เนื้อหาวันที่ : 2006-08-18 11:17:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 14180 views

การจัดการพลังงานในอุตสาหกรรมเหล็ก

อุตสาหกรรมผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเหล็ก จัดเป็นอุตสาหกรรมหนัก ใช้พลังงานมาก มีสัดส่วนต้นทุนพลังงาน 20% ของต้นทุนการผลิต มีค่าพลังงานเดือนละ 10-20 ล้านบาท หรือปีละ 100-200 ล้านบาท ถ้าลดต้นทุนพลังงานเพียงแค่ 1% ก็ได้ 10 ล้านบาทต่อปีแล้ว การจัดการพลังงานในอุตสาหกรรมเหล็กจึงน่าสนใจ

อุตสาหกรรมผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเหล็ก จัดเป็นอุตสาหกรรมหนัก ใช้พลังงานมาก มีสัดส่วนต้นทุนพลังงาน 20% ของต้นทุนการผลิต มีค่าพลังงานเดือนละ 10-20 ล้านบาท หรือปีละ 100-200 ล้านบาท ส่วนบางแห่งใช้พลังงานเกือบ 100 ล้านบาทต่อเดือน หรือ ปีละ 1,000 กว่าล้านบาทเลยทีเดียว ถ้าลดต้นทุนพลังงานเพียงแค่ 1% ก็ได้ 10 ล้านบาทต่อปีแล้ว การจัดการพลังงานในอุตสาหกรรมเหล็กจึงน่าสนใจ

.

กระบวนการผลิต

โรงงานผลิตเหล็กในประเทศไทยจัดเป็นโรงงานขนาดเล็ก (Mini Mill) เนื่องจากไม่ได้ถลุงแร่เหล็ก แต่ผลิตเหล็กจากการหลอมเศษเหล็ก (Scrap) ในเตาหลอมไฟฟ้า ส่วนผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเหล็ก ก็ได้จากการอบเหล็กแท่งให้ร้อนตามต้องการแล้วผ่านกรรมวิธีขึ้นรูปเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ตามต้องการ รูปที่ 1 แสดงขั้นตอนการผลิตเหล็กอย่างง่าย

รูปที่ 1 กระบวนการผลิตเหล็ก

 
กระบวนการผลิตเหล็ก แบ่งเป็นขั้นตอนหลัก ดังนี้

1.การเตรียมวัตถุดิบ

2.การหลอม

3.การหล่อ

4.การขึ้นรูป

 
1.การเตรียมวัตถุดิบ

เนื่องจากวัตถุดิบเป็นเศษเหล็กได้มาจากหลายแหล่ง ทำให้ขนาดและคุณภาพแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียม ก่อนป้อนเข้าเตาหลอม เพราะถ้าหากเตรียมไม่ดีก็จะสิ้นเปลืองเศษเหล็กในการหลอมแต่ละรอบ และยังทำให้ต้องใช้เวลาในการหลอมแต่ละรอบนานขึ้น ผลิตภาพลดลง 

 

เศษเหล็กจะถูกผสมกับอัลลอยด์ และอัดให้แน่นและใช้โอเวอร์เฮดเครนชนิดแม่เหล็ก ดูดเศษเหล็กไปป้อนใส่เตาหลอมอาร์กไฟฟ้า (Electric Arc Furnace หรือ EAF) หรือถ้าการจัดการการผลิตเหมาะสม อาจจะนำเศษเหล็กไปเข้าถังอุ่นเศษเหล็กด้วยไอร้อนจากเตาหลอม (Scrap Preheater) ก่อนจะนำไปเข้าเตาหลอม

 

รูปที่ 2 การอุ่นเศษเหล็กด้วยไอร้อนจากเตาหลอม

 

2. การหลอม

เศษเหล็กจะถูกหลอมในเตาหลอมอาร์กไฟฟ้า ดังรูปที่ 3 จนได้คุณสมบัติตามที่ต้องการ เตาหลอมอาร์กไฟฟ้าได้รับไฟฟ้ากระแสสลับกำลังสูงผ่านทางสายไฟฟ้าที่ระบายความร้อนด้วยน้ำ มายังแท่งคาร์บอนอิเล็กโทรด ทำให้เกิดอาร์กไฟฟ้าที่อุณหภูมิสูง 3,600-10,500 °C เศษเหล็กถูกหลอมอย่างรวดเร็ว

 

 

รูปที่ 3 เตาหลอมอาร์กไฟฟ้า

 

ในช่วงการหลอม หัวเผา Oxy Fuel ที่ใช้น้ำมันกีโรซีน (Kerosene) เป็นเชื้อเพลิงจะให้ความร้อนเพิ่มเติมเพื่อช่วยหลอมเศษเหล็กในบริเวณที่อาร์กไฟฟ้าหลอมไม่ทั่วถึง (Cold Spot) ดังรูปที่ 4 อาจจะป้อนเศษเหล็กครั้งที่ 2, 3 หลังจากหลอมแล้วหัวเผา Oxy Fuel หยุดทำงาน ทำการตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนโดยการสุ่มตัวอย่างเหล็กหลอม ถ้าเปอร์เซ็นต์คาร์บอนต่ำ ก็จะเติมคาร์บอนโดยเครื่องฉีดคาร์บอน แต่ถ้าเปอร์เซ็นต์คาร์บอนสูง ก็จะเติมออกซิเจนโดยเครื่องพ่นออกซิเจน การเติมออกซิเจนลงในเตาหลอมโดยใช้เครื่องพ่นออกซิเจน (Oxy Lancer) ช่วยเพิ่มปฏิกิริยาการออกซิเดชั่น ออกซิเจน 14 Nm3/ตันเหล็กแท่ง และเชื้อเพลิง 2-4 ลิตร/ตันเหล็กแท่ง จะช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้หลอม 50 kWh/ตันเหล็กแท่ง และลดเวลาการหลอมได้ 10-15 นาที

 

ตาหลอม ๆ เศษเหล็กจนอุณหภูมิเหล็กหลอมสูงถึง 1,560 °C ทำการสุ่มตัวอย่างเหล็กหลอมเพื่อตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีโดยสเปกโตโฟโต้มิเตอร์และเติมสารประกอบอัลลอยด์ เช่น FeMn CaO เพื่อแยกซัลเฟอร์ ต่อจากนั้นรอจนอาร์กไฟฟ้าเพิ่มอุณหภูมิเหล็กหลอมจนถึง1,620 °C แผ่นฟิล์มออกซิเดชั่น หรือสแลก (Slag) จะลอยขึ้นที่ผิวของเหล็กหลอมจึงทำการถูกถ่ายทิ้ง จากนั้นหลอมต่อจนได้อุณหภูมิ 1,670°C ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่ต้องการแล้ว จึงเอียงเตาหลอมเพื่อเทเหล็กหลอมไปยังถังถ่ายเหล็กหลอม Ladle เรียกระยะเวลาตั้งแต่เตรียมเตาหลอมจนถึงเทเหล็กหลอมว่า เวลา Tap-to-Tap ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลา 45-75 นาที ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพเตาและวิธีการควบคุมอุณหภูมิเศษเหล็กที่เข้าเตาหลอม

 

 

รูปที่ 4 หัวเผา Oxy Fuel ให้ความร้อนเสริม

                           

ถังถ่ายเหล็กหลอม Ladle ใช้สำหรับเป็นภาชนะเพื่อใช้ปรุงแต่งคุณสมบัติเหล็กหลอม ถังถ่ายเหล็กหลอมจะถูกอุ่นให้ร้อนด้วยหัวเผาใช้เชื้อเพลิงก่อนที่จะไปรับเหล็กหลอมจากเตาหลอม เพื่อลดความร้อนสูญเสียของเหล็กหลอมและลดเวลาในการหลอม ช่วยเพิ่มผลิตภาพ เมื่อถังเหล็กหลอมรับเหล็กหลอมจากเตาหลอมแล้วจากนั้นก็เคลื่อนย้ายถังถ่ายเหล็กหลอมไปตำแหน่งเพื่อเตรียมหล่อเหล็กในขั้นตอนก่อนการหล่อเหล็กมีการเติม N2 และคนให้เนื้อเหล็กหลอมเข้ากันเป็นเนื้อเดียว อุณหภูมิเดียวกัน ดังรูปที่ 5

 

 

รูปที่ 5 การถ่ายเหล็กหลอม

 

3.การหล่อ

เหล็กหลอมจะถูกปล่อยเข้าเครื่องหล่อทีละน้อยอย่างต่อเนื่องโดยมีถาด Tundish ที่ผ่านการอุ่นให้ร้อนแล้ว คอยควบคุมความเร็วในการหล่อให้คงที่ จะได้เหล็กแท่ง โดยอุณหภูมิเหล็กแท่งที่ออกจากเครื่องหล่อประมาณ 900°C ปล่อยให้เย็นจนมีอุณหภูมิ 600°C นำไปขึ้นรูปทันทีหรือเก็บไว้ในสต็อกเพื่อไว้ใช้ต่อไป

 
4. การขึ้นรูป

เหล็กแท่งจากการหล่อจะถูกนำไปอบให้ร้อนในเตาอบเหล็กแท่ง (Reheat Furnace) ที่อุณหภูมิ 1,050-1,150  ° เมื่อได้เหล็กแท่งร้อนแล้วจึงนำไปรีด จากนั้นขึ้นรูปโดยแยกกรรมวิธีตามชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ เช่นเหล็กเส้น เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เป็นต้น

 

ซึ่งจากกระบวนการผลิตข้างต้น คล้ายกับการปรุงซุปนั่นเอง ซุปจะอร่อยหรือไม่อร่อย จะเปลืองเชื้อเพลิงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเตรียมอาหาร เครื่องปรุง ปริมาณการใส่เครื่องปรุง กรรมวิธีการปรุง ระยะเวลา มีการชิมในขณะปรุง ปรุงเสร็จนำไปตกแต่งเพื่อเป็นเมนูอาหารตามต้องการหรือเอาไปเก็บไว้ก่อนแล้วนำมาอุ่นให้ร้อนเมื่อต้องการใช้ เหมือนกับการผลิตเหล็กที่ต้องมีการเตรียมเศษเหล็กให้เหมาะสม การใส่เศษเหล็กลงไปในเตา การเพิ่มเชื้อเพลิง ระยะเวลาการหลอม มีการสุ่มตรวจสอบในขณะหลอม หลอมเสร็จเอาไปขึ้นรูปเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ตามต้องการหรือเก็บไว้ก่อนแล้วนำมาอุ่นในเตาอบเหล็กให้ร้อนเมื่อต้องการใช้

 

การใช้พลังงาน

ต้นทุนพลังงานมีสัดส่วนประมาณ 20% ของต้นทุนการผลิต ส่วนต้นทุนอื่น ๆ ประกอบด้วยค่าวัตถุดิบหรือเศษเหล็ก 67% ค่าอิเล็กโทรด 8% ค่าฉนวนเตา 2% ค่าแรง 3% การใช้พลังงานแบ่งออกเป็นพลังงานไฟฟ้า 60% สำหรับเตาหลอม การหล่อ และกระบวนการขึ้นรูป พลังงานความร้อน 40% จากการใช้เชื้อเพลิง น้ำมันเตา น้ำมันกีโซลีน หรือก๊าซธรรมชาติ สำหรับเตาอบเหล็ก และสำหรับหัวเผาให้ความร้อนเสริมในเตาหลอมและหัวเผาอุ่นถังถ่ายเหล็กหลอม Ladle และหัวเผาถาด Tundish ถ้าแบ่งตามเครื่องจักรแล้ว เตาหลอมอาร์กไฟฟ้าเป็นเครื่องจักรที่ใช้พลังงานมากที่สุด รองลงมาคือเตาอบเหล็ก โรงขึ้นรูป ถังถ่ายเหล็กหลอม ถาด Tundish และเครื่องหล่อ ตามลำดับ ดังแสดงใน รูปที่ 6

 

รูปที่ 6 การไหลของพลังงาน

 
การจัดการพลังงาน

นอกจากมาตรการจัดการพลังงาน เช่น อุ่นเศษเหล็ก ใช้หัวเผา 3 หัวในเตาหลอม อุ่นถังถ่ายเหล็กหลอม ถาด Tundish หัวเผาชนิดนำความร้อนจากไอเสียมาอุ่นอากาศ (Self Recuperative Burner) ซึ่งมีการปฏิบัติอยู่แล้วก็ยังมีศักยภาพในการจัดการพลังงาน ดังนี้

 
การควบคุมคุณภาพของเศษเหล็ก

เศษเหล็กมีผลต่อการใช้พลังงานของเตาหลอม เช่น ถ้าเศษเหล็กที่ป้อนเข้าเตาหลอมมีส่วนผสมอโลหะเพียง 1% มีผลทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าในการหลอมมากขึ้น 15 kWh/ตันเหล็กแท่ง และสิ้นเปลืองอิเล็กโทรด 0.2 kg/ตันเหล็กแท่ง ถ้าผลิตเหล็กแท่ง 200,000 ตันต่อปี จะประหยัดได้ 7-8 ล้านบาท/ปี ดังนั้นการสุ่มตรวจสอบ คัดแยก และผสมเศษเหล็กจึงมีความสำคัญ นอกจากนี้ถ้าความหนาแน่นของการป้อนเศษเหล็กไม่แน่นอนจะทำให้ต้องป้อนมากกว่า 2 ครั้งต่อรอบการหลอมในขณะที่ผลผลิตไม่เพิ่ม ทำให้ความร้อนสูญเสียจากการเปิดฝาเตาเพื่อป้อนเศษเหล็กครั้งที่ 3 และ 4 กล่าวคือการป้อนเศษเหล็ก 3 ครั้ง ใช้พลังงานมากกว่าการป้อน 2 ครั้งถึง 17 kWh/ตัน ถ้าผลิตเหล็กปีละ 200,000 ตัน จะสิ้นเปลืองพลังงานจากการเปิดฝาเตา 3,400,000 kWh/ปี หรือคิดเป็นเงินกว่า 8 ล้านบาท/ปี ดังนั้นจึงควรอัดให้มีความหนาแน่นเหมาะสม (0.5-0.6 kg/m3)

.
การอุ่นเศษเหล็กจากไอเสียของเตาหลอม

โดยทั่วไปโรงงานเหล็กที่มีการอุ่นเศษเหล็กให้ร้อนก่อนป้อนเข้าเตาหลอมจะอุ่นได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากการควบคุมคุณภาพเศษเหล็กไม่ดี เวลาในการหลอมกับการเตรียมเศษเหล็กไม่สอดคล้องกัน ทำให้เวลาในการอุ่นเศษเหล็กไม่เพียงพอ ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดดังกล่าว การอุ่นเศษเหล็กสามารถทำได้โดยให้ความร้อนแก่เศษเหล็กโดยตรงนอกเตาหลอมโดยใช้เชื้อเพลิง การให้ความร้อนเศษเหล็กก่อนเข้าเตาหลอมช่วยลดเวลาการหลอม 5-10 นาทีต่อรอบ อุณหภูมิสูงสุดของการอุ่นเศษเหล็กไม่ควรต่ำกว่า 600 °C เพื่อป้องกันกลิ่นและไอพิษ และลดพลังงานไฟฟ้าลงได้ 30 kWh/ตันเหล็กแท่ง หากพิจารณาเชื้อเพลิงที่ต้องใช้อุ่นเศษเหล็กเทียบเท่าไฟฟ้า 10 kWh/ตัน ดังนั้นประหยัดสุทธิ 20 kWh/ตัน คิดเป็นเงินได้กว่า 10 ล้านบาท/ปี

 
เตาหลอมอาร์กไฟฟ้าใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC EAF)

โดยทั่วไปการหลอมเหล็กจะใช้เตาหลอมอาร์กไฟฟ้า ที่ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC EAF) เพราะง่ายกว่า ไม่ต้องมีอุปกรณ์แปลงไฟฟ้ากระแสสลับเป็นกระแสตรง แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การแปลงไฟฟ้ากระแสสลับเป็นกระแสตรงขนาดใหญ่จึงไม่ใช่ปัญหา การใช้ DC EAF ทำให้ระบบมีเสถียรภาพเนื่องจากการกระเพื่อมของแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า ใช้พลังงานน้อยกว่า AC EAF 3-5% ใช้แท่งอิเล็กโทรด ลดลง 50% หลอมเหล็กได้ทั่วถึง ไม่ใช่เพียงเฉพาะรอบ ๆ อิเล็กโทรด และลดระดับเสียงลงด้วย

 
ฝาครอบถังถ่ายเหล็กหลอมขณะหล่อเหล็ก

ในขณะที่เหล็กหลอมถูกปล่อยจากถังถ่ายเหล็กหลอม Ladle ไปยังถาด Tundish ควรมีฝาครอบเพื่อรักษาอุณหภูมิเหล็กหลอมไม่ให้ตกลงมากเพราะหากไม่มี จะทำให้อุณหภูมิเหล็กหลอมลดลง 60-70 °C  ทำให้สูญเสียพลังงานในการหลอม 1-2 kWh/ตัน หรือ กว่า 1 ล้านบาท/ปี

 
ควบคุมการเผาไหม้เตาอบเหล็กแท่งให้เหมาะสม

ที่พบบ่อยคือ การขาดการตรวจสอบออกซิเจนเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งวัดที่ปล่องไอเสีย ทำให้การควบคุมอากาศส่วนเกินที่ใช้ในการเผาไหม้ผิดพลาด โดยอากาศส่วนเกินสูงถึง 50-100% การลดอากาศส่วนเกินจาก 50% เป็น 20% ช่วยลดการใช้พลังงาน 250 MJ/ตันเหล็กแท่ง หรือ น้ำมันเตา 6 ลิตร/ตัน คิดเป็นเงิน 10 ล้านบาท/ปี

 
ใช้วิธี Hot Charge สำหรับกระบวนการขึ้นรูป

เหล็กแท่งร้อนจากเครื่องหล่อเหล็กส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ก่อนนำไปรีด ครั้นจะไม่เก็บ โดยนำไปรีดเลยซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานแต่เนื่องจากกำลังการหล่อและกำลังการผลิตของโรงรีดจะแตกต่างกัน ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ควรติดตั้งตู้เหล็กหุ้มฉนวนกันความร้อนสูญเสียเพื่อเตรียมไปรีด โดยที่อุณหภูมิของเหล็กแท่งเพิ่มขึ้น ทุก ๆ 100 °C จะประหยัดพลังงานได้ 4 ลิตร/ตันเหล็กแท่ง ถ้าเหล็กแท่ง 50% ของกำลังผลิตสามารถใช้วิธี Hot Charge ได้จากเดิมเหล็กแท่ง 100 °C เป็น 600 °C จะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้ 20 ลิตร/ตันเหล็กแท่ง หรือเกือบ 20 ล้านบาท/ปี

.
นำความร้อนจากไอเสียของเตาอบเหล็กอุ่นอากาศ

โดยทั่วไปมีการนำความร้อนทิ้งจากไอเสียมาอุ่นอากาศที่เผาไหม้อบเหล็กอยู่แล้วโดยใช้หัวเผา Self Recuperative กลับมาประมาณ 10% อุณหภูมิไอเสียจาก 495 °C เป็น 280 °C อากาศจาก 40 °C เป็น 180 °C ซึ่งอุณหภูมิไอเสียหลังแลกเปลี่ยน 280 °C ยังมีศักยภาพในการนำกลับมาอีก 3-4% โดยการติดตั้งอุปกรณ์อุ่นอากาศจาก 180 °C  เป็น 230 °C โดย อุณหภูมิไอเสียจาก 280 °C เป็น 200 °C ช่วยประหยัดพลังงานในการอบเหล็ก 37 MJ/ตันเหล็กแท่ง (เทียบเท่า 10 kWh/ตัน) หรือประหยัดน้ำมันเตา 170,000 ลิตร/ปี คิดเป็นเงิน กว่า 1.5 ล้านบาท/ปี

.
ติดตั้งอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์
( Variable Frequency Driveหรือ VFD) ในกระบวนการขึ้นรูป  

ในโรงรีดและขึ้นรูปประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อใช้รีดเหล็กและปั๊มน้ำเพื่อหล่อเย็นและเคลือบผิวเหล็ก (Lamina Cooling) ส่วนใหญ่จะมีการติดตั้งปั๊มน้ำหลายตัวและถูกออกแบบให้ใหญ่เกินจริง ถึงแม้ว่าจะทำงานที่โหลดเต็มพิกัด นอกจากนี้ น้ำจะถูกควบคุมด้วยการหรี่วาล์ว เพื่อรักษาระดับแรงดันผ่านทางอุปกรณ์ตรวจวัดความดัน (Pressure Sensor) เช่นควบคุมให้ความดันคงที่ ที่ 2.5 บาร์ ดังนั้นเพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน สามารถติดตั้ง VFD ร่วมกับชุดควบคุมความดันจะลดพลังงานลงได้กว่า 50% เมื่อเทียบกับก่อนปรับปรุง  

 
จัดโหลดไฟฟ้าหลีกเลี่ยง On Peak

เนื่องจากในวันหนึ่ง ๆ อัตราค่าไฟฟ้าไม่เท่ากัน ถ้าใช้อัตรา TOD ช่วงค่าไฟฟ้าแพง (18:30-21:30 ทุกวัน) ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้เตาหลอม หรือ ถ้าสามารถหยุดเตาหลอมในช่วงกลางวัน 9:00-22:00 ของวันจันทร์-ศุกร์ และไปเพิ่มการผลิตในช่วงกลางคืนและวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ให้ใช้อัตรา TOU จะช่วยลดค่าไฟฟ้าจาก 2-2.2บาท/kWh เป็น 1.5-1.7 บาท/kWh ขึ้นอยู่กับระดับแรงดันไฟฟ้าที่ใช้ (ถ้าแรงดันไฟฟ้ายิ่งสูง ยิ่งค่าไฟฟ้าถูก) และค่า FT หรือ ประหยัดได้ 10-15% อย่างไม่ยากเย็นนัก

 

สรุปแล้วการจัดการพลังงานในโรงงานเหล็กสามารถช่วยเพิ่มกำไรให้อย่างมากมาย  จากที่กล่าวมาข้างต้นสามารถประหยัดได้รวมกันกว่า 60-100 ล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของต้นทุนพลังงานก่อนปรับปรุง มีระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 3 ปี ผลตอบแทนการลงทุน 20-30% ขึ้นไป แต่ถ้าไม่อยากลงทุนมากในช่วงเริ่มต้นก็สามารถเลือกบางมาตรการที่ง่าย ๆ ซึ่งประหยัดได้ 1-5% ซึ่งฟังดูไม่มากแต่ถ้าคิดเป็นเงินแล้วก็หลายสิบล้านบาท การจัดแบ่งมาตรการสามารถสรุปไดั ดังรูปที่ 7

 

รูปที่ 7 การจัดแบ่งมาตรการจัดการพลังงาน

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด