เนื้อหาวันที่ : 2017-11-24 12:42:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1908 views

โจมตีเครื่องเอทีเอ็ม : ช่องทางทำเงินของมัลแวร์เอทีเอ็ม

 


โดย : เอ็ด คาบรีรา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ บริษัท เทรนด์ ไมโคร

บริษัท เทรนด์ ไมโคร และศูนย์อาชญากรรมไซเบอร์แห่งยุโรป (European Cybercrime Center - EC3) ของยูโรโพล (Europol) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับภาพรวมของมัลแวร์เอทีเอ็มให้กับสาธารณชนได้รับทราบ โดยรวบรวมข้อมูลจากรายงานของปี 2559 ที่มีการเผยแพร่ในรูปแบบส่วนตัวไปยังสถาบันการเงินและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก รายงานนี้ครอบคลุมข้อมูลทุกด้านของมัลแวร์ที่ตั้งเป้าโจมตีเครื่องเอทีเอ็ม รวมถึงผู้กระทำผิดที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว

การขยายตัวและนวัตกรรมของเครื่องเอทีเอ็ม
เราพบว่าเครื่องเอทีเอ็มทั่วโลกมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 4 ล้านเครื่องภายในปี พ.ศ. 2564 อย่างไรก็ตามในประเทศสหรัฐอเมริกาอาจมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นไม่สูงนักอาจมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมไปถึงการเปลี่ยนมาใช้ระบบบัตรชำระเงินแบบอีเอ็มวี (EMV Migration) แต่แนวโน้มก็ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกเยอะเลยทีเดียว

จากการวิเคราะห์ของสมาคมอุตสาหกรรมเอทีเอ็ม (ATM Industry Association - ATMIA) พบข้อมูลใหม่ นั่นคือ จำนวนเครื่องเอทีเอ็มที่มีการใช้งานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวนประมาณ 475,000 ถึง 500,000 เครื่อง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเอทีเอ็มเพื่อยกระดับขีดความสามารถและสร้างบริการใหม่ ๆ ผ่านระบบเอทีเอ็มเพิ่มขึ้นด้วย สิ่งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจการธนาคารในโลกแห่งความเป็นจริง เนื่องจากจะมีจำนวนสาขาน้อยลง สำนักงานมีขนาดเล็กลงอันสืบเนื่องมาจากเครื่องเอทีเอ็มที่มีขีดความสามารถเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันเครื่องเอทีเอ็มพร้อมให้บริการสำหรับการโอนเงินระหว่างบุคคล (P2P) โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของความพร้อมบริการเงินสด มีต้นทุนการทำธุรกรรมที่ต่ำลง รองรับสกุลเงินต่าง ๆ สามารถซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่า Crypto Currency ได้ และรายงานข้อมูลที่ได้จากระบบ Coin ATM Radar พบว่าปัจจุบันมีเครื่องเอทีเอ็มสำหรับบิตคอยน์แล้วเป็นจำนวนเกือบ 1,600 เครื่องทั่วโลก

ทั้งนี้ ในอนาคตเราจะเห็นการทำธุรกรรมเงินสดแบบไม่ต้องใช้บัตร แต่ดำเนินการผ่านโทรศัพท์มือถือที่ใช้เทคโนโลยี Near Field Communication (NFC), Bluetooth และ iBeacon นอกจากนี้ยังมีบริการผ่านแอปพลิเคชันเพื่อสร้างรูปแบบการใช้งานที่เป็นส่วนตัว สามารถปรับแต่งได้ตามต้องการ อย่างไรก็ตามการเชื่อมต่อที่เพิ่มมากขึ้นและบริการที่ขับเคลื่อนด้วยแอปย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านการรักษาความปลอดภัยเครื่องเอทีเอ็มทั้งทางกายภาพและเครือข่ายเพื่อให้สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ล่วงหน้า

ระบบทางกายภาพกับบนเครือข่าย
การโจมตีเครื่องเอทีเอ็มและระบบเครือข่ายของเอทีเอ็มกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนการโจมตีทางกายภาพนั้นนักวิจัยของเราได้แยกให้เห็นถึงสิ่งที่มัลแวร์เอทีเอ็มจำนวนมากกำลังให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ มิดเดิลแวร์ XFS (ส่วนเชื่อมขยายสำหรับระบบบริการทางการเงิน) โดยผู้ให้บริการมิดเดิลแวร์จะใช้มาตรฐาน XFS เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมไคลเอนต์/เซิร์ฟเวอร์สำหรับแอปพลิเคชันทางการเงินบนแพลตฟอร์มไมโครซอฟท์ วินโดวส์ จากนั้นแอปพลิเคชันทางการเงินที่ดำเนินงานผ่านตัวจัดการ XFS โดยใช้ XFS API จะสื่อสารกับอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ เช่น แผงปุ่มกด PIN, เครื่องจ่ายเงินสด และเครื่องพิมพ์ใบเสร็จ ซึ่งมิดเดิลแวร์ดังกล่าวเป็นส่วนเชื่อมต่อภายในตู้เอทีเอ็มจำนวนมาก (ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ รุ่น หรือผู้จำหน่ายตัวเครื่องรายได้ก็ตาม) การใช้ประโยชน์จากความเป็นสากลของ XFS กับตู้เอทีเอ็มที่มี "ช่องโหว่" ถือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงมากสำหรับนักพัฒนามัลแวร์ เนื่องจากสามารถดำเนินการเพียงครั้งเดียวก็สามารถเจาะระบบได้อย่างต่อเนื่องในวงกว้าง

สำหรับการโจมตีบนเครือข่ายนั้นนักวิจัยของเราได้วิเคราะห์การโจมตีล่าสุดที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2559 อาชญากรไซเบอร์ในยุโรปตะวันออกได้ใช้มัลแวร์เพื่อถอนเงิน 2.5 ล้านเหรียญจากตู้เอทีเอ็ม 41 เครื่องใน 3 เมืองใหญ่ของไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีรายงานการตรวจพบมัลแวร์ในลักษณะเดียวกันอีกหลายรายการ เช่น Cobalt Strike, Anunak/Carbanak, Ripper และ ATMitch การโจมตีทั้งหมดนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความเสี่ยงอย่างเป็นระบบของเครือข่ายองค์กรที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็นเกตเวย์ในการหาประโยชน์จากโครงสร้างเอทีเอ็มทั่วโลก

การรักษาความปลอดภัยสำหรับเครื่องเอทีเอ็ม
การลดความเสี่ยงของเครื่องเอทีเอ็มให้กับธนาคารและผู้บริโภคถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับบางประการที่จะช่วยผู้ดูแลระบบรักษาความปลอดภัยในองค์กรทางการเงินให้เริ่มต้นรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวได้

  • ปรับปรุงระบบปฏิบัติการ ชุดซอฟต์แวร์ และการกำหนดค่าความปลอดภัยให้ทันสมัยอยู่เสมอ
  • ใช้แพตช์ (Patch) กับโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายองค์กรและตู้เอทีเอ็มอย่างทันท่วงที
  • ใช้เทคโนโลยีที่ได้รับอนุญาตพิเศษเพื่อปกป้องระบบของคุณ เนื่องจากเครื่องส่วนใหญ่จะเป็น "อุปกรณ์ใช้งานแบบติดตั้งอยู่กับที่"
  • นำระบบการตรวจจับการบุกรุกและการป้องกันการบุกรุกเข้ามาใช้เพื่อตรวจหาลักษณะที่เป็นอันตรายของระบบและเพื่อป้องกันเครื่องเอทีเอ็มในระหว่างการใช้งาน
  • มั่นใจได้ว่ามีระบบตรวจสอบการทำงานของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในลักษณะเรียลไทม์
  • ปรับใช้และใช้โซลูชันป้องกันมัลแวร์ในโน้ตบุ๊กและอุปกรณ์ยูเอสบีของช่างเทคนิค
  • ฝึกอบรมช่างเทคนิคให้ดูแลจัดการอุปกรณ์ยูเอสบีแบบถอดได้ด้วยความระมัดระวัง

สำหรับสถาบันการเงินและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่สนใจเรื่องการตรวจจับมัลแวร์เอทีเอ็มและแนวทางการป้องกัน เราจะมีรายงานในรูปแบบส่วนตัวพร้อมให้บริการ หากต้องการขอรับสำเนาของรายงานดังกล่าวโปรดส่งอีเมลมาที่ publicrelations@trendmicro.com

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด