เนื้อหาวันที่ : 2009-01-12 11:18:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 14070 views

การสร้างประสิทธิผลระบบวางแผนด้วย MRP

การวางแผนความต้องการวัสดุ (Material Requirements Planning หรือ MRP) เป็นเทคนิคการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ที่ถูกใช้สำหรับแปลงตารางการผลิตหลักและแสดงรายละเอียดกำหนดการสั่งซื้อและการส่งมอบ ตารางการผลิตหลักได้แสดงข้อมูลแผนการผลิตโดยรวมแต่ละผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบอันหลากหลาย โดยแต่ละกระบวนการต้องใช้เวลาสำหรับการประกอบ ดังนั้นจึงต้องมีการคำนวณหาช่วงเวลานำและ MRPเป็นกระบวนการที่เริ่มจากตารางการผลิตเพื่อแปลงให้เป็นรายละเอียดกำหนดการรายการต่าง ๆ

การวางแผนความต้องการวัสดุ (Material Requirements Planning หรือ MRP) เป็นเทคนิคการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ที่ถูกใช้สำหรับแปลงตารางการผลิตหลักและแสดงรายละเอียดกำหนดการสั่งซื้อและการส่งมอบ ตารางการผลิตหลักได้แสดงข้อมูลแผนการผลิตโดยรวมแต่ละผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วยชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบอันหลากหลาย โดยแต่ละกระบวนการต้องใช้เวลาสำหรับการประกอบ

.

ดังนั้นจึงต้องมีการคำนวณหาช่วงเวลานำและ MRPเป็นกระบวนการที่เริ่มจากตารางการผลิตเพื่อแปลงให้เป็นรายละเอียดกำหนดการรายการต่าง ๆ ดังเช่น ส่วนประกอบย่อย ชิ้นส่วน และวัตถุดิบ ที่จำเป็นสำหรับการผลิตตามรอบเวลาที่ระบุไว้ ด้วยเหตุนี้ MRP จึงถูกออกแบบเพื่อใช้ตอบคำถามสำคัญ นั่นคือ ต้องการผลิตอะไร ปริมาณเท่าไรและต้องการใช้เมื่อไร โดยทั่วไประบบวางแผนความต้องการวัสดุ ประกอบด้วย

 .

1.       อุปสงค์อิสระและอุปสงค์พึ่งพา (Independent & Dependent Demand)

2.       ช่วงเวลานำการผลิต (Manufacturing Lead Times)

3.      รายการชิ้นส่วนที่ใช้ร่วม (Common Part Items)

 .

. 

โดยที่อุปสงค์อิสระ คืออุปสงค์ผลิตภัณฑ์ที่มีการพยากรณ์ สำหรับอุปสงค์พึ่งพา หมายถึง อุปสงค์ของรายการที่ถูกใช้สำหรับการประกอบย่อย ได้แก่ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนย่อย และปริมาณจะขึ้นกับอุปสงค์อิสระ แม้ว่าปริมาณอุปสงค์อิสระจะได้จากการพยากรณ์ก็ตาม แต่วัตถุดิบและชิ้นส่วนสำหรับการประกอบไม่ควรคาดการณ์ความต้องการ เมื่อกำหนดการส่งมอบได้ถูกจัดทำขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์และความต้องการขององค์ประกอบ วัตถุดิบ รวมถึงอะไหล่สามารถคำนวณได้โดยตรง

 .

ดังนั้นการวางแผนความต้องการวัสดุจึงเป็นเทคนิคที่ใช้พยากรณ์ปริมาณอุปสงค์พึ่งพา โดยรายการเหล่านี้จัดเป็นสต็อกสำหรับกิจกรรมการผลิตในรูปวัตถุดิบ งานระหว่างผลิต ชิ้นส่วน ส่วนประกอบย่อย และนี่คือเหตุผลของการใช้ MRP เป็นเทคนิควางแผนและควบคุมสินค้าคงคลังการผลิต  

 .

 .

ส่วนรายการชิ้นส่วนที่ใช้ร่วม ประกอบด้วย วัตถุดิบ ชิ้นส่วน องค์ประกอบ และอะไหล่ ซึ่งสามารถใช้สร้างผลิตภัณฑ์มากกว่า หนึ่ง รายการ โดย MRP จัดเก็บรายการที่สามารถใช้ร่วมจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความประหยัดในการสั่งซื้อวัสดุเพื่องานประกอบ

 .

โดยทั่วไปอุปสงค์อิสระมักจะมีปริมาณความแน่นอนในช่วงระยะเวลาหนึ่งและอาจมีความผันผวนบางฤดูกาล (Seasonal Variations) หรืออาจไม่มีความต้องการเลยในบางช่วงอย่างเช่น เสื้อกันหนาว ไอศกรีม ขนมเทียน แต่อุปสงค์พึ่งพาบางรายการอาจมีความจำเป็นต้องมีการสำรองไว้อย่างต่อเนื่องเพื่อพร้อมเบิกใช้งาน ดังเช่น ชิ้นส่วนหรืออะไหล่สำรอง

 .

 .

ระบบการพยากรณ์

การพยากรณ์ (Forecast) เป็นการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะปริมาณความต้องการสินค้าหรือยอดขายที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า ดังนั้นการพยากรณ์อุปสงค์จึงเป็นส่วน หนึ่ง ของระบบวางแผนและควบคุมการผลิตที่ถูกใช้เป็นข้อมูลหลัก (Primary Input) สำหรับการวางแผนธุรกิจและการระบุกำหนดการผลิตหลัก รวมทั้งการวางแผนการขายและปฏิบัติการ โดยทั่วไปการพยากรณ์จะใช้ปัจจัยสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นตัวแปรสำหรับคาดการณ์แนวโน้มอุปสงค์อนาคต อย่างเช่น ตัวเลขการเติบ โต ทางเศรษฐกิจ (GDP) ข้อมูลคู่แข่งขัน การพัฒนาเทคโนโลยี และปัจจัยภายใน นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงเวลานำการผลิต อัตราของเสีย ผลิตภาพการทำงาน และแนวโน้มต้นทุนการผลิต ดังนั้นข้อมูลการพยากรณ์จะถูกใช้ในวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้

 .
  1. การตัดสินใจถึงความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ตลาด โดยพิจารณาจากศักยภาพและปัจจัยเกี่ยวข้อง ดังเช่น อุปสงค์ของตลาด สภาพการแข่งขัน แนวโน้มการเติบ โต และความพร้อมของระบบสนับสนุน
  2. การประเมินกำลังการผลิตระยะยาว (2-5ปี) โดยใช้วางแผนตัดสินใจลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการขยายตัวในอนาคตและคาดการณ์แนวโน้มอุปสงค์เทียบกับกำลังการผลิตล่วงหน้า
  3. การประเมินความผันผวนอุปสงค์ระยะกลาง (3-18 เดือน) โดยมุ่งหลีกเลี่ยงการตัดสินใจระยะสั้นผิดพลาด และส่งผลกระทบต่อองค์กรระยะยาว
  4. การประเมินความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้น (1 สัปดาห์–3 เดือน) เพื่อใช้เป็นข้อมูลตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การวางแผนการผลิต การจัดตารางแรงงานและการวางแผนวัสดุ 

ดังนั้นการพยากรณ์จึงสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการประมาณอุปสงค์อนาคต ซึ่งการประมาณอาจใช้สูตรทางคณิตศาสตร์และข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ หรืออาจเป็นการผสมผสานทั้งสองรูปแบบ ด้วยเหตุนี้การพยากรณ์จึงเป็นเสมือนกุญแจสำคัญของระบบวางแผนธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเมื่ออุปสงค์ถูกกำหนดขึ้นโดยลูกค้าหรือตลาด การพยากรณ์จึงต้องดำเนินการบนฐานของข้อมูลที่รวบรวมอย่างทันเวลาและแม่นยำ

 .

รวมทั้งการใช้เครื่องมือสนับสนุนการพยากรณ์ และการตัดสินใจบนฐานการรับรู้ข้อมูลอย่างดีเยี่ยมเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องดำเนินการผลิต ดังนั้นการพยากรณ์จะมีความหมายก็ต่อเมื่อมันช่วยพัฒนาการให้บริการต่อลูกค้าและการเพิ่มผลิตภาพอย่างการลดปริมาณสต็อก การส่งมอบที่ทันเวลา โดยทั่วไประบบ MRP สามารถดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์จะต้องใช้ข้อมูลสนับสนุนจากหลายแหล่ง ประกอบด้วย

 .
  1. กำหนดการผลิตหลัก (Master Production Schedule) แสดงรายการผลิตภัณฑ์ที่ต้องผลิตขึ้นโดยเฉพาะการแสดงปริมาณผลิตผลและเวลาส่งมอบแต่ละรายการตามรอบเวลา แหล่งข้อมูลสำคัญ MPS ได้แก่ คำสั่งซื้อจากลูกค้า  การพยากรณ์  คำสั่งจากคลังสินค้าเพื่อจัดเก็บสำรองตามฤดูกาล และอุปสงค์รายการเฉพาะอย่างเช่น ชิ้นส่วนสำหรับการซ่อมที่จัดเก็บในฝ่ายให้บริการ ซึ่งมักไม่แสดงใน MPS  
  2.  ใบแสดงรายการวัสดุ (Bill of Materials) สำหรับใช้คำนวณปริมาณความต้องการที่แสดงในตารางการผลิต โดย BOM แสดงโครงสร้างผลิตภัณฑ์และรายการที่ประกอบขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งแสดงถึงองค์ประกอบตามลำดับชั้น  ดังนั้น BOM จึงประกอบด้วยรายการชิ้นส่วนและปริมาณที่ต้องใช้สำหรับการประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ โดยโครงสร้างระดับบนสุด (Level 0) คือ ผลิตภัณฑ์หรืออุปสงค์อิสระ ระดับที่ 1 แสดงส่วนการประกอบย่อย (Sub-Assemblies) ส่วนระดับที่ 2 คือ องค์ประกอบหรือชิ้นส่วน (Components) และระดับที่ 3 คือวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการประกอบเป็นชิ้นส่วน
 .

สำหรับการวางแผนวัสดุจะเริ่มจากการใช้ข้อมูลการพยากรณ์ยอดขายและประมาณการใช้วัสดุ ซึ่งแสดงถึงประเภทและปริมาณชิ้นส่วนที่จำเป็นสำหรับการผลิตในรูปแผนภูมิรายละเอียด (Explosion Chart) ดังนั้นหากเกิดความผิดพลาดขณะทำ BOM ก็จะส่งผลกระทบต่อระดับสินค้าคงคลังและค่าใช้จ่ายเนื่องจากความผิดพลาดในคำสั่งซื้อ รวมทั้งความคลาดเคลื่อนปริมาณผลิต โดยที่ BOM แสดงรายการชิ้นส่วนและรายละเอียดเพื่อให้ฝ่ายงานเกี่ยวข้องได้ใช้ข้อมูลใบรายการวัสดุ ดังเช่น

 .

  • ฝ่ายวิศวกรรมใช้ BOM เพื่อแสดงรายการชิ้นส่วนหรือองค์ประกอบผลิตภัณฑ์
  • ฝ่ายบัญชีใช้ข้อมูลจาก BOM เพื่อใช้คำนวณต้นทุนผลิตภัณฑ์
  • ฝ่ายการตลาดใช้ข้อมูลสำหรับตั้งราคาผลิตภัณฑ์
  • ฝ่ายผลิตใช้โครงสร้างใบรายการวัสดุเพื่อระบุขั้นตอนการผลิต (Production Routing) และวิธีการทำงาน  รวมทั้งมาตรฐานแต่ละขั้นตอน

 .
  1. บันทึกข้อมูลสินค้าคงคลัง (Inventory  Record  File) หรือเรียกว่ารายการข้อมูลหลัก (Item Master File) ซึ่งข้อมูลที่บันทึกในระบบจะแสดงสถานะแต่ละรายการตามรอบเวลาและความต้องการรวม (Gross Requirements), ตารางการรับของ (Scheduled Receipts), และจำนวนของที่มีอยู่ (On Hand) นอกจากนี้ยังแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ ผู้ส่งมอบ ช่วงเวลานำ และขนาดรุ่น (Lot Size)  ทำให้นักวางแผนสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ประมาณความต้องการสุทธิ (Net Requirements) แต่ละช่วงเวลาของการวางแผน (Planning Horizon)

 .

สำหรับกระบวนการทำงานของ MRP ใช้ข้อมูลจากตารางการผลิต ใบแสดงรายการวัสดุ และบันทึกข้อมูลสินค้าคงคลังดังที่กล่าวแล้ว โดยโปรแกรมจะคำนวณปริมาณแต่ละรายการด้วยการแตกความต้องการผลิตภัณฑ์ออกเป็นปริมาณระดับถัดลงมาแต่ละช่วงเวลา ทำให้สามารถวางแผนความต้องการได้อย่างถูกต้อง ข้อมูลที่ได้จากการแตก BOM แสดงถึงปริมาณความต้องการรวม (Gross Requirement) ส่วนปริมาณวัสดุที่ต้องการใช้ตามตารางการผลิต คือ ความต้องการวัสดุสุทธิ (Net  Material Requirements) ดังนั้นปริมาณความต้องการสุทธิอาจปรับเปลี่ยนได้สำหรับเผื่อการเกิดความสูญเสีย  ซึ่งสรุปนิยาม ดังนี้

  • อุปสงค์อิสระ ได้รับข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ  ดังเช่น การพยากรณ์, คำสั่งซื้อจากลูกค้า และชิ้นส่วนส่งซ่อม และใบสั่งผลิตจากฝ่ายงานอื่นภายในองค์กร ดังนั้นอุปสงค์อิสระคือผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนบริการที่ไม่เกี่ยวข้องกับความต้องการรายการอื่น โดย MPS แสดงเพียงข้อมูลอุปสงค์อิสระ
  • ปริมาณความต้องการรวม (Gross Requirement) คืออุปสงค์พึ่งพารวมหรืออาจเป็นอุปสงค์อิสระสำหรับผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนก่อนจะมีการทำบัญชีที่มีการจัดเก็บหรือกำหนดไว้ในตารางเวลาที่ได้รับ
  • การจัดสรร (Allocations) คือกระบวนการที่ใช้กับคำสั่งผลิตชิ้นส่วนซึ่งยังไม่ได้ถูกส่งเข้าไปในสายการผลิตที่ถูกเบิกจากคลังสินค้า ชิ้นส่วนที่ได้จัดสรรไปแล้วอาจจะยังไม่ได้ถูกส่งมาจากคลังสินค้าทันทีแต่จะส่งมาภายหลัง ดังนั้นการจัดสรรจะสร้างความมั่นใจได้ว่าชิ้นส่วนนี้จะยังไม่ถูกใช้ในงานตามคำสั่งผลิตอื่น ๆ
  • ปริมาณสินค้าคงคลังที่มีอยู่ (On-Hand Inventory) ปริมาณสินค้าคงคลังที่มีอยู่ในสต็อก ซึ่งถูกแสดงไว้ในบันทึกตามที่มีอยู่จริง โดยของที่มีอยู่นี้จะถูกบันทึกไว้ในระบบ
     

  • ตารางการรับวัสดุ (Scheduled Receipts) ตารางการรับวัสดุเป็นใบสั่งที่ได้ส่งไปแล้ว เพื่อให้ทำการผลิตเตรียมไว้หรือสั่งจากผู้ส่งมอบ โดยตารางการรับของที่ได้ส่งไปแล้วก่อนช่วงเวลาการวางแผนถูกกำหนดให้มาถึงระหว่างช่วงเวลาถัดไป
  • ปริมาณที่ต้องการสุทธิ (Net Requirements) เป็นปริมาณสั่งซื้อที่เกิดจากการหักลบจากสินค้าคงคลังที่มีอยู่และตารางรับวัสดุออกจากปริมาณความต้องการรวมและการจัดสรร
  • แผนการรับวัสดุ (Planned Order Receipt)  หลังจากได้รับข้อมูลความต้องการสุทธิก็จะดำเนินการวางแผนเพื่อรับคำสั่งเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์  หากไม่ได้ทำเช่นนั้นก็อาจเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบขึ้น ดังนั้นแผนการรับวัสดุจึงต่างจากตารางการรับวัสดุ นั่นคือ แผนการรับวัสดุอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ระหว่างช่วงเวลาที่มีการวางแผนในช่วงถัดไป แต่ตารางการรับวัสดุได้ถูกดำเนินการผลิตหรืออยู่ในกระบวนการผลิต ซึ่งอาจจะผลิตโดยผู้ส่งมอบหรือจัดทำขึ้นภายในเอง  
  • ช่วงเวลานำ (Lead Time) โดยทั่วไปการได้รับคำสั่งซื้อควรพิจารณาช่วงเวลาที่ใช้รับชิ้นส่วนที่ได้ดำเนินการจากสายการผลิตหรือผู้ส่งมอบ ช่วงระยะเวลานี้ เรียกว่า ช่วงเวลานำส่วนประกอบสำคัญของเวลานำ  คือ เวลารอคอย”(เวลาที่วัสดุอยู่ในสายการผลิตเพื่อรอแปรรูปหรือเวลาที่ใช้เตรียมเครื่องจักร, เวลาที่เครื่องจักรใช้ในกิจกรรมการผลิต, และเวลาการเคลื่อนย้ายชิ้นงานไปยังเครื่องจักรถัดไปหรือจากคลังสินค้าไปยังลูกค้า)
  • เวลาระหว่างช่วง/เวลานำเหลื่อม(Time Phasing/Lead-Time Offsetting) คือ เวลาระหว่างช่วงที่ช่วยทำให้สามารถมองไปข้างหน้าสำหรับการวางแผน ส่วนเวลานำเหลื่อม (Lead-Time Offset) ได้ถูกกำหนดด้วยการพิจารณาเมื่อชิ้นส่วนมีความจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการ สิ่งนี้ช่วยให้ระบบ MRP จัดตารางแผนการรับวัสดุช่วงเวลา หนึ่ง และส่งแผนการสั่งผลิตในระยะเวลาก่อนหน้า อย่างเช่น ความแตกต่างระหว่าง 2 วัน คือ เวลานำที่ต้องใช้สำหรับผลิตหรือซื้อจากภายนอก (Make or Buy)

.

MRP ทำงานอย่างไร 

1.ฝ่ายขายคาดการณ์ปริมาณคำสั่งซื้อแต่ละรอบของแผนงาน เช่น 1 ปี 3 เดือนหรือรายเดือน ซึ่งแผนงานจะมีการทบทวนและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

2.สร้างแผนการผลิต แสดงถึงอัตราการผลิตและปริมาณแต่ละประเภทที่จะดำเนินการผลิตตลอดช่วงแผนงาน

3.พัฒนากำหนดการผลิตหลัก แสดงปริมาณและช่วงเวลานำแต่ละรายการโดยจัดเตรียมจากข้อมูลที่ได้จากแผนการผลิตซึ่งกำหนดการผลิตจะมีการอัปเดตทุกสัปดาห์และข้อมูลจะถูกเชื่อมโยงไปยังแผนการผลิตกับ MRP

4. ทำการรันโปรแกรม MRP เพื่อคำนวณสำหรับจัดซื้อชิ้นส่วนที่ใช้ในสายการผลิต  ทำให้ผู้ใช้งานทราบระดับสินค้าคงคลังที่จำแนกตามกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์

โดยทั่วไปแผนการผลิตที่จัดทำสำหรับ 10-20 ผลิตภัณฑ์ สามารถแตกกำหนดการหลักออกเป็น 200-500 โมเดล และแจงรายละเอียดเป็น 10,000-50,000 ชิ้นส่วน

.

5.    ฝ่ายผลิตทำแผนกำลังการผลิตรายสัปดาห์ ระบบ MRP จะคำนวณกำลังการผลิตตลอดรอบการผลิตให้สอดรับตามกำหนดการส่งมอบให้ลูกค้า โดยมีการแปลง Work Order ด้วยเวลามาตรฐาน (Standard Hours) เทียบกับเวลาที่วางแผนไว้ (Planned Hours) ของหน่วยผลิต ดังตัวอย่างสายการประกอบแห่ง หนึ่ง ที่ควรปรับชั่วโมงการทำงาน 65 ชั่วโมงแรงงาน (Man-Hours) เพื่อให้เพียงพอต่อคำสั่งซื้อจากลูกค้า

6.    ดำเนินการควบคุมสายการผลิต โดยใช้เทคนิครายงานแรงงานเพื่อประเมินสถานะคำสั่งที่ดำเนินการเสร็จสิ้นในสายการผลิต ประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้

-  ออกรายงานกำลังผลิต (Shop Capacity Report) เพื่อเปรียบเทียบระหว่างชั่วโมงแรงงานในแผนกับเวลามาตรฐานที่พร้อมสำหรับดำเนินตามคำสั่งซื้อ

-  ใช้เทคนิคการรายงานทางแรงงาน เพื่อติดตามความคืบหน้าแต่ละงาน

-  ใช้อัตราส่วนวิกฤติ (Critical Ratio) เพื่อลำดับความสำคัญ (Prioritize) ของทุกคำสั่งในสายการผลิต โดยเลือกงานที่มีอัตราส่วนต่ำสุดเป็นลำดับความสำคัญสูงสุด (First Priority) ดังสมการ

Critical Order Ratio = ระยะเวลาตามกำหนดการ 

                                              เวลาที่ใช้ดำเนินการ

.

การจัดเตรียมข้อมูลสำหรับระบบ MRP

· ระบุรายการสินค้าคงคลังทุกประเภทที่เกี่ยวข้อง

· จัดเตรียมรายงานสถานะสินค้าคงคลังทุกรายการ

· ใบแสดงรายการวัสดุและรายละเอียดการผลิต

· ตารางการผลิตหลักแต่ละผลิตภัณฑ์จะต้องระบุเลขที่หรือรหัสอย่างชัดเจน

· ควรแสดงช่วงเวลานำในทุกรายการของสินค้าคงคลัง

ขั้นตอนการติดตั้งระบบ MRP

·      ตรวจสอบให้แน่ใจว่ารายละเอียดใน BOM มีความถูกต้องตามความต้องการ เนื่องจากการจัดซื้อและการผลิตดำเนินตามใบรายการวัสดุ หากรายละเอียดหรือข้อมูลใบรายการวัสดุผิดพลาดก็จะส่งผลต่อการส่งมอบล่าช้าหรืออาจจะเกิดสินค้าคงคลังเกินกว่าระดับที่ต้องการ ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบและแก้ไขก่อนดำเนินการผลิต

·     ทำการตรวจสอบความถูกต้องของระดับสินค้าคงคลัง โดยทำการสุ่มตรวจสอบวัสดุในคลังสินค้าเพื่อประเมินความถูกต้องทั้งปริมาณ  ตำแหน่ง  รหัส/เลขที่ ถ้าหากระดับความแม่นยำ (Accuracy Level) ต่ำกว่า 95% ก็ให้ดำเนินการแก้ไขและบันทึกการขนย้ายหรือการเข้า-ออกวัสดุจากคลังสินค้าและระบุรอบการตรวจนับ (Cycle Counting) อย่างชัดเจน โดยมีการจัดแบ่งวัสดุตามกลุ่มประเภทรายการ A, B และ C

·   จัดทำกำหนดการผลิตหลักและการบริหารความเปลี่ยนแปลง (Change Management)

·   กำหนดนโยบายการจัดซื้ออย่างชัดเจน ด้วยการตรวจสอบระยะเวลานำทุกคำสั่งซื้อเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดสต็อกและระบุระดับ Safety Stock   

·   เลือกซอฟท์แวร์ระบบ MRP โดยพิจารณาจากราคาที่เหมาะสมหรืออาจพัฒนาขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญภายในองค์กร

·   ดำเนินการติดตั้งระบบและฝึกอบรมให้กับบุคลากร

·   จัดทำรายงานควบคุม (Control Reports) สำหรับติดตามสถานะและรายงานผล ดังเช่น  ระดับสินค้าคงคลัง, สมรรถนะการส่งมอบ, ความแม่นยำของ BOM และชิ้นส่วนที่ขาดหรือต้องดำเนินการจัดซื้อ

รายงานผลลัพธ์ของระบบ MRP

โดยทั่วไปโปรแกรมระบบ MRP จะออกรายงานที่มีรูปแบบหลากหลายเพื่อใช้วางแผนและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กร โดยรายงานแสดงข้อมูลรายละเอียด ดังนี้

  • รายงานแผนกำหนดการออกคำสั่งซื้อซึ่งระบุปริมาณและระยะเวลาการส่งมอบ
  • การเปลี่ยนแปลงแผนและคำสั่งซื้อ โดยครอบคลุมถึงการแก้ไขระยะเวลาส่งมอบ  การแก้ไขปริมาณและการยกเลิกคำสั่งซื้อ  ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อ MPS
  • รายงานการควบคุมผลการดำเนินงาน โดยให้ข้อมูลรายละเอียดการส่งมอบล่าช้า รายการของขาดสต็อก ช่วงเวลานำจริงเทียบกับแผนงานและต้นทุนจริงเทียบกับงบประมาณ
  • รายงานการวางแผนที่ใช้สำหรับพยากรณ์ความต้องการวัสดุในอนาคต
  • รายงานสถานะระดับสินค้าคงคลัง
  • รายงานความบกพร่อง อย่างเช่น ความล่าช้าการรับของ อัตราของเสีย รายงานความคลาดเคลื่อน และการรับวัตถุดิบที่ผิดข้อกำหนด

การประยุกต์ MRP สำหรับงานบริการ

  • การประยุกต์ MRP ในงานบริการมักเกี่ยวข้องกับวัสดุที่เป็นองค์ประกอบหีบห่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งใช้ BOM คำนวณหาปริมาณและต้นทุนวัสดุแต่ละเมนูเพื่อจัดเตรียมให้เพียงพอกับความต้องการอย่างเช่นสนามกีฬาและธุรกิจโรงแรมประกอบด้วยกิจกรรมประจำวันอันหลากหลาย โดยต้องมีการแตกเป็นองค์ประกอบเพื่อใช้ประมาณต้นทุนการดำเนินกิจกรรม ด้วยเหตุนี้ประสิทธิผลการใช้ระบบวางแผนความต้องการวัสดุ ประกอบด้วย
  • สามารถลดความสูญเปล่าในการจัดเก็บสินค้าคงคลังที่เกินความจำเป็น
  • เกิดความพร้อมของวัสดุหรือชิ้นส่วนในปริมาณและเวลาที่ถูกต้อง
  • การตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอุปสงค์
  • เกิดการใช้ทรัพยากรการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

สรุป

ระบบวางแผนความต้องการวัสดุ (MRP) ใช้ข้อมูลจากกำหนดการผลิตหลักเพื่อจัดตารางให้ได้ทรัพยากรในช่วงเวลาที่ต้องการ ดังนั้นการวางแผนความต้องการวัสดุจะเป็นตัวเสนอแนะการจัดเรียงตามลำดับความสำคัญของใบสั่งซื้อ โดย MRP จะให้ข้อมูลสนับสนุนการวางแผนตามลำดับความสำคัญและการวางแผนกำลังการผลิตเช่นเดียวกับระบบการจัดตาราง,การกระจายงานเข้าสู่ช่วงการผลิตและการสั่งซื้อ ซึ่ง MRP จะถูกผลักดันโดยข้อมูลจาก MPS โดยข้อมูล MPS ได้จากการพยากรณ์,คำสั่งซื้อของลูกค้า, สินค้าคงคลัง, การสั่งผลิตระหว่างหน่วยงาน,ความต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่และบางทีอาจรวมถึงกิจกรรมสนับสนุนงานขาย โดย MRP จะระบุกำหนดการที่ต้องการใช้รายการชิ้นส่วน รวมถึงความต้องการสุทธิแต่ละรายการและแสดงข้อมูลสำคัญ

.

 ดังเช่น ระดับสินค้าคงคลังตลอดรอบระยะเวลา, นโยบายการสั่งซื้อ, ใบแสดงปริมาณวัสดุและการวางแผนในช่วงระยะการนำวัสดุไปผลิตหรือการสั่งซื้อจากผู้ส่งมอบ โดยรายงานที่ถูกสร้างขึ้นจากระบบ MRP สามารถใช้สนับสนุนการตัดสินใจเพื่อกำหนดลำดับและระบุกำหนดการใหม่ (Rescheduling) ในการสั่งผลิตและออกคำสั่งซื้อ

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด