เนื้อหาวันที่ : 2021-11-11 18:44:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1465 views

เปิดประตูสู่ยุคดิจิทัลไปกับ Red Hat OpenShift

โดย นายนครินทร์ เทียนประทีป

                                                                                    ผู้จัดการฝ่ายการตลาด

                                                                      บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

สมัยก่อนเมื่อพูดถึงโอเพนซอร์สอาจทำให้เรานึกถึงโอเอสอย่างลีนุกซ์จนมาถึงแอนดรอยด์ในยุคโมบิลิตี้ ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของโอเพนซอร์ส คือ การเข้าถึงโค้ดโปรแกรมได้ง่าย สามารถแก้ไขหรือเพิ่มเติมปรับปรุงได้รวดเร็ว ประหยัดต้นทุน และให้ผลลัพธ์ที่มีคุณภาพสูง ซึ่งปัจจุบันได้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบไอทีในการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น

เร้ดแฮท ผู้นำเทคโนโลยีโอเพนซอร์ส ได้เผยแพร่ผลสำรวจเรื่อง “The State of Enterprise Open Source : A Red Hat Report” ไว้เมื่อปี 2563 โดยการสอบถามผู้นำฝ่ายไอทีในบริษัททั่วโลกราว 1250 คน พบว่า องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีโอเพนซอร์ส เพื่อเพิ่มความทันสมัยให้กับโครงสร้างพื้นฐานไอที 64% การพัฒนาแอปพลิเคชัน 54% และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล 53% โดยนิยมนำไปใช้กับสามระบบหลัก คือ ระบบเครือข่าย 54% ฐานข้อมูล 53% ระบบความปลอดภัย 52% และเป็นการพัฒนาออกมาในรูปแบบเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์และคูเบอร์เนตีส  

เร้ดแฮทยังกล่าวว่า คอนเทนเนอร์และคูเบอร์เนตีสสำคัญต่อกลยุทธ์การพัฒนาแอปพลิเคชันแบบคลาวด์-เนทีฟ ในฐานะกุญแจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รวมถึงต่อยอดสู่การทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นอย่างเอดจ์ ไอโอที เว็บเซอร์วิส เอไอ หรือ แมนชีนเลิร์นนิ่ง ซึ่งเริ่มมีการใช้งานมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคธุรกิจการเงิน และธุรกิจสุขภาพ

คอนเทนเนอร์กับแอปฯ แบบคลาวด์-เนทีฟ   

หลายองค์กรคงเคยตั้งคำถามว่า คอนเทนเนอร์จะช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างไร...? 

เป็นที่รู้กันว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลทำให้องค์กรต้องการแอปพลิเคชันบนหลักการทำงานของคลาวด์ซึ่งเน้นการสร้าง ติดตั้งใช้งาน และบริหารจัดการที่คล่องตัว แอปพลิเคชันแบบคลาวด์-เนทีฟที่มีเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ และคูเบอร์เนตีสเป็นแกนกลาง ได้สร้างกระบวนการพัฒนาแบบ DevOps เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างทีมพัฒนา ทีมทดสอบ ทีมความมั่นคงปลอดภัย ทีมดูแลระบบ และทีมส่งมอบการใช้งาน โดยทำให้

  • ทีมพัฒนาและทดสอบแอปพลิเคชันสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมของระบบในขั้นตอนการพัฒนา การผลิต และทดสอบระบบให้เป็นแบบเดียวกันได้เพื่อลดความผิดพลาด และทำให้ขั้นตอนการพัฒนาแบบ DevOps มีความชัดเจน และใช้เวลาสั้นลง
  • เตรียมความพร้อมรองรับสถาปัตยกรรมแบบไมโครเซอร์วิส ซึ่งช่วยให้การพัฒนาระบบมีความเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น โดยสามารถเลือกปรับปรุงแยกย่อยเฉพาะบางระบบโดยไม่กระทบต่อระบบงานอื่น
  • ปรับเปลี่ยนได้ง่ายขึ้นโดยไม่ยึดติดกับสภาพแวดล้อมการใช้งานมากนัก ทั้งการขยายระบบเพื่อรองรับการใช้งานจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว หรือโยกย้ายใช้งานข้ามอินฟราสตรัคเจอร์ได้ง่ายทั้งระบบในองค์กรหรือบนคลาวด์
  • ลดปริมาณทรัพยากรโดยรวมที่ต้องใช้ในระบบได้ดีกว่าการใช้งานเวอร์ช่วลแมชชีน (VM) เป็นหลัก
  • ออกแบบระบบให้ทำงานทดแทนกันได้ง่ายกว่าเดิม รวมถึงเพิ่มความทนทานให้กับแอปพลิเคชันโดยรวม

Red Hat OpenShift

แนวโน้มของการใช้งานเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ในการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ ขององค์กรนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยข้อดีหลากหลายประการทั้งในเชิงเทคนิคและการลงทุน เร้ดแฮทเองถือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกตลาดคอนเทนเนอร์ในองค์กรรายแรกๆ ได้พัฒนาโซลูชันที่เรียกว่า Red Hat OpenShift ซึ่งได้นำจุดเด่นของคอนเทนเนอร์และคูเบอร์เนตีสมาผสานและปรับแต่งให้เหมาะสมกับการใช้งานภายในองค์กร รวมถึงการพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบ Platform-as-a-Service (PaaS) โดยการรวบรวมเครื่องมือต่างๆที่จำเป็นในการพัฒนาแอปพลิเคชันมาให้ครบ ทำให้องค์กรสามารถมุ่งเน้นในการพัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างเต็มที่และยังสามารถใช้ OpenShift ในรูปแบบของ On-premise และบน Public Cloud ชั้นนำ ช่วยตอบโจทย์การทำ DevOps และ มัลติคลาวด์ภายในองค์กร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บริษัทยิบอินซอย มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษารวมถึงการติดตั้งเพื่อให้องค์กรภาคธุรกิจพร้อมก้าวไปสู่โลกดิจิตอลอย่างมั่นใจ ด้วยเทคโนโลยีคอนเทนเนอร์ กับ Red Hat OpenShift

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด