เนื้อหาวันที่ : 2017-09-06 13:36:56 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1930 views

เดิมพันจุดเปลี่ยนผ่านสมดุลอำนาจในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

by :  Alla Goldner
        Director, Technology, Strategy & Standardization

        Amdocs

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเรียกได้ว่ากำลังดำเนินอยู่ในใจกลางการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0) ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริการที่ต้องใช้ทักษะสูงให้ประสบความสำเร็จ

ผู้ดำเนินกิจการภาคโทรคมนาคมจะมีส่วนสำคัญในความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจด้วยการปรับเปลี่ยนเชิงดิจิทัล (Digital Transformation) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (High-income Tourism and Medical Tourism) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) นวัตกรรมการแปรรูปอาหาร (Food Innovation) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม (Automation and Robotics) อุตสาหกรรมการบิน (Aerospace) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Bio-energy and Bio-chemicals) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ (Medical and Healthcare) ซึ่งการพัฒนาต่อยอดของอุตสาหกรรมทั้งหมดนี้จะต้องเริ่มต้นและมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ดำเนินกิจการโทรคมนาคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในระยะเวลาประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนระบบการรวมช่องทางการสื่อสารข้อมูลแบบมัลติเพล็กซ์แบบแบ่งเวลาไปเป็นระบบอินเทอร์เน็ตโปรโตคอลจากการใช้โทรศัพท์บ้านไปยังการใช้โทรศัพท์มือถือ จนถึงจากการใช้งาน Voice เป็นการใช้งาน Data ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านที่เห็นได้ชัด การดำเนินงานของธุรกิจที่ให้บริการด้านโทรคมนาคมเองยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเครือข่าย การคัดเลือก ทดสอบ และติดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงรูปแบบการให้บริการ ความพลวัตสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายกับผู้ขายโซลูชัน ซึ่งยังเป็นในลักษณะเดิมที่เคยเป็นมา

การปรับเปลี่ยนจากโครงสร้างเครือข่ายแบบกายภาพไปเป็นโครงสร้าง NFV/SDN ในขณะนี้กำลังสร้างความตื่นตัวให้กับภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแต่ระบบ Virtualization จะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถพลิกโครงสร้างทางธุรกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบไปถึงพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายกับผู้ขายโซลูชันอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ผู้ให้บริการเครือข่ายไม่ได้จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์โครงข่าย ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายโซลูชันเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยการให้บริการในการปรับแต่งและบูรณาการโครงข่ายเข้าด้วยกัน เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่านอกเหนือจากโซลูชันมาตรฐานบางอย่างแล้ว อุปกรณ์โครงข่ายต่าง ๆ แทบจะเรียกได้ว่าเป็น ‘กล่องดำ’ ซึ่งผู้ขายโซลูชันเท่านั้นที่สามารถเข้าไปปรับค่าได้เลยทีเดียว

ดังนั้นการเริ่มใช้งานองค์ประกอบใหม่ของเครือข่ายมักจะต้องมีการดำเนินงานกลับไปกลับมา เสมือนกับการเต้นรำระหว่างผู้ขายโซลูชันกับผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อที่จะบูรณาการและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะเปิดให้บริการฟังก์ชั่นนั้นจริง ๆ

ซึ่งในทางธุรกิจแล้วการดำเนินการทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ต้องพึ่งพิงการทำงานของผู้ขายโซลูชันเป็นอย่างมาก เป็นอุปสรรคในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และบริการต่าง ๆ ยังมีผลต่อผู้ให้บริการเครือข่ายลังเลที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดจากผู้ขายโซลูชันหลาย ๆ แห่ง

การปรับเปลี่ยนนำเทคโนโลยี NFV/SDN มาใช้นั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายกับผู้ขายโซลูชัน เนื่องจากสามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความคล่องตัวในการพัฒนาและนำเสนอบริการใหม่ ๆ

นวัตกรรมจะสามารถพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเมื่อเทคโนโลยีได้ถูกทำให้เป็นมาตรฐาน เข้าถึงได้ง่าย ดูจากกรณีของกริดไฟฟ้า โทรทัศน์ และระบบ ‘Cloud’ เป็นต้น แทนที่จะต้องสร้างและพัฒนาเครือข่ายจากโซลูชันที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขาย โดยผ่านขั้นตอนการดำเนินการกลับไปกลับมาอย่างที่ผ่านมา ผู้ให้บริการเครือข่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างระบบมาตรฐานในการทำงาน

อิงตัวอย่างจากการทำงานของระบบ Cloud ผู้ให้บริการเครือข่ายได้เริ่มมองหาชุมชน Open Source ต่าง ๆ และทำการสร้างมาตรฐานขึ้นในวงการไอที เนื่องจากชุมชนแบบ Open Source นั้นอำนวยต่อการดำเนินงาน มีการประสานงานที่รวดเร็ว ต่างจากองค์กรโทรคมนาคมขนาดใหญ่ ทั้งยังดำเนินงานได้อย่างโปร่งใส เป็นการสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมในภาพรวม ไม่เพียงแต่เป็นการลดการทำงานแบบกลับไปกลับมาระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายกับผู้ขายโซลูชันแล้ว การเข้าไปมีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์ลักษณะ Open Source ยังเพิ่มโอกาสแก่ผู้ให้บริการเครือข่ายได้มองเห็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อาจได้นำมาใช้ในเครือข่าย แทนที่จะต้องพึ่งพิงแต่โซลูชันที่ถูกเตรียมมาใช้จากผู้ขายเพียงทางเดียว

จะเห็นได้ชัดว่านี่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่สำหรับผู้ให้บริการเทคโนโลยีและโซลูชันทางโทรคมนาคม การจัดการมาตรฐานและการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ง่ายขึ้น ทำให้ความต้องการในระบบแบบบูรณาการลดลง นอกจากนี้บริการการซ่อมบำรุงต่อเนื่องที่เป็นหนึ่งในรายได้หลักของผู้ขายโซลูชันก็จะถูกทดแทนด้วยบริการจากชุมชน Open Source บวกกับการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งเปิดโอกาสให้การเปลี่ยนอุปกรณ์และบริการของผู้ให้บริการเครือข่ายเป็นไปได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ขายโซลูชันไม่สามารถผูกขาดการขายบริการต่าง ๆ กับผู้ให้บริการเครือข่ายอีกต่อไป

เมื่อพิจารณาร่วมกับยอดการขายอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ลดลง เนื่องจากการใช้งานเทคโนโลยี Virtualization ที่เพิ่มขึ้น จะเห็นว่าปรากฏการณ์เหล่านี้มีผลกระทบที่ค่อนข้างจะรุนแรงกับฐานรายได้ของผู้ขายเทคโนโลยีและโซลูชันรายใหญ่ ๆ

อย่างไรก็ดีเมื่อประตูหนึ่งปิดลง อีกประตูก็จะเปิดขึ้น ที่ผ่านมายังไม่มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในการทำระบบบูรณาการและบริการดูแลรักษาระบบ ผู้ขายโซลูชันจะต้องยอมรับการใช้ระบบ Open Source ให้เป็นประโยชน์เพื่อนำเวลาและทรัพยากรไปพัฒนาการให้บริการ ตลอดจนหาช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ

ยิ่งไปกว่านั้นการสร้างและใช้งานแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานไม่ได้หมายความว่าความต้องการในการปรับแต่งโซลูชันจะหายไป การบริหารการพัฒนาซอฟต์แวร์ในระบบ Open Source นั้นต้องผ่านคณะกรรมการเทคโนโลยี ซึ่งอาจไม่สามารถพัฒนาได้ตามทุก ๆ คำขอหรือความต้องการของผู้ใช้งาน ดังนั้นยังพอมีช่องว่างในตลาดอยู่พอสมควรสำหรับการพัฒนาและปรับแต่งโซลูชันให้ตรงกับความต้องการของให้บริการเครือข่าย ซึ่งระบบ Open Source ไม่สามารถทำได้

ผู้ขายโซลูชันบางรายเห็นคุณค่าและโอกาสในการเปลี่ยนแปลง จึงกระโดดเข้าร่วมโครงการในระบบ Open Source อาทิ ONAP ในขณะที่รายอื่น ๆ ยังคงคร่ำครวญและไม่ยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

การที่จะได้ส่วนแบ่งการให้บริการ NFV/SDN และสร้างการบริการที่แตกต่างหมายความว่าคุณต้องรู้จักแพลตฟอร์มที่เป็นพื้นฐานของระบบใหม่นี้อย่างถ่องแท้

ท้ายที่สุดนี้ยังลืมไม่ได้ว่า NFV/SDN เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังพัฒนา การนำมาใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรมไม่ค่อยแพร่หลาย เนื่องจากขาดการพัฒนาระบบที่เป็นมาตรฐาน ประกอบกับความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน หากไม่สามารถแก้ไขอุปสรรคข้อนี้ไปได้ ระบบโทรคมนาคมแบบ Virtualization จะยังคงเป็นความฝัน การคาดการณ์ตลาดว่าจะเติบโตไปถึงมูลค่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐจะสลายไปโดยปริยาย ฉะนั้นเหตุปัจจัยนี้จึงยังเป็นเดิมพันที่น่าจับตามองกันต่อไป

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด