เนื้อหาวันที่ : 2006-09-05 13:37:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 13235 views

ความว่องไวและการสนองตอบต่อโซ่อุปทาน

ในสภาพอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกวันนี้ ความร่วมมือระหว่างกันตั้งแต่การเตรียมและจัดส่งวัตถุดิบ จนถึงการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายและส่งมอบให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ การบริหารงานโดยไม่คำนึงถึงผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ร่วมธุรกิจหรือแม้แต่คู่แข่งขัน จะทำให้การจัดการและการอยู่รอดในธุรกิจเป็นไปได้ยาก

ในสภาพอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นทุกวันนี้ ความร่วมมือระหว่างกันตั้งแต่การเตรียมและจัดส่งวัตถุดิบ จนถึงการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายและส่งมอบให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญ การบริหารงานโดยไม่คำนึงถึงผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ร่วมธุรกิจหรือแม้แต่คู่แข่งขัน จะทำให้การจัดการและการอยู่รอดในธุรกิจเป็นไปได้ยาก ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดการบริหารอุตสาหกรรมโดยรวมหรือโซ่อุปทาน(Supply Chain) ซึ่งเป็นมุมมองการบริหารการผลิตโดยมิได้แบ่งแยกองค์กร หากแต่คำนึงถึงการไหลของวัสดุและการไหลแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยรวม ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงผลิตภัณฑ์ที่จัดส่งให้ลูกค้า ในโซ่อุปทานนี้ อาจประกอบด้วยองค์กรหลายองค์กร หากแต่จะถูกมองว่าเป็นการทำงานภายใต้องค์กรเดียวกันและมีวัตถุประสงค์โดยรวมอันเดียวกัน 

.

.

Supply Chain Management (SCM) หรือการบริหารโซ่อุปทาน จึงเป็นแนวคิดเชิงกลยุทธ์ที่ทุก ๆ ธุรกิจให้ความสนใจ โดยเน้นถึงหลักการความร่วมมือทั้งการวางแผนและการจัดการ โดยมีเป้าหมายและผลประโยชน์ร่วมกัน และทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

.

คำว่า มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมิได้หมายถึงแค่คุณภาพหรือต้นทุนอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่มีความเร็วและความต้องการของลูกค้า เข้ามาเป็นปัจจัยหลักในการบริหารจัดการโซ่อุปทาน ยิ่งไปกว่านั้นความเร็วในที่นี้มิได้หมายถึงแค่เวลาหรืออัตราความเร็วในการผลิต หากแต่ยังรวมไปถึง ความไวต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโซ่อุปทานประกอบกับการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโซ่อุปทานนี้ ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการบริหารโซ่อุปทานและรวมไปถึงความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นภายในระบบเองหรือความไม่แน่นอนของความต้องการของลูกค้า บทความนี้จะนำเสนอถึงหลักการใหม่ที่เข้ามามีส่วนจัดการต่อการตอบสนองได้อย่างรวดเร็วและทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในโซ่อุปทาน นั่นคือ Quick Response การตอบสนองอย่าง

.

การตอบสนองอย่างรวดเร็ว(Quick Response : QR)

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าโซ่อุปทานคือการทำงานร่วมมือกันระหว่างผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้จัดส่ง ผู้ขายปลีกและลูกค้า หลักการ QR มิใช่เป็นเพียงแค่การเพิ่มความเร็วและลดเวลานำของกิจกรรมในโซ่อุปทานดังกล่าว หากแต่รวมถึงการบริหารความเร็วโดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าที่ปลายโซ่อุปทานเป็นตัวบ่งชี้ด้วย QR จะทำให้โซ่อุปทานสามารถตอบสนองอย่างรวดเร็วซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้นจะขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรในโซ่อุปทาน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและยึดถือร่วมกันระหว่างพันธมิตรคือ

.

          - การใช้แหล่งข้อมูลร่วมกันโดยไม่มีข้อปิดบังใดๆระหว่างกัน 

          - การมีเป้าหมายการบริหารร่วมกัน 

          - การพัฒนาความเชื่อถือระหว่างกัน 

          - การจัดตั้งข้อตกลงการทำงานร่วมกัน

.

การที่พันธมิตรในโซ่อุปทานสามารถทำงานร่วมกันได้ตามนี้จะทำให้เกิดความคล่องตัวและความเร็วในการทำงาน ข้อมูลความต้องการของลูกค้าสามารถส่งผ่านมายังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว การทำงานจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดการตอบสนองอย่างรวดเร็วในองค์กรและระหว่างองค์กรได้ หากแต่ละองค์กรที่เป็นพันธมิตรกันในโซ่อุปทานนั้นควรจะเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้

.

     1. การเตรียมข้อมูลที่จะใช้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานซึ่งรวมถึง 

          - ยอดขาย/ ยอดพยากรณ์การขาย 

          - ยอดสั่งซื้อของลูกค้า/ ความต้องการของลูกค้า 

          - การตัดสินใจต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงานจำเป็นต้องให้ฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องทราบโดยทันที 

     2. การเตรียมความพร้อมด้านความเร็วในการไหลของข้อมูลและการนำเทคโนโลยีในการจัดการข้อมูลและการจัดการระบบมาใช้ เช่น Electronic Data  Interchange (EDI), Manufacturing Resource Planning (MRPII), Enterprise Resource Planning (ERP) เป็นต้น

     3. ความสามารถของระบบทั้งด้านการบริหารการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยี 

     4. การเตรียมแรงงานและวัตถุดิบให้พอเพียงต่อความต้องการของลูกค้า

     5. การได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร

.

นอกจากนี้แล้วความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการตอบสนองอย่างรวดเร็วนั้นควรจะได้รับการพัฒนาทั้งในด้านการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งอาจจะเป็นทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อสื่อสารแบบ Real Time และการทำงานร่วมกันระหว่างลูกจ้างในบริษัทพันธมิตร ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทผู้จัดส่งวัตถุดิบในโซ่อุปทานควรจะได้รับข้อมูลการขายจากบริษทผู้ผลิตเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ ในทางตรงข้ามบริษัทผู้จัดส่งวัตถุดิบก็ควรจัดส่งวัตถุดิบให้ตรงเวลาที่กำหนดอย่างแม่นยำ ความร่วมมือระหว่างกันนี้ควรจะได้รับการตกลงตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันแบบ Win/Win Partnership

.
ความไวต่อการเปลี่ยนแปลง (Agility)

Agility หมายถึง ความไวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆในโซ่อุปทานความไม่แน่นอนต่างๆ(Uncertainties)นั้นเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นได้ในโซ่อุปทานและยังสามารถเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การบริหารโซ่อุปทานล้มเหลวได้ หลักการนี้จะกล่าวถึงการบริหารโซ่อุปทานให้เกิดความไวต่อการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนต่างๆซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 2 แนวคิด คือ

.

          - การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งที่คาดหวังและไม่ได้คาดหวัง

          - การใช้การเปลี่ยนแปลงนั้นให้เป็นโอกาสในการชนะคู่แข่งได้

.

Zhang และ Sharifi (2000)1 กล่าวว่าในองค์กรต่างกัน ความไม่แน่นอนจะเกิดขึ้นต่างๆกันไป และเกิดผลกระทบต่อระบบต่างกัน ดังนั้นจึงต้องการความสามารถในการตอบสนองต่างกันไปด้วย ในการสร้าง Agility ขึ้นในโซ่อุปทานนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า Agility มีส่วนประกอบอยู่ 3 ส่วนคือ Agility Drivers, Agility Capabilities และ Agility Providers ดังแสดงในรูปที่ 1

.

รูปที่ 1 Agility Conceptual Model

.

Agility Drivers

หมายถึง ความไม่แน่นอนหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและเป็นตัวขับดันที่ทำให้ระบบหรือโซ่อุปทานต้องให้ความสนใจเพื่อจะรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ Agility Drivers นี้อาจเกิดได้ทั้งในเชิงรุก (Proactive) และเชิงรับ (Reactive) ในเชิงรุกนั้นจะเป็นตัวขับดันที่ใช้การเปลี่ยนแปลงนั้นให้เกิดโอกาสในการแข่งขัน ส่วนในเชิงรับนั้นเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับไว

.
ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจนั้นก่อให้เกิด Agility Drivers ได้จากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังนี้

          1. ปัจจัยทางการตลาด ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างการตลาด ความต้องการของตลาด ส่วนแบ่งตลาด ราคาสินค้า วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ และความสามารถในการซื้อของผู้บริโภค

          2. ปัจจัยทางการแข่งขัน เช่น ความสามารถของคู่แข่ง สภาพแวดล้อมทางการแข่งขัน ความสามารถในการตอบสนองของคู่แข่งขัน เป็นต้น

          3. ปัจจัยความต้องการของลูกค้า เช่น ความต้องการการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า ความคาดหวังของลูกค้าในด้านราคา คุณภาพ หรือเวลาการจัดส่ง เป็นต้น

          4. ปัจจัยทางด้านเทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การแนะนำสินค้าหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นต้น

          5. ปัจจัยทางสังคม เช่น กฎหมาย นโยบายของรัฐ สภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น

          6. ปัจจัยความซับซ้อนในระบบ เช่น จำนวนผลิตภัณฑ์ ความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ความซับซ้อนของการออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

.
Agility Capabilities

คือ ความสามารถที่โซ่อุปทานใช้ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนอย่างฉับไวได้ซึ่งสามารถสรุปได้เป็น 4 ส่วน คือ Responsiveness, Competency, Flexibility และ Speed

.

1. Responsiveness คือความสามารถที่จะตอบสนองต่อตัวกระตุ้นต่างๆที่เกิดขึ้นโดยมุ่งเน้นที่เป้าหมาย ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในส่วนต่อไป ในที่นี้ Responsiveness คือส่วนหนึ่งของ Agility capabilities

.

2. Competency เป็นความสามารถที่จะทำให้องค์กรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่น การมีวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์, การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม, คุณภาพของผลิตภัณฑ์, คุณภาพของผู้ทำงาน, การบริหารการเปลี่ยนแปลง, การแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เสมอ, ความร่วมมือระหว่างกัน, ความเป็นหนึ่งเดียวกันในองค์กร เป็นต้น

.

3. Flexibility เป็นความสามารถที่จะทำงานหลายๆชนิดโดยใช้ทรัพยากรสิ่งเดียวกันได้ Flexibility จะมีความหมายหลายแบบตามลักษณะการทำงาน เช่น ในการผลิตจำนวนที่ต่างกัน, ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการ, ในการเปลี่ยนแปลงองค์กร, ในการปรับเปลี่ยนกำลังการผลิต, บุคลากรที่จะทำงานได้หลายแบบ เป็นต้น

.

4. Speed เป็นความสามารถที่จะทำงานในเวลาที่สั้นที่สุด เช่น ความเร็วของการจัดส่งสินค้า, ความเร็วในการผลิต, ความเร็วในการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นต้น

.
Agility Providers

หมายถึงสิ่งต่าง ๆ ในองค์กรที่สามารถนำมาซึ่ง Agility ได้ ในโซ่อุปทานจะหมายถึง 4 สิ่งหลักคือ องค์กร บุคลากร นวัตกรรม และเทคโนโลยี หากแต่ 4 สิ่งนี้ต้องถูกเชื่อมโยงและรวมเข้าด้วยกันโดยการไหลแลกเปลี่ยนของข้อมูล

.

ในโซ่อุปทานใด ๆ หากต้องการความไวต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงส่วนประกอบทั้ง 3 นี้และเชื่อมโยงเข้าด้วยกันให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของโซ่อุปทานนั้น การบริหารความไวนั้นจะสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือกันในโซ่อุปทานและการวิเคราะห์ปัญหาของความไม่แน่นอนหรือการเปลี่ยนแปลงในโซ่อุปทานนั้น ๆ ดังจะนำเสนอในส่วนต่อไป

.

การตอบสนอง (Responsiveness)

แนวคิด Responsiveness นี้ เกิดขึ้นจากปัญหาที่ว่า อุตสาหกรรมต่างกัน ควรจะมีการบริหาร "ความเร็ว" และ "ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า" ต่างกันอย่างไร จากงานวิจัย Responsiveness of Order fulfillment Processes (Kritchanchai และ MacCarthy, 1999,) พบว่า การนำหลักการสร้างความสามารถในการสนองตอบความต้องการของลูกค้านี้มาใช้ต้องคำนึงถึง

.

          - สิ่งกระตุ้นที่ทำให้อุตสาหกรรมต้องสร้างความสามารถในการสนองตอบ (Stimuli)

          - ความรู้ถึงสิ่งที่มากระตุ้นและหนทางตอบสนองเชิงอุตสาหกรรม (Awareness)

          - การสร้างความสามารถในการสนองตอบเชิงอุตสาหกรรม (Capabilities)

          - เป้าหมายในการสนองตอบ (Goals)

.

อุตสาหกรรมที่มีลักษณะต่างกันนั้นจะมีชนิดและลักษณะของปัจจัย 4 ตัวนี้ต่างกัน สามารถจำแนกอุตสาหกรรมได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ โดยพิจารณาจากลักษณะของโซ่อุปทานและปัจจัยทั้ง 4 เหล่านี้ ลักษณะของโซ่อุปทานที่ต่างกันสามารถแบ่งแยกได้โดย

.

          - ลักษณะของผลิตภัณฑ์ ในแง่ของ Standardised / Customised Product

          - ลักษณะของอุปสงค์ของลูกค้าในแง่ของ Demand Variability

          - การเริ่มต้นการผลิต(Production Triggering) ว่าเป็นการผลิตตามแผนเพื่อเก็บสู่คงคลังหรือเป็นการเริ่มต้นการผลิตเมื่อลูกค้าต้องการเท่านั้น

.
ความคาดหวังของลูกค้า
จากปัจจัยเหล่านี้ สามารถพัฒนาและสร้างกลยุทธ์ในการสร้าง Responsiveness เพื่อบริหาร "เวลา" และ "ความเร็ว" ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมได้ ดังนี้
.
1. อุตสาหกรรมกลุ่มที่ 1

อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้เป็นจำพวกอุตสาหกรรมอาหาร อุปโภคบริโภคต่าง  ๆ ที่มีความต้องการของลูกค้าในสินค้าเชิงองค์ประกอบ (Specifications) อย่างชัดเจน หากแต่ปริมาณความต้องการของลูกค้านี้จะไม่แน่นอน และเป็นตัวที่มากระตุ้นให้อุตสหกรรมต้องสร้างความสามารถในการสนองตอบส่วนเป้าหมายของการสนองตอบคือ การที่มีสินค้าวางขายอย่างต่อเนื่อง (On-shelf) การบริหาร "เวลา" และ "ความเร็ว" ให้เหมาะสมเพื่อสร้าง Responsiveness ในอุตสาหกรรมประเภทนี้ ต้องประกอบด้วย

.

          - การพยากรณ์ความต้องการลูกค้าอย่างแม่นยำ (Forecast Accuracy)

          - การปรับแผนการผลิตผลิตภัณฑ์สุดท้ายอย่างรวดเร็ว (Production Plan Adjustment) ตามความต้องการลูกค้า

          - การจัดแรงงานการผลิตให้พอเพียงตลอดเวลา (Workforce Capacity)

.
2. อุตสาหกรรมกลุ่มที่ 2

อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้แก่ อุตสาหกรรมสินค้าจำเป็น เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซอุตสาหกรรม เป้าหมายที่สำคัญของอุตสาหกรรมกลุ่มนี้คือ การจัดส่งให้ตรงต่อเวลาที่ลูกค้าต้องการ การบริหาร "ความเร็ว" และ "ความสามารถในการตอบสนอง" ที่สำคัญของกลุ่มนี้จะมุ่งเน้นไปที่การจัดส่งสินค้า ให้ตรงต่อเวลาที่ต้องการ ดังนั้นอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จำเป็นที่จะต้องมีวัสดุคงคลังไว้ตลอดเวลา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้โดยทันที เนื่องจากระบบการผลิตของอุตสาหกรรมประเภทนี้โดย ส่วนมากเป็นการผลิตอย่างต่อเนื่อง (continuous flow line) ปัญหาขัดข้องในระบบการผลิตที่จะทำให้วัสดุคงคลังขาดไป นั้นเป็นสิ่งที่ควรพิจารณา เช่น การเสียของเครื่องจักร โดยสรุปแล้ว การบริหาร "เวลา" และ "ความเร็ว" ของอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ควรคำนึงถึง

.

          - การเตรียมวัสดุคงคลังให้เต็มตลอดเวลา

          - ปัญหาการเสียของเครื่องจักร

          - การจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว

.
3. อุตสาหกรรมกลุ่มที่ 3

อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์, การผลิตเสื้อผ้า, ผลิตเหล็กกล้า, ผลิตจักรยาน อุตสาหกรรมกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ แต่จะมีบางสิ่งที่เหมือนกัน คือ สามารถผลิตชิ้นส่วนประกอบเก็บไว้ในคลังได้ จนเมื่อความต้องการของลูกค้าเข้ามาในระบบ จึงสามารถนำมาประกอบได้ตามความต้องการที่ระบุมา เพราะอุตสาหกรรมไม่สามารถทราบองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์สุดท้ายจนกว่าคำสั่งของลูกค้าจะเข้ามาในระบบการบริหาร "เวลา" และ "ความเร็ว" เพื่อจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าในกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพควรคำนึงถึง

.

          - การพยากรณ์ความต้องการชิ้นส่วนประกอบอย่างแม่นยำ

          - การปรับแผนการผลิตรวมทั้งลำดับการผลิตอย่างรวดเร็วภายหลังจากที่ คำสั่งของลูกค้าเข้ามาในระบบ

          - การจัดเตรียมกำลังการผลิตอย่างพอเพียงหรือการเผื่อกำลังการผลิต

          - การจัดลำดับการผลิตรวมทั้งการเข้า/ออกของงานในระบบผลิต(Sequencing/Input output/control)

.
4. อุตสาหกรรมกลุ่มที่ 4

อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรต่าง  ๆ หรือเครื่องจักรอุตสาหกรรมความต้องการของลูกค้าในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ มีความหลากหลายมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ลูกค้าสามารถกำหนดองค์ประกอบต่าง  ๆ ในผลิตภัณฑ์ได้โดยละเอียด อุตสาหกรรมกลุ่มนี้เพียงแค่สามารถเก็บวัตถุดิบไว้ในคงคลังได้เท่านั้น การผลิตต้องรอจนกว่าลูกค้าจะกำหนดองค์ประกอบผลิตภัณฑ์การบริหาร "เวลา" และ "ความเร็ว" เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในกลุ่มนี้ ควรคำนึงถึง

.

          - การใช้เวลาอันรวดเร็วในการออกแบบ/เขียนแบบผลิตภัณฑ์

          - การจัดลำดับงานจากแผนกออกแบบไปสู่ระบบผลิต

          - การวางแผนกำลังการผลิตและการเผื่อกำลังการผลิต

          - การพยากรณ์ชิ้นส่วนที่สามารถใช้ร่วมกันได้กับผลิตภัณฑ์ที่ต่างกัน(Modularity)

.
สรุป

ในปัจจุบันหลักการโซ่อุปทานนั้นยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นทั้งในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ด้วยหลักการแห่งความร่วมมือ แลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลของอุปสงค์และอุปทานทำให้การทำงานมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน มีเป้าหมายการทำงานร่วมกันและทำให้ผลการทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น หากแต่ว่าหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่โซ่อุปทานจำเป็นต้องให้ความสนใจ คือ ความไม่แน่นอน และการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้น บทความนี้จึงได้นำเสนอหลักการใหม่  ๆ ที่ใช้จัดการบริหารตอบสนองต่อความไม่แน่นอนต่าง  ๆ อย่างฉับไว อันเป็นเป้าหมายที่ควรคำนึงถึงในโลกปัจจุบัน QR และ Agility จะเน้นถึงความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อเพิ่มการตัดสินใจอย่างฉับไว Responsiveness จะเป็นหลักการที่เพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาเชิงปฏิบัติมากขึ้นกว่า 2 ทฤษฎีแรกโดยยึดแนวคิดที่ว่า ไม่มีสูตรสำเร็จใดในการแก้ปัญหาโซ่อุปทานได้ทุกสถานการณ์ จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ถึงปัญหา ความสามารถและเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมชาติของธุรกิจและอุตสาหกรรม จากนั้นจึงจะสามารถพัฒนาความสามารถในการตอบสนองให้ตรงส่วนและตรงกับปัญหาของระบบนั้น    

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด