เนื้อหาวันที่ : 2016-04-26 11:23:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2701 views

PINN Creative Maker Space

น.พ.ภาณุทัต เตชะเสน (หมอจิมมี่) Founder of Chiang Mai Maker Club

 เรื่องและภาพ : ศิริสาร เขตปิยรัตน์

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ นำไปสู่นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมทั่วโลก การสร้างแห่งเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ไม่จำกัดวัยและวุฒิการศึกษา ความใจกว้างของคนใจรักความเป็นเมกเกอร์

 

แลกเปลี่ยนมุมมองที่เผยตัวตนของจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของคนที่มีใจรักในการสร้างสรรค์และสนุกกับงานประดิษฐ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกหนึ่งผู้ใหญ่ใจดีที่พร้อมให้การเรียนรู้เป็นได้มากกว่าในห้องเรียน ต้นกำเนิดชมรมเมกเกอร์เชียงใหม่ (Chiang mai Maker Club) ชุมชนแห่งใหม่แหล่งรวมของนักประดิษฐ์ภาคเหนือ

Q: เมกเกอร์คือใครในความหมายที่เราพูดๆกันมา

A: เมกเกอร์คือ กลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมของคนที่ชอบทำอะไร เล่นซน สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ผมขอแบ่งยุคสมัยการเล่นด้านอิเล็กทรอนิกส์ออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงก่อนที่เกิด Arduino นี่ เราไม่ค่อยรู้เรื่องการทำงานภายในมันมากเท่าไหร่ เราก็จะซื้อชุดคิตมาทำ การกระจายความรู้ในสมัยก่อนค่อนข้างยากหากพูดในหลักที่คนอื่นที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องอิเล็กทรอนิกส์มาเลย ก็จะเป็นเรื่องยากในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ แต่พอถึงยุคที่เรียกว่า open source hardware เราก็ได้เรียนรู้และสามารถประยุกต์ใช้งานของเหล่านี้ได้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไมโครโปรเซสเซอร์มันใช้งานง่ายมากขึ้นและเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ การเขียนโปรแกรมหาง่ายมากขึ้น ผมเรียกว่าหลังยุค Arduino จึงมีงานที่สนุกมากขึ้น เพราะเป็นการผสมผสานระหว่างฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมืออะไรก็ถูกลงมากขึ้น เราก็เริ่มมี open standard จากยี่ห้อหนึ่งไปใช้อีกยี่ห้อหนึ่งได้ จากที่เมื่อก่อนไม่สามารถใช้งานข้ามยี่ห้อหรือรุ่นของไมโครคอนโทรลเลอร์ไปได้ ใช้ค่ายไหนก็จำเป็นต้องใช้อย่างนั้น เช่น ใช้ MCS-51 ก็ต้องใช้ตัวนี้ จะเปลี่ยนค่ายไปตัวอื่นก็ลำบากต้องไปเรียนรู้ภาษาของอีกยี่ห้อหนึ่ง สมัยนี้ก็เรียกว่าง่ายขึ้นและนี่ก็คือโลกของเมกเกอร์ ตอนหลังนี่มีคนหันมานิยมเล่นไมโครคอนโทรลเลอร์มากขึ้น มาถึงยุคปัจจุบันที่มีการผสมผสานของความรู้ทั้งวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ โปรแกรมเมอร์และการออกแบบ จึงมีงานที่หลากหลายออกมาทำให้สนุกในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น

Q: อนาคตของเมกเกอร์จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่านี้หรือไม่

A: แน่นอนมันควรจะต้องมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ถือว่าเป็นยุคของเมกเกอร์ เพราะในสมัยก่อนเมกเกอร์คือกลุ่มคนที่สร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ไว้เพื่อใช้งานใช้เอง แต่ในยุคปัจจุบัน มันเกิดการขายสิ่งประดิษฐ์้ผลงานเหล่านี้ขึ้นมา มันเริ่มแรกจากเว็บ com ขายของสิ่งประดิษฐ์พวกนี้จึงเกิดอาชีพเมกเกอร์ขึ้นมา การจัดงาน Maker faire เอาผลงานมานำเสนอมาโชว์กันและมันก็เกิดการซื้อขายกัน การเกิดขึ้นของ kick starter สิ่งเหล่านี้ล่ะที่ช่วยกระตุ้นให้จำนวนเมกเกอร์มากขึ้นมา สมัยก่อนเราเล่นพวกนี่ก็เพื่อเป็นงานอดิเรกแต่ในปัจจุบันเชื่อว่ามันเกิดเป็นอาชีพเมกเกอร์ได้ หลายโครงงานที่เกิดขึ้นใน kick starter เนื่องจากการระดมทุนจนสร้างผลงานมาขายได้จึงสร้างเป็นอาชีพได้

Q: การซื้อผลงานของเหล่าเมกเกอร์ในต่างประเทศมีการซื้อขายปริมาณมากน้อยอย่างไรบ้าง

A: ในต่างประเทศการซื้อขายผลงานจะผ่านตลาดกลางอย่างเว็บ tinny หรือการสนับสนุนผ่าน Kickstarter มันเปรียบเทียบเหมือนกับสมัยก่อนที่เราเขียนโปรแกรมอะไรมาสักอย่างหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ เราก็จะเอามาขายให้กับเจ้าใหญ่จึงเกิดเป็น App store พอเราทำเสร็จเราก็เอาขึ้น App store แล้วก็มีคนมาซื้อ ก็มีการซื้อขายผ่าน App store เหล่านี้ เหมือนกัน tinny หรือ kickstarter ก็เหมือนกับ App store ของพวกฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์ พอมีคนทำผลงานก็มีที่ขายก็เกิดอาชีพเหล่านี้ได้ และนี้ก็เป็นผลดีที่มาจากโลกอินเตอร์เน็ตที่ช่วยงานด้านนี้เร็วขึ้นนำเสนอได้ง่ายมากขึ้น

ในยุคสมัยของการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตมีส่วนช่วยให้ความรู้สามรถส่งถึงกันได้มากขึ้น การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ก็ง่ายมากขึ้น เพราะหลายครั้งความรู้ที่เราได้มาก็มาจากคนอื่นแล้วทำไมเราจะไม่ส่งต่อไปล่ะ แต่ในสมัยก่อนการแชร์ความรู้ทำได้ยาก กว่าจะรู้เรื่องนี้ก็ทำได้ยาก ยกตัวอย่างกว่าจะได้วงจรอะไรที่ดีๆ มาสักอย่างหายาก เครื่องพิมพ์ก็ยาก คัดลอกก็ลำบากจึงแชร์ความรู้กันได้ค่อนข้างน้อยก็เป็นเรื่องปกติสำหรับสมัยเก่าก่อนเมื่อเขาสู่ยุคสมัยที่การเผยแพร่ข่าวสารองค์ความรู้ใหม่ๆ ทำได้ง่ายขึ้นและยิ่งเรานำเสนอความรู้ที่มีประโยชน์แก่คนอื่นๆ สุดท้ายเราก็ได้กลับมาให้ตัวเองเพราะเราก็ได้พบปะคนอื่นๆ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้น สุดท้ายก็จะเกิดสังคมแบบใหม่

Q: การค้าขายในแวดวงเมกเกอร์จะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมากน้อยอย่างไร

A: การซื้อขายอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสร้างสรรค์ผลงานจะมีมูลค่าที่สูงมากขึ้นด้วยโลกอินเตอร์เน็ตที่เราสามารถซื้อขายและสั่งของผ่านตลาดออนไลน์สะดวก รวดเร็ว มีของเล่นแปลกใหม่ออกมาเสมอๆ และที่สำคัญ ณ ขณะนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่เรียกว่า Industry 4.0 คือทุกคนกลายเป็นผู้ผลิต เดิมทีเดียวสมัยก่อนเราจะผลิตอะไรเราต้องเข้าโรงงงาน แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถผลิตได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างการเกิดขึ้นของ 3D printer การเกิดขึ้นของ circuitแผ่นวงจรพิมพ์ทำได้ง่ายมากขึ้น การเกิดขึ้นขององค์ความรู้ต่างๆ ที่สำคัญหาง่ายมากขึ้น ดังนั้นจึงเสมือนว่าใครก็สามารถผลิตสินค้าได้ด้วยตนเองได้

Q: เล่าถึงจุดกำเนิด เชียงใหม่เมกเกอร์คลับให้ฟังหน่อย

A: เชียงใหม่เมกเกอร์คลับที่เชียงใหม่เป็นแหล่งรวมตัวของเหล่าเมกเกอร์และทำงาน สนุกกับมัน เด็กๆ สามารถผลิตผลงานและขายได้ ปัจจัยส่วนหนึ่งคนที่เชียงใหม่มีเวลาว่างกว่าคนในกรุงเทพ เราจะรวมตัวกันได้ก็เพียงแค่ปันจักรยานมาถึงที่คลับแต่ที่กรุงเทพเนี่ยมีปัจจัยอย่างอื่นเช่น รถติด อยู่ไกล เหล่านี้เป็นต้น เราโชคดีที่พื้นที่เชียงใหม่มันเล็กจึงไปมาหาสู่กันได้สะดวก ปัจจัยที่สองก็คือ เรามีสภาพแวดล้อมที่ดีที่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่เหล่าเมกเกอร์ สถานที่ให้ใช้ฟรี น้ำไฟฟรี แอร์ฟรี อุปกรณ์ที่ใช้สร้างผลงานฟรี เครื่องไม้เครื่องมือฟรีหมด หรือใครอยากซื้ออุปกรณ์ตัวไหนมาลองเล่นลองทำเรามีทุนสนับสนุน เรามีข้อแม้เดียวที่แลกกันสำหรับเมกเกอร์ที่เข้ามาใช้ที่คลับคือ  ทุกอย่างที่ทำขอให้ open source ให้หมด ซึ่งมันก็แฟร์สำหรับทุกคน มันคือเหมือนการให้ แล้วมันจะมีประโยชน์กับคนที่เข้ามาทีหลังจะศึกษาหรือหาข้อมูลอะไรก็สามารถต่อยอดตรงนั้นได้เลยโดยไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด และที่สำคัญกว่านั้นทุกคนต้องเขียนบทความ ทุกอาทิตย์เขียนเล่าเรื่องราวที่ได้ทดลองได้สร้างลงบนเว็บไซต์ เพื่อแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ จึงเกิดเป็นวัฒนธรรมเมกเกอร์เริ่มต้นที่นั้น

ที่เชียงใหม่เมกเกอร์คลับนี่เราเปิด 24 ชั่วโมง คือใครมาเวลาไหนก็ได้ เมื่อพูดไปแล้วถือได้ว่าที่นั้นเป็นส่วนที่น่าสนใจเพราะกลุ่มคนที่เข้ามาชุมนุมในคลับนั้นมีหลากหลายอาชีพ หลายสาขาไม่เฉพาะแต่วิศวกรเท่านั้น ยังมีคุณหมอ สถาปนิก ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างกล มีอาจารย์มานั่งเล่นอยู่ในคลับด้วย เราโชคดีตรงนี้ตรงที่มีผู้รู้เข้ามาเล่นอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย เพราะว่าใครที่ไม่ทราบเรื่องไหนก็สามารถสอบถามปรึกษาหาความรู้จากผู้รู้เหล่านี้ได้ ที่เชียงใหม่เราเปิดทำการมาได้ 2 ปีกว่าแล้วและจำนวนของสมาชิกก็เพิ่มขึ้นจน ณ ปัจจุบันก็ราวๆ  30-40 คน หมุนเวียนกันมา ด้วยความหลากหลายของสายอาชีพจึงเกิดผลงานแปลกใหม่ที่บรรดาสมาชิกเหล่านี้ได้พบเจอกัน เป็นเพื่อนกัน ร่วมคิดร่วมสร้างงานด้วยกันอย่างมีความสนุก จึงเกิดโครงงานสร้างสรรค์แปลกใหม่

คุณหมอจิมเล่าที่ถึงมาที่ไปในการก่อตั้งเชียงใหม่เมกเกอร์คลับที่น่าสนใจ ท่านเล่าว่า มันเป็นความบังเอิญที่ได้มาพบเจอกับคุณนัท ซึ่งปัจจุบันก็คือประธานชมรมเชียงใหม่เมกเกอร์คลับนั้นเอง คุณหมอเล่าว่า เมื่อครั้งก่อนที่จะเปิดเมกเกอร์คลับนั้นตนเองกำลังสร้างโครงงานเกี่ยวกับ Raspberry Pi ทำยังไงก็ไม่สำเร็จจึงเกิดการตามหาคนที่อยู่ภายในเชียงใหม่ที่มีความรู้เรื่อง Raspberry Pi ก็ได้มาเจอกับคุณนัท และได้มาช่วยคุณหมอทำโปรเจคแต่ปัญหามันคือ ต้องนัดเจอคุณนัทเวลาดึกๆ ประมาณ 3 ทุ่ม ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ทุกวันเพื่อปรึกษาในเรื่องโครงงานนี้ คุณหมอก็เกิดความคิดที่ว่าเราก็มีห้องว่างอยู่จึงปรึกษาคุณนัทว่า เรามาเปิดชมรมกันเถอะ ซึ่งในใจคุณหมอเองคิดว่า เราจะได้ไม่ต้องเดินทางไปไกลจากบ้านเพื่อเจอเด็กคนนี้ดึกๆ ที่ร้านกาแฟอีก เพื่อสะดวกในการสร้างผลงานและเมื่อเปิดแล้วก็มีกลุ่มนักเล่นนักสร้างมาร่วมชมรม เห็นความตั้งใจของเด็กๆ กลุ่มนี้จึงเป็นที่มาของการสร้างชมรมดังกล่าวที่สำคัญคุณหมอจิมเองก็ลงทุนเงินส่วนตัว สำหรับซื้อเครื่องมืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกเหล่านี้เองด้วย

Q: พูดถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้างกับเชียงใหม่เมกเกอร์คลับ

A: ที่ผ่านๆ มาเราก็ปล่อยให้น้องในชมรมดูแลกันเอง เพราะเราไม่ได้จำกัดเรื่องแนวคิดหรือการทำงานของใคร เพียงแต่ว่าให้เขามีผลงานออกมาทุกอาทิตย์ ผมเองก็ตามอ่านผลงานดังกล่าวเหล่านี้อยู่เป็นประจำก็มีประโยชน์ดี ได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทุกปีเราจะจัดงานที่เรียกว่า เมกเกอร์ปาร์ตี้ ปีแรกที่เราจัดก็มีแขกเมกเกอร์จากสิงคโปร์มาเที่ยว เราเชิญเขามาที่งานพอดีเราก็ได้รับแรงสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สนับสนุนเงินทุนในการเชิญเมกเกอร์จากสิงคโปร์มาร่วมงานกัน พอเมื่อเขามาแล้วก็เกิดการรู้จักกัน พอที่สิงคโปร์มีงานบ้างเมกเกอร์ที่สิงคโปร์ก็เชิญน้องๆ ไปร่วมงานกับเขาด้วย เราจึงได้นำเสนอผลงานไปด้วยไม่ว่าจะเป็นที่มาเลเซีย หรือที่สิงคโปร์เองก็ตาม จนบริษัทที่สิงคโปร์สนใจผลงานบางส่วนของน้องๆ ในชมรม ที่เขาคิดว่าจะสามารถสร้างเป็นสินค้าออกวางจำหน่ายได้ เงินที่ได้เราก็นำมาช่วยส่งเสริมชมรมต่อไป จึงเกิดเป็นรูปแบบธุรกิจแบบหนึ่งขึ้นมาได้

Q: คิดเห็นอย่างไรต่อคู่แข่งขันจากประเทศอื่นๆในธุรกิจแนวทางเดียวกันนี้

A: เราไม่ได้คิดที่จะแข่งขันผลงานสิ่งประดิษฐ์กันด้วยราคา หรือตัดสินคุณค่าของผลงานที่ราคาถูกหรือแพง แต่เราคิดว่าเราจะขายความคุ้มค่าของการนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเท่าไหร่ เพราะบริบทการใช้งานสินค้าหรือผลงานเหล่านี้มันอยู่ที่เราจะเอาไปใช้สร้างหรือแก้ไขปัญหาด้านไหน เราสามารถสร้างมูลค่าบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ด้วยซอฟต์แวร์ภายในของมันก็ได้ ที่ไม่มีใครเขาคิด เอาไปเป็นเครื่องมือช่วยในการศึกษาด้านอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ที่สำคัญเราจำเป็นต้องหาความเป็นตัวตนหรืองานเฉพาะตัวของเราให้ได้ ยกตัวอย่าง ผลงานที่เราตั้งชื่อว่า Espresso lite ที่เราคิดค้นขึ้นที่เชียงใหม่เป็นบอร์ดที่ร่วมกันพัฒนาระหว่าง 3 ประเทศ เรานำไปผลิตบอร์ดที่มาเลเซียและให้สิงคโปร์เป็นคนทำตลาดให้ซึ่งสิงคโปร์ก็นำไปขายที่ตลาด เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย ในมาเลเซีย สิงคโปร์และก็ในไทย ซึ่งตรงนี้เองที่เรากำลังนำเสนอว่า เมกเกอร์ไทยเองก็มีศักยภาพในการสร้างผลงานที่สามารถขายได้และมีชื่อเสียงไปต่างประเทศได้

การสร้างเมกเกอร์หรือการเป็นเมกเกอร์นั้นที่สำคัญนอกจากความสนุกในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ แล้วคอมมูนิตี้ก็มีส่วนสำคัญมากๆ สำหรับเหล่าเมกเกอร์ทั้งรุ่นใหม่และเก่า เพราะเราสามารถเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ได้ทุกวัน ผ่านการพูดคุยซักถาม เรื่องราวผลงานของแต่ละคนที่ต่างวัยต่างความคิด สามารถแบ่งปันแนวคิดระหว่างกันได้ ชมรมหรือแหล่งร่วมตัวกันจึงจำเป็นและมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวในวงกว้าง ขยายกรอบความรู้ได้ไม่รู้จบ ยิ่งมีคนแบ่งปันกันมากเท่าไหร่ เราก็จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้ง่ายได้รวดเร็วมากขึ้น

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด