอากาศซึ่งคนปกติที่มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม และไม่ป่วยเป็นโรคใด  ๆ จะสามารถรับเข้าสู่ร่างกายได้โดยไม่เกิดผลกระทบใด  ๆ หรืออาจนิยาว่าเป็นค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารที่มีได้ในอากาศ พอที่ผู้ปฏิบัติงานในบริเวณนั้น ทุกวัน  ๆ ละ 8 ชั่วโมง โดยไม่เป็นอันตราย ซึ่งค่าที่กำหนดขึ้นมานี้เพื่อเป็นแนวทางที่บอกอันตรายของสารเป็นพิษได้ ค่า TVL แบ่งออกเป็น

.

1.1 Threshold Limit Value - Time Weighted Average (TLV-TWA) หมายถึง ค่าความเข้มข้นของสารเคมีในอากาศที่ปลอดภัยสำหรับผู้ปฎิบัติงานจะได้รับในระยะเวลาไม่เกิน 8 ชั่วโมงทำงานติดต่อกันใน 1 วันเป็นเวลา 5 วันต่อสัปดาห์

.

 1.2 Threshold Limit Value - Short Term Exposure Limit (TLV-STEL) หมายถึง ค่าความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในอากาศที่ปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานจะได้รับในระยะเวลา 15 นาที และได้รับซ้ำกันไม่เกิน 4 ครั้งใน 1 วัน แต่ละครั้งต้องห่างกันอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าปริมาณที่ได้รับรวมทั้งหมดจะไม่เกินค่า TLV-TWA ก็ตาม

.

1.3 Threshold Limit Value - Ceiling Exposure Limit (TLV-C) หมายถึง ค่าความเข้มข้นสูงสุดที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับขณะใด ๆที่ปฏิบัติงาน จะสูงเกินกว่าค่าความเข้มข้นนี้ไม่ได้เลย

.

1.4 Permissible Exposure Limit (PEL) หมายถึงปริมาณของสารเคมีที่ผู้ปฏิบัติงานจะสัมผัสกับสารเคมีได้อย่างปลอดภัยซึ่งมักมีค่าใกล้เคียงกับค่า TLV-TWA ค่า PEL เป็นค่าที่ระบุปริมาณของสารเคมีในอากาศอีกค่าหนึ่งที่มักมีการอ้างอิงถึง

..

2. Lethal Dose (LD50) เป็นค่าบอกความเป็นพิษเฉียบพลันของสารเคมี หมายถึง ปริมาณของสารเคมีซึ่งเมื่อสัตว์ที่ใช้ในการทดลองได้รับเข้าสู่ร่างกายเพียงครั้งเดียวโดยทางการกิน การฉีด หรือ การสัมผัสทางผิวหนัง แล้วทำให้สัตว์เสียชีวิตไปเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งในกลุ่มที่ทำการทดลอง ค่า LD50 จะมีหน่วยเป็นมิลลิกรัม หรือ กรัมของสารเคมีต่อน้ำหนักของสัตว์ทดลองเป็นกิโลกรัม

..

3. Lethal Concentration (LC50) เป็นค่าบอกความเป็นพิษของก๊าซหรือไอของสารเคมีที่ระเหยได้ง่าย ค่า LC50 คือ ค่าความเข้มข้นของสารเคมีในอากาศที่ทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตไปเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งในกลุ่มที่ทำการทดลอง มีหน่วยเป็น ส่วนต่อล้านส่วน (ppm หรือ parts per million ) หรือ มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/l) หรือ มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (mg/cu.m) ของบรรยากาศปรกติในการทำงาน

..

4. Lowest Dose (LD10) และ Lowest Concentraintion (LC10) เป็นค่าบอกปริมาณหรือ ความเข้มข้นในอากาศ ที่ต่ำที่สุดที่ทำให้สัตว์ทดลองเริ่มเสียชีวิต การบอกระดับความเป็นพิษที่นิยมใช้ทั่วไป ได้แก่ค่า LD50 และ LC50 ซึ่งหากมีค่าตัวเลขที่สูงก็แสดงว่าสารเคมีนั้น ๆ จะมีอันตรายน้อย เนื่องจากต้องได้รับในปริมาณมากจึงจะทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตไปครึ่งหนึ่งในกลุ่มสัตว์ที่ทำการทดลอง ในขณะที่ค่าตัวเลขต่ำจะแสดงความเป็นพิษที่รุนแรงสูงคือได้รับเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตไปครึ่งหนึ่ง ในปัจจุบันมีสารเคมีประมาณ 850 ชนิดเท่านั้นที่มีการทดลองหาค่า TLV และได้รายงานค่าไว้ ส่วนค่า PEL พบว่ามีระบุไว้สำหรับสารเคมีจำนวน 550 ชนิด หลักปฏิบัติที่นิยมทำสำหรับสารเคมีที่ไม่มีค่า TLV หรือ PEL ระบุไว้ให้มักจะใช้ค่า LD50 และ LC50 ซึ่งมีรายงานไว้อย่างแพร่หลายมากกว่า มาเป็นแนวทางบอกระดับความเป็นพิษของสารเคมีแต่ละชนิด

..

ข้อควรระวังอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการประเมินระดับความรุนแรงของความเป็นพิษของสารเคมีก็คือการที่สารเคมี 2 ชนิดหรือมากกว่ามาผสมรวมกันอาจทำให้เกิดอันตรายจากความเป็นพิษได้รุนแรงมากกว่าการได้รับสารพิษแต่ละตัวก็เป็นได้ ดังนั้น การมีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากสารเคมีชนิดอื่นที่อาจทำให้ทวีความเป็นอันตรายมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินความเสี่ยงได้มากขึ้น

..

7. ระยะเวลาและความถี่ของการได้รับสารพิษ

ความเป็นพิษของสารเคมีอาจเป็นแบบเฉียบพลันคือทันทีที่ได้รับสารพิษเพียงครั้งเดียวหรือ อาจจะเป็นแบบเรื้อรังคือเกิดขึ้นหลังจากได้รับการสะสมของสารพิษเป็นเวลานาน หรือ บ่อยครั้ง ตัวอย่างของสารเคมีที่มีพิษเฉียบพลัน ได้แก่ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นต้น ส่วนสารเคมีที่มีพิษสะสม ได้แก่ สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก และสารประกอบของโลหะหนัก เป็นต้น ซึ่งความเป็นพิษอาจไม่ปรากฏอาการให้เห็นได้เป็นเวลานานหลาย  ๆปี

..

หลักโดยทั่วไปมักจะถือว่าความเป็นพิษจะสูงขึ้นหากระยะเวลาที่ได้รับหรือสัมผัสกับสารพิษนานขึ้นและหากความถี่ที่ได้รับสารพิษมีบ่อยครั้งขึ้นก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารพิษสูงขึ้น ในบางกรณีร่างกายสามารถกำจัดสารพิษบางชนิดออกไปได้เอง ดังนั้นการสัมผัสสารพิษประเภทนี้โดยมีระยะเวลาห่างกันพอสมควรจึงอาจไม่ทำให้เห็นอันตรายที่จะเกิดต่อร่างกายแต่อย่างใด และมักทำให้เข้าใจผิดว่าสารเคมีดังกล่าวไม่เป็นอันตราย ดังนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาและความถี่ของการสัมผัสสารเคมีต่าง  ๆ อย่างรอบคอบและพิจารณาในหลาย  ๆ ด้านเสมอ

..
8. อันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน

จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดจากความเป็นพิษของสารพิษจะก่อให้เกิดความเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานสามารถประเมินได้จากปัจจัยสำคัญใน 2 ส่วนคือความรุนแรงของสารพิษ และ โอกาสที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับสารพิษ การประเมินโดยรวมจึงต้องพิจารณาปัจจัยทั้ง 2 ร่วมกันระดับความเป็นพิษอันเนื่องมาจากความรุนแรงของพิษ อาจพิจารณาจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยจัดลำดับความรุนแรงได้จากหลักเกณฑ์(นวลศรี ทยาพัชร,2538:106-107) ดังต่อไปนี้

..

 

 ระดับที่ 1 ทำให้เกิดอาการหรือความเจ็บป่วยเล็กน้อย ไม่มีผลต่อความสามารถในการปฏิบัติงาน หรือทำให้ความสามารถในการปฏิบัติงาน หรือไม่จำเป็นต้องหยุดงาน

.

ระดับที่ 2 ทำให้เกิดอาการหรือความเจ็บป่วย จนมีผลต่อการปฏิบัติงาน หรือต้องหยุดงานเพื่อพักรักษาตัวเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 2-3 วัน และสามารถรักษาจนหายขาดเป็นปรกติได้

.
ระดับที่ 3 ทำให้เกิดอาการหรือความเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งมีผลทำให้ความสามารถในการปฎิบัติงานบางส่วนลดลงอย่างถาวรหรือต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลายาวนาน
.
ระดับที่ 4 ทำให้เกิดอาการหรือความเจ็บป่วยรุนแรงมากจนกระทั่งถึงแก่ชีวิต หรือสูญเสียความสามารถในการปฏิบัติงานใด ๆได้อย่างถาวร
.

ระดับที่ 5 ทำให้เกิดอาการหรือความเจ็บป่วยรุนแรงมากจนกระทั่งถึงแก่ชีวิตต่อผู้คนเป็นจำนวนมาก

 ..

สำหรับโอกาสที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับสารพิษ อาจแบ่งออกเป็นระดับได้ตามหลักเกณฑ์(นวลศรี ทยาพัชร,2538:106-107) ต่อไปนี้

ระดับที่ 1 โอกาสที่จะได้รับสารพิษมีน้อยมากหรือไม่มีเลย
.
ระดับที่ 2 มีโอกาสที่จะได้รับสารพิษแต่มีระบบป้องกันที่มั่นใจได้ว่าระบบป้องกันทำงานได้อย่างสมบูรณ์ตลอดเวลา
.
ระดับที่ 3 มีโอกาสที่จะได้รับสารพิษและมีระบบป้องกัน แตะระบบป้องกันไม่สามารถให้ความมั่นใจว่าจะทำงานได้สมบูรณ์ตลอดเวลา หรือ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าการป้องกันดังกล่าวจะให้ผลได้อย่างสมบูรณ์
.
ระดับที่ 4 มีโอกาสที่จะได้รับสารพิษและระบบป้องกันไม่เพียงพอ
.

ระดับที่ 5 มีโอกาสที่จะได้รับสารพิษสูงและเห็นได้ชัดเจนว่าจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้โดยง่าย

..
9. แนวคิดการป้องกันและควบคุมสารพิษ 

 เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการกำหนดมาตรการและวิธีการที่จะป้องกันควบคุมสารพิษจึงขอยกตัวอย่างแนวคิดในการป้องกันและควบคุมทั่ว ๆไป(สราวุธ สุธรรมมาสา, 2538: 294-296 ) คือ

 ..

 

1) มาตรการด้านวิศวกรรม จะเป็นมาตรการที่มุ่งแก้ไขปัญหาสารพิษโดยใช้เทคโนโลยี เช่น การออกแบบระบบระบายอากาศเฉพาะที่ และระบบระบายอากาศแบบเจือจาง การใช้ระบบเปียกในกระบวนการที่ทำให้เกิดฝุ่น การใช้วัตถุดิบที่มีอันตรายน้อยกว่า การแยกกระบวนการผลิตที่อันตรายออกจากส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

.

2) มาตรการด้านการศึกษา เป็นมาตรการที่เน้นที่ผู้ที่ปฏิบัติงานและผู้บริหารตัวอย่างวิธีการที่อยู่ในมาตรการนี้ เช่น การศึกษาต่อ การอบรม การฝึกปฏิบัติ การสัมมนา และการประชุมเชิงปฏิบัติการเป็นต้น

.

3) มาตรการด้านการบังคับ การบังคับในที่นี้ไม่ได้มีความหมายเพียงการกำหนดกฎข้อบังคับขึ้นมาเท่านั้น แต่ยังมีความหมายรวมไปถึงการตรวจตราและสอดส่องว่ามีกากรปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดไว้หรือไม่ และต้องมีบทลงโทษในกรณีที่ไม่ทำตามที่กำหนดไว้

.

4) มาตรการด้านบริหารจัดการ มาตรการด้านนี้ถูกนำมาใช้แก้ปัญหาสารพิษอย่างกว้างขวาง เช่น การกำหนดนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน การกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคลากรฝ่ายต่าง  ๆ อย่างชัดเจนเป็นต้น

.

5) การป้องกันและควบคุมสารพิษที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน การดำเนินการที่ตัวผู้ปฏิบัติงานนั้นมีข้อจำกัดหลายประการเช่น การรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การปฏิบัติไม่สม่ำเสมอ และการปฏิบัติผิดหลักการทางวิชาการ เป็นต้น วิธีการที่สามารถนำมาใช้กับผู้ปฏิบัติงานมีหลายวิธีเช่น

..

การฝึกอบรมและให้ความรู้ ซึ่งสามารถทำได้ในระยะต่าง ๆเช่น ก่อนปฏิบัติงานจริง เริ่มทำงาน ทำงานไปได้ระยะหนึ่ง หรือระยะที่กลับจากพักฟื้นกรณีเจ็บป่วยเนื่องจากสารพิษเป็นต้น

..

ตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ว่าผู้ปฏิบัติงานควรมีความรู้ในเรื่องความเป็นพิษและทางเข้าสู่ร่างกาย อันตรายของสารพิษที่มีโอกาสพบในการปฏิบัติงาน ระบบการป้องกันและควบคุมสารพิษ วิธีป้องกันตนเองจากสารพิษ วิธีการปฐมพยาบาล รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่จำเป็นต้องใช้ เป็นต้น

..

การหมุนเวียนผู้ปฏิบัติงานที่ต้องทำงานในที่ที่ต้องสัมผัสกับสารพิษ เพื่อลดปริมาณสารพิษที่จะเข้าสู่ร่างกายผู้สัมผัส และเป็นการลดระยะเวลาที่ต้องสัมผัสสารพิษด้วย

..

          -  การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น การสวมใส่ถุงมือนิรภัย การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันระบบการหายใจ เป็นต้น

          -  การตรวจวัดระดับความเข้มข้นของสารพิษในอากาศที่ผู้ปฏิบัติงานอาจจะได้รับ

          - การตรวจวัดปริมาณสารพิษในร่างกายผู้ปฏิบัติงาน จึงควรนำตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ ของผู้ปฏิบัติงานไปตรวจหาปริมาณสารพิษนั้น  ๆ และนำผลการตรวจไปวิเคราะห์กับค่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น

          - การกำหนดวิธีการทำงานที่ปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงานใช้ขณะทำงาน

          - การกำหนกฎความปลอดภัย ให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

..
10. บทสรุป

การที่สารพิษเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่มากพอจะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตนั้นขึ้นกับองค์ต่าง ๆ เช่น ปริมาณสารเป็นมิลลิกรัมต่อน้ำหนักร่างกายเป็นกิโลกรัม อัตราการดูดซึมของร่างกาย อัตราการขับถ่าย คุณสมบัติของสาร และ การตอบสนองของแต่ละบุคคล ความเป็นพิษของสารใด  ๆ จะผันแปรไปตามปริมาณสารพิษ จำนวนครั้ง และช่องทางที่ได้รับสารพิษ ซึ่งจะมีผลต่อการออกฤทธิ์ว่าจะเกิดพิษเฉียบพลันหรือพิษเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น  ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ชนิดของสัตว์ อายุ เพศ ภาวะโภชนาการ สุขภาพ การตอบสนองต่อสารพิษของแต่ละบุคคล การมีสารเคมีอื่นร่วมด้วย และความสามารถในการปรับตัว ความเป็นพิษของสารเคมีอาจเป็นแบบเฉียบพลัน หรือ อาจจะเป็นแบบเรื้อรัง หลักโดยทั่วไปมักจะถือว่าความเป็นพิษจะสูงขึ้นหากระยะเวลาที่ได้รับหรือสัมผัสกับสารพิษนานขึ้น และหากความถี่ที่ได้รับสารพิษมีบ่อยครั้งขึ้นก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากสารพิษสูงขึ้น ดังนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาและความถี่ของการสัมผัสสารเคมีต่าง  ๆ อย่างรอบคอบและพิจารณาในหลาย  ๆ ด้านเสมอ

..

การบอกระดับความเป็นพิษที่นิยมใช้ทั่วไป ได้แก่ค่า LD50 และ LC50 ซึ่งหากมีค่าตัวเลขที่สูงก็แสดงว่าสารเคมีนั้น  ๆ จะมีอันตรายน้อย ในขณะที่ค่าตัวเลขต่ำจะแสดงความเป็นพิษที่รุนแรงสูงข้อควรระวังประการหนึ่งเกี่ยวกับการประเมินระดับความรุนแรงของความเป็นพิษของสารเคมีก็คือการที่สารเคมี 2 ชนิดหรือมากกว่ามาผสมรวมกันอาจทำให้เกิดอันตรายจากความเป็นพิษได้รุนแรงมากกว่าการได้รับสารพิษแต่ละตัวก็เป็นได้ การกำหนดมาตรการและวิธีการที่จะป้องกันควบคุมสารพิษสามารถทำได้หลายวิธีเช่น การใช้มาตรการด้านวิศวกรรม การใช้มาตรการด้านการศึกษา การใช้มาตรการด้านการบังคับ การใช้มาตรการด้านบริหารจัดการ และการใช้การป้องกันและควบคุมสารพิษที่ตัวผู้ปฏิบัติ เป็นต้น ซึ่งมาตรการและวิธีการเหล่านี้ไม่อาจจัดเป็นสูตรสำเร็จที่จะนำมาแก้ปัญหาอันตรายที่เกิดจากสารพิษทางอุตสาหกรรมได้ถ้าทั้งผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ชีวิตสัมผัสกับสารพิษโดยตรงละเลยที่จะระวังป้องกันและเห็นว่าความรู้เบื้องต้นในเรื่องสารพิษทางอุตสาหกรรมเป็นเรื่องไกลตัว....บทลงโทษที่คืนกลับอาจรุนแรงกว่าที่คาดคิดก็ได้

..
เอกสารอ้างอิง
  • กิตติ อินทรานนท์ .วิศวกรรมความปลอดภัย:พื้นฐานของวิศวกร . กรุงเทพฯ : สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ,ม.ป.ป.
  • จารุพงศ์ บุญหลง .พิษวิทยาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมละอาชีวอนามัย หน่วยที่ 1-8 . นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , 2538 .
  • สมพูล กฤตลักษณ์ . พิษวิทยาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมละอาชีวอนามัย หน่วยที่ หน่วยที่ 1-8 . นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , 2538 .
  • สราวุธ สุธรรมมาสา . พิษวิทยาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมละอาชีวอนามัย หน่วยที่ หน่วยที่ 9-15 . นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , 2538 .
  • นวลศรี ทยาพัชร . พิษวิทยาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมละอาชีวอนามัย หน่วยที่ 1-8 . นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , 2538 .  

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด