เนื้อหาวันที่ : 2008-01-24 15:34:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8171 views

บทบาทของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ แนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไป

ในอุตสาหกรรมรถยนต์ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์ล้วนเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการรักษาสมดุลให้เกิดขึ้น จากการที่พยายามผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ จากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อให้เกิดความแตกต่างในรถยนต์ที่ผลิตขึ้น ในขณะที่อีกด้านหนึ่งต้องพยายามควบคุมต้นทุนของชิ้นส่วนรถยนต์เอาไว้ ถ้าหากย้อนไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ มักจะมุ่งเน้นที่จะให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยเฉพาะผู้ผลิตในลำดับที่ 1 พยายามปรับปรุงการผลิต เพื่อลดต้นทุนหลัก

ในอุตสาหกรรมรถยนต์ปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์ล้วนเผชิญหน้ากับความยากลำบากในการรักษาสมดุลให้เกิดขึ้น จากการที่พยายามผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ จากผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อให้เกิดความแตกต่างในรถยนต์ที่ผลิตขึ้น ในขณะที่อีกด้าน หนึ่ง ต้องพยายามควบคุมต้นทุนของชิ้นส่วนรถยนต์เอาไว้ ถ้าหากย้อนไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ มักจะมุ่งเน้นที่จะให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์โดยเฉพาะผู้ผลิตในลำดับที่ 1 พยายามปรับปรุงการผลิต เพื่อลดต้นทุนของชิ้นส่วนรถยนต์ลงเป็นหลัก โดยบางรายจะมีการกำหนดเป็นเป้าหมายในการลดราคาชิ้นส่วนลงอย่างชัดเจน เช่น ปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือปัญหาทางด้านการเงินที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อความต้องการดังกล่าว

.

ผลจากแรงกดดันต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบทบาทของผู้ผลิตชิ้นส่วน ผู้ผลิตรถยนต์ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตรถยนต์กับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ขึ้น ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการบริหารจัดการชั้นนำของโลกแห่ง หนึ่ง ได้ทำการศึกษาพบว่าบทบาทของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และผู้ผลิตรถยนต์ได้มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงใน 10 ลักษณะ ประกอบด้วย

.

ในส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นใน 3 ลักษณะ ได้แก่

                1. การรวมตัวกันของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

                2. การพัฒนาสู่ความเป็นผู้ผสมผสานระบบ
            3..ผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรม    

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และผู้ผลิตรถยนต์ มีอยู่ 3 ลักษณะเช่นเดียวกัน ได้แก่

                4. โครงการหุ้นส่วนการดำเนินงาน
                 5. การพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่
                 6. การเปลี่ยนแปลงไปสู่การจัดซื้อผ่านระบบออนไลน์

นอกจากนั้นในด้านของผู้ผลิต ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นเดียวกันใน 4 ลักษณะ ได้แก่

7. วงจรของนวัตกรรมที่สั้นลง

8. ความท้าทายในปัญหาคุณภาพ

9. ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์

10. การค้นหาแหล่งผลิตจากทั่วโลก

.

แนวโน้มที่ 1 การรวมตัวกันของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้เกิดการควบรวมกิจการ หรือเข้าครอบครองกิจการกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้เกิดผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่ขึ้น และทำให้เหลือจำนวนของผู้ผลิตชิ้นส่วนเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งปัจจุบันกระแสดังกล่าวก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสงบลง และจะยิ่งทำให้จำนวนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งในระดับที่ 1 (Tier 1) และในระดับที่ 2 (Tier 2) ลดลงอย่างมากด้วย ซึ่งท้ายที่สุดจากการศึกษาพบว่า จะเหลือเพียงผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่เกิน 100 รายที่จะติดต่อโดยตรงกับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์

.

ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน คือการทำให้ผู้ผลิตรถยนต์มีทางเลือกที่น้อยลงในการว่าจ้างผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะในกลุ่มชิ้นส่วนประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเมคาทรอนิกส์

.

แนวโน้มที่ 2 การพัฒนาสู่ความเป็นผู้ผสมผสานระบบ

บทบาทของผู้ส่งมอบในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กเท่านั้น แต่จะขยายไปสู่การผลิตชิ้นส่วนที่มีการประกอบขึ้นอย่างเป็นระบบ เช่น ชุดไอเสีย ระบบทำความเย็น ระบบแผงควบคุม ระบบของที่นั่ง (Integrated Seat) ซึ่งในอนาคตผู้ผลิตรถยนต์จะคาดหวังต่อไปถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนจะสามารถทำการผลิตระบบต่าง ๆ ทั้งหมดของรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ระบบภายใน (Interior System) ระบบหลังคา ระบบประตูทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าว จะส่งผลให้ฝ่ายจัดซื้อของผู้ผลิตรถยนต์ทำงานยากขึ้น ในการควบคุมราคาและการวัดผล ทั้งนี้ เพราะชิ้นส่วนจากผู้ส่งมอบจะมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมากขึ้น   

.

ในส่วนของผู้ส่งมอบ บทบาทในฐานะที่เป็นผู้ผสมผสานชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้ามาเป็นระบบ ถือได้ว่าเป็นการทำงานที่ท้าทายและมีบทบาทมากขึ้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนจะต้องเพิ่มความใส่ใจและการควบคุมไปยังผู้ผลิตชิ้นส่วนอีกทอด หนึ่ง (Sub-suppliers) นับตั้งแต่การกำหนดตารางการผลิต การจัดส่ง และรายละเอียดด้าน IT เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะสามารถควบคุมต้นทุนในการประกอบชิ้นส่วนเข้ามาเป็นระบบเพื่อส่งมอบให้กับผู้ผลิตรถยนต์ต่อไป   

.

ดังนั้น ด้วยบทบาทของผู้ผสมผสานชิ้นส่วนเข้ามาเป็นระบบ จะต้องการความสามารถของผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น ทั้งผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องมีการพัฒนาความสามารถในการทำงานของจัดซื้อให้เพิ่มสูงขึ้น ส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ระดับที่ 1 (Tier 1) จะต้องมีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานกับผู้ส่งมอบในระดับถัดไป (Tier 2) ให้มีความสามารถที่มากขึ้นด้วย

.

แนวโน้มที่ 3 ผู้ส่งมอบในฐานะผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรม

แนวโน้มการจ้างงานภายนอก (Outsourcing) ที่เพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้บทบาทในการสร้างสรรค์คุณค่ามีการแบ่งปันออกไปภายนอกมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ มีบทบาทในการสร้างสรรค์คุณค่าให้กับรถยนต์ เพียงแค่ 30 ถึง 35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของผู้ส่งมอบผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ 

.

ผู้ส่งมอบชิ้นส่วนรถยนต์ ได้เพิ่มบทบาทในฐานะที่เป็นผู้พัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น สิ่ง หนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ เกิดขึ้นทั้งในอเมริกาและยุโรป โดยมีการพบว่าจำนวนของการจดสิทธิบัตรของผู้ผลิตชิ้นส่วนมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับจำนวนการจดสิทธิบัตรของผู้ผลิตรถยนต์ 

.

เมื่อผู้ส่งมอบชิ้นส่วนรถยนต์ ได้เปลี่ยนฐานะมาเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมชิ้นส่วนรถยนต์แล้ว ในด้านของผู้ผลิตรถยนต์ (OEMs) ก็จะต้องมีการพัฒนาทางด้านกลยุทธ์ในการบริหารจัดการผู้ส่งมอบมากขึ้นด้วย ส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนโดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนในลำดับที่ 1 (Tier 1 Supplier) จะต้องเร่งพัฒนาความสามารถทางด้านวิศวกรรม ทั้งการเติบ โต ด้วยตัวเอง และผ่านการควบรวมเข้ากับองค์กรทางด้านวิศวกรรม นอกจากนั้นยังต้องมีการสร้างเครือข่ายทางด้านนวัตกรรมสำหรับผู้ส่งมอบในลำดับถัดมา ตลอดห่วงโซ่ของอุปทาน

.

แนวโน้มที่ 4 โครงการหุ้นส่วนการดำเนินงาน

อุตสาหกรรมรถยนต์ได้มีการทดลองโครงการหุ้นส่วน (Partnership Program) ในการดำเนินงานระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนขึ้นในหลาย ๆ รูปแบบ โดยโครงการที่จัดตั้งขึ้น จะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงคุณภาพ การพัฒนานวัตกรรม และการลดต้นทุน

.

ซึ่งในกรณีที่ผู้ผลิตรถยนต์ ถ้าต้องการที่จะเพิ่มผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการหุ้นส่วนการดำเนินงานให้มากขึ้น จะต้องมีการเพิ่มการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนกับหน่วยงานด้านการจัดซื้อของผู้ผลิตรถยนต์ โดยความร่วมมือกับผู้ส่งมอบจะประกอบด้วย ความเป็นหุ้นส่วนทางด้านการวิจัยและพัฒนา ข้อตกลงด้านอุปทานตลอดช่วงของการผลิต (Production-cycle Supply Contract) และการตั้งราคาที่ขึ้นอยู่กับปริมาณของการสั่งซื้อ ซึ่งจะแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงประโยชน์ที่ได้จากโครงการความร่วมมือที่เกิดขึ้น

.

แนวโน้มที่ 5 รูปแบบธุรกิจแบบใหม่

รูปแบบใหม่ของการดำเนินการในความเป็นหุ้นส่วนระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ได้พัฒนาขึ้นมาเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ รูปแบบ BOT ซึ่งย่อมาจาก Build-Operate-Transfer (หรือที่เรียกกันว่า Pay-on-Production) และ รูปแบบของSupplier parks

.

ในรูปแบบของ BOT ผู้ส่งมอบจะเป็นผู้ดูแลกระบวนการผลิตในบางส่วน และรับความเสี่ยงทางการตลาดเองด้วย ในขณะที่ Supplier Park ผู้ส่งมอบจะย้ายฐานการผลิตมาอยู่ใกล้ๆ กับโรงงานของผู้ผลิตรถยนต์ และทำการปรับปรุงระบบการขนส่ง เพื่อช่วยลดปริมาณในการผลิตต่อครั้งลงได้  

.

รูปแบบของ BOT จะก่อให้เกิดทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งต่อผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์ จะมีข้อดีคือจะไม่ต้องมีการลงทุนในเบื้องต้น การลดข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ และลดความเสี่ยงทางการตลาด แต่ก็มีข้อเสียของระบบนี้สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ เช่น การสูญเสียความสามารถในการผลิต หรือราคาต่อหน่วยที่อาจเพิ่มสูงขึ้น

.

ในด้านของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รูปแบบ BOT จะช่วยให้มีโอกาสขยายขอบเขตของการบริการกับผู้ผลิตชิ้นส่วนให้มากขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มความเข้าใจในกระบวนการผลิตให้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามผลกระทบอีกด้านที่จะเกิดกับผู้ผลิตชิ้นส่วน คือความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นทั้งความเสี่ยงในการปฏิบัติงานและความเสี่ยงทางการตลาด 

ในปัจจุบัน ผู้ผลิตรถยนต์ได้พยายามผลักดันในการนำระบบ BOT มาใช้ เมื่อมีการจ้างงานภายนอกเกี่ยวกับอุปกรณ์การผลิตที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น เช่น ห้องพ่นสี หรือสายการประกอบขั้นสุดท้าย

.

ส่วนแนวคิดหลักของรูปแบบ Supplier park จะมีเป้าหมายที่การนำหลักการของส่งมอบทันเวลาพอดี หรือ Just-in-time และส่งมอบทันตามลำดับ หรือ Just-in-sequence ของทั้งชิ้นส่วนและระบบให้กับสายการผลิต
.

การนำรูปแบบของ BOT และ Supplier Park มาใช้ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ สำหรับผู้ผลิตรถยนต์รูปแบบดังกล่าวจะต้องมีการจัดการที่ชัดเจนมากขึ้นและได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากผู้ผลิตชิ้นส่วนด้วย

.

แนวโน้มที่ 6 การจัดซื้อผ่านระบบออนไลน์

การจัดซื้อผ่านระบบ Online ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นอีกทางเลือก หนึ่ง สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ โดยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ผู้บริหารจำนวนมากในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ต่างมองว่าการจัดซื้อผ่านระบบ Online หรือ E-procurement จะเข้ามาช่วยในกระบวนการจัดซื้อที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Covisint หรือ SupplyOn ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายกลางของชิ้นส่วนรถยนต์ได้ถูกพัฒนาขึ้น หรือระบบการซื้อขายชิ้นส่วนรถยนต์ของแต่ละค่าย ไม่ว่าจะเป็น Toyota หรือ Volkswagen ก็มีการพัฒนาขึ้นมา เพื่อรองรับปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มสูงขึ้น

.

อย่างไรก็ตาม การนำระบบออนไลน์มาใช้จนถึงปัจจุบัน กลับเป็นไปอย่างไม่รวดเร็วนัก รวมถึงมีการซื้อขายชิ้นส่วนเพียงไม่กี่รายการผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้เป็นเพราะชิ้นส่วนที่สามารถซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ได้ จะต้องมีแบบ Drawing และ Specification อย่างชัดเจน ไม่จำเป็นต้องมีการติดต่อทางด้านเทคนิคระหว่างวิศวกรของผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ผลิตรถยนต์

..

ดังนั้นเพื่อให้การจัดซื้อผ่านระบบออนไลน์เกิดขึ้นได้จริง ผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ผลิตรถยนต์ จะต้องทำการพิจารณากลุ่มของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการ รวมถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับกระบวนการเสนองานผ่านระบบออนไลน์ให้กับบุคลากรทั้งในส่วนของการขาย และการจัดซื้อ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมจะต้องให้ความสำคัญกับประโยชน์ที่จะได้รับการจากการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้เพราะโครงสร้างระบบออนไลน์ จะช่วยให้เกิดการปรับปรุงในการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงความร่วมมือทางวิศวกรรมระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

..

แนวโน้มที่ 7 วงจรของนวัตกรรมที่สั้นลง

ความจำเป็นในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการหุ้นส่วนการดำเนินการ แบบจำลอง BOT หรือโครงข่าย On-line ได้ช่วยให้วงจรนวัตกรรมสั้นลงอย่างมาก ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ระยะเวลาโดยเฉลี่ยของออกรถยนต์ใหม่ในแต่รุ่น (Model) ในประเทศกำลังพัฒนา ได้ลดลงกว่าครึ่ง จาก 8 ปีเหลือเพียงแค่ 4 ปี เช่นเดียวกัน เวลาโดยเฉลี่ยที่ใช้ในการดำเนินการพัฒนา ตั้งแต่การออกแบบแล้วเสร็จ จนสามารถทำการผลิตได้ ลดลงจาก 48 เดือนเหลือเป็น 30 เดือน และมีแนวโน้มที่จะลดลงเหลือเพียงแค่ 18 เดือนในอนาคตอันใกล้   

..

ผลจากการพัฒนาที่เร็วขึ้น และวงจรการผลิตที่สั่นลง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จะต้องร่วมมือกันในการออกแบบและพัฒนากระบวนการ นับตั้งแต่ การกำหนดแนวคิดหลักและการแข่งขัน การออกแบบ รวมถึงการทดสอบก่อนนำมาใช้งาน  โดยผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นที่จะต้องจัดให้มีโครงสร้างสำหรับกระบวนการในการออกแบบ โดยหน่วยงานด้านการออกแบบและการจัดซื้อจะทำงานด้วยกันตั้งแต่ต้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความแตกต่างและมีต้นทุนที่สามารถที่จะแข่งขันได้ ซึ่งในอนาคตหน่วยงานด้านการจัดซื้อของผู้ผลิตรถยนต์ จะทำหน้าที่เปรียบเสมือนผู้ควบคุมวงออร์เคสตร้า

.

สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่นในกรณีของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่น จะจัดให้มีวิศวกรซึ่งไปทำงานประจำอยู่ที่โรงงานของผู้ผลิตรถยนต์ หรือที่เราเรียกว่า Resident engineer ซึ่งจะมีความเข้าใจในแผนการพัฒนาของผู้ผลิตรถยนต์เป็นอย่างดี และมีผลต่อการปรับกลยุทธ์ของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

.

แนวโน้มที่ 8 ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในเรื่องของคุณภาพ

ผลจากการที่วงจรของนวัตกรรมที่สั้นลง ประกอบกับแรงกดดันที่มีต่อผู้ผลิตรถยนต์ในการกำหนดราคาขายให้ต่ำลง ส่งผลอย่างมากต่อความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาทางด้านคุณภาพของรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปัญหาในการเรียกรถยนต์คืน (Recall) มีจำนวนเพิ่มสูงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ซึ่งปัญหาในการเรียนรถยนต์คืนโดยส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากความบกพร่องของชิ้นส่วนรถยนต์ที่มาจากผู้ส่งมอบชิ้นส่วน

.

ดังนั้นเพื่อให้การบริหารด้านคุณภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ดีขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์จะต้องมีการเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้กับหน่วยงานด้านการจัดซื้อ ตัวอย่างเช่น Toyota ได้มีการจัดตั้งระบบการบริหารการผลิตสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนโดยมุ่งเน้นที่คุณภาพไว้กับหน่วยงานด้านการจัดซื้อ ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ ได้มีพัฒนาการดำเนินการให้มากกว่าเพียงแค่การตรวจประเมินคุณภาพ โดยทีมงานทางด้านการปรับปรุงกระบวนการและคุณภาพ จะถูกส่งไปปฏิบัติงานที่โรงงานของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ในการผลักดันให้เกิดกลุ่มวงจรคุณภาพระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วน หรือที่เรียกกันว่า OEM - Orchestrated supplier associations

.

แนวโน้มที่ 9 ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น

ในการตัดสินใจเพื่อซื้อรถยนต์ของลูกค้า จะมีแนวโน้มที่มีความเป็นเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์เร่งสร้างความหลากหลายทั้งในด้านการออกแบบและเทคโนโลยีของรถยนต์ โดยจะเห็นได้ว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีการออกรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ อย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้านั้น มีการออกรถยนต์ที่มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Niche Vehicle Segment) ซึ่งความหลากหลายของรถยนต์ที่เกิดขึ้นนี้ ได้สร้างความท้าทายอย่างมากต่อผู้ผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะกับหน่วยงานด้านการจัดซื้อ ในการที่จะสั่งซื้อชิ้นส่วนในจำนวนที่น้อยลง สำหรับรถยนต์เฉพาะกลุ่ม แทนที่จะเป็นการสั่งซื้อในปริมาณมาก ๆ

.

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์บางรายได้ใช้วิธีการจ้างงานภายนอก สำหรับการผลิตรถยนต์เฉพาะกลุ่ม เช่น Porsche กับการผลิต Valmet หรือ BMW กับการผลิต Magna อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรถยนต์จำเป็นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการจัดซื้อเพื่อครอบคลุมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้น แทนที่จะเป็นการเจรจาต่อรองทีละรุ่น รวมถึงการพัฒนาเพื่อให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันในหลาย ๆ รุ่น เพื่อให้สามารถทำการสั่งชื้นส่วนเพื่อรองรับรถยนต์ได้พร้อมกันหลาย ๆ รุ่น ในขณะที่ทางด้านของผู้ผลิตชิ้นส่วน จะมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นในระบบการออกแบบและชิ้นส่วน

 .

แนวโน้มที่ 10 การค้นหาแหล่งผลิตจากทั่วโลก (Global Sourcing)

ในรอบหลายปีที่ผ่าน การค้นหาแหล่งในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ จากประเทศที่มีต้นทุนต่ำ ทั้งในเอเชีย ยุโรปตะวันออก หรือในอเมริกาใต้ มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศจีน ได้กลายเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อส่งมอบให้กับผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกา นอกจากนั้น ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศเหล่านี้ ยังได้มีการเข้าไปจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทในประเทศจีน รวมไปถึงในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก และละตินอเมริกาด้วย

 .

การเคลื่อนย้ายแหล่งในการผลิตชิ้นส่วนออกไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ จะส่งผลให้เกิดความท้าทายเกิดขึ้นทั้งสองด้าน ทั้งในฝั่งของผู้ผลิตรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการคัดเลือกและพัฒนาผู้ส่งมอบรายใหม่ ความยุ่งยากในกฎระเบียบที่ยังไม่แน่นอนของบางประเทศ หรือการรักษาระดับของคุณภาพของชิ้นส่วนรถยนต์และความสามารถในการขนส่งให้เหมือนกับที่ผลิตเองไว้ให้ได้ ในขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ จะต้องมีการพัฒนาความสามารถในการด้านต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารโครงการ ความสามารถในการจัดส่งสินค้า ความสามารถในด้านการเงิน รวมถึงการประสานงานกับผู้ส่งมอบชิ้นส่วนในระดับถัดลงมาด้วย

 .

จากที่อธิบายมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าแนวโน้มทั้ง 10 ประการ ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทุก ๆ ฝ่ายจะต้องมีการปรับตัวอย่างมาก เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มเหล่านี้ ถ้ายังต้องการที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขัน ความอยู่รอด และการเติบโดในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด