เนื้อหาวันที่ : 2006-09-12 15:18:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 18584 views

การบริหารเพื่อสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ

เป้าหมายหลักของการดำเนินธุรกิจขององค์กรจะมุ่งสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นที่มีส่วนร่วมในการลงทุนกับธุรกิจโดยคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าต้นทุนของเงินทุนหรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ถือหุ้นจะมีความมั่งคั่งขึ้น เมื่อโครงการลงทุนมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิเป็นบวก องค์กรจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อสร้างการเติบโตทางรายได้สูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น

เป้าหมายหลักของการดำเนินธุรกิจขององค์กรจะมุ่งสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น(Shareholder) ที่มีส่วนร่วมในการลงทุนกับธุรกิจโดยคาดหวังที่จะได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าต้นทุนของเงินทุน(Cost of capital) หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ถือหุ้นจะมีความมั่งคั่งขึ้นเมื่อโครงการลงทุนมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(Net present value) เป็นบวก โดยทั่วไปองค์กรสามารถใช้แบบจำลองกระแสเงินสดอิสระ(Free cashflow model) เพื่อประเมินมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV)

.

จากการลงทุนในโครงการและเชื่อมโยงกับเทคนิคการวัดผลการดำเนินงาน(Performance measurement) แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าองค์กรจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไรเพื่อสร้างการเติบโตทางรายได้สูงสุด(Earning growth) ให้กับผู้ถือหุ้น ปัจจุบันได้มีเครื่องมือสนับสนุนการติดตามการสร้างมูลค่าและผลกำไรให้กับธุรกิจ นั่นคือ การบริหารตามฐานมูลค่า(Value based management) หรือ VBM ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นแนวทางสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเป็นระบบดังนิยามที่กล่าวว่า  Systematic approach to creating shareholder value

.

ดังนั้น VBM จึงมุ่งสร้างความมั่งคั่งสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้น(Maximizing shareholder wealth) โดยมีการนำต้นทุนของทุนมาใช้ในการคำนวณ รวมทั้งการวัดในรูปผลตอบแทนที่ไม่ได้เป็นตัวเงิน(Nonfinancial) เช่น การวัดผลทางคุณภาพ ซึ่งแสดงด้วยความสัมพันธ์เหตุและผล(Cause-effect relationship) ดังเช่น

.

ความพึงพอใจของพนักงาน -> ความพึงพอใจของลูกค้า->    การสร้างผลกำไร->    การเพิ่มความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น

.

จากแผนภาพความสัมพันธ์ของเหตุและผลจะมีลักษณะการเชื่อมโยงเสมือนห่วงโซ่คุณค่า(Value chain) ด้วยการมุ่งผลลัพธ์การเพิ่มความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้น โดยมีองค์ประกอบทาง Nonfinancial สนับสนุนการสร้างมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้น สำหรับแนวคิด VBM จะประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก ดังนี้

.

        - มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Added ) 

        - มูลค่าเพิ่มเงินสด (Cash Value Added) 

        - ผลตอบแทนทางกระแสเงินสด (Cash Flow Return on Investments) 

        - การวิเคราะห์มูลค่าผู้ถือหุ้น (Shareholder Value Analysis)

.

.

โดยทั่วไปวิธีการที่นิยมใช้สำหรับตัดสินใจในการลงทุน (Capital investment decision) คือการวิเคราะห์ ส่วนลดกระแสเงินสด (Discounted cash flow) ซึ่งมีการวิเคราะห์ผลกระทบตลอดช่วงอายุของโครงการด้วยทีมงานข้ามสายงาน(Cross-functional team) จากฝ่ายงานต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ ดังเช่น กฎระเบียบ เทคโนโลยี พฤติกรรมลูกค้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์กระแสเงินสดที่ไหลเข้าและออกของโครงการ(Cash inflows and outflows) เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในแต่ละทางเลือก ซึ่งการวิเคราะห์ส่วนลดกระแสเงินสดหรือมูลค่าสุทธิปัจจุบัน อาจเรียกว่า การวิเคราะห์มูลค่าผู้ถือหุ้น(Share value analysis) และเป็นเครื่องมือสนับสนุนผู้บริหารเพื่อตัดสินใจอย่างมีประสิทธิผลกว่าแนวทางทางบัญชีแบบเดิมที่วัดผลตอบแทนจากรายได้ต่อหุ้น(Earning per share) หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุน(Return on investment)

.

.

นอกจากนี้ SVA ทำให้ผู้บริหารสามารถวัดผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ (Economic impact) ของการตัดสินใจในกลยุทธ์ทางธุรกิจ (Strategy decision) ดังเช่น ผู้บริหารจะใช้ SVA เพื่อประเมินมูลค่าสำหรับการควบรวมกิจการ(Mergers & acquisitions) หรือแม้แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product development) และการลงทุนในสินทรัพย์ทุน เป็นต้น สำหรับการวัดมูลค่าผู้ถือจะประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก คือ กระแสเงินสดตลอดรอบเวลาที่กำหนด(Value growth duration) และความเสี่ยงซึ่งเกิดจากต้นทุนของเงินทุน

.

รูปที่ 1 แผนภาพองค์ประกอบผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุนในธุรกิจ

.
การสร้างมูลค่ากิจการ

มูลค่ากิจการ(Firm value) เป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิรวมของกระแสเงินสดในอนาคต (Future cash flow) สำหรับมูลค่าผู้ถือหุ้น เป็นมูลค่าสุทธิของกิจการในอนาคตโดยคิดจากกระแสเงินสดหักด้วยมูลค่าตลาด(ทั้งหนี้สินระยะสั้นและระยะยาว) ซึ่งแสดงด้วยความสัมพันธ์ ดังนี้

มูลค่ากิจการ = มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดอิสระ + มูลค่าตลาดของสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน

มูลค่าผู้ถือหุ้น = มูลค่ากิจการ - มูลค่าตลาด(ทั้งหนี้สินระยะสั้นและระยะยาว)

***สินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน (Non-operating Assets) = สินทรัพย์ที่เกินความต้องการ เช่น สินทรัพย์สำหรับขาย สินทรัพย์ระหว่างการก่อสร้าง ตราสารหนี้ หุ้น เป็นต้น

.

ตัวอย่างการคำนวณกระแสเงินสดอิสระ(Free cash flow)

.

สำหรับการคาดการณ์กระแสเงินสดอิสระมักเริ่มจากการใช้ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ราคา ยอดขาย GNP และปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์เพื่อประมาณรายได้และค่าใช้จ่าย ซึ่งการคาดการณ์จะดำเนินการในระดับหน่วยธุรกิจ (Business unit) สำหรับการวางแผนกระแสเงินสดตลอดช่วงอายุของโครงการหรือช่วงการเติบโตมูลค่าเพิ่ม(Value growth duration) จะขึ้นกับอัตราผลตอบแทนภายใน (Internal rates of return) เทียบกับต้นทุนของเงินทุนถัวเฉลี่ย (Weighted average cost of capital) หรือ WACC โดยทั่วไปผู้บริหารจะวางแผนล่วงหน้าประมาณ 3-5 ปี รวมทั้งพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความผันผวนกระแสเงินสด

.

รูปที่ 2 แผนภาพความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างงบการเงินกับแนวคิด VBM

.

จากแผนภาพรูปที่ 2 ค่าต้นทุนของเงินทุนสำหรับสินทรัพย์ที่ลงทุนในธุรกิจ(Capital Charge) เป็นต้นทุนที่ไม่มีการลงในบัญชีจริง ๆ แต่จะคำนวณขึ้นเพื่อหาผลกำไรทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสามารถหาได้จากความสัมพันธ์

.

Capital Charge = Capital employed x Cost of capital

โดยที่ Capital employed คือ สินทรัพย์ที่ลงทุนในธุรกิจ

.
ความเสี่ยง

สำหรับความเสี่ยงขององค์กรจะถูกวัดด้วยค่า WACC ซึ่งคิดจากต้นทุนของหนี้หลังหักภาษี (After tax cost of debt) บวกด้วยต้นทุนส่วนเจ้าของ (Cost of equity) ในทางการเงินมักนิยมใช้วิธีการคำนวณเรียกว่า Capital asset pricing model(CAPM) โดยประมาณต้นทุนของเงินทุนจากส่วนเจ้าของและผลตอบแทนในอดีตเทียบกับอัตราเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เรียกว่า เบต้า(Beta) ที่แสดงถึงความเสี่ยงจากการลงทุน ซึ่งแสดงด้วยความสัมพันธ์ ดังนี้

.

          ต้นทุนส่วนเจ้าของ (Cost of Equity) = Risk Free Rate + b * Market Risk Premium 

          เมื่อ Risk Free Rate = อัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง 

          Market Risk Premium = ส่วนต่างความเสี่ยงตลาด 

          สำหรับต้นทุนของเงินทุนถัวเฉลี่ย สามารถหาได้จาก 

          WACC = % of debt * Cost of Debt + % of Equity * Cost of Equity

.

 

ตัวอย่าง : บริษัท A มีมูลค่าของทุนตามราคาตลาด (Market Capitalization) 550 ล้านบาท โดยมีหนี้สิน 250 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 8.5% มีอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง(Risk Free Rate) 7% และอัตราผลตอบแทนจากตลาด 12% โดยมีค่าเบต้า 0.90 และอัตราภาษี 28% ให้หาต้นทุนของเงินทุนถัวเฉลี่ย

.

          Sol. ส่วนต่างความเสี่ยงตลาด(Market Risk Premium) = 12% - 7% = 5% 

          ต้นทุนจากการก่อหนี้(Cost of Debt) = 8.5% * (1-28%) = 6.12% 

          ต้นทุนส่วนเจ้าของ (Cost of Equity) = 7% + .90 * 5% = 11.5% 

          WACC  =  250 / 800 * 6.12% + 550 / 800 * 11.5% = 9.8%

.
เอกสารอ้างอิง

1. John D. Martin , J. William Petty , Value Based Management : The Corporate Response to Stakeholder Revolution , Harvard Business School Press , 2000.

2. Warren , Reeve, Fess, Financial & Managerial Accounting , South-Western, 7th ed., 2002.

3. William G. Sullivan , James A. Bontadelli , Elin M. Wicks , Engineering Economy , Prentice-Hall, Inc., 2000.

4. Don R. Hansen & Maryanne M. Mowen , Management Accounting , South- Western College Publishing, 1997.

5.โกศล ดีศีลธรรม , Management Tools For Executive , บ. อินฟอร์มีเดีย อินเตอร์เนชันแนล จำกัด , 2547.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด