เนื้อหาวันที่ : 2007-11-07 09:59:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6335 views

Logistics Competency เก่งคน เก่งกระบวนการ

การพูดถึงการวัดและการจัดการความสามารถในการทำงาน ในระบบทั้งราชการและธุรกิจอยู่เสมอ เห็นมีทั้งที่เข้าใจและอาจจะไม่เข้าใจในความหมายของ Competency นี้ ในแวดวงราชการและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ของบริษัทใหญ่ ๆ ต่างก็ค้นหาวิธีการที่จะสร้าง Competency และวัด Competency ของบุคลากรของบริษัทตนเอง

ในระยะนี้มีการพูดถึงการวัดและการจัดการความสามารถในการทำงาน (Competency) ในระบบทั้งราชการและธุรกิจอยู่เสมอ เห็นมีทั้งที่เข้าใจและอาจจะไม่เข้าใจในความหมายของ Competency นี้ ในแวดวงราชการและการจัดการทรัพยากรมนุษย์ (HR) ของบริษัทใหญ่ ๆ ต่างก็ค้นหาวิธีการที่จะสร้าง Competency และวัด Competency ของบุคลากรของบริษัทตนเองประกอบกับกระแสของการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) ที่กำลังตื่นตัวและมีความพยายามนำเอามาประยุกต์ใช้กันมากขึ้น โดยหวังว่าการดำเนินธุรกิจน่าจะดีขึ้นหรือคิดว่าจะทำเพราะเป็นข้อกำหนดที่ต้องทำหรือเป็นนโยบายของบริษัท

 .

Competency คืออะไร

จาก Wikipedia Encyclopedia คำว่าความสามารถในการทำงาน (Competency) นั้นมหลายความหมาย ในความหมายของการจัดการทรัพยากรมนุษย์นั้นหมายถึงความต้องการหรือข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสำหรับบุคคลใดบุคคล หนึ่ง ที่จะปฏิบัติงานเฉพาะอย่างได้เหมาะสม ความสามารถในการทำงาน จะครอบคลุมถึงการรวบรวมเอาความรู้ ความชำนาญและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในการปรับปรุงสมรรถนะ โดยทั่วไปแล้ว Competency คือ สถานะหรือคุณภาพของการมีคุณสมบัติพอเพียงหรือดีพอสำหรับการมีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่เฉพาะนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น  ความสามารถในการทำงาน ในการจัดการจะรวมถึงคุณสมบัติของการคิดเชิงระบบและการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ และความชำนาญในการมีอิทธิพลเหนือบุคคลอื่นและการเจรจาต่อรอง  

 .

บุคคลหนึ่ง ๆ จะมีความสามารถในการทำงาน ตราบเท่าที่ความชำนาญ ความสามารถ และความรู้ที่ประกอบเป็นความสามารถในการทำงาน เป็นส่วน หนึ่ง ของบุคคลนั้น และทำให้บุคคลนั้น ๆ ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิผลภายในภาวะแวดล้อมการทำงานเฉพาะ ดังนั้นเมื่อใครคนใดคน หนึ่ง อาจจะไม่ได้สูญเสียความรู้ ความสามารถหรือความชำนาญไป แต่ก็อาจจะสูญเสียความสามารถในการทำงานไป ถ้าสิ่งที่เป็นความจำเป็นในการปฏิบัติงานเปลี่ยนไป กระบวนการเปลี่ยนไป ผลิตภัณฑ์และความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไป

 .

ดังนั้นคงจะต้องมาคิดและพิจารณากันในความหมายของความสามารถในการทำงานกันใหม่เพราะว่าประเด็นของการสร้างและพัฒนาความสามารถในการทำงานกลับไปตกอยู่ที่แผนกทรัพยากรบุคคลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในความเห็นของผมนั้น ยังไม่ถูกต้องเพราะการกำหนดความสามารถในการทำงานของบุคคลที่ปฏิบัติงานนั้นควรจะมาจากการออกแบบกระบวนการธุรกิจ (Business Process Design) ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลจะนำข้อกำหนดเหล่านั้นมาประเมินและพัฒนาความรู้ ความสามารถและความชำนาญของบุคลากรให้ตรงกับข้อกำหนดของกระบวนการธุรกิจ คงไม่ใช่การฝึกอบรมให้ความรู้กัน โดยไม่รู้ว่าที่จริงแล้วกระบวนการธุรกิจนั้นต้องการบุคคลประเภทไหนมาปฏิบัติงาน

 .

Logistics Competency

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงความสามารถในการทำงาน (Competency) ของลอจิสติกส์ เราจะต้องมีความเข้าใจในความหมายของลอจิสติกส์เสียก่อน ความสามารถในการทำงาน ของลอจิสติกส์จึงสามารถกำหนดได้จากคำนิยามของการจัดการลอจิสติกส์ แต่เมื่อเข้าใจในความหมายของลอจิสติกส์ไม่ตรงกันก็ย่อมทำให้การกำหนด ความสามารถในการทำงาน ไม่เหมือนกัน    

 .

ดังนั้นความสามารถในการทำงาน ของลอจิสติกส์ คือการนำส่งผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องไปยังสถานที่ที่ถูกต้องในจำนวนที่ถูกต้องและตรงเวลาด้วยสภาพเดิมในต้นทุนที่ยอมรับได้ ขอบข่ายของกิจกรรมสาขาต่าง ๆ ของลอจิสติกส์ จะประกอบไปด้วย การจัดซื้อ การจัดการผู้จัดส่งวัตถุดิบ การจัดการวัตถุดิบ การผลิต การจัดการสินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้า การกระจายสินค้า การขนส่ง และการบริการลูกค้า โดยเฉพาะความหมายของลอจิสติกส์นั้นครอบคลุมไปเกือบทุกกิจกรรมในองค์กร ดังนั้นกิจกรรมลอจิสติกส์ขององค์กรจึงถูกจัดกลุ่มออกเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ทั่วทั้งองค์กร

 .

แต่ละกิจกรรมนั้นก็มีฟังก์ชันการทำงานและความชำนาญที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่สำคัญที่ลอจิสติกส์แตกต่างไปจากอดีต คือกิจกรรมลอจิสติกส์เหล่านี้จะมีความสัมพันธ์ขึ้นตรงต่อกันและผู้ปฏิบัติงานจะต้องทำงานร่วมกันและมีความเข้าใจถึงผลการปฏิบัติงานที่มีผลกระทบต่อโซ่อุปทาน เพื่อที่จะจัดการและประสานงานกันอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะปรับปรุงโซ่อุปทานทั้งหมด องค์กรจึงต้องการบุคลากรที่มีความชำนาญในการจัดการสูงและมีกำลังความสามารถในการมีบทบาทที่สำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรในระยะยาว

 .

ความสามารถในการทำงาน หลักของการจัดการลอจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ใด ๆ ในองค์กร คือจะต้องมีความสามารถในการวางแผน การดำเนินงาน การควบคุม และการปรับปรุง รวมถึงความสามารถในการใช้ข้อมูลสารสนเทศในการตัดสินใจเพื่อให้กิจกรรมการเคลื่อนย้ายหรือจัดเก็บสินค้า ยังต้องคำนึงถึงประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการดำเนินงานนั้นด้วย และที่สำคัญมาก ๆ ของการจัดการลอจิสติกส์คือ ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าเป็นหลักสำคัญด้วย ไม่ใช่แค่คุณเคยทำงานขนส่งหรือการจัดเก็บในคลังสินค้าจะสามารถมีความสามารถในเชิงลอจิสติกส์ได้ ความสามารถในการทำงาน ที่สำคัญของลอจิสติกส์คือ ความสามารถในการจัดการเชิงบูรณาการตั้งแต่ต้นชนปลายในกระบวนการธุรกิจ การจัดการกิจกรรมลอจิสติกส์ของแต่ละส่วนก็จะมีความแตกต่างกันไปตามฟังก์ชันการทำงาน แต่จะมีการประสานงานกันตลอดโซ่อุปทานภายในองค์กรหรือแผนกต่าง ๆ ในองค์กร 

 .

ส่วนความสามารถในการทำงาน ของกิจกรรมลอจิสติกส์ต่าง ๆ ตั้งแต่ การจัดซื้อจัดหา การจัดเก็บ การจัดการผลิต การจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูป การจัดส่ง จนถึงการขายและการบริการหลังการขาย ล้วนมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกกิจกรรมในลอจิสติกส์นั้นจะต้องมีการเชื่อมโยงถึงกันในเชิงการวางแผนผ่านทางกิจกรรมโซ่อุปทานและเป็นส่วน หนึ่ง ของกระบวนการธุรกิจที่มีเป้าหมายในการดำเนินงานเดียวกัน คือการตอบสนองความต้องการของลูกค้า 

 .

การมี Competency ไม่ได้วัดจาก "เรียนอะไรมา"

การศึกษาไทยกำลังมีปัญหาเพราะธุรกิจอุตสาหกรรมคาดหวังว่าผู้ที่เรียนมาทางด้านใดน่าจะทำงานในด้านนั้นได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เลย ความสามารถในการทำงาน นั้นไม่ได้ถูกกำหนดว่าคุณจบการศึกษาจากสาขาวิชาอะไร แต่ความสามารถในการทำงานของแต่ละคนถูกพัฒนามาจากการทำงานและภาวะความเป็นผู้นำของแต่ละบุคคล ผลการเรียนในระบบการศึกษาเป็นแค่ความสามารถเบื้องต้นที่ให้โอกาสคุณได้เรียนรู้และแสดงถึงศักยภาพและความสามารถในคุณในสาขาที่คุณเลือกเรียน แต่ก็ไม่บอกคุณว่าคุณไม่สามารถทำอย่างอื่นได้และไม่ได้ปิดกั้นคุณจากการทำงานในสาขาที่ไม่ได้ร่ำเรียนมา

 .

มีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่าหลายคนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละสาขาอาชีพนั้นไม่ได้ร่ำเรียนหรือจบการศึกษามาทางด้านนั้นโดยตรง แต่ที่แน่ ๆ คือ การมีประสบการณ์การทำงานทางด้านนั้นมาและการสั่งสมความรู้ความสามารถมาโดยตลอด โดยไม่จำเป็นต้องจบมาทางด้านนั้นโดยตรง ผลงานและประสบการณ์การทำงานจะเป็นตัวบ่งชี้ความสามารถของบุคคลนั้น ยิ่งคุณอายุมากเท่าไร คุณจะใช้ใบรับรองผลการเรียน น้อย ลงจนอาจจะไม่มีใครสนใจเลย แต่กลับเป็นผลงานจากการทำงานที่ผ่านมาในอดีตเป็นตัววัดความสามารถของคุณ

 .

ดังนั้นหลายคนที่อยากจะมีความสามารถในการทำงานในด้านต่าง ๆ ก็ไปศึกษาหาความรู้เอาจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ เท่าที่มี แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเรียนปริญญาโทหรือเอกกันอีกให้เสียเวลา นอกจากจะมีจุดประสงค์อื่น ทำไมเราไม่ทำให้การทำงานนั้น คือการเรียนรู้ไปในตัว เพียงแต่ไม่มีใครมาให้ปริญญาคุณ แต่คุณสามารถใช้ผลงานของคุณในการประกันความสามารถของคุณได้ ถ้าใครมีโอกาสได้ทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทหรือเอกก็จะพบว่า รูปแบบการทำงานในชีวิตจริงหรือในการทำวิทยานิพนธ์มีหลักการที่คล้ายกันมากในการแก้ปัญหาหรือการจัดทำโครงการต่าง ๆ ในการจัดการธุรกิจ เพียงแต่อยู่กันคนละสถานะกันเท่านั้น การแก้ปัญหาต่าง ๆ ในธุรกิจนั้นไม่ได้แตกต่างการนำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ปัญหาในการทำวิทยานิพนธ์เลย ที่จริงแล้วการจัดการธุรกิจก็เหมือนอนุกรมของการทำวิทยานิพนธ์ในปัญหาต่าง ๆ ที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้อยู่รอดและยั่งยืนนั่นเอง 

 .

การพัฒนา Logistics Competency

 

ในอนาคตข้างหน้าคงจะมีสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่งเปิดหลักสูตรด้าน Logistics และ Supply Chain แต่ระบบการศึกษาก็ไม่ได้สร้างให้คนเรานั้นมีความสามารถในการทำงาน ตามที่ต้องการได้ หลักสูตรลอจิสติกส์และโซ่อุปทานก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าธุรกิจอุตสาหกรรมจะได้บุคลากรที่มีความสามารถในการทำงานตามที่ต้องการแล้ว ความสามารถในการทำงานเหล่านั้นจะมาจากไหน ก็คงต้องมาจากตัวธุรกิจเองที่เป็นคนกำหนดกระบวนการธุรกิจ และปลูกฝังเข้าไปกับวัฒนธรรมขององค์กร ความสามารถของคนที่จะเข้ามาทำงานหรือปฏิบัติงานจะถูกกำหนดโดยกระบวนการธุรกิจ (Business Process) ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือสถาบันการศึกษาก็พัฒนาบุคลากรตามข้อกำหนดในการปฏิบัติงานในกิจกรรมลอจิสติกส์จากกระบวนการธุรกิจนั่นเอง   

 .

Logistics Competency มีอยู่หลายระดับทั้งแต่ เชิงยุทธศาสตร์ (Strategic) เชิงยุทธวิธี (Tactical) และเชิงการปฏิบัติการ (Operational) ความสามารถในการทำงาน (Competency) ที่สำคัญของการจัดการลอจิสติกส์น่าจะอยู่ที่การคิดและตัดสินใจในเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีมากกว่า เพราะในระดับการปฏิบัติการนั้นมีการดำเนินการและพัฒนาการมาอยู่โดยตลอดในชุมชนธุรกิจ ขาดเพียงแต่การบูรณาการเข้ากับการวางแผนและตัดสินใจในระดับที่สูงขึ้น กิจกรรมลอจิสติกส์ในอดีตนั้นเป็นกิจกรรมในระดับการปฏิบัติการทั้งนั้น แต่ในปัจจุบันด้วยลอจิสติกส์คำเดียวกันนี้ได้มีความหมายที่ถูกขยายขอบเขตออกไปครอบคลุมการจัดการการดำเนินการทั้งองค์กร และดูเหมือนจะเป็นคำที่ใช้สื่อสารความหมายของการจัดการเชิงบูรณาการในการปฏิบัติการไปเสียแล้ว ความหมายของลอจิสติกส์นี้จะมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงไปถึงการจัดการโซ่อุปทานด้วย

 .

ดังนั้นความสามารถในเชิงลอจิสติกส์นี้จะต้องมาจากประสบการณ์ด้านการจัดการในด้านการปฏิบัติการที่ต้องผสมผสานกับภาวะความเป็นผู้นำในแต่ละลักษณะองค์กรธุรกิจ ความสามารถเชิงลอจิสติกส์นี้บางครั้งสอนกันไม่ได้ ต้องประสบกับตัวเองและพัฒนาขึ้นมาด้วยกรณีศึกษาของตัวเอง ความสามารถเชิงการจัดการเหล่านี้หลายคนได้รับประสบการณ์จากระบบการทำงานขององค์กรที่แตกต่างกันไป ที่สำคัญกรอบความคิด (Mindset) ของบุคคลที่มีความสามารถเชิงลอจิสติกส์จะต้องมีลักษณะที่คำนึงถึงการจัดการการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นประเด็นใหญ่และการคิดให้เป็นองค์รวม (Holistic Thinking) ซึ่งจะทำให้การควบคุมและพัฒนากระบวนการธุรกิจเป็นไปตามวัตถุประสงค์ขององค์ธุรกิจ

 .

ความสามารถหลักของลอจิสติกส์ คือ การกำหนดปัญหา การวิเคราะห์ปัญหา การแก้ปัญหา การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการลอจิสติกส์ให้ยั่งยืน (Sustainable) ซึ่งก็เป็นพื้นฐานของการจัดการทั่วไป ในอดีตกระบวนการหรือขั้นตอนเหล่านี้อาจจะยังไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ แต่ในปัจจุบันที่ความต้องการของลูกค้ามีความซับซ้อน (Complexity) ขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันบทบาทหรือหลักคิดในการจัดการในอดีตก็ยังคงนำมาใช้ในการจัดการได้ แต่ก็ต้องปรับตัวไปตามภาวะของตลาดและเทคโนโลยีที่มีอยู่ จากแนวคิดและความสามารถในการจัดการแบบดั้งเดิม ลอจิสติกส์ถูกใช้เป็นพื้นฐานในการปรับตัว (Adapt) ในสภาพธุรกิจที่เป็นพลวัตร (Dynamic) จึงทำให้ผู้ที่อยู่ในวงการลอจิสติกส์จะต้องมีความตระหนักในความเป็นพลวัตรของธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง

 .
Put the right man to the right process

ที่สุดแล้วตัวบุคลากรเองก็ยังไม่สำคัญเท่ากระบวนการธุรกิจ เพราะกระบวนการธุรกิจจะกำหนดคุณสมบัติของบุคลากรที่จะเข้ามาดำเนินงานในกระบวนการธุรกิจซึ่งจะมีกิจกรรมลอจิสติกส์และโซ่อุปทานอยู่เสมอ แต่กระบวนการธุรกิจเองก็ถูกออกแบบโดยผู้ออกแบบ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการตอบสนองความต้องการลูกค้า แต่เดิมเรามักจะพูดกันว่า Put the right man to the right job ในปัจจุบันอาจจะไม่ใช่ Job แล้ว แต่เป็นกระบวนการธุรกิจ (Business Process) แทน เพราะกระบวนการธุรกิจมักจะมีหลายงาน (Jobs) ผลการปฏิบัติการที่ดีจากกระบวนการธุรกิจย่อมมาจากกระบวนการที่ถูกต้องและบุคลากรที่ถูกต้อง

 .

และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกำหนดความสามารถของบุคลากรโดยไม่รู้และไม่เข้าใจกระบวนการธุรกิจหลายบริษัทพยายามที่จะกำหนดความสามารถในการทำงาน (Competency) ของพนักงานแต่ละคนโดยที่ยังไม่รู้รายละเอียดหรือข้อมูลของกระบวนการธุรกิจ แต่ในหลายกรณีบริษัทเหล่านั้นก็สามารถที่จะกำหนดความสามารถในการทำงานของบุคลากรจากมุมมองของ HR และมีความเข้าใจว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจนั้นเกิดจากผลการปฏิบัติงานของบุคลากร แต่จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เมื่อต้องการวัดผลลัพธ์ของธุรกิจ  ไม่ใช่วัดที่คน (Human Performance) แต่ให้วัดที่กระบวนการ (Process Performance) แต่ผลลัพธ์ของกระบวนการจะประกอบไปด้วยทั้งความสามารถของบุคลากรและความถูกต้องของกระบวนการ

 .

บางครั้งบุคคลมีความสามารถดีแต่กระบวนการไม่ถูกต้อง ผลลัพธ์ก็ออกมาไม่ดี ดังนั้นการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรจะถูกกำหนดมาจากกระบวนการธุรกิจที่ถูกออกแบบมาจากความต้องการของลูกค้า และในยุดปัจจุบันเมื่อความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กระบวนการธุรกิจเปลี่ยน (Business Process Change) ไปด้วย ความสามารถในการทำงาน (Competency) ก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ยิ่งลอจิสติกส์และโซ่อุปทานในมุมมองของผมเป็นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงตามลูกค้าแล้ว Logistics Competency ก็ยิ่งต้องมีความหลากหลายและยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา   

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด