เนื้อหาวันที่ : 2016-04-01 15:43:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3228 views

Gravitech บ่มเพาะเมกเกอร์ไทยก้าวไกลสู่ตลาดโลก

ดร.ชานนท์ ตุลาบดี  Founder & Chief Engineer

 

เรื่องและภาพ : ศิริสาร เขตปิยรัตน์

ร่วมพูดคุยกับหนุ่มไฟแรงที่หอบความตั้งใจมาสร้างธุรกิจแนวใหม่ สานฝันให้นักคิดประดิษฐ์สินค้าเพื่อตอบสนองตลาดยุคใหม่ให้ไกลมากกว่าเมืองไทย

ส่วนหนึ่งของบริษัทที่สร้างแรงกระเพื่อมของเหล่าเมกเกอร์ไทยให้เป็นที่รู้จักและพร้อมเดินก้าวไปด้วยกัน ในการพัฒนาวงการอิเล็กทรอนิกส์ให้มีงานแฟร์สนุกๆ อย่าง Bangkok Mini Maker Faire ณ ใจกลางสยามสแคว์จนเป็นที่กล่าวขวัญและรอวันที่จะมีงานดีๆ อย่างนี้เกิดขึ้นอีก มาทำความรู้จักกันให้มากขึ้นกับ Gravitech Thailand  พร้อมมุมมองที่มีต่อเมกเกอร์ไทยในยุคต่อไป

Q: กลุ่มธุรกิจของGravitech เป็นสินค้าประเภทไหน

A: สินค้าที่ทางGravitech ผลิตและจำหน่ายส่วนหนึ่งเป็นการรับผลิตจากต้นแบบของเมกเกอร์ เนื่องจากเมกเกอร์เองไม่มีความถนัดในหลายๆ เรื่องเช่น ขบวนการผลิตที่ต้องหาอะไหล่ ชิ้นส่วน อุปกรณ์ต่างๆ ขบวนการจัดการหลังการขาย การวางจำหน่าย เมื่อเราขายได้ก็เอาส่วนตรงนี้แบ่งรายได้ให้กับทางเมกเกอร์อีกทีหนึ่งเรียกได้ว่า ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเมกเกอร์ เพื่อเมกเกอร์เองจะได้มีเวลาไปคิดค้นต้นแบบชิ้นอื่นๆ ต่อไป

Q: แล้วเมกเกอร์ที่จะเข้ามาร่วมงานกับ Gravitech จะต้องทำอย่างไรบ้างจะมีสัญญาหรือไม่

A: เมกเกอร์ที่จะเข้าร่วมงานกับ Gravitech นั้นไม่จำเป็นต้องมีสัญญาอะไรมากมาย นอกจากจะมาในรูปแบบบริษัทที่อาจจะต้องมีเรื่องของสัญญาหรือ MOU (Memorandum Of Understanding )ร่วมกัน หากเข้ามาแบบเดี่ยวก็สามารถร่วมงานกันได้เลย ข้อดีอย่างหนึ่งก็คือ เมกเกอร์เองไม่ต้องลงทุนในส่วนการผลิตเพราะทางเราจะดำเนินการให้ทั้งหมด เรามาร่วมกันศึกษาตลาด มาร่วมกันสร้าง ทาง Gravitech จะเป็นคนจัดการเรื่องการขาย การผลิต การเก็บสต๊อกให้ ดูแลเรื่องระบบขบวนการในรูปแบบธุรกิจให้ ส่วนใหญ่ที่เราบอกได้ว่าทำไมเราถึงสามารถทำเรื่องนี้ได้ เพราะอุปกรณ์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของวงจรหรือสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ อาจจะมีชิ้นงานหรืออุปกรณ์ที่ซ้ำกัน สามารถใช้ร่วมกันได้กับโปรเจกต์อื่นๆ เราจึงสามารถผลิตในปริมาณที่ต้องการได้เรื่อยๆ ทีละ 100 หรือ 200 ตัว ซึ่งข้อดีอีกอย่างก็คือสามารถบริหารจัดการเรื่องของสต๊อกสินค้าไม่ให้คงค้างได้ดี เนื่องจากผลิตแบบที่คาดการณ์จำนวนการขายได้ในปริมาณพอเหมาะหรือพอดีกับตลาดในช่วงเวลานั้นๆ ได้ หากหมดเราก็ผลิตซ้ำใหม่ได้นอกจากรูปแบบการรับผลิตสินค้าหรือต้นแบบเพื่อการขายแล้ว ทาง Gravitech เราเองก็สามารถระดมทุนหรือเป็นที่ปรึกษาขบวนการสร้าง ไม่ว่าเมกเกอร์จะนำแผ่น PCB มาเอง ให้เราเพียงลงอุปกรณ์ให้ หรือต้องการเงินทุนเพื่อการสร้างสินค้าก็เข้ามาร่วมพูดคุยกันได้แล้วให้เมกเกอร์ไปทำทุกอย่างด้วยตนเองก็ได้ เรียกได้ว่า มีส่วนให้เมกเกอร์เลือกที่จะดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก็มาว่ากันในส่วนรายละเอียดหรือจะเรียกเราว่าเป็นที่บ่มเพาะธุรกิจหรือ Incubator ประเภทหนึ่งก็ได้

Q: คาดว่ากลุ่มเมกเกอร์หรือนักประดิษฐ์ในเมืองไทยมีจำนวนมากน้อยเพียงใด ในการจะขับเคลื่อนในอนาคต

A: ตอนนี้ก็คิดว่าเป็นช่วงเริ่มต้นของกลุ่มธุรกิจในกลุ่มนี้คาดว่าจะมีจำนวนของเมกเกอร์เพิ่มจำนวนมากขึ้นหรือเผยตัวตนสำหรับการสร้างฐานธุรกิจในกลุ่มนี้ แต่ก็ยังกังวลในเรื่องนี้อยู่บ้าง แม้หลายคนอาจจะบอกว่า เรามาเร็วไปไหมสำหรับแนวทางธุรกิจแบบนี้ โดยส่วนตัวไม่ได้กังวลในเรื่องของปริมาณหรือจำนวนเมกเกอร์ หากจะมองไปถึงศักยภาพหรือคุณภาพของการคิดค้นต้นแบบนั้นมันสามารถตอบโจทย์ของการใช้งานที่จะเป็นธุรกิจได้หรือไม่ ทั้งเรื่องเทคโนโลยี ไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ กลับมองว่า นักเล่นคนไทยมีความทันสมัยตอบสนองกับสินค้าที่รวดเร็ว เท่าทันโลก จะเห็นได้จากนักเล่นคนไทยมักสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์จากบอร์ดของต่างประเทศ อันไหนมาใหม่ เมืองไทยก็มีคนเล่นแล้วอย่างนี้เป็นต้น หากพูดถึงเรื่องปริมาณนักประดิษฐ์นั้นเราไม่ได้กังวลหรือจำเป็นมากแต่เราคำนึงถึงคุณภาพของนักประดิษฐ์มากกว่าและยังมองว่าคนไทยมีศักยภาพตรงนี้อยู่

Q: ทาง Gravitech มองเป็นสิ่งประดิษฐ์พร้อมขายที่เรียกว่า end Product เลยไหม

A: ไม่จำเป็นต้องเป็น end product ก็ได้ เพียงแค่ตัว deverlopment board ก็สามารถทำได้เพราะหลายคนอาจจะไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเรื่องราวของเรื่องมาตรฐานการผลิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น มอก. ฯลฯ เพราะหลายคนสามารถใช้ตรงนี้ให้คนอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ได้แค่นั้น ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับส่วนผลิตสินค้า ต้องการให้คนอื่นเอาไปต่อยอดเอาเองก็ได้ หรือจะมาในรูแบบสินค้าพร้อมใช้เลยทาง Gravitech เองก็สนับสนุนด้วยเหมือนกัน เราเองคาดหวังว่าจะมีสินค้าที่แปลกใหม่ ทันสมัย ออกมาจาก Gravitech Thailand สู่สายตาชาวโลก ใครที่ต้องการสินค้าทันสมัยก็สามารถเข้ามาตรงนี้ได้

Q: เมื่อเปรียบเทียบความสามารถของเมกเกอร์ไทยกับเมกเกอร์ต่างชาติคิดว่าศักยภาพของเราเป็นอย่างไรบ้าง ในการสร้างเป็นธุรกิจให้เติบโตได้หรือไม่

A: เมกเกอร์ของไทยเราเองมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และสามารถต่อยอดให้เป็นรูปแบบธุรกิจได้ ทั้งยังเชื่อมั่นว่าด้วยความสามารถนี้จะทำให้ธุรกิจของ Gravitech เติบโตขึ้นได้ เท่าที่เจอมาก็ 2 -3 ชิ้น ที่ทำให้เราสามารถที่จะดันไปให้ไกลได้แต่คนไทยยังขาดโอกาสดีๆ เราจึงอยากจะเปิดโอกาสนี้ให้กับเมกเกอร์ชาวไทยและตรงนี้่เองทาง สวทช. ก็มีพื้นที่และโครงการอื่นๆ ที่จะช่วยสนับสนุนผู้เริ่มต้นใหม่ให้เกิดผลิตภัณฑ์ขึ้นได้ ถ้าเทียบความสามารถของเรากับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เรามองว่าโอกาสและการตลาดของเรายังอ่อนอยู่มากอย่างสิงคโปร์นี่เรื่องการตลาดเขาแข็งแรงเขาเก่งเรื่องนี้ บางทีสินค้าไม่มีอะไรแปลกใหม่แต่เขาสามารถขายของที่มีอยู่ได้มูลค่าและส่งให้ไปถึงดวงดาวได้ เมกเกอร์เรายังขาดโอกาส ขาดโค้ช ยังขาดการฝึกอบรม ยังขาดตรงนี้อยู่ Gravitech เราจะเป็นคนกลางเป็นพี่เลี้ยงจับมือเพื่อช่วยทั้งเรื่องโอกาส การตลาดและให้คำแนะนำตรงนี้ไปให้ถึงเป้าหมายได้ เรามีกลุ่มตลาดฝั่งอเมริกา ฝั่งยุโรป เราจึงพยายามจูงมือให้สินค้าเหล่านี้ไปให้ถึงตลาดเหล่านี้ได้ Gravitech ของเราเริ่มธุรกิจเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคเริ่มแรกของเหล่าเมกเกอร์ที่อเมริกาซึ่งเราก็ผ่านช่วงเวลาที่ดีๆ พร้อมกับเหล่าบริษัท start up ทั้งหลายที่อเมริกาและเราก็เชื่อว่า เซมิฯ ก็เป็นกลุ่มนักเล่นเหมือนๆ กับเรา ที่นั่นเหล่าเมกเกอร์จะหาของมาให้ประดิษฐ์ยากมากต้องไปหาจากชิ้นส่วนจากเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นเศษซากเหล่านี้มาทำ เพราะสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นคอนซูมเมอร์โปรดักส์ไม่ค่อยมีอุปกรณ์แยกชิ้นขายให้สร้างให้ทำ แม้ว่าจะมีธุรกิจการขายสินค้าออนไลน์ อย่าง ดิจิคีย์ (digikey) หรือเมาส์เซอร์ (mouser) เองก็ตาม ก็หาของได้ยากอยู่ดีและที่สำคัญคำว่า เมกเกอร์ของที่นั้นส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่มีแต่กลุ่มวิศวกรเท่านั้น บ้านเราจะมองเมกเกอร์อีกแบบหนึ่ง แต่ทางนั้นยังคงมีกลุ่มอาชีพอื่นๆ เป็นคนธรรมดาที่อยากนำวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยแก้ปัญหาหรือในสิ่งที่ตัวเองชอบในกลุ่มของตนพัฒนาขึ้นมา (หรือเป็นลักษณะของการชอบสร้างชอบทำเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้งานหรือชอบในการสร้างของนั้นๆ) ซึ่งก็มีอยู่มากมายทั้งช่างถ่ายภาพ นักดนตรี ซึ่งคนเหล่านี้ก็อยากได้ gadget แปลกๆ มาเล่น อันที่ยังไม่มีให้มันมีขึ้น ครั้นจะสั่งชิปมาประกอบมาสร้างก็คงทำไม่สะดวกจึงต้องอาศัยบอร์ดพัฒนาต่างๆ มาลงโปรแกรมปรับโน้นนั้นนิดหน่อยก็สามารถตอบสนองงานของตัวเองได้ ของพวกอย่างนี้มันจึงหายาก เราจึงอยากพัฒนาตรงนี้ขึ้นมาเพื่อตอบสนองกลุ่มคนเหล่านี้ได้แม้ว่าในภาพรวมกลุ่มนักเล่นและพัฒนาในเมืองไทยจะยังคงมีการแบ่งปันเทคนิคและวิธีการสร้างบอร์ดเหล่านี้อยู่บ้างแต่เราก็มองเห็นศักยภาพและอยากเชิญชวนให้นักสร้างทั้งหลายมานำเสนอเพื่อเป็นเหมือนอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ จากงานประจำหรือใครต้องการจะเปิดเป็นธุรกิจของตัวเองด้านนี้ เราก็อยากส่งเสริม

Q: พื้นฐานที่ดีของนักพัฒนาหรือเมกเกอร์ควรเป็นอย่างไร

A: ต้องมีความคิดที่อยู่นอกกรอบ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความพยายามช่างสังเกตในการจะสร้างสิ่งของที่จะช่วยพัฒนางานอื่นๆ ได้ เรามองว่าแนวคิดเหล่านี้เป็นตัวนำมากกว่าความรู้เพราะเรามองว่าความรู้มันเป็นเรื่องที่หาเรียนกันได้หรือหาผู้เชี่ยวชาญได้ เราเองที่มาอยู่ ณ ตรงจุดนี้หมายถึงภายในศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่ สวทช.นี้ เรามีนักวิจัยอยู่รอบๆ ตัวเราจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราสามารถหาบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านมาช่วยเราแก้ปัญหาหลายๆ อย่างได้ที่นี้ เราจึงมองเรื่องความรู้เป็นเรื่องรอง แต่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ การมองให้ออกว่าเราจะสร้างอะไร เพื่อตอบสนองต่อยุคสมัยนั้นสำคัญกว่า และอุปกรณ์ชิ้นนี้มันสามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ มันสามารถอำนวยความสะดวกสบายให้กับคนทั่วไปได้ มุมมองแบบนี้มากกว่าที่เราอยากได้หรือต้องการให้เกิดขึ้นเยอะๆ เพื่อสร้างธุรกิจหรือเม็ดเงินได้ ส่วนเมกเกอร์ที่ชอบเล่นหรือสร้างงานตามที่ตัวเองรักชอบนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ด้วยการลองผิดลองถูกและเรียนรู้จากสิ่งที่ทำในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองแล้วแบ่งปันความรู้เพื่อพัฒนาให้หลากหลายต่อไป

Q: จะส่งเสริมหลักแนวความคิดเรื่องเมกเกอร์อย่างไรต่อสังคมเพื่อการพัฒนาหรือนำอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ในงานสาขาวิชาชีพของเขา

A: เราควรสร้างการรับรู้เสียก่อนว่า ในโลกนี้มีอะไรที่คุณๆ ท่านๆ ในสาขาอาชีพอื่นๆ ที่เขาเหล่านั้นสามารถนำอุปกรณ์หรือเครื่องมือด้านอิเล็กทรอนิกส์ไปช่วยแก้ปัญหาให้กับเขาได้ เราต้องกระจายข่าวสารสร้างพื้นที่กิจกรรมให้เขาเข้าถึงได้ง่ายๆ เข้าใจเรื่องราวของเทคโนโลยีได้ง่ายๆ สร้างการรับรู้ในวงกว้างทั้งรูปแบบออนไลน์หรือจัดแฟร์ส่งเสริมให้คนรับรู้สิ่งประดิษฐ์หลากหลายวงการมากขึ้น เช่นบอกให้เขารู้ว่าบอร์ด Arduino หรือบอร์ดพัฒนา Raspberry pi เอาไปใช้งานอย่างนี้ได้ คนจากหลากหลายอาชีพก็จะสามารถประยุกต์ใช้งานตามความถนัดของสายอาชีพของเขาเหล่านี้ได้ทั้ง นักดนตรี กีฬา จนเห็นว่ามีสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ในวงการของเขาเหล่านี้ออกมาอย่างน่าประทับใจ เมื่อพูดถึงงานเมกเกอร์แฟร์ที่จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้วซึ่งก็ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างมากเป็นส่วนที่น่าประทับใจและในปีนี้งานที่ว่าก็คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกภายในเดือนพฤศจิกายนปี 2559 นี้ โดยจะใช้ชื่อเต็มเลยคือ Maker fair ชื่อเดียวกันกับที่อเมริกาเขาจัด

นอกจากนี้เรายังมีงานรวมตัวกันของเหล่าเมกเกอร์ที่เรียกว่า Maker Holic ซึ่งอยากให้มีทุกเดือนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองของเหล่าเมกเกอร์ทั้งหลาย เจอะเจอกันได้บ่อยมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการสร้างสรรค์อยู่สม่ำเสมอ เราควรสร้างตัวอย่างของผู้ที่ประสบความสำเร็จด้านนี้ให้มากขึ้น จนเกิดแรงจูงใจให้คนรุ่นต่อๆ ไปอยากเข้าร่วมสร้าง ร่วมถึงสร้างเด็กรุ่นใหม่ๆ ให้สามารถเรียนรู้การสร้างทำแบบด้านฮาร์ดแวร์ให้มากขึ้น เพราะเราพิสูจน์แล้วว่าทางด้านซอฟต์แวร์เองเด็กๆ ก็สามารถสร้างงานสร้างเงินได้ ฉะนั้นงานด้านฮาร์ดแวร์ก็ควรได้รับการส่งเสริมให้เด็กๆ มีโอกาสในการสร้างทำเหมือนส่งลูกๆ ไปเรียนพิเศษอื่นๆ ก็ให้หันมาลองทดลองประดิษฐ์ชิ้นงานที่ผสมผสานงานทางซอฟต์แวร์และวงจรอิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกันมากขึ้น อันจะช่วยเพิ่มความทักษะและความรู้ให้กับเขาเหล่านี้อันจะเป็นกลุ่มนักพัฒนาต่อไปในอนาคตได้

ดังนั้นทาง Gravitech จึงมีการเปิด Maker space ที่ฟอร์จูนทาวเวอร์ เพื่อเป็นแหล่งรวมผู้ที่สนใจงานด้านอิเล็กทรอนิกส์มาเจอกันเป็นเหมือนคอมมูนิตี้ คนที่ชอบเรื่องเดียวกันมารวมกันอันจะส่งผลแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้เราก็มีกลุ่มเด็กๆ ที่มาเรียนและมีแววทางด้านนี้หลายคน มีกลุ่มคนที่ร่วมกันสร้างสรรค์หลายกลุ่มที่เข้ามาที่ Maker space ดังกล่าวซึ่งเราเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นไว้รองรับอนาคตภายในสวทช. เองก็จะเปิดเป็น Maker space สำหรับนักวิจัยหรือบุคคลภายนอกเข้ามาใช้งานได้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเมกเกอร์ทั้งหลายในเวลาอันใกล้นี้

Q: วงการ Maker and Startup ของไทยกับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีน

A: เมื่อเทียบผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับเมืองไทยแล้วอาจจะมีผลบ้างในส่วนของผู้ใช้ ซึ่งเราควรจะต้องสร้างค่านิยมของการใช้ของไทยให้เกิดขึ้น ให้คนพยายามช่วยสนับสนุนกลุ่มสินค้าของไทย และอยากให้เกิดขึ้นในกลุ่มเมกเกอร์ด้วยกันพอถึงเวลาที่เราสร้างสินค้ามาขายก็จะได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน จนเป็นค่านิยมเหมือนอเมริกาหรือญี่ปุ่น แม้ว่ามันจะสร้างยากแต่ก็ควรจะพัฒนาแนวคิดตรงนี้ให้เกิดขึ้น เมื่อพูดถึงตลาดในอเมริกาต้องยอมรับว่าสินค้าจากฝั่งจีนเองไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะเขามีเงินเขาคำนึงถึงเรื่องคุณภาพเป็นหลักและเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งสำหรับช่องว่างในตลาดอเมริกาที่เหล่าเมกเกอร์ไทยเราสามารถเข้าทำตลาดกลุ่มนี้ได้ ที่สำคัญสินค้าของเราต้องมีคุณภาพ ไอเดียต้องตอบโจทย์ฝั่งเขาได้ หรือการสร้างคุณค่าของสินค้าเราต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ ตลาดต่างประเทศยังมีอีกมากและเหนือสิ่งอื่นใด หลายประเทศเขาเชื่อถือแบรนด์หรือสินค้าที่มาจากไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ดังนั้นเราเองก็ควรเชื่อมั่นและอย่าละเลยคุณค่าของสินค้าไทยตรงนี้

เราควรกลับมามองคุณค่าและความสามารถในการพัฒนาและประดิษฐ์ของไทยแม้ว่าด้วยราคาสินค้าจากจีนจะมีผลกระทบบ้างแต่มันยังมีความแตกต่างด้านการบริการหลังการขายหรือสินค้าที่ตอบโจทย์ในเฉพาะพื้นที่หรือเรียกได้ว่า เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งานของแต่ละส่วนๆ ฉะนั้นเมกเกอร์ไทยเองควรมองความต้องการภายในประเทศเพื่อสร้างความต้องการของตลาดภายในประเทศให้แข็งแรงก่อน ซึ่งรัฐเองก็ได้สนับสนุนการใช้งานสินค้าที่ผลิตในประเทศเป็นหลักก่อนณ ขณะนี้ซึ่งก็ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการพัฒนาศักยภาพสินค้าไทยด้านอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับภาครัฐอีกมากมาย เรียกได้ว่าเป็นยุคทองของเหล่าเมกเกอร์ใน พ.ศ.นี้่ที่จะสามารถช่วยให้วงการนักสร้างนวัตกรรมของเหล่าเมกเกอร์เกิดขึ้นได้

Q: ในเรื่องสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์หรือสิทธิเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบนั้นมีส่วนที่ต้องกังวลหรือไม่

A: เรื่องสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์สินค้านั้นเราเองไม่ได้คำนึงถึงตรงนี้กันมากเนื่องจากไลฟ์ไซเคิล (Life cycle) หรือวงจรชีวิตของสินค้านั้นสั้น หากสินค้าเราโดนจีนลอกเลียนแบบไป เราก็ต้องปรับตัวให้เร็วคือสร้างรุ่นใหม่ออกมาให้ดี เพื่อที่เขาจะได้ไล่ตามลำบากขึ้น เราต้องพัฒนาการงานของเราอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดและทันสมัยอยู่เสมอ

สุดท้ายนี้อยากฝากว่า Gravitech เองเราเป็นทั้งแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรม ทั้งพี่เลี้ยงหรือแม้แต่เป็นแหล่งระดมทุนเพื่ออยากจะสนับสนุนบรรดาเหล่าเมกเกอร์ทั้งหลายให้เข้ามารวมมือกันในการสร้างสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมแปลกใหม่ อันจะส่งผลให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยได้เปิดตลาดไปทั่วโลกได้ หากเหล่าเมกเกอร์ท่านใดที่ต้องการความร่วมมือในการสร้างสรรค์ผลงานก็สามารถเข้ามาร่วมปรึกษาหรือหาทางทำให้มันเกิดขึ้นได้ที่เรา เรายินดีให้คำปรึกษาและสนับสนุนอย่างเต็มที่ สำหรับรายละเอียดและกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติมสามารถคลิกเข้าไปดูได้ที่ www.gravitechthai.com 

สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 www.thailandindustry.com
Copyright (C) 2009 www.thailandindustry.com All rights reserved.

ขอสงวนสิทธิ์ ข้อมูล เนื้อหา บทความ และรูปภาพ (ในส่วนที่ทำขึ้นเอง) ทั้งหมดที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ www.thailandindustry.com ห้ามมิให้บุคคลใด คัดลอก หรือ ทำสำเนา หรือ ดัดแปลง ข้อความหรือบทความใดๆ ของเว็บไซต์ หากผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความนี้ไปใช้ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด