เนื้อหาวันที่ : 2018-09-24 17:28:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4465 views

เติมแต้มต่อทางธุรกิจด้วยเทคโนโลยีแบบอินเทลลิเจนท์

วิชญ์ วงศ์หาญเชาว์

Business Development–Digital Transformation

บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

การแข่งขันทางธุรกิจเข้มข้นขึ้นจนองค์กรที่มี บิสซิเนส อินเทลลิเจนซ์ ในการวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจเริ่มไม่เพียงพอต่อการแข่งขันทางธุรกิจ บริษัทเริ่มกลับมามองข้อมูลที่ตัวเองมี ดึงข้อมูลจากภายนอก เพื่อนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ตอบสนองความต้องการให้กับลูกค้า เช่น 1.มีการปรับปรุง ปรับเปลี่ยน ขบวนการผลิตและให้บริการเพื่อให้มีประสิทธิภาพทั้งในแง่ของคุณภาพ เวลา ต้นทุน 2.สร้างระบบที่รองรับการผลิตสินค้าหรือบริการสำหรับลูกค้าแต่ละคนจำนวนมาก ๆ ได้ (Mass Customization) เพื่อรองรับความต้องการของแต่ละคน โดยเฉพาะคนเจนเนอเรชั่นใหม่ ๆ ที่มีทางเลือกมีความต้องการปัจเจก และ 3.สร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อที่จะนำเสนอกลุ่มบริการและผลิตภัณฑ์เต็มรูปแบบที่เป็นประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้า ตัวอย่างทั้ง 3 ข้อข้างต้นก็เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าอันจะนำไปสู่การสร้างโอกาส สร้างเสริมรายได้ และความสำเร็จทางธุรกิจ

เมื่อเราเอาลูกค้าขึ้นมาเป็นตัวตั้ง มองจากมุมลูกค้ายุคโมบิลิตี้ที่สามารถเลือก ค้นหาข้อมูลเปรียบเทียบ ได้จากทุกที่ทุกเวลา เราจึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่ตอบสนองได้อย่างรวดเร็วจากข้อมูลปัจจุบัน (Automate and Real Time) นำเสนอข้อมูลที่ตรงกับความต้องการ (Relevant)  จึงหนีไม่พ้นกับการต้องใช้เทคโนโลยีแบบอินเทลลิเจนท์มาเป็นเครื่องมือ ใช้ปัญญาประดิษฐ์ที่โต้ตอบและแก้ไขปัญหาได้เหมือนหรือใกล้เคียงมนุษย์ บทความนี้ จึงขอนำเสนอภาพความเป็นไปของเทคโนโลยีที่ฉลาดมากขึ้นไว้เป็นไอเดียกว้าง ๆ ในการปรับแต่งระบบไอที และเพิ่มเติมส่วนที่ขาด เพื่อตอบโจทย์ความเป็นองค์กรธุรกิจอัจฉริยะ (Intelligence & Automation) อย่างแท้จริงในอนาคต

บริการไอทีแบบครบจบทุกสิ่ง: รายงานสถานะด้านไอทีปี 2561 โดย สไปรซ์เวิร์ค ชี้ถึงรูปแบบบริการด้านไอทีที่ธุรกิจต้องการเพิ่มขึ้นในอนาคตได้แก่ บริการระบบจัดการไอทีแบบอัตโนมัติ (IT Automation) บริการระบบจัดเก็บข้อมูลที่ควบคุมด้วยซอฟต์แวร์ (SDS) บริการเครือข่ายจัดเก็บข้อมูลแบบเสมือน (Virtual SAN) บริการจัดการเครือข่ายด้วยซอฟต์แวร์ (SDN) รวมถึงบริการจัดการโครงสร้างพื้นฐานแบบไฮเปอร์คอนเวอร์เจนซ์ (Hyper-convergence) เช่นเดียวกับการ์ทเนอร์ ซึ่งชี้ให้เห็นบริการไอทีบนคลาวด์ที่กำลังเพิ่มขึ้นจากเดิม ได้แก่ บริการการบริหารกระบวนการธุรกิจบนคลาวด์ (BPaaS) บริการด้านความปลอดภัยและการบริหารจัดการคลาวด์ และบริการการจัดทำโฆษณาผ่านคลาวด์ เป็นต้น นับจากนี้ รูปแบบบริการด้านไอทีบนคลาวด์จะไม่จำกัดอยู่ที่บริการด้านซอฟต์แวร์ (SaaS) แพลตฟอร์ม (PaaS) และอินฟราสตรัคเจอร์ (IaaS) อีกต่อไป แต่จะเป็นการจัดบริการไอทีทุกประเภทที่องค์กรต้องการ หรือ XaaS  (Anything as a Service) การเลือกใช้บริการบนคลาวด์จึงต้องสมดุลทั้งในแง่ความรวดเร็วในการออกผลิตภัณฑ์และการถูกผูกขาดกับ Vendor เจ้าใดเจ้าหนึ่ง แต่ทั้งนี้เนื่องจากบริการบนคลาวด์มีใหม่ ๆ ออกมาจำนวนมากอย่างรวดเร็ว การ Reimplement จะสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าในอดีตที่ผ่านมา

ความลงตัวของคลาวด์ลูกผสม: คลาวด์แบบไฮบริดจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบไอที และจะโตขึ้นกว่า 50% ในปี 2563 ตามการคาดการณ์ของ 451 รีเสิร์ช เนื่องจากองค์กรต้องการรูปแบบการทำงานที่ปรับเปลี่ยนได้เร็ว มีบริการที่สามารเรียกใช้ เช่น Machine Learning, AI เหมือนคลาวด์สาธารณะ แต่ยังคงความปลอดภัยอยู่ในดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเอง (Public Cloud-like on Premise) ความคุ้มค่าของระบบงาน คือ การที่องค์กรสามารถจัดประเภทและปริมาณงานของแต่ละคนแต่ละแผนกว่าควรใช้งานบนไอทีระบบไหน การจัดปรับทรัพยากรไอทีให้พร้อมใช้ได้ตลอดเวลาตามที่ต้องการ ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และควบคุมการใช้งานไอทีได้อย่างถูกต้อง ทั้งเป็นการบริหารค่าใช้จ่ายด้านไอทีที่ไม่กระทบกับกระแสเงินสดของธุรกิจมากนัก เพราะเป็นการจ่ายเท่าที่ใช้จริง

จาก Hyper-convergence สู่ Composable: โครงสร้างพื้นฐานแบบไฮเปอร์คอนเวอร์เจนซ์ในการจัดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน กำลังขยับไปสู่ความเป็น Composable  ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการทรัพยากรข้อมูล (Resource Pool) หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ในระบบ โดยมีซอฟต์แวร์ที่มีความชาญฉลาดมาเป็นตัวควบคุมหรือบริหารจัดการ (Software-Defined Infrastructure) เพื่อผสมผสาน สับเปลี่ยนแพลตฟอร์มการทำงานต่าง ๆ หรือเรียกคืนทรัพยากรกลับสู่ส่วนกลางเมื่อไม่ต้องการใช้งาน ในแนวทางที่กว้างขวางมากกว่าเดิม เช่น เอพีไอ (API) ในการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อสร้างระบบการจัดการทรัพยากรสำหรับทำงานแบบอัตโนมัติ และเพิ่มความสะดวกในการการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวอุปกรณ์บ่อย ๆ เป็นต้น กล่าวคือมีอินเทลลิเจนท์เทคโนโลยีมาลดเวลาขั้นตอนการสร้างการโยกย้ายโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามความต้องการของแอปพลิเคชันและปริมาณงานโดยอัตโนมัติ

เมื่อสตอเรจทุกตัว คือ เทคโนโลยีแฟลช: ณ ชณะนี้ เรากำลังก้าวเข้าสู่คลื่นลูกที่สามเทคโนโลยีสตอเรจที่เรียกว่า All Flash Data Center ที่ในอนาคตจะเป็นการใช้งานแฟลชเต็มรูปแบบ หมายความว่า แอปพลิเคชันต่อจากนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานร่วมกับแฟลชแทนการจัดเก็บบนดิสก์ประเภทจานหมุนซึ่งจะค่อย ๆ หายไปในที่สุด โดยการ์ทเนอร์ยืนยันว่า การใช้งานแฟลชในการจัดเก็บข้อมูลแทนฮาร์ดดิสก์ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 76%  ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาได้ 16% ลดค่าใช้จ่ายในการจัดการ 48% และเพิ่มพื้นที่ในตู้จัดเก็บได้เกินกว่า 48% นอกจากนี้ เทคโนโลยีแฟลชซึ่งออกแบบมาให้จัดเก็บข้อมูลที่มีโครงสร้างหลากหลายในปริมาณมาก สับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายได้อย่างรวดเร็ว และทำให้การแบ็คอัพข้อมูลในอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย

การเพิ่มพื้นที่สื่อสารและการทำงานเแบบดิจิทัล: จะเกิดการพัฒนาเครือข่ายไร้สายในโหมดการทำงานแบบคลาวด์ในยุคไอโอทีและบิ๊ก ดาต้า ผ่านอุปกรณ์เอพี (AP) เพื่อจ่ายคลื่นความถี่ที่สะอาดที่สุดและได้ความเร็วสูงสุด รวมทั้ง การพัฒนาแอปพลิเคชันแบบเอไอที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับใช้วิเคราะห์ขั้นสูงที่จะมีผลต่อการประกอบธุรกิจ หรือพัฒนากระบวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เราคงเคยได้ยิน “Work Hard หรือจะ Work Smart” Work Hard ได้ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรกับสมองกล ตอนนี้ Work Smart กำลังลังถูกแทนที่ด้วย Artificial Intelligent ทั้งสองยังคงต้องมีมนุษย์ดูแลกำกับเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ แต่ถ้าจะมองคุณค่าที่สูงขึ้นคงต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้มีความคิดสร้างสรรค์ Creativity ถึงจะอยู่รอดยั่งยืน เทคโนโลยีแบบอินเทลลิเจนท์ ก็จะยังคงเป็นเพียงแค่เครื่องมือของมนุษย์ต่อไป   

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด