เนื้อหาวันที่ : 2006-02-18 15:20:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6969 views

การจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์ สำหรับ SMEs

แนวทางในการดำเนินการในกิจกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานหรือ ประหยัดพลังงาน มีแนวทางในการดำเนินการได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการ โดยใช้มาตรการแบบลงทุน ในการเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่เหมาะสมต่อกระบวนการผลิต เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

แนวทางในการดำเนินการในกิจกรรมด้านการอนุรักษ์พลังงานหรือ ประหยัดพลังงาน มีแนวทางในการดำเนินการได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการ โดยใช้มาตรการแบบลงทุน ในการเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานที่เหมาะสมต่อกระบวนการผลิต เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อมีการใช้เครื่องจักรที่เก่ าล้าสมัย แต่กลับกัน ปริมาณการผลิต หรือรูปแบบของผลิตภัณฑ์จะต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ สามารถรองรับการการผลิตที่เปลี่ยนรูปแบบไป หรือวิธีการการจัดการพลังงาน  (Energy Management) เข้ามาประยุกต์ใช้  ตัวอย่างเช่น  การเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการ จัดระบบ สร้างวินัยและความร่วมมือ ของพนักงานในองค์กร การออกแบบเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน Q&M การตรวจวัดวิเคราะห์การใช้พลังงาน และการปรับปรงเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน การสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พลังงาน เทคนิคการจัดการพลังงาน Value Engineering  VE  ฯลฯ

 

ทั้งหมด ถือว่าเป็นเรื่องของการรวมเทคนิค วิธีการบริหารจัดการพลังงาน รวมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานให้กับองค์กร เมื่อพิจารณาถึง การอนุรักษ์พลังงานของชาติ นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในปัจจุบัน จะต้องให้ความสำคัญ พร้อมทั้งดำเนินการตามนโยบายที่ได้กำหนดเป็นกติกาไว้อย่างต่อเนื่อง และทั่วถึงกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในการพัฒนาพลังงานของ SMEs ซึ่งการประหยัดพลังงานในอุตสาหกรรมไทยมักถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเท่านั้น โดยลืมมองถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการดำเนินงาน ซึ่งก็คือการลดต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด ดังนั้น เมื่อทางภาคอุตสาหกรรมคิดที่จะลดต้นทุนพลังงาน จึงมักทำการลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองเฉพาะจุด เช่น การลดการใช้ไฟแสงสว่าง การลดเวลาในการใช้เครื่องปรับอากาศ การเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักรบางชิ้น โดยไม่มีการวิเคราะห์กระบวนการในอุตสาหกรรมทั้งระบบ ทำให้โครงการลดการใช้พลังงานส่วนใหญ่ลดการใช้พลังงานได้น้อย ซึ่งส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่รู้สึกว่าโครงการประหยัดพลังงานเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าในการลงทุน หรือให้ความสำคัญน้อยกว่าการพัฒนางานฝ่ายผลิตโดยตรง ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐเองล้วนมุ่งเน้นการเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เท่านั้น

 

แนวความคิดในการประหยัดพลังงาน โดยขยายขอบเขตการทำงานซึ่งมุ่งเน้นงานด้านพลังงานโดยตรง เป็นการพัฒนาองค์กรซึ่งมีหลายวัตถุประสงค์และหลายผลลัพธ์ และเกิดจากความร่วมมือของบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญในระดับสูง เช่น วิศวกร นักเทคโนโลยี และผู้จัดการทางเทคนิค มากกว่าเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องพลังงาน เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกส่วนในอุตสาหกรรม ทั้งพนักงานฝ่ายสำนักงาน ฝ่ายผลิต ฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบกระบวนการผลิต ซึ่งทุกส่วนงานจะต้องมีจิตสำนึกร่วมกันในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน โดยเฉพาะในภาวะที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงใน  ตลาดโลกทำให้บริษัททุกแห่งต้องลดต้นทุนการผลิตทุกทาง เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด และเพิ่มคุณค่าในตัวสินค้าให้มากที่สุด ความร่วมมือจากทุกฝ่ายจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

 

โดยแนวความคิดที่ได้นำเสนอนี้เกิดจากการศึกษาและวิจัยกิจการที่ได้มีการดำเนินการทางด้านพลังงานซึ่งประสบความสำเร็จในอดีต เพื่อหาแนวทางซึ่งสามารถพัฒนาให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง โดยการผสมผสานแนวความคิดทางการบริหารจัดการซึ่งมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย และสรุปเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับกิจกรรมอื่น ๆ ในโรงงานได้โดยง่าย

 

การนำแนวคิดการบริหารจัดการไปประยุกต์ใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม

1.ปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการประหยัดพลังงาน ว่าไม่ใช่เรื่องของพลังงานเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของการลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน ซึ่งทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ โดยกระบวนการนี้จะปรับเปลี่ยนทัศนคติของทุกส่วน นับแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงานระดับล่าง หากการปรับเปลี่ยนทัศนคตินี้ไม่เป็นผล การดำเนินงานในขั้นตอนอื่น ๆ ย่อมไม่สามารถทำได้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการประชาสัมพันธ์ และฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง

 

  • การเพิ่มสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม (Competitiveness)

เราคงได้ยินหลาย ๆ ครั้งว่า ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมนั้นคือ เราเก่ง และมีเหลือเฟือทางทรัพยากรทุกด้าน ที่จะสามารถนำไปแข่งกับคู่แข่งทางเศรษฐกิจได้ เหมือนกับกองทัพทหาร เมื่อมีจำนวนทหาร หรืออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มาก ก็จะสามารถไปต่อสู้กับศัตรู ข้าศึกได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นขอสร้างความเข้าใจว่า ความสามารถในการแข่งขันจะไม่ใช่คุณลักษณะ ดังต่อไปนี้

  1. การมีทรัพยกรธรรมชาติที่มากมาย และเหลือเฟือ
  2. การมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ
  3. การมีค่าเงินที่ถูกกว่า
  4. การมีแรงจูงใจ การช่วยเหลือ สนับสนุนจากภาครัฐที่มากกว่า
  5. นโยบายทางการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ
  6. เรื่องราวเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

แต่การที่เราเรียกว่า ความสามารถในการแข่งขันนั้นคือ….กลยุทธ์ (Strategic) เกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพ และความเข้มแข็ง และสามารถต่อสู้กับการแข่งขันกับต่างประเทศได้ ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิรูปความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศได้

 

เกี่ยวกับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ปัจจุบัน ได้มีการศึกษา วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อที่จะนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดเป็นกลยุทธ์การพัฒนาของแต่ละอุตสาหกรรม

 
  • การลดต้นทุน

เป็นแนวคิดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินการในการบริหาร เพื่อการประหยัดต้นทุนทางด้านการดำเนินการให้เกิดขึ้นซึ่งมีหลายวิธีการด้วยกัน โดยผลที่ได้จะสามารถลดค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินขององค์กรได้ ฉะนั้น การนำแนวคิดทั้ง 2 มาประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์พลังงาน สามารถที่จะสร้างเสริมความสำเร็จให้เกิดขึ้น ด้วยวิธีการที่ง่ายไม่ซับซ้อน และมีหลากหลายวิธีด้วยกันในการดำเนินการ

 

2.การกำหนดนโยบาย แผนงาน และ แผนการปฏิบัติ

โดยผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง และผู้บริหารระดับล่าง ตามลำดับ โดยผู้บริหารจำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและทิศทางขององค์กรที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริหารระดับกลางและล่างสามารถนำไปประยุกต์เป็น Action Plan ได้อย่างสอดคล้องกัน โดยไม่ว่าจะใช้ในการดำเนินกิจกรรมเรื่องใด ๆ ก็ตามทั้งการบริหารการจัดการองค์กร บุคลากร กลยุทธ์ พลังงาน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งหมด

 

3.Product/Process Improvement

โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Optimization of Resource Usage) ขั้นตอนนี้จะมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดต้นทุนสูญเสียที่เกิดจากการออกแบบและการผลิต (Process) โดยอาจมีการพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ หรือการดัดแปลงปรับปรุงกระบวนการผลิต วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ โดยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา (ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเพียงคนเดียว) เช่น วิศวกรโรงงาน วิศวกรพลังงาน ผู้บริหาร ฯลฯ

 
  • การออกแบบและการผลิต (Process)

แนวทางการดำเนินการเพื่อการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การวางแนวทางการผลิต การจัดวางเครื่องจักร การเลือกใช้อุปกรณ์เครื่องจักรที่จะทำการผลิต เพื่อให้ทั้งกระบวนการผลิตเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างยั่งยืน

 
  • พิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ หรือการดัดแปลงปรับปรุง

การพิจารณาลงทุนอุปกรณ์ประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมถือเป็นแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมอีกแนวทางหนึ่ง ปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้ได้รับการพัฒนา ปรับปรุงให้เหมาะสมกับการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละชนิด มีมากมายหลายอย่างที่สามารถเป็นทางเลือกให้กับเจ้าของกิจการใด้เลือกให้ความเหมาะสมกับกระบวนการผลิตของโรงงาน อาทิเช่น เครื่องควบคุมความเร็วรอบมอเตอร์ มอเตอร์ประสิทธิภาพสูง อุปกรณ์ควบคุมดีมานด์ เครื่องทำความเย็นระบบดูดซึม เครื่องทำความร้อนโดยใช้พลังงานความร้อนที่เหลือจากระบบปรับอากาศ เครื่องเชื่อมประสิทธิภาพสูง ฯลฯ

 

ในเรื่องของอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ หาทางเลือกให้กับการประหยัดพลังงาน ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อพลังงานโดยรวมของประเทศ ที่จะมีเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเกิดขึ้นอีกมากมาย ให้เราสามารถที่จะเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งการสนับสนุนการให้เกิดโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงาน การศึกษาหรือค้นคว้าวิจัยให้เกิดการคิดค้นอุปกรณ์ หรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน ฯลฯ

 

อย่างไรก็ดี แนวทางการลดต้นทุนหลังจากการได้ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมยังสามารถปรับปรุง ดัดแปลงการใช้งานของเครื่องจักร อุปกรณ์ เหล่านี้ได้ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์หลังจากมีการใช้งานมาในระยะหนึ่งที่จะต้องมีการปรับปรุง ตัวอย่างของการดัดแปลง หรือปรับปรุง เช่น การปรับปรุงโคมไฟฟ้าเดิมโดยวิธีการลดหลอด การลดการรั่วไหลของอากาศอัด การปรับขนาดระบบปรับอากาศให้เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน การปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิดแยกส่วน โดยใช้เครื่องแบบรวมศูนย์ การปรับเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศชนิดแยกส่วนเป็นเครื่องแบบชุด การปรับเปลี่ยนบัลลาสต์ชนิดสูญเสียหลังจากปลดหลอด ฯลฯ

 

4.Total Involvement

ผู้บริหารและพนักงานทุกคนทุกระดับมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อพัฒนา และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง การปรับโครงสร้างเพื่อให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น การวางแผนการดำเนินงานเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจและการกำหนดนโยบายในการดำเนินการที่ชัดเจน

 

ผลลัพธ์ของการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์

- สามารถใช้แนวความคิดทางการบริหารจัดการ ที่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เช่น Total Quality Control, Concurrent Engineering และ Value Engineer ฯลฯ นำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับกิจกรรมการประหยัดพลังงานได้

- สามารถออกแบบการผลิต (Process)  โดยการพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ หรือ การดัดแปลงปรับปรุงกระบวนการผลิต วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์  พร้อมทั้งวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของสถานประกอบการและให้คำปรึกษา ส่งผลต่อการประหยัดพลังงานได้

- สามารถกำหนดนโยบาย แผนงาน และแผนการปฏิบัติการจัดการพลังงาน ขององค์กรที่ชัดเจน ได้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้บริหารระดับกลางและล่างสามารถนำไปประยุกต์เป็น Action Plan ได้อย่างสอดคล้องกัน

- ผู้บริหารและพนักงานทุกคนทุกระดับมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อพัฒนา และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เกิดความร่วมมือโดยผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา เช่น วิศวกรโรงงาน วิศวกรพลังงาน ผู้บริหาร ฯลฯ โดยการกำหนดให้มีบุคลากรด้านพลังงานประจำโรงงาน พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์พลังงานให้เกิดขึ้น

- สามารถลดต้นทุนการผลิต การดำเนินการ ด้วยวิธีการจัดการพลังงาน สามารถเพิ่มศักยภาพของวิสาหกิจในภาวะที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาด โดยมุ่งหวังให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด และเพิ่มคุณค่าในตัวสินค้าให้มากที่สุด

- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การบริหารจัดการพลังงานสามารถนำมาเพิ่มประสิทธิภาพจากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ด้านการประหยัดพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม และยังสามารถส่งผลไปถึงภาพรวมของการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ของประเทศอีกด้วย

 
อย่างไรก็ดี การนำแนวทางของการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์ที่ผู้เขียนได้นำเสนอเหล่านี้ ก็ยังเป็นหลักการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในแต่และโรงงานหรือสถานประกอบการได้เป็นอย่างดี แล้วแต่ว่าองค์กรนั้น ๆ เกิดปัญหาพลังงานมากน้อยเพียงใด ก็จะพยายามที่จะปรับการบริหารที่จำเป็นสำหรับการปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้กับโรงงาน ก่อนจบผู้เขียนขอนำเสนอวิธีการที่จะนำหลักการที่นำเสนอในบทความนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ โดยเริ่มจาก

          1.จัดฝึกอบรมหรือกิจกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติให้กับแต่ละวิสาหกิจ ในเรื่องการประหยัดพลังงานว่าไม่ใช่เรื่องของพลังงานเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของการลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน ซึ่งโดยเน้นให้ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ นับแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงานระดับล่าง

          2.ดำเนินการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานเบื้องต้นของสถานประกอบการ เพื่อการทราบถึงศักยภาพของการใช้พลังงานขององค์กรก่อนว่า จะมีแนวทางการกำหนดแผนงาน และแผนการดำเนินการอย่างไร ให้สอดคล้องกับปัญหาที่จะแก้ไข

          3.กำหนดนโยบาย แผนงาน และ แผนการปฏิบัติ ให้กับแต่ละวิสาหกิจ โดยให้ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง และผู้บริหารระดับล่างมีส่วนร่วมในการกำหนด โดยมีเป้าหมายและทิศทางขององค์กรที่ชัดเจน สามารถนำไปประยุกต์เป็น Action Plan ได้อย่างสอดคล้องกัน

         4.เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีการจัดหาทีมผู้เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ และพัฒนากระบวนการผลิต กระบวนการออกแบบ และการผลิต (Process) ให้กับแต่ละวิสาหกิจ โดยอาจมีการพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ หรือการดัดแปลงปรับปรุงกระบวนการผลิต วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ โดยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขา เช่น วิศวกรโรงงาน วิศวกรพลังงาน ผู้บริหาร

          5.ทุกคนในองค์กร ร่วมกันผลักดันให้แต่ละวิสาหกิจ ดำเนินตามแผนงานที่ได้ดำเนินการไว้ โดยกระตุ้นพนักงานทุกคนให้มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยใช้หลักการ 5 ส หรือ TQC มีการตั้งรางวัลดีเด่นแก่พนักงานที่ให้ความร่วมมือ พร้อมทั้งจัดการประกวดรางวัลองค์กรดีเด่นทางด้านการจัดการพลังงาน

          6.เมื่อสิ้นสุดการทำงานภายใต้โครงการ ต้องมีการทำรายงานสรุปผลการดำเนินกิจกรรมทุกขั้นตอนเพื่อการปรับปรุง และพัฒนาในโครงการปีต่อไป โดยจะต้องมีรายงานการศึกษา ดังนี้

          - การวิเคราะห์ประสิทธิภาพการใช้พลังงานเบื้องต้นของสถานประกอบการ

          - วิธีการบริหารจัดการที่นำไปประยุกต์ใช้ร่วมกับกิจกรรมการประหยัดพลังงาน

          - แบบการผลิต (Process) โดยการพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ หรือ การดัดแปลง

            ปรับปรุงกระบวนการผลิต วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ส่งผลต่อการประหยัดพลังงาน

          - นโยบาย แผนงาน และ แผนการจัดการพลังงานขององค์กร

          - บุคลากรรับผิดชอบพลังงาน พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์พลังงานประจำโรงงาน

          - ผลในความสามารถลดต้นทุนการผลิต การดำเนินการ ด้วยวิธีการจัดการพลังงาน

 
ผู้เขียนเชื่อว่าแนวทางที่ได้นำเสนอในบทความนี้ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสามารถลดต้นทุนทางด้านการดำเนินงาน ในเรื่องค่าใช้จ่ายทางด้านกระไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพขององค์กรที่ยาวนานได้
 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด