เนื้อหาวันที่ : 2007-08-08 12:10:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 9131 views

แย้มโฉม ISO DIS 14001: 2003 ร่างมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม

ระบบบริหารคุณภาพและระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ถูกนำเข้ามาผูกกันได้อย่างไร นี่ก็เป็นเพราะว่าปกติแล้ว ทางผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 ซึ่งมีการประกาศใช้เวอร์ชันแรกมาตั้งแต่ ปี 1994 และได้ปรับปรุงเป็นเวอร์ชัน 2000 ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน

ปัจจุบัน เราคงต้องยอมรับกันว่า เป็นยุคของ "การค้าเสรี" ที่แฝงไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมของการกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ใช่เรื่องของกำแพงภาษี หรือการจำกัดโควตาการนำเข้าเช่นในอดีตที่ผ่านมา หากแต่ได้มีการยกเอาประเด็นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมาตรฐานคุณภาพสินค้า การใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างผิดกฎหมาย รวมไปจนถึงประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม มาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าของบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังขยายผลไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป ซึ่งได้มีการรวมตัวกันออกมาตรฐานต่าง ๆ มาใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการรับสินค้าที่ส่งเข้ามาจากประเทศอื่น ๆ ไปจำหน่ายในประเทศของตน ไม่ว่าจะเป็น ISO 9001, GMP, HACCP, British Retail Consortium (BRC) Food and Packaging, International Food Standard (IFS) และ EUREPGAP เป็นต้น

.

โดย "ISO 14000 Series" หรืออนุกรมมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System: EMS) ก็เป็นอีกมาตรการหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้เพื่อการนี้ด้วยเช่นกัน โดย ISO 14000 Series นี้ เป็นชุดของมาตรฐานที่ประกอบไปด้วยมาตรฐานหลายเล่ม เริ่มต้นตั้งแต่หมายเลข 14001 จนถึง 14100 (ปัจจุบัน ISO กำหนดเลขสำหรับมาตรฐานในอนุกรมนี้ไว้ 100 หมายเลข) โดยแต่ละเล่มก็เป็นเรื่องของมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกในการจัดการกับผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นให้องค์กรมีการควบคุมกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

.

จนถึงวันนี้ ISO 14001 ฉบับแรก เวอร์ชัน 1996 ซึ่งองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL ORGANIZATION FOR STANDARDIZATION: ISO) ได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ ปี .. 1996 หรือ .. 2539 ก็มีอายุครบ 8 ขวบปีไปเรียบร้อยแล้ว และก็เช่นเดียวกันกับมาตรฐานฉบับอื่น ๆ ที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหลังจากได้ประกาศใช้ไปแล้วทุก 5 ปี ตามข้อกำหนดขององค์กรมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อความทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการในระดับสากล

.

ซึ่งมาตรฐาน  ISO 14001: 1996 นี้ ก็ได้มีการปรับปรุงกันไปแล้วครั้งหนึ่งในปี พ.. 2545 แต่ไม่ได้ปรับเปลี่ยน เวอร์ชัน และก็เป็นที่รู้ ๆ กันในแวดวงผู้ดำเนินการด้านระบบบริหารคุณภาพและจัดการสิ่งแวดล้อม ว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีการประกาศใช้มาตรฐาน ISO 14001 ฉบับใหม่ เวอร์ชัน 2004 ซึ่งมีความสอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 9001: 2000 มากขึ้นแทน

.

ส่วนเรื่องที่ว่าระบบบริหารคุณภาพและระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ถูกนำเข้ามาผูกกันได้อย่างไร นี่ก็เป็นเพราะว่าปกติแล้ว ทางผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงงานต่าง ๆ ซึ่งได้รับการรับรองระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 ซึ่งมีการประกาศใช้เวอร์ชันแรกมาตั้งแต่ ปี 1994 และได้ปรับปรุงเป็นเวอร์ชัน 2000 ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็มักจะนำระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 140001 : 1996 เข้าไปใช้งานในองค์กรของตนด้วย และเพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรบุคคลไปเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ทางองค์กรเหล่านี้ จึงมักจะให้บุคลากรที่รับผิดชอบด้านระบบบริหารคุณภาพ เข้ามาดูแลด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กันเสียเลย ซึ่งบุคคลเหล่านี้ เราเรียกกันว่า ตัวแทนฝ่ายบริหารด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อม นั่นเอง และก็เช่นเดียวกัน คณะผู้ร่างมาตรฐานก็ได้พยายามที่จะทำให้มาตรฐานทั้งสองมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากที่สุด เพื่อให้สะดวกกับการนำไปประยุกต์ใช้งานในสภาวการณ์จริง ดังนั้นเมื่อมีการปรับปรุงแก้ไข ISO 9001 จากเวอร์ชัน 1994 เป็น 2000 ก็ได้มีการปรับปรุงให้สามารถนำไปประยุกต์เข้ากับข้อกำหนดของ ISO 14001: 1996 ได้โดยง่าย ส่วน เจ้า ISO 14001 ฉบับใหม่ล่าสุด เวอร์ชัน 2004 ที่กำลังจะประกาศใช้นี้ ก็จะถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับ ISO 9001 : 2000 เช่นกัน ฟังดูงง ๆ ไหมนี่ ? แต่เอาเป็นว่าทางองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO) เขาก็ได้เพียรพยายามที่จะ จูน ข้อกำหนดของ ISO 14001 ให้เข้ากับ ISO 9001 ได้มากที่สุดก็แล้วกัน

.

แต่ทั้ง ๆ ที่กำหนดกันไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะออกประกาศร่างมาตรฐานฉบับสุดท้าย หรือ  The Final Draft International Standard  (FDIS) 14001: 2003 ได้ในราวเดือนสิงหาคมนี้ แต่ (อีกนั่นละ) ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน เพราะจวบจนวันนี้ ก็ยังไม่มีวี่แววว่าเจ้า FDIS 14001: 2003 จะได้กำหนดคลอดออกมาแต่อย่างใด แม้คณะกรรมการร่างมาตรฐานจะได้ทำการถกปัญหากันไปหลายครั้งหลายครา ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งตอนนี้ก็คาดการณ์กันเอาไว้ว่า น่าจะมีการประกาศร่างฉบับสุดท้ายนี้ได้ในช่วงสิงหาคมตุลาคมปีนี้ ส่วนประกาศฉบับจริง หรือ Published  ISO 14001: 2004 นั้น น่าจะออกมาให้เรายลโฉมกันได้ ไม่ปลายปีนี้ ก็คงเป็นราว ๆ ต้นปีหน้า ซึ่งก็คงต้องรอกันไปก่อน แต่ระหว่างนี้ ทางผู้เขียนก็มีความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานฉบับนี้มาฝากกัน ถือซะว่าเป็นการเรียกน้ำย่อยไปพลาง ๆ ระหว่าง ร้องเพลงรอ ประกาศร่างฉบับทางการ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ผู้เขียนก็จะนำรายละเอียดของเจ้า ISO DIS 14001: 2003 มาฝากกันอีกทีหนึ่ง

.

และขอออกตัวไว้ก่อนว่า การที่ในบทความนี้จำเป็นต้องมีข้อความภาษาอังกฤษในวงเล็บเยอะแยะไปหมด ใช่ว่าผู้เขียนจะบ้าเห่อภาษาต่างด้าวแต่อย่างใด หากแต่ต้องการแจกแจงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการใช้คำ (Words) และศัพท์ (Terms) ของมาตรฐานฉบับเดิมและฉบับใหม่ได้อย่างชัดเจน (Clarify) มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ก็อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ว่าศัพท์เฉพาะ (Technical terms) ที่ใช้ในมาตรฐานนี้มีความใกล้เคียงกันขนาดไหน แถมในบางครั้งก็ยังกินความไม่เท่าคำศัพท์ในภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่เสียด้วย ดังนั้นการตัดทอนภาษาอังกฤษในส่วนนั้น ๆ ออกไปเหลือแต่ภาษาไทยเราล้วน ๆ ก็อาจจะก่อให้เกิดอาการ งงกันได้ง่าย ดังนั้นจึงขออภัยท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย หากว่าการแทรกวงเล็บในบางช่วง จะทำให้อรรถรสในการอ่านลดลงไปสักเล็กน้อย

.
สำหรับการเปลี่ยนแปลงของมาตรฐาน ISO 14001: 2004 ที่จะปรากฏให้เราเห็นในมาตรฐานฉบับร่าง ISO DIS 14001: 2003 จะครอบคลุมในหัวข้อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

- ขอบข่าย (Scope)

- นโยบาย (Policy)

- การระบุลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental Aspects Identification)

- กฎหมายและข้อกำหนดอื่น ๆ (Legal and Other Requirements)

- ทรัพยากร กฎเกณฑ์ ความรับผิดชอบ และอำนาจสั่งการ (Resource, Roles, Responsibility and Authority)

- ความรู้ความสามารถ การฝึกอบรม และการสร้างจิตสำนึก (Competence, Training and Awareness)

- การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (Communication)

- การจัดทำเอกสารในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System Documentation)

- การควบคุมเอกสาร (Document Control)

- การเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Preparedness and Response)

- การประเมินข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (Evaluation of Legal Compliance)

- สิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ปฏิบัติการแก้ไขและป้องกัน (Nonconformance and Corrective and Preventive Action)

- การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ (Other minor changes)

.

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ในมาตรฐานใหม่จะไม่บังคับให้ต้องจัดทำเอกสารวิธีการปฏิบัติงานออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร (Documented Procedures) อีกต่อไป ยกเว้นกรณีที่จำเป็นต้องมีเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการปฏิบัติงาน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังคงต้อง จัดให้มีและดำรงไว้ (Establish and Maintain) ซึ่งการปฏิบัติงานและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System: EMS) อยู่ดีนั่นแหละ ซึ่งก็หมายความว่า ไม่ว่าจะมีเอกสารวิธีการปฏิบัติงาน หรือ Procedure หรือไม่ก็ตาม แต่เราต้องสามารถที่จะพิสูจน์ให้บรรดาผู้ตรวจประเมินระบบ (Auditor/Assessor) เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเรามีระบบปฏิบัติงานและบริหารระบบ EMS ขององค์กรเราจริง ๆ  

.

ขอบข่าย (Scope)-หัวข้อ 4.1

ในมาตรฐานฉบับใหม่นี้ทางองค์กร จะต้องให้คำจำกัดความหรือกำหนดขอบข่ายของระบบ EMS ของตนเอง ซึ่งจะต้องสอดคล้องตรงกันกับระบบการบริหารงาน (The management system) รวมถึงกิจกรรม (Organization’s Activities) ผลิตภัณฑ์ (Products) และการบริการ (Services) ต่าง ๆ ขององค์กร

.

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำจึงแยกออกเป็น 2 ส่วน ด้วยกัน อย่างแรก คือทำการกำหนดขอบข่ายของระบบ EMS รวมถึงระบุชนิดของกิจกรรม การปฏิบัติงาน บริการ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของบริษัท ซึ่งจำเป็นต้องมีการระบุออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร โดยอาจจะกำหนดไว้ในนโยบายสิ่งแวดล้อม (Environment Policy) ของบริษัทก็ได้ จากนั้นก็ต้องทำการประเมินดูว่าระบบ EMS ของเรามีความสอดคล้องหรือเพียงพอต่อข้อกำหนดของ ISO 14001 ฉบับใหม่เพียงไร โดยการประเมินนี้อาจจะทำไปพร้อม ๆ กับการตรวจติดตามระบบ EMS หรือทำกันในตอนที่มีการประชุมทบทวนของฝ่ายบริหาร (Management Review Meeting) ก็ได้

.

คำนิยาม (Definitions)

มีการเปลี่ยนแปลงคำนิยามของศัพท์แสงที่ใช้ในมาตรฐานหลายคำด้วยกัน ดังนี้

- ผู้ตรวจติดตามระบบ (Auditor) ดึงนิยามของคำว่า Auditor มาจากมาตรฐาน ISO 9002: 2000 เลยทีเดียว และมีความเชื่อมโยงไปถึงเรื่องความรู้ความสามารถของผู้ตรวจติดตามระบบด้วย ดังนั้นเราก็ต้องกลับไปดูว่าได้มีการกำหนดคุณสมบัติหรือความรู้ความสามารถที่ผู้ตรวจติดตามระบบต้องมีไว้หรือไม่

.

- การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continual Improvement) มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เพื่อเน้นให้รู้ว่าระบบต้องไม่หยุดนิ่ง คือไม่ใช่ว่าเคยเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น แต่ต้องมีการปรับปรุงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

.

- ระบบการตรวจติดตามการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System Audit) เปลี่ยนการเน้นความสำคัญของขอบข่ายการตรวจติดตาม จากเรื่องการเป็นไปตามข้อกำหนดของระบบ EMS (Conformance of the EMS) ไปเน้นเรื่องหลักเกณฑ์ในการตรวจติดตามระบบ EMS (The EMS Audit criteria) แทน

.

- ผลการปฏิบัติงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance) เปลี่ยนจากการเน้นความสำคัญในเรื่องระบบบริหารจัดการ (The management system) เป็นระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร (An organization’s management of its environment aspects) แทน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าได้มีการกำหนดการปรับปรุงผลงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Improvement) ไว้ว่าอย่างไร ก็ต้องย้อนกลับไปดูว่ากันว่า สอดคล้องตามที่ข้อกำหนดเขาว่าเอาไว้หรือไม่

.

- การป้องกันการเกิดมลพิษ (Prevention of Pollution) ได้มีการระบุถึงวิธีการและทางเลือกที่ใช้ในการป้องกันการเกิดมลพิษมากขึ้น ซึ่งครอบคลุมการปนเปื้อนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง Creation, Emission และ Discharge ดังนั้นเราจึงต้องทำการตรวจสอบดูว่าได้นิยามการป้องกันการเกิดมลพิษในรูปต่าง ๆ ไว้อย่างครบถ้วนตามที่ระบุในข้อกำหนดใหม่หรือไม่

.

นโยบาย (Policy)-หัวข้อ 4.2

นโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กรจะต้องสอดคล้องกับขอบข่ายของระบบ EMS ของบริษัท ที่ได้กำหนดไว้ในหัวข้อ 4.1 และต้องมั่นใจว่านโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กรนั้นต้อง

      - ถูกกำหนดโดยผู้บริหารระดับสูง 

      - ครอบคลุม สอดคล้อง และไม่เกินขอบข่ายของระบบ EMS ของบริษัทที่ได้กำหนดเอาไว้ 

      - ครอบคลุมทุกกิจกรรม ทุกผลิตภัณฑ์และทุกบริการที่อยู่ภายในขอบข่ายระบบ EMS ของบริษัท 

      - ศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้ต้องสอดคล้องกับข้อกำหนด ระเบียบ และกฎหมายต่าง ๆ 

      - ไม่ขัดแย้งกับข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมฉบับอื่น ๆ ที่บริษัทต้องปฏิบัติตาม 

      - มีการแจกจ่ายไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึงไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานให้กับองค์กร (Person working for organization) ผู้ที่ทำงานในฐานะตัวแทนองค์กร (Person working on behalf of organization) หรือองค์กรต่าง ๆ เช่น ผู้รับจ้างช่วง (Sub-contractors) ผู้รับจ้าง (Contractors) พนักงานชั่วคราว (Temporary staff) และพนักงานสาขา (Remote workers)

.

การระบุลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อม (Environmental Aspects Identification)-หัวข้อ 4.3.1

เปลี่ยนคำว่า หรือ (or) เป็นคำว่า และ (and) แต่ต้องอยู่ภายในขอบข่ายระบบ EMS ของบริษัท มาตรฐานใหม่ได้กำหนดให้มีการระบุถึงลักษณะปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกชนิดที่บริษัทอาจจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเรื่องของการควบคุมและผลกระทบของปัญหา ตลอดจนแนวทางการวางแผน พัฒนาและปรับปรุงกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการบริการในรูปแบบใหม่อีกด้วย

.

และคำที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของปัญหา ถูกเปลี่ยนจาก "ที่คาดว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบ" (…over which it can be expected to have an influence) เป็น "…ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบ" (…those which it can influence) นั่นก็หมายความว่าในการระบุลักษณะปัญหาหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เราต้องระบุลงไปอย่างชัดเจนเลยว่า จะ เกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่ว่าอาจจะเกิดอะไรขึ้น

.

จุดแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ก็คือการเปลี่ยนคำที่ชวนให้สับสนงุนงงอย่างคำว่า "นิติบัญญัติ" (Legislative) "กฎข้อบังคับ" (Regulatory) และ "ข้อกำหนดทางกฎหมาย" (Legal requirements) มาใช้คำว่า "ข้อกำหนดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม" (Environmental legal requirements) แทน

.

ส่วนคำว่า "นิติบัญญัติ"  (Legislative) จะถูกเปลี่ยนไปเป็น "กฎหมาย" (Legal) แทน เพราะคำว่า "นิติบัญญัติ"  (Legislative) จะหมายความถึงแค่กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งต่างจากคำว่า "กฎหมาย" (Legal) ซึ่งกินความกว้างไปถึง "กฎข้อบังคับ" (Regulatory) "ผลการตัดสินของศา" (Court Decisions) และอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเราจะต้องทำการกำหนดระเบียบปฏิบัติงานในการพิจารณาข้อกำหนด กฎหมายและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร และปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเหล่านั้น

.

ทรัพยากร กฎเกณฑ์ ความรับผิดชอบ และอำนาจสั่งการ (Resource, Roles, Responsibility and Authority)-หัวข้อ 4.4.1

ในข้อกำหนดของมาตรฐานฉบับใหม่ จะมุ่งเน้นความสำคัญไปที่เรื่องของทรัพยากร  (Resource) กฎเกณฑ์   (Roles) และอำนาจสั่งการ (Authority) เช่นเดียวกันกับความรับผิดชอบ (Responsibility) และยังมีการเปลี่ยนไปใช้คำว่า ‘Ensure the availability’ แทนคำว่า ‘Provide’ ด้วย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับบริษัทที่มีอัตราการเปลี่ยนคนทำงานสูง ๆ (High staff turnover) ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลาออกของผู้ตรวจติดตามระบบ (Auditor) ซึ่งทางองค์กรจะต้องมีแผนการสรรหาผู้ตรวจติดตามระบบคนใหม่ไว้รองรับสำหรับกรณีดังกล่าวด้วย เช่น อาจจะใช้ที่ปรึกษา ผู้รับจ้างช่วง หรือผู้ตรวจติดตามระบบจากองค์กรในเครือเดียวกันมาทำหน้าที่แทน เป็นต้น

.

ความรู้ความสามารถ การฝึกอบรม และการสร้างจิตสำนึก (Competence, Training and Awareness)-หัวข้อ 4.4.2

มาตรฐานฉบับใหม่จะใช้คำว่า "ผู้ที่ทำงานให้กับองค์กร" (Person working for organization) หรือ ผู้ที่ทำงานในฐานะตัวแทนองค์กร (Person working on behalf of organization) ซึ่งกินความกว้างกว่าแค่การใช้คำว่า ลูกจ้าง (Employee) หรือคำว่า สมาชิก (Members) อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และจะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่เกี่ยวข้องในระบบ EMS ขององค์กรอีกด้วย

.

นอกจากนี้ยังมีการเรียงลำดับย่อหน้าใหม่ และให้ความสำคัญกับลำดับของการเรียงย่อหน้าเสียด้วย กล่าวคือในมาตรฐานนี้จะเน้นในเรื่องความรู้ความสามารถของบุคลากร (Competence) ซึ่งแยกออกเป็น 2 เรื่องด้วยกัน อย่างแรกก็คือต้องกำหนดระดับการส่งผลกระทบต่อระบบของแต่ละบุคคล (Potential significant impacts) และสอง จะต้องระบุว่าบุคคลคนนั้น เป็น ผู้ที่ทำงานให้กับองค์กร หรือ ผู้ที่ทำงานในฐานะตัวแทนองค์กร

.

ซึ่งเราต้องมั่นใจว่าได้มีการประเมินความรู้ความสามารถของบุคลากรทุกคนที่ทำงานให้กับองค์กร หรือทำงานในฐานะตัวแทนองค์กร เช่นผู้รับจ้างช่วง (Sub-contractors) ผู้รับจ้าง (Contractors) พนักงานชั่วคราว (Temporary staff) และพนักงานสาขา (Remote workers) และมาตรฐานฉบับล่าสุด ที่กำลังจะออกมา ก็ยังยินยอมให้ทางองค์กร สามารถกำหนดความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training needs) เพื่อที่จะได้จัดให้มีการฝึกอบรมต่าง ๆ กันได้เองอีกด้วย 

.

การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (Communication)-หัวข้อ 4.4.3

มีการระบุให้ชัดเจนขึ้นว่าองค์กรต้องทำอะไรบ้าง กรณีที่ต้องการจะสื่อสารภายนอกองค์กร (Communicate Externally) เพื่อให้บุคคลภายนอกรับทราบถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่บริษัทอาจจะเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหัวข้อนี้จะส่งผลกับหน่วยงานที่ใช้การสื่อสารภายนอกองค์กรเท่านั้น

.

การจัดทำเอกสารในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System Documentation)-หัวข้อ 4.4.4

ข้อกำหนดในหัวข้อนี้ถูกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO 9001: 2000 ดังนั้นรายการเอกสารและบันทึกที่จำเป็น (The list of required documents and records) จึงต้องมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
.

การควบคุมเอกสาร (Document Control)-หัวข้อ 4.4.5

ในหัวข้อนี้ ก็มีการเปลี่ยนให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO 9001: 2000 เช่นเดียวกัน

.

การเตรียมความพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Preparedness and Response)-หัวข้อ 4.4.7

ระเบียบปฏิบัติในภาวะฉุกเฉินหรือในเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ จะต้อง "ระบุถึงความรุนแรงที่สถานการณ์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ จะก่อให้เกิดขึ้นได้ รวมทั้งบอกถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม" (Identification of potential emergency situations and potential accidents that can have (an) impact(s) on the environment, and how it will respond to them) และยังต้องกำหนดวิธีที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ รวมถึงการป้องกัน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

.

การประเมินข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (Evaluation of Legal Compliance)-หัวข้อ 4.5.2

จุดที่น่าสังเกตมากที่สุดของการเปลี่ยนแปลงในหัวข้อนี้ก็คือ มีการแยกเอาข้อความในย่อหน้าสุดท้ายของหัวข้อ 4.5.1 ออกมาเป็นหัวข้อ 4.5.2 เพื่อเน้นความสำคัญของการประเมินข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ ๆ (Periodic evaluation of legal compliance) นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขให้คลอบคลุมถึงการประเมินข้อกำหนดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ซึ่งองค์กรต้องปฏิบัติตามอีกด้วย

.

สิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ปฏิบัติการแก้ไขและป้องกัน (Nonconformance and Corrective and Preventive Action)-หัวข้อ 4.5.3

ในหัวข้อนี้มีแนวทางของปฏิบัติการป้องกันที่ชัดเจน 2 แนวทาง คือ หนึ่ง ป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำ และ สอง การป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งเราจะต้องกลับไปดูกระบวนการปฏิบัติในปัจจุบัน ว่าได้มีการกำหนดวิธีการขจัดสาเหตุของสิ่งที่ไม่เป็นตามข้อกำหนดได้อย่างถาวร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้หรือไม่ (Action to eliminate the causes of potential non-conformities to prevent their occurrence

.

สิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ปฏิบัติการแก้ไขและป้องกัน (Nonconformance and Corrective and Preventive Action)-หัวข้อ 4.5.3

ในหัวข้อนี้มีแนวทางของปฏิบัติการป้องกันที่ชัดเจน 2 แนวทาง คือ หนึ่ง ป้องกันการเกิดเหตุการณ์ซ้ำ และ สอง การป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งเราจะต้องกลับไปดูกระบวนการปฏิบัติในปัจจุบัน ว่าได้มีการกำหนดวิธีการขจัดสาเหตุของสิ่งที่ไม่เป็นตามข้อกำหนดได้อย่างถาวร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยได้หรือไม่ (Action to eliminate the causes of potential non-conformities to prevent their occurrence

.

การเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ (Other minor changes)

- บันทึก (Record)-หัวข้อ 4.5.4 ข้อกำหนดในเรื่องบันทึกหรือ  Records นี้ จะกินความรวมไปถึงเอกสารข้อมูลทุกชนิดที่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานและผลของกระบวนการด้วย และก็ไม่มีการกำหนดถึงระยะเวลาในการจัดเก็บบันทึกอีกต่อไปแล้ว แม้ว่ายังต้องมีการระบุถึงเรื่องของการเก็บรักษาบันทึกอยู่ก็ตาม (Recorded retention times are no longer required, although record retention still has to be specified)

.

- การตรวจติดตามระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System Audit)–หัวข้อ 4.5.5 หัวข้อนี้จะถูกเปลี่ยนให้สอดคล้อง เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อกำหนดของมาตรฐาน ISO 9001: 2000 และต้องมั่นใจได้ว่าโปรแกรมการตรวจติดตามได้ถูกดำรงไว้ (Maintained) โดยจะต้องมีการปรับปรุงให้โปรแกรมมีความทันสมัยทุกครั้งที่มีการเลื่อนหรือปรับโปรแกรมใหม่

.

- การทบทวนของฝ่ายบริหาร-หัวข้อ 4.6 ก็เหมือนกับข้อกำหนดในหัวข้ออื่น ๆ คือถูกปรับให้อยู่ในแนวทางเดียวกันกับ ISO 9001: 2000 และได้มีการกล่าวถึงรายละเอียดของ Inputs และ Output Checklist  จากการทบทวนของฝ่ายบริหารมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องมีการระบุโอกาสในการปรับปรุงพร้อมเป้าหมาย (Opportunities for improvement and targets) ไม่ใช่แค่ระบุจุดมุ่งหมาย (Objectives)

.

เป็นอย่างไรบ้างสำหรับแนวทางการเปลี่ยนแปลงของ ISO 14001 ? สำหรับผู้เขียนก็รู้สึกว่าการที่มาตรฐานนี้ขยับเข้าไปใกล้มาตรฐาน ISO 9001: 2000 มากขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ฟังดูดี เพราะคงจะทำให้ทำงานทำการกันได้ง่ายขึ้น เพราะใช้บรรทัดฐานเดียวกัน ไม่ซ้ำซ้อนหรือสับสน แต่ก็อย่างที่บอก แค่ ฟังดูดี แต่ไม่รู้ว่าเวลาที่มาตรฐานฉบับจริงออกมาบังคับใช้ จะทำให้เกิดการ ป่วนได้ขนาดไหน ซึ่งก็คงต้องค่อย ๆ เรียนรู้และตีความข้อกำหนดใหม่กันต่อไป ก็แหม ! ใช่ว่าทาง ISO ท่านจะโหดขนาดออกมาตรฐานใหม่ปุ๊บ ยกเลิกของเก่าปั๊บเสียเมื่อไหร่กัน ก็ดูอย่าง ISO 9001 สิ ท่านยังให้เวลาในการปรับเปลี่ยนระบบจาก ISO 9001, 9002, 9003: 1994 มาเป็นเวอร์ชัน 2000 ตั้ง 3 ปี แต่คราวนี้แว่ว ๆ ข่าวมาว่า ISO อาจจะให้เวลาน้อยกว่านี้ในการเปลี่ยนจาก ISO 14001 เวอร์ชัน 1996 เป็น 2004 ก็ยังไม่มีอะไรแน่นอนหรอก เพราะบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างมาตรฐานท่านยังเถียงกันไม่จบนี่นา ฉะนั้นอย่าเพิ่งตื่นเต้นตกใจ รอดูกันไปก่อนว่าเดือนตุลาคมนี้เจ้า ISO DIS 14001: 2003 จะออกมาให้เราได้เห็นกันจริงหรือไม่

.

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกเข้าไปดูกันได้ที่

- เว็บไซต์ขององค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL ORGANIZATION FOR STANDARDIZATION: ISO):  http://www.iso.org/iso/en/iso9000-14000

- เว็บไซต์ของ Lloyd’s Register Quality Assurance (LRQA): http://www.lrqa.com/comsite/template.asp?name=comnews_iso14001

.
ข้อมูลอ้างอิง

- A New Environment ? By Dr Anne-Marie Warris, LRQA Global Product Manager EMS, and UK expert to ISO 14001 Revision, Lloyd’s Register Quality Assurance

- From ISO 14001:1996 to ISO DIS 14001:2003 – what are the differences ? By   Lloyd’s Register Quality Assurance

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด