เนื้อหาวันที่ : 2016-04-19 15:00:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2784 views

เก็บเกี่ยวประโยชน์ของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างชาญฉลาด

โดย เชอร์มีน ก็อตเฟรดเซ็น ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยูนิเวอร์แซล โรบอทส์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ประเทศในอาเซียน 10 ประเทศได้รวมตัวกันเป็น “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ เออีซี ที่มีประชากรรวมถึง 600 ล้านคน และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ที่กลายมาเป็นตลาดเดียวระดับภูมิภาครองรับการไหลเวียนของสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมือ และเงินทุนหมุนเวียนต่างๆ[1] ได้อย่างเสรีและเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียนรองจากอินโดนิเซีย แต่ก็เป็นเรื่องน่าห่วงที่คนไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่เข้าใจโอกาสและความท้าทายที่มากับเออีซี สำหรับประเทศไทยแล้ว นอกจากขนาดเศรษฐกิจ ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศยังเป็นศูนย์กลางเส้นทางเศรษฐกิจสายเอเซียนตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ที่ครอบคลุมเวียตนามถึงเมียนมาร์ เป็นความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์การค้า หนุนให้มีสถานภาพเป็นสมาชิกหลักของเออีซีได้เลยทีเดียว หากแรงงานมีความรู้และเท่าทันที่จะปรับตัวรับโอกาสอย่างเหมาะสม

ความหมายต่อธุรกิจ

สภาพตลาดของเออีซี คือ ตลาดเดียวและมีฐานการผลิตร่วมกันระดับภูมิภาค ที่ช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์จากค่าใช้จ่ายการผลิตที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม จะมีอัตราการแข่งขันสูงขึ้น ธุรกิจที่ไม่สามารถชิงความได้เปรียบของสถานการณ์ก็จะล้าหลัง ต้องนั่งมองคู่แข่งที่รู้จักประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีกับธุรกิจรักษาฐานการเติบโตธุรกิจแซงหน้าไป

ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากไทย-เยอรมันที่มีมูลค่าการลงทุน 1.2 พันล้านบาทเพื่อพัฒนาโรงงานขนาดสองหมื่นตารางเมตร ติดตั้งหุ่นยนต์ช่วยงาน เพื่อให้รับกับการสร้างโอกาสจากตลาดเกิดใหม่ที่เป็นผลจากความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน[2] การลงทุนกับหุ่นยนต์ใช้งานไม่เพียงแต่เป็นองค์ประกอบหลักของกลยุทธ์การเติบโตธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการยกความสามารถในการผลิตและศักยภาพของแรงงาน หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด ดังนั้นจึงรองรับปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ แม้ในรูปแบบการผลิต High Mix Low Volume คือ เน้นสินค้าในเชิงคุณภาพความหลากหลายมากกว่าปริมาณก็ตาม

ในสภาวการณ์เช่นนี้ เจ้าของธุรกิจต้องก้าวให้ทันพัฒนาการใหม่ๆ ในประเทศ และภูมิภาค เพื่อก้าวผ่านการแข่งขันธุรกิจที่ดุเดือดนี้ไปให้ได้ เออีซีจะกลายเป็นสนามแข่งที่ทุกธุรกิจ ทุกบริษัทจะลงแข่งอย่างเท่าเทียม และสร้างโอกาสการขยายตัวและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่เมื่อแข่งกับบริษัทขนาดใหญ่แล้วมักมีสายป่านทางการเงินต่ำกว่ามาก

ความหมายต่อบุคคล

มีรายงานการสำรวจว่าเออีซีจะสามารถสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นได้ถึง 14 ล้านตำแหน่งภายในปี พ.ศ. 2586[3] หมายความว่าจะมีโอกาสในการเติบโตมากขึ้นแม้ในอุณหภูมิการแข่งขันสูงเช่นนี้ เน้นการอัพเกรดทักษะฝีมืออย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษที่ภาครัฐได้พยายามหาทางในการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น

ส่วนของการเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ หรือการเข้าการฝึกอบรมหรือเรียนรู้การแก้ปัญหาขั้นต้นเกี่ยวกับหุ่นยนต์ที่จำเป็นนั้น ความรู้เบื้องต้นทางภาษาอังกฤษถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยลดการเสียเวลาได้ แต่ก็ยังดีที่ว่า หุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ ในยุคปัจจุบัน มีความคล่องตัวและเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานมาก ผู้ปฏิบัติงานสามารถเรียนรู้การใช้งานได้โดยง่าย ลดปัญหาจากความไม่เข้าใจภาษาลงได้ ยิ่งไปกว่านั้น การที่มนุษย์และหุ่นยนต์สามารถทำงานอยู่ข้างกันในที่จำกัดได้เป็นประจำทุกวัน ช่วยบ่มเพาะความคุ้นเคยและความเชือมั่นต่อการใช้หุ่นยนต์ และยังยกระดับความสามารถของแรงงานขององค์กรได้อีกด้วย

วิทยาการด้านหุ่นยนต์คือกุญแจหลัก

ประเทศไทยเป็นแหล่งตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ และเป็นผู้เล่นแถวหน้าในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคนี้ ซึ่งจัดเป็นองค์ประกอบหลักสองประการที่ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศ และการมีฐานแรงงานที่มีความคล่องตัว มีประสบการณ์และศักยภาพในการทำงานด้วยเทคโนโลยีทันสมัย เช่น หุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ ก็จะถือเป็นองค์ประกอบที่สาม เออีซีได้เปิดเวทีการทดลองตลาดเชิงกลยุทธ์และการขยายธุรกิจ แต่ที่สำคัญที่สุดของการยกระดับทักษะศักยภาพก็ยังอยู่ในมือขององค์กรธุรกิจและพนักงานนั่นเอง

สำหรับผู้ผลิตวงการยานยนต์ที่ใช้หุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ในสายการผลิตนั้นจะได้รับประโยชน์สองต่อ ต่อที่หนึ่ง บริษัทมีความยืดหยุ่นคล่องตัวในกระบวนการผลิตเนื่องจากผลกระทบจากหุ่นยนต์มีเพียงน้อยนิด และต่อที่สอง สร้างโอกาสให้แก่พนักงานในการเติบโตด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญ

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเมื่อตอนต้น ประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมที่จะเล่นบทบาทตัวเชื่อมสำคัญของเออีซี ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจจะต้องจดจำไว้เสมอว่าตนมีความรับผิดชอบในการชี้นำ พัฒนาพนักงานกลุ่มแรงงานของตน ด้วยการวางนโยบายธุรกิจระยะยาวที่นำเอาเทคโนโลยีมาเป็นตัวเสริม เช่น หุ่นยนต์ที่สามารถร่วมกับมนุษย์ได้นั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กลายมาเป็นตัวดึงดูดแรงงงานฝีมือ รวมทั้งนักลงทุน

[1] http://aseanup.com/benefits-asean-economic-community-aec/

[2] http://www.nationmultimedia.com/business/Thai-German-Meat-Product-eyes-AEC-30262684.html

[3] http://www.straitstimes.com/business/6-things-you-need-to-know-about-asean-economic-community

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด