เนื้อหาวันที่ : 2006-02-18 15:21:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7659 views

คิดใหม่ ทำใหม่ ในการผลิตแบบลีน

คิดใหม่ ทำใหม่ ในการผลิตแบบลีน วิธีการผลิตแบบลีนมีเป้าหมายพื้นฐาน เพื่อลดระยะรอบเวลา (Cycle Time) โดยการสร้างสายธารการไหลของวัตถุดิบและสินค้าในการผลิตและสายธารคุณค่า ปัจจุบันการผลิตในโรงงานจะเป็นการผลิตจำนวนมากตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งวิธีการผลิตแบบลีนจะเป็นเครื่องมือในการนำไปปรับปรุงแก้ไขได้เป็นอย่างดี

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ฉบับนี้เป็นบทความแรกของคอลัมน์ลีนคอร์เนอร์ ซึ่งจะนำเสนอแนวคิดและเทคนิคแบบลีนที่กำลังเป็นที่นิยมและได้ถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในระดับโลก จากการผลิตแบบดั้งเดิมที่ผลิตเป็นจำนวนมากๆ สู่การผลิตตามความต้องการของลูกค้า ในบทความนี้ จะกล่าวถึง การผลิตที่นำหลักการการกำจัดความสูญเปล่าเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่ม ที่เรียกว่า การผลิตแบบลีน และลูกค้าต้องการสินค้าที่มีแบบหรือทางเลือกสินค้ามากขึ้น ดังนั้นการผลิตแบบเดิมหรือการผลิตจำนวนมาก จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งการปรับเปลี่ยนจะต้องแข่งขันกันระหว่างโซ่อุปทาน วิธีการแบบลีนจึงขยายขอบเขตออกไปเป็นการจัดการวิสาหกิจแบบลีน (Lean Enterprise )
 
ก้าวย่างของการผลิต

จากระบบการผลิตแบบโตโยต้า ( Toyota Production System: TPS) ได้มีการพัฒนาเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) ของการผลิตในขณะนี้ ก็คือ การผลิตแบบลีน ซึ่งกระบวนทัศน์นี้มีแนวคิดที่ทำให้เราได้เห็นและเข้าใจในกระบวนการผลิตมากขึ้น และเป็นระบบที่สร้างความเชื่อมั่นที่จะทำงานได้โดยไม่เป็นเพียงแค่ระบบทันเวลาพอดี (Just in Time: JIT) แต่จะเป็นระบบที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

.
ระบบการผลิตแบบโตโยต้าเป็นการพัฒนาด้านการบริหารเวลาและการทำงานโดยการลดความสูญเปล่า เมื่อโตโยต้าต้องการที่จะให้ระบบมีความยืดหยุ่น และลดเวลาในระหว่างการสั่งซื้อจนถึงการขนส่งในกรณีที่เป็นการสั่งซื้ออย่างเร่งด่วน หลักการสำคัญคือ การลดช่วงเวลาโดยการกำจัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่มีคุณค่าเพิ่มในตัวผลิตภัณฑ์ ความสูญเปล่าที่สำคัญจากกระบวนทัศน์ของระบบการผลิตแบบโตโยต้า คือ การผลิตมากเกินไปการผลิตสินค้าหลายๆอย่างที่ต้องการและจัดเก็บไว้ จนกระทั่งกลายเป็นสินค้าที่สะสมไว้นานในคลังสินค้านี้
 
การเก็บสินค้าไว้มากมายจะทำให้เกิดการรักษาที่ยุ่งยาก ถ้ารูปแบบการผลิตที่เป็นแบบชุดของผลิตภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นในเรื่องของความประหยัดเวลาในการผลิตแบบ อุปสรรคนี้สามารถป้องกันและแก้ไขภายใต้การผลิตแบบลีน ที่มีเครื่องจักรที่เหมือนกัน การดำเนินงานในแนวทางป้องกันปัญหาอย่างสมบูรณ์แบบ
 

 ผู้บริหารอุตสาหกรรมในระดับโลกมีแนวโน้มที่จะใช้การผลิตแบบลีน ซึ่งลักษณะเป็นการผลิตจำนวนมากตามความต้องการของลูกค้า เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการผลิตแบบจำนวนมาก โดยการจัดการอย่างง่ายๆ คือ การรวมกลุ่มเครื่องจักรจากกระบวนการและสร้างรูปแบบการไหลชิ้นเดียว(One-piece Flow) ที่เป็นกลุ่มสินค้าที่คล้ายกัน ทำให้มีความยืดหยุ่น คุณภาพและประสิทธิผล ที่มีการประสานรวมระหว่างโรงงานกับลูกค้าเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน บางบริษัทต้องการสร้างวิสาหกิจแบบลีนที่เชื่อมต่อระหว่างโรงงานแบบลีนกับลอจิสติกส์แบบลีน จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า

 
วิวัฒนาการสู่ระบบการผลิต

 การผลิตเริ่มจากการผลิตแบบงานฝีมือมาเป็นผลิตแบบจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันการผลิตได้มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ตามตารางที่ 1

รูปที่1 การเปลี่ยนแปลงการผลิตสู่การผลิตแบบลีน

จะเห็นได้ว่า การพัฒนาจากการผลิตแบบดั้งเดิม ไม่เหมาะสมกับการผลิตในยุคปัจจุบันที่เป็นการผลิตแบบจำนวนมากตามความต้องการของลูกค้า การลดความสูญเปล่าในกระบวนการผลิตจะต้องมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงสร้างภายใต้การให้อำนาจแก่พนักงาน การประยุกต์ใช้เชิงเทคนิคและการลดความเสี่ยง แสดงดังรูปที่ 1 ดังนั้นการผลิตในยุคปัจจุบันการผลิตแบบลีนจะเหมาะสมตรงกับลักษณะการผลิตที่ลูกค้าต้องการ

.
มุมมองแบบลีน

รูปที่ 2 ลักษณะมุมมองแบบลีน

คำว่า ลีน ถ้าเราเปิดพจนานุกรมแปลว่า "ผอมหรือบาง" หรือเข้าใจได้ง่ายก็คือไม่มีส่วนเกิน ถ้านำมาพูดในทำนองวิสาหกิจการผลิต หมายถึง การออกแบบและจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสมในครั้งแรกที่ดำเนินการและมุ่งเน้นถึงกระบวนการที่เพิ่มคุณค่า ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นวิธีการทำงานที่ป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ (การทำให้ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น) และเป็นแนวทางที่ก่อให้เกิดการปรับตัวในสภาวะการแข่งขันที่ขึ้นอยู่กับเวลา เพื่อให้องค์กรมีความคล่องตัว ใช้ทรัพยากรอย่างจำกัด สะดวกรวดเร็ว ลดต้นทุน ลดเวลาที่ไม่จำเป็นและเพิ่มคุณภาพให้กับระบบการผลิต เราจึงกล่าวได้ว่าวิธีการแบบลีน มีองค์รวมแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังรูปที่ 2 แบบแรก การผลิตแบบลีนจะเน้นทางด้านระบบการผลิต ส่วน แบบที่สอง วิสาหกิจแบบลีน กล่าวถึงการประสานรวมระบบการผลิตที่เกี่ยวข้องกับโซ่อุปทาน ซึ่งทั้งสองแบบใช้หลักการเดียวกันคือ การกำจัดความสูญเปล่าเพื่อสร้างคุณค่า

.

การผลิตแบบลีน เป็นปรัชญาการผลิต มีพื้นฐานความแตกต่างของแนวคิด การไหลในการผลิตระหว่าง ตั้งแต่วัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ จนไปถึงการบริการลูกค้า วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความต้องการของลูกค้า ความสัมพันธ์ของพนักงานและการกำจัดความสูญเปล่า

.

วิสาหกิจแบบลีน เป็นการจัดการประสานรวมในระบบการผลิตขององค์กร โดยเริ่มจากลูกค้า การขายผลิตผลิตภัณฑ์ การประกอบผลิตภัณฑ์ การออกแบบ และองค์ประกอบโซ่อุปทาน รวมทั้งวัตถุดิบและกระบวนการ ระบบการผลิตแบบลีนเป็นระบบที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้สูง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับผู้ขายวัตถุดิบและเป็นส่วนสำคัญในวิสาหกิจแบบลีนในการนำไปใช้กับการวางแผนงาน

.
วัตถุประสงค์ของวิสาหกิจแบบลีน คือ เพื่อเปลี่ยนเป้าหมายเดิมของการจัดการองค์กรและทรัพย์สิน ไปสู่การจัดการสายธารคุณค่า โดยแสดงให้เห็นความแตกต่างของ คุณค่า และ ความสูญเปล่า
.
เทคนิคแบบลีน

แนวทางที่ชาวอเมริกันใช้ในการแก้ไขปัญหาทันทีและครั้งเดียวที่ดีที่สุด คือ การผลิตแบบลีน จะเป็นสิ่งที่แน่นอน ไม่มีความผิดพลาด ดังที่กล่าวว่า "สินค้าคงคลังเป็นศูนย์" "การติดตั้งอย่างรวดเร็ว" "ตรวจสอบงานด้วยสายตา" "การป้องกันความผิดพลาด" และการกำจัดความสูญเปล่า รวมเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการป้องกันปัญหาของการผลิต บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่ได้นำเทคนิคแบบลีนทั้ง 18 เทคนิคไปใช้ เช่น การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน(Total Productive Maintenance: TPM) การสร้างความสมดุลในการผลิต และระบบดึง(Pull System) เป็นต้น มาใช้ในการปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ ระบบการผลิตแบบเซลลูลาร์ (Cellular Manufacturing) ได้นำเทคนิคการผลิตแบบลีนนี้ไปใช้จนเกิดประสิทธิภาพดี

.

เทคนิคการผลิตแบบลีนแสดงให้เห็นเด่นชัดในงานอุตสาหกรรม ที่ประสบความสำเร็จในระดับพื้นที่ปฏิบัติงาน (Shop Floor) แสดงให้เห็นว่าเทคนิคการผลิตแบบลีนเป็นหลักของการผลิต ที่มีแนวความคิดคลอบคลุมกระบวนการผลิตตั้งแต่ การออกแบบ วัตถุดิบจนกระทั่งเป็นสินค้าตามที่ลูกค้าต้องการ การผลิตแบบลีนจึงเป็นวิธีที่เกี่ยวกับการผลิต ส่วนวิสาหกิจแบบลีนพูดถึงแนวคิดในการวิเคราะห์คุณค่าเพิ่มจากความสูญเปล่าทั้ง 7 โดยวิธีการวิเคราะห์สายธารคุณค่า(7 Tool - Value Stream Mapping)

.
สรุป 

วิธีการผลิตแบบลีนมีเป้าหมายพื้นฐาน เพื่อลดระยะรอบเวลา (Cycle Time) โดยการสร้างสายธารการไหลของวัตถุดิบและสินค้าในการผลิตและสายธารคุณค่า ปัจจุบันการผลิตในโรงงานจะเป็นการผลิตจำนวนมากตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งวิธีการผลิตแบบลีนจะเป็นเครื่องมือในการนำไปปรับปรุงแก้ไขได้เป็นอย่างดี และไม่ได้หมายความว่าการผลิตอื่น ๆ จะใช้วิธีการแบบลีนไม่ได้แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ได้เหมาะสมหรือไม่ วิธีการผลิตแบบลีนไม่ได้เจาะจงอยู่แค่การผลิตแต่ยังครอบคลุมถึงวิสาหกิจ(องค์กร) ที่มีเป้าหมายเดียวกัน

.

ผู้ที่สนใจต้องการสอบถามเพิ่มเติมในเรื่อง แนวคิดแบบลีน ติดต่อสอบถามได้ที่ ดร.วิทยา สุหฤทดำรง ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 

โทร. 02-913-2500 ต่อ 8135 หรือ E-mail : vithaya@vithaya.com 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด