เนื้อหาวันที่ : 2006-02-18 15:18:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7291 views

กลยุทธ์การรวมกลุ่มพันธมิตรธุรกิจอุตสาหกรรม SMEs ไทย

กลยุทธ์การรวมกลุ่มพันธมิตรธุรกิจอุตสาหกรรม SMEs ไทย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ Small and Medium Enterprises : SMEs เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทั้งปริมาณที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในประเทศ

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ Small and Medium Enterprises : SMEs เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทั้งปริมาณที่สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในประเทศ และบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ

 

ผู้เขียนยังได้รับคำถามเกี่ยวกับคำว่า  SMEs คืออะไร หลายท่านยังคงทราบไม่แน่ชัดมากนักเกี่ยวกับคำว่า วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs จากคำนิยามตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.. 2543 ได้กำหนดคำนิยามไว้ดังนี้

ซึ่งทั้งจำนวนคนงาน สินทรัพย์ถาวร และเงินทุนจดทะเบียน เมื่อมีจำนวนมูลค่ามากกว่าที่กำหนดให้นี้ ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งยังมีน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมของภาคอุตสาหกรรม SMEs คิดเป็นร้อยละ 95 ของ SMEs ของประเทศ และมีการจ้างงานทั้งหมดถึงร้อยละ 50

.
ปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญที่จะให้ความร่วมมือกันพัฒนา SMEs ของประเทศให้มีความก้าวหน้าพัฒนาเข้าสู่ระดับสากลได้ แต่ที่ผ่านมาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิสากิจ เศรษฐกิจและสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายประการ เช่น
.

1. ทำให้วิสาหกิจขนาดขนาดกลางและขนาดย่อมต่างก็ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มที่เป็น SMEs โดยเฉพาะกิจการที่มีขนาดย่อม ต้องชะลอ หยุด หรือปิดกิจการเป็นจำนวนมาก เกิดปัญหาการว่างงานของประชากรและปัญหาสังคม ความยากจนในการดำเนินชีวิตของคนงานและครอบครัวตามมา

2. ทำให้เกิดผู้ว่างงาน โดยเฉพาะบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ เสียโอกาสในการทำงาน หรือหางานทำไม่ได้ ก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและการลงทุนทางการศึกษา ทั้ง ๆ ที่บางท่านเรียนจบสำเร็จถึงระดับการศึกษาปริญญาโท แต่ก็ยังไม่สามารถหางานได้ตามความเหมาะสมกับการศึกษาของตนที่ได้สำเร็จมา

3. ทำให้ประเทศชาติขาดรายได้จากภาษีอากรที่จะนำมาใช้พัฒนาประเทศ เพราะประชาชนและวิสาหกิจส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง

.
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้นที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ประกอบกับบทบาทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้ภาครัฐพยายามที่จะสร้างมาตรการ ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมอบหมายนโยบายที่สำคัญให้กับหน่วยงาน ที่มีหน้าที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนา SMEs
.

จากรายงานในมาตรการของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยเรื่องของ ยุทธศาสตร์และมาตรการเสริมสร้าง SMEs ไทย กล่าวว่า SMEs ส่วนใหญ่ยังมีความอ่อนด้อยในเชิงประกอบการ ไม่ว่าความอ่อนด้อยด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการ และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ การผลิตยังขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากผลิตภาพการผลิต (Productivity) ต่ำ ผลผลิตที่ได้มีมูลค่าเพิ่มต่ำ นอกจากนั้น SMEs ยังขาดความพร้อมที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่สามารถเข้าถึงตลาดในวงกว้าง ต้องพึ่งพากิจการขนาดใหญ่กว่า ยังขาดความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology        : ICT) ฯลฯ ขณะเดียวกันกระแสเศรษฐกิจเสรีทั้งด้านการลงทุน การผลิตและการค้า ทำให้ SMEs ไทย ต้องประสบกับภาวะการแข่งขันที่มากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต ทั้งจากประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งเป็นผู้นำในการสร้างมูลค่าเพิ่มและจากประเทศที่มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน แรงงาน และทรัพยากรราคาถูก ในช่วงที่ผ่านมา กิจการ SMEs เกิดขึ้นและดำรงอยู่จากแรงขับของการลงทุนในกิจการหรือสาขาที่มีความได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติและการใช้แรงงานราคาถูก

แต่ในโลกเศรษฐกิจเสรีที่มีการแข่งขันด้านการลงทุน การค้าและการบริการ และเป็นโลกที่กำลังปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) การขับเคลื่อนที่ทรงประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยฐานความรู้ ตลอดจนสติปัญญาและขีดความสามารถของผู้ประกอบการที่จะต้องสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เกิดผลิตภาพ (Productivity) ที่เพิ่มขึ้น เกิดนวัตกรรม ตลอดจนมีความสามารถเข้าถึงตลาดแหล่งทุน  และการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

 .

เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามมีนโยบายอย่างชัดเจนในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs   โดยถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ด้วยการสร้างฐานผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ประกอบการอาชีพอิสระใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยเหลือพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เดิมที่มีศักยภาพให้อยู่รอด ทั้งระดับ SMEs ทั่ว ๆ ไป และ SMEs ที่เป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ SMEs ทั้งสองกลุ่มเกิดขึ้น ดำรงอยู่และเจริญก้าวหน้าช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยอันจะทำให้สัดส่วนจำนวนผู้ประกอบการในประเทศเพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการขยายฐานภาษี สร้างรายได้ให้กับรัฐบาล เพื่อนำมาพัฒนาประเทศต่อไป

การส่งเสริมพัฒนา SMEs ดังกล่าวข้างต้น เป็นการพัฒนาที่ยึดหลักให้ผู้ประกอบการ (Enterpreneur) เป็นตัวนำในการพัฒนา SMEs ทั้งระบบ เนื่องจากผู้ประกอบการเป็นปัจจัยการผลิตที่มีชีวิตและวิญญาณ จึงเป็นผู้ผสมผสานปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ไม่ว่าที่ดิน เงินทุน เทคโนโลยี เครื่องจักรอุปกรณ์ แรงงาน บุคลากร ระบบบริหารจัดการ ฯลฯ เข้าด้วยกัน เพื่อสรรสร้างออกมาเป็นสินค้า หรือบริการสู่ตลาด ดังนั้น ความอยู่รอด ความเจริญเติบโตและก้าวหน้าของกิจการ จึงขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาหรือระดับทักษะ ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ของผู้ประกอบการเป็นหลัก

 .

จากกรอบแนวคิดข้างต้น การพัฒนาผู้ประกอบการ  SMEs ไทย ควรเป็นไป 4 ประเด็นหลัก คือ

1.       ส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการเดิมให้ยกระดับขีดความสามารถของตัวเองและกิจกรรม

2.       สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีพื้นฐานความรู้ให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

3.       ส่งเสริมพัฒนาตามแนวทางข้อ 1 และ 2 ให้ลงลึกถึงระดับรากหญ้าหรือวิสาหกิจชุมชน

4.     บูรณาการการทำงานตามแนวทางข้อ 1, 2 และ 3 ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต การจัดการ การผลิตวัตถุดิบ การตลาด การเงิน การลงทุน ฯลฯ ให้เกื้อกูลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

 .

จากแนวทางของการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถ เพื่อรองรับกับการแข่งขันที่เข้มแข็งในอนาคต โดยจะต้องมีแผนที่ชัดเจนในการพัฒนา SMEs ผู้เขียนได้ทราบถึง จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ยุทธศาสตร์การพัฒนา SMEs เมื่อวันที่ 8-9 มิถุนายน 2544 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนา SMEs ในรูปองค์รวม 4 ยุทธศาสตร์ คือ

1.       ยุทธศาสตร์การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation)

2.       ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเศรษฐกิจชุมชนสู่เศรษฐกิจโลก (Global Local Link)

3.       ยุทธศาสตร์การเกาะกลุ่มและเชื่อมโยงธุรกิจ (Industry Clustering)

4       ยุทธศาสตร์สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย (Enabling Environment)

 .

โดยวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์ของการพัฒนา SMEs ต้องการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ที่ SMEs ที่สามารถทำให้เกิดเป็นสินค้าได้ เนื่องจากที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะสร้างมูลค่า เป็นตัวเงินได้มากนักเท่าไหร่ จำเป็นต้องมีการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้มากกว่านี้ถึงจะทำให้ การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ การเพิ่มผลิตภาพการผลิตและการทำงาน การเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการพึ่งพาตนเองทั้งด้านการผลิต การจัดการ และการตลาด

 .

จากทั้งกรอบแนวคิดการพัฒนา และยุทธศาสตร์การพัฒนาดังกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่ต้องการให้พยายามเชื่อมโยงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยจากยุทธศาสตร์การเกาะกลุ่มและเชื่อมโยงธุรกิจ (Industry Clustering) เป็นสิ่งที่น่าทำการศึกษา และร่วมมือกันของภาคอุตสาหกรรมไทย ลองมาดูแนวคิดนี้กันครับ

 .

แนวความคิดของ Industry Clustering คือ ความพยายามที่จะสร้างกลุ่มของอุตสาหกรรมในสาขาหนึ่ง ๆ ให้สามารถส่งเสริม สนับสนุน พร้อมทั้งการพัฒนาให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ มีบริษัทแม่ ทำการประกอบรถยนต์ ถือว่าเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายที่สามารถนำออกมาจำหน่ายให้กับผู้ซื้อได้ทันที แต่การที่จะสามารถทำการผลิตให้เป็นสินค้าขั้นสุดท้ายคือตัวรถยนต์นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพันธมิตรของการดำเนินธุรกิจ ในการป้อนสินค้าที่เป็นอะไหล่ที่ใช้สำหรับเป็นส่วนประกอบรถยนต์ ที่สามารถทำการผลิตได้อย่างชำนาญ และมีประสิทธิภาพได้มากกว่าบริษัทที่ทำการประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายนี้ การร่วมมือกันอย่างนี้ถือว่าเป็นการแบ่งงานกันทำ ทำด้วยเนื่องจากว่า เมื่อบริษัทผู้ประกอบรถยนต์ทำการผลิตสินค้า อะไหล่ สำหรับการประกอบเป็นรถยนต์แต่เพียงผู้เดียว ก็จะไม่เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และการลงทุนให้เกิดขึ้นในประเทศในการที่จะเข้ามาตั้งโรงงาน เพื่อมารองรับกับการดำเนินธุรกิจนี้

.

ตัวอย่าง Cluster กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

จากตัวอย่างของการเกาะกลุ่มเชื่อมโยงธุรกิจนี้ มุ่งที่จะสร้างธุรกรรมการผลิตรถยนต์สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การสามารถที่จะจัดหาชิ้นส่วนที่ทางบริษัทผู้ประกอบรายใหญ่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐานตามที่ได้กำหนดไว้ สามารถผลิตรถยนต์ที่ได้มาตรฐานที่ได้ทำการทดสอบไว้ เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความเข้มแข็ง อันเป็นผลมาจากว่า
.

1.การประหยัดทั้งภายในและภายนอก

การรวมกลุ่มทางพันธมิตรธุรกิจสามารถทำให้เกิดความคล่องตัวในการประกอบการบนธุรกิจรถยนต์ เนื่องจากว่า บริษัทผู้ประกอบรถยนต์ ผู้ผลิตรายใหญ่สามารถทำการสั่งซื้อสินค้าที่ใช้เป็นอะไหล่ ในการประกอบรถยนต์ โดยมีมาตรฐานของอะไหล่ที่ทางบริษัทผู้ผลิตรถยนต์กำหนดไว้ ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด ๆ ก็ตาม ซึ่งเมื่อไม่มีการรวมกลุ่มในการผลิตสินค้าที่ใช้เป็นอะไหล่ในการประกอบรถยนต์ โดยผู้ผลิตจะอยู่ต่างประเทศ ก็จะต้องทำการสั่งซื้ออะไหล่เหล่านี้ ในต่างประเทศทำให้เสียต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มเติม ปัญหาในการส่งอะไหล่ล่าช้า ปัญหาอะไหล่ที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานซึ่งต้องส่งกลับคืนให้ผู้ผลิต ปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น แต่เมื่อมีการรวมกลุ่มในการผลิตที่ตั้งโรงงานในประเทศ ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นจะสามารถแก้ไขได้ และทำให้การประกอบการมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก

.
การผลิตของบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ที่ไม่ต้องลงทุนในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน จะสามารถประหยัดเงินทุนในการก่อตั้งโรงงานผลิต การจัดตั้งสำนักงาน ฯลฯ ซึ่งต้องใช้ต้นทุนในการลงทุนอย่างมหาศาลเป็นอย่างมากเมื่อมีการลงทุนที่จะทำการผลิตรถยนต์ที่มีการผลิต ชิ้นส่วน อะไหล่รถยนต์ทุกขั้นตอน ซึ่งการประกอบธุรกิจมาตรการการแบ่งความเสี่ยงของการลงทุนจะต้องมีอยู่ในแนวทางการบริหารของผู้ประกอบการสมัยใหม่ที่จะต้องคำนึงถึงในปัจจุบัน ในการบริหารธุรกิจสมัยใหม่
.
เหตุผลเพิ่มเติมของการรวมกลุ่มของพันธมิตรธุรกิจสามารถที่จะช่วยกันหาตลาดและแบ่งสรรกันด้วย เนื่องจากว่า การหาตลาดของผู้ซื้อรถยนต์ หรือไม่ว่าเป็นธุรกิจใดก็ตามถือว่ากลุ่มจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อบริษัทใหญ่สามารถสร้างตลาดได้ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศก็จะทำให้เกิดรายได้ขึ้นในวงจรของกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ก็จะสั่งอะไหล่นั้นเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการสั่งซื้อรถยนต์จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และนอกเหนือจากนั้นยังสามารถที่จะสร้างดุลการค้าระหว่างประเทศ ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นอีกด้วย
.

2.การมีความชำนาญเฉพาะอย่าง

เป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายในการบริหารธุรกิจโดยภาพรวม ในเรื่องของการพัฒนาทักษะความชำนาญเฉพาะด้านของการประกอบการ ในการแบ่งงานกันทำในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน สามารถทำการผลิตสินค้า ชิ้นส่วน อะไหล่ วัตถุดิบ ที่ใช้ในการผลิตสินค้า การมุ่งที่จะทำการพัฒนาสินค้าที่เป็นส่วนสนับสนุนให้มีการผลิตสิ้นค้าขั้นสุดท้าย ทำให้ธุรกิจนี้พยายามที่จะพัฒนาการผลิตสิ้นค้าของตนให้สามารถสนองความต้องการของลูกค้า โดยมุ่งที่คุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งการมุ่งที่จะพัฒนาสินค้านี้ให้มีคุณภาพจะทำให้บริษัทนั้น สามารถที่จะสะสมและสร้างความชำนาญเฉพาะด้านให้กับบริษัทให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงกว้าง เกิดผลดีต่อกลุ่มพันธมิตรธุรกิจด้วย

รูปภาพแสดงการมีความชำนาญเฉพาะอย่าง สามารถสร้างกลุ่มพันธมิตรธุรกิจให้เข้มแข็งได้

 

3.กระบวนการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

 

 

การรวมกลุ่มพันธมิตรธุรกิจสามารถที่จะสร้างให้เกิดการร่วมมือกันที่จะกระจายสินค้าให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และกระบวนการกระจายสินค้าเกิดระบบที่ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพของกระบวนการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 .
ฉะนั้นท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า การที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs นั้นมิใช่เพียงแต่ท่านจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ผลกำไรเพียงฝ่ายเดียว โดยภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมไม่เกิดการขยายด้านประสิทธิภาพทั้งหมด การที่จะช่วยให้การประกอบธุรกิจในภาพรวมให้สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือทั้งภาครัฐ จากหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา SMEs และภาคธุรกิจซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบการ จะต้องช่วยกัน โดยในยุทธศาสตร์การเกาะกลุ่มและเชื่อมโยงธุรกิจ (Industry Clustering) ก็ถือเป็นวิธีทางหนึ่งที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจ SMEs เป็น แนวคิดนี้ ถือว่าเป็น การบูรณาการการทำงาน เพื่อการที่จะส่งเสริมพัฒนา SMEs นั้นคือ การดำเนินงานมาตรการส่งเสริม SMEs นั้น จำเป็นจะต้องประสานการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดประสานเกื้อกูลในทิศทางเดียวกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขณะเดียวกันการดำเนินการจะต้องให้สอดรับกันระหว่างมาตรการต่าง ๆ และนโยบายด้วย อาทิเช่น การที่ภาครัฐได้ออกมาตรการด้านการเงิน ควรจะให้รับการเสริมด้วยมาตรการด้านเทคโนโลยี หรือมาตรการด้านพัฒนาการจัดการ หรือมาตรการส่งเสริมการตลาด ขณะเดียวกันมาตรการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการควรจะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการด้านการเงิน มาตรการด้านการลงทุน หรือมาตรการด้านการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น หากสามารถประสานโครงการในมาตรการต่าง ๆ และประสานการทำงานของหน่วยงานรับผิดชอบให้สนับสนุนซึ่งกันและกันแล้ว การทำงานส่งเสริมพัฒนา SMEs จะมีพลังขับเคลื่อน SMEs ให้เข้มแข็ง เจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน
 .
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนขอเล่าต่อ เพื่อเสริมการที่จะมีการใช้แนวคิดของ การเกาะกลุ่มและเชื่อมโยงธุรกิจ (Industry Clustering) จากการที่นักวิชาการชื่อดังของประเทศมหาอำนาจ อย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อ Mr.Michale E Porter นักวิชาการที่มีประสบการณ์จากการสั่งสมมานาน ได้ตกผลึกทางด้านความคิดจนเกิดเป็นงานเขียนที่มีชื่อเสียง เช่น Competitive Advantage of Nation และ Competitive Strategic ได้สรุปในการบรรยายเกี่ยวกับ ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องทำการร่วมมือกันที่จะพัฒนาร่วมกัน เรียกว่า วาระแห่งชาติ (Nation Agenda) ได้แก่
 .

1.       ภาครัฐและภาคเอกชนต้องมีการปฏิวัติเพื่อยกระดับมาตรฐานการประกอบธุรกิจ เพื่อเร่งให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้เกิดขึ้น

2.       รัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมการประสานในภาคธุรกิจให้เกิด Cluster ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางด้านอุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมสนับสนุน

3.       ต้องมีการเร่งการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระดับองค์กรและระดับหน่วยงาน

4.       ภาครัฐและภาคเอกชนต้องเดินหน้าไปด้วยเป้าหมายเดียวกัน ทั้งด้านนโยบาย และความร่วมมือ ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา เพื่อการเพิ่มผลผลิตให้เกิดขึ้นในประเทศ

5.        การกระจายอำนาจของภาครัฐไปสู่ การบริหารงานแบบท้องถิ่นให้ทั่วถึง เพื่อให้เกิดการสร้างพลังงานด้านการทำงานที่แท้จริง

6.       ต้องสร้างกลุยทธ์พันธมิตรกับประเทศเพื่อบ้านให้เข้มแข็ง

 .

จากการนำเสนอของ Mr.Michale E Porter เพื่อที่จะให้ทางรัฐบาลไทยกำหนดไว้เป็น วาระแห่งชาติ (Nation Agenda) ในการพัฒนาประเทศ ก็ได้มีแนวคิดของการเกาะกลุ่มและเชื่อมโยงธุรกิจ (Industry Clustering) ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวาระที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เป็นพื้นฐานของการพัฒนา SMEs ของประเทศไทยให้เกิดความเข้มแข็ง และสามารถต่อสู้กับการแข่งขันทางการค้าในระดับโลกที่มีความซับซ้อนยิ่งนักในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด