เนื้อหาวันที่ : 2006-02-18 15:19:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 17018 views

การพัฒนาโซ่อุปทานขององค์กร

การพัฒนาโซ่อุปทานขององค์กร ขอนำเสนอขั้นตอนการนำแนวคิดการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาใช้กับองค์กรท่าน การจัดการลอจิสติกส์ จะต้องพิจารณาในภาพรวมของกระบวนการต่างๆในการนำมาใช้กับองค์กร ต้องมีขั้นตอนการจัดการสำหรับการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบในส่วนต่างๆ ให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการจัดการลอจิสติกส์ได้

บทความฉบับนี้ ขอนำเสนอขั้นตอนการนำแนวคิดการจัดการลอจิสติกส์และโซ่อุปทานมาใช้กับองค์กรท่าน หลังจากบทความฉบับที่แล้ว ได้กล่าวถึงรายละเอียดการจัดการในแต่ละส่วนของระบบลอจิสติกส์ไปแล้ว เป็นแนวทางการจัดการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับองค์กรท่านได้ โดยต้องพิจารณาถึงความสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กรธุรกิจ 

 

การจัดการลอจิสติกส์ จะต้องพิจารณาในภาพรวมของกระบวนการต่างๆในการนำมาใช้กับองค์กร ต้องมีขั้นตอนการจัดการสำหรับการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบในส่วนต่างๆ ให้สามารถบรรลุเป้าหมายของการจัดการลอจิสติกส์ได้

 

: Supply Chain Operations Reference (SCOR) Model 

แบบจำลอง เป็นขั้นตอนในการพัฒนาโซ่อุปทานขององค์กรดังแสดงในรูปที่ 1 องค์ประกอบการจัดการในฉบับที่แล้ว ท่านอาจสงสัยว่า ถ้าต้องการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้กับองค์กร ควรจะเริ่มต้นอย่างไร, มีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไรบ้าง แบบจำลอง SCOR จะนำเสนอขั้นตอนสำคัญในการดำเนินการเป็น 4 ระดับ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดโดยภาพรวมของขอบข่ายการจัดการในระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน, การกำหนดองค์ประกอบการปฏิบัติงานของระบบลอจิสติกส์, การกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติงานในแต่ละส่วนของระบบ

รูปที่ 1 แสดงถึงโครงร่างกระบวนการการจัดการในการพัฒนาโซ่อุปทานด้วยแบบจำลอง SCOR

 

ในการพัฒนาโซ่อุปทานขององค์กร ต้องจัดการในกระบวนการที่สำคัญ 4 ส่วนนี้ คือ การวางแผน(Plan), การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ(Source), การผลิต(Make) และการจัดส่ง(Deliver) เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันในการปฏิบัติงาน ซึ่งแบบจำลอง SCOR ได้กำหนดขั้นตอนการพัฒนาเป็น 4 ระดับ ดังแสดงในรูปที่ 2 การดำเนินการพัฒนาดังกล่าว แต่ละองค์ประกอบจะถูกกำหนดกระบวนการและการจัดการ ที่ทำให้การปฏิบัติงานขององค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
 

ขั้นตอนในการพัฒนาโซ่อุปทาน

 
รูปที่ 2 แสดงภาพรวมของขั้นตอนในการพัฒนาโซ่อุปทานขององค์กร ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนสำคัญ ดังต่อไปนี้
 

รูปที่ 2 แสดงขั้นตอนหลักในการพัฒนาโซ่อุปทานขององค์กรโดยแบบจำลอง Supply Chain Operations Reference (SCOR)

 
SCOR ระดับที่ 1 ระดับบนสุด

เป็นขั้นตอนการวิเคราะห์ถึงการแข่งขันในธุรกิจที่ดำเนินอยู่ ต้องวิเคราะห์ถึงองค์ประกอบที่สำคัญภายในและภายนอกองค์กร เป็นปัจจัยที่กำหนดความสามารถและความได้เปรียบในการแข่งขันที่ควรมีสำหรับองค์กร เช่น ความยืดหยุ่นและความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า, ความรวดเร็วในการจัดส่ง, การบริการลูกค้า, ต้นทุนที่ต่ำ ฯลฯ อันเป็นผลจากการดำเนินงานในส่วนของการวางแผน, การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ, การผลิตและการจัด ที่เหมาะสมกับองค์กรและอุตสาหกรรมนั้น 

 

ผลที่ได้จากการวิเคราะห์นี้ จะนำมาเป็นแนวทางการกำหนดขอบข่าย และองค์ประกอบสำคัญที่จะต้องจัดการสำหรับองค์กร โดยต้องกำหนดสิ่งที่ควบคู่กัน คือ ปัจจัยวัดผลและระดับของผลการปฏิบัติงาน เป็นเป้าหมายของแต่ละปัจจัย ของผลความสามารถในการปฏิบัติงานของโซ่อุปทานที่สำคัญ อาจนำมาประยุกต์ใช้ได้ ประกอบด้วย

 
ภายนอกองค์กรที่เชื่อมต่อสู่ลูกค้า
  • สัดส่วนการจัดส่งสินค้าได้ตรงตามกำหนดจากลูกค้า
  • สัดส่วนปริมาณคำสั่งซื้อที่จัดส่งได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์
  • ระยะเวลาที่ใช้ในการดำเนินการต่อคำสั่งซื้อจากลูกค้า นับจากการรับคำสั่งซื้อจนกระทั่งจัดส่งเรียบร้อย
  • ระยะเวลาที่ใช้ในการเตรียมการผลิตจนกระทั่งสามารถจัดส่งให้ลูกค้าได้ (ในกรณีที่ไม่มีสินค้าคงคลังสำรอง)
  • ภายในองค์กร
  • ต้นทุนการจัดการด้านลอจิสติกส์โดยรวม เปรียบเทียบกับต้นทุนรวม
  • ค่าเฉลี่ยรายได้ขององค์กรที่เกิดขึ้นต่อจำนวนพนักงาน
  • อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover) 
  • อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์โดยรวม (Net Assets Turnover) 
  • ช่วงระยะเวลารอบหมุนเวียนวัฏจักรเงินสด (Cash-to-cash Cycle Time)

ปัจจัยวัดผลเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงผลการปรับปรุงพัฒนาโซ่อุปทาน และการดำเนินการในระดับองค์กรโดยรวม ทั้งนี้ในการกำหนดระดับเป้าหมายที่เหมาะสม สำหรับแต่ละปัจจัย ควรจะพิจารณาเปรียบเทียบกับองค์กรที่ต้องแข่งขันโดยตรง จะเป็นการดำเนินการที่เรียกว่า Competitive Benchmarking ทำการวัดเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานในปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมหรือปัจจัยที่ลูกค้าให้ความสำคัญ ใช้เป็นสิ่งประเมินผลการปฏิบัติงานขององค์กร ทำให้สามารถกำหนดความแตกต่างของปัจจัย และทราบถึงสิ่งที่ควรปรับปรุง จะเป็นรากฐานในการกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานและการพัฒนาโซ่อุปทานขององค์กรต่อไป

 

SCOR ระดับที่ 2 การกำหนดกระบวนการหลักขององค์กร

หลังจากที่ได้กำหนดกระบวนการปฏิบัติงานที่เหมาะสม และขอบข่ายการจัดการที่เกี่ยวข้องแล้ว นำมาแปรเป็นกระบวนการปฏิบัติงานที่เหมาะสม และสอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ได้กำหนดไว้ โดยกำหนดเป็นโครงร่างของโซ่อุปทานขององค์กร การกำหนดโครงร่างของโซ่อุปทานนี้ จะครอบคลุมการพิจารณาการกำหนดโครงร่างของกระบวนการปฏิบัติงานในส่วนการวางแผน, การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ, การผลิตและการจัดส่ง ที่มีขอบข่ายการปฏิบัติงานทั้งในส่วนการปฏิบัติงานภายในและระหว่างองค์กร
 

โครงร่างของโซ่อุปทานที่กำหนดนี้ ควรมีความยืดหยุ่น ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของลูกค้า และสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ 

ในระดับที่ 2 นี้ จะมีปัจจัยวัดผลการปฏิบัติงาน ที่สามารถประยุกต์ใช้ เป็นสิ่งชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาประสิทธิภาพของโซ่อุปทานขององค์กรได้ อันประกอบด้วยปัจจัยวัดผลปฏิบัติงานต่างๆ คือ
  • สัดส่วนการจัดส่งวัตถุดิบที่ตรงเวลาจากผู้จัดส่งวัตถุดิบ
  • ระยะเวลาในการส่งมอบวัตถุดิบ นับจากเริ่มออกคำสั่งซื้อไปยังผู้จัดส่งวัตถุดิบ
  • ต้นทุนรวมในการจัดหาวัตถุดิบ
  • วัฏจักรในการจัดการคำสั่งซื้อ (ระยะเวลานับจากรับคำสั่งซื้อจากลูกค้า จนกระทั่งส่งมอบสินค้าแก่ลูกค้า)
  • สัดส่วนปริมาณการจัดทำเอกสารที่เกี่ยวข้อง ในการจัดส่งมอบสินค้าได้ถูกต้องครบถ้วน
  • ต้นทุนในการจัดการคำสั่งซื้อจากลูกค้า
  • ปริมาณสินค้าคงคลังสำรองที่มี เปรียบเทียบเป็นจำนวนวันของปริมาณความต้องการที่เกิดขึ้น
 
SCOR ระดับที่ 3 การกำหนดรายละเอียดของกระบวนการ

เป็นการกำหนดรายละเอียดในแต่ละส่วน ของกระบวนการภายในและระหว่างองค์กร ที่ได้กำหนดไว้ในระดับที่ 2 การกำหนดรายละเอียดของกระบวนการนี้ จะอาศัยข้อสรุปแนวทางจากการวิเคราะห์ในระดับที่ 1 และ 2 มาเป็นแนวทางในการกำหนดรายละเอียดเช่นกัน สิ่งที่ต้องดำเนินการในระดับที่ 3 ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

  • การกำหนดองค์ประกอบของกระบวนการ
  • การกำหนดปัจจัยนำเข้าและปัจจัยส่งออก ด้านข้อมูลสารสนเทศของแต่ละกระบวนการ
  • การกำหนดกลุ่มปัจจัยประเมินผลการปฏิบัติงานของกระบวนการ
  • การกำหนดแบบแผนการปฏิบัติงานอ้างอิงที่ดีที่สุด 
  • การกำหนดสมรรถนะของระบบที่จำเป็น สามารถสนับสนุนการปฏิบัติงานให้บรรลุได้ตามแผน
  • การกำหนดระบบดำเนินงานและเครื่องมือ ให้เหมาะสมสำหรับผู้จัดส่งวัตถุดิบแต่ละราย

ในการกำหนดรายละเอียดเหล่านี้ อาจต้องอาศัยความร่วมมือในการกำหนดจากทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้จัดส่งวัตถุดิบ, ผู้รับผิดชอบการจัดส่ง, ผู้รับผิดชอบการกระจายสินค้าและลูกค้า เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปได้ และสร้างความเข้าใจที่สอดคล้องกันในการนำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล

 

SCOR ระดับที่ 4 การนำไปปฏิบัติ

เป็นการนำสิ่งที่ได้กำหนดไว้ไปปฏิบัติให้เกิดผลตามที่กำหนดไว้ โดยมีการกำหนดแบบแผนการปฏิบัติงาน ในรูปแบบที่เหมาะกับกระบวนการที่ได้กำหนดไว้ในโครงร่างโซ่อุปทานขององค์กร

 

องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในการวางแผน, การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ, การผลิตและการจัดส่ง

องค์ประกอบของโซ่อุปทาน 4 ส่วน ที่สำคัญ คือ การวางแผน, การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ, การผลิตและการจัดส่ง ที่ต้องกำหนดกระบวนการให้เกิดความสอดคล้องกัน ในแต่ละส่วนจะมีขอบข่ายที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

 

การวางแผน

จะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนในด้านอุปสงค์และอุปทาน มีสิ่งที่ต้องจัดการประกอบด้วย

  • การประเมินความสามารถของแหล่งวัตถุดิบ, การรวบรวมและจัดลำดับความสำคัญในข้อกำหนดความต้องการ, การวางแผนด้านสินค้าคงคลัง, ความต้องการในการกระจายสินค้า, การผลิต, วัตถุดิบและการกำหนดกำลังการผลิตโดยรวมของผลิตภัณฑ์ และช่องทางต่างๆ
  • การจัดการด้านการวางแผนองค์ประกอบพื้นฐาน การปฏิบัติงานตามแผนงาน
  • การตัดสินใจในการกำหนดการซื้อหรือผลิตเอง ในชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์, การกำหนดโครงร่างของโซ่อุปทาน, การวางแผนทรัพยากรและกำลังการผลิตในระยะยาว, การวางแผนธุรกิจ, การกำหนดการผลิตสินค้าใหม่ หรือยกเลิกการผลิตสินค้าเดิม, การกำหนดสายการผลิตสินค้าต่างๆ

การดำเนินงานในด้านการวางแผน จะเป็นการกำหนดภาพรวมในส่วนต่างๆของโซ่อุปทาน ก่อนที่นำไปปฏิบัติในส่วนต่างๆต่อไป

 

การจัดหาแหล่งวัตถุดิบ

เป็นส่วนที่ดำเนินการจัดการด้านการจัดหาวัตถุดิบ และแหล่งป้อนวัตถุดิบเข้าสู่ระบบ ประกอบด้วย
  • การจัดหาแหล่งป้อนวัตถุดิบและวัตถุดิบ จะเกี่ยวข้องกับการรับวัตถุดิบ, การตรวจสอบ, การเก็บรักษา และการจ่ายวัตถุดิบเข้าสู่ระบบการผลิต
  • การจัดการองค์ประกอบพื้นฐานของการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ ประกอบด้วย ระบบการรับรองผู้จัดส่งวัตถุดิบและการติดต่อสื่อสารข้อมูลดำเนินงาน, คุณภาพของการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ, การขนส่งวัตถุดิบขาเข้า, ระบบงานวิศวกรรมในชิ้นส่วนต่างๆ, การทำสัญญาจัดหาวัตถุดิบป้อนสู่ระบบการผลิต, การจ่ายชำระค่าวัตถุดิบที่จัดซื้อ
  • การผลิต เป็นส่วนที่จัดการในส่วนการปฏิบัติงานของระบบการผลิต มีองค์ประกอบดังนี้
  • ระบบการดำเนินการผลิต จะเกี่ยวข้องกับการร้องขอหรือเบิกวัตถุดิบ, การรับวัตถุดิบ, การผลิตและการทดสอบผลิตภัณฑ์, การบรรจุ, การเก็บรักษา และการสั่งจ่ายผลิตภัณฑ์
  • การจัดการองค์ประกอบพื้นฐานของการผลิต ประกอบด้วย ระบบการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดทางวิศวกรรมของผลิตภัณฑ์, ระบบสาธารณูปโภค, อุปกรณ์การผลิต, สถานภาพของระบบการผลิต, คุณภาพของระบบการผลิต, การจัดลำดับและกำหนดการผลิต, การกำหนดกำลังการผลิตจริงในช่วงระยะเวลาต่างๆ

การจัดส่ง

เป็นส่วนที่จัดการในการตอบสนองต่อคำสั่งซื้อจากลูกค้า และการจัดส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ลูกค้า ประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้

  • การจัดการคำสั่งซื้อ ประกอบด้วยกระบวนการในการป้อนคำสั่งซื้อ, การจัดทำเอกสารเสนอราคา, การกำหนดองค์ประกอบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง, การสร้างและรักษาฐานข้อมูลลูกค้าและผลิตภัณฑ์, ระบบการจัดการด้านบัญชี ในส่วนลูกหนี้การค้า, การให้เครดิตลูกค้า, การเก็บหนี้ และการออกใบเรียกเก็บเงิน
  • การจัดการคลังสินค้า ประกอบด้วยการจัดการด้านการค้นหาสินค้า , การบรรจุ และรวบรวมผลิตภัณฑ์
  • การจัดการองค์ประกอบพื้นฐานของการจัดส่ง ประกอบด้วยการจัดการด้านกฏเกณฑ์ของช่องทางกระจายสินค้า, กฏเกณฑ์ในการสั่งสินค้า, การจัดการด้านคุณภาพของการจัดส่ง
สรุป

จากที่ได้กล่าวมานี้ เป็นกรอบความคิดของขั้นตอนในการพัฒนาโซ่อุปทานสำหรับองค์กร โดยอาศัย SCOR Model อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องการเน้นให้เห็น คือ "ขั้นตอนทั้ง 4 ระดับ ใน SCOR Model ควรจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง" เมื่อทำการปฏิบัติแล้ว ควรมีการวัดผลการปฏิบัติงาน โดยนำผลตรวจวัดที่ได้มาวิเคราะห์ปัญหา หาจุดที่ควรปรับปรุงเพิ่มเติมและนำผลที่ได้ไปปรับปรุงอีกครั้ง ด้วยการทบทวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในการปฏิบัติงานของโซ่อุปทาน 

 
ส่วนรายละเอียดการจัดการในส่วนต่างๆ เช่น การจัดซื้อ, การผลิต, การจัดการสินค้าคงคลัง ฯลฯ จะเป็นแนวทางนำไปปรับประยุกต์ใช้กับองค์กรของท่าน เพื่อให้ผลการปฏิบัติงานของโซ่อุปทาน สามารถบรรลุผลตามที่ได้กำหนดไว้
 

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด