เนื้อหาวันที่ : 2008-04-24 10:52:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 48148 views

Cross Docking อีกหนึ่งยุทธวิธีในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบลอจิสติกส์

ปัจจุบันนี้ระบบอุตสาหกรรมมีการขยายตัวและเติบโตขึ้น เป็นผลทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นอย่างมากทำให้ผู้ผลิตจะต้องทำการหาวิธีการที่จะทำการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ซึ่งในระบบอุตสาหกรรม ความสามารถในการสร้างความแตกต่างของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับในอดีต

.

ปัจจุบันนี้ระบบอุตสาหกรรมมีการขยายตัวและเติบโตขึ้น เป็นผลทำให้เกิดการแข่งขันขึ้นอย่างมากทำให้ผู้ผลิตจะต้องทำการหาวิธีการที่จะทำการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด  ซึ่งในระบบอุตสาหกรรม ความสามารถในการสร้างความแตกต่างของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับในอดีต

.

เนื่องจากตลาดสินค้าปรับตัวสู่ตลาดแข่งขันเสรีที่ผู้บริโภคสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารและมีความรู้ในการตัดสินใจเลือกสินค้าได้ดีขึ้น สำหรับการแข่งขันทางด้านราคาขายนั้น หากมีการนำมาใช้ย่อมก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีต่อผู้ผลิต และเนื่องจากมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ของราคาขายสินค้านั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการจัดส่งสินค้า ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดส่งสินค้านั้นมีค่าสูงมาก

.

จึงได้มีการนำเอาระบบการจัดการในด้านลอจิสติกส์เข้ามามีส่วนช่วยทำให้ต้นทุนในกระบวนการจัดส่งสินค้าลดลง เพื่อที่จะทำให้มีความรวดเร็วในการกระจายสินค้าและบริการ ตั้งแต่ต้นทางซึ่งก็คือผู้ผลิตสินค้าไปยังผู้บริโภคสินค้าที่อยู่ปลายทางสุดท้าย ซึ่งหนึ่งในวิธีการนำเอาระบบการจัดการในด้านลอจิสติกส์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาช่วยในกระบวนการจัดส่งสินค้า คือการจัดรูปแบบการขนส่งของรถขนส่งสินค้าสำหรับระบบการเก็บสินค้าแบบส่งผ่าน (Cross Docking)

.

ซึ่งระบบลอจิสติกส์ เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร การเคลื่อนย้ายและการจัดเก็บวัตถุดิบ สินค้าระหว่างผลิตและสินค้าสำเร็จรูป รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จากจุดกำเนิดผ่านขั้นตอนการผลิตและการกระจายสินค้า จนถึงการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้าและลดต้นทุนทางด้านกระบวนการจัดส่งสินค้า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าลอจิสติกส์เป็นการนำสินค้าและบริการที่ลูกค้าต้องการไปยังสถานที่ที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสมและสร้างความพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าด้วยบริการที่ดีที่สุด

.

โดยมีค่าใช้จ่ายที่ประหยัดที่สุด ซึ่งในกระบวนการจัดส่งสินค้าของระบบลอจิสติกส์นั้นจะต้องมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากว่าความต้องการสินค้าของผู้บริโภคมีความต้องการที่เพิ่มขึ้นและมีความหลากหลายของสินค้าเป็นอย่างมาก และในกระบวนการจัดส่งสินค้าจากผู้ผลิต (Suppliers) ไปยังผู้ค้าปลีก (Retailer) ขนาดใหญ่จะมีการเก็บสินค้าไว้ในคลังสินค้าเป็นเวลานานโดยที่สินค้าจะอยู่ในคลังสินค้าประมาณ 145 วันขาย

.

ซึ่งจะทำให้คลังสินค้าประสบปัญหาในการหาพื้นที่การจัดเก็บสินค้าเนื่องจากคลังสินค้ามีขนาดของพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้ามีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้าและสูญเสียระยะเวลาส่งมอบในกระบวนการขนส่งสินค้า ดังนั้นจึงได้มีการนำเอาหลักการของ Cross Docking เข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้

.

Cross Docking หมายถึง กระบวนการที่ต่อเนื่องในการนำสินค้าจากผู้ผลิตเพื่อที่จะไปถึงจุดมุ่งหมายสุดท้าย ซึ่งผ่าน Cross Dock โดยปราศจากการเก็บสินค้าและวัสดุภายในคลังสินค้า ซึ่ง Cross Docking เป็นวิธีการหนึ่งในระบบบริหารการจัดการเชิงลอจิสติกส์ โดยมีหลักการ คือ การนำสินค้าที่มาจากสถานที่ผลิตที่หลากหลายนำมารวบรวมไว้ใน Cross Dock และสินค้าจะถูกเคลื่อนย้ายจาก Cross Dock ไปยังจุดมุ่งหมายในแต่ละแห่งตามลำดับ กระบวนการไหลของของวิธีการ Cross Docking แสดงประกอบในรูปที่ 1

.

รูปที่ 1 กระบวนการไหลของของวิธีการ Cross Docking

ที่มา http://www.cognizant.com/html/solutions/industries/manLog/cs_CDS.asp

 

ซึ่งในรูปที่ 1 แสดงถึงการนำสินค้าจากผู้ผลิตต่าง ๆ แล้วนำมารวบรวมทำการคัดแยกประเภทและปริมาณความต้องการของภายใน Cross Dock และทำการขนส่งไปยังจุดมุ่งหมายในแต่ละแห่ง  

.

Cross Dock หมายถึง คลังสินค้าใช้สำหรับในการรับสินค้าและส่งสินค้าในเวลาเดียวกัน หรือเป็นคลังสินค้าซึ่งมีการออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อใช้ในการขนถ่ายจากพาหนะหนึ่งไปสู่อีกพาหนะหนึ่ง โดย Cross Dock ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสถานที่ ซึ่งมีลักษณะเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ซึ่งจะทำหน้าที่ในการบรรจุและคัดแยกสินค้าในการคัดแยกตามความต้องการหรือการเติมเต็ม (Order & Fulfillment)

.

โดย Cross Dock จะทำหน้าที่เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างรูปแบบการขนส่ง ซึ่งสินค้าจะมาจากแหล่งผลิต(Suppliers)หลายราย แล้วนำมาคัดแยก รวมรวม บรรทุก เพื่อจัดส่งให้ร้านค้าปลีกหรือลูกค้าแต่ละราย จึงเหมาะกับลักษณะของธุรกิจที่เป็นผู้ค้าปลีกหรือร้านค้าปลีก (Wholesaler Consumer Goods) ซึ่งจะจัดส่งต่อให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าสะดวกซื้อ (Convenience Store) ซึ่งจะมีคำสั่งซื้อย่อยที่หลากหลาย เพราะฉะนั้น Cross Dock จึงทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างพาหนะ

.

ซึ่งใช้ในการขนส่ง โดย Cross Dock จะมีลักษณะคล้ายคลังสินค้าที่มี 2 ด้าน โดยด้านหนึ่งสำหรับใช้ในการรับสินค้า และอีกด้านหนึ่งใช้ในการจัดส่งสินค้า โดยสินค้าที่นำเข้ามาใน Cross Dock จะมีกระบวนการคัดแยก-บรรจุและรวบรวมสินค้า เพื่อจัดส่งไปให้กับผู้รับ จึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าโดยการรวบรวมสินค้าจากแหล่งผลิตหลายราย โดยมีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกและกระบวนการในการคัดแยกตามความต้องการหรือการเติมเต็ม (Order & Fulfillment) โดยที่ ภารกิจสำคัญของ Cross Dock จะเป็นตัวกลางในการรวบรวมสินค้าให้สามารถจัดส่งได้เต็มคันรถหรือใช้พื้นที่ในคอนเทนเนอร์ให้ได้เต็มพิกัดและลดต้นทุนในกระบวนการขนส่ง  

.

ซึ่ง Cross Docking มีจุดสำคัญที่จะต้องพิจารณาอยู่ 2 จุดด้วยกัน คือ การมาถึงพร้อมกันและการรวมเข้าด้วยกัน ซึ่งแสดงในรูปที่ 2

 

.รูปที่ 2 หลักการของ Cross Docking

 

จากรูปที่ 2 เราจะเห็นว่ารถขนส่งทั้งหมดที่มาจากผู้ผลิตจะมาถึง Cross Dock พร้อม ๆ กัน ซึ่งถ้าหากรถขนส่งมาถึง Cross Dock ไม่พร้อมกันนั้น ก็จะทำให้รถขนส่งบางคันเกิดการรอคอยที่จะทำการขนถ่ายสินค้าไปรวบรวมไว้ใน Cross Dock โดยสินค้าทั้งหมดจะถูกคัดแยกกลุ่มและทำการบรรทุกเข้าไปในรถขนส่งที่จะทำการจัดส่งไปให้กับลูกค้าตามจุดหมายในแต่ละแห่ง ซึ่งในกระบวนการที่รถขนส่งจากผู้ผลิตมาถึง Cross Dock พร้อม ๆ กัน เรียกกระบวนการนี้ว่า "Simultaneous Arrivals"

.

และในกระบวนการคัดแยกกลุ่มและทำการบรรทุกเข้าไปในรถขนส่ง เรียกกระบวนการนี้ว่า “Consolidation” ดังนั้นถ้าหากการมาถึงพร้อมกันและการรวมเข้าด้วยกันสามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ในกระบวนการไหลในห่วงโซ่อุปทานที่ทุกสินค้าสามารถที่จะเคลื่อนย้ายจากผู้ผลิตไปยังลูกค้าได้อย่างไม่ติดขัด ก็จะทำให้สามารถที่จะลดระดับสินค้าคงคลังและเวลานำ (Lead-time) สำหรับการจัดส่งสินค้าได้

.

สำหรับประสิทธิภาพของ Cross Docking จะขึ้นอยู่กับกระบวนการขนถ่าย (Pickup Process) และกระบวนการจัดส่ง (Delivery Process) ซึ่งหลักการของกระบวนการขนถ่ายก็คือ การมาถึงพร้อมกันของรถขนส่งที่มาถึง Cross Dock ดังนั้นก็จะต้องมีการพิจารณาถึงเส้นทางของรถขนส่งสินค้าและการวางแผนของเส้นทางสำหรับการมาถึงให้พร้อมกันของรถขนส่งสินค้า ภายใน Cross Dock สินค้าที่มาถึงจะถูกทำการคัดแยกให้แน่นอนแม่นยำในแต่ละกลุ่มตามจุดหมายของแต่ละคัน

.

ดังนั้นจำนวนสินค้าที่มาถึง Cross Dock จะต้องเท่ากับสินค้าที่จะส่งจาก Cross Dock กระบวนการจาก Cross Dock ไปยังลูกค้าเรียกว่า กระบวนการจัดส่ง โดยที่จะต้องมีการพิจารณาถึงการจัดเส้นทางของรถขนส่งสินค้าที่จะทำการจัดส่งให้กับลูกค้าด้วย ดังนั้นในการพัฒนาของกระบวนการไหลในห่วงโซ่อุปทานจะต้องมีความเข้าใจโดยการสังเคราะห์ผลที่ดีที่สุดของทุกกระบวนการทั้ง การขนถ่าย Cross Docking และการจัดส่งเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นจะต้องมีการจัดการปัญหาการวางแผนเส้นทางของรถขนส่งพร้อมกันกับ Cross Docking เพื่อที่จะพัฒนาการไหลในระบบบริหารการจัดการเชิงลอจิสติกส์

.

Cross Dock จึงเข้ามามีบทบาทและเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสนับสนุนรูปแบบการขนส่งซึ่ง Cross Dock จะทำหน้าที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1. สถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าของรถบรรทุกสินค้า (Terminal Truck Transfer) ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากพาหนะหนึ่งไปอีกพาหนะหนึ่ง ในรูปแบบการขนส่งสินค้า ทั้งที่เป็นประเภทเดียวกันและต่างกัน เช่น จากรถบรรทุกหนึ่งไปอีกรถบรรทุกหนึ่ง หรือจากรถบรรทุกหนึ่งไปเป็นการขนส่งทางรถไฟหรือทางถนน หรือบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อจัดส่งสินค้าไปทางเรือหรือทางอากาศ เป็นต้น คือ ทำหน้าที่เป็นสถานีในการขนถ่ายสินค้าระหว่างการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง

.

2. บรรทุกและขนถ่าย (Loading & Unloading) คือ ทำหน้าที่รวบรวม คัดแยกสินค้าและกระจายสินค้า ทั้งบริเวณต้นทาง หรือปลายทาง และทำหน้าที่ในการจัดเก็บชั่วคราวของสินค้าก่อนการส่งมอบ

.

3. ทำหน้าที่เป็นสถานีในการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ( Information Center ) เพื่อเชื่อมโยงการผลิตและการส่งมอบสินค้าจากผู้ผลิต ไปสู่ผู้รับสินค้า

.

4. บางครั้ง Cross dock จะทำหน้าที่เป็นศูนย์บรรจุและคัดแยกสินค้า เพื่อการนำเข้าและส่งออก (Inbound & Outbound) ซึ่งกรณีเช่นนี้ จะมีการทำที่ศุลกากร คลังสินค้า เพื่อรอการส่งมอบ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการรับสินค้าจากเรือหรือเครื่องบิน แล้วนำมาจัดเรียงกองหรือจัดเก็บเพื่อรอการขนส่งหรือส่งมอบ

.

5. ศูนย์รวมสินค้า (Regional HUB) ทำหน้าที่เป็นสถานีรวบรวมและกระจายสินค้าประจำภาค คือ เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากพาหนะหนึ่งไปอีกพาหนะหนึ่ง (Intermodal Linkage) โดยหน้าที่หลักจะทำหน้าที่เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงระหว่างภาคหรือจังหวัด

.

Cross Dock จึงมีบทบาทและความสำคัญในกิจกรรมของลอจิสติกส์ในฐานะเป็นเครื่องมือในการลดต้นทุน จากการขนส่งที่ไม่เต็มคันรถหรือการขนส่งเที่ยวกลับที่ไม่มีสินค้า โดยช่วยลดต้นทุนในการจัดเก็บสินค้า ช่วยให้เวลาในการส่งมอบสินค้าลดลง สามารถก่อให้เกิดประสิทธิภาพในเชิงต้นทุนรวม และเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิภาพการขนส่ง ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งของระดับธุรกิจ ระดับภาค และระดับประเทศ และเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของไทย

.

เอกสารอ้างอิง

1. ธนิต โสรัตน์. Cross Dock [ออนไลน์] 2548 [อ้างเมื่อ 12 มีนาคม 2550]. จาก http://www.v-servegroup.com/new/documment.php?Bookno=338

2. อรุณ บริรักษ์. Logistics case study in . กรุงเทพฯ : ส. พิจิตรการพิมพ์; 2545 

3. Apte U. M., & Viswanathan S. (2000). Effective cross docking for improving istribution efficiencies. International Journal of Logistics, 3, 91–302.

4. Young Hae Lee, Jung Woo Jung, & Kyong Min Lee. (2006). Vehicle routing scheduling for cross-docking in the supply chain. Computers & Industrial Engineering, 51, 247–256.

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด